แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 76


สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค อัมพปาลิสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัมพปาลิวัน ใกล้เมืองเวสาลี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธภาษิตว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน

ซึ่งก็ได้แก่ การพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม

มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงความโศกและความร่ำไร เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ฉะนี้แล

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

ถ้ามีใครบอกให้เจริญสติ พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ชื่นชมไหม ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีในพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค เห็นจริงว่า หนทางเอก หนทางเดียวที่จะทำให้ไม่หลงเข้าใจผิดในอารมณ์ใดๆ ไม่ได้ให้ทำอะไรผิดปกติ แต่พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม

ถ. ขณะใดที่ผมกำหนดจิตอยู่เหนือสะดือ ๒ นิ้ว ปรากฏว่าความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ดับวูบลงไป แล้วความรู้สึกนึกคิดของเราแยกออกไปอีกกายหนึ่ง ออกไปเป็นดวงกลมๆ แล้วเราก็ลอยขึ้นไปบนอากาศ ไปเจอเมฆ ลมที่พัดแรงๆ เรามองลงมาที่บ้าน คล้ายเป็นของเด็กเล่น ผมสงสัยว่า อะไรที่ออกไปจากสังขารนี้ เพราะสังขารเรานี้ไม่รับรู้ สิ่งที่เราได้ยินภายนอกไม่ยอมรับรู้ ผมสงสัยว่า อะไรครับที่ออกไป

สุ. หมดไปแล้ว เวลานี้ไม่มี ขณะที่กำลังยืนอย่างนี้ยังมีไหม ขณะที่กำลังยืนอย่างนี้ดีไหม

ถ. ดี แต่เราไม่รู้

สุ. ดีแล้วไม่รู้ ไม่รู้ดีไหม

ถ. ดี ถ้าจะรู้

สุ. ไม่รู้ ไม่ควรจะดี รู้เป็นปัญญา ไม่รู้เป็นอวิชชา เพราะฉะนั้น ที่ไม่รู้นั้น ควรจะไม่ดี และที่รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่เกิดปรากฏจริงๆ เป็นมรรคมีองค์ ๘ รู้แล้วก็ละความไม่รู้จึงจะดี แต่ถ้าโดยลักษณะอย่างนั้น จะไม่รู้อยู่ตลอดเวลาเรื่อยๆ

ถ. (ไม่ได้ยิน)

สุ. ไม่สำคัญ รู้ของจริงๆ ดีกว่า อย่าไปพะวง อย่าไปห่วงถึงเลย ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ทำให้เกิดความรู้ขึ้น อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ที่จะให้รู้ชัดตามความเป็นจริงแล้วไม่ควรสนใจ ถ้ายังสนใจอยู่ สิ่งนั้นก็จะเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ

บางคนสงสัยเหลือเกินว่า ธรรมชาติของจิตนั้นเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทีละหนึ่งดวง บางท่านเข้าใจว่า ถ้าในขณะที่อกุศลจิตคิดจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น เป็นเหตุให้กระทำสิ่งนั้นไปแล้ว อกุศลจิตจะต้องเกิดติดต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าการกระทำนั้นจะจบ เช่น ถ้าต้องการจะเดินไปดูหนังเป็นโลภมูลจิต ก็จะต้องมีโลภมูลจิตนี้เกิดติดต่อกันเรื่อยไปจนกระทั่งถึงโรงหนังทีเดียว จิตประเภทอื่นไม่สามารถจะเกิดแทรกขึ้นได้ นี่เป็นความเข้าใจของบางท่าน

