แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 145


สุ. ถึงแม้จะได้ฟังเรื่องของรูป เรื่องของจิต เรื่องของเจตสิกว่า เป็นสังขารธรรม เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป แต่ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของรูปแต่ละรูป ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามที่เกิดขึ้นปรากฏ ความรู้ก็ไม่มี ไม่สามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้

ดังนั้น สติจะต้องระลึก และรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏเพิ่มขึ้น แล้วก็เคยหลงลืมสติ เคยไม่รู้ในลักษณะของนามและรูปนั้น ถึงจะชื่อว่าเป็นการเจริญสติ เป็นการเจริญปัญญา

ถ. หมายความว่า การเจริญอานาปานสตินี้ไม่ใช่เพียงแต่รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สามารถระลึกรู้เวทนาก็ได้ ระลึกรู้จิตก็ได้เหมือนกัน ในคราวเดียวกันนี้ แต่คนละขณะเท่านั้นเอง

สุ. ขอเน้นข้อนี้อีกครั้งหนึ่งว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นสภาพของสติที่ระลึกที่นามหรือรูปโดยไม่เจาะจง โดยไม่เลือก โดยที่ไม่ใช่มีตัวตนมาเลือกเฟ้นว่าจะระลึกที่ลมหายใจ อย่างเวลานี้มีเห็น มีได้ยิน มีสี มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีคิดนึก มีสุข มีทุกข์ แล้วแต่ว่าสติจะระลึกที่ลักษณะของนามใดของรูปใด จึงจะเป็นการเจริญสติปัฏฐาน จึงจะเป็นสัมมาสติ

ถ. ผมเรียนถามตามลำดับเท่านั้นเองว่า เจริญอานาปานสติ แล้วต่อไปถึงธัมมานุปัสสนาสักนิดหนึ่ง คือ การรู้ลักษณะของเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวนี้ ท่านอาจารย์กล่าวว่าเป็นปรมัตถ์ เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่มีบางท่านกล่าวว่า ไม่ใช่กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในข้อที่ว่าเป็นอายตนะ

สุ. การเจริญสติปัฏฐาน แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดปรากฏ แล้วสติระลึก ถ้าไม่ใช่ระลึกที่กาย ไม่ใช่ระลึกที่เวทนา ไม่ใช่ระลึกที่จิต ก็เป็นการระลึกที่สภาพธรรมที่เป็นธัมมานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนานั้นรวมสภาพธรรมทุกอย่าง เพราะว่ากายก็เป็นธรรม เวทนาก็เป็นธรรม จิตก็เป็นธรรม ธรรมอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในหมวดของกาย เวทนา จิต ก็เป็นธรรม และเวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นที่กำลังเกิดปรากฏ ดับไหม

ถ. ดับ

สุ. ดับเป็นขันธ์ไหม

ถ. เป็น

สุ. เพราะเหตุว่า ขันธ์ หมายความถึงสภาพที่มีอดีต ปัจจุบัน อนาคต มีการเกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อมีการดับไป ก็เป็นอดีต

ถ. สำหรับกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ สติสามารถที่จะระลึกรู้ที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ซึ่งเป็นสภาพของปรมัตถธรรมโดยแท้ แต่อิริยาบถที่เป็นกายานุปัสสนานี้ สติสามารถจะระลึกรู้สิ่งใดที่เป็นปรมัตถ์

สุ. ที่กายมีรูปอะไรบ้าง

ถ. มีรูป ๒๘ รูป (๒๗ รูป)

สุ. มีรูปต่างๆ เหล่านี้ จะรู้ได้ทางไหน อย่างไร มีรูปจริงแต่จะต้องมีทางที่จะรู้ด้วย ไม่ใช่ว่าไม่มีทางรู้

มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ มหาสกุลุทายิสูตร มีข้อความว่า

