แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 124


สำหรับเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งมีสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าท่านจะอยู่ในภพไหน ก็มีการเห็น มีการได้ยิน มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ มีธรรมารมณ์ตามควรแก่สภาพธรรมของภูมินั้นๆ ซึ่งท่านก็คงจะคิดถึงทางที่จะน้อมไปสู่พระนิพพานที่จะดับการหลงเพลินไป ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์

ซึ่งการหลงติดข้องในสภาพธรรม ก็ไม่ใช่แต่เฉพาะทางตา แต่ทางหูด้วย ทางจมูกด้วย ทางลิ้นด้วย ทางกายด้วย ทางใจด้วย เพราะฉะนั้น บุคคลที่เห็นโทษ เห็นความที่น่าจะเหนื่อยเสียทีกับความต้องการซึ่งไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักเต็ม ก็ต้องการหนทางที่จะทำให้พ้นจากความต้องการ ที่หลงติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ทั้งหลาย

ขอกล่าวถึง ขุททกนิกาย จุฬนิทเทส เหมกมาณวกปัญหานิทเทส ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร เหมก บทนิพพาน เป็นที่บรรเทาฉันทราคะในปิยรูปทั้งหลาย ที่ได้เห็น ที่ได้ยิน และที่ได้ทราบ

ปิยะรูปทั้งหลาย ไม่มีเว้นเลย

ข้อความต่อไปอธิบายว่า

คำว่า ทิฏฐํ ในอุทเทสว่า อิฏฺฐ ทิฏฺฐ สุตฺต มุตฺตํ วิญฺญาเตสุ ดังนี้ ความว่า ที่ได้เห็นด้วยจักษุ

คำว่า โสตํ ความว่า ที่ได้ยินด้วยหู

คำว่า มุตฺตํ ความว่า ที่ได้ทราบ คือ ที่สูดด้วยจมูก ลิ้มด้วยลิ้น ถูกต้องด้วยกาย

คำว่า วิญฺญาตํ คือ ที่รู้ด้วยใจ

เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้ท ราบ ที่รู้ด้วยใจ

ครบหมดทั้ง ๖ ทาง ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งผู้เจริญสติปัญญาจะต้องรู้ทั่วจึงจะละได้

เหมกพราหมณ์ได้กราบทูลถามถึง การละตัณหาที่ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ข้อความต่อไปมีว่า

คำว่า เอตํ ในอุเทสว่า เอตทญฺญายเยสตา ดังนี้ คือ อมตนิพพาน ความสงบสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับตัณหา ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด

โดยมากพอพูดถึงวิเวกก็คิดถึงสถานที่ แต่ไม่ได้คิดถึงความหมายของวิเวก คือความสละ ความสงบ ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าพุทธบริษัทนั้นมีทั้งที่เป็นบรรพชิตและที่เป็นฆราวาส บรรพชิตสละการอยู่คลุกคลีเป็นกายวิเวก แต่ฆราวาสไม่ได้สะสมมาที่จะละอาคารบ้านเรือน แต่มีจิตวิเวกได้ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นการสละ เป็นการสงบจากความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ข้อความต่อไปมีว่า

คำว่า รู้ทั่วถึง ความว่า รู้ทั่ว คือ ทราบ เทียบเคียง พิจารณา เจริญ ทำให้แจ่มแจ้ง คือ รู้ทั่ว ทราบ ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา

คำว่า เย คือ พระอรหันตขีณาสพ ทั้งหลาย

นี่เป็นเรื่องของพยัญชนะที่ว่า รู้ทั่ว ทำให้แจ่มแจ้งแล้วว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา

ข้อความในมหาสติปัฏฐาน เมื่อพิจารณาเห็นกายในกายแต่ละบรรพแล้ว ก็เห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นและความดับไป

ในอานาปานบรรพ พิจารณาเห็นกายในกาย ต้องมีลักษณะของรูปที่กายที่ปรากฏโดยความเป็นกาย คือ เป็นรูปไม่ใช่ตัวตน และเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นและดับไป

ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานทุกบรรพ ธาตุดินก็ได้ ธาตุไฟก็ได้ ธาตุลมก็ได้ที่กำลังปรากฏ เป็นอารมณ์ให้สติระลึกรู้ชัดสภาพธรรมนั้น เกิดปรากฏแล้วดับไป

ในหมวดของอิริยาบถบรรพก็เช่นเดียวกัน พิจารณาเห็นกายในกาย มีลักษณะของรูปให้รู้ชัดว่าเป็นรูป และเมื่อพิจารณาเห็นกายในกายแล้ว เห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นและดับไป

แม้แต่ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนาก็มีหลายอย่าง สุขเวทนาเกิดขึ้น สติระลึกรู้ได้ เพราะเหตุว่าสติเป็นสภาพที่สามารถแทรกระลึกรู้ได้ในอารมณ์ทั้งปวง เพราะฉะนั้น ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นเวทนาในเวทนา เห็นธรรม คือ การเกิดขึ้นแล้วดับไป

สุขเวทนาก็เป็นธรรม ทุกขเวทนาก็เป็นธรรม อุเบกขาเวทนาก็เป็นธรรม เมื่อผู้นั้นพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา เวทนาไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เห็นความเกิดขึ้นและดับไปของธรรม คือ เวทนา แล้วแต่ว่าจะเป็นสุขเวทนาก็ได้ ทุกขเวทนาก็ได้ อุเบกขาเวทนาก็ได้

ตลอดไปหมดถึงจิตตานุปัสสนา และธัมมานุปัสสนา

ถ้าได้ศึกษาโดยละเอียด และได้พิจารณาจริงๆ ท่านก็ประพฤติถูกต้อง และได้ถึงธรรมจริงๆ

ข้อความต่อไปมีว่า

คำว่า เป็นผู้มีสติ ความว่า เป็นผู้มีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ มีสติเจริญสติปัฏฐาน คือ พิจารณาเห็นกายในกาย พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา พิจารณาเห็นจิตในจิต พิจารณาเห็นธรรมในธรรม

พระอรหันตขีณาสพเหล่านั้นตรัสว่า เป็นผู้มีสติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระอรหันตขีณาสพเหล่าใดรู้ทั่วถึงบทนิพพานนี้ เป็นผู้มีสติ

การที่จะบรรลุธรรมถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ได้ ต้องเป็นผู้ที่มีสติ ไม่ว่าตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายกระทบสัมผัส ใจคิดนึกต่างๆ ก็ต้องมาจากการเจริญสติจากปุถุชน ซึ่งเป็นการระลึกรู้สภาพธรรมที่มีจริงถูกต้องแล้วก็รู้ชัด รู้ทั่ว ละคลายความไม่รู้มากขึ้น

ข้อความต่อไปมีว่า

คำว่า มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับแล้ว

เวลาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ย่อมจะละคลายจนกระทั่งกิเลสดับเป็นสมุจเฉทได้ แต่ไม่ใช่หมายความว่าจะสามารถดับกิเลสกันได้โดยไม่รู้อะไร เพราะเหตุว่าท่านที่พากเพียรจดจ้อง ใช้ความเพียรจ้องที่นามนั้นนามเดียว รูปนั้นรูปเดียว หวังที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป ท่านไม่ทราบว่า นั่นเป็นลักษณะของความต้องการที่รอคอยผล เพราะว่าท่านพากเพียรทุกสิ่งทุกอย่างตามสั่ง ทั้งๆ ที่ไม่รู้อะไรทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ ท่านก็เฝ้าแต่รอว่า เมื่อไรญาณจะเกิด ขณะนี้จะเป็นญาณอะไร อีกสักครู่จะเป็นญาณนั้นญาณนี้ นั่นเป็นเรื่องที่เฝ้าแต่รอผล เพราะคิดว่า ท่านสามารถที่จะให้ผลเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ลักษณะของนามรูปตามปกติในชีวิตประจำวัน ข้อความนี้มีว่า

