แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 128
ข้อความสุดท้ายมีว่า
พร้อมด้วยเวลาจบพระคาถา ธัมมจักษุ คือ โสตาปัตติมรรคจิต ปราศจากธุลีปราศจากมลทินเกิดขึ้นแล้วแก่เทวดาและมนุษย์หลายพัน ผู้มีฉันทะร่วมกัน มีประโยชน์ร่วมกัน มีความประสงค์ร่วมกัน มีความอบรมวาสนาร่วมกันกับ อชิตพราหมณ์นั้นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา และจิตของอชิตพราหมณ์นั้นพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น คือ บรรลุความเป็นพระอรหันต์
เป็นไปได้ไหมที่จะเป็นพระโสดาบันบุคคลในขณะนั้น และเป็นพระอรหันต์ในขณะนั้น ปกติธรรมดาอย่างนี้ เหมือนกับที่กำลังนั่งฟังอย่างนี้ และข้อความอย่างที่ได้ทรงแสดงไว้ พยัญชนะเดียวกัน เรื่องเดียวกัน แต่มีเทวดาและมนุษย์หลายพันที่บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล เป็นพระโสดาบัน ส่วนอชิตพราหมณ์นั้นก็สิ้นอาสวะกิเลส เป็นพระอรหันต์
ทำไมเป็นได้ ก็เพราะสภาพธรรมเป็นปกติทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สำคัญที่สติระลึกรู้ได้ไหม ปัญญารู้ชัดไหม ละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตน หมดความสงสัยได้จริงๆ ไหม
ถ้าผู้ใดระลึกรู้ แล้วสามารถที่จะละคลายกิเลสได้ ก็เป็นพระอริยบุคคลได้แม้ในขณะนั้น และบุคคลในครั้งพุทธกาล ตาก็มี หูก็มี จมูกก็มี ลิ้นก็มี กายก็มี ใจก็มี โลภะก็มี โทสะก็มี โมหะก็มี แต่เป็นผู้ที่เข้าใจถูกต้องในธรรมวินัย และเป็นผู้ที่ได้เจริญกุศลอดีตบารมี มีการที่จะละคลายไม่ยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพียงได้ฟัง สติก็ระลึกรู้สภาพธรรมนั้นถูกต้องตามความเป็นจริง ก็สามารถที่จะเป็นพระอริยบุคคลได้
เพราะฉะนั้น สมัยนี้ไม่ควรจะท้อถอย ตามีเหมือนกัน หูมีเหมือนกัน จมูกมีเหมือนกัน ลิ้นมีเหมือนกัน กายมีเหมือนกัน ใจมีเหมือนกัน โลภะมีเหมือนกัน โทสะมีเหมือนกัน โมหะมีเหมือนกัน บรรลุได้ไหมถ้าเข้าใจถูก และสติก็ระลึกรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง บางทีท่านอาจจะคิดว่า ท่านจะต่างอะไรไหมกับบุคคลในครั้งพุทธกาล และอาจจะคิดเปรียบเทียบว่า ท่านไม่เหมือนกับบุคคลโน้น ไม่เหมือนกับบุคคลนี้
ขอกล่าวถึงพระสูตรที่จะทำให้ท่านไม่ท้อถอยที่จะเจริญสติ เมื่อท่านเจริญเหตุสมควรแก่ผลเมื่อไร ผลย่อมเกิดขึ้น ซึ่งไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดจะยับยั้งได้
ขุททกนิกาย อุทาน สุปปพุทธกุฏฐิสูตร มีข้อความว่า
ข้าพเจ้า ฯ ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ว่า
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ในพระนครราชคฤห์ มีบุรุษเป็นโรคเรื้อนชื่อว่า สุปปพุทธะ เป็นมนุษย์ขัดสน กำพร้า ยากไร้
ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคแวดล้อมไปด้วยบริษัทหมู่ใหญ่ ประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ สุปปพุทธกุฏฐิได้เห็นหมู่มหาชนประชุมกันแต่ที่ไกลเทียว ครั้นแล้วได้มีความดำริว่า หมู่มหาชนจะแบ่งของควรเคี้ยวหรือของควรบริโภคอะไรๆ ให้ในที่นี้แน่แท้
เห็นคนมากๆ และสุปปพุทธะนี้ก็เป็นคนโรคเรื้อนด้วย เวลาที่ไปนี้คิดอะไร ต้องการอะไร เป็นโลภมูลจิตใช่ไหม อยากจะได้ของที่ควรเคี้ยว ของที่เขาจะแบ่งให้สุปปพุทธะคิดในใจว่า ไฉนหนอเราพึงเข้าไปหาหมู่ชน เราพึงได้ของควรเคี้ยว หรือของควรบริโภคในหมู่มหาชนนี้เป็นแน่
ลำดับนั้นแล สุปปพุทธกุฏฐิ ได้เข้าไปหาหมู่มหาชนนั้นแล้ว ได้เห็นพระผู้มีพระภาคแวดล้อมด้วยบริษัทหมู่ใหญ่ ประทับนั่งแสดงธรรมอยู่ ครั้นแล้วได้มีความดำริว่า หมู่มหาชนคงไม่แบ่งของควรเคี้ยวหรือของควรบริโภคอะไรๆ ให้ในที่นี้ พระสมณโคดมนี้ทรงแสดงธรรมอยู่ในบริษัท ถ้ากระไรแม้เราก็พึงฟังธรรม เขานั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งในบริษัทนั้นเอง ด้วยคิดว่า แม้เราก็จักฟังธรรม