แต่ขอให้ท่านผู้ฟังลองคิดถึงเหตุการณ์จริงๆ ว่า จะต้องเป็นโลภมูลจิตอย่างเดียวเรื่อยไปจนกระทั่งถึงสถานที่ที่ท่านต้องการจะไป หรือมีโทสะเกิดก็ได้ ทั้งๆ ที่ในขณะที่เดินไปมีความต้องการที่จะไป เห็นมีไหม ได้ยินมีไหม ได้กลิ่นมีไหม คิดนึกเรื่องอื่นมีไหม เป็นสุข เป็นทุกข์ ชอบ ไม่ชอบได้ไหม นี่เป็นเรื่องชีวิตจริงๆ ที่พิสูจน์ได้ ที่แสดงให้เห็นความรวดเร็วของจิต หรือในขณะที่ทำกุศล ทำดอกไม้บูชาพระ อกุศลจิตเกิดแทรกได้ไหม เกิดไม่พอใจบ้าง หรือคิดไปถึงเรื่องอื่นบ้าง แล้วในขณะที่กำลังคิดทำดอกไม้บูชาพระนั้นก็มีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีสุข มีทุกข์ มีคิดนึกเรื่องต่างๆ เกิดได้ไหม ก็ได้

นี่ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นแล้วว่า จิตเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก โดยที่อย่าไปคิดถึงอัตตาตัวตนที่จะจัดสรรให้จิตประเภทนั้นเท่านั้นเกิดติดต่อกันเรื่อยไป ไม่ให้จิตประเภทอื่นเกิดแทรกได้เลย ถ้าเป็นอกุศลก็ให้เป็นอกุศลเรื่อยไป ไม่ให้มีกุศลเกิดแทรก หรือถ้าเป็นกุศลจิต ก็ให้เป็นกุศลจิตไปตลอดเรื่อยไปไม่ให้มีอกุศลเกิดแทรก นี่เป็นความเข้าใจผิด ไม่ใช่สภาพธรรมตามความเป็นจริงด้วย

ขอให้คิดดูว่า ในขณะที่ท่านกำลังนั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี ยืน เดิน พูดอยู่ก็ดี มีเห็นไหม ต้องมีแน่ มีคิดนึกไหม เป็นสภาพธรรมชาติแต่ละลักษณะที่ไม่เหมือนกัน เห็นก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่ง อาศัยตาจึงเห็น รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ได้ยินก็เป็นสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่ง ไม่เหมือนกับเห็นเลย ท่านที่ฟังแล้วพิจารณา สติระลึกรู้ที่ลักษณะของได้ยิน จะทราบได้จริงๆ ว่า สภาพรู้ทางหูนั้นไม่เหมือนกับสภาพที่กำลังเห็น คือ สภาพรู้ทางตาในขณะนี้

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ถึงลักษณะที่ต่างกันของสังขารธรรม ทั้งนามทั้งรูปที่มีลักษณะแตกต่างกัน เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วในวันหนึ่งๆ ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปที่ปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะเป็นปกติธรรมดาทุกอย่าง ไม่ใช่ทำให้ผิดปกติ

การเจริญสติปัฏฐานนั้นไม่ต้องเตรียมตัว ไม่ต้องคิดว่า ถ้าเจริญสติปัฏฐานแล้วจะทำสิ่งนั้นไม่ได้ จะทำสิ่งนี้ไม่ได้ กำลังเห็น ก็รับประทานอาหารด้วยได้ สติเกิดได้ไหม ก็ได้ แล้วแต่จะระลึกรู้ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องทำให้เกิดความผิดปกติใดๆ ทั้งสิ้น

จิตเกิดดับสืบต่อรวดเร็วมาก ชั่วขณะที่เห็นก็รู้เรื่องซึ่งเป็นนามธรรมที่เกิดต่อ มีความพอใจ หรือไม่พอใจเกิดต่อ เพราะมีปัจจัยที่จะให้รู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไรที่จะให้เกิดความชอบ ไม่ชอบในสิ่งที่เห็น ไม่ใช่ไปยับยั้งไม่ให้เกิด แต่สติจะต้องระลึก รู้ลักษณะธรรมชาติที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง แต่ละคนก็ต่างกัน เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานของแต่ละคนนั้นเป็นการรู้จักสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน ที่เกิดขึ้นปรากฏในชีวิตจริงๆ ในวันหนึ่งๆ ของแต่ละบุคคล

