แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 136


อกุศลธรรมประเภทต่อไป คือ นิวรณ์ ๖ ซึ่งท่านผู้ฟังคงจะคุ้นหูกับนิวรณ์ ๕ ซึ่งมี กามฉันทนิวรณ์ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ได้แก่ โลภมูลจิต สราคจิต

พยาปาทนิวรณ์ ความขุ่นเคือง ขัดแค้น ได้แก่ โทสเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง

ถีนมิทธนิวรณ์ ทำให้จิตท้อถอย หดหู่

อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ อุทธัจจะ ได้แก่ ความไม่สงบของจิต กุกกุจจะ ได้แก่ สภาพความเดือดร้อนใจ

วิจิกิจฉานิวรณ์ ได้แก่ ความสงสัยในพระรัตนตรัย ในปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น เพราะเหตุว่าไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงก็สงสัยว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกท่านจะรู้อย่างนี้ได้หรือ บางคนกล่าวว่า รู้ไม่ได้หรอก ปกติธรรมดาอย่างนี้รู้ได้อย่างไร เห็นที่จะเกิดดับ ได้ยินที่จะเกิดดับ สีที่จะเกิดดับ เสียงที่จะเกิดดับ ตามปกติธรรมดาๆ ชีวิตปกติธรรมดารู้ไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าหมดความสงสัยในพระรัตนตรัยได้ไหม

ไม่ย้อนกลับไปคิดว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ได้ไหม ทรงสั่งสอนหนทางที่จะให้สาวกรู้ตามด้วยได้ไหม แล้วสาวกที่ท่านเป็นอริยสาวกแล้ว ท่านรู้อย่างนี้ได้ไหม กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังคิดนึก กำลังเป็นสุข กำลังเป็นทุกข์ตามปกติธรรมดา ผู้ที่เป็นอริยสาวกรู้ได้ไหม ถ้าใครคิดว่ารู้ไม่ได้ ไม่หมดวิจิกิจฉานิวรณ์ ไม่หมดความสงสัยในพระรัตนตรัย

สิ่งที่มีจริง ของจริง ไม่ใช่ของเท็จ ตาก็จริง เห็นก็จริง สีก็จริง ได้ยินก็จริง เสียงก็จริง ทำไมจะประจักษ์ไม่ได้ในเมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง ก็ย่อมสามารถประจักษ์ได้

สำหรับนิวรณ์ที่ ๖ คือ อวิชชานิวรณ์ ได้แก่ โมหเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง

แสดงให้เห็นว่า มีเครื่องขัดขวางที่จะไม่ให้เป็นไปในกุศลธรรมหลายชนิด หลายประเภท เป็นต้นว่าความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือความโทมนัส ขุ่นเคือง ความหดหู่ ความไม่สงบของจิต ความเดือดร้อนใจ หรือว่าความสงสัยไม่แน่ใจ

สำหรับอกุศลธรรมหมวดต่อไป ซึ่งเป็นหมวดที่ ๗ ได้แก่ อนุสัย ๗

อนุสัย ได้แก่ สภาพธรรมที่นอนเนื่องอยู่ในจิต เวลาที่ไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง

อกุศลจิตที่เกิดขึ้นขณะใดครั้งใดก็เพิ่มสภาพของอกุศลธรรมให้นอนเนื่องหนาแน่นยิ่งขึ้นในจิต โดยสภาพธรรมแล้วอกุศลธรรมที่เป็นอนุสัยมี ๗ อย่าง คือ

กามราคานุสัย ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งผู้ที่จะละได้ คือ พระอนาคามีบุคคล

ปฏิฆานุสัย เชื้อของความไม่พอใจ ความขุ่นเคืองใจ ทุกครั้งที่โทสมูลจิตเกิดขึ้น สติไม่ระลึกรู้ว่าเป็นนามธรรม ก็เพิ่มเติมเชื้อที่จะทำให้เกิดโทสมูลจิตในคราวต่อๆ ไป เป็นปฏิฆานุสัย ผู้ที่ละได้ คือ พระอนาคามีบุคคล

มานานุสัย ได้แก่ ความสำคัญตน ความถือตน ทะนงตน ผู้ที่ละได้ คือพระอรหันต์

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้จะเป็นพระโสดาบันบุคคล ไม่มีความเห็นผิด แต่ยังไม่หมดกิเลสอื่น เช่น มานะ เป็นต้น

