แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 168


สำหรับการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แม้ในขณะที่เป็นกุศลจิต และในขณะที่ให้ทาน เพื่อที่ให้ได้รู้จักตัวท่านอย่างแท้จริง

ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ทานสูตรที่ ๑ มีว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทาน ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ

บางคนเตรียมไว้ให้ทาน ๑

บางคนให้ทานเพราะกลัว ๑

บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เขาให้แก่เราแล้ว ๑

บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เขาจักให้ตอบแทน ๑

บางคนให้ทานเพราะนึกว่า ทานเป็นการดี ๑

บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เราหุงหากิน ชนเหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่ชนเหล่านี้ผู้ไม่หุงหากิน ไม่สมควร ๑

บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเราให้ทาน กิตติศัพท์อันงามย่อมฟุ้งไป ๑ บางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทาน ๘ ประการนี้แล

ท่านที่เคยให้ทานมาแล้ว เป็นไปในลักษณะใดบ้างใน ๘ อย่างนี้

มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต มีคำอธิบายว่า

การให้ทานประการที่ ๑

บางท่านนั้นเป็นผู้ที่ตระเตรียมไว้พร้อมที่จะให้ทาน มีอุปนิสัยที่ได้สะสมมาในการที่จะระลึกถึงบุคคลอื่น ในการที่จะสละวัตถุที่ท่านมี จะมากหรือจะน้อยก็ตาม แต่เป็นผู้พร้อมที่จะให้ได้ เวลาที่มีผู้ที่สมควรแก่การรับ ท่านก็ไม่ลำบากใจ ไม่วุ่นวายใจ เพราะเหตุว่าท่านยังไม่ได้ตระเตรียมวัตถุที่จะให้ไว้

อย่างเช่น บางท่านอาจจะเตรียมน้ำไว้สำหรับคนเดินทางที่หิวกระหายมา เตรียมอาหาร เตรียมขนม เตรียมเสื้อผ้า ของใช้ ซึ่งพร้อมที่จะอุปการะเกื้อกูลกับบุคคลอื่น ซึ่งสมควรแก่การที่จะได้รับการเกื้อกูลนั้นๆ นี่เป็นท่านที่เตรียมไว้ให้ทาน

ประการที่ ๒ คือ บางคนให้ทานเพราะกลัว

ไม่ได้หมายความว่า ให้อย่างโจรผู้ร้ายมาขู่เข็ญไป อย่างนั้นไม่ใช่ทาน เพราะไม่มีเจตนาให้

สำหรับทาน ถ้ากล่าวถึงสภาพธรรมได้แก่ เจตนาที่เป็นเหตุให้ ชื่อว่า ทาน

ถ้าให้โดยไม่มีเจตนา ตกไป หายไป จะกล่าวว่าเป็นทานได้ไหม ไม่ได้ ไม่มีเจตนาที่จะให้

เจตนา เป็นเจตสิกธรรมชนิดหนึ่ง เป็นความจงใจ เป็นความตั้งใจ เพราะ ฉะนั้น เจตนาที่เป็นเหตุให้นั้น ชื่อว่า ทาน

ทานมีความหมาย ๓ อย่าง คือ จาคเจตนา เจตนาให้ ๑ วิรัติ คือ เจตนาเว้นทุจริต ซึ่งได้แก่ศีล เป็นอภัยทานทั้งหมด ๑ และมุ่งหมายถึงไทยธรรม คือ วัตถุที่ให้ มีข้าว น้ำ เป็นต้น ๑

แต่สำหรับเรื่องของบุญกิริยา ที่กล่าวถึงทานนั้นมุ่งหมาย จาคเจตนา คือ เจตนาให้วัตถุเป็นทาน

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าของหายไป ตกหล่นไปก็จะเป็นทาน หรือว่า ถูกข่มขู่ก็ให้ไป แล้วกล่าวว่าเป็นทานก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่เป็นทานเพราะบางคนนั้นให้ทานเพราะกลัว กลัวในที่นี้ หมายความถึงกลัวครหา กลัวว่าจะเสื่อมเสียชื่อเสียงว่า ผู้นี้ไม่ใช่ทายก ผู้นี้ไม่ใช่ผู้ให้ บางคนกลัวอย่างนั้นจึงให้ ก็เป็นเจตนาให้เหมือนกัน แต่ว่าให้เพราะอะไร สภาพธรรมที่เกิดปรากฏเป็นของจริงในขณะนั้น ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง จะเพราะกลัวครหา กลัวว่าจะเป็นที่ติเตียนว่าไม่ใช่ทายก ไม่ใช่ผู้ให้จึงได้ให้ แต่การให้นั้น คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้ แต่ผู้ที่เจริญสติรู้ได้ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง

ประการที่ ๓ คือ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เขาให้แก่เราแล้ว

การให้มีหลายลักษณะ บางทีให้ด้วยคิดว่า เมื่อก่อนนี้ผู้นี้ได้ให้สิ่งนี้แก่เรา ก่อน จึงให้เป็นการตอบแทน การให้เป็นเรื่องดี แต่ถ้าคนนั้นไม่เคยให้อะไรเราเลย เราจะไม่ให้เขาอย่างนั้นหรือ เป็นเรื่องของแต่ละคน เพราะจิตของท่านสะสมมาที่จะคิดจะนึกอย่างไร ห้ามไม่ได้ แต่สติสามารถระลึกรู้ลักษณะของการให้ว่า ขณะที่ให้ไปในแต่ละครั้งนั้น เป็นเพราะเหตุใด

การที่ให้เพราะว่าผู้นั้นเคยให้สิ่งนั้นแก่เราก่อน ก็เป็นการดี ถูกต้อง เป็นเรื่องของความกตัญญูกตเวที แต่อย่าให้เพราะความจำใจ ที่จำเป็นต้องให้ เพราะว่าผู้นั้นเคยให้ก่อน

ประการที่ ๔ คือ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เขาจักให้ตอบแทน

ให้เขาก่อนแล้วเขาจักให้เราบ้าง อย่างนี้ไม่ดี เพราะหวังผลตอบแทน ถ้าคิดอย่างนี้ขึ้นมา ยับยั้งได้ไหม ไม่ได้ แต่สติระลึกรู้ว่า แม้การคิดอย่างนั้น ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง

ประการที่ ๕ คือ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า ทานเป็นการดี

มีการอบรมสั่งสอนกุลบุตร กุลธิดาตั้งแต่เด็กให้สละวัตถุ เพื่อไม่ให้ติดข้อง ไม่ให้ตระหนี่ ให้เกื้อกูลกันสำหรับสัตว์โลกที่เกิดมาร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน เมื่อมีการสอน มีการอบรมว่า สิ่งใดดี สิ่งนั้นก็ควรประพฤติปฏิบัติตาม บางท่านจึงให้ทาน เพราะนึกว่าทานเป็นการดี

ประการที่ ๖ คือ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เราหุงหากิน ชนเหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่ชนเหล่านี้ ผู้ไม่หุงหากิน ไม่สมควร

นี่เป็นการเอื้อเฟื้อ

ประการที่ ๗ คือ บุคคลให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเราให้ทาน กิตติศัพท์อันงามย่อมฟุ้งไป

อยากได้อะไรหรือเปล่าจึงได้ให้ ตราบใดที่ตัวตนยังไม่หมด ก็ยังมีการยึดถืออย่างเหนียวแน่น ซึ่งจะขัดเกลาให้หมด คลายลงไปได้ก็ด้วยการเจริญสติ

ประการที่ ๘ คือ บางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต

มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย มีข้อความว่า

การปรุงแต่งจิตนั้นก็เพื่อเป็นเครื่องประกอบให้จิตใจสะอาด เพื่อสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา เพราะเหตุว่าทานนั้นทำให้จิตอ่อนโยน ผู้ใดได้ให้ทานแล้ว ผู้นั้นก็มีจิตอ่อนโยนว่า เราได้ให้ทานแล้ว ผู้ใดได้รับทานแล้ว ผู้นั้นก็มีจิตอ่อนโยนว่า ทานเราได้รับแล้ว ทำให้มีจิตอ่อนโยนทั้งผู้ให้และผู้รับ

สำหรับทานที่จะปรุงแต่งจิต เพื่อเจริญความสงบ เพื่อสมถภาวนา เป็น จาคานุสติที่ได้ให้ทาน ซึ่งเป็นกุศลกรรม เมื่อจิตน้อมระลึกถึงทานที่สละให้ไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยทำให้จิตสงบจากอกุศล และถ้าน้อมระลึกถึงบ่อยๆ ก็ทำให้จิตสงบเป็นสมาธิ นั่นเป็นการปรุงแต่งจิตใจให้สงบ เพื่อเจริญความสงบของจิตเป็นสมถภาวนา และเพื่อเจริญวิปัสสนา

การยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน หนาแน่นเหนียวแน่นมาก ถ้าไม่เจริญกุศลทุกประการ ย่อมยากที่จะให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป แต่ถ้าเจริญกุศลทุกประการอยู่แล้ว ก็เป็นการขัดเกลา ละเว้นอกุศลจิต อกุศลธรรม เป็นปัจจัยให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ่อยๆ เนืองๆ แม้ในขณะที่กำลังให้ ก็เจริญสติปัฏฐาน

ในพระไตรปิฎกแสดงการให้ไว้หลายลักษณะ ซึ่งจะขอกล่าวถึงเพียงบางพระสูตร

อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ทานวัตถุสูตร มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทานวัตถุ ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ

บางคนให้ทานเพราะชอบพอกัน ๑

บางคนให้ทานเพราะโกรธ ๑

บางคนให้ทานเพราะหลง ๑

บางคนให้ทานเพราะกลัว ๑

บางคนให้ทานเพราะนึกว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้มา เคยทำมา เราไม่ควรให้เสียวงศ์ตระกูลดั้งเดิม ๑

บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เราให้ทานนี้แล้ว เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑

บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตใจย่อมเลื่อมใส ความเบิกบานใจ ความดีใจ ย่อมเกิดตามลำดับ ๑

บางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทานวัตถุ ๘ ประการ นี้แล

ซึ่งใน มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตตรนิกาย ได้อธิบายว่า

ประการที่ ๑ บางคนให้ทานเพราะชอบพอกัน

โดยฐานะที่ว่า เป็นมิตรสหาย เป็นหมู่คณะ เป็นพวกเป็นพ้อง จึงได้ให้ ไม่ได้มุ่งประโยชน์ของการให้ แต่เป็นเพราะเหตุว่าชอบพอกัน เป็นมิตรสหายกัน

ประการที่ ๒ บางคนให้ทานเพราะโกรธ

เป็นไปได้ไหม ในอรรถกถากล่าวว่า คนโกรธแล้ว สิ่งใดมีอยู่ ก็รีบจับส่งสิ่งนั้นให้ไปเลย ถ้าเป็นการให้ที่ไม่มีความโกรธ ก็คงจะให้ด้วยความนอบน้อม ด้วยความเคารพ

ประการที่ ๓ บางคนให้เพราะหลง

ความว่า เป็นผู้หลงไปเพราะโมหะ เพราะไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ไม่รู้ว่าสิ่งที่ให้ไปแล้วนั้นจะเป็นประ โยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ ความเข้าใจผิดในพระธรรมวินัยมี แทนที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พระศาสนา ก็อาจจะไปส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจผิดยิ่งขึ้นก็เป็นได้

ประการที่ ๔ บางคนให้เพราะกลัว

คือ กลัวครหา กลัวเสื่อมเสียชื่อเสียงว่า ถ้าไม่ให้แล้วจะเป็นโทษ ไม่เป็นที่เคารพนับถือของบุคคลอื่น หรือเป็นที่ตำหนิติเตียนของบุคคลอื่นได้ หรือเพราะกลัวอบายภูมิ

ประการที่ ๕ บางคนให้เพราะนึกว่า ไม่ให้เสียวงศ์ตระกูล

กล่าวคือ เป็นประเพณีของตระกูล จึงให้

ประการที่ ๖ บางคนให้เพราะนึกว่า เราให้ทานนี้แล้ว เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

มุ่งหมายเพียงเท่านั้นเอง ต้องการผล คือ ได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ที่ดีๆ

ประการที่ ๗ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตใจย่อมเลื่อมใส ความเบิกบานใจ ความดีใจ ย่อมเกิดตามลำดับ

ยังมีความเป็นตัวตน ยังอยากให้ตัวตนนี้สบายใจ บางคนพอเกิดไม่สบายใจ กลุ้มใจ ก็ให้ทานเพื่อให้ใจสบาย แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของนามธรรมของรูปธรรม

เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า ผู้ที่ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ คือ เป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม มีศรัทธา เป็นต้น ถึงแม้ว่าผู้นั้นจะมีของน้อยก็ให้ได้ ซึ่งทานของบุคคลอื่นนั้น ย่อมไม่เทียมเท่า เพราะที่ทานจะมีผลน้อยหรือมีผลมากนั้น ก็เพราะความบังเกิดขึ้นแห่งทาน ถ้าความบังเกิดขึ้นแห่งทานไม่บริสุทธิ์ ผลของทานก็น้อย แต่ถ้าท่านผู้นั้นประพฤติธรรมสม่ำเสมอ ถึงแม้ท่านจะมีของน้อยที่ท่านให้ได้ แต่ความประพฤติธรรมสม่ำเสมอทำให้ทานนั้น มีอานิสงส์มาก มีผลมาก

