แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 139
ข้อสำคัญ คือ ผู้เจริญสติต้องทราบจุดประสงค์ของการเจริญสตินั้นว่า เพื่อปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริง จึงจะละคลายอวิชชา ความไม่รู้ วิจิกิจฉา ความสงสัยในลักษณะของนามของรูป และการยึดถือนามรูปว่า เป็นตัวตนได้ ถ้าไม่รู้ชัดจริงๆ แล้ว ละไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขอให้พิจารณาด้วยเหตุผลว่า การที่เจาะจงเลือกแต่เฉพาะสติปัฏฐานเดียว จะไม่ทำให้ปัญญาสมบรูณ์เป็นวิปัสสนาญาณได้ แม้แต่วิปัสสนาญาณขั้นต้น
สำหรับท่านที่สงสัยข้อความใน ปปัจสูทนี ก็ควรที่จะได้อ่านให้ตลอด
ข้อความต่อไปมีว่า
คำว่า เอกายนมรรค และคำว่า สติปัฏฐาน ๔ เมื่อว่าโดยใจความก็อันเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะ เพราะฉะนั้น จึงควรทราบเอกพจน์ เพราะเป็นอันเดียว ด้วยหมายความว่า เป็นทาง ควรทราบพหูพจน์ เพราะมากด้วยสติ โดยความต่างกันแห่งอารมณ์
มากด้วยสติ แสดงแล้วว่า เห็นก็จะต้องมีสติรู้ลักษณะของนามของรูป จึงชื่อว่ามีสติ กำลังได้ยินก็จะต้องมีสติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป มิฉะนั้นแล้วระหว่างนั้นจะเป็นหลงลืมสติหมด เพราะฉะนั้น ควรทราบพหูพจน์เพราะมากด้วยสติ โดยความต่างกันแห่งอารมณ์ ทุกอย่างต้องมีเหตุมีผล แม้แต่สภาพธรรมทุกชนิดเป็นสติปัฏฐานได้ แต่ทำไมไม่ทรงแสดงไว้มากกว่านั้น หรือน้อยกว่านั้น
ข้อความใน ปปัญจสูทนี มีว่า
เพราะอะไร พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงสติปัฏฐานไว้เพียง ๔ ไม่หย่อน ไม่ยิ่ง
เพราะเพื่อประโยชน์แก่เวไนยสัตว์ คือ ในพวกเวไนยสัตว์ที่เป็นตัณหาจริต ทิฏฐิจริต สมถญาณิกะ วิปัสสนาญาณิกะ ก็แตกออกเป็นอย่างละ ๒ คือ อ่อน และกล้า
สำหรับสมถภาวนานั้นก็มีจริต ๖ แต่สำหรับสติปัฏฐานหรือวิปัสสนานั้น มีจริต ๒ คือ ตัณหา และ ทิฏฐิ
ใครเป็นตัณหาจริต จะเจริญอย่างไร ใครเป็นทิฏฐิจริต จะเจริญอย่างไร คงอยากจะแยกอีกแล้วใช่ไหม ทำไมไม่คิดว่า ท่านเองตัณหาก็มาก ทิฏฐิก็มาก ทั้ง ๒ ประการ ความต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่น้อยเลย ทิฏฐิ การยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนก็มากมาย ก็ควรจะทราบข้อความต่อไปที่ว่า
กายานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างหยาบ เป็นทางบริสุทธิ์แห่งพวกตัณหาจริตอ่อน
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างละเอียด เป็นทางบริสุทธิ์แห่งผู้เป็นตัณหาจริตแรงกล้า
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันไม่ถึงความแตกยิ่ง เป็นทางบริสุทธิ์แห่งผู้เป็นทิฏฐิจริตอ่อน
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันถึงความแตกยิ่ง เป็นทางบริสุทธิ์แห่งผู้เป็นทิฏฐิกล้าแข็ง
กายานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างหยาบ เป็นของผู้เป็นสมถญาณิกะอย่างอ่อน จะบรรลุได้โดยไม่ลำบาก เป็นทางบริสุทธิ์ของคนพวกนี้
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างละเอียด เป็นทางบริสุทธิ์ของพวก สมถญานิกะแรงกล้า เพราะไม่ตั้งอยู่ในอารมณ์หยาบ
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันไม่ถึงซึ่งความแตกยิ่ง เป็นอารมณ์ เป็นทาง บริสุทธิ์แห่งผู้เป็นวิปัสสนาญาณิกะอย่างอ่อน
