แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 116
ก็เวทนา ๕ เป็นไฉน เวทนา ๕ คือ สุขินทรีย์ ๑ ทุกขินทรีย์ ๑ โสมนัสสินทรีย์ ๑ โทมนัสสินทรีย์ ๑ อุเบกขินทรีย์ ๑ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๕
ก็เวทนา ๖ เป็นไฉน เวทนา ๖ คือ จักขุสัมผัสสชาเวทนา ๑ โสตสัมผัสสชาเวทนา ๑ ฆานสัมผัสสชาเวทนา ๑ ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา ๑ กายสัมผัสสชาเวทนา ๑ มโนสัมผัสสชาเวทนา ๑ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๖
ก็เวทนา ๑๘ เป็นไฉน เวทนา ๑๘ คือ เวทนาที่สหรคตด้วยโสมนัส ๖ เวทนาที่สหรคตด้วยโทมนัส ๖ เวทนาที่สหรคตด้วยอุเบกขา ๖ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๑๘
ก็เวทนา ๓๖ เป็นไฉน เวทนา ๓๖ คือ เคหสิตโสมนัส ๖ เนกขัมมโสมนัส ๖ เคหสิตโทมนัส ๖ เนกขัมมสิตโทมนัส ๖ เคหสิตอุเบกขา ๖ เนกขัมมสิตอุเบกขา ๖ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๓๖
เวทนา ๑๐๘ เป็นไฉน เวทนา ๑๐๘ คือ เวทนาที่เป็นอดีต ๓๖ ที่เป็นอนาคต ๓๖ ที่เป็นปัจจุบัน ๓๖ เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๑๐๘
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมปริยาย อันมีปริยาย ๑๐๘ แม้นี้แล
ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คงจะได้ผ่านพยัญชนะที่ว่า สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา
สุขเวทนามีอามิส ทุกขเวทนามีอามิส อทุกขมสุขเวทนามีอามิส และสุขเวทนาไม่มีอามิส ทุกขเวทนาไม่มีอามิส อทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส
ซึ่งข้อความในเรื่องมีอามิส ไม่มีอามิส นัยของ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค นิรามิสสูตร ได้แสดงเรื่องของมีอามิสว่า หมายถึงเวทนาเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ส่วนไม่มีอามิสนั้นหมายถึง เวทนาเกิดขึ้นเพราะอาศัยสมาธิ หรือเกิดขึ้นเป็นไปกับฌานจิต
สฬายตนวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ที่ในอรรถกถา แสดงว่า เคหสิต หมายถึงเวทนาอาศัยกามคุณ เนกขัมมานิสิตานิ หมายความถึงเวทนาอาศัยวิปัสสนา
อรรถกถาสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค นิรามิสสูตร มีข้อความว่า คำว่า มีอามิสนั้น คือ มีกิเลส เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะกล่าวว่าเป็นเนกขัมมะซึ่งเกิดจากการเจริญสมาธิเป็นฌานจิต แต่ในอรรถกถาได้กล่าวไว้ตรงกับใน สฬายตนวิภังคสูตร ว่า คำว่า มีอามิสนั้น คือ มีกิเลส
เป็นเรื่องความละเอียดของพยัญชนะ แต่ถ้าเป็นเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้วก็คือว่า ถ้าท่านผู้ใดที่ยังไม่ได้เริ่มพิจารณาเวทนา ความรู้สึก พิจารณาแต่เพียงบางนามบางรูป ให้ทราบว่ายังรู้ไม่ทั่ว ยังต้องเจริญปัญญาอีกมากนัก อย่าเพิ่งคิดว่าจะรู้แจ้งการเกิดขึ้นและดับไป เพราะปัญญายังรู้สภาพธรรมที่มี ที่เกิดขึ้นปรากฏ แล้วก็ยึดถือว่าเป็นตัวตนนั้นไม่ทั่ว เป็นต้นว่า ถ้าท่านยังไม่เคยระลึกรู้สภาพของความรู้สึก สติจะต้องระลึกรู้เพื่อละการยึดถือความรู้สึกนั้นว่าเป็นตัวตน เพราะการรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้นั้นต้องเป็นปัญญาที่รู้แจ้ง ซึ่งต้องอาศัยการเจริญอบรมความรู้ในลักษณะของนามและรูปให้เพิ่มขึ้น มากขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะรู้แจ้งได้ แล้วต้องมีความอดทนมากที่จะระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ว่าหนทางนี้ก็เป็นหนทางที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกได้ดำเนินมาแล้ว