อนุสัยต่อไป คือ ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย ซึ่งก็ได้กล่าวถึงแล้ว

ถ. มีผู้กล่าวว่า มีมานะดี

สุ. มานะเป็นสภาพธรรมที่ถือตน ทะนงตัว มีใครชอบให้ใครทะนงตัวหรือถือตัวบ้างไหม และการที่จะทะนงตัวถือตัว ถ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์แล้ว ก็ย่อมมี แต่ว่าความหยาบ ความเบาบางต่างกันไป ผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล อกุศลนี้ก็มากมาย แล้วแต่ว่าใครจะสะสมหนักมาในทางใด หรือว่าใครจะขัดเกลาให้เบาบางลงไปได้แล้วในแต่ละทาง แต่ถ้ายังไม่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคล กิเลสก็ยังไม่หมดเป็นสมุจเฉท ยังคงมีมากน้อยต่างกัน

อรรถกถาขุททกนิกาย มหานิทเทส อัตตทัณฑสุตตนิทเทส ที่ ๑๕ มีข้อความเกี่ยวกับมานะที่ว่า คำว่า พึงกำหนดรู้มานะ

ให้เว้นมานะหรือเปล่า ท่านที่ศึกษาปรมัตถธรรมแล้วจะทราบว่า มานะเกิดกับโลภมูลจิต สราคจิต สราคจิตมีมาก และเป็นสิ่งซึ่งจะต้องระลึกรู้ ยิ่งระลึกรู้ละเอียดเท่าไร ก็ยิ่งละความไม่รู้ ละการที่จะหลงผิด เข้าใจผิด ยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์บุคคล ถึงแม้ว่าจะเป็นสภาพอกุศลธรรม แต่ถ้าได้ยินได้ฟังและทราบว่าเป็นสิ่งที่จะต้องระลึกรู้ ในขณะที่มานะเกิด สติก็สามารถที่จะระลึกรู้ได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ระลึกรู้โดยสภาพของสราคจิตซึ่งเป็นจิตตานุปัสสนา ก็ระลึกรู้โดยลักษณะของธัมมานุปัสสนาได้ ซึ่งจะไม่พ้นไปเลย เรื่องของสติปัฏฐานแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ควรจะต้องระลึกรู้ทั้งนั้น

ข้อความใน อัตตทัณฑสุตตนิทเทส ข้อที่ ๑๕ มีว่า

คำว่า พึงกำหนดรู้มานะ ความว่า พึงกำหนดรู้มานะด้วยปริญญา ๓ คือ ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา

ญาตปริญญา เป็นไฉน นรชนย่อมรู้จักมานะ คือ ย่อมรู้ ย่อมเห็นว่า นี้เป็นมานะอย่างหนึ่ง ได้แก่ ความฟูขึ้นแห่งจิต นี้เป็นมานะ

มานะ ๒ อย่าง ได้แก่ มานะในการยกตน มานะในการข่มผู้อื่น

เป็นจิตใจของท่านเอง เป็นอกุศลธรรมที่ควรจะขัดให้เบาบาง หรือว่าให้ลดน้อยลง เพื่อการใกล้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ถ้าไม่เจริญสติ มานะก็ฟูขึ้นบ่อยๆ ไม่ได้ระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง

มานะ ๓ อย่าง ได้แก่ มานะว่าเราดีกว่าเขา ๑ เราเสมอเขา ๑ เราเลวกว่าเขา ๑ เป็นมานะเพราะว่ามีการเทียบเคียง

มานะ ๔ อย่าง ได้แก่ บุคคลให้มานะเกิดขึ้นเพราะลาภ ๑ เพราะยศ ๑ เพราะสรรเสริญ ๑ เพราะสุข ๑

เวลาที่ได้ลาภ เป็นลาภที่ประณีตกว่าของคนอื่น เกิดมานะไหม เราได้ดีกว่าคนอื่น

มานะเกิดขึ้นเพราะยศ ผู้ที่มีตำแหน่งการงานเจริญก้าวหน้าก็อาจจะเป็นเหตุให้มานะเกิดขึ้นเพราะยศ

