แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 140


พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ทรงหนักในธรรม เคารพในธรรมอย่างนี้

คือ ทรงมุ่งธรรมเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะเสด็จไปที่ไหน หรือว่าทรงต้อนรับใครก็ตาม มีทางใดที่บุคคลใดสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ พระผู้มีพระภาคก็ได้เสด็จไปทรงอนุเคราะห์ด้วยพระธรรมเทศนา และพุทธบริษัทในครั้งนี้ก็มีโอกาสที่ได้ยินได้ฟังพระธรรมที่ได้ทรงแสดงกับพุทธบริษัทในครั้งโน้นครบถ้วน ซึ่งท่านผู้ฟังในครั้งโน้นก็บรรลุธรรมมากมาย แต่สำหรับผู้ฟังในครั้งนี้จะต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญ สติปัฏฐานมาก ถ้าเพียงเล็กน้อยก็ไม่สามารถรู้แจ้ง ไม่สามารถละคลายได้

ถ. มีความกังวลอยู่อย่างหนึ่ง (ไม่ได้ยิน)

สุ. เวลานี้มีกี่ทวาร ก็ ๖ ทวาร แล้วสติระลึกรู้ได้ทีละ ๖ หรือทีละ ๑

สติระลึกรู้ได้ทีละอย่าง ทีละทวาร ทีละรูป ทีละนาม จึงจะรู้ชัดได้

การเจริญสติปัฏฐานในครั้งโน้นไม่มีข้อข้องใจเหมือนอย่างในสมัยนี้เลย เพราะทุกคนทราบว่า เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ แล้วต้องรู้ชัดในนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามความเป็นจริง เพราะทุกขณะเกิดปรากฏแล้ว เพราะมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นจึงปรากฏ ซึ่งสติก็จะต้องระลึกตามความเป็นจริง

ในครั้งโน้นที่สามารถบรรลุได้ เพราะไม่สงสัย ไม่เข้าใจคลาดเคลื่อนในข้อประพฤติปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฟังธรรมจบเทศนา ก็สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วละคลาย แล้วรู้แจ้งอริยสัจได้ทันที เพราะการฟังธรรมนี้อุปการะมาก

ปปัญจสูทนี อรรถกถาสติปัฏฐานสูตร มีข้อความว่า

การแสดงธรรมชื่อว่า พ้นจากกัมมัฏฐาน คือ สติปัฏฐาน ไม่มี

ไม่ว่าจะพูดกันเรื่องอะไรก็ตาม เป็นสติปัฏฐานที่ผู้ฟังในครั้งโน้นเข้าใจว่า เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ เพราะฉะนั้น ฟัง แล้วก็เกื้อกูลในขณะที่ฟัง ให้สติระลึกรู้ แล้วน้อมไปในลักษณะที่ทรงแสดง แล้วสามารถประจักษ์ได้

สำหรับการเคารพธรรมและหนักในธรรมนั้น ขอยกเรื่องของท่านพระสารีบุตรอีกเรื่องหนึ่งเพื่อให้เห็นข้อประพฤติปฏิบัติของท่าน ซึ่งเป็นอัครสาวกของพระผู้มีพระภาค และท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาถึงข้อประพฤติปฏิบัติของภิกษุในครั้งนั้นว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นปกติอย่างไร

ท่านพระสารีบุตรนั้น ท่านบิณฑบาตสาย ที่ท่านพระสารีบุตรบิณฑบาตสาย ก็เพราะเหตุว่า ท่านจัดแจงดูแลความเรียบร้อยในวัดเสียก่อน ปัญหาก็มีอีกว่าทำไมท่านถึงทำอย่างนั้น ก็เพราะท่านเห็นว่า ถ้าพวกเดียรถีย์เข้ามาตอนนั้นก็จะเห็นความไม่เรียบร้อย นอกจากนั้น ท่านยังไปเยี่ยมคนไข้ ปลอบใจภิกษุไข้ ที่ท่านพระสารีบุตรไปเยี่ยมภิกษุไข้นั้นก็เพื่อจะถามว่า ภิกษุไข้ต้องการอะไรบ้าง เมื่อท่านทราบท่าน ก็พาภิกษุหนุ่มหรือสามเณรของภิกษุซึ่งเป็นผู้ป่วยนั้นไปแสวงหาเภสัช คือ ไปแสวงหายา ด้วยการขอในสถานที่ที่ชอบพอกัน แล้วก็มอบให้ภิกษุหรือสามเณรของภิกษุป่วยไป แล้วท่านก็สั่งว่า ธรรมดาการบำรุงภิกษุไข้ พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญ เพราะฉะนั้น จงไปเถิด อย่าประมาทเลย