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นสาวกต้องการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ไม่มีหนทางอื่น ต้องเป็นหนทางนี้เองที่จะต้องเพียรอดทนระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏจนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม
สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังคปกรณ์ สติปัฏฐานวิภังคนิทเทส มีข้อความเรื่องสติปัฏฐาน ๓ ซึ่งมีคำอธิบายว่า
ที่โคจรแห่งสติ ท่านเรียกว่า สติปัฏฐาน
ที่โคจรแห่งสติ หมายความว่า ที่สติระลึกรู้ ได้แก่ อารมณ์นั่นเอง เพราะเหตุว่า สติเป็นนามธรรม สติก็ต้องรู้อารมณ์ ขณะที่สติระลึกรู้อารมณ์ใด อารมณ์นั้นเป็นโคจร เป็นที่ตั้งที่ระลึกของสติ
ความหมายของสติปัฏฐาน ๓ คือ
ความหมายประการที่ ๑ คือ ที่โคจรแห่งสติ ท่านเรียกว่า สติปัฏฐาน
ในพระบาลีเป็นต้นว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความเกิดขึ้น และความดับไปแห่งสติปัฏฐานทั้ง ๔
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความเกิดขึ้น และความดับไปแห่งสติปัฏฐานทั้ง ๔ พวกเธอจงฟังข้อความนั้น จงใฝ่ใจด้วยดี
และข้อความต่อไปแสดงว่า สติปัฏฐาน ได้แก่ กาย เวทนา จิต ธรรม
ความหมายประการที่ ๒ คือ
ในคำนี้ว่า พระศาสดาผู้อริยะย่อมเสพซึ่งธรรมใด ธรรมนั้นคือสติปัฏฐาน พระศาสดาผู้อริยะเมื่อส้องเสพอยู่ซึ่งธรรมนั้น ย่อมควรเพื่อตามสอนหมู่คณะ
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐานเองจะไม่ทราบเลยว่า หนทางนี้เป็นหนทางที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงดำเนิน และพระอริยสาวกดำเนินหนทางเดียวกันนี้จึงสามารถที่จะประจักษ์สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลจะไม่สงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพราะท่านจะต้องละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน ไม่มีความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ท่านรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญาของท่านสมบูรณ์ขึ้นเป็นขั้นๆ ด้วยการที่เจริญสติ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติธรรมดา ท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ไม่ใช่ทำให้ผิดปกติ สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดแล้วปรากฏ
ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานสติระลึกรู้ลักษณะของเห็น และสีที่กำลังปรากฏ รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่ต่างกัน ทางหูสติระลึกรู้ลักษณะของเสียง ระลึกรู้ลักษณะของได้ยิน รู้สภาพธรรมที่รู้เรื่องรู้ความหมายของเสียง รู้สุข รู้ทุกข์ รู้อุเบกขาที่เกิดปรากฏตามปกติ แล้วก็รู้จนกระทั่งเป็นพระอริยบุคคล เพราะสติระลึกในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมที่กำลังปรากฏตามปกตินี้เอง ท่านเหล่านั้นดำเนินหนทางนี้ทั้งนั้น แต่ไม่มีในศาสนาอื่น ซึ่งถ้าไม่ใช่เป็นการรู้แจ้งแล้ว จะไม่มีการเจริญสติตามปกติที่กำลังเห็น กำลังได้ยินอย่างนี้
เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานเป็นทางดำเนินของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเข้าและพระอริยสาวก ไม่ใช่สติที่ในศาสนาอื่นก็มี คือ เป็นไปในทาน หรือเป็นไปในศีล หรือเป็นไปในสมาธิเท่านั้น แต่เป็นสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแล้วรู้ชัด และสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
ความหมายของสติปัฏฐานประการที่ ๓ คือ
สติซึ่งเป็นนามธรรม สติที่เป็นไปในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมนั่นเองเป็นสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินคำว่า สติปัฏฐาน ๓ ให้ทราบความหมายคือ
๑. หมายถึงอารมณ์ของสติ ได้แก่ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นสติปัฏฐาน
๒. เป็นหนทางซึ่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวกดำเนิน และรู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วยหนทางนี้
๓. หมายถึงสติซึ่งเป็นสภาพที่ระลึกรู้กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่สติที่เพียงเป็นไปในทาน หรือศีล หรือสมาธิเท่านั้น
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ถ้าท่านไม่เจริญสติปัฏฐาน ปัญญาไม่เจริญ สติก็ไม่เจริญ เป็นการจำกัดสติเฉพาะบางสถานที่ เฉพาะบางอารมณ์ เป็นการจำกัดปัญญาเฉพาะสถานที่ เฉพาะบางอารมณ์ แต่ขอให้คิดถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งเกิดดับเร็วมาก ถ้าไม่เจริญสติ ไม่ระลึกรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามของรูปแต่ละชนิดตามความเป็นจริง สามารถที่จะรู้ได้ไหมว่า นามนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป รูปนั้นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป นามอีกชนิดหนึ่งเกิดต่อแล้วก็ดับไป รูปอีกชนิดหนึ่งเกิดต่อแล้วก็ดับไป เพราะสิ่งเหล่านี้มีเป็นปกติในชีวิตประจำวันซึ่งจะต้องรู้จึงจะละ ถ้าไม่รู้ก็ไม่ละ
อย่างกายก็ต้องรู้ เพราะมีปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของกายที่สติระลึกได้ ก็แสดงให้เห็นสภาพความจริงว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เพียงอ่อน เพียงแข็ง เพียงร้อน เพียงเย็น เพียงตึง เพียงไหว เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป บ่อยๆ เนืองๆ ยังไม่พอ เพราะการที่สติจะระลึกเป็นไปในวันหนึ่งๆ มีใครบังคับสติได้ว่า ให้อยู่เฉพาะที่กาย ด้วยเหตุนี้จึงมีสติปัฏฐาน ๔ ไม่ได้แสดงสติปัฏฐานเดียวเลย เป็นไปไม่ได้ที่สติของใครจะระลึกรู้แต่เฉพาะที่กายอย่างเดียว ซึ่งวิสัยของปุถุชนซึ่งหนาแน่นด้วยกิเลส ทำให้หลงลืมสติ แต่ผู้ที่เจริญสติก็ต้องเจริญสติต่อไป ไม่ใช่ไปหยุดอยู่ที่เฉพาะบางรูปหรือบางนามด้วยความจงใจ คิดว่าจะต้องรู้เฉพาะรูปนั้นหรือนามนั้น ซึ่งไม่เป็นการเจริญปัญญา แล้วก็เป็นการบังคับสติ ซึ่งถึงจะบังคับอย่างไรก็บังคับไม่ได้ ไม่มีใครบังคับให้สติรู้อยู่เฉพาะแต่ที่กายเท่านั้น
