แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 106


จะเห็นได้ว่า แม้ความคิดก็ไม่เหมือนกัน อย่างท่านที่เคยทุกข์ยากในชีวิต เวลาที่ท่านฟังธรรม ปฏิบัติธรรมเป็นชีวิตปกติ ใจของท่านก็ระลึกไปถึงอดีตเมื่อครั้งที่ทุกข์ยาก แต่อัมพปาลีเถรีไม่ได้มีความทุกข์ยากอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ท่านก็คิดและระลึกไปถึงสังขารของท่าน เพราะชีวิตของท่านเป็นไปตามการสะสมตั้งแต่ครั้งอดีตที่ได้ตำหนิพระอรหันต์เถรี ด้วยความโน้มเอียงที่ใช้คำพูดว่า หญิงแพศยาคนไหนมาบ้วนน้ำลายไว้ที่นี่ ชีวิตของท่านจึงต้องเป็นหญิงงามเมือง แต่ท่านเจริญปัญญาระลึกถึงสภาพอันชราของร่างกาย ประจักษ์ความไม่เที่ยงของสังขารธรรมทั้งปวง แล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

นี่ก็เป็นชีวิตในครั้งพุทธกาล เป็นชีวิตปกติธรรมดาทุกอย่าง แต่ได้สะสมบุญมาแล้ว เมื่อท่านได้ฟังธรรม และประพฤติปฏิบัติธรรม จึงสามารถรู้แจ้งเป็นพระอรหันต์ได้

เท่าที่ยกตัวอย่างมาแล้ว คงคิดว่า ส่วนมากเป็นเรื่องของพระเถรี พระเถระท่านจะคิดอย่างไร แล้วท่านจะกล่าวคาถาอย่างไรบ้าง

ขุททกนิกาย มหาจุนทเถรคาถา ท่านกล่าวว่า

การฟังดีเป็นเหตุให้การฟังเจริญ การฟังเป็นเหตุให้เจริญปัญญา บุคคลจะรู้ประโยชน์ก็เพราะปัญญา ประโยชน์ที่บุคคลรู้แล้วย่อมนำสุขมาให้ ภิกษุควรส้องเสพเสนาสนะอันสงัด ควรประพฤติธรรมอันเป็นเหตุให้จิตหลุดพ้นจากสังโยชน์ ถ้ายังไม่ได้ประสบความยินดีในเสนาสนะอันสงัดและธรรมนั้น ก็ควรเป็นผู้มีสติ รักษาตนอยู่ในหมู่สงฆ์

นี่เป็นคาถาของพระมหาจุนทะเถระเรื่องของการฟัง การฟังดีก็เป็นเหตุให้การฟังเจริญ การฟังเป็นเหตุให้เจริญปัญญา บุคคลจะรู้ประโยชน์ก็เพราะปัญญา ปัญญาที่บุคคลรู้แล้วย่อมนำสุขมาให้ ภิกษุควรส้องเสพเสนาสนะอันสงัด

ใช้คำว่า ควร ชีวิตของภิกษุไม่ใช่ชีวิตที่คลุกคลีอย่างของฆราวาส อุบาสก อุบาสิกา เป็นชีวิตที่ละอาคารบ้านเรือนแล้ว จุดประสงค์ที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของบรรพชิตนั้นไม่ใช่เพียงการบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน แต่ควรได้ประโยชน์อันยิ่งโดยการบรรลุเป็นพระอรหันต์ ซึ่งการบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ต้องเป็นผู้ที่ส้องเสพเสนาสนะอันสงัด ที่สงัดจริงๆ ในความหมายของการเป็นผู้อยู่ผู้เดียวนั้น คือ ไม่คำนึงหรือเยื่อใยถึงอดีตที่ล่วงไปแล้ว และในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง จึงจะชื่อว่า เป็นผู้อยู่ผู้เดียว

ในขณะนี้ ถ้าใครระลึกลักษณะของรูป ลักษณะของนามโดยไม่มีเยื่อใยถึงสิ่งที่หมดไปเมื่อสักครู่นี้ แล้วไม่คิดถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือใครมีสติระลึกรู้ลักษณะของนามที่กำลังปรากฏ มีลักษณะของนามนั้นกำลังปรากฏ ไม่มีเยื่อใยความเป็นตัวตนไปผูกพันไว้ หรือไม่คิดถึงอนาคตที่ยังไม่เกิดไม่ปรากฏในขณะนั้น จึงจะชื่อว่า เป็นผู้อยู่ผู้เดียว

