แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 161


สุ. พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งหนทางข้อปฏิบัติ ซึ่งสะสมมาที่จะเป็นแต่ละบุคคลต่างๆ กัน กรรมจำแนกให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินบ้าง เป็นมหาอำมาตย์บ้าง เป็นทาส เป็นกรรมกรบ้าง ไม่มีใครไปเปลี่ยนจิตใจของแต่ละคนที่ได้สะสมมาที่จะคิดนึกต่างๆ กันได้ เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ว่าเข้าไปอยู่ในสถานที่เดียวกัน เวลาจะเปลี่ยนอิริยาบถก็คิดเหมือนกันอีก นั่นไม่ทำให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงของแต่ละคน เพราะจิตของแต่ละคนวิจิตรมาก การที่จิตของใครจะคิดนึก จะทำกุศลกรรมอกุศลกรรมอย่างไร ก็แล้วแต่การสะสมมา นอกจากนั้นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทำให้วิบากจิตจะต้องเกิดขึ้นกับบุคคลนั้น สุขบ้าง ทุกข์บ้างอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่แต่ละบุคคลจะต้องรับ

เพราะฉะนั้น แต่ละบุคคลจึงเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ คนที่ไม่สบายเจ็บป่วยจะอยู่ที่ไหนก็ได้ เจริญสติปัฏฐานได้ไหม ในพระไตรปิฎกทรงแสดงธรรมให้บุคคลนั้นเจริญสติปัฏฐาน แม้คนเจ็บป่วยก็ยังเจริญสติปัฏฐานได้ ถ้าท่านผู้ใดเกิดทุกขเวทนากล้าในขณะนี้ เจ็บป่วยกระทันหัน ถ้าท่านเคยฟังการเจริญสติ เป็นปัจจัยให้สติของท่านเกิด เมื่อคนเจ็บยังควรเจริญสติปัฏฐาน แล้วคนดีๆ ทำไมถึงจะห้ามไม่ให้เจริญสติปัฏฐาน ให้เจริญแต่เฉพาะคนเจ็บคนป่วยหรือ คนดีๆ เจริญไม่ได้ต้องไปที่อื่นถึงจะเจริญสติปัฏฐานได้ อย่างนั้นจะถูกไหม เหตุต้องตรงกับผล

วิปัสสนาญาณแรก คือ นามรูปปริจเฉทญาณ การรู้ชัดในความเป็นอนัตตาของนามธรรมและรูปธรรม เลือกไม่ได้ จะไปเจาะจงบรรพไหนก็ไม่ได้ แต่ปัญญาของผู้นั้นต้องพร้อมที่จะไม่หวั่นไหว แล้วสติก็ระลึกต่อที่นามธรรมและรูปธรรมที่เกิดแล้วก็หมดไป เป็นลักษณะของนาม เป็นลักษณะของรูปแต่ละชนิดโดยความเป็นอนัตตา และการที่ไม่หวั่นไหว เพราะมีปกติเป็นผู้เจริญสติจนชิน

ถ. พระอรหันต์องค์แรกของโลก คือ ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ จนมาถึงท่านพระอัสสชิ ทั้ง ๕ รูปนี้ พระพุทธองค์ได้ทรงสอนให้เจริญมหาสติปัฏฐาน ๔ หรือเปล่า

สุ. แน่นอนที่สุด เพราะไม่มีหนทางอื่น นามรูปกำลังเกิดดับ ถ้าสติไม่เกิดขึ้นระลึกตรงลักษณะของนามและรูปที่เกิดดับอย่างรวดเร็วมาก แต่ธรรมคงทนต่อการพิสูจน์ ที่จะพิสูจน์ได้เพราะมีการระลึก คือ สติระลึกลักษณะที่กำลังปรากฏจนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้น รู้ชัด แล้วก็ชินขึ้น ละคลายมากขึ้น สภาพธรรมก็ปรากฏความเกิดดับ ความเป็นอนัตตาตามปกติ เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่การไปรู้ท่าทาง ซึ่งไม่มีลักษณะสภาวะของรูป

