แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 95
เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดศึกษาเรื่องสมถกัมมัฏฐาน จะมีธาตุมนสิการด้วย แต่ว่าสำหรับผู้ที่เจริญสมถกัมมัฏฐานนั้น เวลาที่ระลึกถึงธาตุหนึ่งธาตุใดใน ๔ ธาตุนี้ ก็มีความมุ่งหมายที่จะระลึกเพื่อให้จิตสงบอยู่ที่อารมณ์เดียว เพื่อให้จิตตั้งมั่นคง ไม่ใช่เพื่อการรู้ชัดแล้วละ
สำหรับธาตุมนสิการ ถึงแม้ว่าจะเป็นโดยนัยของสมถภาวนาก็ตาม เป็นอารมณ์ที่ไม่สามารถจะทำให้จิตบรรลุถึงขั้นอัปปนาสมาธิ เพียงแต่ให้จิตสงบได้ถึงขั้นอุปจารสมาธิเท่านั้น เพราะว่ามีลักษณะของธาตุเป็นอารมณ์ ลักษณะของธาตุนั้น มีแล้วก็หมดไป สิ่งใดที่ปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่สามารถทำให้จิตตั้งมั่นคง จิตไม่สงบถึงขั้นที่จะให้ตั้งมั่นถึงอัปปนาสมาธิ
ธาตุต่างๆ เป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าใครระลึกโดยลักษณะของความเป็นธาตุ จิตก็สงบ และถ้าเป็นการเจริญสมถภาวนาก็ทำให้จิตตั้งมั่นคงแน่วแน่ในอารมณ์นั้นได้ แต่ไม่ละ เป็นแต่เพียงความสงบ และตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์นั้นพอสมควร คือ ถึงขั้นอุปจารสมาธิ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะระลึกรู้ลักษณะของธาตุแล้วบรรลุถึงขั้นอุปจารสมาธิ บางคนก็เป็นเพียงแค่ขณิกสมาธิ บริกัมมสมาธิ ไม่ถึงอุปจารสมาธิ
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องละเอียดที่ท่านผู้ฟังไม่ใช่เพียงแต่ดูชื่อว่า ปฏิกูลมนสิการก็ดี ธาตุมนสิการก็ดี ก็เป็นสมถกัมมัฏฐาน ฉะนั้น เมื่ออยู่ในมหาสติปัฏฐานแล้ว ก็ต้องไปทำแบบสมถกัมมัฏฐาน ไม่ใช่อย่างนั้นเลย วิธีเจริญก็ผิดกัน จุดประสงค์ก็ผิดกัน ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่อยู่ข้างนอก ความอ่อน ความแข็ง ความเย็น ความร้อน เคร่ง ตึง ไหว ไหล เกาะกุม ลักษณะต่างๆ เหล่านั้นไม่ได้ยึดถือว่าเป็นร่างกายของเรา แต่ที่ระลึกรู้ลักษณะของธาตุภายในบ้าง ภายนอกบ้าง ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง เพื่อให้รู้ความเสมอกันของธาตุข้างนอกกับธาตุที่กายว่าไม่ต่างกัน เมื่อไม่ต่างกัน ทำไมจะยึดถือว่า เป็นร่างกายของเรา
ขอกล่าวถึง มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ธาตุวิภังคสูตร สูตรนี้จำแนกเรื่องของธาตุ และขอกล่าวถึงเฉพาะบางตอน ข้อความใน ธาตุวิภังคสูตร มีว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเมื่อเสด็จจาริกไปในมคธชนบท ทรงแวะยังพระนครราชคฤห์ เสด็จเข้าไปหานายช่างหม้อ ชื่อ ภัคควะ ยังที่อยู่ แล้วตรัสดังนี้ว่า
ดูกร นายภัคควะ ถ้าไม่เป็นความหนักใจแก่ท่าน เราจะขอพักอยู่ในโรงสักคืนหนึ่งเถิด
นายภัคควะทูลว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าไม่มีความหนักใจเลย แต่ในโรงนี้มีบรรพชิตเข้าไปอยู่ก่อนแล้ว ถ้าบรรพชิตนั้นอนุญาต ก็นิมนต์ท่านพักตามสบายเถิด ฯ
ก็สมัยนั้นแล กุลบุตร ชื่อ ปุกกุสาติ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตอุทิศ พระผู้มีพระภาคด้วยศรัทธา ปุกกุสาติกุลบุตรนั้นเข้าไปพักอยู่ในโรงของนายช่างหม้อนั้นก่อนแล้ว
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาท่านปุกกุสาติยังที่พัก แล้วตรัสกะท่านปุกกุสาติดังนี้ว่า
ดูกร ภิกษุ ถ้าไม่เป็นความหนักใจแก่ท่าน เราจะขอพักอยู่ในโรงสักคืนหนึ่งเถิด
ท่านปุกกุสาติตอบว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ โรงช่างหม้อกว้างขวาง นิมนต์ท่านผู้มีอายุพักตามสบายเถิด ฯ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่โรงช่างหม้อแล้ว ทรงลาดสันถัดหญ้า ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติมั่นเฉพาะหน้า พระองค์ประทับนั่งล่วงเลยราตรีไปเป็นอันมาก แม้ท่านปุกกุสาติก็นั่งล่วงเลยราตรีไปเป็นอันมากเหมือนกัน
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริดังนี้ว่า กุลบุตรนี้ประพฤติน่าเลื่อมใสหนอ เราควรจะถามดูบ้าง ต่อนั้นพระองค์จึงตรัสถามท่านปุกกุสาติดังนี้ว่า
