แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 170


สำหรับข้อสุดท้ายที่ว่า ผู้ให้ธรรม ชื่อว่าให้อมตะ ท่านเปรียบกับผู้ที่ให้โภชนะอันประณีต ผู้ที่ยังบาตรให้เต็มด้วยโภชนะอันประณีต ชื่อว่าให้อมระ คือ ให้ความไม่ตาย ให้ชีวิต

สำหรับธรรมนั้น ในอรรถกถาแสดงว่า ผู้ใดพร่ำสอนธรรม กล่าวอรรถกถา บอกบาลี แก้ปัญหาที่ถามแล้ว บอกกัมมัฏฐาน ฟังธรรม ทั้งหมดนี้ชื่อว่า พร่ำสอนธรรม ก็ธรรมทานนี้เท่านั้น พึงทราบว่า เลิศกว่าทานทุกอย่าง ด้วยเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ธรรมทาน ชนะซึ่งการให้ทั้งปวง

เพราะเหตุว่าการให้ธรรม ให้ความเข้าใจในธรรมนั้น เป็นเหตุที่จะให้บุคคลนั้นเจริญกุศล เจริญสติ เจริญปัญญายิ่งๆ ขึ้น

ความยินดีในธรรม ชำนะซึ่งความยินดีทั้งปวง รสแห่งธรรมชำนะซึ่งรสทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหาชำนะซึ่งทุกข์ทั้งปวง

แสดงให้เห็นว่า สิ่งใดก็ตามที่เป็นประโยชน์ ควรให้ เป็นการขัดเกลาจิตใจ เป็นการไม่พอกพูนอกุศล เจริญสติเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แม้ในขณะที่ให้ เพราะเหตุว่าการเจริญสติปัฏฐาน เป็นทางที่จะทำให้ปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

เวลาที่ให้ทาน บางท่านขอผลของทานต่างๆ ขอจนกระทั่งให้ถึงมรรคผลนิพพาน แต่ผลทั้งหลายจะต้องมาจากเหตุ การที่ขอผลของทานว่า ให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยไม่เจริญสติ ไม่มีหนทางเลยที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ แต่ท่านที่ตั้งใจเวลาที่ให้ทาน และไม่ได้ขออย่างอื่น แต่ขอบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็มีโอกาสที่ผลของทานนั้นจะเป็นปัจจัยให้ท่านมีโอกาสได้ฟังธรรม ได้เข้าใจในการเจริญสติปัฏฐาน

ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ อุโบสถวิมาน มีข้อความว่า

ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ ได้ถามถึงบุพพกรรมของนางเทพธิดานั้นว่า

ดูกร แม่เทพธิดา ท่านมีวรรณะงามยิ่งนัก มีรัศมีส่องสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ สถิตย์อยู่เหมือนดาวประกายพฤกษ์ เพราะบุญกรรมอะไร ท่านจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้ และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ เพราะบุญกรรมอะไร

นางเทพธิดานั้น อันท่านพระมหาโมคคัลลานเถระถามแล้ว มีความปลาบปลื้มใจ ได้พยากรณ์ปัญหาแห่งผลกรรมที่ถูกถามนั้นว่า

ดิฉันเป็นอุบาสิกาอยู่ในเมืองสาเกต ประชาชนเรียกดิฉันว่า แม่อุโบสถ เป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยศรัทธาและศีล ได้เป็นอุบาสิกาของพระสมณโคดมผู้มีพระจักษุ สมบูรณ์ด้วยพระเกียรติยศ เพราะบุญกรรมนั้น ดิฉันจึงมีวรรณงามเช่นนี้ และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศเพราะบุญนั้น

เมื่อเทพธิดานั้นจะแสดงโทษของตน นางเทพธิดานั้นจึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาอีกว่า

ความพอใจได้เกิดมีแก่ดิฉัน เพราะได้ทราบถึงทิพยสมบัติต่างๆ ในนันทวันเนืองๆ เพราะเหตุที่ตั้งใจไว้ ดิฉันจึงได้บังเกิดในนันทวัน ชั้นดาวดึงส์พิภพนั้น

