แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 64
เพื่อให้ได้เข้าใจชัดถึงความลึกซึ้งในฐานะ อฐานะ ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย นิทานวรรค กฬารขัตติยวรรค ที่ ๔ ซึ่งมีข้อความว่า
ดูกร สารีบุตร อชิตมาณพได้กล่าวปัญหานี้ไว้ ในอชิตปัญหา ในปรายนวรรคว่า
ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ บุคคลที่ได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว และบุคคลที่ยังเป็นเสขบุคคลอยู่เหล่าใด มีอยู่มากในศาสนานี้ พระองค์ผู้มีปัญญาอันข้าพเจ้าถามแล้ว ขอได้โปรดตรัสบอกความประพฤติของบุคคลทั้งสองพวกนั้นแก่ข้าพเจ้าดังนี้
พระผู้มีพระภาค ตรัสถามท่านพระสารีบุตรว่า
ดูกร สารีบุตร เธอจะพึงเห็นเนื้อความของคาถาที่กล่าวโดยย่อนี้ โดยพิสดารได้อย่างไร
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้วท่านพระสารีบุตรได้นิ่งอยู่ พระผู้มีพระภาค จึงตรัสกับท่านพระสารีบุตรเป็นครั้งที่ ๒ แม้ในครั้งที่ ๒ ท่านพระสารีบุตรก็ได้นิ่งอยู่ แม้ในครั้งที่ ๓ ท่านพระสารีบุตรก็ยังนิ่งอยู่
ข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระสารีบุตรที่ว่า บุคคลที่ได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว และบุคคลที่ยังเป็นเสขบุคคลอยู่ บุคคลที่ตรัสรู้ธรรมแล้วนั้นหมายถึงเฉพาะพระอรหันต์พวกเดียว และบุคคลที่ยังเป็นพระเสขบุคคลอยู่ก็หมายถึงพระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี
ซึ่งอชิตมาณพได้กราบทูลถามว่า ขอได้โปรดตรัสบอกความประพฤติของบุคคล ทั้งสองพวกนั้นแก่ข้าพเจ้า ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้นิ่งอยู่ แม้พระผู้มีพระภาคตรัสถึง ๓ ครั้ง ท่านพระสารีบุตรก็ยังนิ่งอยู่
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
ดูกร สารีบุตร เธอเห็นไหมว่า นี่คือ ขันธปัญจกที่เกิดแล้ว
ขณะนี้มีอะไรเกิดแล้วบ้าง มากมาย ทางตาก็เกิดแล้ว ทางหูที่กำลังได้ยินก็เกิดแล้ว ถ้าไม่เกิด ปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลหรือผู้เจริญหนทางปฏิบัติ เพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรมจึงรู้สิ่งที่เกิดแล้ว พิจารณาสิ่งที่เกิดแล้ว ไม่ใช่ให้ไปพิจารณารู้สิ่งที่ยังไม่เกิด เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติธรรมดาที่สุด
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า
พระพุทธเจ้าข้า บุคคลเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามความเป็นจริงว่า นี้คือขันธปัญจกที่เกิดแล้ว ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้ว ย่อมปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับแห่งขันธปัญจกที่เกิดแล้ว ย่อมเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามความเป็นจริงว่า ขันธปัจกนี้เกิดเพราะอาหารนั้น
หมายความว่า ต้องมีเหตุปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น เป็นการรู้นามรูปละเอียดขึ้นจึงจะละได้ ถ้าไม่รู้ละเอียดก็ละไม่ได้เหมือนกัน เพียงแต่รู้ว่าเป็นนามเป็นรูปเท่านั้นก็ยังไม่ละ
ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้ว ย่อมปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับแห่งขันธปัญจกที่เกิดเพราะอาหาร ย่อมเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามความจริงว่า สิ่งใดเกิดแล้ว สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา
ที่จะปรากฏให้เห็นว่าดับ ต้องพิจารณาตามปกติที่เกิดแล้วเดี๋ยวนี้จึงจะรู้ว่า สิ่งที่เกิดแล้วเดี๋ยวนี้ตามปกตินั้นดับเป็นธรรมดา เห็นที่ปรากฏแล้วในขณะนี้ก็ดับเป็นธรรมดา ได้ยินที่กำลังปรากฏเกิดแล้วก็ดับเป็นธรรมดา เป็นของธรรมดาจริงๆ อริยสัจเป็นสิ่งที่ปรากฏตามปกติ แต่ปัญญารู้ชัดสิ่งที่เกิดแล้ว ปรากฏแล้ว ดับเป็นธรรมดา อย่าไปทำอะไร สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ไปทำให้เกิด ก็เป็นความต้องการที่จะไม่ให้รู้สภาพของสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ แล้วก็ดับไปในขณะนี้ เป็นธรรมดา
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลต่อไปว่า
ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้ว ย่อมปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับแห่งขันธปัญจก ซึ่งมีความดับเป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าข้า บุคคลย่อมเป็นเสขะได้ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้
กิเลสเหนียวแน่นมากเหลือเกิน ถ้าท่านพิจารณาวิปัสสนาญาณเป็นลำดับขั้นก็จะทราบว่า เพียงการประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามและรูปนั้น เป็นอุทยัพพยญาณ แต่ยังไม่ใช่นิพพิทาญาณ เห็นแล้วก็ยังไม่หน่าย เพราะฉะนั้น ก็พิจารณา ปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ แห่งขันธปัญจกซึ่งมีความดับเป็นธรรมดา
แล้วท่านพระสารีบุตรก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคต่อไปถึงข้อปฏิบัติอันจะทำให้ถึงความตรัสรู้ธรรมแล้ว ซึ่งหมายความถึงพระอรหันต์
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
พระพุทธเจ้าข้า บุคคลได้ชื่อว่าตรัสรู้ธรรมเป็นไฉน บุคคลเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามความเป็นจริงว่า นี่คือขันธปัญจกที่เกิดแล้ว ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้ว ย่อมหลุดพ้นเพราะความหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นซึ่งขันธปัญจกที่เกิดแล้ว
แล้วท่านพระสารีบุตรก็ได้กราบทูลว่า
บุคคลชื่อว่าได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว ด้วยอาการอย่างนี้แล คำที่ อชิตมาณพกล่าวไว้ในอชิตปัญหา ในปรายนวรรคว่า
ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ บุคคลที่ได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว และบุคคลที่ยังเป็นเสขบุคคลอยู่เหล่าใด มีอยู่มากในศาสนานี้ พระองค์ผู้มีปัญญาอันข้าพเจ้าถามแล้ว ขอได้โปรดตรัสบอกความประพฤติของบุคคลทั้งสองพวกนั้นแก่ข้าพเจ้า ดังนี้
พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ทราบเนื้อความของคำที่กล่าวไว้โดยย่อนี้ โดยพิสดารอย่างนี้แล
นี่คือข้อปฏิบัติของผู้ที่จะเป็นพระเสขบุคคลและเป็นพระอเสขบุคคล ต้องตรงต้องถูกกับเหตุผลตามความเป็นจริง
นี่เป็นเหตุที่ว่าเวลาที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน พระสกคามี พระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ บุคคลอื่นไม่รู้เลยว่าในขณะใด เพราะไม่ผิดปกติใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าขณะนี้มีการเห็น ยังไม่รู้ ก็ยังไม่เป็นพระอริยบุคคล และสำหรับท่านที่เจ็บไข้ได้ป่วย ก็ควรที่จะฟังอีกสูตรหนึ่ง
อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต คิลานสูตร มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้เมือง เวสาลี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เสด็จเข้าไปที่ศาลาภิกษุไข้ ได้ทรงเห็นภิกษุรูปหนึ่งที่ทุรพลเป็นไข้ แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาตบแต่งไว้ ครั้นแล้วได้ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการ ย่อมไม่ละภิกษุบางรูปที่ทุรพลเป็นไข้ เธอนั้นพึงหวังผลนี้ คือ จักทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ต่อกาลไม่นานเลย ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นว่า ไม่งามในกาย ๑ มีความสำคัญว่า เป็นของปฏิกูลในอาหาร ๑ มีความสำคัญว่า ไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวง ๑
ซึ่งโลกทั้งปวงก็ได้แก่ขันธ์ ๕
พิจารณาเห็นว่า ไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวง ๑ มีมรณสัญญาปรากฏขึ้นด้วยดี ณ ภายใน ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมไม่ละภิกษุบางรูปที่ทุรพลเป็นไข้ เธอนั้นพึงหวังผลนี้ คือ จักทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ต่อกาลไม่นานเลย
การมีสติระลึกรู้เห็นว่าไม่งามในกาย หรือเห็นว่าเป็นปฏิกูลในอาหาร หรือเห็นว่า สังขารหรือขันธ์ ๕ โลกทั้งปวงไม่น่ายินดี พิจารณาเห็นว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง มีมรณสัญญาปรากฏขึ้นด้วยดี ณ ภายใน ธรรมทั้ง ๕ นี้เป็นอุปการะ ที่เมื่อน้อมนำหรือระลึกได้ ก็ย่อมทำให้อาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน
ขณะนี้มีการเห็น มีการได้ยิน มีสีที่กำลังปรากฏ มีเสียงที่กำลังปรากฏ แล้วก็มีการคิดนึก มีความสุข ความทุกข์ มีเวทนาต่างๆ เป็นปกติ สติสามารถที่จะระลึกได้ รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จะเป็นทางตา หรือหู หรือจมูก หรือลิ้น หรือกาย หรือใจก็ได้
แต่ผู้ที่เริ่มเจริญสติเคยสังเกตบ้างไหมว่า พอสติระลึกรู้ที่สิ่งที่กำลังปรากฏต่อจากนั้นเป็นอะไร ถ้าเพิ่งเริ่มเจริญสติแล้ว ก็เป็นความสงสัย ไม่แน่ใจในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏว่า เป็นนามหรือว่าเป็นรูป หรือว่าสภาพของนามธรรมมีลักษณะอย่างไร สภาพของรูปธรรมต่างกับนามธรรมอย่างไร นี่แน่นอนที่สุด เพราะเหตุว่าที่จะให้ปัญญาคมกล้ารู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของนามและรูปทางหนึ่งทางใด ในขณะที่สติเพิ่งเริ่มเกิด เพิ่งเริ่มเจริญนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่จะให้ปัญญาคมกล้ารู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของนามและรูปทางหนึ่งทางใดในขณะที่สติเพิ่งเริ่มเกิด เพิ่งเริ่มเจริญนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสติจะรู้สึกตัวว่า เมื่อระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายหรือทางใจแล้ว ต่อจากนั้นเป็นความสงสัย สตินิดเดียว และต่อจากนั้นก็สงสัยแล้วว่า นี่อะไร นามหรือรูป แล้วรู้ชัดจริงๆ ว่า เป็นสภาพที่รู้ทางตา กับสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นเพียงสีสันวัณณะที่ปรากฏชั่วขณะที่ตาเห็นเท่านั้น ซึ่งเมื่อสงสัยอย่างนี้แล้ว จะทำอย่างไรต่อไป นี่เป็นเรื่องที่เป็นปกติธรรมดาจริงๆ