มานะเกิดขึ้นเพราะสรรเสริญ เวลาได้สรรเสริญ ถ้าผู้ใดรับไม่เป็น หลงติด ยึดถือ เป็นแต่เพียงคำที่คนอื่นกล่าว แต่ว่าใจนี้ไปติดเสียหนาแน่น เหนียวแน่นเป็นจริงเป็นจัง แล้วก็มีการฟูขึ้นในคำสรรเสริญนั้น ก็เป็นหนทางที่จะเพิ่มพูนอกุศลธรรม

บางท่านให้มานะเกิดขึ้นเพราะสุข เป็นไปได้ไหม เวลาที่มีความสุขแล้วจะเกิดมานะ เราเป็นสุข คนนั้นทุกข์กว่าเรา

ขุททกนิกาย มหานิทเทส แสดงมานะ ๕ อย่าง คือ

บุคคลให้มานะเกิดขึ้น เพราะได้รูปที่ชอบใจ ได้เสียงที่ชอบใจ ได้กลิ่นที่ชอบใจ ได้รสที่ชอบใจ ได้โผฏฐัพพะที่ชอบใจ

ที่ได้มาเพราะกุศลวิบาก แต่ก็เป็นปัจจัยให้มานะเกิดได้ด้วยความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เมื่อได้มาก็ดีแล้ว เป็นผลของอดีตบุญกุศลที่ได้ทำไว้ แต่แม้กระนั้นพอได้มา ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความไม่รู้เรื่องของอกุศลธรรม ก็ทำให้อกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นมานะ

ในสูตรนี้ยังแสดงเรื่องของมานะ ๖ อย่าง คือ

บุคคลให้มานะเกิดขึ้น เพราะความถึงพร้อมแห่งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

มานะเกิดได้อีกแล้วเมื่อมีตาดี หูดี จมูกดี ลิ้นดี กายดี ใจดีกว่าคนอื่นอีกแล้ว ลำบากไหมเรื่องของอกุศลธรรม ระแวดระวังเกือบจะไม่ได้เลย ถ้าขาดสติที่เป็นเครื่องกั้นแล้ว ก็ไหลไปตามอกุศลธรรมมากมายเหลือเกิน

มานะ ๗ คือ ความถือตัว ๑ ความดูหมิ่น ๑ ความถือตัวและความดูหมิ่น ๑ ความถือตัวต่ำ ๑ ความถือตัวสูง ๑ ความถือตัวว่าเรามั่งมี ๑ ความถือตัวผิด ๑

ถ้าสังเกตดีๆ อาจจะทราบว่า ขณะไหนเป็นอย่างไร หรือว่าใครกำลังเป็นอย่างไรก็ได้

นอกจากนั้นยังมี มานะ ๘

ซึ่งบุคคลให้มานะเกิดขึ้นเพราะลาภ ๑ ให้ความถือตัวต่ำเกิดเพราะเสื่อมลาก ๑ ให้ความถือตัวเกิดเพราะยศ ๑ ให้ความถือตัวต่ำเกิดขึ้นเพราะเสื่อมยศ ๑ ให้ความถือตัวเกิดเพราะสรรเสริญ ๑ ให้ความถือตัวต่ำเกิดขึ้นเพราะนินทา ๑ ให้ความถือตัวเกิดขึ้นเพราะสุข ๑ ให้ความถือตัวต่ำเกิดขึ้นเพราะทุกข์ ๑

เป็นเรื่องของโลกธรรมซึ่งหมุนเวียนไป แล้วแต่ว่าผู้ใดกำลังประสบอะไร แต่แม้กระนั้นก็ยังเป็นเหตุให้มานะเกิดได้ นอกจากนั้นยังมีมานะ ๙ จำแนกไปตามฐานะที่ว่า ดีกว่าคนอื่น ๑ เสมอกับคนอื่น ๑ เลวกว่าคนอื่น ๑ และยังมีมานะ ๑๐ เพราะชาติ เพราะตระกูล และเพราะวัตถุอื่น

