แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 149


พระผู้มีพระภาคตรัสถามลัทธิของอาจารย์ของสกุลุทายี ซึ่งสกุลุทายีก็ตอบว่า ในลัทธิอาจารย์ของตนนั้นมีอยู่อย่างนี้ว่า นี้เป็นวัณณะอย่างยิ่ง นี้เป็นวัณณะอย่างยิ่ง

ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงธรรมแก่สกุลุทายีเป็นอันมาก คล้ายๆ กับในเวขณสสูตร ซึ่งทำให้สกุลุทายีเกิดความเลื่อมใสยิ่ง และก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ และได้ขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค แต่ว่าเมื่อสกุลุทายีปริพาชกกราบทูลอย่างนี้แล้ว บริษัทของสกุลุทายีปริพาชกได้กล่าวห้ามสกุลุทายีปริพาชก ว่า

ท่านอุทายี ท่านอย่าประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเลย ท่านอุทายี ท่านเป็นอาจารย์ อย่าอยู่เป็นอันเตวาสิกเลย เปรียบเหมือนเป็นหม้อน้ำแล้ว จะพึงเป็นจอกน้อยลอยในน้ำ ฉันใด ข้ออุปมานี้ก็จักมีแก่ท่านอุทายี ฉันนั้น ท่านอุทายี ท่านอย่าประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเลย ท่านอุทายีเป็นอาจารย์ อย่าอยู่เป็นอันเตวาสิกเลย

เรื่องนี้เป็นอันยุติว่า บริษัทของสกุลุทายีปริพาชก ได้ทำสกุลุทายีปริพาชกให้เป็นอันตรายในพรหมจรรย์ ในพระผู้มีพระภาค ด้วยประการฉะนี้

ตนเองฟังแล้วเกิดความเลื่อมใส ใคร่ที่จะได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของ พระผู้มีพระภาค แต่ว่าศิษย์ไม่ยอม ผลที่สุดก็ตามศิษย์ คือ ไม่ได้บรรพชาอุปสมบท แต่ถึงกระนั้นก็จะเห็นพระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาคที่ได้ทรงแสดงธรรมกับสกุลุทายีปริพาชก เพื่อให้เป็นอุปนิสัยปัจจัยสำหรับในกาลข้างหน้า ซึ่งใน ปปัญจสูทนี มีข้อความอธิบายว่า

ได้ยินว่า สกุลุทายีนี้บวชในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ได้บำเพ็ญสมณธรรม ครั้งนั้นภิกษุผู้เป็นสหายของท่านไม่ยินดีในศาสนา บอกท่านว่าจะสึก ท่านยังความโลภให้เกิดขึ้นในบาตรและจีวรของภิกษุนั้น จึงได้พรรณนาความดีของคฤหัสถ์ สหายของท่านก็ได้ถวายบาตรและจีวรแก่ท่าน แล้วก็สึก ด้วยกรรมนั้นจึงเกิดมีอันตรายแก่การบรรพชาในเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคในกาลบัดนี้ และมิได้บรรลุมรรคผล

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่สกุลุทายีปริพาชก ด้วยทรงพระดำริว่า การแสดงธรรมครั้งเดียวนี้ เขาไม่บรรลุมรรคผล แต่ก็จะเป็นปัจจัยแก่เขาในอนาคต พระผู้มีพระภาคทรงเล็งเห็นว่า สกุลุทายีผู้นี้บวชในศาสนาของพระองค์ในอนาคต จักเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เมตตาวิหารี คือ ในการอยู่ด้วยเมตตา ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงไม่ทรงตั้งแม้ภิกษุรูปหนึ่ง แม้ในเอตทัคคะในเมตตาวิหารี

เมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้ว ในสมัยพระเจ้าธรรมาโศกราช สกุลุทายีก็ได้เกิดในเมืองปาตลีบุตร บวชแล้วได้บรรลุอรหันต์ นามว่าพระอัสสคุตตเถระ ได้เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เมตตาวิหารี

