แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 86


เพราะฉะนั้น ในมหาสติปัฏฐานไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยเจริญสมาธิเท่านั้น แต่ถึงแม้ผู้นั้นจะเคยเจริญสมถภาวนามาอย่างไร เคยเจริญอานาปานสติสมาธิมาแล้วอย่างไร ก็เจริญสติปัฏฐานด้วย เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติต่อไป

ไม่เหมือนผู้ที่ไม่เคยฟังธรรม ก็ได้แต่เจริญอานาปานสติสมาธิ บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน แต่ที่อานาปานบรรพ ไม่ใช่อยู่แต่เฉพาะในหมวดของสมถภาวนาเท่านั้น อยู่ในมหาสติปัฏฐานด้วย เป็นเพราะเหตุว่าแม้ผู้ที่เคยเจริญ อานาปานสติสมาธิก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติได้ สติตามระลึกรู้ลมหายใจได้

สำหรับเรื่องของอานาปานสติมีมาก ในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค อานาปานกถา ข้อ ๓๖๒ – ๔๒๒ ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ใน อานาปานสังยุต ก็มีเรื่องของอานาปานสติโดยนัยต่างๆ ในพระวินัยปิฎก ตติยปาราชิกกัณฑ์ อานาปานสติสมาธิกถา ส่วนในพระอภิธรรมปิฎกเป็นเรื่องของ มหาสติปัฏฐาน ๔ โดยรวม ไม่ได้แยกเป็นบรรพต่างๆ

สำหรับพยัญชนะต่อไป

นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว

เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น

นี่เป็นลักษณะของผู้ที่มีสติที่ลมหายใจ เวลานี้ลมหายใจเข้าสั้น ออกสั้น เข้ายาว ออกยาว ถ้าสติไม่รู้ที่ลมหายใจจะไม่ทราบเลย ผู้ที่จะทราบต้องเป็นผู้รู้ลักษณะของลมหายใจที่กำลังกระทบ

สำหรับพยัญชนะในที่ต่างๆ ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อานาปานกถา มีข้อความว่า

ลมอัสสาสะ คือ ลมหายใจออกชื่อว่า อานะ

ลมปัสสาสะ คือ ลมหายใจเข้าชื่อว่า อปานะ

ส่วนใน สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย มีพยัญชนะที่อธิบายเรื่องลมอัสสาสะ ปัสสาสะ โดยนัยเดียวกัน คือ ลมออกภายนอกชื่อว่า ลมอัสสาสะ ลมเข้าภายในชื่อว่า ลมปัสสาสะ และมีข้อความว่า ลมหายใจออกชื่อว่า อานะ ลมหายใจเข้าชื่อว่า ปานะ

สำหรับผู้ที่สนใจในพยัญชนะ อยากทราบความหมายของอานาปานะ ก็จะได้ทราบว่า หมายความถึง ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ถ้าเป็นลมหายใจออก พยัญชนะก็ว่า อานะ ลมหายใจเข้า ก็เป็นปานะ หรืออปานะ

การเจริญอานาปานสติเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะเหตุว่าอารมณ์ละเอียดมาก ถ้าไม่เข้าใจเรื่องของการเจริญอานาปานสติจริงๆ ย่อมไม่บรรลุผลสมความมุ่งหมายได้ เพราะฉะนั้น ควรที่จะเข้าใจว่า ผู้ที่จะเจริญอานาปานสติให้จิตสงบตั้งมั่นอยู่ที่ลมหายใจได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ และต้องเริ่มเป็นขั้นๆ ด้วย

สมันตปาสาทิกา มีข้อความว่า

อาการ ๔ อย่าง คือ ลมหายใจออกยาวและสั้น และแม้ลมหายใจเข้าเช่นนั้น ย่อมเป็นไปที่ปลายจมูกของภิกษุ ฉะนี้แล

