แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 80


ถ. เป็นไปได้ไหมที่พระเจ้าอุเทนยังมีกิเลสหนาแน่น

สุ. ทุกท่านมีสิทธิที่จะคิดพิจารณา เพราะว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ก็มีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ ตื้นลึกหนาบางต่างๆ กัน ถ้ารู้จักตัวเองจริงๆ ก็รู้ตลอดไปถึงบุคคลอื่นด้วย และพระเจ้าอุเทนเจริญสติหรือไม่ คนที่ไม่สนใจการเจริญสติปัฏฐานก็คงจะสนทนากันเรื่องอื่น ไม่สนทนาเรื่องกาย เวทนา จิต ธรรม วิธีเจริญปัญญา หรือสงสัยว่า ทำไมกิเลสที่มีมาก และก็ยังอยู่ในวัยที่ยังเพลิดเพลินยินดีอย่างนั้น มีอะไรทำให้ประพฤติพรหมจรรย์ได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอดชีวิต

พระเจ้าอุเทนเจริญสติปัฏฐานด้วย แม้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ได้จำกัดสถานที่ ไม่ได้จำกัดบุคคล แล้วก็กิจการงานด้วย พระเจ้าอุเทนตรัสกับท่านพระบิณโฑลภารทวาชะว่า

ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ในสมัยใด แม้ข้าพเจ้าเองมีกายมิได้รักษาแล้ว มีวาจามิได้รักษาแล้ว มีจิตมิได้รักษาแล้ว มีสติมิได้ตั้งไว้แล้ว มีอินทรีย์ทั้งหลายมิได้สำรวมแล้ว เข้าไปสู่ฝ่ายใน ในสมัยนั้น ธรรม คือ ความโลภทั้งหลายย่อมครอบงำข้าพเจ้ายิ่งนัก

ท่านภารทวาชะผู้เจริญ แต่ว่าในสมัยใดแล ข้าพเจ้ามีกายอันรักษาแล้ว มีวาจาอันรักษาแล้ว มีจิตอันรักษาแล้ว มีสติอันตั้งไว้แล้ว มีอินทรีย์ทั้งหลายอันสำรวมแล้ว เข้าไปสู่ฝ่ายใน ในสมัยนั้น ธรรม คือ ความโลภทั้งหลายไม่ครอบงำข้าพเจ้า

ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ท่านภารทวาชะประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลง หรือตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจะเห็นรูปได้ ฉะนั้น

ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นที่พึ่ง ขอท่านภารทวาชะจงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเถิด

ผู้ที่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐานดี สนทนากับผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้วก็เข้าใจถูกต้อง เข้าใจกันได้ว่า ธรรมนั้นแจ่มแจ้งนัก ไม่มีข้อสงสัยในการเจริญสติปัฏฐานเลย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใด แม้พระเจ้าอุเทนจะเสด็จไปที่ไหน แม้แต่เข้าไปสู่ฝ่ายใน พระองค์ก็ทรงทราบถึงพระองค์เองในขณะที่หลงลืมสติ โลภะครอบงำ ในขณะที่ไม่หลงลืมสติ โลภะทั้งหลายไม่ครอบงำพระองค์เลย

โลภะมีไหม มี สติระลึกรู้ลักษณะของโลภะที่กำลังปรากฏได้ จึงชื่อว่าโลภะไม่ครอบงำ ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของโลภะ โลภะก็เพิ่มพูนทวีคูณครอบงำจิตใจของบุคคลนั้น แต่ไม่ใช่หมายความว่า เวลาที่ไม่ครอบงำแล้วโลภะจะไม่มี โลภะมี เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย แต่สติระลึกรู้ลักษณะของโลภะตามความเป็นจริง โลภะนั้นจึงไม่ครอบงำได้

เพราะฉะนั้น คงไม่สงสัยในการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าอุเทน ไม่ว่าจะเป็นใคร ไปที่ไหนก็ตาม เพราะว่าผู้ที่เจริญสติย่อมรู้ลักษณะที่ต่างกันของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่มีสติ ถ้าไม่รู้ เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ พระเจ้าอุเทนทรงทราบไหมว่า ขณะใดทรงหลงลืมสติ ขณะใดทรงมีสติ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานทุกคนทราบ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเข้าใจข้อประพฤติปฏิบัติถูกต้องจึงได้สรรเสริญการเจริญสติ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยการที่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่า เป็นข้อปฏิบัติที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมี

ถ. (ไม่ได้ยิน)

สุ. การที่จะประพฤติพรหมจรรย์ ใครก็บังคับใครไม่ได้ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สภาพของจิต อัธยาศัยของบุคคลโดยละเอียด เห็นว่าการบรรพชานั้นเป็นคุณ เป็นสิ่งที่ควรกระทำ เป็นสิ่งที่ควรอบรมสะสมเป็นบารมี เพราะฉะนั้น มิได้ทรงรังเกียจผู้ที่มีศรัทธาที่จะบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรมเท่าที่พื้นฐานของจิตใจจะกระทำได้ เป็นการเพิ่มพูนสะสมบารมีให้มากขึ้น แต่จะไปบังคับให้ภิกษุรูปนั้นเจริญสติตอนนั้นตอนนี้ ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ในพระไตรปิฎกไม่มีเลย มีแต่ทรงเทศนาให้เห็นประโยชน์ ให้เห็นคุณ เพื่อเกื้อกูลแก่สติของบุคคลนั้น

ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สลฬาคารสูตร ข้อ ๑๒๗๙

สมัยหนึ่ง ท่านพระอนุรุทธะอยู่ ณ สลฬาคาร ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้น ท่านพระอนุรุทธะ เรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้ว ได้กล่าวว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน เมื่อเป็นเช่นนั้น หมู่มหาชนถือเอาจอบและตะกร้ามาด้วย ประสงค์ว่า จักทดแม่น้ำคงคาให้ไหลกลับ หลั่งกลับ บ่ากลับ ดังนี้ ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน หมู่มหาชนนั้นจักพึงทดน้ำคงคาให้ไหลกลับ หลั่งกลับ บ่ากลับ ได้บ้างหรือ

ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า

ไม่ได้ขอรับ

ท่านพระอนุรุทธะก็กล่าวถามต่อไปว่า

เพราะเหตุไร

ภิกษุเหล่านั้นก็กล่าวตอบว่า

เพราะการที่จะทดแม่น้ำคงคาอันไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน ให้ไหลกลับ หลั่งกลับ บ่ากลับ มิใช่กระทำได้ง่าย หมู่มหาชนนั้นจะพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเหน็ดเหนื่อย ลำบากเปล่า แน่นอน

ท่านพระอนุรุทธะ ก็ได้กล่าวตอบภิกษุเหล่านั้นว่า

ฉันนั้น เหมือนกัน ผู้มีอายุทั้งหลาย พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา มิตร อำมาตย์ ญาติ หรือสาโลหิต จะพึงเชื้อเชิญภิกษุผู้เจริญ กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ ให้ยินดีด้วยโภคะว่า

ดูกร บุรุษผู้เจริญ จงมาเถิด ท่านจะครองผ้ากาสาวะเหล่านี้อยู่ทำไม ท่านจะเป็นผู้มีศีรษะโล้น มือถือกระเบื้องเที่ยวบิณฑบาตอยู่ทำไม นิมนต์ท่านสึกมาบริโภคสมบัติ และบำเพ็ญบุญเถิด

ข้อที่ภิกษุผู้เจริญ ผู้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ จักลาสิกขาออกมานั้นมิใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะจิตที่น้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวกตลอดกาลนาน จักหวนสึก มิใช่ฐานะที่จะมีได้

ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมเจริญ กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัส ในโลกเสียได้

ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเจริญ กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ อย่างนี้แล

ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน ยากมากทีเดียวที่จะประพฤติพรหมจรรย์ได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอดชีวิต แต่ถ้าพระภิกษุรูปใดเจริญสติปัฏฐานเนืองๆ บ่อยๆ แม้คนอื่นจะเป็นพระราชา หรือว่าอำมาตย์ของพระราชา ไปเชื้อเชิญให้สึกออกมาบริโภคสมบัติ ก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะจิตของท่านนั้นน้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวก และวิเวกนี้เป็นพยัญชนะหนึ่งที่หมายถึง พระนิพพาน