ชีวิตปกติของสามเณรหรือภิกษุหนุ่มซึ่งจะพยาบาลภิกษุไข้ก็เป็นปกติ ธรรมดา แต่ต้องไม่ประมาทในการเจริญกุศล คือ ในการเจริญสติด้วย

เมื่อท่านพระสารีบุตรได้มอบเภสัชแก่ภิกษุหนุ่มและสามเณรของภิกษุผู้ป่วยไปแล้ว ตัวท่านเองก็เที่ยวบิณฑบาต แล้วก็ได้ทำภัตตกิจในตระกูลอุปัฏฐาก แล้วกลับวัด นี่เป็นอาจิณวัตรในที่ที่ท่านอยู่ประจำ

ชีวิตปกติประจำวันของท่านนั้นเป็นไปเพื่อธรรม เป็นไปเพื่อประโยชน์ทั้งสิ้น

แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จสู่ที่จาริก ท่านก็ไม่ได้คิดว่า เราเป็นอัครสาวก ท่านไม่ได้สวมรองเท้ากั้นร่มเดินไปข้างหน้า (คือ ไปล่วงหน้าพระผู้มีพระภาค) ท่านไปข้างหลัง ติดตามพระผู้มีพระภาคไปในวันนั้น หรือในวันถัดไป เพราะเหตุว่าท่านคอยดูแลภิกษุทั้งหลายให้เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ที่อาพาธ ผู้มีอายุสูง หรือว่าเป็นสามเณรน้อย ท่านก็ดูแลให้ทาน้ำมัน หรือนวดเท้าตรงที่เจ็บปวดเสียก่อน

ในวันหนึ่งท่านพระสารีบุตรนี้เองไม่ได้เสนาสนะ เพราะมาถึงช้าเกินไป ท่านก็ได้นั่งใต้ที่ขึงด้วยจีวร พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็น วันรุ่งขึ้นก็รับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ตรัสเรื่องช้าง ลิง นกกะทา ซึ่งเรื่องนี้ก็มีสัตว์ ๓ สหาย ซึ่งเมื่ออยู่ด้วยกันนานเข้า ก็ไม่ทราบว่าควรจะเคารพใคร ใครควรจะเคารพใคร จึงได้ถามถึงวัยหรืออาวุโสของกันและกัน แล้วพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงบัญญัติสิกขาบทว่า

ภิกษุพึงให้เสนาสนะตามลำดับอาวุโส คือ ความเป็นผู้ใหญ่

นี่เป็นเรื่องชีวิตปกติธรรมดา จะเห็นการเสด็จจาริก จะเห็นชีวิตของพระภิกษุ หรือสาเหตุที่ท่านพระสารีบุตรไม่ได้เสนาสนะ

ท่านพระสารีบุตรนี้ย่อมอนุเคราะห์ด้วยอามิสอย่างนี้ก่อน แต่ว่าเมื่อท่านให้โอวาท ย่อมให้โอวาทตั้ง ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง จนกระทั่งผู้นั้นตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลที่นั้นแล้ว ก็ละคนนั้นเสีย แล้วก็สอนผู้อื่นต่อไป

แสดงให้เห็นว่า การบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยสงฆ์ เป็นพระอริยสาวกนั้นต้องฟังนาน ฟังมาก ปฏิบัตินาน ปฏิบัติมาก

ถึงแม้ท่านพระสารีบุตรให้โอวาท ก็ย่อมให้โอวาทผู้นั้นตั้ง ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง จนกว่าผู้นั้นจะตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วท่านก็ละผู้นั้นเสีย สอนผู้อื่นต่อไป