ถ. เรารู้รูปเองหรือว่าเรารู้สภาพเอง หรือว่าเป็นเองกันแน่
สุ. ก็ตรงกับที่เรียนให้ทราบเมื่อสักครู่นี้ คือ พอมีสติรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ก็เกิดสงสัยว่า ที่กำลังรู้นี้ รู้ลักษณะของนามหรือว่ารู้ลักษณะของรูป ผู้เจริญปัญญาจะต้องพิจารณา แล้วก็รู้ชัดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะหมดความสงสัย เท่าที่ได้รับทราบท่านผู้ฟัง ไม่เหมือนกัน อย่างบางท่านก็บอกว่า มีสติเวลาเห็นบ่อยกว่าทางอื่น บางท่านก็บอกว่ามีสติเวลานึกคิดบ่อยกว่าทางอื่น นี่ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นความเป็นอนัตตาของสติของแต่ละบุคคล ซึ่งไม่มีกฎเกณฑ์ว่า จะต้องตั้งต้นที่ไหนเมื่อไร อย่างไร
ถ้าเข้าใจแล้ว รู้ลักษณะของสติ การระลึกได้ การระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ผู้เจริญสติก็ทราบได้เองว่า กำลังพิจารณานามหรือรูปทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ถึงแม้ว่าในตอนแรกอาจสงสัยว่า ที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นนามหรือเป็นรูป
ลักษณะของความสงสัยนั้นเป็นนามหรือเป็นรูป ผู้เจริญสติต้องรู้ต่อไปอีก สิ่งที่หมดไปแล้วก็หมดไป แล้วสิ่งที่กำลังเป็นความสงสัย กำลังเป็นปัจจุบัน กำลังเป็นสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้น ผู้เจริญสติก็รู้ ระลึกรู้ลักษณะของความสงสัยนั้นว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่เที่ยง แล้วก็มีนามอื่นรูปอื่นปรากฏ
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่า ขณะนี้กำลังสงสัยงุนงง ไม่เข้าใจเรื่องการคิดนึก ท่านบอกว่า เวลาคิดนึกเป็นอดีต เป็นอนาคต จะเป็นปัจจุบันได้อย่างไร คิดนึกที่เป็นอดีต คือ คิดนึกเมื่อวานนี้ เมื่อวานนี้ใครคิดนึกเรื่องอะไร ความคิดนึกเมื่อวานนี้เป็นอดีต แต่ความคิดนึกพรุ่งนี้ที่จะเกิดขึ้น นั่นเป็นอนาคต แต่ถ้าขณะนี้ท่านผู้ใดกำลังคิดนึกเรื่องอะไร สภาพที่กำลังคิดนึกในขณะนี้เป็นปัจจุบัน เพราะเหตุว่ากำลังคิดนึกเรื่องนั้นๆ
ประการที่ ๙ คันถปลิโพธ ได้แก่ ความกังวลในการศึกษา สำหรับบางท่านก็เป็นปลิโพธ บางท่านก็ไม่เป็น เพราะเหตุว่าเมื่อมีชีวิตอยู่ แล้วรู้ว่าสิ่งไรเป็นประโยชน์ก็ควรจะทำ อย่างการศึกษาเล่าเรียนเป็นประโยชน์แน่ ถ้าไม่ศึกษาไม่เล่าเรียนก็ไม่รู้ ไม่ฉลาด อาจจะเข้าใจด้วยความคิดความเข้าใจของตนเองซึ่งอาจผิดก็ได้ เพราะฉะนั้น การศึกษาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง ถึงแม้ว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็ยังศึกษาพระธรรมวินัย
เพราะฉะนั้น ก็ควรพิจารณาว่า สำหรับการศึกษาการสาธยายธรรมนั้นเป็นคันถปลิโพธหรือไม่ ถ้าเป็น เป็นกับบุคคลบางท่าน ไม่เป็นกับบุคคลบางท่าน
ในวิสุทธิมรรค มีตัวอย่างว่า พระเถระท่านเป็นผู้ชำนาญในมัชฌิมนิกาย ท่านได้ไปสู่สำนักของท่านพระเทวเถระผู้อยู่ที่มลยวิหาร และขอเรียนการประพฤติปฏิบัติธรรม พระเถระก็สอบถามท่านว่า ในการศึกษาปริยัติของท่านนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