เวลานี้ ผู้ที่เริ่มเจริญสติปัฏฐาน สติระลึกรู้ลักษณะของนามบ้าง ระลึกรู้ลักษณะของรูปบ้าง แต่ความเยื่อใยนั้นยังมาก ความผูกพัน ความกังวล หรือความต้องการที่เอื้อมไปข้างหน้าแม้แต่ชั่วนิดเดียว หรือว่าถอยไปโยงไว้กับข้างหลังแม้แต่ชั่วนิดเดียว นั่นก็เป็นลักษณะของเยื่อใย แต่การเป็นผู้อยู่ผู้เดียวจริงๆ คือ สติระลึกรู้ลักษณะของนาม ระลึกรู้ลักษณะของรูป แล้วไม่เยื่อใยผูกพันไว้

ขุททกนิกาย เถรคาถา มีพระเถระอีกท่านหนึ่ง คือ ท่านอุสภเถระ กล่าวคาถาว่า

เราฝันว่าได้ห่มจีวรสีอ่อนเฉวียงบ่า นั่งบนคอช้าง เข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้าน พอเข้าไปถูกมหาชนพากันมารุมดูอยู่ จึงลงจากคอช้าง กลับลืมตาตื่นขึ้นแล้ว ครั้งนั้นได้ความสลดใจว่า ความฝันนี้เราไม่ได้มีสติสัมปชัญญะ นอนหลับ ฝันเห็นแล้ว

ครั้งนั้นเราเป็นผู้กระด้าง ด้วยความมัวเมาเพราะชาติตระกูล ได้ความสังเวชแล้ว ได้บรรลุความสิ้นอาสวะ

ทุกคนฝัน แต่เกิดความสลดใจบ้างไหมว่า ที่ฝันนี้เป็นเพราะยังมีกิเลส โลภะเกิดขึ้น โทสะเกิดขึ้น วันหนึ่งๆ ผู้ที่มีสติก็ทราบได้ว่า กิเลสมากมายเหลือเกิน ไม่น้อยเลย เดี๋ยวทางตา ถ้ามีสติระลึกได้เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง ทางหูมีสติ ก็ระลึกได้เป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้างตลอดวัน แม้แต่ในขณะที่นอนแล้วยังฝัน ความฝันเป็นนามธรรม เป็นจิตที่ได้สะสมการเห็นสิ่งต่างๆ ทางตา ได้ยินเสียงต่างๆ ได้กลิ่นต่างๆ ได้รสต่างๆ ได้สัมผัสต่างๆ คิดนึก สุข ทุกข์ ชอบ ไม่ชอบต่างๆ ด้วยอำนาจของอวิชชาที่มีอยู่ พร้อมกับความฟุ้งซ่านของจิตของเจตสิกธรรม คือ อุทธัจจะ ก็ทำให้เกิดจิตที่รู้อารมณ์ทางมโนทวาร แล้วแต่ว่าจะระลึกไปในเรื่องใด แต่ผู้ที่ฟังธรรมแล้ว ท่านก็ทราบว่าหมดกิเลสแล้วจึงจะไม่ฝัน แต่ถ้ายังไม่หมดกิเลสก็ฝัน

เพราะฉะนั้น ถ้าฝันขณะใด ผู้มีปัญญาก็เกิดความสลดใจว่า ในขณะนั้นเป็นเพราะยังมีกิเลส อย่างพระอรหันต์ผู้ที่หมดกิเลสแล้ว เวลาที่ท่านเห็น จิตของท่านไม่มีความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน ไม่มีกิเลสใดๆ เลย เวลาเห็นแล้วมหากิริยาจิตเกิดขึ้นมีสติเกิดร่วมด้วย เมื่อได้ยินแล้วจิตของพระอรหันต์เป็นมหากิริยาจิตมีสติเกิดร่วมด้วย ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้โผฏฐัพพะ ตามปกติธรรมดาทุกอย่าง แต่เพราะท่านได้เจริญสติ เจริญปัญญา รู้ทั่ว รู้จริง รู้ชัดเจนจนกระทั่งหมดกิเลสทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่มีฝัน

แต่ผู้ที่ยังฝันอยู่ ก็ให้ทราบว่า เป็นเพราะยังมีกิเลส ยังมีอวิชชา แล้วแต่ว่าจะฝันเป็นกุศลหรือจะฝันเป็นอกุศล ก็เหมือนกับในวันหนึ่งๆ เห็นแล้วก็เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ความฝันก็เช่นเดียวกัน สะสมสิ่งใดมามาก บางครั้งก็เป็นกุศลบ้าง แต่ส่วนมากในขณะที่ฝันจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ

ท่านผู้ใดเคยฝันว่าเจริญสติปัฏฐานบ้างไหม ถ้าเคยฝัน ก็เพราะได้สะสมอบรมมาในการเจริญสติ แล้วสติเป็นสิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่ต้องเตรียมตัวที่จะจดจ้องที่นี่ ที่จะรู้นามนั้นหรือรูปนั้น แล้วแต่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้อารมณ์อะไร ทางตา หรือทางหู สติก็เกิดขึ้นแล้ว และก็ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

เมื่อสติเป็นอนัตตาอย่างนี้ แล้วก็ได้เจริญสติ สติจะเกิดขึ้นบ้างได้ไหมในขณะนั้น ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ แต่น้อย จิตที่รู้อารมณ์ทางมโนทวารที่เป็นความฝัน พร้อมกับที่อุทธัจจะเกิด ไม่ได้รู้อารมณ์เหมือนอย่างทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในขณะนี้ ก็ทำให้ปรากฏเป็นความฝันต่อไป

แต่ถ้าสติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามรูปในขณะนั้นมีกำลัง และจิตที่เกิดต่อไปนั้นไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดเป็นความฝันอีกต่อไป คนนั้นก็ตื่นทันที เมื่อตื่นทันที ก็ต่อกัน ได้รู้อารมณ์ในขณะนั้น แล้วก็ตื่นขึ้น ส่วนที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปต่อไปหรือไม่นั้น ก็เป็นอนัตตาอีกเหมือนกัน เพราะเวลาที่ตื่นขึ้นมาแล้ว สติอาจจะระลึกรู้นามและรูปต่อไปทันที หรืออาจจะหลงลืมสติ แล้วสติเกิดอีกก็ได้ ธรรมดาๆ ไม่ใช่ว่าจะต้องไปยับยั้ง หรือไปห้ามว่าเกิดไม่ได้ แต่ให้ทราบเหตุผลว่า ถ้าเกิดทำไมจึงคิดว่าเป็นฝันที่เจริญสติ ก็เพราะเกิดน้อย และอารมณ์ของฝันนั้นก็เข้ามาต่อทันที แต่อารมณ์ของความฝันไม่ต่อ แล้วสติมีกำลัง ผู้นั้นก็ตื่นขึ้นทันที และรู้ว่าในขณะนั้น เมื่อสักครู่นี้ระลึกรู้ลักษณะของนามอะไรของรูปอะไร ส่วนการที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปเป็นสติปัฏฐานต่อไปหรือไม่ บางคนก็ระลึกต่อไป บางคนก็หลงลืมสติ แล้วก็ระลึกอีกได้

ถ. ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ เป็นปัญหาเก่าๆ ที่ยังทำความกระจ่างชัดให้ผมไม่ได้ เกี่ยวกับอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน ทั้ง ๔ อิริยาบถนี้ท่านอาจารย์ก็ได้อธิบายให้ทราบแล้วว่า ในขณะที่กำลังนั่ง มีรูปมีนามใดปรากฏขึ้นทางทวารทั้ง ๖ บ้าง ผมก็พอเข้าใจในเรื่องนี้ แต่พอมาดูในอิริยาบถบรรพเข้า ก็อดคลางแคลงไม่ได้ว่า ไฉนพระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติว่า เมื่อเดินอยู่ก็ดี ยืนอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี ก็รู้ชัดว่า เราเดิน เรายืน เรานั่ง เรานอน คล้ายๆ กับว่า ท่านจะให้รู้ว่ากำลังเดิน กำลังยืน กำลังนั่ง กำลังนอนอย่างนี้

นี่ประการหนึ่ง และในอิริยาบถบรรพนี้เอง ท่านก็บอกไว้ในตอนท้ายว่า

อนึ่ง เมื่อเธอนั้นเป็นผู้ตั้งกายไว้แล้วอย่างใดๆ จะตั้งกายไว้ในอิริยาบถใดๆ ก็ตาม ก็ย่อมรู้ชัดอาการกายนั้นอย่างนั้นๆ

คำว่า อาการกายนี้ สงสัยว่า อาการกายนี้จะเป็นอย่างไร จะเป็นว่า ยืน เดิน นั่ง นอน นี้เป็นอาการของกาย หรือว่า อาการกายจะมีอย่างอื่นนอกจากนี้ นี่เป็นจุดหนึ่งที่ผมยังไม่เข้าใจชัด ท่านอาจารย์ช่วยกรุณาชี้ให้ชัดลงไปด้วย