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดใจของบริษัททุกหมู่เหล่าด้วยพระทัยแล้ว ได้ทรงกระทำไว้ในพระทัยว่า ในบริษัทนี้ ใครหนอแลควรจะรู้แจ้งธรรม พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นสุปปพุทธกุฏฐินั่งอยู่ในบริษัทนั้น ครั้นแล้ว ได้ทรงพระดำริว่า ในบริษัทนี้ บุรุษนี้แลควรจะรู้แจ้งธรรม พระองค์ทรงปรารภสุปปพุทธกุฏฐิ ตรัสอนุปุพพิกถา คือ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษแห่งกามอันต่ำทรามเศร้าหมอง แล้วทรงประกาศอานิสงส์ในเนกขัมมะ เมื่อใดพระผู้มีพระภาคได้ทรงทราบว่า สุปปพุทธกุฏฐิมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ เฟื่องฟู ผ่องใส เมื่อนั้นพระองค์ทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ธรรมจักษุปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่สุปปพุทธกุฏฐิในที่นั่งนั้นแลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับเป็นธรรมดา เหมือนผ้าที่สะอาดปราศจากมลทิน ควรรับน้ำย้อมฉะนั้น
ลำดับนั้นแล สุปปพุทธกุฏฐิมีธรรมอันเห็นแล้ว มีธรรมอันบรรลุแล้ว มีธรรมอันรู้แจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งถึงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความเคลือบแคลง บรรลุถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เชื่อต่อผู้อื่นในศาสนาของพระศาสดา ลุกจากอาสนะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืด ด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจะเห็นรูปได้ ฉะนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ลำดับนั้นแล สุปปพุทธกุฏฐิอันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้ สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธัมมีกถา ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำปทักษิณ แล้วหลีกไป
ครั้งนั้นแล แม่โคลูกอ่อนชนสุปปพุทธกุฏฐิผู้หลีกไปไม่นานให้ล้มลง ปลงเสียจากชีวิต
ลำดับนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สุปปพุทธกุฏฐิอันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธัมมีกถาแล้ว กระทำกาละ คติของเขาเป็นอย่างไร ภพหน้าของเขาเป็นอย่างไร พระเจ้าข้า
ฟังด้วยกันทุกคน มีใครรู้บ้างว่าสุปปพุทธกุฏฐิเป็นพระโสดาบันบุคคล ต้องทูลถาม คนอื่นรู้ได้ไหมว่า ใครกำลังเจริญสติ หรือว่าญาณขั้นไหนเกิดกับคนนั้นคนนี้ หรือว่าขณะที่ได้ฟังแล้วใครบรรลุอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล คนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย
พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สุปปพุทธกุฏฐิเป็นบัณฑิต ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ในขณะนั้นสติจะต้องระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วย ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ พอฟังก็เป็นพระอริยบุคคลได้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สุปปพุทธกุฏฐิเป็นบัณฑิต ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และไม่เบียดเบียนเราให้ลำบากเพราะธรรมเป็นเหตุ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สุปปพุทธกุฏฐิเป็นพระโสดาบัน เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้ง ๓ มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้สุปปพุทธกุฏฐิเป็นมนุษย์ขัดสน กำพร้า ยากไร้
พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีแล้ว สุปปพุทธกุฏฐิเป็นเศรษฐีบุตร อยู่ในกรุงราชคฤห์นี่แล เขาออกไปยังในภูมิเป็นที่เล่นในสวน ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าตครสิขี กำลังเที่ยวบิณฑบาตไปในพระนคร ครั้นแล้วเขาดำริว่า ใครนี่เป็นโรคเรื้อนเที่ยวไปอยู่ เขาถ่มน้ำลาย แล้วหลีกไปข้างเบื้องซ้าย
