แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 154
รูปต่อไป คือ
รูปที่ ๑๕ หทยรูป รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตอื่นๆ ทั้งหมด เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง ซึ่งรูปนี้อยู่ที่กลางหัวใจ ถ้าเป็นสภาพปกติ
กล่าวคือ ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นมีรูปเกิดร่วมด้วย ๓ กลุ่ม ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีหัวใจเลย คือมี วัตถุทสกะ ที่เกิดของปฏิสนธิจิต มี กายทสกะ ที่เป็นส่วนของกาย มี ภาวทสกะ ที่เป็นส่วนของรูปที่เป็นหญิงหรือเป็นชาย รูปหนึ่งรูปใดสำหรับบุคคลหนึ่ง
คำว่า วัตถุทสกะ หรือ หทยรูป ตามปกติหมายความถึงรูปที่อยู่กลางหัวใจขณะที่มีหัวใจแล้ว แต่ความจริงรูปนี้เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตซึ่งยังไม่มีหัวใจเลย และเป็นที่เกิดของจิตอื่นทุกดวง เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง จึงเป็นรูปหนึ่ง ใน ๒๘ รูป เป็นรูปที่ ๑๕
เมื่อศึกษาลักษณะของรูปทั้ง ๒๘ รูปแล้ว จะหารูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดินไม่ได้เลย ไม่มีกล่าวไว้ เพราะเหตุว่าเป็นแต่เพียงลักษณะอาการของรูป หลายๆ รูปที่ประชุมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ซึ่งทรงอยู่ ตั้งอยู่ในลักษณะหนึ่งลักษณะใดเท่านั้น
นอกจากจะระลึกรู้นามทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย บางท่านที่ได้ฌาน ท่านก็ระลึกรู้รูปที่เป็นที่เกิดของฌานจิต แต่ไม่ใช่โคจรรูป ไม่ใช่วิสยรูป
เพราะฉะนั้น รูปที่ควรเป็นที่ระลึกรู้ของสติก็ควรเป็นโคจรรูป หรือวิสยรูป ซึ่งเป็นปกติธรรมดา และปรากฏความเป็นอนัตตา
รูปที่ ๑๖ อิตถีภาวรูป ได้แก่ ภาวะแห่งหญิง ซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วทั้งกาย ในภูมิที่ไม่ใช่พรหมโลก ไม่ใช่ผู้ที่ละความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กรรมทำให้ภาวรูปเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต อิตถีภาวรูปเป็นรูปที่แสดงภาวะของความเป็นหญิงซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วทั้งกาย ไม่ว่าจะเป็นสัณฐาน ที่มือ ที่เท้า ก็ปรากฏเป็นมือ เป็นเท้า ที่เป็นภาวะของหญิง หรือจะเป็นกิริยาอาการ การยิ้ม การหัวเราะ ก็ปรากฏเป็นภาวะของหญิง ตามอิตถีภาวะรูปซึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต หรือไม่ว่าจะเป็นการยืน การเดิน การเล่นต่างๆ ก็แสดงความเป็นภาวะของหญิง เพราะอิตถีภาวรูปนี้เป็นรูปที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต
เรื่องของรูปเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ซึ่งจะขอกล่าวถึงรูปเป็นประเภทๆ เพื่อให้ท่านพิสูจน์ว่า เวลาที่เจริญสตินั้นจะระลึกรู้ลักษณะของรูปใดเท่านั้น