ผู้ที่ตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน ซึ่งกล่าวสอนอยู่โดยนัยนี้ บรรลุอรหัตต์ไปแล้วนับไม่ถ้วน ท่านอนุเคราะห์ด้วยธรรม ด้วยอาการอย่างนี้

นี่เป็นเรื่องของในครั้งโน้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นพระผู้มีพระภาคก็ทรงเคารพธรรม พระอัครสาวกก็เป็นผู้ที่หนักในธรรม บำเพ็ญประโยชน์แก่ธรรม

สำหรับพุทธบริษัทในครั้งนี้ เคยหวนระลึกถึงการเคารพธรรมบ้างไหมว่า จะเป็นไปในลักษณะใดที่ชื่อว่าท่านเคารพธรรม ท่านหนักในธรรม ท่านปฏิบัติ หรือมีชีวิตอยู่เพื่อธรรมอย่างไรบ้าง

ที่ว่าเคารพในธรรม หรือว่ามั่นคงในคำสอน ก็มีตั้งแต่ในขั้นการฟัง จน กระทั่งถึงขั้นของการปฏิบัติ เช่น ธรรมที่ได้ฟังในพระธรรมวินัยนี้ทั้งหมดทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คำว่าเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังรู้รส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก กำลังเป็นสุข กำลังเป็นทุกข์ โดยการฟังก็ทราบว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อมีการหนักในธรรม เคารพในธรรมที่ได้ฟัง แล้วมีความเข้าใจด้วยว่า สภาพธรรมทั้งหลายนั้นเป็นอนัตตาจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เป็นตัวตน แล้วจะปฏิบัติธรรมอย่างไร จึงจะให้ผลตรง และชื่อว่ามั่นคงในธรรมที่ได้ยินได้ฟัง

การปฏิบัติธรรม ต้องเพื่อให้ปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลนั่นเอง การปฏิบัติต้องให้ได้ผลตรงกับสภาพธรรมที่ได้ศึกษา ที่ได้ยินได้ฟัง

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังเป็นสุข กำลังเป็นทุกข์ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจะต้องปฏิบัติให้ตรง ให้รู้ว่าสภาพธรรมทุกๆ ขณะนี้ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ รู้อย่างนี้ จึงจะชื่อว่า เป็นผู้ที่มั่นคงในพระสัทธรรมที่ได้ยินได้ฟัง คือ ผลจะต้องตรงกับสภาพธรรมตามความเป็นจริง และเหตุก็จะต้องตรงที่จะให้ผลเช่นนั้นเกิดขึ้นด้วย

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็น่าที่จะได้คิดว่า ในขณะที่กำลังนั่ง นอน ยืน เดิน พูด นิ่ง คิด ประกอบกิจการงาน มีการเห็น มีการได้ยิน มีความสุข มีความทุกข์ มีการคิดนึกต่างๆ ในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา เมื่อไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลแล้ว สภาพธรรมที่ปรากฏก็จะต้องเป็นลักษณะของนามธรรมหรือเป็นลักษณะของรูปธรรม นามธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป รูปธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ก็ไม่มีโอกาสที่จะประจักษ์ลักษณะที่เป็นนามธรรมที่เกิดดับ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็ไม่มีโอกาสที่จะประจักษ์ลักษณะที่เป็นรูปธรรมที่กำลังเกิดดับอยู่ในขณะนี้นั่นเอง

นี่เป็นเหตุ ตรง และธรรมดา แต่ผู้ฟังจะต้องพิจารณาด้วยความแยบคายว่า ท่านได้เจริญข้อประพฤติปฏิบัติถูกต้องอย่างนี้หรือเปล่า คือ สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง รู้ว่าขณะนี้สติกำลังระลึกสภาพที่เป็นนามธรรม หรือว่าสภาพที่เป็นรูปธรรม ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ โดยที่ไม่ต้องเอ่ยชื่อ คือ ไม่ต้องนึกว่า ขณะนี้กำลังระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมทางตา หรือว่าขณะนี้กำลังระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมทางหู ไม่ต้องเอ่ยชื่อ ไม่ต้องนึกอย่างนี้ เพราะสภาพลักษณะของนามธรรมรูปธรรมทางตาก็กำลังปรากฏ หรือนามธรรมรูปธรรมทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น สติระลึกตรงลักษณะให้ถูกต้อง เพื่อปัญญาจะได้รู้ชัดจริงๆ ในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมเสียก่อน แล้วภายหลังเมื่อมีความรู้ชัดมากขึ้น ชินขึ้น ละคลายมากขึ้น ก็ย่อมจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมได้