การที่กล่าวถึงสกุลุทายี เพื่อจะแสดงให้ท่านผู้ฟังเห็นภัยของโทษแม้เพียงเล็กน้อยที่ประมาทไม่ได้เลย ซึ่งความจริงสกุลุทายีควรจะได้ขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค ได้เจริญหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ด้วยเหตุ คือ กรรมอันเล็กน้อยที่ได้ทำไว้ ทำให้สกุลุทายีนั้นไม่ได้บรรพชาอุปสมบท

ถ. อาตาปีเป็นวิริยเจตสิก และสัมมาวายามะซึ่งมีอยู่ในมรรค ๘ ก็เป็นวิริยเจตสิกเหมือนกัน ท่านกล่าวว่าทั้ง ๒ ประเภทนี้ หมายถึงสัมมัปธาน ๔ ดังนั้นการปฏิบัติ ควรจะปฏิบัติประการใด

สุ. ใน ปปัญจสูทนี มีข้อความว่า

คำว่า อาตาปิ แปลว่า ผู้มีอาตาปะ มีเนื้อความว่า สิ่งใดเผากิเลสทั้งหลายในภพ ๓ สิ่งนั้นชื่อว่า อาตาปะ แปลว่า ผู้เผา

คำนี้เป็นชื่อแห่งความเพียร ผู้ใดมีอาตาปะ ผู้นั้นชื่อว่า อาตาปี

แต่ในสติปัฏฐาน ใช้พยัญชนะว่า อาตาปี สัมปชาโน สติมา

เพราะฉะนั้น คำว่าอาตาปีนั้น เผาอะไร

แก้ว่า เผาความไม่รู้

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะวิริยเจตสิกที่เป็นอาตาปี ที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ นั้น เกิดร่วมกับสัมมาสติและสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเมื่อสัมมาสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด หมายความว่าในขณะนั้นต้องมีความเพียร จึงได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น

ท่านอาจจะเรียนเรื่องของจิต โดยที่ยังไม่ได้ศึกษาเรื่องของเจตสิก ท่านก็ไม่ทราบว่า ในขณะที่จิตดวงนั้นเกิด มีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าศึกษาเรื่องของเจตสิกแล้ว ท่านก็จะทราบว่า ในขณะที่จิตดวงนั้นเกิดมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วยเป็นไปในอารมณ์นั้น

เพราะฉะนั้น ท่านอาจจะคิดว่า เป็นตัวท่านที่กำลังพากเพียร มีความยึดถือรูปขันธ์บ้าง เวทนาขันธ์บ้าง สัญญาขันธ์บ้าง สังขารขันธ์บ้าง วิญญาณขันธ์บ้างว่าเป็นตัวตนที่กำลังพากเพียร นั่นไม่ใช่ลักษณะของสัมมาสติ หรือการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งถ้าเป็นลักษณะของสัมมาสติแล้ว สติเป็นสภาพที่ระลึกได้ ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น และในขณะที่สติระลึกนั้น ก็มี วิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว ไม่ใช่ว่าต้องมีความเป็นตัวตน เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่กำลังพากเพียร หรือทุ่มเทความพากเพียรความจดจ้อง นั่นเป็นลักษณะของตัวตน

แต่ขณะใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของกายว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ระลึกรู้ลักษณะของจิต ของเวทนา ของธรรม ในขณะนั้นมีวิริยะ และก็เป็นอาตาปี เป็นสัมมาวายาโม ที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ เกิดแล้วด้วย ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

เพราะฉะนั้น ที่ท่านยกขึ้นเป็นประธาน คือ สติ ใช้คำว่า มหาสติปัฏฐาน ยกสติซึ่งเป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นขึ้นเป็นประธาน ซึ่งในขณะที่สติระลึกก็มีความเพียร มีวิริยเจตสิกซึ่งเป็นอาตาปี เป็นสัมมาวายาโมด้วย

สำหรับลักษณะของวิริยเจตสิก ใน อัฏฐสาลินี ซึ่งเป็น อรรถกถาคัมภีร์ ธรรมสังคณี มีข้อความว่า

วิริยเจตสิก มีอุตสาหะ เป็นลักษณะ

มีการอุปถัมภ์สหชาตธรรมทั้งหลาย เป็นรสะ (เป็นหน้าที่)

