แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 158


. ที่จิตเห็นภาพ ภาพที่เห็นนั้นถ่ายรูปได้ไหม อยากจะให้ถ่ายรูป เราเห็นแล้ว เราอยากจะให้คนอื่นถ่ายรูป ได้หรือไม่ได้

สุ. การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องละ ละการยึดถือนามและรูปว่าเป็นตัวตนในขณะนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นปรากฏทางใจ จะคิดถึงการถ่ายภาพ นั่นเป็นเรื่องของตัวตนทั้งหมด ถ้าเป็นสติปัฏฐานแล้ว ระลึกทันที แล้วก็ละ เพราะมีนามมีรูปเกิดปรากฏสืบต่อไป มีเหตุปัจจัยที่จะให้นามธรรมและรูปธรรมเกิดเป็นปกติอยู่แล้ว โดยไม่ต้องทำอะไรเลย แม้แต่ขณะที่นอนหลับ มีจิตทำภวังคกิจ ขณะนั้นไม่ได้รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อตื่นขึ้น มีการเห็น การได้ยิน ก็จะต้องมีโลภะ โทสะ โมหะ นี่เป็นเหตุปัจจัยที่สะสมมา ไม่ใช่ว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถไปบังคับ ไปยับยั้งได้

เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ต้องฟังให้เข้าใจ แล้วก็เป็นปัจจัยให้สติที่เป็นสัมมาสติเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเป็นปกติ

อริยสัจธรรม ๔ นั้น มี ๓ รอบ คือ

๑. สัจจญาณ

๒. กิจจญาณ

๓. กตญาณ

สัจจญาณ คือ การพิจารณา ใคร่ครวญเหตุผลของอริยสัจธรรมให้ถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน ทุกขอริยสัจจะ ได้แก่ นามธรรมและรูปธรรมที่เกิดปรากฏ ที่ว่าเป็นทุกข์ ก็เพราะเหตุว่าไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทุกอย่าง จึงไม่ใช่การบังคับสติให้รู้เพียงบางอย่าง ถ้าไม่มีสัจจญาณ ปัญญาที่รู้ในเหตุในผล กิจจญาณก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะปฏิบัติถูก เจริญสติปัฏฐานถูกจริงๆ จะต้องเป็นผู้ที่มี สัจจญาณ ซึ่งอาศัยการฟัง การพิจารณาเหตุผลในอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ให้ถูกต้องเสียก่อน จึงจะเป็นปัจจัยให้มีการปฏิบัติที่ถูกต้องเป็นกิจญาณ และการปฏิบัติที่ถูกต้องจะทำให้แทงตลอดสภาพลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ เป็น กตญาณ คือ ต้องเป็นขั้นๆ ไป

ข้อความตอนท้ายของ สฬายตนวิภังคสูตร มีว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ศาสดานั้นเราเรียกว่าสารถี ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ยอดเยี่ยมกว่าอาจารย์ผู้ฝึกทั้งหลายนั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ช้างที่ควรฝึก อันอาจารย์ฝึกช้างไสให้วิ่ง ย่อมวิ่งไปได้ทิศเดียวเท่านั้น คือ ทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตก หรือทิศเหนือ หรือทิศใต้ ม้าที่ควรฝึก อันอาจารย์ฝึกม้าขับให้วิ่ง ย่อมวิ่งไปได้ทิศเดียวเหมือนกัน คือ ทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตก หรือทิศเหนือ หรือทิศใต้ โคที่ควรฝึก อันอาจารย์ฝึกโคขับให้วิ่ง ย่อมวิ่งไปได้ทิศเดียวเหมือนกัน คือ ทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตก หรือทิศเหนือ หรือทิศใต้ แต่บุรุษที่ควรฝึก อันตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้วิ่ง ย่อมวิ่งไปได้ทั่วทั้ง ๘ ทิศ

ข้อความต่อไปแสดงว่า ๘ ทิศคืออะไร

และข้อความตอนท้ายมีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุรุษที่ควรฝึก อันตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้วิ่ง ย่อมวิ่งไปได้ทั่วทั้ง ๘ ทิศ ดังนี้ ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า ศาสดานั้นเราเรียกว่าสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ยอดเยี่ยมกว่าอาจารย์ผู้ฝึกทั้งหลายนั่น เราอาศัยเหตุดังนี้กล่าวแล้ว