นี่เป็นข้อ ๑ และอีกข้อ ๑ นางเทพธิดาได้กล่าวว่า

ดิฉันมิได้ใส่ใจถึงพระวาจาของพระพุทธเจ้าเหล่ากอแห่งพระอาทิตย์ ตั้งจิตไว้ในภพอันเลว จึงมีความเดือดร้อนในภายหลัง

เมื่อท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ฟังคำของนางเทพธิดาแล้ว เพื่อที่จะปลุกปลอบใจนางเทพธิดานั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ จึงกล่าวคาถานี้ ความว่า

ดูกร แม่เทพธิดา อาตมาถามท่านแล้ว ถ้าทราบอายุของท่านผู้อยู่ในอุโบสถวิมานในโลกนี้ จงบอกว่า สิ้นกาลนานเท่าไร

นางเทพธิดานั้นตอบว่า

ข้าแต่ท่านจอมปราชญ์ ดิฉันดำรงอยู่ในอุโบสถวิมานนี้ สิ้นกาลประมาณ ๖ หมื่นปีทิพย์ จุติจากที่นี่แล้ว จะไปบังเกิดเป็นมนุษย์

ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระได้ยังนางเทพธิดานั้น ให้อาจหาญร่าเริง ด้วยคาถานี้ ความว่า

ท่านอย่าสะทกสะท้านถึงการอยู่ในอุโบสถวิมานนี้เลย ท่านเป็นผู้อัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้แล้ว ท่านจักถึงคุณวิเศษ คือ เป็นพระโสดาบัน ทุคติของท่าน ก็จะพลันเสื่อมไป

นี่เป็นชีวิตจริงของอุบาสิกาท่านหนึ่งในเมืองสาเกต ถ้าท่านศึกษาจากประวัติของพระอริยสาวกทั้งหลาย จะเห็นได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่ได้เคยฟังธรรม ได้เคยมีศรัทธา แม้ในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระวิปัสสี ล่วงไปจนกระทั่งถึงสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ล่วงไปอีกจนถึงสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระสมณโคดมพระองค์นี้ จึงได้บรรลุอริยสัจธรรม

แสดงให้เห็นว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นละเอียด ต้องรู้ทั่ว รู้ชัด รู้จริง และความรู้นั้นก็ละคลายการยึดถือนามและรูปที่เคยหลงยึดถือว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้จริงๆ แต่ที่จะเป็นพระอริยบุคคลโดยที่กำลังเห็น ก็ไม่รู้ว่าเป็นนามเป็นรูป กำลังได้ยิน ก็ไม่รู้ว่าเป็นนามเป็นรูป กำลังได้กลิ่น กำลังคิดนึก กำลังเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน สติก็ไม่เกิด ไม่ระลึก ไม่รู้ว่าเป็นนามเป็นรูป เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะเว้นไม่ให้มีความรู้เกิดขึ้น หรือว่าพอระลึกแล้ว ก็ยังคงไม่รู้อยู่นั่นเอง ถ้าไม่รู้อย่างนี้จริงๆ ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

เพราะฉะนั้น การรู้แจ้งอริยสัจธรรม สำหรับผู้ที่รู้ชัด ไม่มีปัญหาเลยว่า ขณะนี้ท่านผู้ใดจะบรรลุอริยสัจธรรม เป็นพระอรหันต์ก็เป็นได้ เป็นพระอนาคามีก็เป็นได้ เป็นพระสกทาคามีก็เป็นได้ เป็นพระโสดาบันก็เป็นได้ หรือจะรู้แจ้ง ถึงความสมบูรณ์ของวิปัสสนาญาณขั้นหนึ่งขั้นใดก็เป็นได้ เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาที่รู้ชัดในขณะที่สติระลึก และสติก็เป็นอนัตตา จะเกิดขึ้นระลึกเดี๋ยวนี้ก็ได้ ไม่มีการที่จะไปยับยั้ง หรือจะไปห้ามว่า ขณะนี้สติจะระลึกไม่ได้

แต่ถ้ายังไม่ได้เป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ไม่พึงเป็นผู้ประมาท แม้ในครั้งพุทธกาล เรื่องความประมาทจะไม่เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ไม่ว่าผู้ที่ยังไม่ได้เจริญอินทรีย์ หรือผู้ที่ได้เจริญอบรมอินทรีย์มามากแล้ว

มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ภิกขุวรรค มหาราหุโลวาทสูตร มีข้อความว่า

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เวลาเช้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี มีท่านพระราหุลตามเสด็จไป ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ พระผู้มีพระภาคทรงผินพระพักตร์ไปรับสั่งกับท่านพระราหุลว่า

รูปอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นอดีต เป็นอนาคต และเป็นปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ใกล้ก็ดี รูปทั้งปวงนี้ พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้

ซึ่งท่านพระราหุลก็ได้อบรมอินทรีย์มามาก พร้อมที่จะได้บรรลุความเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้น ข้อความใน ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย อธิบายว่า

พระผู้มีพระภาคทรงตรึกว่า ท่านพระราหุลนั้นเห็นว่า ตนงาม ซึ่งการที่มีความคิดเห็นอย่างนี้ ก็เป็นการที่ดำเนินไปผิดทาง เปรียบเหมือนคนที่เดินทางไกลหลงทิศ ก็จะไม่ให้เห็นประโยชน์ตน ประโยชน์บุคคลอื่น และประโยชน์ทั้งสอง แต่นั้นกิเลสก็จะให้ถือปฏิสนธิในอบายภูมิได้ ในกามภูมิก็ได้ ตกไปในสังสารวัฏฏ์อันหาที่สุดและเบื้องต้นไม่ได้ เพราะว่าความโลภนี้ก่อให้เกิดสิ่งมิใช่ประโยชน์ ความโลภยังจิตให้กำเริบ

ในความรู้สึกของคนธรรมดาทั่วไปอาจจะคิดว่า เป็นเรื่องเล็กน้อย อย่างท่านพระราหุลมีความเห็นว่า ตัวของท่านนั้นงาม เพราะเหตุว่าเมื่อความโลภนั้นเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นภัยที่เกิดขึ้นในภายใน ชนย่อมไม่รู้ภัยนั้น คนที่ละโมภย่อมไม่รู้อรรถ ย่อมไม่เห็นธรรม ความโลภครอบงำนรชนในกาลใด ในกาลนั้นความมืดมนย่อมมี

ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย ได้อุปมาว่า

ผู้ที่สะสมอุปนิสัยมาแล้วนั้น อุปมาเหมือนกับเรือใหญ่ที่มีรัตนะมาก แต่ว่าน้ำก็ยังซึมเข้าไปได้ตามร่องแตก ควรที่จะได้อุดร่องที่แตกของเรือนั้นโดยเร็ว ฉันใด พระผู้มีพระภาคก็ทรงโอวาทให้ท่านพระราหุลได้ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป เนืองๆ บ่อยๆ ฉันนั้น

เป็นสิ่งที่จะเห็นได้ว่า ไม่ควรเป็นผู้ประมาทเลย ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่สะสมอุปนิสัยมามากน้อยเท่าไรก็ตาม และสำหรับท่านที่ยังไม่อุปมาเหมือนเรือใหญ่ที่มีรัตนะมาก ก็ยิ่งเป็นความจำเป็นที่จะต้องเจริญกุศล สะสมรัตนะ คือ บุญบารมีต่างๆ ที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่ว่า เป็นผู้ที่ประมาทและไม่เจริญกุศล

ขอกล่าวถึงข้อความใน ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย ต่อไป

เมื่อท่านพระราหุลได้กลับไปเจริญอานาปานสติ ตอนเย็นก็ได้ไปเฝ้ากราบทูลถามพระผู้มีพระภาคถึงการเจริญภาวนาว่า เจริญอย่างไรจึงจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ในอรรถกถามีคำอธิบายว่า

มีคำถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคอันท่านพระราหุลทูลถามถึง อานาปานสติ จึงตรัสรูปกัมมัฏฐาน คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และอากาสธาตุ

ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย อธิบายว่า

ได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงมีพระดำริว่า เพราะอาศัยอัตภาพ ความกำหนัดด้วยอำนาจฉันทราคะจึงเกิดขึ้นแก่ท่านพระราหุล แม้ในหนหลังพระองค์ก็ได้ตรัสรูปกัมมัฏฐานโดยสังเขปแก่ท่านพระราหุลแล้ว แต่ก็จักทรงจำแนกแจกแจง อัตภาพโดยอาการ ๔๐ จักทำฉันทราคะซึ่งอาศัยอัตภาพนั้น ให้ถึงความเป็นธรรมที่ไม่เกิดขึ้นแก่ท่านพระราหุล

ในท้ายของพระสูตร เมื่อจะทรงแสดงความเป็นผู้คงที่แก่ท่านพระราหุล พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

ผู้ที่ไม่กำหนัดในอิฏฐารมณ์ ไม่ขัดเคืองในอนิฏฐารมณ์ ชื่อว่า ผู้คงที่ ใครๆ ชื่อว่า ไม่เป็นผู้คงที่ ด้วยเหตุเหล่านี้ คือ ด้วยความคิดว่า เราเป็นผู้เกิดในตระกูลสูง เป็นพหูสูต เป็นผู้มีลาภ พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา ย่อมคบค้าสมาคมเรา เราจึงจักเป็นผู้คงที่

ส่วนการที่จะเป็นผู้คงที่ เวลาที่ประสบกับสิ่งที่เป็นปฏิกูล น่ารังเกียจ ไม่น่าพอใจ ก็เพราะเจริญเมตตา หรือน้อมระลึกถึงสภาพความเป็นธาตุของสิ่งที่เป็นปฏิกูลนั้น ทำให้จิตใจไม่รังเกียจ หรือไม่เดือดร้อน

สำหรับในอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าพอใจ ถ้าจะเป็นผู้คงที่ได้ ก็เป็นผู้ที่เจริญอสุภะ ระลึกถึงความไม่งาม หรือมิฉะนั้น ก็น้อมระลึกถึงความไม่เที่ยงของอิฏฐารมณ์นั้น

นอกจากนั้น ยังได้ทรงแสดงถึงการไม่ยินดียินร้าย ละเว้นทั้งในสิ่งที่ปฏิกูลและไม่ปฏิกูลได้ ก็ด้วยการเป็นผู้ที่มีสติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

นอกจากทรงแสดงในมหาสติปัฏฐานสูตรแล้ว ยังทรงแสดงในสูตรอื่นๆ ซึ่งจะทำให้เกิดวิริยะในการเจริญสติ เห็นคุณของการเจริญสติ แต่ถ้าท่านจะพิจารณาชีวิตจริงๆ ของท่าน ท่านก็จะทราบว่า ยังมีอกุศลอีกมากมายเหลือเกิน ในพระไตรปิฎกทรงแสดงธรรมฝ่ายดีทุกขั้น ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งถึงขั้นสูงที่สุด แต่การที่สาธุชนจะประพฤติปฏิบัติตามได้นั้น ไม่ใช่ว่าจะปฏิบัติตามได้ครบถ้วนทั้งหมด ต้องค่อยๆ สะสมเจริญอบรม

เพราะฉะนั้น บางท่านจะได้ยินได้ฟังข้อความในพระไตรปิฎกที่สรรเสริญ การไม่คลุกคลี ท่านปฏิบัติตามได้มากน้อยแค่ไหน และชีวิตจริงๆ ของท่านเป็นอย่างไร ท่านยังคงเป็นอุบาสก อุบาสิกา ฆราวาส ท่านต้องเป็นตัวของท่านจริงๆ ไม่ได้หลอกลวงใคร ไม่ได้มีมายาเป็นอีกบุคคลหนึ่ง แต่เป็นชีวิตจริงๆ ของท่านที่เจริญสติปัฏฐานในเพศของอุบาสก อุบาสิกา รักษาศีล ๕ และสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ส่วนท่านผู้ใดมีเหตุมีปัจจัย มีอุปนิสัยที่จะเป็นอุบาสก อุบาสิการักษาศีล ๘ ท่านก็มีโอกาสที่จะเจริญอบรมกุศลให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน และบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคล และสำหรับผู้ที่ละอาคารบ้านเรือนได้แล้วจริงๆ จะเป็นผู้ที่สามารถครองเพศของความเป็นพระอรหันต์ได้