รูปที่ ๑๗ ปุริสภาวรูป เป็นภาวะแห่งชาย ซึ่งก็โดยนัยเดียวกัน เป็นรูปที่ซึมซาบอยู่ทั่วทั้งตัว ทำให้สัณฐานมือเท้า เป็นต้น ก็เป็นภาวะของเพศชาย ทำให้กิริยา การยิ้มแย้ม หรืออิริยาบถนั่ง นอน ยืน เดิน หรือการเล่น ก็เป็นลักษณะของเพศชาย เป็นภาวะของชาย นั่นก็เป็นรูปที่ซึมซาบอยู่ทั่วทั้งตัว
รูปที่ ๑๘ ชีวิตินทริยรูป เป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ที่ทำให้คน สัตว์ ต่างกับต้นไม้ใบหญ้าซึ่งเกิดเพราะอุตุ คือ ความเย็น ความร้อน
เมื่อกรรมเป็นปัจจัยให้จักขุปสาทรูปเกิดกับธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชาแล้ว กรรมก็ยังเป็นปัจจัยให้ชีวิตินทริยรูปเกิดร่วมด้วยในกลุ่มนั้น เพื่ออุปถัมภ์รูปที่เกิดจากกรรมให้เป็นรูปที่ทรงชีวิต หรือว่าดำรงชีวิตอยู่ตามควรแก่รูปนั้นๆ แล้วแต่กรรมของใครจะสร้างรูปที่ผ่องใสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่ได้สร้างสมมา และนอกจากกรรมจะเป็นปัจจัยให้ตา หู จมูก ลิ้น กายเป็นอย่างนั้นๆ ก็ยังมีชีวิตินทริยรูปที่เกิดร่วมด้วยอุปถัมภ์รูปนั้นให้เป็นรูปที่ดำรงชีวิตอยู่ เป็นรูปซึ่งไม่เหมือนกับต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ เพราะเป็นรูปซึ่งเกิดจากกรรม
ถ้าไม่ได้ทรงแสดงไว้ จะทราบไหมว่ามีรูปนี้ แต่ก็พอที่จะอนุมานเห็นความต่างกันของรูปที่เกิดเพราะกรรมกับรูปที่เกิดเพราะอุตุ เช่นต้นไม้ใบหญ้าได้ว่า มีความต่างกัน เพราะไม่สามารถที่จะเอาอุตุมาสร้างรูปที่เกิดเพราะกรรมได้เลย
ทั้ง ๑๘ รูปนี้ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ ซึ่งกล่าวโดยนัยของอารมณ์ แต่ถ้ากล่าวโดยความเป็นรูปก็ได้แก่ วรรณะ สัททะ คันธะ รสะ ปฐวี เตโช วาโย อาโป โอชา จักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป หทยรูป อิตถีภาวรูป ปุริสภาวรูป ชีวิตินทริยรูป ทั้งหมด ๑๘ รูป ชื่อว่า สภาวรูป
สภาวรูป หมายความว่าเป็นรูปที่มีสภาพของตนๆ เช่น สภาพที่แข็ง ก็มีลักษณะที่แข็งที่เป็นสภาพของตนจริงๆ นอกจากนั้นทั้ง ๑๘ รูปนี้ยังชื่อว่า สลักขณรูป เพราะประกอบด้วยลักษณะทั้งหลาย มีความเกิด เป็นต้น หรือมีความไม่เที่ยง เป็นต้น คือ มีความเกิดขึ้นและมีความดับไป ประกอบด้วยลักษณะที่เป็นไตรลักษณ์
นอกจากนั้นรูปทั้ง ๑๘ รูปนี้ยังชื่อว่า นิปผันนรูป เพราะเป็นสิ่งที่สำเร็จเกิดขึ้นจากปัจจัย มีกรรม เป็นต้น และยังชื่อว่า สัมมสนรูป เพราะควรเพื่อพิจารณาให้ประจักษ์ในสภาพที่เป็นไตรลักษณ์ เพื่อประจักษ์ในความไม่เที่ยง
มีท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดินไหม
เพราะฉะนั้น ท่านที่กล่าวว่าท่านรู้รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน เป็นต้น ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน เป็นรูปอะไรในสัมมสนรูป ๑๘ รูปบ้าง ไม่มีเลย แล้วยังหลงเข้าใจว่า ท่านได้รู้รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดินแล้ว นั่นเป็นการรู้ผิดหรือว่ารู้ถูก ถ้าไม่มีการรู้ผิดเลย ในพระไตรปิฎกจะไม่มีคำว่า มิจฉาญาณะ หรือ มิจฉาวิมุตติ แต่เพราะธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียด แล้วอาจจะเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนได้ ถ้าท่านไม่ตรวจสอบเทียบเคียงกับพระธรรมวินัยอย่างถูกต้อง ก็ย่อมจะเป็น มิจฉาญาณะ และ มิจฉาวิมุตติ ได้
