แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 120
สุ. ถ้าไม่รู้ชัด จะละจะคลายความไม่รู้ไม่ได้ ที่จะละคลายความไม่รู้ได้ ละคลายอวิชชา ละคลายความสงสัยในลักษณะของนามรูป ละคลายการที่เคยยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้นั้นต้องมีความรู้ ไม่ใช่มีตัวตนไปละคลาย ความรู้ต้องเกิดขึ้น และขณะใดที่ความรู้เกิดขึ้นก็ละก็คลายความไม่รู้ในขณะนั้น และจิตดวงต่อๆ ไปก็ละคลายความไม่รู้ลงไป
เพราะฉะนั้น การเจริญวิปัสสนาก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า เป็นการรู้แจ้ง รู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ถ้าผลคือความไม่รู้ก็เป็นอวิชชา ไม่ใช่วิชชา
ถ. ผมก็เรียนถามท่านว่า ญาณในที่นี้ คือ ผลของวิปัสสนา เป็นผลของการเจริญสติปัฏฐาน ท่านก็รับรองใช่ไหม ญาณที่ความรู้สึกเปลี่ยนไป ๑๖ อย่างนี้ ท่านจะว่าเป็นความรู้ ผมว่าญาณไม่ใช่ความรู้อย่างธรรมดาที่ชาวโลกเขารู้กัน ความรู้สึกนี้เปลี่ยนภูมิไป คล้ายว่าถ้าเราสำเหนียกศึกษาสังเกตไปทีละนิดๆ ที่ท่านว่ารู้ชัด จะยิ่งกว่าความรู้สึก คำว่าญาณอีก ยิ่งกว่าครับ
สุ. กลายเป็นว่า ไม่ใช่ความรู้ใช่ไหม ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทาง ลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกตินี้ไม่มีความรู้อะไรเลยใช่ไหม
ถ. เป็นความรู้ แต่ไม่ใช่ญาณ
สุ. ที่ท่านว่า ท่านรู้รูปนั่ง เป็นรูปอะไรในรูป ๒๘ รูป ถ้าท่านบอกว่าเป็นวิการรูป ขอให้ดูลักษณะของวิการรูป ซึ่งผู้ที่เจริญสติเป็นผู้ที่จะรู้สภาพธรรมตรงถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าทรงแสดงไว้อย่างหนึ่ง แล้วผู้เจริญสติปัฏฐานไปรู้อื่นอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ตรงกับที่แสดงไว้ ท่านคงจะทราบเรื่องของนิปผันนรูป รูปที่มีสภาพที่มีจริง ๑๘ รูป ส่วนอีก ๑๐ รูปนั้นเป็นลักษณะบ้าง หรือเป็นอาการวิการของรูปนั้นบ้าง เช่น ความเบา ความอ่อน ความควรแก่การงานของอะไร ก็ต้องของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ถ้าธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมไม่มี จะมีอะไรที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงานไม่ได้ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ยังไม่มีรูปซึ่งมีลักษณะนั่ง นอน ยืน เดินในพระไตรปิฎก
ถ. แต่ปัญหาของผมยังไม่จบ ปัญหาของผมเพิ่มขั้นทุกวันเลย คือ ไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ที่บรรยายความเห็นเป็นทิฏฐุชุกรรม การปรับความเห็นให้ตรงกัน ยังมีข้อสงสัยว่า ทำได้ทุกหนทุกแห่ง ก็ไม่ค่อยจะเข้าหลักกับกายวิเวก สำรวมตาทำอย่างไร ทำได้ตลอดเวลานี่ก็สงสัย เพราะผู้ที่ทำได้ตลอดเวลาปัญญาต้องเลิศ ต้องเป็น อัครสาวิกาผู้ปัญญาเลิศ อีกอย่างหนึ่ง การสำรวมตาตลอดเวลาก็เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อยู่ในหมวดอายตนะ ๑๒ เป็นสติปัฏฐานเหมือนกัน ซึ่งท่านจัดไว้เป็นประเภทที่ยากที่สุด