มีความไม่ท้อแท้ เป็นปัจจุปัฏฐาน (เป็นอาการที่ปรากฏ)

มีความสลดใจ เป็นปทัฏฐาน (เป็นเหตุใกล้)

ในขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นวิริยะแล้ว ไม่ใช่ความท้อแท้ใจ ถ้าเป็นความท้อแท้ใจก็ไม่ระลึก จะระลึกทำไม นาม รูป กาย เวทนา จิต ธรรม เพราะฉะนั้น บางท่านที่ไปพากเพียรจงใจด้วยความเป็นอัตตา เมื่อไม่ได้ผลสมดังความปรารถนา ไม่รู้ลักษณะของนามและรูป แต่ไปหวังที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป เมื่อไม่ได้ประจักษ์ก็เกิดความท้อแท้ขึ้น จะเป็นสัมมาวายามะ จะเป็นอาตาปีได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะว่าลักษณะของวิริยะที่เป็นไปในกุศล มีความไม่ท้อแท้ใจเป็นปัจจุปัฏฐาน เป็นอาการที่ปรากฏ

ถึงแม้ว่าทางดำเนินมัชฌิมาปฏิปทาที่จะให้รู้ชัดในสภาพธรรม เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น จะเป็นทางที่ไกลมาก สติระลึกรู้นามและรูปจนทั่ว เพื่อละความไม่รู้ทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ไม่ใช่ยังเก็บความไม่รู้ไว้ แล้วเพิ่มตัณหาความต้องการเข้าไปอีกสำหรับที่จะทำให้รู้ขึ้น โดยวิธีนั้นจะไม่ทำให้รู้อะไรเลย แต่ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของนามว่าเป็นนาม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล ระลึกรู้ลักษณะของรูปว่าเป็นรูป ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล ในขณะนั้นก็ไม่ท้อแท้ที่จะระลึกและดำเนินหนทางมัชฌิมาปฏิปทา

สำหรับปทัฏฐาน คือ เหตุใกล้ให้เกิดนั้น มีความสลดใจเป็นปทัฏฐาน ซึ่งข้อนี้พระบาลีแสดงว่า

ผู้มีความสลดใจ ย่อมเริ่มตั้งความเพียรโดยปัญญา นัยหนึ่ง

อีกนัยหนึ่งนั้น หรือมีธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งการปรารภความเพียร เป็นปทัฏฐาน

มีนาม มีรูป ที่เกิดขึ้นปรากฏทำให้สติระลึก ความเพียรก็ทำให้ระลึกบ่อยๆ เนืองๆ เพื่อการที่จะรู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏ

สำหรับพยัญชนะที่ท่านได้ยินบ่อยๆ ใน โพธิปักขิยธรรม คือ สัมมัปธาน ๔ ใน วิภังคปกรณ์ ก็มีข้อความเรื่อง สัมมัปธาน ๔

สัมมัปธาน ๔ นั้น ได้แก่

สังวรปธาน เพียรป้องกันบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้น มิให้เกิดขึ้น

ปหานปธาน เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว

ภาวนาปธาน เพียรเจริญกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น

อนุรักขณาปธาน เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เสื่อม

นี่เป็นกิจของวิริยะ ซึ่งเป็นไปพร้อมกันในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป กาย เวทนา จิต ธรรม

สำหรับสังวรปธาน กิจที่ ๑ เพียรป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นมิให้เกิดขึ้น

ในขณะนี้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ คือ ความเพียรที่จะไม่ให้อกุศลที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น เพราะเหตุว่าถ้าไม่เพียรอย่างนี้ อกุศลก็ย่อมเกิดเรื่อยๆ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ว่าเป็นนามธรรมเป็นรูปธรรม ก็ไม่หมดกิเลส เพราะฉะนั้น การที่วิริยะเกิดขึ้นร่วมกับสติ เพียรระลึกรู้ว่า สภาพนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นแต่เพียงรูปธรรม ความเพียรในขณะนั้นทำกิจป้องกันอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นมิให้เกิดขึ้น