อย่างท่านที่เจริญสติเป็นปกติ เวลาที่ให้ทาน สติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมของรูปธรรม ผลและอานิสงส์ คือ ดับทุกข์ทั้งปวง ดับภพ ดับชาติ ดับการยึดถือในขณะที่ให้นั้นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ซึ่งดีกว่าการที่จะไปหวังสุคติโลกสวรรค์ และผลของทานประการอื่นๆ

ขอกล่าวถึง อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ทานสูตร เพื่อให้พิจารณาผลและอานิสงส์ของทาน

ท่านเคยให้ทานมาแล้ว ทานในอดีตที่จะให้ผล จะให้ผลอย่างไร ให้อานิสงส์อย่างไร และเมื่อเข้าใจธรรมและสติปัฏฐานที่ควรเจริญมากขึ้นแล้ว ผลของทานการให้นั้น จะต่างกับในครั้งก่อนอย่างไร

อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ทานสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งสระโบกขรณี ชื่อคัคครา ใกล้ จัมปานคร ครั้งนั้นแล อุบาสกชาวเมืองจัมปามากด้วยกัน เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรว่า

ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค พวกกระผมได้ฟังมานานแล้ว ขอได้โปรดเถิด พวกกระผมพึงได้ฟังธรรมีกถาของพระผู้มีพระภาค

ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้นท่านทั้งหลายพึงมาในวันอุโบสถ ท่านทั้งหลายพึงได้ฟังธรรมีกถาในสำนักพระผู้มีพระภาคแน่นอน

อุบาสกชาวเมืองจัมปารับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ลุกจากที่นั่ง อภิวาท กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป ต่อมาถึงวันอุโบสถ อุบาสกชาวเมืองจัมปาพากันเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรพร้อมด้วยอุบาสกชาวเมืองจัมปา เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานเช่นนั้นนั่นแลที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก พึงมีหรือหนอแล และทานเช่นนั้นแลที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก พึงมีหรือพระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร สารีบุตร ทานเช่นนั้นนั่นแลที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก พึงมี และทานเช่นนั้นนั่นแลที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก พึงมี

โดยมากพยัญชนะที่ท่านจะได้ยินได้ฟัง คือ คำว่าผล กับคำว่า อานิสงส์ ซึ่งทั้งสองคำนี้มีความหมายอย่างเดียวกัน เป็นคำที่ใช้แทนกันได้ในที่ทั่วไป แต่เวลาที่พูดถึงความบริสุทธิ์ของจิต หรือความบริสุทธิ์ของธรรม ในพระสูตรนี้ได้แยกความหมายของคำว่า ผล กับคำว่า อานิสงส์ เพราะฉะนั้น ทุกท่านจะได้พิจารณาว่า ทานที่ท่านได้กระทำแล้ว จะเป็นทานประเภทที่มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก หรือว่ามีผลมาก และมีอานิสงส์มาก

ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นแลที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก

อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นนั่นแลที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ท่านพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกผู้เลิศในทางปัญญา แต่แม้กระนั้นในเรื่องความลึกซึ้ง ความละเอียด ความวิจิตรของธรรม ท่านพระสารีบุตรก็กราบทูลถามพระผู้มีพระภาค เพื่อให้ทรงพยากรณ์ไว้เป็นการแน่นอนและแจ่มแจ้ง ไม่ใช่คิดเอง

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร สารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ยังมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผลให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน

ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปแล้ว จักได้เสวยผลทานนี้ เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีปและเครื่องอุปกรณ์ แก่สมณะหรือพราหมณ์

ดูกร สารีบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ

ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า

อย่างนั้น พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร สารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผลให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปแล้วจะได้เสวยผลทานนี้ เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้น จาตุมหาราช สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก

ดูกร สารีบุตร ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่มีหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลให้ทาน ไม่มุ่งหวังการสั่งสมให้ทาน ไม่คิดว่า ตายไปแล้วจะได้เสวยผลทานนี้แล้วให้ทาน แต่ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีป และเครื่องอุปกรณ์แก่สมณะหรือพราหมณ์

ดูกร สารีบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ

ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า

อย่างนั้นพระเจ้าข้า


หมายเลข  5836
ปรับปรุง  22 ม.ค. 2566


วีดีโอแนะนำ