แล้วที่อาจารย์กล่าวว่า การออกไปทำวิปัสสนาเป็นอัตตา ก็สงสัยว่า ทำไมจึงเป็นอัตตา
การสำรวมตาทำอย่างไร สำรวมใจทำอย่างไร คงไม่เหมือนกัน อาจารย์เรียนพระไตรปิฎกมา อาจารย์ปฏิบัติมา เข้าใจว่าอาจารย์ก็จะต้องมีอาจารย์เหมือนกัน ถ้าอาจารย์ไม่มีอาจารย์ อาจารย์ก็เป็นสยัมภูรู้เอง ก็ยากเหมือนกันในยุคนี้ เพราะว่าเรามีข้อสงสัย เราก็ต้องถามอาจารย์ ถ้าไม่มีอาจารย์แล้วจะไปถามใคร ถ้าอาจารย์ถามในพระไตรปิฎก อาจารย์จะต้องตกที่นั่งว่าคนตาบอด ๔ คนคลำช้าง คลำไปเจออะไรก็เข้าใจว่าอย่างนั้น
สุ. ดิฉันกล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานถ้ามีเข้ามีออกแล้วไม่ใช่การเจริญ สติปัฏฐาน ได้ฟังอย่างนี้หรือไม่
ถ. ได้ฟังยิ่งกว่านั้นอีกครับ บอกว่าถ้าเตรียมตัวแล้วออกไปเป็นอัตตา ก็อัตตากันอยู่แล้ว จึงได้ทำสติปัฏฐาน
สุ. เพราะเหตุว่าการเจริญสติปัฏฐานไม่มีเข้าไม่มีออก เหตุผลคือ สติเป็นสภาพที่ระลึก ขณะนี้ระลึกได้ไหม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพธรรมที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏว่า สภาพนั้นมีลักษณะเช่นนั้น ที่ไม่พึงยึดถือว่าเป็นตัวตน วันหนึ่งๆ ก็เคยคิด เคยนึก ถ้านึกถึงสิ่งใดที่เป็นอกุศล ไม่ใช่สติเจตสิก เพราะเหตุว่าสติเจตสิกเป็นโสภณธรรม เป็นคุณธรรม จะเกิดกับโสภณจิต ซึ่งถ้ายังไม่เคยฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน จะไม่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงลักษณะของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรม ของนามธรรม ของรูปธรรม
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน มีสติในขณะที่ให้ทาน ทำให้ระลึกเป็นไปในทาน มีสติในขณะที่รักษาศีล วิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจา หรือว่ามีกายวาจาที่เหมาะที่ควร นั่นเป็นเรื่องของสติที่เป็นไปในศีล สำหรับบางท่านที่เห็นโทษของจิตใจที่ไม่สงบ รู้ว่าเป็นอกุศล ก็มีวิธีที่จะทำให้จิตสงบ ขณะนั้นสติระลึกเป็นไปในความสงบของจิต แต่ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน
แต่เมื่อใดที่ได้ฟัง และเข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ทราบว่าสติเป็นนามธรรม เป็นสภาพที่ระลึกรู้ว่า ตลอดชีวิตที่ล่วงมาแล้ว ที่กำลังเป็นอยู่ และต่อไปในภพชาติข้างหน้าก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่สภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดแล้วจึงได้ปรากฏ เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น แล้วสภาพที่ปรากฏนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
เพราะฉะนั้น เมื่อมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ซึ่งเป็นทางที่จะรู้ชัดใน ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ สติก็ระลึกทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ซึ่งไม่มีตัวตนไปบังคับ ไปมีกฎเกณฑ์ ไปคิดว่าขณะนั้นไม่ได้ หรือว่าขณะนี้ไม่ได้ ไปคิดว่าจะต้องเข้า สติจึงจะเกิด หรือคิดว่าเมื่อออกมาแล้วสติเกิดไม่ได้ นั่นไม่ใช่ความเข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน
ถ. ก็ถูกอย่างที่อาจารย์ว่า แต่ผมอยากได้เบื้องต้น สำหรับเดือนแรก หรืออาทิตย์แรกที่ปฏิบัติเป็นอย่างนั้น ที่ท่านว่าสำรวมตา สำรวมใจ ตา หู จมูก ลิ้น กายและสำรวมใจนั้น สำรวมอย่างไร ท่านว่าทั่วๆ ไป แต่เมื่อเราจะเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นเบื้องต้น คล้ายๆ เข้าโรงเรียนเตรียม ที่อาจารย์ว่านี่ถูกหมด แต่อยู่ในบั้นปลายไปแล้ว ไปธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
สุ. มหาสติปัฏฐานมี ๔ คือ กายานุปัสสนาสิตปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่มีข้อความใดในพระไตรปิฎกที่กล่าวว่า ให้เจริญสติปัฏฐานไหนก่อน
ถ. มีครับ ผมจะอ่านให้ฟังว่ามีที่ไหน ที่จริงผมจดไว้นานแล้วที่ท่านแบ่งไว้ ท่านก็แบ่งไว้ตามนี้ เป็นอุบายให้แยบคาย คือ ท่านแบ่งไว้อย่างนี้เพื่อให้เหมาะแก่ตัณหาและทิฏฐิ ท่านแบ่งไว้เลยในมัชฌิมนิกาย ทีฆนิกาย พระไตรปิฎก อรรถกถา เชื่อผมคงไม่พลาดแน่ อาจารย์ผมบอกมาด้วย
สุ. มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ไม่มีพยัญชนะใดที่กล่าวว่าให้เจริญสติปัฏฐานใดก่อน
ถ. นี่สำคัญ เป็นหน้าที่ของอาจารย์ที่จะต้องสรุปมา อาจารย์ปฏิบัติมาต้องรู้แจ้งแทงตลอด ต้องเข้าใจพระไตรปิฎกแล้ว มานี่ไม่ต้องเอาพระไตรปิฎกมาแล้ว อาจารย์ปฏิบัติแล้วต้องสรุปให้ได้ เขาเชื่อมือแล้วว่าเป็นอาจารย์ปฏิบัติ ไม่ต้องอ้างอะไรแล้ว
ถ๒. อาจารย์ถามว่า ที่ให้เรียงตามลำดับนั้นมีที่ไหน
ถ. มหาสติปัฏฐานนี่แหละ ไม่มีในมหาสติปัฏฐานนี้เพราะอะไร เพราะว่าในพระไตรปิฎกมีเหตุไว้ทางหนึ่ง มีผลไว้ทางหนึ่ง เป็นหลายเล่ม ทีนี้บรรดาอาจารย์ที่ปฏิบัติต้องแทงตลอดพระไตรปิฎกแล้ว รู้แจ้งแทงตลอด แล้วสรุปมาให้เรา ถ้าขืนเอาตรงนี้ก็เหมือนคนตาบอดคลำช้าง อาจารย์ต้องสรุปมา จริตนี่ไปแบ่งไว้ในอรรถกถาที่ผมว่าเมื่อสักครู่นี้
สุ. ในอรรถกถาไม่ได้กล่าวไว้เลยว่า ให้เจริญอย่างนั้น ให้เจริญอย่างนี้ แต่ หมายความว่า ผู้ใดมีอัธยาศัยอย่างไรย่อมน้อมไปสู่สติปัฏฐานนั้น แต่ไม่ใช่หมายความว่า สติปัฏฐานเดียว
ถ. ที่ท่านให้ผม ท่านให้สติปัฏฐานเดียว คือ ให้อายตนะ ๑๒ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
สุ. มิได้ ตามีไหมเวลานี้
ถ. อายตนะ ๑๒ อยู่ในธัมมา ต้องไปตามแบบฝึกของสติปัฏฐาน