มีท่านผู้ใดรู้จักตัวเองจริงๆ ไหม ถ้าไม่ได้ระลึก ไม่มีสติ ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ รู้จักคนอื่นมากไหม ดูคนอื่นจะเห็นชัดเห็นง่าย แต่ถ้ารู้จักตนเองจะเข้าใจคนอื่นละเอียดขึ้นมาก เพราะเหตุว่าเราอย่างไร คนอื่นก็อย่างนั้น ปุถุชนมีกิเลสมากมายหนาแน่นทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจอย่างไร ผู้ที่เริ่มเจริญสติก็รู้จักตนเอง และก็รู้จักผู้อื่นว่า ถ้าตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนก็ต้องเป็นอย่างนั้น มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่สะสมมา แต่การเจริญสติทำให้ผู้นั้นละคลายการที่ไม่เคยพิจารณารู้ลักษณะของนามและรูป

การรู้จักตัวเองในชีวิตปกติประจำวันเท่านั้น จึงเป็นการรู้จักตัวเองอย่างถูกต้องแท้จริง ซึ่งก็เป็นลักษณะของนามธรรมรูปธรรมแต่ละชนิดที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว

เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้เห็นว่า ในพระไตรปิฎกได้ทรงแสดงความรวดเร็วของการเกิดดับของสังขารธรรม ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ธนุคคหสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นายขมังธนู ๔ คน ถือธนูอันมั่นคง ได้ศึกษามาดีแล้ว เป็นผู้มีความชำนาญ เป็นผู้มีศิลปะอันได้แสดงแล้ว ยืนอยู่แล้วในทิศทั้ง ๔

ถ้าบุรุษพึงมากล่าวว่า เราจักจับลูกธนูทั้งหลาย ที่นายขมังธนูทั้ง ๔ เหล่านี้ยิงมาจากทิศทั้ง ๔ ไม่ให้ตกถึงแผ่นดิน เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ควรจะกล่าวได้ว่า บุรุษผู้มีความเร็ว ประกอบด้วยความเร็วอย่างยอดเยี่ยม ดังนี้หรือ

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าแม้บุรุษจะพึงจับลูกธนูที่นายขมังธนูเพียงคนเดียวยิง ไม่ให้ตกถึงแผ่นดิน ก็ควรจะกล่าวได้ว่า บุรุษผู้มีความเร็ว ประกอบด้วยความเร็วอย่างยอดเยี่ยม จะกล่าวไปใยถึงการจับลูกธนูทั้ง ๔ ลูก ที่นายขมังธนู ๔ คน ยิงมาจาก ๔ ทิศ แม้ฉันใด

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า ความเร็วของพระจันทร์และพระอาทิตย์เร็วกว่าความเร็วของบุรุษนั้น ความเร็วของเทวดาที่ไปข้างหน้าพระจันทร์พระอาทิตย์ เร็วกว่าความเร็วของบุรุษและความเร็วของพระจันทร์และพระอาทิตย์ อายุสังขารสิ้นไปเร็วกว่าความเร็วนั้นๆ เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ

บางทีข้อความในพระสูตร สำหรับคนสมัยนี้อาจจะคิดว่า จะไม่ตรงกับความรู้สมัยใหม่ อย่างที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า ความเร็วของพระจันทร์และพระอาทิตย์ เร็วกว่าความเร็วของบุรุษนั้น