ที่จะรู้ว่าเป็นลมหายใจไม่ใช่ลมที่อื่นนั้นจะรู้ได้อย่างไร จะรู้ได้ที่ไหน ถ้าลมกำลังกระทบที่ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายส่วนอื่น ใช่ลมหายใจไหม ลมกำลังกระทบที่แขน ใช่ลมหายใจไหม ก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ที่จะเป็นลมหายใจที่สติจะตั้งมั่น จิตสงบได้นั้น จะต้องรู้ด้วยว่า ส่วนใด ลักษณะใดเป็นลมหายใจ

เพราะฉะนั้น ที่เป็นลมหายใจนั้นก็คือ ลักษณะของลมที่ปรากฏที่ปลายจมูก ไม่ว่าจะเป็นลมเข้า หรือลมออก ยาวหรือสั้นก็ตาม

ข้อความต่อไปมีว่า

จริงอยู่ ลมหายใจออกและลมหายใจเข้าเหล่านี้ สำหรับคนที่มีนาสิก (จมูก) ยาว ย่อมกระทบโพรงจมูกเป็นไป สำหรับคนที่มีนาสิกสั้น ย่อมกระทบริมฝีปากเบื้องบนเป็นไป

ผู้ที่กำลังมีสติระลึกรู้ส่วนของลมหายใจที่กำลังกระทบจะรู้ว่า กระทบที่ส่วนไหน ในโพรงจมูก หรือที่ริมฝีปากเบื้องบน

นอกจากนั้นการเจริญอานาปานสติยังมีความละเอียดที่ว่า ถ้าไม่มีสติที่มั่นคง ไม่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะจริงๆ ไม่สามารถจะเจริญอานาปานสติได้ เพราะมีอุปกิเลสที่จะทำให้จิตไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เป็นต้นว่า เวลามีสติที่ลมกำลังกระทบโพรงจมูกก็ดี หรือริมฝีปากเบื้องบนก็ดี ลักษณะของลมนั้นละเอียดมาก ซึ่งก่อนการพิจารณาลมย่อมหยาบ เมื่อพิจารณาแล้ว ลมจะละเอียดขึ้นๆ เพราะจิตสงบขึ้นๆ

และในการพิจารณานั้นก็แยกเป็น ๒ ทาง ถ้าเป็นสมถภาวนา เวลาที่จิตสงบเป็นขั้นอุปจารสมาธิ ก็ยังจัดว่าเป็นลมหยาบ ทั้งๆ ที่เป็นอุปจารสมาธิแล้ว ต่อเมื่อใดเป็นอัปปนาสมาธิ จึงจัดว่าเป็นลมละเอียด

สำหรับการเจริญวิปัสสนานั้น ในขณะที่เริ่มพิจารณาก็เป็นลมหยาบ เพราะ ปรากฏให้รู้ลักษณะนั้นได้ เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่มีสติ มีสัมปชัญญะ และเป็นผู้ที่รู้จักวิธีที่จะไม่ให้ขาดสติจริงๆ ทั้งโดยนัยของการเจริญสมถภาวนา และโดยนัยของการเจริญสติปัฏฐาน

สำหรับข้อความที่ว่า ให้มีสติระลึกที่ลมกระทบ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่ละเอียดมาก ถ้าไม่ระลึกที่นั่นก็จะขาดสติ หรือสติจะไม่มั่นคง สมาธิจะไม่มั่นคง ถ้าโดยนัยของการเจริญสมถภาวนา ถ้าคิดที่จะจดจ้องติดตามลมหายใจ คือ คิดถึงลมหายใจเข้า ลมหายใจออกด้วยความต้องการ ขณะนั้นจิตก็จะกวัดแกว่งไม่สงบ หรือแม้แต่ความคิดปรารถนานิมิตที่จะให้เกิดขึ้นกับลมหายใจ ในขณะที่ปรารถนาจะให้เกิดนิมิตนั้น จิตก็หวั่นไหว ดิ้นรน