ข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง วิปัสสนาญาณแรก คือ นามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญาที่สมบูรณ์ที่รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่ให้รู้อย่างเดียวเพราะฉะนั้น ใครจะจงใจไปรู้ที่รูปเดียวโดยที่ไม่รู้นาม ก็ไม่มีการถึงความสมบูรณ์ของปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณขั้นต้น คือ นามรูปปริจเฉทญาณ เพราะถ้าไม่รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว ความสงสัยต้องมีอยู่ เพราะนามธรรมและรูปธรรมเกิดปรากฏพร้อมๆ กัน อย่างทางกาย ถ้าไม่เจริญสติบ่อยๆ ไม่ปรากฏความต่างกันว่า สภาพนี้เป็นนามธรรม สภาพนั้นเป็นรูปธรรม ก็จะหลงเข้าใจผิด หรือสงสัยได้ว่า นี่นาม หรือว่า นี่รูป
เพราะฉะนั้น เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องของปัญญาที่รู้ชัดตามปกติ ขอให้คิดถึงความจริงว่า ไม่มีใครบังคับให้สติรู้แต่เฉพาะที่กาย จะเลือกว่า ท่านจะเป็นผู้ที่เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมหมวดอื่นเลย ปัญญาจะเจริญได้ไหม เพราะเวทนาก็มี เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวเฉยๆ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของเวทนา แล้วจะไปละ ไม่ยึดถือสภาพของความรู้สึกว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล จะเป็นไปได้ไหม ถ้าสติไม่เริ่มระลึกรู้ว่า ความรู้สึกนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่มีจริง ที่ปัญญาจะต้องรู้ ที่สติจะต้องระลึกด้วย เพราะเป็นของที่มี แล้วก็เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมาก
กายกระทบสัมผัส รูปเย็นปรากฏ ความรู้สึกสบาย แล้วทำไมจึงจะไม่ให้รู้ ลักษณะของเวทนาที่ปรากฏ ซึ่งต้องรู้ เพราะขณะนั้นปรากฏ อย่าไปจงใจที่จะบังคับ ไปเลือกว่า จะต้องรู้เฉพาะรูปนั้นเท่านั้น หรือว่า หมวดนั้นเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถรู้ความจริง เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นในกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา หรือธัมมานุปัสสนาก็ตาม จะแสดงให้เห็นชัดเจนว่า เป็นการเจริญสติเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั่นเอง
ถ. เรื่องนี้ความจริงเป็นเรื่องเก่า และผมเข้าใจดีแล้วเกี่ยวกับอิริยาบถ ๔ คือ ขณะที่มีอิริยาบถ ๔ จะเป็นยืนก็ดี เดินก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี ย่อมรู้โลกทั้ง ๖ โลก ตามที่ท่านอาจารย์กล่าว ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อเกิดขึ้น ก็มีสติรู้ตลอด แต่ติดอยู่ที่พยัญชนะที่ว่า เมื่อเดินก็รู้ชัดว่าเดิน เมื่อนั่งก็รู้ชัดว่านั่ง คำว่าเดิน ว่านั่ง ว่ายืน ว่านอน ให้รู้ชัดอยู่อย่างนี้ เป็นการรู้ชัดเดินนี้ หรือรู้ชัดนอนนี้ รู้ชัดกิริยาที่นั่งอยู่นี้ นี่ก็ประการหนึ่ง
อีกอย่างหนึ่งที่ว่า หรือว่ากายของภิกษุนั้นตั้งอยู่ด้วยประการใดๆ ภิกษุนั้นก็รู้จักกายนั้นด้วยประการนั้นๆ ดังนี้ เป็นคำกล่าวรวมหมดทุกอย่าง มีคำอธิบายว่า กายของภิกษุนั้นตั้งอยู่ด้วยอาการใดๆ ภิกษุนั้นก็รู้จักกายนั้นด้วยอาการนั้น คือ รู้จักกายนั้นว่าตั้งอยู่ด้วยอาการนั้นๆ กายนั้นตั้งอยู่ด้วยอาการยืน นั่ง นอน ก็รู้ได้ว่า ยืน นั่ง นอน คำว่า หรือในภายในอย่างนี้ คือ เล็งเห็นกายในจำพวกกายด้วยการกำหนดอิริยาบถ ๔ ของตนอย่างนี้