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล

ข้อความอธิบายใน ปปัญจสูทนี มีว่า

อาจารย์ช้างฝึกช้าง อาจารย์ม้าฝึกม้า ก็ย่อมฝึกให้วิ่งไปได้ทิศเดียวเท่านั้น แล้วก็ต้องวิ่งกลับมาเสียก่อน ถึงจะวิ่งกลับไปสู่ทิศอื่นได้ แต่พระผู้มีพระภาคไม่ต้องให้วิ่ง นั่งอยู่ก็ไปได้ทั้ง ๘ ทิศ คือ นั่งโดยบัลลังก์เดียว ไม่เอี้ยวกลับด้วยกาย ก็วิ่งไปได้ตลอด ๘ ทิศ โดยคราวเดียวเท่านั้น

ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องของฌานสมาบัติที่ทรงแสดงไว้ว่า การที่จะฝึกจิต อบรมจิตที่จะให้ถึงขั้นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน รูปฌาน อรูปฌาน ผู้นั้นสามารถจะกระทำได้โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนอิริยาบถเลย แต่นั่นเป็นสมาธิ ส่วนเรื่องของสติปัฏฐาน เวลาที่สติซึ่งเป็นอนัตตาเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ให้จดจ้องอยู่เฉพาะที่อารมณ์เดียว เพราะฉะนั้น ในขณะที่นั่งสามารถรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้งปวงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล สามารถเป็นพระอริยสาวก คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี แม้พระอรหันต์ โดยที่ไม่ต้องผลัดเปลี่ยนอิริยาบถเลย

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ฟังสูตรนี้แล้วเข้าใจผิดว่า ผู้หนึ่งผู้ใดที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมในขณะที่กำลังเดิน ท่านก็คิดว่าเขาคงจะดูท่าทางที่เดินก็สามารถที่จะเป็นพระอรหันต์ได้ หรือถ้าผู้หนึ่งผู้ใดกำลังนั่งฟังธรรมแล้วรู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านก็จะเข้าใจผิดว่า เขาคงจะพิจารณาท่าทาง และรู้ว่า ท่าที่กำลังนั่งนั้นเป็นรูป แล้วก็เป็นพระโสดาบันได้ ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้นเลย

นั่ง นอน ยืน เดินเป็นปกติ แต่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม รู้ชัด รู้ทั่ว แล้วก็ชิน ละคลายเยื่อใยที่เคยเห็นผิดยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แต่ไม่ใช่ว่า รู้ท่าทาง แล้วจะเป็นพระโสดาบัน

ท่านอาจจะเคยเข้าใจผิดอย่างนั้นได้ โดยเข้าใจว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการรู้ท่าทาง ซึ่งความจริงไม่ใช่ แต่ต้องเป็นการรู้สภาวลักษณะที่ปรากฏ

. ไม่ต้องใช้สมาธิหรือ

สุ. การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่การเจริญสมถภาวนา ขณะใดที่สติระลึกรู้ มีสมาธิเกิดร่วมด้วย เป็นมรรคหนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ ถึงแม้ว่ายังไม่ครบทั้ง ๘ องค์ แต่ว่าสัมมาสมาธิ เอกัคคตาที่เกิดพร้อมกับสติในขณะนั้นก็เป็นสัมมาสมาธิแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่มีสมาธิ แต่ไม่ใช่สมาธิอย่างการเจริญสมถภาวนาที่จดจ้องอยู่ที่อารมณ์เดียว

. เรากำลังพิจารณากาย เกิดเวทนาขึ้นมา ซัดส่ายแล้ว สักประเดี๋ยว จิตพลุ่งพล่าน พิจารณาจิตเกิดธรรม คิดในอารมณ์ขึ้นมาอีก กาย เวทนา จิต ธรรม ที่เราภาวนานึกไป ใช่สติปัฏฐานไหม เดี๋ยวกาย เดี๋ยวเวทนา เดี๋ยวจิต เดี๋ยวธรรม จะทำอย่างไรไม่ให้ซัดส่าย หรือว่าไม่เป็นไร พิจารณาไปเรื่อย สมมติว่า กลิ่นหมดแล้ว ได้ยินเสียง ได้ยินเสียงหมดแล้ว พิจารณาไปอย่างนี้ หรือพิจารณาเท่าที่จะเกิดขึ้น