ถ้าท่านผู้ใดเจริญสติเป็นปกติ ระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิต สราคจิต หรือโทสมูลจิต หรือไม่ว่าจะเป็นกำลังเห็น กำลังได้ยิน สุขเวทนา ทุกขเวทนา ตามปกติ จะมีผู้หนึ่งผู้ใดไปยับยั้งผู้ที่เจริญสติเป็นปกติ ไม่ให้รู้ลักษณะของรูปธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้ไหม

ถ้าผู้นั้นเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปเป็นปกติ ผู้นั้นก็จะต้องประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม โดยที่ผู้อื่นก็ไม่สามารถจะไปยับยั้งว่า ไม่ให้รู้ ไม่ให้ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป

โลภมูลจิต สราคจิต เป็นของธรรมดาที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ใครสามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของโลภมูลจิตได้ ผู้นั้นก็ต้องเป็นผู้ที่สติระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิต ส่วนผู้ใดที่ไม่ระลึกอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ได้ศึกษามาว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สังขารธรรมทั้งหลาย ทั้งจิต ทั้งเจตสิก ทั้งรูป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่สติของผู้นั้นไม่เคยระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ ไม่เคยระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิตของสราคจิตเลย ใครก็ดลบันดาลให้ผู้นั้นประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของโลภมูลจิตของสราคจิตไม่ได้ นี่เป็นเหตุเป็นผลตามธรรมดาที่ท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ว่า เหตุกับผลจะต้องตรงกัน

สำหรับชีวิตของปุถุชนกับพระโสดาบันบุคคล มีอะไรบ้างที่ต่างกัน เพียงด้วยการเห็น เพียงด้วยชีวิตความเป็นอยู่ ไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย นอกจากจะได้ประพฤติปฏิบัติหนทางที่ทำให้ผู้นั้นเป็นพระโสดาบันบุคคล จึงจะรู้ได้ว่า ผู้นั้นได้ปฏิบัติเช่นนี้จึงสามารถที่จะละความไม่รู้ลักษณะของนามและรูป หรือความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ ไม่มีวิจิกิจฉา ไม่มีความเห็นผิด ไม่ว่าจะกำลังเห็น กำลังหัวเราะ กำลังร้องไห้อยู่ในสถานที่ใด ผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้ว ท่านไม่มีความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเลย

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏในชีวิตทุกๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นสีที่กำลังปรากฏทางตา หรือสภาพที่กำลังเห็นในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่ปรากฏทางหู หรือว่าการได้ยิน หรือว่าการรู้เรื่อง ความชอบใจ ความไม่ชอบใจต่างๆ ทั้งหมดเป็นธรรมที่ผู้เจริญสติสามารถประจักษ์ความจริงได้ว่า เป็นธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป

บางท่านยังไม่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้อง จึงคิดว่า จะเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้ เพราะมีคำถามว่า จะมีอันตรายเกิดขึ้นถ้าเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เช่น บางท่านกลัวเหลือเกินว่า เวลาที่ขับรถยนต์แล้วก็เจริญสติด้วย รถก็จะชน หรือกลัวเหลือเกินว่า เวลาที่กำลังเดินบิณฑบาตแล้วเจริญสติด้วย ก็จะไม่รู้ว่าใครนิมนต์ แล้วจะไม่ได้อาหารบิณฑบาต ความกลัวอย่างนี้ผิดหรือถูก อุบัติเหตุรถยนต์ที่ชนกันทุกวันนี้เพราะผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุนั้นเจริญสติหรือเปล่า ลองไปสอบถามดูว่า ผู้ที่มีอุบัติเหตุรถชนนั้นกำลังเจริญสติหรือเปล่า