ดูกร ภิกษุ ท่านบวชอุทิศใครเล่า หรือว่าใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร ฯ
ท่านปุกกุสาติตอบว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ มีพระสมณโคดมผู้ศากยบุตร เสด็จออกจากศากยราชสกุลทรงผนวชแล้ว ก็พระโคดมผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแล มีกิตติศัพท์ฟุ้งไปงามอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุดังนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นผู้ไกลจากกิเลส รู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่างหาคนอื่นยิ่งกว่ามิได้ เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้แจกธรรม ดังนี้ ข้าพเจ้าบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น และพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นศาสดาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ ก็เดี๋ยวนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน ฯ
ท่านปุกกุสาติกราบทูลว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ มีพระนครชื่อว่าสาวัตถีอยู่ในชนบททางทิศเหนือ เดี๋ยวนี้
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธพระองค์นั้นประทับอยู่ที่นั่น ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ ก็ท่านเคยเห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นหรือ และท่านเห็นแล้วจะรู้จักไหม ฯ
ท่านปุกกุสาติกราบทูลว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเลย ถึงเห็นแล้วก็ไม่รู้จัก ฯ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้มีพระดำริดังนี้ว่า กุลบุตรนี้บวชอุทิศเรา เราควร
จะแสดงธรรมแก่เขา ต่อนั้นพระองค์จึงตรัสเรียกท่านปุกกุสาติว่า
ดูกร ภิกษุ เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงฟังธรรมนั้น จงใส่ใจให้ดี เราจัก กล่าวต่อไป
ท่านปุกกุสาติทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า
ชอบแล้ว ท่านผู้มีอายุฯ
ถ้าท่านปุกกุสาติทราบว่าเป็นพระผู้มีพระภาค จะไม่ใช้คำว่า ท่านผู้มีอายุเลย แต่ตลอดเวลานั้นไม่ทราบ
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
ดูกร ภิกษุ คนเรานี้มีธาตุ ๖ มีแดนสัมผัส ๖ มีความหน่วงนึกของใจ ๑๘ มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อันเป็นธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลส เครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมมเป็นไป ก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมมไม่เป็นไปอยู่ บัณฑิตจะเรียกเขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น นี้อุเทศแห่งธาตุวิภังค์ ๖ ฯ
ธาตุมนสิการบรรพในมหาสติปัฏฐานทรงแสดงไว้ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ผู้ที่เจริญสติไม่ใช่รู้เพียง ๔ คือ ไม่ใช่รู้แต่เพียงธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แล้วจะบรรลุอริยสัจธรรม ถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงธาตุ ๔ แต่จะต้องแสดงถึงธรรมอื่นที่เกื้อกูลให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจชัดเจน ได้เจริญสติ ได้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วย
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกร ภิกษุ คนเรานี้มีธาตุ ๖ นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
ดูกร ภิกษุ ธาตุนี้มี ๖ อย่าง คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกร ภิกษุ คนเรานี้มีธาตุ ๖ นั่น เราอาศัยธาตุดังนี้กล่าวแล้ว ฯ
ถ้าไม่มีวิญญาณธาตุก็ไม่สามารถรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงที่ต่างกันเป็น ๒ ประเภท คือ ธรรมชาติที่รู้กับธรรมชาติที่ไม่ใช่สภาพรู้
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกร ภิกษุ คนเรานี้มีแดนสัมผัส ๖ นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน เป็นแดนสัมผัส ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกร ภิกษุ คนเรานี้มีแดนสัมผัส ๖ นั่น เราอาศัยอายตนะดังนี้กล่าวแล้ว ฯ