. คำว่า สภาวะนี้ ผมเคยติดใจสงสัย เคยเรียนถามท่านอาจารย์ผู้สอนภาษาบาลีว่าคืออะไร ท่านยกภาษาบาลีขึ้นมาว่า สนฺโต ภาโว สภาโว แปลว่า ธรรมชาติใดปรากฏให้รู้ได้ตามความเป็นจริง ธรรมชาตินั้นชื่อว่า สภาวะ ผมก็ถามว่า ธรรมชาติใดที่ปรากฏให้รู้ได้ตามความเป็นจริงนั้นคืออะไร ท่านตอบว่า อย่างดิน ธรรมชาติของดินปรากฏให้รู้ได้ โดยมีลักษณะแข็งหรืออ่อน ธรรมชาติของลมทำให้เคร่ง ตึง หรือไหวไป ธรรมชาติของไฟก็มีความร้อน ความเย็น เป็นธรรมชาติที่ปรากฏให้รู้ได้จริงๆ อย่างนี้ เป็นต้น ท่านยกอย่างนี้ขึ้นมาอ้าง ผมก็บอกว่าอย่างนี้ผมพอเข้าใจ

แต่สภาวะที่ได้สนทนากับท่านผู้ปฏิบัติ หรือท่านที่เจริญสติปัฏฐานโดยอาศัยห้องแคบๆ เจริญมาแล้วท่านก็บอกว่า สภาวะของท่านมีอีกอย่างหนึ่ง คือ นั่งแล้วเกิดเมื่อยขึ้นแล้วก็ไปยืน ผมก็บอกว่า เมื่อยเป็นสภาวะของอะไร เดี๋ยวนี้ผมอยากรู้กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เมื่อยเป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน แล้วผมจะรู้กายานุปัสสนาสติปัฏฐานได้อย่างไร

ท่านบอกว่า รูปที่นั่งอยู่เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ ให้รู้รูปนั่ง ผมก็ถามว่า แล้วจะรู้อะไร ท่านก็บอกว่าให้รู้รูปนั่งอีก ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ได้สนทนากับผู้ที่เพิ่งเจริญสติปัฏฐาน เขาบอกว่า การเจริญสติปัฏฐานให้ดูรูปนั่ง รูปยืน รูปเดิน ดูทั้งแท่งนี่แหละ ผมก็ว่า ถ้าดูทั้งแท่งแล้วจะไปรู้ลักษณะได้อย่างไร ท่านก็ตอบว่า ทำไมจะไม่รู้ ลักษณะก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เรายืนอยู่อย่างนี้ ยกแขนไปนิดหนึ่งก็เปลี่ยนรูปไปแล้ว ผมก็บอกว่า แล้วจะรู้ลักษณะอะไร ท่านตอบว่า ก็ลักษณะนั่นแหละ ผมก็ว่า คือลักษณะอะไร ก็ไม่รู้อยู่นั่นเอง ผมก็ถามว่า ท่านไปเจริญมานี้เป็นอย่างไรบ้าง ท่านบอกว่า สมาธิเอาไปกิน ผมถามว่าทำไม ท่านว่า ไปดูรูปนั่ง รูปนอนเพลิน เป็นสมาธิไป นิมิตอะไรๆ เกิดขึ้นมากมาย ต่อมาท่านเปลี่ยนมาเจริญรู้ทางใจ ผมถามว่า รู้อย่างไร ท่านตอบว่ากำหนดที่จิต ผมถามว่าได้อะไร ท่านตอบว่ากำลังเดินๆ อยู่ พอกำหนดไปๆ เกิดวูบที่จิต ล้มลงไปเลย ผมถามว่า แล้วรู้อะไร ตอนนี้คำตอบก็ชักไม่คงเส้นคงวา

ผมนำมาเรียนให้ฟังว่า ผมได้สนทนากับท่านที่เจริญมาแล้วอย่างนี้ แต่ผมเข้าใจว่า ถ้าผมจะรู้กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ผมก็ควรจะรู้ตามความเป็นจริงที่ปรากฏที่กาย แต่ที่กายนี้รูปนามยังไม่ปรากฏ แต่จะไปรู้ปัจจยปริคคหญาณบ้าง สัมมสนญาณบ้าง อุทยัพพยญาณบ้าง ผมบอกว่าผมยังไม่ถึงขนาดนั้นหรอก ขอขั้นต้น นามรูปปริจเฉทญาณ