ทรงใช้พยัญชนะว่า เหมือนอย่างว่า เป็นคำอุปมา แต่มิได้หมายความว่า พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงรู้ว่า โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ แต่เพื่อเป็นการเปรียบเทียบให้คนเห็นได้ และที่ว่าความเร็วของพระจันทร์และพระอาทิตย์เร็วกว่าความเร็วของบุรุษนั้น คนเราจะเดินรอบโลกวันหนึ่งได้ไหมไม่ได้ แต่พระจันทร์พระอาทิตย์ได้ไหม ขึ้น แล้วก็ตก เป็นสิ่งง่ายๆ ที่ทุกคนจะมองเห็นได้ และทรงใช้พยัญชนะว่า เหมือนอย่างว่า เป็นการอุปมาความเร็วของเทวดาที่ไปข้างหน้าพระจันทร์พระอาทิตย์ เร็วกว่าความเร็วของบุรุษและความเร็วของพระจันทร์และพระอาทิตย์ เทวดานี้ก็มีอิทธิฤทธิ์

พระผู้มีพระภาคทรงหายพระองค์ เพียงลัดมือเดียวถึงพรหมโลกที่ไกลมากได้ แต่ก็ยังสามารถที่จะสำเร็จได้อย่างรวดเร็วด้วยอิทธิฤทธิ์ เทวดาจึงมีความเร็วกว่าพระจันทร์และพระอาทิตย์

ไม่เคยเห็นเทวดา แต่ให้ทราบว่า ธรรมชาติทั้งหลายต้องมีเหตุมีปัจจัย ถ้าท่านผู้ฟังจะไตร่ตรองพิจารณาธรรมถึงสิ่งที่จะเป็นไปได้ไหม มีเหตุผลที่จะเป็นไปได้ไหม ก็ขอให้คิดพิจารณาก่อนที่จะคัดค้านว่าเป็นไปไม่ได้ เพียงเพราะเหตุว่าไม่เคยเห็น

อายุสังขารสิ้นไปเร็วกว่าความเร็วนั้นๆ สังขารได้แก่นามและรูป และอายุสังขาร คือ อายุของนามและรูป เร็วมาก สั้นมาก ไม่ว่าจะเป็นอายุของนาม อายุของรูป รูปก็เกิดดับอย่างรวดเร็ว และนามนั้นเกิดดับเร็วยิ่งกว่ารูป

สัมโมหวิโนทนี ซึ่งเป็น อรรถกถาวิภังคปกรณ์ แสดงความหมายของคำว่า ไม่เที่ยง คือ การหมดสิ้นไปว่า

ชื่อว่า ไม่เที่ยง ด้วยอรรถว่า มีแล้วหามีไม่

ง่ายๆ สั้นๆ แต่ก็ชัดเจน ชื่อว่า ไม่เที่ยง ด้วยอรรถว่า มีแล้วหามีไม่ ความสุขนิดหนึ่งเมื่อสักครู่นี้ มี หมดแล้ว มี แล้วก็หามีไม่

ได้ยินทางหู มีเมื่อสัครู่นิดหนึ่ง แต่มีแล้วก็หามีไม่ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีนิดหนึ่ง แล้วก็หามีไม่ มีอีกนิดหนึ่ง แล้วก็หามีไม่ มีต่อไปอีกนิดหนึ่ง แล้วก็หามีไม่ เรื่อยไปในวัฏฏะ ไม่ว่าจะเป็นสุข ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

นี่เป็นลักษณะของความไม่เที่ยง แต่พยัญชนะนี้ยังมีข้อความต่อไปเพื่ออธิบายขยายให้เกิดความสลด ให้เกิดความเพียรที่จะเป็นผู้ที่ไม่ประมาท พิจารณาให้รู้ความจริงอันนี้ชัด

