แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 110
ถ. เมื่อเราทราบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของไม่แน่ เป็นของน่าเกลียด ก็สละโลภได้ ผมสละทุกอย่าง เมื่อก่อนผมอยากมีรถยนต์เหลือเกิน ครั้นมีเงินจริงๆ ก็ไม่อยากซื้อรถยนต์ใหม่ ผมเห็นคันเก่ารุ่นที่วิ่งอยู่ ครั้งแรกที่ซื้อใหม่ๆ เจ้าของถึงกับต้องกางมุ้ง ประคับประคองเหลือเกิน ภายหลังโทรมลงๆ จนกระทั่งไปทิ้งไว้ที่ข้างสนาม ทิ้งไว้ผุพัง แล้วก็เน่าไป
สุ. นี่ก็เป็นการพิจารณาธรรม แต่ยังไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน แต่เป็นการที่ฟังธรรมแล้วก็พิจารณากับชีวิตของท่านเองด้วย แต่การเจริญสติปัฏฐาน การเห็นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ในขณะนี้ไม่มีรถยนต์ที่พอใจ สิ่งที่กำลังมี กำลังเป็น กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นแต่เพียงลักษณะของธรรมชาติแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ใช่เพียงโดยขั้นคิด แต่เป็นปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะสภาพธรรมที่เคยไม่รู้ เคยยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน กระจัดกระจายสภาพธรรมที่ประชุมรวมกันเป็นกลุ่มก้อน ให้ประจักษ์ในลักษณะของนามแต่ละชนิด รูปแต่ละชนิด จึงจะประจักษ์ว่า ไม่ควรที่จะยึดถือว่าเป็นตัวตน
ถ. เรื่องกายกับรูป บางคนก็ว่ารูปกาย นามกาย รูปธรรม นามธรรม อะไรอย่างนี้เป็นต้น คำว่ารูปกับกายที่เราเข้าใจกันผิดนี้ เป็นอันเดียวกันใช่ไหม
สุ. คำว่า กาย แปลว่า ประชุม นามกายเป็นการประชุมของนามธรรมหลายๆ อย่างที่เกิดร่วมกัน เพราะจะเกิดลำพังอย่างเดียวไม่ได้เลย ลักษณะของสังขารธรรมหมายความถึงสิ่งที่เกิดร่วมกันเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน ที่ว่าไม่มีสิ่งใดเลยที่จะเกิดขึ้นตามลำพังอย่างเดียวได้ จะต้องมีสิ่งอื่นเกิดร่วมด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นนามธรรม ก็ไม่ใช่เป็นจิตเท่านั้น หรือไม่ใช่เป็นแต่เพียงเจตสิกดวงเดียวประเภทเดียว ต้องมีเจตสิกหลายอย่างเกิดร่วมกันกับจิต เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน นั่นชื่อว่านามกาย
รูปก็เหมือนกัน ไม่มีรูปสักรูปเดียวซึ่งเกิดขึ้นตามลำพังลักษณะเดียว แต่จะต้องมีรูปเกิดพร้อมกันร่วมกันหลายๆ รูป อย่างมหาภูตรูป ๔ ก็ไม่เคยแยกกันเลย ทั้งดิน น้ำ ไฟ ลมก็ต้องเกิดร่วมกัน การที่ประชุมกันร่วมกันพร้อมกันอย่างนี้เป็นกาย เพราะฉะนั้น รูปก็เป็นรูปกาย
ในการเจริญสติปัฏฐานในหมวดของกายชื่อว่า กายานุปัสสนา คือ การพิจารณากาย แต่ต้องมีสติซึ่งเป็นสภาพที่ระลึกรู้ แต่สภาพที่ระลึกรู้นั้นรู้ที่กาย แล้วกายก็มีทั้งภายใน คือ ที่ตนเอง และก็มีกายภายนอกของผู้อื่นซึ่งเป็นของจริง สติสามารถที่จะระลึกรู้ได้เหมือนกัน