สุ. ขอขอบคุณท่านผู้ฟังที่ได้เล่าเรื่องการสนทนาระหว่างผู้ปฏิบัติธรรมให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาผลและเหตุ การรู้ธรรมเป็นสิ่งที่พิจารณาได้ตั้งแต่เบื้องต้นทีเดียวว่า ข้อปฏิบัติใดมีเหตุผล หรือว่าข้อปฏิบัติใดไม่ทำให้ปัญญาเจริญแล้วรู้สภาพธรรมที่ถูกต้องตามความเป็นจริงได้ ขณะนี้ทุกท่านที่นั่งอยู่ บางท่านอาจจะเมื่อย สติระลึกรู้ได้ไหม ถ้าสติระลึกได้ตรงลักษณะนั้น สภาพที่กำลังปวดและเมื่อยนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ชื่อว่าท่านรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงใช่หรือไม่ใช่

โดยมากผู้ที่ไปสู่สำนักปฏิบัติแล้วกล่าวว่า ท่านอยู่ข้างนอกรู้ไม่ชัด ท่านต้องไปนั่งจนเมื่อย แล้วท่านก็รู้เมื่อย แต่ว่าปกติเมื่อย ปวดเจ็บในชีวิตประจำวันเป็นของจริง สติไม่ระลึก แล้วก็บอกว่าระลึกไม่ได้ รู้ไม่ได้ อย่างนี้จะทำให้เป็นปัญญาที่ถูกต้องแล้วละคลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้ไหม

อีกอย่างหนึ่ง ท่านบอกว่า การที่ไปสู่สำนักปฏิบัติได้รู้ทุกข์ คือ นั่งแล้วเมื่อยแล้วก็รู้ แต่ปกตินั่งเมื่อย ไม่รู้ หรือยืน เดิน เมื่อยธรรมดา ไม่รู้ แต่ไปรู้เวลาที่อยู่สำนักปฏิบัติ ท่านคิดว่า ท่านรู้ทุกข์ รู้ปัจจัย รู้ว่ารูปนั่งเป็นปัจจัยให้เกิดความเมื่อยขึ้น

สังขารธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ปัญญาของผู้ที่เจริญสติรู้ปัจจัยของสังขารธรรมทั้งหลายที่เกิดแล้วตามความเป็นจริง ขณะนี้เห็นมีแล้ว เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย ได้ยินกำลังมี เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย

ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานมีความรู้เพิ่มขึ้นจากนามรูปปริจเฉทญาณที่รู้ชัดในความเป็นอนัตตาของนามธาตุ ของรูปธาตุ แต่ละอย่างตามความเป็นจริงแล้ว ซึ่งนั่นเป็นแต่เพียงปัญญาขั้นต้น เพราะเหตุว่ายังไม่ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามและรูป และที่ยังไม่ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามและรูปที่เป็น อุทยัพพยญาณ เพราะสัมมสนญาณยังไม่เกิด ที่สัมมสนญาณยังไม่เกิด ก็เพราะปัจจยปริคคหญาณยังไม่เกิด

ญาณที่รู้ปัจจัยไม่ใช่รู้แต่เพียงว่า นั่งเมื่อย รูปนั่งเป็นปัจจัยให้เกิดเมื่อย แต่ปัจจัยของนามและรูปที่ทำให้นามและรูปเกิดขึ้นตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเดี๋ยวนี้และต่อไป ไม่รู้

กำลังเห็นเป็นสภาวธรรม เกิดแล้วเพราะมีเหตุปัจจัย ไม่รู้

กำลังได้ยิน เกิดแล้วเพราะมีเหตุปัจจัย ไม่รู้

คิดนึก เกิดแล้วเพราะมีเหตุปัจจัย ไม่รู้

ไปรู้เพียงว่านั่งเมื่อย รูปนั่งเป็นปัจจัยให้เมื่อย นั่นไม่ใช่การพิจารณานามและรูปจนทั่วจนชินในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งนามและรูปเสมอกันหมด ซึ่งการรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปทรงแสดงไว้โดยละเอียดทีเดียว

สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังคปกรณ์ ปฏิจจสมุปปาท วิภังคนิทเทส มีข้อความว่า

ผู้ที่จะแสดงธรรม คือ ปัจจัย ไม่ปฏิเสธพระสูตร คล้อยตามพระวินัย ตรวจดูมหาปเทส

นี่เป็นเพียงการแสดงเรื่องของปัจจัย แต่ยังไม่ใช่ปัญญาที่รู้ชัดในขณะที่นามธรรม รูปธรรม เกิดปรากฏในขณะนั้น และรู้แจ้งถึงความเป็นปัจจัยที่เกิดของนามและรูปในขณะนั้น