แม้การเจริญสมถภาวนาก็ต้องเป็นผู้ที่รู้ว่า กำหนดพิจารณาอย่างไร ถ้าไม่พิจารณาที่ลมกระทบ มีความต้องการที่จะติดตามลมนั้นไป ความต้องการนั้นก็จะทำให้จิตไม่สงบ กวัดแกว่ง หรือแม้แต่ต้องการให้นิมิตเกิดขึ้น ในขณะนั้นก็เป็นอุปกิเลส ซึ่งไม่ใช่เป็นการระงับความต้องการ ไม่ใช่การระงับกามฉันทนิวรณ์

ถ้าเป็นนัยของการเจริญวิปัสสนา ต้องรู้เท่าทันจิต แม้ขณะที่สติระลึกรู้ลมที่ละเอียดที่กำลังปรากฏ ถ้ายังมีความผูกพันต้องการ จดจ้อง ลักษณะนั้นก็เป็นลักษณะของอัตตา

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีสติที่ระลึกแล้วก็รู้ชัด แล้วก็ละ แล้วก็คลาย นั่นเป็นเรื่องของการเจริญปัญญา

ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อานาปานกถา มีข้อความเรื่องสติระลึกที่ลมกระทบว่า

ภิกษุนั่ง ตั้งสติไว้มั่น

คำว่า ตั้งสติไว้มั่น คือ เป็นผู้ที่มีสติ ไม่หลงลืมสติ บางคนคิดว่า จะต้องให้เป็นสมาธิ สงบทีเดียว แต่ทุกครั้งที่พยัญชนะว่า ตั้งสติไว้มั่น หมายความถึง เป็นผู้ไม่หลงลืมสติ

ภิกษุนั่ง ตั้งสติไว้มั่นที่ปลายจมูก หรือที่ริมฝีปาก ไม่ได้ใส่ใจถึงลมอัสสาสะ ปัสสาสะ ออกหรือเข้า ลมอัสสาสะปัสสาสะ ออกหรือเข้าจะไม่ปรากฏก็หามิได้ จิตปรากฏเป็นประธาน จิตให้ประโยชน์สำเร็จ และบรรลุถึงผลวิเศษ เหมือนบุรุษตั้งสติไว้ด้วยสามารถฟันเลื่อยอันผูกที่ต้นไม้ เขาไม่ได้ใส่ใจถึงฟันเลื่อยที่มาหรือที่ไป ฟันเลื่อยที่มาหรือที่ไปจะไม่ปรากฏก็หามิได้

คือ ไม่ต้องติดตาม เพราะว่าถ้าติดตาม ต้องการรู้ จดจ้องลม จะทำให้จิตกวัดแกว่ง เพียงแต่มีสติรู้ลมที่ปรากฏที่กระทบ นั่นเป็นการรู้ลักษณะของลมหายใจ

สำหรับเรื่องของการเจริญอานาปานสติที่ว่า จะต้องเจริญให้ถูก มิฉะนั้นแล้ว ไม่สามารถที่จะทำให้จิตตั้งมั่นได้ ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค อานาปานกถา ได้พูดถึงความละเอียดของอุปกิเลสซึ่งมีถึง ๑๘ ประการ แต่จะขอกล่าวเพียง ๖ ประการเท่านั้น

สำหรับอุปกิเลสที่จะมีในขณะที่เจริญอานาปานสตินั้น คือ

เมื่อบุคคลใช้สติไปตามเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งลมหายใจออก จิตถึงความฟุ้งซ่านในภายใน ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

เมื่อบุคคลใช้สติไปตามเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งลมหายใจเข้า จิตถึงความฟุ้งซ่านในภายนอก ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

ความปรารถนา ความพอใจลมหายใจออก การเที่ยวไปด้วยตัณหา เป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

ความปรารถนา ความพอใจลมหายใจเข้า การเที่ยวไปด้วยตัณหา เป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

ความหลงในการได้ลมหายใจเข้า แห่งบุคคลผู้ถูกลมหายใจออกครอบงำ ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