ข้อความต่อไปมีว่า

ชื่อว่าไม่เที่ยง โดยเหตุแม้อีก ๔ อย่าง คือ

โดยมีความเกิด และความเสื่อมไปเป็นที่สุด ๑

โดยความแปรปรวน ๑

โดยความเป็นของชั่วคราว ๑

โดยค้านกับความเที่ยง ๑

ต้องบอกหลายๆ อย่างที่จะอนุเคราะห์ให้เห็นความจริงของสภาพธรรมทั้งหลาย ถ้าเป็นอุคฆฏิตัญญูคงไม่ต้องอาศัยพระธรรมเทศนามากมายตลอด ๔๕ พรรษา พยัญชนะเดียวกัน แต่ผู้ที่อบรมอินทรีย์แก่กล้าแล้วสามารถแทงตลอด ประจักษ์ชัดในสภาพความจริงที่ไม่เที่ยง ที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไปเป็นที่สุด ที่มีแล้วก็หามีไม่ ที่เป็นความแปรปรวน ที่ค้านกับความเที่ยง ที่เป็นของชั่วคราว เพราะฉะนั้น ควรเจริญสติเพื่อประจักษ์ลักษณะความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ทุกๆ ขณะ

. ผมติดใจที่อาจารย์กล่าวถึงว่า กลัวโลภะ คำๆ นี้ ผู้ปฏิบัติบางท่านกล่าวว่า ขณะที่ท่านไม่ได้ปฏิบัตินั้น เวลารับประทานอาหารจืดไปก็เติมเปรี้ยว เติมเค็ม เติมหวาน สุดแล้วแต่จะเติม แต่เมื่อไปปฏิบัติ ก็ไม่พยายามเติมให้มันเค็ม เพราะกลัวโลภะ ทำนองนี้ใช่ไหมครับที่อาจารย์ว่า

สุ. ถ้ากลัวโลภะจริงๆ ก็ดี จะได้เพียรรู้ลักษณะของโลภะตามความเป็นจริง ให้ถูกต้องตามขั้น คือ เห็นภัย เห็นโทษของโลภะ แต่นี่เห็นภัยเห็นโทษไม่ตลอด เห็นนิดเดียวเท่านั้นเองแล้วก็มีโลภะอีก ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดปรากฏในวันหนึ่งๆ ตามความเป็นจริง จะละความยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนไม่ได้ จะละโลภะไม่ได้

เพราะฉะนั้น การที่จะให้ปัญญาละราคะเป็นที่สุด โทสะเป็นที่สุด โมหะเป็นที่สุดด้วย ผู้นั้นต้องรู้อย่างถูกต้องจริงๆ ว่า ในขั้นแรกนั้นจะต้องเจริญสติอย่างไร พิจารณารู้ลักษณะของนามอะไร รูปอะไรที่เกิดปรากฏ เพื่อละคลายความยึดถือว่าเป็นตัวตน

. เรียนถามเกี่ยวกับรูปนามที่ว่าเกิดดับ คือ เราจะใช้สติปัญญาชนิดใดจึงจะรู้ว่ารูปกับนามเกิดดับแบบใด เพราะสติปัญญาของเรา บางขณะก็รู้สึกว่าจะจำกัด ไม่สามารถจะขยายคำรูปกับนามตลอดรอดฝั่งไปได้

สุ. ท่านผู้ฟังก็ทราบว่า นามกับรูปเกิดดับ แต่ว่าทำอย่างไรจึงจะประจักษ์การเกิดดับของนามและรูปได้

สติจะต้องเกิดขึ้น เจริญขึ้น จนกว่าปัญญาจะสมบูรณ์เป็นขั้นๆ ซึ่งขั้นที่หนึ่ง ไม่ใช่การประจักษ์การเกิดดับของนามและรูป

เพราะฉะนั้น การเจริญปัญญา ต้องให้ปัญญาเจริญสมบูรณ์ถูกต้องเป็นขั้นๆ เพื่อที่จะให้เห็นความละเอียดของปัญญาที่จะต้องรู้ชัดจริงๆ ในสังขารที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพื่อท่านผู้ฟังจะได้ไม่ประมาทในการเจริญสติ ในการเจริญปัญญา ให้รู้ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่า ถ้าท่านคิดว่า เรื่องของการเจริญสติเป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องที่บรรลุผลได้อย่างรวดเร็ว จะทำให้เข้าใจผิด และไม่สามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปได้


หมายเลข  5515
ปรับปรุง  19 ส.ค. 2565