มหาสติปัฏฐาน ๔ หมายความถึงทุกอย่างที่เป็นของจริง สติระลึกรู้ลักษณะนั้นได้ มีลักษณะของสิ่งที่ปรากฏให้สติระลึกได้จริงๆ ในขณะที่กำลังรู้ลักษณะของแต่ละสิ่ง ไม่มีการประชุมรวมกันที่จะให้ยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ เพราะมีแต่เฉพาะลักษณะของรูปแต่ละชนิด ลักษณะของนามแต่ละชนิดที่กำลังปรากฏในขณะนั้นเท่านั้น
ถ. มีการสอนหลายแห่ง สำหรับระดับปัญญาชาวบ้านอย่างผม เป็นการยากที่จะพิจารณาได้ว่า อาจารย์คนนี้เป็นผู้ที่จะให้ความจริงแก่เราได้ ผมอยากจะให้อาจารย์ช่วยชี้แจงว่า มีวิธีอย่างไรบ้างที่พอจะตัดสินได้ว่า สิ่งไหนควรจะเป็นหลักที่เราจะยึดถือเพื่อจะนำไปปฏิบัติ และเป็นทางที่ถูกต้อง
สุ. ก็คงมีวิธีเดียว คือ ฟังธรรมมากๆ และพิจารณาเหตุผลของธรรม แล้วพิสูจน์ด้วยตัวของท่านเอง ต้องพิสูจน์ด้วย อย่างบางท่านบอกว่า กำลังทำงานยุ่งๆ เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ อยู่ที่บ้านวุ่นวายมีผู้คนมากมาย สติไม่เกิดแน่ คิดว่า ไม่เกิดแน่ๆ อย่างนั้นแล้วสติจะเกิดได้อย่างไร
ขอให้ทราบว่า ลักษณะของสติเป็นอนัตตา ถ้ารู้ลักษณะขณะที่มีสติกับขณะที่หลงลืมสติ ก็จะทราบด้วยตัวของท่านเองว่า สติเกิดน้อย จึงต้องอบรมให้มีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่กำจัดเวลา หรือสถานที่ หรืออารมณ์ให้เป็นเครื่องกั้น แล้วแต่ว่าจะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปอะไรก็ได้ และจะรู้จริงๆ ว่า สติระลึกได้เพราะสิ่งนั้นกำลังปรากฏ เมื่อเป็นของจริงที่กำลังปรากฏ สติก็ระลึกได้ แต่ที่ไม่ระลึก เพราะเหตุว่าสะสมการหลงลืมสติไว้มาก ผู้ที่เป็นปุถุชน กิเลสก็ทำให้หลงลืมสติมากกว่ามีสติ แต่ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานแล้วเป็นกัลยาณปุถุชน สติย่อมเกิดได้ และปัญญาก็รู้ชัดขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย
ถ้าท่านผู้ใดคิดว่า การเจริญสตินั้นยาก เกือบจะมองไม่เห็นผลเลย ก็ขอให้ท่านลองจับด้ามมีดดูสักวัน ด้ามมีดจะสึกทันใจไหม การเจริญสติปัฏฐาน การระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป อุปมาเหมือนกับการจับด้ามมีด เป็นคำอุปมาของพระผู้มีพระภาคเอง
ถ. บางอาจารย์กล่าวว่า ความเกิดดับของรูปนามนี้ เราจะต้องดูรูปนั่ง รูปยืนให้มีสติติดต่อกัน ถ้าสามารถไม่ให้อภิชฌาและโทมนัสเข้ามาได้ก็ยิ่งเป็นผลดี เพื่อจะได้เห็นรูปนามเกิดดับเร็วเข้า ลักษณะของรูปนามที่เกิดดับนี้ท่านบอกชัดว่า ดูรูปนั่งจนสันตติขาด สันตติขาดนี้หมายความว่า ตัวสติที่ไปกำหนดอารมณ์รูปนั่ง นั่งก็ยังนั่งอยู่ สติที่ไปกำหนดก็คุมอยู่ แต่เมื่อขาดลงต่อหน้า ดับวูบลงไปต่อหน้า อุปมาเหมือนกับเดินไปที่ขั้นกระได ลงกระไดไป ๒ - ๓ ขั้น แต่ก้าวพลาดลงไปขั้นที่ ๓ ทำให้ตกใจวูบลงไป ลักษณะอย่างนี้คนที่เห็นรูปนามดับก็ฉันนั้น รูปนามที่ดับนี้หมายความว่า ดับต่อหน้า ทั้งสติที่เป็นนามธรรมก็ดับ รูปที่ถูกกำหนด คือ อารมณ์ก็ดับ นี่เป็นการเห็นรูปนามเกิดดับ