สุ. มีหลายท่านที่ถามว่า ขณะที่กำลังทำงานจะเจริญสติปัฏฐานอย่างไร คำถามนี้ไม่ถูก เพราะว่าการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นตัวตนจะเจริญสติปัฏฐาน แต่เป็นสติ สภาพที่ระลึก เกิดขึ้นในขณะนั้นทันที ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ใช่เป็นตัวตนที่จะเจริญสติปัฏฐาน อีกท่านหนึ่งถามว่า ขณะที่กำลังทำงาน ถ้าเราจะเจริญอิริยาบถบรรพ คำถามนั้นถูกหรือผิด ถ้าเราจะเจริญอิริยาบถบรรพ เลือกแล้ว ไม่ใช่เป็นการรู้ว่า สติเป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เป็นเราจะเจริญอิริยาบถบรรพ เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจสภาพของสัมมาสติ อย่างแข็งที่กำลังกระทบที่ส่วนหนึ่งส่วนใดแล้วปรากฏ สติระลึกตรงนั้น ขณะนั้นมีนามธรรมมีรูปธรรม แต่ว่าในตอนแรกเยื่อใยความเป็นตัวตนเหนียวแน่นหนาแน่นเหลือเกิน มีแต่ความไม่พอใจ มีแต่การคิดที่จะบังคับ มีแต่การคิดที่จะเลือกว่า จะทำอย่างไรให้จิตอยู่ที่เดียวไม่ไปที่ไหน

การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะ ตรงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏแล้วก็ดับ แล้วก็หลงลืมสติอีก เป็นของธรรมดาแน่นอนสำหรับปุถุชนผู้ที่มีปัจจัยให้หลงลืมสติ การหลงลืมสติก็มี แล้วสติก็ระลึกรู้ลักษณะ ตรงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่โดยมากผู้ที่ยังไม่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน มีความคิดแอบแฝงที่จะทำต่อไปอีก แม้ว่าสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏแล้ว ก็มีตัวตนจะทำต่อไปอีก เช่น จะให้สติระลึกนานๆ บ้าง หรือให้ระลึกตรงนั้นตรงนี้บ้าง แต่แท้ที่จริงแล้ว เวลาที่สติระลึกตรงลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ พิจารณารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทีละเล็กทีละน้อยเท่านั้นเอง แต่โดยมากจะไปบังคับ ไม่พอใจแล้วใช่ไหม เดี๋ยวจิตเป็นอย่างนี้เกิดขึ้น เดี๋ยวจิตเป็นอย่างนั้นเกิดขึ้น ซึ่งโดยลักษณะที่ไม่เป็นปกติอย่างนั้นก็ยิ่งวุ่น ไม่มีความพอใจ กลายเป็นสติซัดส่าย สติไม่ระลึกอยู่ตรงนั้นที่เดียว ตรงนี้ที่เดียว นั่นเป็นการพยายามที่จะไปจัดสรรสติให้เป็นอย่างนั้น ให้เป็นอย่างนี้ แต่ความจริงเป็นการระลึกจนทั่วจนละเอียดจริงๆ แต่ในขั้นแรกความรู้จะยังไม่ชัด จึงต้องอาศัยการเจริญสติเนืองๆ บ่อยๆ

. ดิฉันเป็นข้าราชการอยู่ต่างจังหวัด ฟังการเจริญสติปัฏฐานของอาจารย์มานาน พยายามนึกและคิดตาม ปฏิบัติตาม สมมติว่าดิฉันไปทานเลี้ยง ดิฉันก็มองเห็นว่า มีทั้งสี ทั้งเสียง คือ มีทั้ง ๖ ทางเกิดขึ้น ไม่นานก็ดับไป เป็นรูป เป็นนาม อย่างนี้เป็นการคิดผิดหรือคิดถูก

สุ. ขณะนั้นเป็นปัญญาขั้นคิด แต่ยังเป็นตัวตนที่คิด

. อย่างดิฉันขี่จักรยานไปโรงเรียน มองดูล้อหมุนไปเรื่อยๆ ก็นึกว่า เกิดดับๆ สีที่มากระทบตาก็หมุนไปเรื่อยๆ แล้วก็เกิดดับๆ ก็คิดอีกเหมือนกัน

สุ. ที่กำลังคิดในขณะนั้น เป็นตัวตนที่คิดใช่ไหม ไม่ได้ระลึกว่า ขณะที่คิดก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง และก็มีนามอื่นรูปอื่นที่มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ แยกออกเป็นทางตาอย่างหนึ่ง ทางหูอย่างหนึ่ง นี่เป็นแต่เพียงการพิจารณา นึกไป คิดไป แต่ขณะที่คิดอย่างนั้น นึกอย่างนั้น ก็ยังเป็นตัวตนที่คิดอยู่