ใน ปปัญจสูทนี ซึ่งเป็น อรรถกถามัชฌิมนิกาย มีคำอธิบายเรื่องชื่อของนิพพาน ที่ใช้คำว่า วิเวกว่า

นิพพาน ชื่อว่า วิเวก เพราะว่างจากสิ่งที่ถูกตกแต่งทั้งปวง

นิพพาน ชื่อว่า วิราคะ เพราะคลายสิ่งทั้งปวง

นิพพาน ชื่อว่า นิโรธะ เพราะดับสิ่งทั้งปวง

เพราะฉะนั้น คำว่า วิเวกในที่นี้ ถ้าจิตของท่านน้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวก ก็คือน้อมไปในนิพพาน โน้มไปในนิพพาน โอนไปในนิพพานนั่นเอง เพราะฉะนั้น ที่จะหวนสึก มิใช่ฐานะที่จะมีได้

ถ้าเป็นบรรพชิต แล้วเจริญสติปัฏฐานในเพศของบรรพชิต ก็ย่อมจะไม่หวนกลับมาเป็นฆราวาส เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานจึงเป็นสิ่งที่แต่ละบุคคลต้องเจริญเป็นปกติ ตามเพศของตน

ถ. ถ้าเป็นพระอริยบุคคลแล้ว จะไม่ลาสิกขาบทใช่ไหม

สุ. ถ้าตราบใดยังไม่ได้บรรลุมรรคผล ก็ยังหวนกลับมาได้ แต่ถ้าบรรพชิตรูปใดเป็นพระอริยบุคคลในเพศของบรรพชิตแล้ว จะไม่มีการลาสิกขาเลย

ถ. คำว่าเนืองๆ บ่อยๆ เข้าใจว่าไม่ได้มีสติอยู่ตลอดเวลา แต่มีสติบ่อยๆ เป็นส่วนมากใช่ไหม

สุ. ในพระไตรปิฎกใช้พยัญชนะว่า ปรารภความเพียร ปรารภ คือ เริ่มตั้ง หรือมีความเพียร มีสติเกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะสติเกิดแล้วก็ดับ สติไม่ได้คงอยู่ ไม่ได้ตั้งอยู่ สติระลึกลักษณะของนามใดรูปใดแล้วก็ดับไป แล้วสติก็เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามอื่นรูปอื่นแล้วก็ดับไป แล้วแต่ว่าสติจะระลึกเป็นไปในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม จนกว่าปัญญาจะรู้ชัด

จุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐาน คือ ปัญญาที่รู้ชัด ไม่ต้องเป็นห่วงเป็นกังวลว่า สติจะเกิดมากหรือน้อย กะเกณฑ์กำหนดวันเวลาไม่ได้

เห็นมีไหม สีมีไหม เพราะฉะนั้น ก็พิจารณาได้ เพื่อให้ปัญญารู้ชัด ได้ยินก็จริง มีจริงๆ เสียงก็มีจริงๆ เป็นของจริงที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะนั้นตามความเป็นจริงได้

ผู้ตื่นมีความหมาย ๒ อย่าง ถ้าหลับจะมีโอกาสพิจารณานามรูปที่กำลังปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจบ้างไหม ก็ไม่มี นั่นประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง คือ รู้แจ้ง รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะการเจริญสติ ถึงแม้ว่าจะตื่นมาแล้ว แต่ว่าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป การตื่นนั้นก็ไม่ใช่เป็นการรู้ในลักษณะของนามและรูป ยังไม่ชื่อว่าเป็นผู้ตื่นจากกิเลส

ผู้ที่จะตื่นจากกิเลสได้ต้องไม่ใช่ผู้นอนหลับ ผู้ที่มีความเพียร ถ้าตื่นตอนดึก ควรใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่มีนามมีรูป ก็ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ไม่ต้องเป็นห่วงว่า จะนอนน้อยทำให้เสียสุขภาพ แต่ความจริงในขณะที่นอนหลับนั้น สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงเป็นผู้หลับจริงๆ ส่วนผู้ที่ตื่น ถ้าตื่นแล้วสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ก็ยังไม่ชื่อว่า เป็นผู้ตื่นจากกิเลส

เห็นทางตา ก็มีอวิชชา ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปทางตา ได้ยินเสียงทางหู ก็มีอวิชชา ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปทางหู เรื่อยๆ ไป ก็ยังเป็นผู้ที่ไม่ตื่นจากกิเลส ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป

เป็นผู้อดทนพอที่จะเจริญสติปัฏฐานไหม โดยมากเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานดี แต่ความอดทนยังน้อยมาก เพราะต้องการผลที่รวดเร็ว แต่พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญความอดทนไว้มากทีเดียว และผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นผู้ที่รู้จริงๆ ว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นต้องอาศัยความอดทน ต้องมีความเพียรที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตามปกติเดี๋ยวนี้ ไม่รอ หรือว่าไม่มีความต้องการที่เอื้อมไป หวังไปถึงนามอื่นรูปอื่นที่ยังไม่ปรากฏ ต้องมีความอดทนที่จะตรงต่อสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็พิจารณาเพื่อรู้ชัด

โดยมากกิเลสมักจะทำให้เอื้อมไป จะเจริญสติปัฏฐาน เอื้อมแล้ว เพราะเหตุว่าในขณะนั้นมีนามมีรูปที่กำลังปรากฏ แล้วสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปนั้น โดยที่ไม่คิดว่าจะเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าจะทำวิปัสสนา

เวลาที่มีโลภะมากๆ โทสะมากๆ สติเกิดได้ไหม ท่านหนึ่งตอบว่าได้ อีกท่านหนึ่งตอบว่าไม่ได้ ที่ตอบต่างกันเพราะอะไร ท่านที่ตอบว่าได้ ก็เพราะอบรมเนืองๆ บ่อยๆ ส่วนท่านที่ตอบว่าไม่ได้ ก็เพราะเหตุการอบรมนั้นยังน้อย จะเป็นโลภะ จะเป็นโทสะระดับใดก็ตาม ผู้ที่จะเป็นอริยบุคคล เป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น จะไม่ยึดถือว่า ขณะนั้นเป็นตัวตนเลย

เพราะฉะนั้น ในตอนต้นผู้เจริญสติปัฏฐานจะสังเกตได้ว่า กำลังรีบ สติไม่เกิด กำลังโกรธมากๆ หรือชอบใจมากๆ สติไม่เกิด ไม่ใช่โลภะแรงๆ เป็นอุเบกขาธรรมดา ถ้ายังไม่ได้เจริญสติมาก สติก็ไม่เกิด แต่สิ่งใดที่เคยคิดว่าจะรู้ไม่ได้ จะเกิดไม่ได้ เวลาที่สติเจริญขึ้น อบรมให้มีมากขึ้นแล้ว สติย่อมสามารถที่จะรู้ แล้วละการที่เคยไม่รู้ การที่เคยยึดถือนามรูปเป็นปกติในชีวิตธรรมดาได้

อย่างจักขุปสาทเป็นอินทรีย์ เพราะเหตุว่าในรูปทั้งหลายที่ประชุมรวมกันเป็นกาย ถ้าขาดจักขุปสาทแล้ว การเห็นจะมีไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการรับกระทบสีนั้นก็เป็นเพียงรูปชนิดหนึ่ง และเมื่อกระทบกับสีแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดการเห็นแล้วก็ดับไป เท่านั้นเอง ไม่ควรเลยที่จะยึดถือว่าเป็นตัวตน

จักขุปสาทจะไม่เปลี่ยนลักษณะเป็นอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นจักขุปสาทในอดีต หรือว่าจักขุปสาทที่กำลังมีในขณะนี้ หรือว่าจักขุปสาทที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า จักขุปสาทก็เป็นรูปชนิดหนึ่ง เป็นใหญ่ในการรับกระทบสี ซึ่งการเทศนาโดยนัยต่างๆ จะช่วยทำให้ละคลายการที่จะยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

จักขุปสาท นอกจากจะเป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่ในการรับกระทบสี จักขุปสาทนั้นยังเป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และเมื่อเป็นธรรมชาติที่มีจริง ธรรมชาติที่มีจริงนั้นก็เป็นลักษณะของธาตุที่เป็นรูปชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง

โดยนัยของธาตุ ๑๘ ก็เป็นจักขุธาตุ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงโดยพระธรรมเทศนา ได้จัดประเภทไว้ว่า ธรรมที่เป็นอินทรีย์ ธรรมที่เป็นใหญ่นั้นมีทั้งหมด ๒๒ ลักษณะ ส่วนธรรมที่เป็นธาตุ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงธาตุชนิดต่างๆ นั้น เมื่อสรุปก็เป็นธาตุ ๑๘ แต่ถ้าโดยนัยของพระสูตรแล้ว ทุกอย่างเมื่อไม่ใช่ตัวตนก็เป็นธาตุแต่ละชนิดเท่านั้น

ความต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เมื่อไม่ใช่ตัวตนก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง สิ่งที่มีจริงแล้วต้องเป็นธาตุแต่ละลักษณะ เป็นกามธาตุ ความต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ใช่ตัวตนเลย ที่เคยยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ถ้าแตกย่อยกระจายออกแล้ว ก็เป็นลักษณะของธรรมชาติแต่ละชนิดๆ

ไม่ว่าจะเป็นโลภะ ก็เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง ไม่ว่าจะละความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นเนกขัมมธาตุ

แต่ถ้าจะสรุปลงในประเภทของธาตุ ๑๘ ก็เป็นธัมมธาตุ และจักขุปสาทซึ่งเป็นรูปที่เป็นใหญ่ในการรับกระทบสีนั้น ก็ยังเป็นที่ต่อหรือที่ประชุมของรูป ที่ทำให้เกิดการเห็น

จักขุปสาท รูปที่ผ่องใสที่รับกระทบกับสี เป็นจักขวายตนะ หมายความว่า เป็นที่ต่อกับรูปายตนะ คือ รูปที่กำลังปรากฏกระทบกัน ประชุมกัน ทำให้เกิดการเห็นขึ้น การรู้อย่างนี้จะมีประโยชน์ไหม เพราะเหตุว่าถ้าไม่ศึกษาธรรมที่จะกระจัดกระจายลักษณะของธรรมชาติออกไปเป็นแต่ละลักษณะ ยังคงประชุมรวมกันอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนทั้งนามทั้งรูปแล้ว การที่จะละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตนนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น การที่ปัญญาจะเจริญถึงขั้นที่ละจะคลายได้ ก็เพราะรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่มีตามความเป็นจริง ต้องกระจัดกระจายออกเป็นแต่ละลักษณะจริงๆ ไม่ใช่ว่ายังรวมกันอยู่

ถ้าไม่เจริญสติ ก็หมดหนทางที่จะรู้ลักษณะของนามและรูปแต่ละประเภทได้ และท่านยังทรงแสดงไว้ถึงเหตุปัจจัยของแต่ละอย่างด้วย อย่างตาที่อยู่ที่กาย อาศัยดิน น้ำ ไฟ ลม เพราะว่าที่กาย รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธานเป็นดิน น้ำ ไฟ ลม แต่จักขุปสาทนั้นเป็นอีกส่วนหนึ่ง เป็นอีกรูปหนึ่ง แต่ไม่ได้แยกจากดิน น้ำ ไฟ ลม ยังคงต้องอาศัยดิน น้ำ ไฟ ลม ที่รวมกันอยู่นั่นเอง

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีดิน น้ำ ไฟ ลม จะมีแต่จักขุปสาทซึ่งเป็นปสาทรูปที่ผ่องใสที่สามารถรับกระทบสีเพียงลำพังไม่ได้เลย

นี่ก็เป็นปฏิจจสมุปปาท คือ ธรรมทั้งหลายที่อาศัยกันเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าเกิดได้โดยลำพัง จะเห็นได้จริงๆ ว่า ที่เรายึดถือว่าเป็นตัวตนนั้น เป็นเพราะเหตุว่ายังไม่รู้ชัดในลักษณะของรูปแต่ละรูปนั่นเอง


หมายเลข  5533
ปรับปรุง  27 ส.ค. 2565