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันมีการถึงความแตกยิ่งเป็นอารมณ์ เป็นทาง บริสุทธิ์ของวิปัสสนาญาณิกะที่แก่กล้า
เป็นอันว่า ตรัสไว้เพียง ๔ ไม่หย่อน ไม่ยิ่ง ด้วยอาการอย่างนี้
ถ้าจะสงเคราะห์รวมทั้ง ๒ นัย
กายานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างหยาบ เป็นทางบริสุทธิ์แห่งพวกตัณหาจริตอ่อน ซึ่งเป็นสมถญาณิกะอ่อน
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างละเอียด เป็นทางบริสุทธิ์แห่งพวกตัณหาจริตแรงกล้า เป็นสมถญาณิกะอย่างกล้า
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันไม่ถึงความแตกยิ่ง เป็นทางบริสุทธิ์ของผู้เป็นทิฏฐิจริตอ่อน ซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณิกะอย่างอ่อน
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันถึงความแตกยิ่ง เป็นทางบริสุทธิ์แห่งผู้เป็นทิฏฐิกล้าแข็ง และเป็นวิปัสสนาญาณิกะแก่กล้า
ยังอยากจะแยกไหมว่า ท่านเป็นทิฏฐิจริตหรือตัณหาจริต อย่างอ่อนหรืออย่างกล้า ลำบากไหมถ้าจะเลือก ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีตัณหามาก ทิฏฐิมาก จะไปเลือกเจาะจงว่า จะไปเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ จะเจริญเฉพาะอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้
อีกนัยหนึ่ง คือ
กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเจริญเพื่อละสุภวิปลาส คือ ความเห็นว่างาม
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเจริญเพื่อผล คือ การละสุขวิปลาส ความเห็นว่าเป็นสุข
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเจริญเพื่อผล คือ การละความเห็นว่าเที่ยงซึ่งเป็นนิจวิปลาส
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเจริญเพื่อผล คือ การละความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน คือ อัตตวิปลาส
วิปลาสทั้ง ๔ คือ มีวิปลาสในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ๑ ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๑ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าเป็นตน ๑ ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ๑
มีใครไม่มีวิปลาสทั้ง ๔ เมื่อมีวิปลาสทั้ง ๔ ก็ต้องเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง
อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต วิปัลลาสสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ
สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ๑ ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๑ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าเป็นตน ๑ ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ๑
สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ๔ ประการนี้แล
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน
คือ สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่า ไม่เที่ยง ๑ ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ๑ ในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าไม่ใช่ตน ๑ ในสิ่งไม่งามว่าไม่งาม ๑
สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส ๔ ประการนี้แล
เวลาเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป ก็ยังมีนิจจวิปลาส คือ ยังมีความเห็นผิดว่าเที่ยงในสิ่งที่ไม่เที่ยง มีความเห็นผิดว่าเป็นตัวตนในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน มีความเห็นผิดในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข มีความเห็นผิดในสิ่งที่ไม่งามนั้นว่างาม
เพราะฉะนั้น เมื่อยังมีวิปลาสอยู่ ก็ต้องเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ เพื่อละวิปลาสทั้ง ๔ ขณะไหนที่จิตไม่วิปลาส ทิฏฐิไม่วิปลาส สัญญาไม่วิปลาส ก็ในเวลาที่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป ซึ่งมีอนิจจสัญญาแทนนิจจสัญญา แต่ถ้ายังไม่ประจักษ์ก็ยังคงเป็นสัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ซึ่งจะหมดได้ก็ต่อเมื่อเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ เพราะเหตุว่าทุกท่านมีวิปลาสทั้ง ๔ แล้วมีจริตทั้ง ๒ คือ ตัณหาและทิฏฐิ
การที่จะเจริญเฉพาะบรรพเดียวในหมวดเดียว ด้วยคิดว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ในพระไตรปิฎกไม่ต้องทรงแสดงมากเลย ไม่ต้องใช้พยัญชนะว่า รู้ยิ่ง ในเมื่อหลงลืมสติหมดทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดเพื่อเกื้อกูลให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก คือ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหาสีหนาทสูตร ซึ่งจะเป็นเครื่องประกอบให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจชัดเจนว่า การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้น ต้องเป็นปัญญาที่รู้ยิ่ง แล้วก็รู้ชัด
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ราวป่าด้านตะวันตก นอกพระนคร เขตพระนครเวสาลี พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระสารีบุตร มีข้อความว่า
สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวตามความคิดเห็นของตนเองว่า บุรุษวัยหนุ่ม มีผมดำสนิท ประกอบด้วยปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง สมกับวัยต้น ต่อมาบุรุษผู้นั้นเมื่อแก่ชราลง ก็ย่อมเสื่อมจากปัญญาความเฉลียวฉลาดนั้น
ข้อนี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ไม่พึงเห็นอย่างนั้น
โดยมากคนทั่วไปเข้าใจอย่างนี้ว่า ใครที่ยังหนุ่ม หรืออยู่ในวัยที่สติปัญญากำลังเจริญ พอแก่ชราลงไป สติปัญญาก็เสื่อม แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ข้อนี้ไม่พึงเห็นอย่างนั้น
เพราะแม้พระองค์ก็ทรงล่วงกาลผ่านวัยไปโดยลำดับ แล้วสาวกบริษัททั้ง ๔ ของพระองค์ คือ ทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ผู้มีอายุถึง ๑๐๐ ปี ประกอบด้วยคติ สติ ฐิติอันยอดเยี่ยม และปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง เปรียบเหมือนนักธนูผู้มั่นคง ได้รับการฝึกหัดแล้ว ช่ำชอง ชำนิชำนาญ เคยแสดงฝีมือมาแล้ว พึงยิงงวงตาลโดยขวางให้ตกลงด้วยลูกศรขนาดเบาโดยง่ายดาย แม้ฉันใด สาวกบริษัท ๔ ของพระองค์ เป็นผู้มีสติอันยิ่ง มีคติอันยิ่ง มีปัญญาทรงจำอันยิ่ง