แต่ชีวิตของท่านแต่ละคน แตกต่างกันไปตามเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา ท่านก็เจริญสติเป็นปกติ ฟังเรื่องของทาน เห็นคุณ เห็นประโยชน์ และทราบว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้น ต้องอบรมบำเพ็ญกุศลบารมีทุกประการทั้งปวง เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ว่า ท่านสามารถที่จะประพฤติได้มากน้อยเท่าไร และเจริญสติเป็นปกติ

ขอกล่าวถึงพระสูตรที่ทรงแสดงไว้ เพื่อความเข้าใจในเรื่องของทานให้ชัดเจนขึ้น

สังยุตตนิกาย สคาถวรรค โกสลสังยุต ตติยวรรค อิสสัตถสูตร ที่ ๔

ณ พระนครสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เมื่อประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทาน บุคคลพึงให้ในที่ไหนหนอแล

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร มหาบพิตร จิตย่อมเลื่อมใสในที่ใด พึงให้ในที่นั้นแล

พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ และทานที่ให้แล้วในที่ไหน จึงมีผลมาก

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร มหาบพิตร ทานพึงให้ในที่ไหน นั่นเป็นข้อหนึ่ง และทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมาก นั่นเป็นอีกข้อหนึ่ง

ดูกร มหาบพิตร ทานที่ให้แล้วแก่ผู้มีศีลแล มีผลมาก ทานที่ให้แล้วในผู้ทุศีล หามีผลมากไม่

นี่เป็นพระดำรัสโดยย่อ แต่คำว่า ผู้มีศีล หรือผู้ทุศีล จะเป็นบุคคลประเภทใด ก็ต้องมีความละเอียดต่อไปอีก ผู้ที่มีศีลสมบรูณ์ คือ พระอริยเจ้า ตั้งแต่พระโสดาบันบุคคลเป็นต้นไป

เพราะฉะนั้น การที่ท่านจะมีจิตศรัทธา เลื่อมใส ทะนุบำรุงพระศาสนา ขอให้ตรงกับเหตุผลด้วย อย่าเป็นการให้โดยที่ท่านคิดว่า ท่านจะส่งเสริมสนับสนุนบำรุงสำนักหนึ่งสำนักใด แต่ขอให้ท่านเป็นผู้ที่ทะนุบำรุงส่งเสริมพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้น การเข้าใจธรรม เกื้อกูลให้ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ ได้ทะนุบำรุงพระธรรมวินัยจริงๆ แต่ถ้าท่านประมาท ไม่พิจารณาธรรมโดยรอบคอบ ไม่เข้าใจโดยถูกต้องในข้อปฏิบัติ ท่านคิดว่า ท่านทะนุบำรุงพระธรรมวินัย แต่ความจริงท่านไม่ได้ทะนุบำรุงพระธรรมวินัย เพราะท่านไม่เข้าใจว่า อะไรเป็นธรรมวินัย อะไรไม่ใช่ธรรมวินัย

สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย มีข้อความอธิบายว่า

ครั้งนั้น ในปฐมโพธิกาล ลาภสักการะเกิดแก่พระผู้มีพระภาคและพระภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก พวกเดียรถีย์จึงกล่าวว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า พึงให้ทานแก่เราเท่านั้น แก่สาวกของพระผู้มีพระภาคเท่านั้น ทานที่ให้แก่พระผู้มีพระภาคมีผลมาก ให้แก่ผู้อื่นมีผลไม่มาก ให้แก่สาวกของพระผู้มีพระภาคมีผลมาก ให้แก่ผู้อื่นมีผลไม่มาก

นี่เป็นความริษยา ซึ่งพวกเดียรถีย์ใคร่ที่จะให้พระผู้มีพระภาคเสื่อมจากลาภ ยศ สักการะ

แต่ว่าความเป็นไปแห่งวาทะ พร้อมทั้งเหตุอันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ย่อมไม่มาถึงเหตุที่ควรติเตียนอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ว่าความเป็นไปแห่งวาทะ พร้อมทั้งเหตุอันชนเหล่าอื่นกล่าวแล้ว ย่อมมาถึงเหตุที่ควรติเตียนอย่างใดอย่างหนึ่ง


หมายเลข  5843
ปรับปรุง  29 ม.ค. 2566