แต่เพราะความเข้าใจผิด ความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากสภาพธรรมตามความเป็นจริง ทำให้ดำริผิด นึกผิด นึกไปจนกระทั่งว่า ถ้าเจริญสติแล้วจะได้รับโทษ จะเกิดอันตรายขึ้น นั่นไม่ใช่ลักษณะของสติ

ปุถุชนลืมได้ไหม ตามปกติธรรมดาลืมได้ไหม พระโสดาบันบุคคลลืมได้ไหม หรือว่าเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้วไม่ลืมอะไรเลย สิ่งที่ผิดกันระหว่างปุถุชนกับพระโสดาบันบุคคลนั้น คือ พระโสดาบันบุคคลไม่เห็นผิดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพราะท่านรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม กระจัดกระจายสิ่งที่เคยประชุมรวมกันทำให้เกิดการยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านคิดพิจารณาให้ถูกต้องว่า ถ้าท่านเจริญสติเป็นปกติในชีวิตประจำวันแล้ว จะเกิดโทษ เกิดภัย เกิดอุบัติเหตุได้ไหม หรือถึงแม้ว่าท่านไม่ได้เจริญสติเลย ก็ขับรถยนต์ชนกันอยู่เสมอๆ ทุกวันๆ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เจริญสติ

โดยมากท่านคิดว่า เวลาที่หลบหลีกอันตรายนั้นไม่ใช่นามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม เฉพาะเวลาที่อันตรายยังไม่เกิดขึ้นท่านจึงคิดว่า ท่านเจริญสติได้ กำลังเจริญสติ กำลังเดินไปยังไม่มีอันตรายมา เพราะฉะนั้น ก็ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมรูปธรรมได้ แต่พอมีอันตรายจะเกิดขึ้น ท่านคิดว่าเจริญสติไม่ได้แล้ว นั่นไม่ใช่เหตุผลที่ถูกต้อง และนั่นไม่ใช่ลักษณะของการเจริญสติ เพราะไม่ว่าอันตรายยังไม่เกิดขึ้น สติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมรูปธรรมได้ หรือแม้ว่ากำลังมีอันตรายเกิดขึ้น มีการหลบหลีกอันตราย ไม่ว่าจะเป็นการขับรถยนต์ หรือไม่ใช่ขับรถยนต์ก็ตาม ขณะใดที่กำลังหลบหลีกอันตรายก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคลเหมือนกัน ผู้ที่เจริญสติแล้วสามารถจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นแต่เพียงรูปธรรม แต่ผู้ที่ไม่เจริญสติจะทราบได้ไหมว่า ในขณะที่หลบหลีกอันตรายนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น

มีท่านผู้ฟังที่กลัวว่า การเจริญสติปัฏฐานของท่านจะคลาดเคลื่อน ท่านสงสัยว่า การที่จะคลาดเคลื่อนไปนั้นจะคลาดเคลื่อนไปอย่างไร ถ้าขณะนี้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นแล้วปรากฏแล้ว ที่จะไม่คลาดเคลื่อนก็คือ สติระลึกตรงลักษณะที่กำลังปรากฏทันที นี่เป็นสิ่งที่ควรจะได้พิจารณา เพื่อการเจริญสติปัฏฐานของท่าน ปัญญาจะได้รู้ทั่ว แล้วก็รู้ชัดจริงๆ แล้วก็ไม่คลาดเคลื่อนไปจากสภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วย

ถ. ถ้าไม่ได้ธรรม ... (ไม่ได้ยิน) หรืออย่างไร

สุ. ใครบังคับใครได้ ให้สติของใครระลึกที่กาย หรือที่เวทนา หรือที่จิต หรือที่ธรรม จะบังคับให้คนนั้นระลึกทางตา คนนี้ระลึกที่หู ไม่ให้ระลึกทางอื่น ไม่ให้คิด ไม่ให้นึกเลย ใครบังคับใครได้

ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ คือ สติระลึกทันทีที่ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏโดยไม่คลาดเคลื่อน ไม่ให้ตัณหาหรือความเห็นผิดในข้อปฏิบัติชักพาให้ไปที่อื่น


หมายเลข  5766
ปรับปรุง  13 ธ.ค. 2565