ที่จริงแล้ว ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม วิริยะ คือ อาตาปี สัมมัปธานที่เกิดขึ้นนั้น ทำกิจทั้ง ๔

กิจที่ ๑ คือ เพียรป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้นมิให้เกิดขึ้น เพราะรู้ว่าจะต้องเกิด ถ้าไม่เพียรระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริงอย่างนี้ โลภะก็ต้องเกิด โทสะก็ต้องเกิด โมหะก็ต้องเกิด การที่ยึดถือสภาพของนามและรูปว่าเป็นตัวตนก็ไม่ดับหมดสิ้น เพราะฉะนั้น ทางเดียวที่จะดับไม่ให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิด คือ สติระลึก สัมมาวายามะก็เป็นไปกับสติ สัมมัปธานนั้นเป็นไปพร้อมกับสติ เป็นมรรคองค์หนึ่งในมรรคมีองค์ ๘

กิจที่ ๒ ของสัมมัปธาน คือ เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดแล้ว

ใครห้ามบาปอกุศลธรรมไม่ให้เกิดได้บ้าง เมื่อมีเชื้อของโลภะ โลภะก็ต้องเกิด เมื่อมีเชื้อของโทสะ โทสะก็ต้องเกิด เมื่อยังมีเชื้อของกิเลสใดๆ ที่ได้สะสมมา กิเลสนั้นๆ ก็ต้องเกิด ตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งทางเดียวที่จะเพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว คือ สติระลึกรู้ลักษณะนั้นว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ขณะที่สติเกิดระลึกรู้ ขณะนั้นเป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้น ก็เป็นการละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้

กิจที่ ๓ ของสัมมัปธาน คือ เพียรเจริญกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น

กุศลธรรมมีหลายอย่าง ทานเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นอีก ศีลเกิดขึ้นแล้ว ก็เกิดขึ้นอีก แต่สัมมาทิฏฐิ ปัญญาที่รู้ชัดในสภาพนามธรรมและรูปธรรมว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ที่จะเป็นญาณแต่ละขั้นนั้นเกิดแล้วหรือยัง ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปในขณะนั้น ก็เพียรไปในทานซึ่งเกิดแล้วก็เกิดอีก กี่ภพ กี่ชาติ ก็มีทานอีก

ศีล ก็เพียรไปในศีล กี่ภพ กี่ชาติ ก็มีการวิรัติ มีการประพฤติตามศีล แต่ว่า ภาวนาปธานนั้น เพียรเจริญกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น ญาณต่างๆ วิปัสสนาญาณต่างๆ ความรู้ชัดเกิดแล้วหรือยัง ญาณใดเกิดแล้ว ญาณใดยังไม่เกิด หรือว่าญาณทั้งหมดยังไม่เกิดเลย เพียงแต่เป็นผู้ที่ปรารภสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป เพื่อที่จะให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นนั้นให้เกิดขึ้น

. (ไม่ได้ยิน)

สุ. ไม่ต้องเป็นห่วงสัมมัปธาน ๔ เพราะว่าขณะใดที่สติระลึกรู้สภาพที่เป็นนามว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็น อาตาปี เป็นสัมมัปธานทั้ง ๔ เป็นสัมมาวายามะ ซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ ในขณะนั้น ไม่ต้องมีตัวตนไปจัดทำ ๔ กิจ แต่วิริยเจตสิกในขณะนั้นทำกิจทั้ง ๔ ในขณะที่สติระลึกรู้ว่า สภาพนั้นเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

กิจที่ ๔ ของสัมมัปธาน กิจสุดท้าย คือ อนุรักขณาปธาน เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม

ถ้าท่านระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมครั้งหนึ่ง ประเภทหนึ่ง ระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมชนิดหนึ่ง ทวารหนึ่ง และไม่ระลึกอีกบ่อยๆ ก็ไม่รู้ชัด ปัญญาก็ไม่แจ่มแจ้ง ซึ่งทางที่จะทำให้กุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่เสื่อม คือ ระลึกรู้สภาพของนามและรูปบ่อยๆ เนืองๆ