ท่านสอบทานเทียบเคียงได้ ถ้าท่านแน่ใจจริงๆ ท่านต้องหาได้ ท่านต้องแสดงได้ว่า ใน ๑๘ รูปนี้ ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน เป็นรูปอะไรใน ๑๘ รูป
รูปที่ ๑๙ กายวิญญัติรูป คือ อาการของกายที่ทำให้มีความหมายในอาการนั้นๆ ตามเจตนาของจิตที่เป็นสมุฏฐาน กายนี้สามารถที่จะแสดงให้คนอื่นรู้ในความหมายนั้นได้ ในขณะนั้น รูปนั้นเกิดขึ้นเพราะมีจิตเป็นสมุฏฐาน ชื่อว่า กายวิญญัติรูป เป็นอสภาวรูป คือ ไม่ใช่เป็นรูปที่มีลักษณะเฉพาะของตนแยกออกไปอีกต่างหาก แต่เป็นลักษณะของสัมมสนรูป เป็นลักษณะของนิปผันนรูป เป็นลักษณะของสภาวรูปตามสมควรแก่กลุ่มนั้น กลาปนั้นนั่นเอง แต่เพราะเหตุว่ามีจิตที่ต้องการให้เกิดความหมายตามเจตนาของจิต จิตจึงเป็นสมุฏฐานให้รูปนั้นมีความหมายในอาการของรูปที่เกิดนั้นด้วย เป็นกายวิญญัติรูป แต่ไม่ใช่มีสภาวะแยกออกไปต่างหากที่เป็นของตน เพียงแต่ว่า รูปนั้นมีความหมายให้รู้ได้ตามเจตนาของจิตที่เป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปนั้น
รูปต่อไปในอสภาวรูป อสัมมสนรูป ที่มี ๑๐ รูป คือ วจีวิญญัติรูป ซึ่งถ้าจะกล่าวถึงเป็นลำดับ ก็เป็นลำดับที่ ๒๐
วจีวิญญัติรูป คือ รูปที่ทำให้เกิดเสียงขึ้น ในฐานเกิดแห่งคำพูด โดยมีจิตเป็นสมุฏฐาน ที่กำลังพูดอยู่เดี๋ยวนี้เป็นวจีวิญญัติรูป มีวจีวิญญัติทำให้เสียงเกิดขึ้นในฐานแห่งคำพูด โดยมีจิตเป็นสมุฏฐาน จะพูดว่าอะไรก็แล้วแต่ มีจิตเป็นสมุฏฐานให้รูปนั้นทำให้เกิดเสียงขึ้นในฐานแห่งอักษร หรือว่าในฐานเกิดแห่งคำพูด ไม่ใช่เสียงลม ไม่ใช่เสียงใบไม้ แต่ว่าเป็นเสียงที่เกิดขึ้นเพราะมีจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นรูปที่ ๒๐ ในรูป ๒๘ รูป และเป็นรูปที่ ๒ ของอสภาวรูป อสัมมสนรูป ๑๐ รูป
รูปที่ ๒๑ ลหุตารูป ได้แก่ สภาพที่เบา ไม่หนักของรูป อุปมาว่า ดุจคนไม่มีโรค
รูปที่ ๒๒ มุทุตารูป ได้แก่ ความอ่อนละมุนของรูป อุปมาว่า ดุจหนังที่เขาฟอกดีแล้ว หนังที่ยังไม่ได้ฟอก แข็ง หนังที่ฟอกแล้ว อ่อน แต่ก็ยังคงเป็นหนังนั่นเอง ไม่ใช่ว่ามีลักษณะอ่อนละมุนต่างหากออกไปจากตัวหนัง
รูปที่ ๒๓ กัมมัญญตารูป ได้แก่ สภาวะ สภาพลักษณะของรูปที่ควรแก่การงาน อุปมาว่า ดุจทองที่เขาหลอมดีแล้ว ทองที่ยังไม่ได้หลอมกับทองที่หลอมแล้ว ลักษณะผิดกัน แต่ไม่ใช่ว่าลักษณะที่ควรแก่การงานที่หลอมแล้ว เป็นลักษณะที่แยกออกไปจากทอง เป็นลักษณะของทองนั่นเอง แต่ว่าควรแก่การงาน เพราะเหตุว่าหลอมแล้ว
๓ รูปนี้รวมเป็นวิการรูป ๓ ได้แก่ ลหุตารูป ๑ มุทุตารูป ๑ กัมมัญญตารูป ๑