สำหรับท่านที่เจริญสติปัฏฐานแบบนั่งเมื่อยแล้วก็เปลี่ยน จำกัดอยู่ในห้อง ท่านคล้อยตามพระวินัยข้อไหน ตรวจสอบได้ในพระวินัยปิฏก พระภิกษุท่านก็ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยปิฏกตั้งแต่ครั้งโน้นจนถึงครั้งนี้ แล้วเจริญสติปัฏฐานด้วย

ข้อความใน สัจจวิภังคนิทเทส ใน นิทเทสมัคคสัจจ์ ใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังคปกรณ์ มีเรื่องการแทงตลอดในสัจธรรมทั้ง ๔ ว่า

สัจจะทั้ง ๔ เห็นได้ยากเพราะลึกซึ้ง ความพยายามเพื่อจะแทงตลอดอริยสัจธรรม ย่อมเป็นดุจการเอื้อมมือเพื่อจับภวัคพรหม (คือ อรูปพรหม) เป็นดุจการเหยียดเท้าเพื่อแหย่งอเวจี แล้วเป็นดุจการเอาปลายขนทรายจรดปลายขนทรายอันเจียดแล้ว ๑๐๐ เสี่ยง

สัจจะทั้ง ๔ คือ ทุกขอริยสัจจะ การประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่ง่ายๆ ที่พอเมื่อยก็รู้ว่าเป็นปัจจัย แล้วก็เป็นการรู้สภาวะ แล้วก็ประจักษ์สันตติขาด เพราะเหตุว่าการที่จะประจักษ์สันตติของนามหรือรูปขาดโดยความเกิดขึ้นและดับไปที่เป็นขั้นอุทยัพพยญาณนั้น ต้องมีการพิจารณานามและรูปที่เป็นปกติในชีวิตประจำวันจนกระทั่งมีความรู้ว่า นามและรูปทั้งหมดเสมอกัน กรรมจำแนกให้บุคคลต่างกัน เป็นพระราชา เป็นมหาอำมาตย์ เป็นทาสกรรมกร แต่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานประจักษ์ลักษณะที่เสมอกันของนามธรรมและรูปธรรม

การเห็นไม่ว่าจะอยู่ ณ สถานที่ใด เห็นสิ่งที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ ก็เสมอกัน การได้ยินเสียงที่น่าพอใจ หรือเสียงที่ไม่น่าพอใจ ในสถานที่ไหน การได้ยินนั้นก็เสมอกัน เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นแต่เพียงรูปธรรม การได้กลิ่น ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นที่ประณีตที่สถานที่ใด กลิ่นอะไร ปัญญาก็รู้ถึงความเสมอกันของนามธรรมและรูปธรรม

เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะประจักษ์สันตติขาด ปัญญาจะต้องพิจารณานามและรูปจนทั่ว จนชิน จนเสมอกันหมด จะไม่มีคำกล่าวว่า เวลาที่อยู่ในห้องกัมมัฏฐานแล้วรู้ชัด ผู้ที่อยู่นอกห้องรู้ไม่ชัด ด้วยเหตุนี้ถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงสรรเสริญความไม่คลุกคลี ก็ไม่มีห้องกัมมัฏฐานในครั้งพุทธกาล

ก่อนที่ท่านจะคิดว่า ท่านประจักษ์สันตติขาด กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เตือนตัวเองเสียก่อนว่า รู้ชัดหรือยังในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้ายังไม่รู้ชัดก็อย่าได้คิดถึงอุทยัพพยญาณ หรือว่า สันตติขาดเลย

ขอกล่าวถึงบุคคลในครั้งอดีต เพื่อเป็นตัวอย่างที่จะให้ท่านผู้ฟังเห็นว่า การรู้แจ้งหรือว่าการแทงตลอดสัจธรรมนั้น เป็นการยากเพียงไร

สังยุตตนิกาย สคาถวรรค กามทสูตรที่ ๖ มีข้อความว่า

กามทเทวบุตรยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมณธรรมทำได้ยาก ข้าแต่พระผู้มีพระภาค สมณธรรมทำได้โดยยากยิ่ง