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงธาตุ ๖ แต่ยังต้องมีแดนสัมผัส ๖ คือ จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน แต่ขอให้ทราบว่า ท่านพระปุกกุสาติท่านฟังอยู่ตลอดเวลา และก็เข้าใจตามนั้นด้วย
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกร ภิกษุ คนเรานี้มีความหน่วงนึกของใจ ๑๘ นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ บุคคลเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมหน่วงนึกรูปเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส หน่วงนึกรูปเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส หน่วงนึกรูปเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา ฟังเสียงด้วยโสตแล้ว ... ดมกลิ่นด้วยฆานะแล้ว ... ลิ้มรสด้วยชิวหาแล้ว ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ... รู้ธรรมารมณ์ด้วยมโนแล้ว ย่อมหน่วงนึกธรรมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส หน่วงนึกธรรมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส หน่วงนึกธรรมารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา นี้เป็นการหน่วงนึกโสมนัส ๖ หน่วงนึกโทมนัส ๖ หน่วงนึกอุเบกขา ๖ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกร ภิกษุ คนเรานี้มีความหน่วงนึกของใจ ๑๘ นั่น เราอาศัยความหน่วงนึกดังนี้กล่าวแล้ว ฯ
สิ่งใดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะเพราะตาเห็นแล้ว เกิดความรู้สึกโสมนัส โทมนัส หรืออุเบกขา ก็ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ว่าให้ไปบังคับไม่ให้โสมนัสเกิด ไม่ให้โทมนัสเกิด ถ้าเป็นการบังคับอย่างนั้นแล้ว ก็ไม่มีโอกาสที่จะรู้ลักษณะของนามและรูปทั่ว เมื่อไม่รู้ทั่วก็ละไม่ได้
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกร ภิกษุ คนเรานี้มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ มีปัญญาเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ มีสัจจะเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ มีจาคะเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ มีอุปสมะ คือ ความสงบ เป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ดูกร ภิกษุ คนเรานี้มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ นั่น เราอาศัยธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจดังนี้กล่าวแล้ว ฯ
ต่อไปจะเป็นความหมายที่ละเอียดของคำว่า ปัญญา สัจจะ จาคะ อุปสมะ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น นั่นเราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
ดูกร ภิกษุ อย่างไรเล่า ชื่อว่า ไม่ประมาทปัญญา ดูกร ภิกษุ ธาตุนี้มี ๖ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ ฯ
ดูกร ภิกษุ ก็ปฐวีธาตุเป็นไฉน คือ ปฐวีธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี ก็ปฐวีธาตุภายในเป็นไฉน ได้แก่ สิ่งที่แค่นแข็ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่แค่นแข็ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุภายใน ก็ปฐวีธาตุทั้งภายในและภายนอกนี้แล เป็นปฐวีธาตุทั้งนั้น พึงเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายปฐวีธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดปฐวีธาตุได้ ฯ
ถ้าโดยปฏิกูลมนสิการบรรพแล้ว ก็จำแนกเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม พวกนั้นด้วยความเป็นปฏิกูล แต่โดยความเป็นธาตุ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่แค่นแข็ง ไม่จำเป็นต้องที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนังเท่านั้น