สำหรับอสัมมสนรูปมี ๑๐ รูป มีกายวิญญัติรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑ ลหุตารูป ๑ มุทุตารูป ๑ กัมมัญญตารูป ๑
มีท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดินไหม ไม่มี
จะไปรู้ท่า รู้ทางทำไม ที่ไปรู้เป็นท่า เป็นทางปิดบังสภาพของรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ ไม่ได้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่เป็นรูปตามปกติเลย
เพราะฉะนั้น กายวิญญัติรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑ ที่เป็นวิญญัติรูป ๒ และ ลหุตารูป ๑ มุทุตารูป ๑ กัมมัญญตารูป ๑ ซึ่งเป็นวิการรูป ๓ นี้ ไม่ใช่รูปที่ควรแก่การพิจารณาเพื่อจะประจักษ์ไตรลักษณ์
ที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย จะต้องรู้ความอ่อนแข็ง ความเย็นร้อน ความตึงไหว ไม่ใช่ไปรู้ความเบา ความอ่อนละมุน ความควรแก่การงาน ของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เพราะว่าเป็นแต่เพียงสภาพลักษณะอาการของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมเท่านั้น ไม่ใช่เป็นรูปอีกรูปหนึ่งซึ่งแยกต่างหากออกไปได้ เอาอะไรมาจากไหนที่จะมาเป็นท่าทางลอยๆ ขึ้นมาได้ โดยที่ไม่ใช่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม
อีก ๕ รูปที่เหลือ คือ ลักขณรูป ๔ และ อากาสรูป หรือ ปริจเฉทรูป ๑
สำหรับลักขณรูป ๔ มี อุปจยะ ลักษณะแรกเกิดของรูป สันตติ ลักษณะที่รูปเจริญขึ้น ชรตา ลักษณะเสื่อมของรูป อนิจจตา ลักษณะที่แตกสลายของรูป ทั้ง ๔ รูปนี้ ไม่ได้มีลักษณะต่างหากแยกออกไปจากรูปที่เป็นสภาวรูป
มีใครที่จะพิจารณาความเกิดขึ้นที่เป็นอุปจยะ สันตติ ชรตา และอนิจจตา โดยที่ไม่รู้รูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายบ้างไหม จะพิจารณาลักษณะเกิดของอะไร ก็ไม่มีลักษณะที่จะให้รู้ได้เลย
สำหรับอากาศรูปนั้น เป็นรูปที่คั่นอยู่ระหว่างกลาปทั้งหลาย เป็นความว่าง เป็นสภาพที่ไม่ใช่นามธรรม ถ้าจะกล่าวว่ารูปนี้ไม่มี กลาปทั้งหลายก็ต้องติดกันไปหมด
เพราะฉะนั้น ทั้ง ๑๐ รูป
กายวิญญัติรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑ เป็น วิญญัติรูป ๒
ลหุตารูป ๑ มุทุตารูป ๑ กัมมัญญตารูป ๑ เป็น วิการรูป ๓
อุปจยรูป ๑ สันตติรูป ๑ ชรตารูป ๑ อนิจจตารูป ๑ เป็น ลักขณรูป ๔
และปริจเฉทรูป
รวม ๑๐ รูปนี้ ไม่ใช่รูปที่ชื่อว่าสัมมสนรูป ไม่ใช่รูปที่ควรพิจารณา เพราะเหตุว่าไม่มีลักษณะต่างหากของตน ที่จะให้ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปได้
ในรูป ๒๘ รูปนั้น วรรณะ คือ สี สัททะ คือ เสียง คันธะ คือ กลิ่น รสะ คือรส ปฐวี อ่อนแข็ง เตโช เย็นร้อน วาโย ตึงไหว รวมทั้งหมดเป็นโคจรรูป ๗ กับปสาทรูป ๕ คือ จักขุปสาทรูป ๑ โสตปสาทรูป ๑ ฆานปสาทรูป ๑ ชิวหาปสาทรูป ๑ กายปสาทรูป ๑ รวม ๑๒ รูปนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ๑๒ รูปหยาบนี้เป็นรูปใกล้ คือ เป็นสันติเกรูป เพราะว่าเป็นรูปซึ่งแทงตลอดได้ง่าย โดยลักษณะหมายความว่า พิจารณาได้ง่าย