สุ. ดิฉันได้บรรยายมหาสติปัฏฐาน คือ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา และในขณะนี้กำลังถึงจิตตานุปัสสนา แต่แม้กระนั้น ไม่ว่าจะเป็นกายานุปัสนาก็ตาม เวทนานุปัสสนาก็ตาม จิตตานุปัสสนาก็ตาม ธัมมานุปัสสนาก็ตาม การที่จะรู้ชัดสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะต้องรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ใช่หรือไม่ใช่ เพราะว่ามีตา มีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีหู มีของจริงที่ปรากฏทางหู ซึ่งถ้าไม่รู้ก็เป็นอวิชชา ยึดถือสภาพธรรมเหล่านั้นว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นบรรพไหน จะพ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ได้ หรือว่าจะพ้นได้
ถ. ถูกครับ อย่างที่ท่านว่า แต่เว้นอย่างนี้แหละครับ ทรงแสดงไว้แยบยล คือ ไม่ต้องมากอย่างนั้น มากอย่างนั้นมันยาก ไปอยู่ในธัมมา อายตนะ ๑๒ ท่านแสดงทั้งกายาก็เหมาะ แต่เราไปอวดเป็นคนรู้ดี ปัญญาดี ไปเอาอายตนะก่อน แล้วที่ท่านทำไปเป็นอย่างไรบ้าง ๒ - ๓ ปี ได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง ผมจะถามท่านว่า สำรวมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ท่านสำรวมอย่างไร ใจสำรวมอย่างไร เข้าใจว่าสำรวมของท่านกับของผมจะไม่ตรงกัน
สุ. ให้ระลึกรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏทางตา เพราะการเห็นมีจริง สีที่ปรากฏทางตาก็มีจริง เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะละความไม่รู้ได้ก็หมายความว่า สติจะต้องระลึกในขณะที่เห็นเพื่อที่จะได้รู้ว่า ที่กำลังเห็นนี้เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ที่ดิฉันบรรยาย บรรยายอย่างนี้หรือไม่
ถ. ถูกที่อาจารย์บอกว่า เห็นเป็นนามธรรม เป็นรูปเป็นนาม อาจารย์บอกทำเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้จดได้หรือ พูดได้หรือ ต้องนึกไปข้างหน้า ข้างหลัง ผมต้องนึก พูดไม่ได้ ตอบไม่ได้ เห็นเป็นรูปเป็นนาม แล้วจะตอบได้อย่างไร ต้องเห็นเป็นเนื้อความเป็นใจความ ทั้งข้างหน้าทั้งข้างหลัง กิเลสเข้าแล้ว ในขณะที่จดที่เขียนอะไรนี่ไม่ได้เห็นเป็นรูปเป็นนามแล้ว ไม่รู้ว่าเป็นใคร ผมถามว่า เวลานี้เราสำรวมได้หรือไม่ได้ อาจารย์ว่าเห็นเป็นรูปเป็นนาม สำรวมได้หรือไม่ได้
สุ. สำหรับผู้ที่ไม่เคยเจริญสติเลย ก็ไม่ได้ แต่สำหรับผู้ที่ฟังธรรม เข้าใจ ลักษณะของสติ ระลึกรู้ว่าขณะใดเป็นขณะที่กำลังมีสติ ไม่ใช่หลงลืมสติ และขณะใดที่หลงลืมสติ ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้ทราบ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้รู้ลักษณะของสติจึงเจริญสติปัฏฐานได้ แต่ถ้าไม่รู้ลักษณะของสติแล้ว เจริญสติปัฏฐานไม่ได้