คำว่า มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับแล้ว ความว่า มีธรรมอันเห็นแล้ว คือ มีธรรมอันรู้แล้ว มีธรรมอันเทียบเคียงแล้ว มีธรรมอันพิจารณาแล้ว มีธรรมอันแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันปรากฏแล้ว มีธรรมอันเห็นแล้ว มีธรรมอันปรากฏแล้วว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา

คำว่า ดับแล้ว ความว่า ชื่อว่า ดับแล้ว เพราะเป็นผู้ยังราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ แล้วก็กิเลสอื่นๆ อกุสลาภิสังขารทั้งปวงให้ดับ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับแล้ว

ท่านได้ทรงแสดงพยัญชนะไว้มากทีเดียว สำหรับให้ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานได้พิจารณา ได้เทียบเคียงว่า ท่านมีธรรมอันเห็นแล้วจริงๆ หรือไม่ เพื่อที่จะได้ถึงการดับแล้วจริงๆ ซึ่งอกุศลและกิเลสทั้งหลาย เพราะความว่ามีธรรมอันเห็นแล้ว คือ มีธรรมอันรู้แล้ว ตารู้แล้วหรือยัง สีรู้แล้วหรือยัง ได้ยินรู้แล้วหรือยัง เสียงรู้แล้วหรือยัง ก็ควรจะต้องพิจารณาด้วย ที่ตรัสว่ามีธรรมอันเห็นแล้ว คือ มีธรรมอันรู้แล้ว มีธรรมอันเทียบเคียงแล้ว มีธรรมอันพิจารณาแล้ว มีธรรมอันแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันปรากฏแล้ว ไม่ปรากฏก็ไม่ได้ สภาพของนามและรูปที่ไม่ใช่ตัวตน ต้องปรากฏโดยความสมบรูณ์แก่ญาณแต่ละขั้น มีธรรมอันเห็นแล้ว มีธรรมอันปรากฏแล้วว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา

คำว่า ดับแล้ว คือ ดับกิเลสแล้ว ความว่า ชื่อว่าดับแล้ว เพราะเป็นผู้ยังราคะ โทสะ โมหะ ความโกรธ ความผูกโกรธ อกุสลาภิสังขารทั้งปวงให้ดับ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับแล้ว

ถ้าไม่เห็นแล้ว ไม่มีทางไหนเลยที่จะดับได้

ในคราวก่อนได้กล่าวถึง สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ทุกขธรรมสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่กล่าวถึงธรรมที่เป็นทุกข์ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุรุษพึงเข้าไปสู่ป่าที่มีหนามมาก ข้างหน้าบุรุษนั้นก็มีหนาม ช้างซ้ายก็มีหนาม ข้างขวาก็มีหนาม ข้างล่างก็มีหนาม ข้างบนก็มีหนาม บุรุษนั้นมีสติ ก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับข้างหลัง ด้วยคิดว่า หนามอย่าเบียดเบียนเรา แม้ฉันใด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม คือ ปิยรูป และสาตรูปในโลก นี้เรากล่าวว่า เป็นหนามในวินัยแห่งพระอริยเจ้า ฉันนั้น เหมือนกัน

ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีหนามอยู่รอบ ทางเดียวก็คือ เป็นผู้มีสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งข้อความในทุกขธรรมสูตรนี้ได้กล่าวถึงเรื่องของการสังวรทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สังวรด้วยสติ ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง และในท้ายของสูตรนี้ก็ได้ทรงแสดงว่า

ภิกษุผู้ประพฤติเช่นนี้ ถึงแม้ว่าพระราชา ญาติ หรือว่ามิตรสหายจะเชื้อเชิญให้ลาสิกขาบท ก็ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้