ซึ่งข้อความใน สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย มีว่า

เทพบุตรนี้ได้เป็นผู้ที่บำเพ็ญเพียรในกาลก่อน แล้วข่มกิเลสด้วยการประกอบความเพียร แต่เพราะเป็นผู้ที่มีกิเลสกล้า กระทำสมณธรรมก็ไม่บรรลุ อริยภูมิ เพราะเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยในกาลก่อนน้อย แล้วกระทำกาลกิริยา บังเกิดใน เทวโลก เทพบุตรนั้นไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาค กราบทูลซึ่งเรื่องการกระทำได้โดยยาก เพราะเป็นการกระทำที่ต้องเจริญนาน

รู้ยาก หรือรู้ง่าย สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ที่กำลังเกิดดับจริงๆ ไม่ใช่ตัวตนเลย ที่จะประจักษ์และทำให้ถึงอริยภูมิได้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ชนทั้งหลายผู้ตั้งมั่นแล้วด้วยศีลแห่งพระเสขะ มีตนตั้งมั่นแล้ว ย่อมกระทำแม้ซึ่งสมณธรรมอันบุคคลทำได้โดยยาก ความยินดีย่อมนำสุขมาให้แก่บุคคลผู้เข้าถึงแล้วซึ่งความเป็นผู้ไม่มีเรือน

กามทเทวบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อที่หาได้ยากนี้ คือ ความสันโดษยินดี

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ชนเหล่าใดยินดีแล้วในความสงบแห่งจิต ชนเหล่าใดมีใจยินดีแล้วในความอบรมจิตทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นย่อมได้แม้ซึ่งสิ่งที่ได้โดยยาก

การอบรมจิต คือ การเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง เพราะไม่ว่านามธรรมใดจะเกิดขึ้น ก็เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่ได้สะสมมาตามความเป็นจริง ท่านผู้ใดมีความตระหนี่เกิดขึ้น สติระลึกได้ว่า ยังมีกิเลสที่ไม่ได้ละคือความตระหนี่ เพราะฉะนั้น ความตระหนี่ก็มีปัจจัยเกิดขึ้นได้ ท่านผู้ใดกำลังริษยา คนอื่นไม่รู้เลย สติระลึกรู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย

เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมตน คือ ผู้ที่เจริญสติระลึกรู้ว่า สภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แล้วก็ขัดเกลา การละคลายกิเลสจึงจะดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทได้เป็นลำดับ แต่ไม่ใช่ว่า ให้ท่านไปบังคับไว้ตลอดเวลา ไม่ให้เกิดโลภะ ไม่ให้เกิดริษยา ไม่ให้เกิดตระหนี่ ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นแล้ว ท่านจะไม่รู้ว่า สังขารธรรมทั้งหลายนั้นไม่ใช่ตัวตน แต่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จะไม่ถึงแม้ปัจจยปริคคหญาณ เพราะเหตุว่าท่านไม่ได้พิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

กามทเทวบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ธรรมชาติที่ตั้งมั่นได้ยากนี้ คือ จิต

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ชนเหล่าใดยินดีแล้วในความสงบอินทรีย์ ชนเหล่านั้นย่อมตั้งมั่นซึ่งจิตที่ตั้งมั่นได้ยาก

ดูกร กามทเทวบุตร อริยะทั้งหลายเหล่านั้นตัดข่ายแห่งมัจจุได้

การสนทนาระหว่างกามทเทวบุตรกับพระผู้มีพระภาคก็ได้เป็นไปในเรื่องของสติปัฏฐาน ตามข้อความที่กามทเทวบุตรกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ธรรมชาติที่ตั้งมั่นได้ยากนี้ คือ จิต

จิตตั้งมั่นไม่ได้ ถ้าสติไม่ระลึกในขณะที่กำลังเห็น เพลินไปอีกแล้ว เป็นตัวตนมากมายทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตไม่ตั้งมั่นเสียเลย ท่านจะกล่าวว่าอย่างนี้ เพราะท่านมุ่งหมายที่จะให้จิตตั้งมั่น คือ สติมั่นคง สติมั่นคงนี้หมายความว่า ระลึกได้ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นขณะไหน ขณะที่กำลังเห็น สติก็ระลึกได้ เห็นสิ่งที่ประณีต สติก็ระลึกได้ เห็นสิ่งที่น่าขัดเคือง สติก็ระลึกได้ นั่นคือสติที่มั่นคง แล้วก็เป็นจิตที่ตั้งมั่น

การที่สติจะมั่นคง จิตจะมั่นคง เป็นเรื่องของการอบรมจิต


หมายเลข  5825
ปรับปรุง  14 ม.ค. 2566