ข้อความในสูตรนี้มีว่า

รู้ลักษณะมานะ ชื่อว่า ญาตปริญญา

พิจารณามานะโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นตีรณปริญญา

พิจารณาแล้วละ บรรเทา ทำให้สิ้นไป เป็นปหานปริญญา

เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ จะต้องพิจารณาสราคจิต เพราะเหตุว่าเวลาที่มานะเกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับจิตประเภทอื่น แต่เกิดกับโลภมูลจิต เป็นสราคจิตนั่นเอง

โลภมูลจิตมี ๘ ดวง มานะเกิดกับโลภทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่เกิดพร้อมกับ ความเห็นผิด

ถ. (ไม่ได้ยิน)

สุ. ยังไม่ทันโทมนัส กำลังเราต่ำกว่า ขณะจิตเร็วมาก ขณะที่เราต่ำกว่า เราต่ำกว่า เรานี้คือมานะแล้ว มีเรา มีเขา ในขณะที่เราต่ำกว่า ความคิดอย่างนั้นในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตที่มีมานะเกิดร่วมด้วย

วิถีจิตเร็วมากทีเดียว ทำให้เข้าใจธรรมสับสน คือ ธรรมชนิดนี้บางท่านเข้าใจว่าจะต้องเกิดกับโทสมูลจิต ธรรมชนิดนั้นบางท่านเข้าใจว่าต้องเกิดกับโลภมูลจิต แต่ความจริงแล้วเป็นเพราะวิถีจิตเกิดติดต่อกันอย่างรวดเร็วมาก

อกุศลยังไม่หมด ยังมีที่เป็นสังโยชน์ ซึ่งขอกล่าวถึงเพียงย่อๆ

สังโยชน์ ได้แก่ สภาพธรรมที่ร้อย เย็บภพนี้กับภพต่อไป ถ้าสังโยชน์ยังไม่หมด ก็ทำให้มีภพต่อไป

ธัมมสังคณีปกรณ์ ได้แสดงสังโยชน์ ๑๐ ประการ ได้แก่

กามราคสังโยชน์ ๑ ปฏิฆสังโยชน์ ๑ มานสังโยชน์ ๑ ทิฏฐิสังโยชน์ ๑วิจิกิจฉาสังโยชน์ ๑ สีลัพพตปรามาสสังโยชน์ ๑ ภวราคสังโยชน์ ๑ อิสสาสังโยชน์ ๑ มัจฉริยสังโยชน์ ๑ อวิชชาสังโยชน์ ๑

อิสสา ความริษยาในสมบัติของผู้อื่น ใครรู้ว่า ใครมี ใครไม่มี หรือใครมีมาก ใครมีน้อย สติระลึกรู้เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เพื่อจะได้ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน แม้ว่าอิสสายังไม่หมด เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว ไม่ว่าบุคคลอื่นจะได้ลาภ จะได้สักการะ จะได้สรรเสริญอย่างไร ท่านก็รู้ว่าเป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม ไม่จำเป็นที่จะต้องไปอิสสาหรือริษยาบุคคลใดเลย

สำหรับมัจฉริยะ ได้แก่ ความตระหนี่อาวาสที่อยู่ ตระหนี่ตระกูล ตระหนี่ลาภ ตระหนี่วรรณะ คือ การสรรเสริญ ตระหนี่ธรรม

ในเรื่องของสังโยชน์ได้แสดงไว้ต่างกันอีกนัยหนึ่ง คือ จัดเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ คือ สังโยชน์ที่ผูกไว้ในภพเบื้องต่ำ ๕ และอุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ได้แก่สังโยชน์ที่ผูกไว้ในภพเบื้องสูง ๕

สำหรับโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ มี สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑ กามฉันทะ ๑ พยาปาทะ ๑

สำหรับอุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ มี รูปราคะ ๑ อรูปราคะ ๑ มานะ ๑ อุทธัจจะ ๑ อวิชชา ๑

ผู้ที่จะละอุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ คือ สังโยชน์ที่ผูกไว้ ร้อยไว้กับภพเบื้องสูง คือ พระอรหันต์ แต่ผู้ที่เป็นพระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบันนั้น ละได้เพียงโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะ พยาปาทะ ซึ่งแล้วแต่คุณธรรมของแต่ละท่านด้วย

หมวดสุดท้าย คือ กิเลส ๑๐

กิเลส ได้แก่ สภาพธรรมที่เศร้าหมอง

กิเลส ๑๐ ได้แก่ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ มานะ ๑ ทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ ถีนะ ๑ อุทธัจจะ ๑ อหิริกะ ๑ อโนตตัปปะ ๑