ซึ่งพระเถระผู้ชำนาญมัชฌิมนิกายก็ตอบว่า ท่านชำนาญในมัชฌิมนิกาย พระเทวเถระก็กล่าวว่า มัชฌิมนิกายนั้นรักษายาก เพราะเหตุว่าเมื่อสาธยายมูลปัณณาสก์ มัชฌิมปัณณาสก์ก็ต่อเข้ามาเรื่อยๆ เมื่อสาธยายมัชฌิมปัณณาสก์ ปัณณาสก์อื่นๆ ก็เข้ามา หรือว่าต่อไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ก็จะเป็นเครื่องขัดขวาง ไม่ทำให้กัมมัฏฐานเจริญ
พระเถระผู้ชำนาญในมัชฌิมนิกายก็กล่าวว่า ท่านจะเพียรเจริญกัมมัฏฐานจะไม่เหลียวแลการสาธยายอีกต่อไป แล้วท่านก็ไม่ได้สาธยายธรรมถึง ๑๙ ปี ปีที่ ๒๐ ท่านก็บรรลุพระอรหันต์ เมื่อภิกษุทั้งหลายมาเพื่อจะสาธยายธรรม ท่านก็กล่าวว่า ท่านไม่ได้เหลียวแลปริยัติถึง ๒๐ ปี แต่ว่าท่านมีการสั่งสมได้ทำไว้ในปริยัตินั้น เพราะฉะนั้น ท่านก็ให้ภิกษุเหล่านั้นสาธยายตั้งแต่ต้นจนจบ โดยที่ท่านไม่ได้มีความเคลือบแคลงสงสัยในพยัญชนะเลย
นี่เป็นตัวอย่างที่กล่าวถึงคันถปลิโพธนั้นเป็นสำหรับบางท่าน และไม่เป็นสำหรับบางท่าน
อีกตัวอย่างหนึ่งนั้น ในมหาวิหารมีพระเถระท่านหนึ่ง ชื่อ จุฬาภยะ เป็นผู้ที่ทรงพระไตรปิฎก แต่ว่ายังไม่ได้เรียนอรรถกถา
สำหรับคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาคงจะทราบแล้วว่าแบ่งเป็นชั้นๆ ที่เป็นพระบาลี ที่ได้ทรงแสดงรวบรวมไว้นั้นเป็นพระไตรปิฎก และมีข้อความที่อธิบายข้อความในพระไตรปิฎกนั้น เป็นคัมภีร์ชั้นอรรถกถา
พระเถระชื่อ จุฬาภยะ ท่านเป็นผู้ชำนาญในพระไตรปิฎก แต่ว่าท่านยังไม่ได้เรียนอรรถกถา แล้วท่านก็ให้คนตีกลองป่าวร้องประกาศว่า ท่านจะบรรยายปิฎกทั้ง ๓ ในบริษัทที่ศึกษานิกายทั้ง ๕ นิกายทั้ง ๕ นั้นก็ได้แก่ นิกายของพระสูตร คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย
เมื่อพระอุปัชฌายะของท่านทราบ ท่านก็เห็นว่าพระจุฬาภยะเถระนั้นเป็นผู้ที่ทรงพระไตรปิฎกก็จริง แต่เมื่อไม่ได้ศึกษาอรรถกถา ท่านก็ไม่ทราบว่าจะมีความเข้าใจถูกต้องชัดเจนในพระไตรปิฎกนั้นมากน้อยเพียงไร
พระอุปัชฌาย์ของท่านก็ให้ท่านไปฟังธรรมที่สำนักของท่านพระธรรมรักขิตเถระ ซึ่งท่านพระธรรมรักขิตเถระก็กล่าวว่า
ธรรมดาภิกษุย่อมจะมาถามท่านเป็นครั้งคราว ในทีฆนิกายบ้าง ในมัชฌิมนิกายบ้าง ส่วนสูตรอื่นๆ ที่เหลือนั้น ท่านไม่ได้ดูมาประมาณ ๓๐ ปีแล้ว แต่เอาอย่างนี้เถอะ ตอนกลางคืนให้ท่านจุฬาภยเถระมาสาธยายให้ท่านฟัง แล้วตอนกลางวันท่านจะชี้แจงให้ทราบว่า ผิดถูกอย่างไร ท่านพระจุฬาภยะเถระก็กระทำอย่างนั้น ชาวบ้านก็ได้ทำปะรำใหญ่ที่ข้างประตูบริเวณ แล้วก็มาฟังธรรมกันทุกวัน
ท่านพระธรรมรักขิตเถระก็ได้เอาสูตรที่พระจุฬาภยเถระท่องบ่นในตอนกลางคืนนั้น มากล่าวสอบในเวลากลางวัน และสังเกตเห็นว่า ท่านพระจุฬาภยะนั้นมีปฏิภาณสูงกว่าท่านเอง เพราะฉะนั้น ท่านก็ได้เข้าไปนั่งบนเสื่อใกล้ๆ พระจุฬาภยะ แล้วก็ขอให้ท่านจุฬาภยเถระสอนเรื่องการปฏิบัติธรรมแก่ท่าน ท่านพระจุฬาภยเถระก็กล่าวว่า ตัวท่านเองนั้นมาฟังธรรมในสำนักของท่านพระธรรมรักขิตเถระมิใช่หรือ ท่านจะบอกสิ่งที่ท่านธรรมรักขิตเถระไม่รู้อย่างไรได้ ซึ่งท่านพระธรรมรักขิตเถระก็ได้กล่าวว่าอันทางของบุคคลผู้ไปถึงแล้วนั้น เป็นอย่างหนึ่ง
ซึ่งหมายความว่า ผู้ปฏิบัติธรรมและได้บรรลุมรรคผลแล้วนั้นย่อมจะชี้แจง บอกทางปฏิบัติได้ถูกต้องกว่าผู้ที่เพียงรู้ขั้นปริยัติเท่านั้น ที่ท่านธรรมรักขิตเถระกล่าวอย่างนั้น เพราะท่านได้เห็นปฏิภาณของท่านพระจุฬาภยเถระ แล้วก็คงจะได้ทราบว่า ท่านพระจุฬาภยเถระนั้นเป็นพระโสดาบันแล้ว