สุ. สติระลึกรู้ลักษณะที่ปรากฏที่กายนั้นเอง รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง ไหวที่ปรากฏ ต้องรู้ถูกต้องตามความเป็นจริงในลักษณะของรูปนั้นๆ บางท่านอาจจะเข้าใจว่าท่านรู้แล้ว แต่ท่านรู้ผิดได้ ถ้าไม่รู้ตรงตามปกติ ตามความเป็นจริงอย่างนี้

ถ. สรุปได้ว่า อาจารย์ชี้แจงให้ทราบว่า การรู้รูปนามในขณะที่กายนั้นอยู่ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง จะเป็นอิริยาบถยืนก็ตาม นอนก็ตาม นั่งก็ตาม หรือว่าอย่างอื่นก็ตาม ก็รู้รูปนามในขณะที่อยู่ในอิริยาบถนั้นๆ จะเป็นอะไรก็สุดแล้วแต่ แต่ก็ยังไม่เข้าใจอีก เพราะบางท่านบอกว่า ให้รู้รูปทั้งกลุ่ม และอาการของรูปทั้งกลุ่ม เป็นอาการนั่ง นอน ยืน เดิน คือ ให้รู้วิการรูป หรือรู้วิญญัติรูป ทีนี้ทั้ง ๒ ประเภทนี้เท่าที่ศึกษามาก็เป็นสุขุมรูปทั้งนั้น ไม่สามารถที่จะรู้ได้ นี่ก็จุดหนึ่ง

อีกจุดหนึ่ง คือ ท่านอธิบายว่า รู้เพียงอาการนั่ง หรือว่ายืน หรือว่านอน อย่างใดอย่างหนึ่งก็พอ ก็สามารถจะให้รู้รูปนามตามความเป็นจริงได้แล้ว ผมก็สงสัยว่า รู้เพียงรูปนั่งอย่างนี้แล้วจะรู้อะไร เพราะลักษณะก็ไม่ได้ปรากฏอย่างที่อาจารย์กรุณาชี้ให้เห็นเมื่อสักครู่นี้ ไม่มีลักษณะอะไรที่ปรากฏออกมาเลย นอกจากนั่งแล้วก็โงกหลับไปเท่านั้นเอง ผมพยายามทำความเข้าใจในเรื่องนี้เพื่อจะได้ไม่สับสนในเรื่องของการปฏิบัติ ขอความกรุณาอาจารย์ด้วยครับ

สุ. ในพระไตรปิฎกไม่มีรูปนั่ง ไม่มีรูปนอน ไม่มีรูปยืน ไม่มีรูปเดินในรูป ๒๘ รูปเลย รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธานก็ได้แก่มหาภูตรูป ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ถ้าไม่มีมหาภูตรูป อุปาทายรูปทั้ง ๒๔ รูปจะมีไม่ได้เลย อุปาทายรูปเป็นรูปที่อาศัยเกิดกับมหาภูตรูปบ้าง หรือเป็นอาการอ่อน อาการเบา อาการควรแก่การงานของมหาภูตรูปบ้าง

อย่างเช่น ทองแข็งๆ พอไปถูกไฟเข้าก็อ่อน วิการรูปก็ฉันนั้น เป็นลักษณะอาการของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่บางครั้งเกิดจากจิต บางครั้งเกิดจากอาหาร บางครั้งเกิดจากอุตุ มีความเบา มีความอ่อน มีความควรแก่การงาน แต่ไม่ใช่แยกออกไปจากมหาภูตรูปเลย เป็นอาการของมหาภูตรูป (แม้ทองจะเปลี่ยนสภาพเป็นอ่อน แต่ทองก็ไม่มีวิการรูป เพราะวิการรูป ๓ เป็นรูปที่เกิดภายในสัตว์บุคคลเท่านั้น)

ถ. ที่ท่านกล่าวถึงวิการรูป ท่านอาจจะหมายถึงว่า รูปทั้งหมดที่ประชุมรวมกันอยู่นี้ เพราะวิการรูปนี้เองจึงทำให้รูปนี้สามารถจะทรงอยู่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง คือ เดิน นั่ง นอน หรือยืนอย่างนี้เป็นต้น จะถูกต้องไหมครับ