ถ. นี่แหละครับ ผู้ที่สำรวมเห็นเป็นรูปเป็นนาม เมื่อเห็นเป็นรูปเป็นนามแล้วไม่รู้เรื่อง เดินไปไหนก็ลำบากถ้าไม่ชำนาญ ผมถามท่านนี่เบื้องต้น ท่านมาอยู่นี่ ท่านเห็นเป็นรูปเป็นนามหรือไม่ที่นั่งอยู่นี่ ก็ไม่ใช่ เปอร์เซ็นต์น้อยนัก สัก ๕ เปอร์เซ็นจะเห็นเป็นรูปเป็นนาม ทางสมมติมีมากมาย ท่านต้องเข้าใจว่า สำรวม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างไร สำรวม ๕ เปอร์เซ็นต์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างไร นี่ท่านต้องเข้าใจ ไม่อย่างนั้นท่านจะทำพร่ำเพรื่อ ท่านจะนึกว่าท่านสำรวมมากแล้ว แต่เปล่า ไม่ได้สำรวมหรอก จะเข้าไปโรงหนัง หรือไนท์คลับจะสำรวมอย่างไหน สำรวมได้น้อยเหลือเกิน ท่านต้องจัดสิ่งแวดล้อม ท่านต้องจัดตัวของท่านทุกอย่าง ทั้งกาย ทั้งใจ กายวิเวก จิตวิเวก ท่านต้องจัด เปอร์เซ็นต์จึงจะเพิ่มขึ้น ถ้าท่านไม่สมบรูณ์แล้ว ไม่มีหวัง มีหวังน้อยที่สุดเลย ผลได้น้อยที่สุดอย่างนี้
สุ. ไม่มีในพระไตรปิฎกที่ว่า ผู้สังวรตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้วไม่รู้เรื่อง ไม่มีกล่าวไว้เลยในพระไตรปิฎก เพราะการเจริญสติปัฏฐานเป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ ตามปกติ ถ้าขณะปกติเห็นมีจริง รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร มีจริง มีสติระลึกรู้ว่า ทั้งเห็นก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ทั้งสภาพที่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนสำหรับผู้ที่รู้แจ้งธรรม สำหรับผู้ที่เจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่หลงเข้าใจผิด
เพราะฉะนั้น ไม่มีเลยในพระไตรปิฎกที่จะกล่าวว่า เมื่อผู้ใดเจริญสติปัฏฐาน สังวรตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเกิดโทษเกิดภัย หรือไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร แม้แต่การบิณฑบาตก็มีการสังวรตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะเหตุว่าสังขารธรรมทุกประเภทเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ที่จะให้ไปยับยั้งให้มีอยู่แต่ทางตา ไม่ให้ผ่านไปถึงทางใจ ผู้ที่ศึกษาปรมัตถธรรมแล้วก็ทราบได้ว่า ถ้าเป็นการเจริญสติปัฏฐานตามปกติแล้ว จะไม่เป็นอย่างนั้นเลย
วิถีจิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏไม่ชัด ชวนจิตก็ไม่เกิด แต่ไม่ใช่หมายความว่ามีตัวตนไปจดจ้อง ไปบังคับ ไปยับยั้งไว้ไม่ให้ชวนะเกิด ไม่ให้โลภะเกิด ไม่ให้โทสะเกิด ไม่ให้โมหะเกิด ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เป็นการรู้จักสภาพชีวิตของท่านตามความเป็นจริง เพราะว่าชีวิตของแต่ละคนนั้นมีการสะสมมาที่จะให้นามรูปเกิดขึ้นปรากฏต่างๆ กันตามเหตุปัจจัย