ดูกร อุทายี อีกประการหนึ่ง เราได้บอกปฏิปทาแก่สาวกทั้งหลายแล้ว สาวกทั้งหลายของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้แลมีรูปประกอบด้วยมหาภูตรูป เกิดแต่บิดา มารดา เติบโตขึ้นได้ด้วยข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลาย และกระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้

เพราะฉะนั้น การที่จะกล่าวว่า การรู้กาย กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน รู้อะไร มหาภูตรูปมีไหมที่จะต้องรู้ เวลาที่กำลังนั่งอยู่ นอนอยู่ ยืนอยู่ เดินอยู่ ถ้าสติระลึกที่กาย ก็ต้องมีลักษณะของมหาภูตรูปที่เย็นหรือร้อน ส่วนหนึ่งส่วนใดกระทบกับกายปสาทส่วนนั้นทำให้เกิดการรู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง หรือรู้ตึง รู้ไหวเกิดขึ้นในขณะนั้น

ถ. กายานุปัสสนา เฉพาะอิริยาบถบรรพ ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า สติสามารถจะระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงโดยเป็นปรมัตถ์ คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว คืออย่างนี้นี่เอง ที่กำลังนั่งอยู่ก็รู้อย่างนี้ เดินอยู่ก็รู้อย่างนี้ สัมปชัญญะบรรพก็ระลึกที่กาย กายานุปัสสนาก็ระลึกอย่างนี้ ไม่พ้นไปจากเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวนี้ได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นปฏิกูลมนสิการบรรพก็เหมือนกัน ก็ต้องระลึกรู้อย่างนี้นั่นเอง

สุ. ต้องน้อมมาระลึกที่กาย

ถ. รู้ปรมัตถ์อย่างนี้ รู้เฉพาะลักษณะของดิน ลักษณะของลม ลักษณะของไฟเท่านี้เอง คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้ง ๑๔ บรรพนี้ สรุปได้ว่า รู้เฉพาะเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ซึ่งเป็นลักษณะของปฐวี เตโช วาโย เท่านั้นเอง ถูกต้องไหมครับ

สุ. ในพระไตรปิฎก โดยมากจะใช้คำรวมว่า ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ทั้งๆ ที่ธาตุน้ำนั้นก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ทางกายปสาท รู้ได้ทางใจ แต่เพราะระลึกส่วนที่เป็นกาย เพราะฉะนั้น จึงรวมอยู่ด้วย

ถ. กระผมรู้สึกว่าจะได้ประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังทั้งหลายเป็นอันมาก ซึ่งจะทำให้ความสับสนต่างๆ ค่อยๆ จางไป ซึ่งบางครั้งการระลึกรู้กายนี้ ไม่ทราบว่าจะระลึกรู้ในฐานะอย่างไร เพราะพยัญชนะบอกว่า ยืน เดิน หรือนอน อะไรอย่างนี้ เป็นการบังสภาวะไว้ทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้น เมื่อบังสภาวะเช่นนี้ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานก็ไม่ทราบว่าเจริญอย่างไรจึงจะถูกต้อง

สุ. ตัวอย่างใน มหาสกุลุทายิสูตร มีข้อความว่า

กายของเรานี้แล มีรูป ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ เกิดแต่บิดา มารดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยง ต้องอบ ต้องนวดฟั้น มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้

ดูแล้วก็ทราบได้ว่า โลกทั้งหมดที่จะปรากฏได้ก็เพราะมีกายและเนื่องกับกาย เช่น ตาก็อยู่ที่กาย หู จมูก ลิ้น ก็อยู่ที่กาย แต่ทรงจำแนกออก ไม่ได้กล่าวถึง ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เรื่องของตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี ลิ้นก็ดี เพราะเหตุว่าทันทีที่เห็นมีการระลึกรู้ว่า ที่กำลังเห็นในขณะนี้เป็นสภาพรู้ ถ้าขณะนั้นสติระลึกว่าเป็นสภาพรู้เท่านั้น จะมีการยึดโยงเอาไว้ส่วนหนึ่งส่วนใดที่กายไหม ก็ไม่มี