สุ. เก้าอี้ก็อยู่ในท่านั่งหรือรูปนั่ง มีวิการรูปไหม ไม่มี เพราะฉะนั้น เป็นผู้รู้ลักษณะของรูปที่ต่างกันว่า ธาตุดินบางส่วนไม่มีความเบา ไม่มีความอ่อน ไม่มีความควรแก่การงาน มหาภูตรูปส่วนใดไม่มีลักษณะที่อ่อน ที่เบา ที่ควร เป็นการรู้ชัดในลักษณะของมหาภูตรูป เคยเข้าใจยึดถือรูปที่ประชุมรวมกันทรงอยู่ในท่าหนึ่งท่าใด แต่ว่าในนามรูปปริจเฉทญาณนั้นมีลักษณะของรูปแต่ละรูปที่ปรากฏแต่ละลักษณะ แล้วแต่ว่าผู้นั้นจะประจักษ์ลักษณะของนามกี่ชนิด รูปกี่ชนิด สืบต่อกันทีละ ๑ ชนิด เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังควรจะคิดเป็นขั้นๆ ว่า ท่านรู้รูปรู้นามถูกต้องตามลักษณะของรูป ถูกต้องตามลักษณะของนามหรือไม่

รูปนั่ง ไม่มีอาการของรูปปรากฏที่จะให้ละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตน เพราะถ้าประชุมรวมกันอยู่ ทรงอยู่ ตั้งอยู่ จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดินก็ตาม ก็ยังคงเป็นตัวตน ปัญญาที่จะละการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้นั้น ปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของนามลักษณะของรูปแต่ละชนิดซึ่งไม่เหมือนกันมากขึ้น เพิ่มขึ้น ชัดขึ้น ชินขึ้น ทั่วขึ้น

รูปทางตาก็อย่างหนึ่ง ทางหูก็อย่างหนึ่ง ทางจมูกก็อย่างหนึ่ง ทางลิ้นก็อย่างหนึ่ง ทางกายก็อย่างหนึ่ง แล้วทำไมถึงจะไม่รู้ และเมื่อบังคับสติอย่างนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้รู้ลักษณะของนามรูปทั่ว ผู้ที่เจริญสตินั้นจะต้องรู้ว่า ขณะใดหลงลืมสติ ขณะใดมีสติ ไม่ใช่ไปทำให้จิตสงบเป็นสมาธิ เพราะถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น จะรู้ลักษณะของสมาธิ แต่ไม่ใช่รู้ลักษณะที่ขณะใดมีสติ เป็นการเจริญสติตามปกติที่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ

ถ. อิริยาบถนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจกันไปคนละทิศคนละทาง แต่เมื่อท่าน อาจารย์กรุณาชี้ออกมาอย่างนี้ ก็ทำให้ผู้ฟังทั้งหลายจะได้เข้าใจชัดขึ้น อีกเรื่องหนึ่งซึ่งยังมึนงงกันอยู่รวมทั้งผมด้วย คือ เรื่องปัจจุบันอารมณ์ ปัจจุบันอารมณ์นี้ไม่ใช่ของง่ายที่จะเข้าใจ ยังสับสนกันอยู่

สุ. ทิ้งมหาสติปัฏฐานสูตรไม่ได้เลยในการเจริญสติปัฏฐาน ทางตาในขณะนี้ อะไรเป็นอารมณ์ปัจจุบัน

ถ. ขณะนี้ ทางตามีสีเป็นอารมณ์ปัจจุบัน ความจริงเห็นก็มี แล้วแต่สติจะเกิดขึ้น ขณะนี้บางคนอาจจะรู้ที่สี บางคนอาจจะรู้ที่เห็น สุดแล้วแต่สติของผู้นั้น

สุ. การเจริญสติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมาก อย่างเวลาที่โลภมูลจิตเกิดแล้วก็ดับไป แล้วสติระลึกลักษณะของโลภมูลจิตซึ่งเกิดสลับกับสติ จึงปรากฏเป็นลักษณะของโลภมูลจิต เพราะอารมณ์ปัจจุบันนั้นรวดเร็วมาก เกิดแล้วก็ดับ แต่ตราบใดที่ปรากฏ สิ่งที่กำลังปรากฏนั้นเป็นปัจจุบันอารมณ์ เป็นอารมณ์ของสติได้ จิตปรากฏไม่ใช่สติ ทางตาจิตเห็น ทางหูจิตได้ยิน

ขณะที่หลงลืมสติ ก็ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ทางตา ทางหู แต่ขณะที่มีสติก็รู้ลักษณะของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรมที่ปรากฏเพื่อการรู้ชัด เป็นสติทั้งนั้นที่จะรู้ชัด ไม่ใช่เพราะความสงบ แต่รู้เพราะสติระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ กายบ้าง เวทนาบ้าง จิตบ้าง ธรรมบ้าง ตามปกติธรรมดา จนกว่าจะรู้ชัด แล้วก็ละคลายการไม่รู้


หมายเลข  5689
ปรับปรุง  20 ต.ค. 2565