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติ เป็นผู้ระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดกับตนตามความเป็น จริงว่า สภาพธรรมแต่ละชนิดในวันหนึ่งๆ มีลักษณะเป็นนามธรรมบ้าง มีลักษณะเป็นรูปธรรมบ้าง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ตัวตน แต่ผู้ใดที่เจริญสติปัฏฐานแล้วไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ลักษณะความหมายของสิ่งที่ปรากฏ นั่นไม่มีในพระไตรปิฎก
ถ. ถ้ารู้ว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา รู้เรื่องทางโลกอย่างนี้เหมือนปกติชีวิตประจำวันที่อาจารย์ย้ำอยู่บ่อยๆ ถ้ารู้อย่างปกติอย่างนี้ แล้วสำรวมหรือไม่สำรวมก็ผิดกันมากเลย ที่จริงตรงกันข้ามกัน สำรวมกับไม่สำรวมผิดกันมาก คำว่าปกติกับผู้ปฏิบัติ กับปกติของคนสามัญ ก็ไม่เหมือนกัน ท่านจะเอามาเหมือนกันไม่ได้ เราปฏิบัติไป เราผิดปกติเรื่อย ผิดแน่เลย เพราะเราเดินขึ้นสูง พอกิเลสลดนี่ผิดปกติแน่ ท่านอย่าไปห่วงปกติอยู่เลย ถ้าท่านห่วงปกติทางโลกอยู่ ท่านไม่มีหวังที่จะเข้าใจ หรือเข้าไปญาณที่ ๑ ที่ ๒ ท่านไม่มีหวัง
ผู้ที่เขาเข้าใจ เขาทนไม่ไหวอยู่แล้ว แปลก เขาถือว่าเขาเป็นอุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณี คือ บริษัท ๔ เพราะศาสนานี้ฝากไว้กับบริษัท ๔ เวลานี้คนเข้าใจทนไม่ไหว อย่างผมก็ทนไม่ค่อยไหว คือ ถ้าบรรยายคลาดเคลื่อนนี่เป็นบาป เพราะผู้ฟังจะมีปัญญาตัดสินว่าใครถูกนี่ยาก ผมกว่าจะเข้าใจอายุ ๕๐ อย่างนี้เป็นต้น และผมพูดกับท่านตลอดเวลา ผมให้เหตุผลครับ ไม่ใช่ว่าผมบังคับท่านอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าท่านรับฟังในเหตุผลของผมท่านก็ได้ประโยชน์มาก ทั้งผู้ฟังและทั้งอาจารย์ได้ประโยชน์มากเหลือเกิน เพราะผมให้เหตุผล เพราะผมค้นคว้าของผมมาเหมือนกัน ผมก็ถือว่าเป็นบุญ เป็นกุศล ที่จริงพูดตามส่วนแล้วผมได้ประโยชน์น้อยเหลือเกิน แต่เพื่อหวังประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังและอาจารย์
สุ. การที่จะปรับ ดิฉันเข้าใจว่า ท่านที่บรรยายธรรมทุกท่านก็พยายามปรับอยู่แล้ว ท่านรับฟังรายการธรรมต่างๆ เพื่อจะให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น สิ่งใดที่ผิดบกพร่อง ท่านก็จะได้ยุติไม่กล่าวถึง เข้าใจว่าท่านที่บรรยายธรรมทุกท่านเป็นผู้ที่ศึกษาต่อไป ปฏิบัติค้นคว้ารับฟังเหตุผล เพื่อปรับธรรมที่ท่านอาจคลาดเคลื่อนบกพร่องให้ถูกต้องตามธรรมวินัยยิ่งขึ้น แต่ว่าท่านจะปรับกันได้มากน้อยแค่ไหน ท่านผู้ฟังก็เป็นผู้ที่วินิจฉัยจากสิ่งที่ท่านได้รับฟัง
ถ. ผมไม่ได้มาคัดค้านเปล่าๆ ผมให้เหตุผลด้วย ทั้งหลักฐานและเหตุผล ก็เพื่อจะให้ธรรมนี้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ผมจึงอยากให้อาจารย์ปรับกันบ้าง ร้อยอาจารย์นี่แตกแยกกัน ปรับกันเสียก่อน ไหนๆ เมืองไทยก็มีธรรมที่ดีที่สุด