. ทำอย่างไรจึงจะไม่ใช่ตัวตน เรามองเห็นแสงอะไรสวยๆ บอกว่า นี่ก็เป็นนามชนิดหนึ่ง รูปชนิดหนึ่ง อีกหน่อยก็ดับไปอย่างนี้

สุ. ต้องรู้ว่า ขณะที่คิดอย่างนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง คิดอย่างนั้นแล้วก็หมด เวลานี้เห็น ถึงไม่คิดก็ยังเห็น เพราะฉะนั้น ต้องแยกกัน คิดก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เห็นก็เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง

. ปกติเราเจริญสติปัฏฐานอยู่แล้ว ถ้าเราจะเข้าห้องปฏิบัติด้วย จะเป็นอะไรไหม รู้สึกว่าอาจารย์ไม่ค่อยส่งเสริมการเข้าห้องปฏิบัติ

สุ. ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ไม่ว่าจะอยู่ที่นี่ จะไปที่นั่น จะพบใคร จะเห็นอะไร ก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ และที่ไปห้องปฏิบัตินี้ ไปแล้วทำอะไรบ้าง ผิดจากชีวิตปกติประจำวันจริงๆ อย่างไรบ้าง จึงใช้คำว่า ห้องปฏิบัติ

. ตามธรรมดา กิเลสเราแสนจะหนาแน่น มองเห็นนามเห็นรูปก็แยกไม่ค่อยออก ไม่เห็นสภาวะของทุกข์ ทีนี้เวลาเข้าห้องปฏิบัติ ไม่มีอะไรมารบกวน เราพยายามเพ่ง เวลาเรานั่งก็เป็นรูปนั่ง นั่งแล้วไม่ใช่เป็นความสุขหรอก จะต้องเป็นทุกข์ จะเกิดความเมื่อย ก็ปล่อยให้ความเมื่อยเกิดขึ้นเรื่อยๆ ก็นึกว่า นั่นเป็นความทุกข์ แล้วเมื่อไรจะดับ คือ อยากจะไปนั่งเพื่อให้เห็นสภาวะอย่างนี้ จะเป็นการผิดหรือถูก

สุ. เวลานี้ขณะนี้มีสภาวะให้เห็นหรือเปล่า

. มี แต่อยากรู้ว่า เวลาเข้าห้องปฏิบัติเป็นอย่างไร ต่างกับชีวิตธรรมดาอย่างไร

สุ. อยากรู้สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น กับระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ตรงทันที อย่างไหนจะดีกว่ากัน เพราะว่าการรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ทุกสิ่งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมทุกชนิด ทุกประเภทที่เกิดปรากฏแล้วไม่เที่ยงทั้งนั้น ถ้ารู้จริงต้องรู้อย่างนี้ ไม่ใช่ไปรอบางสถานที่ บางนาม บางรูป หรือบางโอกาส

เพราะฉะนั้น การเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้ง รู้ชัดจริงๆ คือ สามารถที่จะแทงตลอดสภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดดับในขณะนี้ได้ การรู้แจ้งสภาพธรรมที่เป็นของจริงจะต้องรู้ที่เป็นชีวิตปกติธรรมดาอย่างนี้ ทำไมจึงไม่เริ่มระลึกรู้ลักษณะของจริงที่สะสมมาที่จะเป็นบุคคลนี้ แล้วแต่นามอะไรรูปอะไรจะเกิดปรากฏ สติเริ่มระลึกตรงลักษณะที่ปรากฏจริงๆ เพื่อวันหนึ่งจะได้ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม เพราะว่าชีวิตจริงๆ ของทุกท่านอยู่ที่ไหน ชีวิตจริงๆ ไม่ใช่ชีวิตที่สร้างขึ้น หรือทำขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว

. แปลว่า การเข้าห้องปฏิบัติไม่ได้ประโยชน์อย่างนั้นหรือ การเข้าห้องปฏิบัติจะช่วยอะไรได้บ้าง

สุ. สติที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ทีละขณะ สองขณะเรื่อยไป จะช่วยทำให้ปัญญารู้แจ้ง และแทงตลอดในสภาพธรรมในชีวิตจริงๆ ได้ ไม่มีอะไรมาชักจูงให้คลาดเคลื่อนไขว้เขวไป และไม่มีอะไรมาพาให้ข้ามจากขณะที่กำลังปรากฏเป็นปกติในขณะนี้ จะไปรู้อย่างอื่นที่ไม่ใช่ปกติในขณะนี้ หรือว่าควรจะรู้ของจริงที่กำลังปรากฏเป็นปกติในขณะนี้