เขาหมกไหม้อยู่ในนรก สิ้นปีเป็นอันมาก สิ้น ๑๐๐ ปี สิ้น ๑,๐๐๐ ปี สิ้น ๑๐๐,๐๐๐ ปี เป็นอันมาก เพราะผลแห่งกรรมนั้นยังเหลืออยู่ เขาจึงได้เป็นมนุษย์ขัดสน กำพร้า ยากไร้ อยู่ในกรุงราชคฤห์นี้แล เขาอาศัยธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว สมาทาน ศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา ครั้นอาศัยธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว สมาทาน ศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา เมื่อตายไป เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เป็นผู้เข้าถึงความเป็นสหายของเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ เขาย่อมไพโรจน์ล่วงเทวดาเหล่าอื่นในชั้นดาวดึงส์นั้น ด้วยวรรณะ และด้วยยศ
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า
บุรุษผู้เป็นบัณฑิต พึงละเว้นบาปทั้งหลายในสัตว์โลก เหมือนบุรุษผู้มีจักษุ เมื่อทางอื่นที่จะก้าวไปมีอยู่ ย่อมหลีกที่อันไม่ราบเรียบเสีย ฉะนั้น
แม้ในขณะที่ฟังธรรม สติระลึกได้ไหม แต่ผู้ใดจะบรรลุหรือไม่ คนอื่นรู้หรือตัวเองรู้ สุปปพุทธกุฏฐิรู้ไหมว่า ได้ประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องรู้แน่นอน และที่จะประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น ก็หมายความว่าสติจะต้องเกิดขึ้น แม้ในขณะที่ฟังธรรม และก็มีความอาจหาญ ร่าเริง ด้วยธัมมีกถา
ทุกคนก็จะต้องตาย แม้ว่าจะไม่ถูกโคแม่ลูกอ่อนชน หรือจะถูกโคแม่ลูกอ่อนชน แต่ถ้าได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือได้เข้าใจการเจริญสติปัฏฐานถูกต้อง ก็มีโอกาสที่จะเจริญสติต่อไป และมีโอกาสที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมในวันหนึ่งเหมือนอย่างสุปปพุทธกุฏฐิ ซึ่งรู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาติที่เป็นคนโรคเรื้อน ขัดสน กำพร้า ไร้ทรัพย์
ถ. ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ย่อมหลีกไม่พ้นความตั้งใจก่อนที่จะทำอะไร อาจารย์คิดว่าผู้ที่เริ่มต้นเจริญสติปัฏฐานจะหนีพ้นความตั้งใจ จงใจที่จะเจริญ สติปัฏฐานได้หรือไม่
สุ. ผู้ที่เริ่มเจริญสติปัฏฐาน หมายความว่า ผู้ที่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐานถูกต้องว่า สติเป็นอนัตตา เป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ความตั้งใจในวันหนึ่งๆ นี้มีมากหลายเรื่อง แต่ขณะใดที่สติไม่ระลึกรู้ว่า แม้ลักษณะที่ตั้งใจนั้น ก็เป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ถ้าไม่ระลึกรู้อย่างนี้ก็เป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
แต่สติเป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมของรูปธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง เมื่อความตั้งใจเป็นสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้น สติก็ระลึกรู้ได้แม้ในขณะนั้นว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญสติเป็นผู้ที่เข้าใจลักษณะของสติว่า เป็นสภาพที่ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งมีอยู่เพียง ๒ อย่างที่ต่างกันโดยประเภท คือ ที่เป็นสภาพรู้กับสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้
ถ้าเป็นสภาพรู้ก็เป็นความคิดนึก เป็นความต้องการ เป็นความตั้งใจ เป็นความสุข เป็นความทุกข์ เป็นความจำ เหล่านี้เป็นต้น นั่นเป็นลักษณะของนามธรรมที่มีลักษณะแต่ละอย่างๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างกัน
ในวันหนึ่งๆ มีนามธรรมมากมาย มีรูปธรรมมากมาย สติจะต้องระลึกรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน และก็รู้ถูกต้องตรงลักษณะของสภาพของนามธรรมรูปธรรมนั้นด้วย
ถ. การที่เราเจริญสติปัฏฐานเพื่อเป็นแนวทางแห่งความหลุดพ้น จะจัดเป็นโลภมูลจิตได้หรือไม่ เพราะเป็นความต้องการที่จะหลุดพ้นจากกองทุกข์ และดูจะหวังความสุขสมบูรณ์กว่าคนส่วนใหญ่
สุ. ต้องแยกขณะจิต ขณะที่ต้องการจะหลุดพ้น แต่สติไม่ได้ระลึกรู้ ลักษณะของนามและรูป คนละขณะกัน เพียงแต่ต้องการที่จะหลุดพ้น ในขณะนั้นไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูป เพื่อละความไม่รู้ ละการที่เคยยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น สติเป็นโสภณเจตสิก เกิดขึ้นขณะใดจิตในขณะนั้นเป็นโสภณจิต เป็นกุศลจิต ไม่ใช่โลภมูลจิต