ถ. สัมมัปธานที่อาจารย์อธิบายไปแล้ว ก็พอเข้าใจได้ว่า วิริยเจตสิกนี้ เวลาเกิดร่วมกับสตินั้นทำกิจ ๔ อย่าง อย่างหนึ่งคอยกัน อย่างหนึ่งกำจัด อย่างหนึ่งทำให้เจริญ อีกอย่างทำหน้าที่รักษา เกิดขึ้นทีเดียวพร้อมกันเลย

มีบางท่านไปเจริญสติในที่บางแห่ง ท่านบอกว่าต้องนั่งจนรู้สึกเมื่อยแล้วจึงจะเปลี่ยน การนั่งจนให้รู้สึกเมื่อยจึงจะเปลี่ยนเช่นนี้ จะเรียกว่าสัมมัปธาน หรืออย่างไรครับ

สุ. ชีวิตจริงๆ เป็นปกติเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ชีวิตทุกๆ วันเป็นปกติธรรมดาเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า การเจริญสติปัฏฐาน คือ การเป็นผู้มีปกติเจริญสติ ไม่ใช่เป็นผู้ผิดปกติทำวิปัสสนา ขณะใดที่ท่านเป็นปกติอยู่ และสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทีละอย่างที่กำลังเกิดขึ้นปรากฏในขณะนั้น นั่นเป็นการที่สัมมาสติเกิดขึ้นระลึกเพื่อรู้ แล้วก็ละการที่เคยยึดถือนามรูปใดๆ ที่เกิดกับท่านว่าเป็นตัวตน

. มีคำถาม ๓ ข้อ

๑. ที่อาจารย์กล่าวว่า การปลีกตัวออกไปปฏิบัติวิปัสสนา เป็นอัตตา มีว่าไว้ในพระสูตรไหน คัมภีร์ไหน

๒. เคยได้ยินว่า ในสติปัฏฐานให้รู้ว่า นั่ง นอน ยืน เดิน ในท่าทางอาการ แต่อาจารย์สอนว่า ให้รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง มีอยู่ในพระสูตรไหน

๓. ที่ว่าพระโสดารู้แต่กายอย่างเดียว ไม่รู้เวทนา ไม่รู้จิต ไม่รู้ธรรม จะต้องมาเจริญเวทนา จิต ธรรมอีก มีว่าไว้ในสูตรไหน

สุ. ที่ท่านถามว่า การปลีกตัวออกไปปฏิบัติวิปัสสนาเป็นอัตตา มีว่าไว้ในพระสูตรไหน คัมภีร์ไหน

ท่านต้องการแต่เฉพาะชื่อสูตร แล้วก็คัมภีร์ แต่ในการเจริญสติปัฏฐาน ข้อประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องนั้น จะต้องตรวจสอบเทียบเคียงทั้ง ๓ ปิฎก ให้มีความเข้าใจที่ไม่คลาดเคลื่อน จึงจะเป็นสัมมามรรคได้

ท่านเข้าใจว่า ท่านจะปลีกตัวออกไปปฏิบัติวิปัสสนา และโดยมากที่ท่านปลีกตัวออกไป ท่านก็ไปสู่สถานที่ที่เรียกว่าสำนักปฏิบัติ แต่ท่านไม่ได้พิจารณาข้อปฏิบัติว่า ข้อปฏิบัตินั้นเทียบเคียงกับพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรมได้ไหม

และสำหรับการที่จะเทียบเคียงข้อปฏิบัติของสำนักปฏิบัตินั้นก็ต้องเทียบเคียงกับสำนักของพระผู้มีพระภาค ซึ่งภิกษุประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ซึ่งในพระวินัยปิฎกจะมีเรื่องชีวิตของบรรพชิตอย่างครบถ้วนทีเดียว ซึ่งทั้งๆ ที่เป็นข้อปฏิบัติของบรรพชิต ไม่ใช่เป็นข้อปฏิบัติของฆราวาส แต่แม้กระนั้นชีวิตของท่านก็เป็นปกติ ดำเนินไปเป็นปกติทีเดียว


หมายเลข  5791
ปรับปรุง  23 ธ.ค. 2565