สุ. การรู้ลักษณะของสภาพนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดดับ ถ้าไม่กระจัดกระจายฆนะ การรวมเป็นกลุ่มเป็นก้อนจะรู้ได้ไหม ข้อที่ควรจะคิด ถ้าจะกล่าวถึงอุทยัพพยญาณ หรือญาณที่สูงกว่าอุทยัพพยญาณก็ตาม ทำไมไม่ระลึกถึงญาณขั้นต้น คือ นามรูปปริจเฉทญาณว่า แม้แต่นามรูปปริจเฉทญาณนั้นรู้อะไร ที่กล่าวว่าเป็นญาณ แม้ในขั้นต้น คือ นามรูปปริจเฉทญาณ รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ถ้ากำลังเห็น ก็มีนามธรรมมีรูปธรรม ทางหูที่กำลังได้ยินตามปกติ แต่ผู้นั้นอบรมอินทรีย์ที่จะเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมกับรูปธรรม แต่ผู้ที่กำลังจดจ้องที่จะรู้รูปนั่งซึ่งไม่ได้กระจัดกระจายฆนะ แตกแยกการรวมกันเป็นก้อนเป็นแท่งออกเลย เพียงแค่นามรูปปริจเฉทญาณ ผู้นั้นรู้รูปอะไร รู้นามอะไร รู้แต่ที่รูปนั่ง ไม่มีลักษณะของรูปตามปกติธรรมดาที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็รู้นามอะไรในขณะนั้น
นามรูปปริจเฉทญาณต้องรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม แต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วแต่ความสมบูรณ์ของญาณในขณะนั้นจะเกิดขึ้น กำลังมีสิ่งใดปรากฏเป็นรูป กำลังมีสิ่งใดปรากฏเป็นนาม จะรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปทางมโนทวาร
กำลังนั่ง เห็นไหม ได้ยินไหม คิดนึกไหม เย็น ร้อน อ่อน แข็งปรากฏไหม มีสิ่งที่ปรากฏในขณะที่กำลังนั่ง ต้องเป็นสิ่งที่มีลักษณะปรากฏให้รู้
วิสุทธิมรรค ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินิเทส มีข้อความว่า
ลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการอะไร อะไรปิดบังไว้
ตอบว่า อนิจจลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการถึงความเกิดขึ้น และความดับไป และเพราะสันตติบังไว้
ทุกขลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการถึงการบีบคั้นเนืองๆ และอิริยาบถปิดบังไว้
อนัตตลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการถึงการแยกธาตุต่างๆ และเพราะ ฆนะปิดบังไว้
เมื่อมนสิการความเกิด และความดับแล้ว เพิกสันตติ อนิจจลักษณะก็ปรากฏ โดยสภาวะตามความเป็นจริง
มาจากพยัญชนะที่ว่า สนฺตติยา วิโกปิตาย
เมื่อใฝ่ใจถึงความบีบคั้นเนืองๆ เพิกถอนอิริยาบถเสีย ทุกขลักษณะก็ปรากฏตามสภาพที่เป็นจริง
ความนี้มาจากพยัญชนะที่ว่า อิริยาปเถ อุคฺฆาฏิเต
เมื่อแยกธาตุต่างๆ แยกฆนะ คือ กลุ่มก้อนเสีย อนัตตลักษณะก็ปรากฏตามสภาพที่เป็นจริง
ความนี้มาจากพยัญชนะที่ว่า ฆนวินิพฺโพเค กเต
ที่ว่าเพิกอิริยาบถ หมายถึงในขณะที่ไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน อิริยาบถ แต่กระจัดกระจายฆนะ ความเป็นกลุ่มก้อน ไม่ให้อิริยาบถปิดบัง ก็จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปซึ่งเป็นทุกข์
ยังควบคุมรวมกลุ่มกันเป็นก้อนเป็นแท่ง ที่จะไม่ให้ยึดถือว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย
สำหรับการเจริญสติปัฏฐานก็เป็นปกติชีวิตธรรมดาจริงๆ การเห็นที่ทุกคนเห็นในวันนี้ ก็มีเหตุปัจจัยในอดีตที่จะทำให้เห็น ที่จะทำให้ได้ยิน ที่จะทำให้เป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ มีเหตุปัจจัยที่สะสมมา เพราะฉะนั้น เพียงสติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงโดยที่ไม่ต้องไปฝืนเป็นอีกบุคคลหนึ่ง หรือว่าไปเปลี่ยนแปลงทำอะไรขึ้น สร้างอะไรขึ้น ซึ่งไม่ใช่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏตามปกติ
อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต ปฏิปทาวรรคที่ ๒ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ
ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า ๑
ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว ๑
สุขาปฏิปทาทันธาภิญญา ปฏิบัติสะดวก แต่รู้ได้ช้า ๑
สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญา ปฏิบัติสะดวก ทั้งรู้ได้เร็ว ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้แล
ข้อความต่อไปอธิบายแต่ละข้อที่ว่า
ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญานั้น ได้แก่ บุคคลที่โดยปกติเป็นคนที่มีราคะกล้า ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่ราคะเนืองๆ บ้าง โดยปกติเป็นคนมีโทสะกล้า ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่โทสะเนืองๆ บ้าง โดยปกติเป็นคนมีโมหะกล้า ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่โมหะเนืองๆ บ้าง อินทรีย์ ๕ อ่อน ย่อมบรรลุช้า นี้เรียกว่า ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา
เพราะฉะนั้น ที่ว่าปฏิบัติลำบาก รู้ได้ช้า ไม่ได้หมายความว่าให้ไปทรมานตัวให้ลำบาก ให้ไปนอนลำบาก นั่งลำบาก รับประทานอาหารลำบาก ทุกข์ๆ ยากๆ อดๆ อยากๆ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ผู้ที่ปฏิบัติลำบาก เพราะโดยปกติเป็นคนมีราคะกล้า โทสะกล้า โมหะกล้า ก็ยากที่จะรู้ชัดในลักษณะของอารมณ์ที่กำลังประสบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะถ้าประสบกับอารมณ์ที่ดี เป็นคนมีราคะกล้าก็เพลินไปแล้ว ไม่ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าเป็นผู้ที่มีโทสะกล้า เวลาที่กระทบอารมณ์ก็เป็นไปกับโทสะ ไม่ระลึกรู้ลักษณะของอารมณ์ตามความเป็นจริง ประกอบทั้งอินทรีย์ ๕ อ่อน ไม่ได้เจริญศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาพอที่ว่า เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด ก็สามารถที่จะแทงตลอด ละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตนได้ เป็นผู้ที่เรียกว่า ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา
สำหรับผู้ที่เป็นบุคคลประเภท ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญานั้น โดยปกติเป็นผู้มีราคะกล้า โทสะกล้า โมหะกล้า แต่ว่าเป็นผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า ย่อมบรรลุได้เร็ว นี้เรียกว่า ทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญา
ไม่ต้องไปฝืนหรือไปทำอะไร หรือว่าไปทรมาน แต่ว่าเป็นผู้ที่รู้ตัวดีว่า ท่านเองเป็นผู้ที่มีราคะกล้าไหม มีโทสะกล้าไหม มีโมหะกล้าไหม แต่เป็นผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า เมื่อระลึกรู้ลักษณะของนามรูป ปัญญา ศรัทธา วิริยะ สติ ก็สามารถประจักษ์ชัดรูปธรรม หรือนามธรรมที่สติกำลังระลึกรู้อยู่
สำหรับสุขาปฏิปทาทันธาภิญญานั้น โดยปกติไม่เป็นคนมีราคะกล้า ย่อมไม่ได้เสวยทุกขโทมนัสอันเกิดแต่ราคะเนืองๆ บ้าง โดยปกติไม่เป็นคนมีโทสะกล้า โมหะกล้า แต่อินทรีย์ ๕ อ่อน ก็บรรลุช้า
ส่วนสุขาปฏิปทาขิปปาภิญญานั้น โดยปกติไม่ได้เป็นคนมีราคะกล้า ไม่ได้เป็นคนมีโทสะกล้า ไม่ได้เป็นคนมีโมหะกล้า และอินทรีย์ ๕ ก็แก่กล้า จึงบรรลุได้เร็ว
ข้อความต่อไปยังมีอีกนัยหนึ่ง ที่ว่า
ทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญานั้น ได้แก่ ผู้ที่พิจารณาเห็นกายว่าไม่งาม อาหารเป็นของปฏิกูล เห็นสังขารไม่เที่ยง อินทรีย์ ๕ อ่อน ก็บรรลุช้า
ส่วนพวกที่เป็นทุกขาปฏิปทาขิปปาภิญญานั้น พิจารณาเห็นกายว่าไม่งาม อาหารเป็นของปฏิกูล เห็นสังขารไม่เที่ยง แต่เป็นผู้มีอินทรีย์ ๕ แก่กล้า ก็บรรลุเร็ว
ส่วนผู้ที่เป็นสุขาปฏิปทาทันธาภิญญาอีกนัยหนึ่งนั้น ได้แก่ ผู้ที่บรรลุฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔ แต่อินทรีย์ ๕ อ่อน ถึงแม้เป็นผู้ที่ได้บรรลุฌานจนกระทั่งถึงจตุตถฌานก็ตาม แต่เพราะเป็นผู้ที่มีอินทรีย์ยังอ่อน ยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ก็เป็นผู้ที่อินทรีย์ ๕ อ่อน จึงบรรลุช้า
สุขาปฏิปทาขิปปาภิญญานั้นอีกนัยหนึ่ง ได้แก่ ผู้ที่ได้บรรลุฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๔ แต่เป็นผู้ที่มีอินทรีย์ ๕ แก่กล้า ก็สามารถที่จะบรรลุอริยสัจธรรมได้เร็ว
เป็นชีวิตปกติธรรมดาจริงๆ คือ รวมทั้งผู้ได้ฌานที่เคยสะสมมา และผู้ที่ไม่ได้ฌานด้วย โดยนัยต่างๆ
ข้อความต่อไปอีกนัยหนึ่ง มีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ การปฏิบัติไม่อดทน ๑ การปฏิบัติอดทน ๑ การปฏิบัติข่มใจ ๑ การปฏิบัติระงับ ๑
นี่เป็นปกติ ซึ่งเป็นลักษณะของบุคคลแต่ละประเภทตามที่ได้สะสมมา
สำหรับการปฏิบัติไม่อดทน มีข้อความอธิบายว่า
เขาด่า ย่อมด่าตอบ เขาขึ้งโกรธ ย่อมขึ้งโกรธตอบ เขาเถียง ก็เถียงตอบ
ส่วนการปฏิบัติอดทนนั้นโดยนัยตรงกันข้าม คือ
เขาด่า แต่ไม่ด่าตอบ เขาขึ้งโกรธ แต่ไม่ขึ้งโกรธตอบ เขาเถียง แต่ไม่ทุ่มเถียงตอบ
นี่เป็นลักษณะของคนที่อดทนซึ่งสะสมอบรมมา เมื่อเจริญสติ ก็เจริญสติตามปกติ แต่ไม่ใช่หมายความว่า อดทนโดยต้องไปทำอะไรให้ลำบากแล้วก็เรียกว่า เป็นผู้ที่ต้องอดทนทรมานปัญญาถึงจะเกิด นั่นเป็นการไปสร้างทุกข์ทับถมตนเองที่ไม่มีทุกข์ทั้งทางกาย หรือทางอาหาร ความสะดวก ที่อยู่อาศัยต่างๆ เพราะเหตุว่าทุกข์จริงๆ นั้น คือ ราคะ โทสะ โมหะที่มีมาก และจะต้องเจริญสติเพื่อรู้แล้วละ