ในขณะที่มีความต้องการ แต่ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป เป็นคนละขณะแล้ว เพราะฉะนั้น สติระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปที่กำลังปรากฏทันที ถ้ามีความต้องการ หรือความคิดเกิดขึ้น สติก็ระลึกรู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง แล้วก็ดับไป แต่ให้ทราบว่า ขณะที่สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูป ในขณะนั้นไม่ใช่โลภมูลจิต
ถ. คนเราจะตั้งสติ เจริญวิปัสสนา ชั้นแรกควรตั้งใจอย่างไรจึงจะถูก
สุ. มักจะติดว่าทำวิปัสสนา อยากจะทำมากกว่าที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตามปกติ เป็นปกติ ถ้ามีความต้องการที่พาท่านเอื้อมไป ไม่ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นปกติ จะไม่มีการรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้เลย เพราะว่าเอื้อมไปทุกขณะ ไม่ระลึกในสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏในขณะนี้ ก็ไม่มีโอกาสที่จะละคลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้
ถ. ไม่มีโอกาสอย่างไร
สุ. ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ กำลังอยู่ที่นี่เป็นปัจจุบัน ก็มีโอกาส คิดถึงทำไมกับสิ่งที่ยังไม่เกิด หรือสิ่งที่ผ่านไปแล้ว แต่ระลึกทันที การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่เตือนให้ระลึกทันที โดยที่ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลกับวิปัสสนาหรือญาณเลย เพราะเหตุว่าถ้าเจริญสติแล้ว ปัญญารู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้นแล้ว มีเหตุแล้ว ผลต้องเกิด
ถ. การเกิดดับของนามรูป คือ รูปนามเกิดดับ นามดับก่อน หรือรูปดับก่อน อย่างไหนดับช้า อย่างไหนดับเร็ว
สุ. นามรูปเกิดดับทุกขณะ นามใดเกิดก่อน นามนั้นก็ดับก่อน รูปใดเกิดก่อน รูปนั้นก็ดับก่อน แต่ธรรมดาแล้ว รูปมีอายุมากกว่าจิต คือ รูปหนึ่งที่เกิดขึ้นจะเท่ากับอายุของจิต ๑๗ ขณะ รูปนั้นถึงจะดับไป ทำไมถึงได้สงสัยว่าอะไรเกิดก่อน อะไรดับก่อน
ถ. เพราะเกิดดับเร็ว ระลึกไม่ทัน
สุ. ไม่ใช่เรื่องทัน หรือไม่ทัน แต่เป็นเรื่องที่สติระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อสักครู่นี้ก็ดับไปแล้ว ขั้นต้นนั้นเพียงระลึกรู้ลักษณะที่เป็นนาม เพื่อที่จะได้ไม่ปนกับลักษณะที่เป็นรูปก่อน เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏมีทั้งนามมีทั้งรูป ถ้าไม่รู้ชัดในลักษณะที่ต่างกัน ก็จะยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้
ถ. สิ่งทั้งปวงก็ไม่พ้นรูปนาม รูปนามนี้เป็นของเหลวไหล เหมือนคนเราหลอกล้อเล่นกันเท่านั้น ที่เห็นว่าเป็นแก่นสารนั้นมีอะไรบ้าง โดยมากรูปนามก็เกิดดับเรื่อยๆ หลอกล่อเราอยู่เรื่อยๆ เหมือนเราดูภาพยนตร์ สิ่งที่เป็นแก่นสารนั้นมีอะไรบ้างก็ไม่รู้
สุ. ทุกคนมีอัตภาพ ขณะนี้คือ นามรูป ซึ่งใช้ต่างกันแล้วแต่บุคคล คนพาลก็ใช้ไปในทางทุจริต ถ้าไม่ใช้อย่างนั้น ก็ใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น เป็นขั้นๆ ตั้งแต่ขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นสมาธิ ขั้นวิปัสสนา
เหมือนอย่างสุปปพุทธกุฏฐิ ถ้าไม่เคยเจริญสติเลยในอดีต เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ระลึกรู้ลักษณะของรูปในขณะนั้น จะละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ไหม เหมือนกับคนที่ยังไม่เคยเจริญสติมาก่อน แล้วสติจะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนาม ระลึกลักษณะของรูป ทำไมไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป ก็เพราะเหตุว่าเยื่อใยยังยึดถืออยู่ แต่ถ้าท่านเคยเจริญสติ ปัญญาก็รู้ชัดที่จะละเยื่อใยของการยึดถือ ก็ย่อมทำให้บรรลุอริยสัจธรรมได้