ประกอบด้วยปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างยิ่ง ก็ฉันนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เธอพึงถามปัญหาอิงสติปัฏฐาน ๔ กะเรา เราถูกถามปัญหาแล้ว พึงพยากรณ์แก่พวกเธอ พวกเธอพึงทรงจำคำที่เราพยากรณ์แล้วโดยเป็นคำพยากรณ์ มิได้สอบถามเราให้ยิ่งกว่า ๒ ครั้ง เว้นจากการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม เว้นจากการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เว้นจากการหลับ และบรรเทาความเมื่อยล้า
ดูกร สารีบุตร ธรรมเทศนาของตถาคตนั้นไม่รู้จักจบสิ้น บทและพยัญชนะแห่งธรรมของตถาคตนั้นไม่รู้จักจบสิ้น ความแจ่มแจ้งแห่งปัญหาของตถาคตนั้นไม่รู้จักจบสิ้น เมื่อเป็นดังนั้น สาวกบริษัท ๔ ของเราเหล่านั้นจึงมีอายุตั้ง ๑๐๐ ปี เป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี พึงทำกาลโดยล่วงไปแห่ง ๑๐๐ ปี
ดูกร สารีบุตร ถ้าแม้พวกเธอจะพึงหามเราไปด้วยเตียงน้อย ความเป็นอย่างอื่นแห่งปัญญาอันเฉลียวฉลาดของตถาคต ย่อมไม่มีเลย
ดูกร สารีบุตร บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวคำใดว่า สัตว์ผู้มีความไม่ลุ่มหลงเป็นธรรมดาบังเกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวคำนั้นกะเราเท่านั้นว่า
สัตว์ผู้มีความไม่ลุ่มหลงเป็นธรรมดาบังเกิดขึ้นในโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ดังนี้
นี่เป็นผู้เจริญสติ เป็นผู้ที่มีปัญญาเฉลียวฉลาด มีสติยิ่ง มีความรู้ยิ่ง ไม่ใช่หลงลืมสติทางไหนๆ หมด แล้วก็ไปเพ่งจ้อง รู้อยู่ที่เดียว แล้วไม่รู้อย่างอื่นเลย อย่างนั้นจะไม่ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีสติยิ่ง ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีปัญญายิ่ง
จะเห็นได้ว่า พระธรรมอุปการะเกื้อกูลมากทีเดียว เพราะเว้นการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม การหลับ และบรรเทาความเมื่อยล้า
พระธรรมของพระองค์ไม่รู้จักจบสิ้น ทรงอนุเคราะห์เพื่อให้ผู้ฟังมีสติน้อมไประลึกถึงลักษณะของนามและรูปเพื่อความรู้ชัด เพื่อการละคลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน
ขอกล่าวถึงข้อความใน ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ รถวินีตสูตร ซึ่งจะเห็นการเคารพในธรรมของพระผู้มีพระภาค ซึ่งพุทธบริษัทควรที่จะได้ดำเนินรอยตาม มีข้อความว่า
ความเคารพในธรรมนี้ ได้เกิดแก่พระผู้มีพระภาคตั้งแต่ประทับ ณ โคนไม้ไทร เพื่อทรงใคร่ครวญว่า จะเคารพผู้ใด แต่เมื่อไม่มีผู้ใดเลยที่ควรแก่การเคารพ สิ่งเดียวที่ควรแก่การเคารพ คือ ทรงเคารพธรรม พระผู้มีพระภาคทรงเคารพธรรม จึงได้เสด็จต้อนรับพระมหากัสสปะ เป็นหนทางถึง ๓ คาวุต
โดยมากท่านผู้ฟังเวลาที่ศึกษาพระสูตรหรือพระธรรมวินัย อาจจะข้องใจสงสัยว่า เหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงทรงกระทำเช่นนั้นเช่นนี้กับบุคคลนั้นบุคคลนี้ แต่เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ที่เคารพธรรมเท่านั้น ทุกอย่างที่ทรงประพฤติปฏิบัตินั้นก็เพื่อธรรม เพราะพระผู้มีพระภาคทรงเคารพธรรม จึงได้เสด็จต้อนรับท่านมหากัสสปะเป็นหนทางถึง ๓ คาวุต เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะต้องไปทรงต้อนรับใครบ้างไหม ธรรมเท่านั้น ไม่ใช่เป็นบุคคลที่มีเกียรติยศยิ่งใหญ่ในทางโลก แต่ว่าเพราะทรงเคารพในธรรม