อุปมาเหมือนกับการทดแม่น้ำคงคา ซึ่งผู้ที่เจริญสติในเพศใด รู้แจ้งอริยสัจธรรมในเพศใดแล้ว ย่อมไม่หวนกลับ เพราะฉะนั้น การเจริญข้อประพฤติปฏิบัติ เจริญได้ทั้งฆราวาสและบรรพชิต ซึ่งการเจริญสติปัฏฐานเป็นการละกิเลสถึงอนุสัยกิเลส

เวลานี้ทุกท่านที่กำลังเป็นกุศลจิต ยังไม่หมดอนุสัยกิเลส ยังมีทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ การเห็นผิด การยึดถือนามรูปที่กำลังปรากฏในขณะที่หลงลืมสติว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ที่กล่าวว่า ยังมีอนุสัยกิเลส ยังมีสักกายทิฏฐิ ยังยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่เป็นพระอริยบุคคล ต้องมีอนุสัยกิเลส แม้ในขณะที่กำลังเป็นกุศลจิต อนุสัยกิเลสก็ยังมีเชื้อที่ว่า เมื่อกุศลจิตนั้นดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลจิตเกิดได้ แต่การเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการละถึงอนุสัยกิเลส เป็นเรื่องที่สติจะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปตามปกติ ระลึกเนืองๆ บ่อยๆ ทีละอย่าง ทีละลักษณะแล้วแต่ว่าสติจะระลึกรู้นามใดรูปใด มากน้อยต่างกัน ก็เป็นสติที่ผู้เจริญสติจะรู้ขึ้นว่า การรู้ลักษณะของนามของรูปเพิ่มขึ้นบ้างแล้วหรือยัง ละเอียดขึ้นแล้วหรือยัง ซึ่งเป็นการละอนุสัย ไม่ใช่เป็นการไม่รู้

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้ที่รู้สภาพธรรม ละความสงสัย ละความเห็นผิด ละการที่เคยยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์บุคคล ไม่ใช่ไม่รู้อะไร แม้แต่ว่ากำลังเห็น เจริญสติกับไม่เจริญสติต่างกันอย่างไรก็ไม่รู้ ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นแล้วก็ไม่ใช่มรรคแน่

ขอกล่าวถึง อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต วิปัลลาสสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ๑ ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๑ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าเป็นตน ๑ ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ๑ สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ๔ ประการนี้แล

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ๑ ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ๑ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าไม่ใช่ตน ๑ ในสิ่งที่ไม่งามว่าไม่งาม ๑ สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ๔ ประการนี้แล

เหล่าสัตว์ผู้ถูกมิจฉาทิฏฐิกำจัด มีจิตฟุ้งซ่าน มีความสำคัญผิด มีความสำคัญในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง สำคัญในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข สำคัญในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าเป็นตน และสำคัญในสิ่งที่ไม่งามว่างาม

สัตว์ คือ ชนเหล่านั้น ชื่อว่าประกอบแล้วในเครื่องประกอบของมาร ไม่เป็นผู้เกษมจากโยคะ มีปกติไปสู่ชาติและมรณะ ย่อมไปสู่สังสาระ ก็ในกาลใดพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้กระทำแสงสว่างบังเกิดขึ้นในโลก พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ย่อมประกาศธรรมนี้เป็นเครื่องให้สัตว์ถึงความสงบทุกข์

ชนเหล่านั้นผู้มีปัญญา ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นแล้ว ได้จิตของตน ได้เห็นสิ่งไม่เที่ยงโดยความเป็นของไม่เที่ยง ได้เห็นทุกข์โดยความเป็นทุกข์ ได้เห็นในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าไม่ใช่ตน ได้เห็นสิ่งที่ไม่งามโดยความเป็นของไม่งาม สมาทานสัมมาทิฏฐิ จึงล่วงทุกข์ทั้งปวงได้


หมายเลข  5732
ปรับปรุง  24 พ.ย. 2565