ความหลงในการได้ลมหายใจออก แห่งบุคคลผู้ถูกลมหายใจเข้าครอบงำ ย่อมเป็นอันตรายแก่สมาธิ ๑

ถ้าพอใจ หรือหลงคิดว่า เป็นลมหายใจออกในขณะที่หายใจเข้า หรือหลงคิดว่า เป็นลมหายใจเข้าในขณะที่หายใจออก ก็ไม่ทำให้สติตั้งมั่น

และที่ว่า ถ้าตามลมหายใจเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด จิตถึงความฟุ้งซ่านนั้น ใน สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย มีข้อความเรื่องเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดของลมหายใจไว้ด้วยว่า

การใช้สติไปตามนั้น ไม่ใช่ด้วยสามารถการไปตามเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ก็ลมออกภายนอกมีนาภีเป็นเบื้องต้น มีหทัยเป็นท่ามกลาง มีนาสิกเป็นที่สุด ลมเข้าภายในมีปลายนาสิก คือ ปลายจมูกเป็นเบื้องต้น มีหทัย คือ หัวใจเป็นท่ามกลาง มีนาภี คือ ท้องเป็นที่สุด

คือ ตามไปทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ทั้งกาย ทั้งจิตย่อมมีความกระวนกระวาย หวั่นไหว และดิ้นรน เพราะจิตฟุ้งซ่านในภายใน เมื่อกำหนดลมหายใจออกบ้าง ลมหายใจเข้าบ้าง หรือจิตย่อมฟุ้งซ่านในภายนอก เมื่อกำหนดลมหายใจเข้าบ้าง ลมหายใจออกบ้าง เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะติดตามได้ถูกต้องทุกระยะ

ซึ่งในข้อนี้ก็อุปมาเรื่องเลื่อย ใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ข้อความที่ว่า

หายใจออก หายใจเข้า ยาว สั้น พึงทราบด้วยสามารถแห่งระยะเวลา

ทั้งๆ ที่เป็นลมที่ละเอียด แต่ค่อยๆ แผ่ไป เวลาที่ลมกระทบโพรงจมูกก็ดี หรือว่าริมฝีปากเบื้องบนก็ดี ลมหายใจเข้าหรือลมหายใจออกยาว การแผ่ไป หรือการกระทบส่วนนั้นก็มากหรือยาว เมื่อพิจารณาเห็นกาย คือ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้ายาวสั้นด้วยสตินั้น ด้วยญาณ จึงตรัสเรียกว่า การเจริญสติปัฏฐานประกอบด้วยการตามพิจารณาเห็นกายในกาย

ต้องพิจารณาด้วยสติ ต้องรู้ชัดด้วยญาณในลักษณะของลม จึงตรัสเรียกว่าการเจริญสติปัฏฐานประกอบด้วยการตามพิจารณาเห็นกายในกาย

ต่อไปข้อความที่ว่า

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจออก

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจเข้า

ความหมายคือ ย่อมศึกษา จักทำให้แจ่มแจ้งซึ่งกองลมหายใจออก หายใจเข้าทั้งสิ้น คือ ไม่ให้ขาดสติ ลมหายใจออกก็รู้ ลมหายใจเข้าก็รู้ แต่เดี๋ยวก็ไม่รู้ ขาดสติแล้ว หลงลืมสติแล้ว เพราะเหตุว่าลมหายใจละเอียดมาก บางคนลมอาจจะปรากฏตอนต้น แต่ท่ามกลางกับที่สุด คือ ตอนกลางกับตอนปลายไม่ปรากฏแล้ว ซึ่งก็เพราะความละเอียดของลมหายใจ

ให้รู้แจ้งกองลมทั้งปวง หายใจออก หายใจเข้า

หมายความว่าเป็นผู้ที่มีสติ ระลึกรู้ลักษณะของลมที่เข้า ลมที่ออกโดยไม่ขาดสติ แต่ไม่ใช่ให้ไปตามเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด โดยลักษณะของเบื้องต้นเป็นปลายจมูก ท่ามกลางเป็นหทัย แล้วก็ปลายของลมหายใจเป็นนาภี ไม่ใช่อย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญอานาปานสติย่อมศึกษา ย่อมพิจารณา ย่อมเสพ ด้วยการที่จักรู้แจ้งกองลมหายใจทั้งปวง จักรู้แจ้งกองลมทั้งปวง หายใจออก จักรู้แจ้งกองลมทั้งปวง หายใจเข้า