ถ. คำว่า สีลัพพตปรามาส คือ เป็นข้อปฏิบัติที่ผิดจากองค์มรรค จึงเป็นสีลัพพตปรามาส ขอให้ยกตัวอย่างว่าเป็นเช่นไร

สุ. ถ้าท่านดูในพระไตรปิฎก จะพบตัวอย่างของสีลัพพตปรามาส เช่นการประพฤติอย่างโค อย่างสุนัข ซึ่งเข้าใจว่าหนทางนั้นจะเป็นการขัดเกลา จะทำให้จิตบริสุทธิ์ได้ แต่ขอให้ทราบว่าผู้ที่จะละสีลัพพตปรามาสกายคันถะได้ คือ พระโสดาบันบุคคล

เพราะฉะนั้น สีลัพพตปรามาสกายคันถะ มีตั้งแต่อย่างหยาบ เช่น การคิดว่าข้อปฏิบัติเช่นโคจะเป็นหนทางทำให้บริสุทธิ์หมดกิเลส นั่นเป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะอย่างหยาบที่เห็นได้ชัด แต่ถ้ายังมีข้อปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนจากมรรคมีองค์ ๘ เข้าใจว่าเป็นข้อปฏิบัติถูก นั่นเป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะ เช่น คิดว่าปัญญาไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นปกติประจำวัน นี่เป็นสีลัพพตปรามาสกายคันถะ เพราะเป็นเหตุให้ลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติอื่น ที่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะเข้าใจว่ารู้ไม่ได้

ถ. การยึดมั่นในการพิจารณาวิการรูป ๓ หรือวิการรูป ๕ ว่าจะเป็นทางให้เห็นไตรลักษณ์ได้นั้น เป็นสีลัพพตุปาทาน หรือว่าเป็นสีลัพพตปรามาสได้หรือไม่

สุ. วิการรูปทั้ง ๓ คือ สภาพที่เบา ที่อ่อน ที่ควรแก่การงานนี้ มีมหาภูตรูปเป็นปทัฏฐาน มีท่านผู้ใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของวิการรูปได้บ้าง

ถ. เขาให้พิจารณานั่ง นอน ยืน เดิน

สุ. ท่านผู้ฟังกล่าวว่า มีท่านที่ให้รู้รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน แล้วก็กล่าวว่า รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดินนั้นเป็นวิการรูป เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังข้องใจ จึงได้ถามอย่างนี้

จะต้องตรวจสอบทานกับความเป็นจริงว่า รูปนั่งซึ่งเป็นท่านั่ง มีหรือไม่มี เป็นปรมัตถ์ หรือไม่ใช่ปรมัตถ์ ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ ทรงอยู่ตั้งอยู่ในลักษณะอาการหนึ่งอาการใด เพราะเหตุว่ามีการประชุมรวมกันของรูปหลายๆ รูป จึงทำให้มีลักษณะอาการที่ทรงอยู่ตั้งอยู่ในลักษณะนั้น แต่ว่าถ้ากระจัดกระจายออกแต่ละรูป ไม่มีรูปนั่งท่าเล็กๆ ไม่มีท่านอนท่าเล็กๆ ไม่มีรูปยืนท่าเล็กๆ ไม่มีรูปเดินท่าเล็กๆ ในแต่ละรูปเลย แต่ว่ามีลักษณะของรูปปรมัตถ์ ไม่ว่าจะกระจัดกระจายแตกย่อยอย่างไร ก็จะต้องมีสภาพของรูปเป็นปรมัตถ์ เป็นสภาพของรูปที่มีจริง ที่ไม่ใช่นั่ง ไม่ใช่นอน ไม่ใช่ยืน ไม่ใช่เดิน นั่นเป็นรูปปรมัตถ์

เพราะฉะนั้น ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน เป็นแต่เพียงรูปหลายๆ รูปที่มาประชุมรวมกัน ทรงอยู่ตั้งอยู่ในลักษณะอาการเช่นนั้น แต่ไม่ใช่วิการรูป


หมายเลข  5756
ปรับปรุง  7 ธ.ค. 2565