สำหรับอาโปธาตุก็เช่นเดียวกัน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ ก็อาโปธาตุเป็นไฉน คือ อาโปธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี ก็อาโปธาตุภายในเป็นไฉน ได้แก่ สิ่งที่เอิบอาบซึมซาบไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่เอิบอาบซึมซาบไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า อาโปธาตุภายใน ก็อาโปธาตุทั้งภายในและภายนอกนี้แล เป็นอาโปธาตุทั้งนั้น พึงเห็นอาโปธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายอาโปธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดอาโปธาตุได้ ฯ
สำหรับปฏิกูลมนสิการบรรพเป็นอาการที่เป็นวัตถุภายในร่างกายของธาตุดินกับธาตุน้ำ แต่ไม่ได้รวมธาตุไฟกับธาตุลม
สำหรับธาตุมนสิการนั้นรวมลักษณะของธาตุไฟกับธาตุลมด้วย
เหตุที่ไม่รวมธาตุไฟกับธาตุลมในปฏิกูลมนสิการบรรพ เพราะลักษณะของธาตุไฟกับธาตุลมไม่ปรากฏโดยความเป็นปฏิกูล ไม่เหมือนกับธาตุดินกับธาตุน้ำ
และความเป็นปฏิกูลที่กายจะมากกว่า หรือน้อยกว่าวัตถุภายนอก ต้นไม้ ดอกไม้ก็มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ปฏิกูลเหมือนหัวใจ ตับ ปอด ไส้เล็ก ไส้ใหญ่ เลือด หนองพวกนี้ไหม หรือปฏิกูลน้อยกว่า ยึดถืออะไรมากกว่า แต่สิ่งที่ยึดถือนั้น อะไรปฏิกูลมากกว่า
สำหรับธาตุไฟ ธาตุลม มีข้อความต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุ ก็เตโชธาตุเป็นไฉน คือ เตโชธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี ก็เตโชธาตุภายในเป็นไฉน ได้แก่ สิ่งที่อบอุ่นถึงความเร่าร้อน กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน คือ ธาตุที่เป็นเครื่องยังกายให้อบอุ่น ยังกายให้ทรุดโทรม ยังกายให้กระวนกระวาย และธาตุที่เป็นเหตุให้ของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้มแล้วถึงความย่อยไปด้วยดี หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไรๆ ที่อบอุ่นถึงความเร่าร้อน กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน นี้เรียกว่า เตโชธาตุภายใน ก็เตโชธาตุทั้งภายในและภายนอกนี้แล เป็นเตโชธาตุทั้งนั้น พึงเห็นเตโชธาตุนั้นด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา ครั้นเห็นแล้วจะเบื่อหน่ายเตโชธาตุ และจะให้จิตคลายกำหนัดเตโชธาตุได้ ฯ
ท่านที่อยากจะทราบว่า ในกายมีธาตุไฟกี่ประเภท ในพระสูตรนี้ก็ได้ทรงแสดงไว้ว่ามี ๔ ประเภท คือ ธาตุไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ๑ ธาตุไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรมให้แก่ชรา ๑ ธาตุไฟที่ยังกายให้กระวนกระวายให้เจ็บไข้ได้ป่วย ๑ และธาตุไฟที่เป็นเหตุให้ของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้มแล้วถึงความย่อยไปด้วยดีอีก ๑ คือ ธาตุไฟที่ย่อยอาหาร ที่ทุกคนยังมีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะธาตุไฟรักษาไว้ให้อบอุ่น ถ้าส่วนผสมดี ธาตุไฟดี ผิวพรรณวรรณะก็น่าดู
นี่เป็นเรื่องของรูปร่างกายซึ่งเกิดจากกรรมบ้าง เกิดจากจิตบ้าง เกิดจากอุตุบ้าง เกิดจากอาหารบ้าง ส่วนธาตุไฟที่มีอยู่ในร่างกายก็ไม่ใช่จะให้คุณเสมอไป ทำให้ร่างกายดำรงอยู่ ให้อบอุ่น ให้มีชีวิตยังไม่เน่า ยังไม่เปื่อยก็จริง แต่ก็มีธาตุไฟที่ทำให้ร่างกายทรุดโทรมด้วย ทุกคนต้องแก่ชรา ก็ธาตุไฟนั่นอีกแหละที่เผาทำให้ทรุดโทรม ทำให้เหี่ยวแห้ง ทำให้ผิวพรรณวรรณะเปลี่ยน ทำให้ผมเปลี่ยน ธาตุไฟทำให้ร่างกายทรุดโทรม
นอกจากนั้น ธาตุไฟที่มีอยู่ในร่างกาย เวลาที่ไม่ได้ส่วนสัดที่พอเหมาะก็ทำให้กระวนกระวาย เจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ เพราะฉะนั้น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมที่มีอยู่ในร่างกายนั้น นอกจากปฏิกูลแล้ว ยังต้องบำรุงรักษากันอยู่เสมอ
อุปมาเปรียบเหมือนกับอสรพิษ ๔ ตัว ไม่วันใดวันหนึ่งก็ต้องกัด ทั้งๆ ที่ทะนุบำรุงอย่างมากมาย ถ้าไม่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีเจ็บไม่มีป่วยไข้แน่ แต่เพราะเหตุว่าเมื่อมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ที่ถึงแม้ว่าจะเฝ้าทะนุบำรุงรักษาสักเท่าไรก็ตาม มิวันใดก็วันหนึ่ง ก็จะต้องให้โทษทำให้เกิดความกระสับกระส่ายกระวนกระวายได้