เพราะพระผู้มีพระภาคทรงเคารพในธรรม จึงได้เสด็จไปต้อนรับแสดงธรรมแก่ท่านพระมหากัปปินะ หลังเสวยพระกระยาหารครั้งหนึ่ง เสด็จไปไกลถึง ๔๕ โยชน์ ตรัสธรรมกถาตลอดคืนในนิเวศของนายช่างหม้อ ให้ปุกกุสาติกุลบุตรดำรงอยู่ในอนาคามิผล
พระผู้มีพระภาคเสด็จไปถึง ๑๒๐ โยชน์ เพื่อทรงอนุเคราะห์สามเณรผู้มีปกติอยู่ป่า
พระผู้มีพระภาคเสด็จไปไกลถึง ๖๐ โยชน์ ทรงแสดงธรรมแก่พระเถระที่อยู่ในป่าไม้ตะเคียน
พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ท่านพระอนุรุทธเถระนั่งตรึกถึงมหาปุริสวิตก เสด็จไปปรากฏพระองค์ต่อหน้าพระเถระ ประทานสาธุการ
พระผู้มีพระภาคทรงเคารพธรรม ทรงให้จัดเสนาสนะในพระคันธกุฎีหลังเดียวกันกับพระองค์ เพื่อท่านพระโสณกุฏฐิกัณณะ แล้วในเวลาใกล้รุ่งทรงเชื้อเชิญให้ท่านพระโสณกุฏฐิกัณณะให้แสดงธรรม แล้วประทานสาธุการเมื่อจบสรภัญญะ (คือ การสวดด้วยการใช้เสียง)
พระผู้มีพระภาคทรงเคารพธรรม พระองค์จึงเสด็จไปสิ้น ๓ คาวุต ตรัสอานิสงส์แห่งความสามัคคีในโคสิงคสาลสูตร
ในวันใกล้เข้าพรรษา เสด็จจาริกออกจากพระวิหารเชตวัน แม้พระเจ้า ปเสนทิโกศลก็ไม่ทรงสามารถให้เสด็จกลับได้ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็เสียใจที่ไม่มีผู้ใดสามารถทำให้พระผู้มีพระภาคเสด็จกลับพระวิหารเชตวัน แต่ว่ามีทาสีผู้หนึ่ง คือ ปุณณาทาสี ได้ถามท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า โศกเศร้าเรื่องอะไร ซึ่งขณะนั้นท่านเศรษฐีกำลังเสียใจ ท่านก็เลยตวาดไปว่า ไม่สามารถทำให้พระผู้มีพระภาคเสด็จกลับได้
ปุณณาทาสีก็กล่าวว่า ตนสามารถทำให้พระผู้มีพระภาคเสด็จกลับพระวิหารเชตวันได้
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็กล่าวว่า ถ้าปุณณาทาสีสามารถที่จะทำให้ พระผู้มีพระภาคเสด็จกลับพระวิหารเชตวันได้ ก็จะให้นางปุณณาทาสีนั้นได้กลับเป็นอิสระ เป็นไท
นางปุณณาทาสีก็ได้ไปแล้ว หมอบที่พระบาท กราบทูลขอให้พระผู้มีพระภาคเสด็จกลับ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ปุณณา เธอมีชีวิตเกี่ยวข้องกับคนอื่น จะทำอะไรแก่เราได้
คือ เมื่อเป็นทาสของเขา ไม่มีอิสระเลย แล้วจะทำประโยชน์อะไร หรือจะเกื้อกูลพระองค์ได้อย่างไร
นางปุณณาทาสีกราบทูลว่า
พระองค์ทรงทราบว่า หม่อมฉันยังไม่มีไทยธรรม แต่เพราะพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับ หม่อมฉันจะตั้งอยู่ในสรณคมน์และศีล
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสประทานสาธุการ แล้วเสด็จกลับพระวิหารเชตวัน
เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ปรากฏโด่งดังเรื่องหนึ่งในสมัยนั้น ซึ่งเมื่อเศรษฐีทราบเรื่อง ก็ได้ให้ปุณณาทาสีเป็นอิสระ และยกให้อยู่ในฐานะของบุตรสาว ภายหลังปุณณาทาสีก็ขอบวช ขณะที่กำลังเจริญปรารภวิปัสสนา พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ก็ได้ตรัสโอภาสคาถาว่า
ปุณณา เธอให้พระสัทธรรมเต็มบริบูรณ์ เหมือนดวงจันทร์ในวันเพ็ญ เพราะปัญญาที่บริบูรณ์ จึงทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ในที่สุดแห่งคาถา ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นสาวิกาที่โด่งดังผู้หนึ่ง