นี่เป็นการที่จะกระจัดกระจายสิ่งที่เคยติดกันแน่นรวมกันแน่นให้ปรากฏสภาพนั้นเท่านั้น ทีละลักษณะ จึงสามารถที่จะประจักษ์ความเป็นธรรมของแต่ละนามแต่ละรูปได้

เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่าธรรมทั้งหลาย ก็แล้วแต่การพิจารณา ท่านพิจารณาเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่กาย ท่านพิจารณาเวทนา เวทนาก็ไม่ได้เกิดที่อื่น ก็ต้องเนื่องกับกาย เกิดกับจิต จิตก็เกิดที่กายนั้นเอง แต่ว่าพิจารณาระลึกรู้ลักษณะสภาพของความรู้สึก เมื่อความรู้สึกกำลังเป็นอารมณ์เพียงอย่างเดียว จึงจะประจักษ์ลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

สำหรับจิตก็เช่นเดียวกัน ทั้งๆ ที่ได้ยินก็เป็นจิต เนื่องกับกาย เพราะเหตุว่าโสตปสาทก็อยู่ที่กาย แต่เวลาที่ท่านระลึกรู้สภาพที่เป็นนามธรรมในขณะนั้น เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ใช่กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ถ. มีจิตดวงหนึ่งดวงใดไปสั่ง หรือไปบงการว่า อิริยาบถเหล่านี้จงทรงอยู่ในอาการอย่างนี้ได้ไหม

สุ. เป็นการเข้าใจธรรมคลาดเคลื่อนที่เข้าใจว่า มีจิตสั่งให้นั่ง ให้นอน ให้ยืน ให้เดิน หรือให้ไหวไปในลักษณะต่างๆ พระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ ทรงแสดงไว้ว่า รูปที่เกิดจากกรรมเป็นปัจจัย หรือเป็นสมุฏฐานก็มี รูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานก็มี รูปที่เกิดจากอุตุ ความเย็น ร้อน เป็นสมุฏฐานก็มี รูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐานก็มี แต่ไม่ใช่กรรมสั่ง ไม่ใช่จิตสั่ง ไม่ใช่อุตุสั่ง ไม่ใช่อาหารสั่ง

เวลาที่มีโลภมูลจิตเกิดขึ้นต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ความต้องการ คือ โลภมูลจิตที่เกิดนั้นเป็นปัจจัยให้รูปไหวไป ทำให้มหาภูตรูปเกิดขึ้น มีวิการที่อ่อนที่ควรแก่การงาน ที่จะทำให้ได้สิ่งนั้นมา แต่ไม่ใช่หมายความว่าจิตสั่ง

สำหรับท่านที่ยังข้องใจคิดว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นจะเว้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะของรูปนั้นบ้าง นามนั้นบ้าง หรือคิดที่จะเว้นไม่ระลึกรู้ลักษณะของเวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา จะระลึกเฉพาะบางหมวดของกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น ในครั้งอดีตที่ท่านฟังธรรมเพื่อการปฏิบัติธรรม ท่านไม่ได้มีความสงสัย ไม่มีความข้องใจเลยว่า จะต้องเว้นไม่ระลึกรู้นามและรูปที่กำลังปรากฏ เพราะถ้ายังไม่รู้ในลักษณะของนามรูปที่กำลังปรากฏก็ไม่ใช่ปัญญา ไม่ชื่อว่าเจริญสติ ไม่ชื่อว่าปัญญาคมกล้า สามารถละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และสติระลึกรู้ว่าเป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม

บางครั้งถึงแม้ว่าสติกำลังระลึกรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรม แต่เยื่อใยที่เคยยึดถือนามธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน ก็ไม่ใช่ว่าจะหมดสิ้นไปได้ง่ายๆ จะต้องอาศัยปัญญาที่เจริญมากขึ้นรู้ชัดขึ้น ปัญญาคมกล้าขึ้น จนกระทั่งไม่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมชนิดใด รูปธรรมชนิดใด ก็ย่อมสามารถละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้นได้ทันที ไม่ใช่ว่ามีความสงสัยหลงเหลืออยู่ หรือว่าไม่ใช่ว่ายังคงมีการยึดถือนามธรรมรูปธรรมนั้นๆ ว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

ขอกล่าวถึงเรื่องของท่านพระราหุล เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้ทราบว่า ผู้ที่เป็นเนยยบุคคลนั้นต้องเจริญสติปัฏฐานมากทีเดียว ไม่ใช่ว่าท่านจะเลือกเฉพาะบางบรรพ

ข้อความใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค ทายัชชภาณวาร พระราหุลกุมารทรงผนวชเป็นสามเณร ข้อความในพระวินัยปิฎกตอนนี้มีโดยย่อว่า

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ตามพระพุทธาภิรมย์แล้ว เสด็จจาริกไปทางพระนครกบิลพัสดุ์ ถึงพระนครกบิลพัสดุ์แล้ว ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ครั้นเวลาเช้า เสด็จไปสู่พระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสุทโธทนศากยะพระพุทธบิดา พระเทวีราหุลมารดาได้มีพระเสาวนีย์แก่พระราหุลกุมารให้ไปทูลขอทรัพย์มรดกต่อพระผู้มีพระภาค

พระราหุลกุมารจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับ พระราหุลกุมารก็ได้ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคไปเบื้องหลัง พลางทูลขอให้พระผู้มีพระภาคประทานทรัพย์มรดกให้

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคก็ตรัสให้ท่านพระสารีบุตรบวชให้พระราหุลกุมารเป็นสามเณรด้วยไตรสรณาคมน์ และทรงอนุญาตการบวชกุลบุตรเป็นสามเณรด้วยไตรสรณาคมน์ นับแต่กาลนั้นเป็นต้นมา

ข้อความใน อรรถกถาปปัญจสูทนี มีว่า

กุมารกปัญหา และ อัมพลัฏฐิกราหุโลวาทสูตร คือ จูฬราหุโลวาทสูตร ใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ นี้

พระผู้มีพระภาคตรัสโอวาทท่านพระราหุล เมื่อเป็นสามเณรอายุ ๗ ขวบ ซึ่งครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ ท่านพระราหุลอยู่ ณ ปราสาทชื่อว่า อัมพลัฏฐิกา พระผู้มีพระภาคทรงโอวาทให้ท่านพระราหุลพิจารณาชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

บุคคลผู้ไม่มีความละอายในการกล่าวมุสาทั้งที่รู้อยู่ ที่จะไม่ทำบาปกรรมแม้น้อยหนึ่ง ไม่มี เพราะเหตุนั้นแหละราหุล เธอพึงศึกษาว่า เราจักไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะกันเล่น ดูกร ราหุลเธอพึงศึกษาอย่างนี้

ดูกร ราหุล เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน แว่นมีประโยชน์อย่างไร ท่านพระราหุลกราบทูลตอบว่า

มีประโยชน์สำหรับส่องดู พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ฉันนั้นเหมือนกันแล ราหุล บุคคลควรพิจารณาเสียก่อนแล้วจึงทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ

นี่เป็นพระโอวาทที่ตรัสกับท่านพระราหุลเมื่อท่านเป็นสามเณรอายุ ๗ ขวบ และมีราหุโลวาทสูตร ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสเพื่อทรงพระโอวาทท่านพระราหุลเนืองๆ นอกจากนั้นยังมี ราหุลสังยุต ใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสเทศนาเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ไม่เที่ยงใน รูปสูตร

จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณไม่เที่ยง ใน วิญญาณสูตร

จักขุสัมผัสสะ โสตสัมผัสสะ เป็นต้นไป ก็ไม่เที่ยง ใน สัมผัสสสูตร

ใน เวทนาสูตร สัญญาสูตร เจตนาสูตร ตัณหาสูตร ธาตุสูตร ก็ได้กล่าวถึงเรื่องของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ ไม่เที่ยง

ใน ขันธสูตร ได้ตรัสเทศนาเรื่องของขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง

สำหรับ ราหุลสังยุต นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสโอวาทตั้งแต่ท่านพระราหุล บวชเป็นสามเณรจนถึงอุปสมบทเป็นภิกษุยังไม่ได้ ๑ พรรษา พระผู้มีพระภาคตรัส ราหุลสังยุต เพื่อทรงอบรมวิปัสสนา ไม่มีข้อความใดเลยที่จะกล่าวเฉพาะเพียงหมวดหนึ่ง ในบรรพหนึ่งเท่านั้นก็พอ เพราะทรงโอวาทเพื่อให้ท่านพระราหุลอบรมเจริญสติ เจริญวิปัสสนา เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรม แล้วก็ทรงแสดงไว้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งสภาพธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นปรากฏ ใน มหาราหุโลวาทสูตร ใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระผู้มีพระภาคตรัสเมื่อท่านพระราหุลเป็นสามเณร อายุ ๑๘ เพื่อกำจัดฉันทราคะที่เป็นเคหสิตะ

สำหรับ มหาราหุโลวาทสูตร ใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ นั้น มีข้อความว่า ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน แล้วก็เสด็จไปบิณฑบาต ท่านพระราหุลก็ตามเสด็จไป พระผู้มีพระภาคก็ทรงโอวาทเรื่องรูปไม่เที่ยง ซึ่งท่านพระราหุลก็กราบทูลถามว่า

รูปเท่านั้นไม่เที่ยงหรือ พระพุทธเจ้าข้า

ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสถึง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งหมดไม่เที่ยง แล้วท่านพระราหุลก็กลับไปเจริญสมณธรรม

ส่วน จูฬราหุโลวาทสูตร ใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ มีข้อความว่าครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ครั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังเวลาพระกระยาหารแล้ว ตรัสกับท่านพระราหุล ให้ถือผ้ารองนั่ง เข้าไปยังป่าอันธวัน เพื่อพักผ่อนกลางวันกัน และทรงแสดงธรรมอนุเคราะห์ท่านพระราหุล เพราะเหตุว่าท่านพระราหุลอบรมอินทรีย์แก่กล้าที่จะบรรลุพระอรหันต์แล้ว

ธรรมที่ทรงแสดงใน จูฬราหุโลวาทสูตร นั้น ก็เป็นเรื่องของตา เรื่องของรูป เรื่องของจักขุวิญญาณไม่เที่ยง เรื่องของหู เรื่องของเสียง เรื่องของโสตวิญญาณ สภาพที่ได้ยินไม่เที่ยง คือ เรื่องของทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่เที่ยงนั่นเอง และในครั้งนั้น ท่านพระราหุลก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

จูฬราหุโลวาทสูตร ใน มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสเมื่อท่านพระราหุลอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วครึ่งพรรษา

นี่คือการที่บุคคลจะต้องเจริญอบรมธรรมอย่างมากทีเดียวที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านพระราหุลได้อบรมมาที่จะบรรลุธรรมเป็นถึงพระอรหันต์ แต่ถึงกระนั้นพระผู้มีพระภาคก็ยังได้ทรงโอวาทพร่ำสอนให้มีสติระลึกรู้ลักษณะของนาม และรูป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้ผู้ที่ได้อบรมอินทรีย์มาที่จะได้เป็นพระอรหันต์ ก็ยังเว้นไม่ได้


หมายเลข  5773
ปรับปรุง  17 ธ.ค. 2565