นี่เป็นปัญหาที่จะต้องเทียบเคียง ถ้าเข้าใจการเจริญสติถูกต้องแล้ว เป็นปัจจัยให้สัมมาสติเกิด ระลึกทันที บ่อยๆ เนืองๆ ทีละเล็กทีละน้อย จะไปมีสติมากมายอย่างพระอรหันต์ โดยที่ไม่หลงลืมสติเลยสักวันหนึ่งก็ไม่ได้

ที่จะพิสูจน์ว่า ละคลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน ความเห็นผิดที่ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้มากแล้ว คือ แม้หลงลืมสติ ก็ไม่กังวลเดือดร้อน เพราะว่าเป็นนามธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น และเวลาที่สติระลึกก็รู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรม

. ที่อาจารย์กล่าวว่า การเข้าห้องกัมมัฏฐานไม่จำเป็นและไม่มีอยู่ในพระไตรปิฎก ดิฉันคิดว่า ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจว่า สติมีลักษณะอย่างไร เช่น สมมติว่า ดิฉันคิดว่า อยากจะไปฆ่าคน หรือไปลักทรัพย์ จะถือว่าเป็นสติได้ไหม เพราะความระลึกนี้ก็เกิดขึ้นแล้วในใจ

สุ. ไม่ใช่สติ เพราะว่าสติเป็นโสภณธรรม ระลึกในทางที่เป็นกุศล เช่นระลึกเป็นไปในทาน หรือในการวิรัติทุจริต ในการทำให้จิตสงบ หรือในการเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง และที่ว่า อยู่ๆ ตอนแรกก็ไม่รู้ว่า สติมีลักษณะอย่างไร ก็มีความหวังว่า ถ้าไปถึงสำนักปฏิบัติแล้วก็จะรู้ลักษณะของสติ ทำอย่างไร มีข้อปฏิบัติอะไรที่จะทำให้คิดว่า เมื่อไปแล้ว ข้อปฏิบัติของสำนักนั้นจะทำให้รู้ลักษณะของสติได้

. เปรียบเทียบว่า ถ้านักเรียนไม่เข้ามาศึกษาในห้องเรียน หรือไม่มาพร้อมเพรียงตามเวลาเพื่อที่จะมาศึกษาลักษณะของการเรียนตัวหนังสือแล้ว ความเข้าใจหรือความรู้ของนักเรียนก็คงจะไม่ได้ประโยชน์อะไร หรือถึงแม้จะได้ประโยชน์ก็คงน้อยมาก

สุ. เมื่อไปแล้วหวังจะได้รู้ลักษณะของสติ เพราะข้อปฏิบัติอย่างไร ดิฉันสนใจเรื่องข้อปฏิบัติ คือ เหตุที่จะทำให้เกิดปัญญา เมื่อเป็นปกติฟังธรรม แต่ยังไม่เข้าใจเรื่องลักษณะของสติ แล้วหวังว่า พอไปถึงสำนักหนึ่งสำนักใดที่เป็นห้องกัมมัฏฐานซึ่งจำกัดสถานที่อย่างนั้นจะทำให้เกิดการรู้ลักษณะของสติขึ้นนั้น ขอถามว่า เพราะเจริญอย่างไร

. บุคคลที่ยังไม่รู้จักนามรูปหรือสติสัมปชัญญะ ก็ย่อมไม่เข้าใจนามรูป เพราะฉะนั้น ดิฉันคิดว่าการเข้าห้องกัมมัฏฐานเป็นประโยชน์ในการจะไปสร้างสติขึ้น

สุ. เวลาไปสู่สำนักปฏิบัติ มีข้อปฏิบัติอย่างไรที่จะทำให้รู้ลักษณะของสติ

. ที่ดิฉันถามอาจารย์เพราะดิฉันเองก็ไม่ค่อยมีความเข้าใจ จัดว่าอยู่ในประเภทเป็นนักศึกษา หรือยังไม่ได้ศึกษาเลย อาศัยการได้ยินได้ฟังเป็นประจำวันอย่างนี้ก็อาจจะผิดพลาดได้ ที่กล่าวว่าการเจริญสตินั้น เจริญอย่างไร ขอถามอาจารย์ว่า เจริญอย่างไร


หมายเลข  5813
ปรับปรุง  7 ม.ค. 2566