ลมหายใจออกจะกระทบก็รู้ ยาวก็รู้ สั้นก็รู้ แต่ว่ารู้นิดหนึ่งก็หมดไป หลงลืมสติ ขาดสติอีกได้ แต่จะรู้แจ้งกองลมทั้งปวงไม่ว่าจะออกจะเข้าขณะใด ก็เป็นผู้ที่ศึกษา พิจารณาลมที่ออกที่เข้าทั้งปวง ไม่เป็นผู้ที่ขาดสติ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว

เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจออก ย่อมสำหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจเข้า

ข้อสำคัญจะต้องทราบว่า เป็นปกติธรรมดา มีท่านผู้ใดระลึกรู้ที่ลมหายใจบ้าง ถ้าไม่ระลึกรู้ที่ลมหายใจ ทราบไหมว่าเป็นเพราะเหตุอะไร ทุกอย่างต้องมีเหตุผลทั้งสิ้น กำลังเห็น มี ได้ยิน มี หรือรูปเย็น ร้อน อ่อน แข็งที่ปรากฏ ก็มี เป็นปกติธรรมดา ก็เป็นเพราะเหตุว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จิตมักคล้อยไป ไม่เหมือนกับลมหายใจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกายจริงๆ

คนที่ยังมีชีวิต มีนาม มีรูป ต้องมีลมหายใจทุกคน แต่ว่าหยาบ ละเอียด ยาว สั้น ถ้าสติไม่ระลึกรู้ ขณะนั้นก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่เจริญอานาปานสติสมาธิจึงได้ไปสู่ที่สงัด เช่น ไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ ไปสู่เรือนว่าง

ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เคยอบรมมาในเรื่องของสมาธิ หรือไม่เคยอบรมมาก็ตาม จิตน้อมไปประการใด ตามอัธยาศัยของแต่ละท่าน ผู้นั้นก็เจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนาม และรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

ในหมวดของอานาปานบรรพนี้ เป็นเรื่องของผู้ที่เคยอบรม เคยสะสมการเจริญสติ พิจารณาลมหายใจ ซึ่งลมหายใจนั้นเป็นสภาพธรรมที่ละเอียดมาก ถ้าไม่รู้วิธีเจริญอานาปานสติที่ถูกต้อง สติจะไม่ตั้งมั่นที่ลมหายใจได้นาน จะระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจได้ก็เพียงนิดเดียวเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญอานาปานสติให้จิตตั้งมั่นที่ลมหายใจ จะต้องรู้วิธีด้วยว่า จะขาดสติไม่ได้เลย หายใจออกจะต้องมีสติระลึกรู้ หายใจเข้าจะต้องมีสติระลึกรู้ ขณะใดที่หายใจออกยาว สติจะต้องรู้ตามความเป็นจริงถึงลมหายใจออกยาว ขณะที่หายใจออกสั้น สติจะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริงของลมหายใจออกสั้น หรือว่าเวลาที่หายใจเข้า สติจะต้องระลึกรู้สภาพของลมหายใจเข้า ในขณะที่เข้ายาวก็ต้องรู้ในลักษณะนั้น ในขณะที่หายใจเข้าสั้นก็ต้องรู้ในลักษณะนั้นด้วย ถ้าขาดสติหรือเผลอสติไปที่อื่น ก็ไม่ใช่อานาปานสติสมาธิ เพราะเหตุว่าอานาปานสติสมาธินั้น สติจะระลึกที่ลมหายใจเท่านั้น


หมายเลข  5549
ปรับปรุง  9 ก.ย. 2565