สำหรับรูปอีก ๑๖ รูป ชื่อว่า รูปละเอียด หรือ สุขุมรูป ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นรูปไกล คือ ทูเรรูป เพราะเหตุว่าเป็นรูปที่แทงตลอดได้ยากโดยลักษณะ
ขอกล่าวถึง มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร ที่จะทำให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจชัดเจนถึงจุดประสงค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นท่านพระโลมสกังคิยะอยู่ที่พระวิหารนิโครธาราม เขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท
ครั้งนั้นแล ล่วงปฐมยามไปแล้ว จันทนเทวบุตรมีรัศมีงามยิ่ง ส่องพระวิหารนิโครธารามให้สว่างทั่ว เข้าไปหาท่านพระโลมสกังคิยะยังที่อยู่ แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง จันทนเทวบุตรพอยืนเรียบร้อยแล้ว จึงกล่าวกะท่านพระโลมสกังคิยะ ดังนี้ว่า
ดูกร ภิกษุ ท่านทรงจำอุเทสและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม
ท่านพระโลมสกังคิยะกล่าวว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ
จันทนเทวบุตรกล่าวว่า
ดูกร ภิกษุ แม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ และท่านทรงจำคาถาแสดงราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม
ท่านพระโลมสกังคิยะกล่าวว่า
ดูกร ท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ
จันทนเทวบุตรกล่าวว่า
ดูกร ภิกษุ ข้าพเจ้าทรงจำได้ ดูกร ภิกษุ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ที่ควงไม้ปาริฉัตตกะ ในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอุเทสและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่เทวดาชั้นดาวดึงส์ว่า
บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง
ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด
พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้นย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปกติเป็นอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ
จันทนเทวบุตรได้กล่าวต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุ ข้าพเจ้าทรงจำคาถาแสดงราตรีหนึ่งเจริญได้อย่างนี้แล ขอท่านจงร่ำเรียน และทรงจำอุเทสและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญเถิด เพราะ อุเทสและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์
จันทนเทวบุตรกล่าวดังนี้แล้ว จึงหายไป ณ ที่นั้นเอง
ข้อความต่อไปในพระสูตรนี้มีว่า
วันรุ่งขึ้น ท่านพระโลมสกังคิยะก็เก็บเสนาสนะ ถือบาตร จีวร มุ่งจาริกไปยังพระนครสาวัตถี ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ และพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงอุเทสและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่ท่านพระโลมสกังคิยะ