นี่เป็นเรื่องของพยัญชนะ แต่ถ้าพูดตามคำที่อาจารย์บรรยายไว้ ผมเข้าใจชัดว่าขณะที่นั่งอยู่นี้ หรือยืนอยู่นี้ หรือเดินอยู่นี้ หรือนอนอยู่นี้ ย่อมมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย สารพัดที่จะรู้ได้ถ้ามีสติพอ แต่ที่มาจำกัดอิริยาบถให้รู้ชัดว่านั่งอยู่ นอนอยู่ หรือเดินอยู่ ก็เป็นพยัญชนะที่ไม่ค่อยชัด
สุ. ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามัคค ข้อ ๗๒๗ มีข้อความว่า
พิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไร ย่อมพิจารณาเห็นกองธาตุดินโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ย่อมพิจารณาเห็นกองธาตุน้ำ ไฟ ลม กองผม ขน ผิว หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
กายปรากฏไม่ใช่สติ สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนั้นด้วยสติและญาณนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงเรียกการพิจารณาเห็นกายในกายว่า สติปัฏฐานภาวนา
ข้อ ๗๒๘ ภิกษุมีปกติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่อย่างไร ย่อมพิจารณาเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ย่อมพิจารณาเห็นทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ข้อ ๗๒๙ มีข้อความว่า ภิกษุมีปกติพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไร
ข้อ ๗๓๐ ภิกษุมีปกติพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่อย่างไร
เพราะต้องมีลักษณะของสิ่งที่จะพิสูจน์ให้รู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ต้องเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นผู้มีสติเดิน เป็นผู้มีสตินั่ง เป็นผู้มีสตินอน เป็นผู้มีสติยืน ไม่ได้จำกัดเลยว่ารู้อะไร แต่เป็นเพราะเมื่อเป็นผู้มีสติ สติระลึกเป็นไปในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม
อย่างเวทนา จะพิจารณาระลึกรู้ลักษณะของเวทนา ก็ต้องมีนั่ง นอน ยืน เดิน มีรูปที่ประชุมรวมกัน ตั้งอยู่ ทรงอยู่ในอิริยาบถหนึ่งอิริยาบถใด แต่ก็มีเวทนาปรากฏที่สติจะต้องระลึกรู้ ถ้าไม่ระลึกที่กาย ก็ระลึกที่เวทนา ที่จิต ที่ธรรม แต่ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถยืนอย่างไร ยืนงอเท้า นั่งยกแขน ก็จะต้องมีส่วนของรูปที่ปรากฏ กายมีปรากฏ สติระลึกรู้กายที่ปรากฏ ต้องมีลักษณะของรูปแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
จะนั่งอย่างไร นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ นั่งห้อยเท้า นั่งกอดอก เวลาที่มีรูปปรากฏในส่วนใด ที่ทรงอยู่ในอาการอย่างไร ก็พิจารณาเห็นกายในกาย ต้องมีลักษณะของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมปรากฏให้รู้ได้ แม้แต่ลมหายใจ เวลากระทบโผฏฐัพพารมณ์ ก็ต้องปรากฏเป็นสภาพที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ที่กายนี้มีกายปสาทซึมซาบอยู่ทั่วไป เมื่อระลึกที่กาย กระทบที่กาย ก็ปรากฏเป็นสภาพที่อ่อน แข็ง เย็น ร้อน ตึง ไหวนั่นเอง
กำลังนั่ง ก็มีเวทนา มีจิต มีธรรม ไม่ได้จำกัดเจาะจงว่าให้รู้อะไร เพราะ แล้วแต่ว่าส่วนใดสิ่งใดปรากฏ สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด ก็มีลักษณะของสภาพธรรมนั้นปรากฏให้รู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล