แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 160


ท่านผู้ฟังท่านนั้นได้ยกตัวอย่างพระอุบลวรรณาเถรีเป็นข้ออ้างว่า ในครั้งพุทธกาลก็มีสำนักปฏิบัติเหมือนกัน

จะขอกล่าวถึงเรื่องพระอุบลวรรณาเถรีตามข้อความใน พระธัมมปทัฏฐกถา ซึ่งเป็น อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาพระธรรมบท ให้ท่านได้พิจารณาชีวิตของบุคคลในครั้งพุทธกาลตั้งแต่ต้นทีเดียว ก่อนที่จะได้เป็นพระอรหันต์จนกระทั่งได้เป็นพระอรหันต์ เพื่อท่านจะได้พิจารณาว่า ท่านประพฤติปฏิบัติกันอย่างไร

เรื่องของพระอุบลวรรณาเถรี ตามข้อความใน พระธัมมปทัฏฐกถา มีข้อความว่า

ดังได้สดับมา พระเถรีนั้นตั้งความปรารถนาไว้แทบบาทมูลของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ กระทำบุญทั้งหลายสิ้นแสนกัป ท่องเที่ยวอยู่ในเทวดาและมนุษย์ จุติจากเทวโลก ถือปฏิสนธิในสกุลเศรษฐี ในกรุงสาวัตถี ในพุทธุปปาทกาลนี้ คือ ในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ก็มารดาบิดาได้ตั้งชื่อท่านว่า อุบลวรรณา เพราะท่านมีผิวพรรณเหมือนกลีบอุบลเขียว ต่อมาในกาลแห่งท่านเจริญวัยแล้ว พระราชาและเศรษฐีทั้งหลายในสกลชมพูทวีป ส่งบรรณาการไปสู่สำนักของเศรษฐีว่า ขอเศรษฐีจงให้ธิดาแก่เรา ชื่อว่าคนผู้ไม่ส่งบรรณาการไป มิได้มี

ลำดับนั้น เศรษฐีคิดว่า เราจักไม่สามารถเอาใจของคนทั้งหมดได้ แต่เราจักทำอุบายสักอย่างหนึ่ง เศรษฐีนั้นเรียกธิดามา แล้วกล่าวว่า

แม่เจ้าจักอาจเพื่อบวชไหม

คำกล่าวของบิดาได้เป็นเหมือนน้ำมันที่หุงแล้วตั้ง ๑๐๐ ครั้ง ดังเขารดลงบนศีรษะ เพราะความที่ท่านมีภพมีในที่สุด เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวกับบิดาว่า

พ่อ ฉันจักบวช

เศรษฐีนั้นทำสักการะเป็นอันมากแก่ท่านแล้ว นำท่านไปสู่สำนักพระภิกษุณีให้บวชแล้ว

เป็นเรื่องที่แต่ละท่านจะมาสู่พระธรรมวินัยในลักษณะต่างๆ กัน แม้ในครั้งพุทธกาล และในครั้งนี้ ไม่ว่าท่านจะอยู่ในวัยไหน ถ้าท่านเริ่มหันมาสู่พระธรรมวินัย ท่านจะได้เห็นว่า การมาสู่พระธรรมวินัยของแต่ละท่านนั้น มาด้วยการสะสมของจิตของแต่ละบุคคล

ข้อความต่อไปเป็นเรื่องชีวิตของพระภิกษุณีว่า ท่านประพฤติปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวันอย่างไร แล้วท่านเจริญสติปัฏฐาน จึงได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

ข้อความต่อไปมีว่า

เมื่อท่านบวชแล้ว ไม่นานนัก วาระรักษาลูกดานในโรงอุโบสถถึงแล้ว (เป็นกิจหน้าที่ของพระภิกษุณี) ท่านตามประทีป กวาดโรงอุโบสถ ยืนถือนิมิตแห่งเปลวประทีป พิจารณาแล้วๆ เล่าๆ ยังฌาน มีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ให้เกิดขึ้นแล้ว กระทำฌานนั้นแลให้เป็นบาท บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิปทา และอภิญญาทั้งหลายแล้ว

ซึ่งพระอุบลวรรณาเถรี ท่านเป็นเอตทัคคะ คือ เป็นเลิศกว่าพวกภิกษุณีสาวิกาทั้งหลายผู้มีฤทธิ์

ชีวิตเป็นปกติประจำวัน แม้แต่หน้าที่ของท่าน คือ วาระรักษาลูกดานในโรงอุโบสถ ท่านตามประทีป กวาดโรงอุโบสถ นี่เป็นกิจวัตรของภิกษุณีซึ่งเจริญสติ ปัฏฐานเป็นปกติ ทำกิจการงานเป็นปกติ

ข้อความที่ว่า ท่านถือนิมิตแห่งเปลวประทีป พิจารณาแล้วๆ เล่าๆ ยังฌาน มีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ให้เกิดแล้ว กระทำฌานนั้นแลให้เป็นบาท บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยปฏิปทา และอภิญญาทั้งหลายแล้ว ถ้าท่านไม่เคยเจริญสติเป็นปกติ เวลาที่ฌานจิตเกิด ท่านจะระลึกว่า เป็นนามเป็นรูป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ไหม เพราะฉะนั้น พยัญชนะที่ว่า กระทำฌานนั้นแลให้เป็นบาท จะต้องเข้าใจด้วยว่า จะต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติเท่านั้นจึงสามารถที่จะระลึกได้เวลาที่ฌานจิตเกิดขึ้นว่า แม้ฌานจิตนั้นก็ไม่เที่ยง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

นี่เป็นสำนักพระผู้มีพระภาค ซึ่งมีการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิต ประจำวัน ถ้าสำนักใดเป็นอย่างนี้ ท่านจะไปสู่สำนักนั้นบ่อยๆ เนืองๆ สักเท่าไรก็ยิ่งเป็นการดี ถึงแม้ท่านยังไม่อาจหรือไม่สามารถที่จะละเพศฆราวาสได้ แต่การไปสู่สำนักเพื่อได้ฟังธรรม เพื่อที่จะได้อุปการะเกื้อกูลต่อการกระทำกิจของพระภิกษุ พระภิกษุณี เหล่านั้นในครั้งนั้น ก็เป็นสิ่งที่แม้อุบาสกอุบาสิกาที่เป็นอริยสาวกก็ได้กระทำในครั้งพุทธกาล

ข้อความต่อไปมีว่า

โดยสมัยอื่น พระเถรีนั้นเที่ยวจาริกไปในชนบท กลับมาแล้วเข้าไปสู่อันธวัน ในกาลนั้น พระศาสดายังไม่ได้ทรงห้ามการอยู่ป่าของพวกพระภิกษุณี ครั้งนั้น มนุษย์ทำกระท่อม ตั้งเตียง กั้นม่านไว้ในป่านั้น แก่พระเถรีนั้น (กระท่อมนั้น มีผู้สร้างให้เป็นที่พักของท่าน) พระเถรีนั้น เข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีเป็นปกติ เป็นกิจวัตรธรรมดา

ธรรมดาไหม บางท่านเข้าใจว่า การเจริญสติปัฏฐาน บิณฑบาตไม่ได้ ไปไหนไม่ได้ แต่ถึงแม้ว่ายังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล ท่านก็ประพฤติปฏิบัติธรรมตามพระธรรมวินัยเป็นปกติ และแม้เป็นพระอรหันต์แล้ว ก็มีชีวิตตามปกติ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ ทำให้คนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ท่านผู้นั้นเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี หรือว่าเป็นพระอรหันต์ หรือแม้ว่าญาณหนึ่งญาณใดจะเกิดกับบุคคลใดที่กำลังพูด กำลังเดิน ก็ไม่สามารถที่จะมีผู้หนึ่งผู้ใดทราบได้ว่า ญาณนั้นหรือว่าญาณนี้ได้เกิดกับบุคคลนั้นบุคคลนี้ เพราะว่าไม่มีอะไรที่ผิดปกติเลย

เมื่อพระเถรีนั้นเข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี ออกมาจากพระนครสาวัตถี กลับไปสู่กระท่อมนั้น เป็นโอกาสให้นันทมาณพประทุษร้ายต่อท่าน ด้วยการกระทำที่ไม่สมควร และผลของการกระทำของนันทมาณพนั้น แผ่นดินก็ได้แยกออกเป็น ๒ ฝ่าย นันทมาณพถูกสูบลงไป จุติแล้ว เกิดในอเวจีมหานรกแล้ว

ฝ่ายพระเถรีบอกเนื้อความนั้นแก่พระภิกษุณีทั้งหลายแล้ว พวกพระภิกษุณีแจ้งเนื้อความนั้นแก่พระภิกษุทั้งหลาย พวกพระภิกษุกราบทูลแต่พระผู้มีพระภาคซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงห้ามการอยู่ป่าของพวกพระภิกษุณี จำเดิมแต่นั้นมา

จะยกเป็นข้ออ้างว่า ในครั้งโน้นมีห้องปฏิบัติได้ไหม มีห้องกัมมัฏฐานได้ไหม เป็นชีวิตปกติธรรมดาของท่าน ที่ในครั้งโน้นกุลธิดามีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ท่านก็อยู่ป่าเหมือนกุลบุตรผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต แต่ว่าเมื่อเป็นความไม่เหมาะสมสำหรับเพศพระภิกษุณี พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงห้ามการอยู่ป่าของพระภิกษุณี จำเดิมแต่นั้นมา

ถ. ผมสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติ ท่านสอนไว้ว่า ไม่บอดก็ทำเสมือน คนบอด ไม่ใบ้ก็ทำเหมือนคนใบ้ ไม่หนวกก็ทำให้เหมือนคนหนวก ซึ่งตามนี้ก็เข้าในลักษณะที่ถือว่า จะต้องเข้าไปอยู่ในที่เฉพาะในที่จำกัด เพราะในที่เช่นนั้นไม่ต้องพูดกับใคร ไม่ต้องเห็นอะไร ไม่ต้องได้ยินอะไร เพราะเป็นที่จำกัดเฉพาะ ที่ท่านพูดไว้เช่นนั้นกับความหมายที่แท้จริงจะค้านกันหรือเปล่า

สุ. ผู้ที่เจริญสติ มีตาก็ไม่ใส่ใจในนิมิตอนุพยัญชนะ หมายความว่า สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏในขณะนั้น มีหูก็เหมือนกัน ไม่ได้เพลิดเพลินไปกับเสียงที่ได้ยินด้วยความยึดถือว่าเป็นตัวตน แต่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ถึงเป็นผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงก็ไม่ใช้ความแข็งแรงของร่างกายนั้นไปกระทำทุจริต แต่สติก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ เหมือนกับคนที่ไม่มีกำลัง เพราะว่าไม่ได้ใช้กำลังไปในการต่อสู้ หรือในทางทุจริต

เรื่องของพระธรรมวินัย เป็นเรื่องที่ให้เจริญกุศลทุกทางที่จะเป็นไปได้ พระธรรมเทศนาทั้งหมดเกื้อกูลอุปการะเพื่อให้เกิดกุศล

ข้อ ๑ ที่ท่านผู้ฟังก็อาจจะยังข้องใจอยู่ คือ ในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการไม่คลุกคลี ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังไม่พิจารณาจะทำให้เข้าใจว่า การไม่คลุกคลีนั้นจะต้องไม่พบปะ มีชีวิตที่ไม่ใช่ปกติ เข้าใจว่า นั่นเป็นการไม่คลุกคลี

พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการไม่คลุกคลี เพราะเหตุว่าการไม่คลุกคลีนั้นเป็นเครื่องหมาย เป็นการแสดงถึงอัธยาศัยของบุคคลนั้นที่ไม่เกาะเกี่ยว ไม่ยึดมั่นในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในธัมมารมณ์ แต่ผู้นั้นจะไม่คลุกคลีได้โดยสถานใด ไม่ใช่ว่าโดยการไปฝืน ไปบังคับไว้ชั่วคราว แต่ความจริงเยื่อใยยังคลุกคลี ยังเกี่ยวข้อง ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น พระผู้มีพระภาคไม่ทรงสรรเสริญ ทรงสรรเสริญการไม่คลุกคลี ซึ่งจะจริงได้ ก็โดยการค่อยๆ ละ ค่อยๆ คลายกิเลสให้หมดไป จึงจะไม่คลุกคลีได้จริงๆ

จะเห็นได้ว่า หนทางดับกิเลสเป็นสมุจเฉทที่ได้ทรงแสดงไว้ ถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงสรรเสริญการไม่คลุกคลี แต่ก็ไม่มีห้องปฏิบัติในครั้งพุทธกาล เพราะฉะนั้น อย่าเข้าใจผิดว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการไม่คลุกคลี ก็จะต้องมีห้องสำหรับปฏิบัติ และก็ชื่อว่าห้องปฏิบัติ ราวกับว่าอยู่ที่อื่นปฏิบัติไม่ได้อยู่ในห้องนั้นจึงจะปฏิบัติได้ ซึ่งในพระไตรปิฎกจะไม่เป็นอย่างนั้น

ในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการไม่คลุกคลี ไม่ใช่เป็นการบังคับ ไม่ใช่เป็นการฝืน ด้วยเหตุนี้ในครั้งนั้นจึงไม่มีห้องกัมมัฏฐาน เพราะเหตุว่าข้อปฏิบัติที่สำคัญที่สุดในพระศาสนานั้น เพื่อให้เกิดปัญญา แต่บางครั้งพยัญชนะบางคำก็อาจจะทำให้ท่านเกิดความปรารถนา ความต้องการ แทนที่จะละความปรารถนา ความต้องการ เช่น คำว่า ญาณ ซึ่งหมายความถึงวิปัสสนาญาณ ท่านที่มีจุดมุ่งในการไปสู่สำนักปฏิบัติ ท่านกล่าวว่า ถ้าท่านเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันแล้ว ญาณไม่เกิด

วิปัสสนาญาณนั้น หมายความถึงปัญญาที่รู้ชัด ท่านมุ่งถึงอุทยัพพยญาณ รู้สภาวะ ประจักษ์สันตติขาด ขณะนี้กำลังเห็น ไม่รู้อะไร นี่เหตุกับผลไม่ตรงกัน

เพราะฉะนั้น สำหรับท่านที่กล่าวว่า ท่านได้ผลมาจากการไปสู่สำนักปฏิบัติ และกล่าวว่า คนที่อยู่ข้างนอกรู้ไม่ชัด คนที่อยู่ข้างนอก หมายความถึงนอกห้องกัมมัฏฐาน นอกสถานที่ปฏิบัติ นอกสำนักปฏิบัติ แต่ขอให้พิจารณาผลและเหตุว่าต้องตรงกัน ท่านกล่าวว่า ผลของท่าน คือ รู้สภาวะ แล้วประจักษ์สันตติขาด โดยข้อปฏิบัติที่นั่งเมื่อยก็เปลี่ยน เพราะรู้ว่าเป็นทุกข์ นอนเมื่อยก็เปลี่ยน เพราะรู้ว่าเป็นทุกข์ ยืนเมื่อยก็เปลี่ยนเพราะรู้ว่าเป็นทุกข์ นั่นคือเหตุที่จะทำให้ท่านรู้สภาวะตามที่ท่านกล่าว ดิฉันก็ถูกท่านที่หวังดี ท่านที่เป็นมิตรสหายในกาลก่อนชักชวนเช่นเดียวกัน โดยยกผลขึ้นมากล่าวว่า ท่านผู้โน้นไปสู่สำนักปฏิบัติแล้วได้ผลมาก

อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต พยากรณสูตร มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การพยากรณ์อรหัต ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน

คือ บุคคลย่อมพยากรณ์อรหัต เพราะความเป็นผู้เขลา เพราะความเป็นผู้หลง ๑

บุคคลผู้มีความปรารถนาลามก ผู้ถูกความปรารถนาครอบงำ ย่อมพยากรณ์อรหัต ๑

บุคคลย่อมพยากรณ์อรหัต เพราะความบ้า เพราะจิตฟุ้งซ่าน ๑

บุคคลย่อมพยากรณ์อรหัต ตามความสำคัญว่าได้บรรลุ ๑

บุคคลย่อมพยากรณ์อรหัตโดยถูกต้อง ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การพยากรณ์อรหัต ๕ ประการนี้แล

ไม่ต้องถึงอรหัต เพียงผลที่ท่านกล่าวมาก็ควรพิจารณาแล้วว่า เป็นผลที่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งมีเหตุและผลที่จะตรวจสอบว่า เป็นญาณที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องทั้งผลและเหตุ และไม่ใช่มีแต่ในครั้งนี้ แต่มีในครั้งโน้นทีเดียว มิฉะนั้นพระสูตรนี้คงจะไม่มีที่ว่า

ประการที่ ๑ บุคคลย่อมพยากรณ์อรหัต เพราะความเป็นผู้เขลา เพราะความเป็นผู้หลง ๑ เป็นไปได้ไหม ได้

บุคคลผู้มีความปรารถนาลามก ผู้ถูกความปรารถนาครอบงำ ย่อมพยากรณ์อรหัต ๑

เคยได้ยินใครบอกว่า ได้เป็นพระโสดาบันบ้าง หรือบรรลุโสฬสญาณ น่าคิดว่าเป็นการพยากรณ์เพราะเป็นผู้เขลา ๑ เพราะความเป็นผู้หลง ๑ หรือเพราะถูกความปรารถนาครอบงำ ๑

ความปรารถนานี้ยากเหลือเกินที่จะพรากออก ดูเหมือนว่าท่านปฏิบัติถูกๆ ผิดๆ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีใครพยากรณ์ว่า ท่านเป็นพระโสดาบันบุคคล ก็รีบรับเอาทีเดียวด้วยความปรารถนาลามก ด้วยความปรารถนาที่จะเป็นพระโสดาบันบุคคล นี่เป็นสิ่งที่มีเพราะถูกความปรารถนาครอบงำก็เป็นได้ นอกจากนั้นยังมีบุคคลที่ย่อมพยากรณ์อรหัตเพราะความบ้า เพราะจิตฟุ้งซ่าน หรือบุคคลย่อมพยากรณ์อรหัตเพราะความสำคัญว่าได้บรรลุ

ขอถอยลงมาจากอรหัต มาเป็นวิปัสสนาญาณแรก คือ นามรูปปริจเฉทญาณ เพื่อเป็นเครื่องเทียบเคียงว่า ที่ท่านเข้าใจว่าท่านบรรลุญาณแล้วนั้นเป็นความรู้ที่ถูกต้องหรือไม่ และข้อปฏิบัติอย่างไรทำให้ท่านสามารถที่จะรู้ความต่างกันของนามและรูปซึ่งเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ

สำหรับการเจริญสติปัฏฐานที่เพิ่งเริ่มเกิดขึ้น สติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของกาย ของเวทนา ของจิต ของธรรม ที่ใช้คำว่า สภาวะ หมายความถึง สภาพธรรมที่มีลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏ อ่อน แข็ง ก็เป็นอนัตตา มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นก็ปรากฏ แต่ปัญญายังไม่รู้ชัดว่าสภาพธรรมนั้นไม่ใช่ตัวตน จนกว่าจะบรรลุถึงนามรูปปริจเฉทญาณ ซึ่งเป็นความรู้ชัดทางมโนทวาร ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ไม่มีความเคลือบแคลงเลยว่า นามธรรมนั้นมีลักษณะอย่างนี้ รูปธรรมนั้นมีลักษณะอย่างนั้น เพราะเมื่อปรากฏสภาพความเป็นอนัตตาทางมโนทวาร จะไม่ก้าวก่ายสับสนปนกัน สืบต่อติดกันแน่นเหมือนอย่างที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แต่เป็นการรู้ชัด เพราะลักษณะนั้นปรากฏโดยความเป็นอนัตตา จะจำกัดได้ตามความปรารถนาไหมว่า ให้รู้รูปนั้น ให้รู้นามนี้

เพราะฉะนั้น นี่เป็นเหตุผลที่ว่า ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจะต้องเริ่มด้วยการระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง ไม่เจาะจง ไม่จำกัด นามที่เกิดปรากฏแล้วก็เป็นสภาพรู้ สภาพรู้มีใครจำกัดได้ไหมว่า ให้รู้แต่สิ่งนั้นตรงนั้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าผู้หนึ่งผู้ใดจะสามารถไปยับยั้งเวลาที่ญาณนั้นเกิดขึ้น ให้จำกัดความรู้ไว้เพียงแค่นั้น ไม่ให้รู้อย่างอื่น ให้รู้แต่เฉพาะรูปนั้นก็ไม่ได้ ให้รู้แต่เฉพาะนามนั้นก็ไม่ได้ เมื่อผู้นั้นประจักษ์สภาวธรรมของนามธาตุแล้ว จะหมดความสงสัยในโลกทั้งปวง เพราะนามธาตุเป็นสภาพรู้ ปรากฏในขณะนั้นอย่างไร ที่โลกอื่น ภพอื่น นามธาตุจะเปลี่ยนสภาพเป็นอย่างอื่นได้ไหม นามธาตุก็ยังคงเป็นสภาพรู้อยู่นั่นเอง

เพราะฉะนั้น จะหมดความคิด ความสงสัย ความแคลงใจในนรก ในสวรรค์ ในพรหมโลก หรือในที่อื่น เพราะได้ประจักษ์สภาวะลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง โดยเลือกไม่ได้ แต่ที่ท่านอ้างว่า ท่านรู้สภาวะเพราะนั่งแล้วก็เมื่อย ก็พิจารณาว่าเป็นทุกข์จึงต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ขณะที่คิดอย่างนั้น ช่วยให้ท่านรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมอะไร เป็นใครคิด เป็นแบบ เป็นแผน ที่เวลาจะเปลี่ยนอิริยาบถ ก็คิดอย่างนั้นเหมือนกันหรือ


หมายเลข  5820
ปรับปรุง  10 ม.ค. 2566