แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 174


ที่ว่า กำลังใจพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย อันตรายก็มีหลายอย่าง อันตรายเพราะโรคเกิดขึ้น อันตรายเพราะญาติ ทรัพย์สมบัติวิบัติเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้ ผู้ที่มีกำลังใจมั่นคง เวลาที่มีอันตรายเกิดขึ้น ก็เป็นผู้ที่หวั่นไหวน้อย ถ้าผู้ใดที่หวั่นไหวมาก ผู้นั้นก็ไม่ใช่ผู้ที่มีกำลังใจมั่นคง

ข้อความต่อไปมีว่า

ดูกร มหาบพิตร ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา ก็ปัญญานั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้

บางท่านฟังธรรมติดต่อกัน แล้วพิจารณาใคร่ครวญในเหตุผล ท่านย่อมจะทราบได้ว่า คำใดถูกต้องตามความเป็นจริง หรือว่าคำใดคลาดเคลื่อน แต่ปัญญานั้นไม่ใช่เรื่องที่บุคคลอื่นจะทราบได้ถ้าไม่สนทนากัน ไม่ใช่เรื่องเหาะเหินเดินอากาศ แต่เป็นความรู้ซึ่งเป็นนามธรรม และความรู้ก็มีหลายขั้นด้วย เพราะฉะนั้น จะรู้ได้ว่าผู้ใดมีปัญญาหรือว่าผู้ใดไม่มีปัญญา ก็จะพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา และจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้

พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องไม่เคยมีแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เท่าที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร มหาบพิตร พระองค์เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม ยากที่จะรู้เรื่องนี้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้ ดังนี้ เป็นอันตรัสดีแล้ว

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นักบวชเหล่านั้นเป็นคนของหม่อมฉัน เป็นจารบุรุษ เป็นคนสืบข่าวลับ เที่ยวสอดแนมไปยังชนบท แล้วพากันมา ในภายหลังข้าพระองค์จึงจะรู้เรื่องราวที่คนเหล่านั้นสืบได้ก่อน

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้คนเหล่านั้นชำระล้างละอองธุลีนั้นแล้ว อาบดี ประเทืองผิวดี โกนผมและหนวดแล้ว นุ่งห่มผ้าขาว เอิบอิ่มเพียบพร้อมด้วยเบญจกามคุณ บำเรอข้าพระองค์อยู่

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความนี้แล้ว จึงได้ทรงภาษิตพระคาถา เหล่านี้ ในเวลานั้นว่า

คนผู้เกิดมาดีไม่ควรไว้วางใจเพราะผิวพรรณและรูปร่าง ไม่ควรไว้ใจเพราะการเห็นกันชั่วครู่เดียว เพราะว่านักบวชผู้ไม่สำรวมทั้งหลายย่อมเที่ยวไปยังโลกนี้ด้วยเครื่องบริขารของเหล่านักบวชผู้สำรวมดีแล้ว ประดุจกุณฑลดิน และมาสกะโลหะหุ้มด้วยทองคำปลอมไว้ คนทั้งหลายไม่บริสุทธิ์ในภายใน งามแต่ภายนอก แวดล้อมด้วยบริวาร ท่องเที่ยวอยู่ในโลก

นี่เป็นพระสูตรที่เตือนให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาธรรม ไม่ใช่ตัดสินผิวเผินตามที่ท่านเห็น หรือตามที่ท่านคิด ตามที่ท่านเข้าใจ

. วิธีทดลองดูเหมือนจะเป็นในสมัยพุทธกาล หรืออย่างไรก็จำไม่ได้ จะรู้ว่าใครเป็นพระอรหันต์หรือไม่เป็น เอามะขามไปเคี้ยวต่อหน้าท่าน ถ้าท่านมีน้ำลาย ตัณหาในรสมันเกิด ไม่ใช่พระอรหันต์ อีกนัยหนึ่ง ท่านหัวเราะหรือท่านชอบใจ อย่างนี้ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่จะรู้จริงๆ ว่าใครเป็นพระอรหันต์หรือไม่ อย่างที่อาจารย์ว่า คือ รู้ยาก

สุ. ก็เป็นเรื่องพิสูจน์พระอรหันต์ หลายท่านๆ ใช้ความคิดความเข้าใจของท่านเองเป็นเครื่องวัด แทนที่จะเอาธรรมวินัยเป็นเครื่องวัด บางท่านเลื่อมใสในบุคคลที่แต่งกายเศร้าหมอง เหมือนกับว่าผู้นั้นหมดกิเลส ถ้าใครแต่งตัวสวยๆ งามๆ ก็ไม่เกิดความเลื่อมใส พุทธบริษัทมี ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ตามความเป็นจริงไม่ใช่ตามมายา หรือหลอกลวงบุคคลอื่นให้เข้าใจผิด สาวกสาวิกาของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ที่ปฏิบัติตรง ไม่ใช่ปฏิบัติคด งอ หลอกลวง หรือมีมายาให้บุคคลอื่นเข้าใจผิด บางคนอาจจะทำเป็นพระอรหันต์สักวันหนึ่ง ไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะดังๆ ใครจะทำอย่างไรก็สำรวมไว้ แต่ขอให้ศึกษาดูประวัติของสาวกแต่ละท่านในครั้งอดีตที่มาสู่ธรรมวินัยแล้วก็บรรลุคุณธรรม อย่างท่านวิสาขามิคารมารดาซึ่งเป็นอุบาสิกาถือศีล ๕ ท่านก็มีชีวิตตามที่ท่านได้สะสมมา เป็นแบบหนึ่งของท่าน ท่านไม่ได้ไปหลอกลวงบุคคลอื่นว่า ท่านเป็นพระภิกษุณีหรือหมดกิเลสไปจนถึงขั้นนั้นขั้นนี้ แต่ทุกท่านตรงต่อธรรม

ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า มีอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งเป็นผู้มีชีวิตแบบสงบแล้วก็ง่ายๆ ทั้งในความเป็นอยู่ เสื้อผ้า ก็ไม่ได้เดือดร้อนวุ่นวายว่าคนอื่นจะมองท่านไปในลักษณะใด จะว่าเป็นคนล้าสมัย หรือว่า จะเป็นคนที่ไม่สนใจการแต่งกาย ท่านก็ไม่เดือดร้อน ท่านไม่ดื่มสุรายาเมา ซึ่งทำให้บรรดาศิษย์สนใจว่า อาจารย์ท่านนี้มีธรรมขั้นไหน แต่ว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการละสมุทยสัจ คือ ความพอใจ ท่านที่มีชีวิตสงบ สงบด้วยการสะสมอุปนิสัยมาที่จะไม่เดือดร้อน ไม่หวั่นไหวในคำวิพากษ์วิจารณ์ของบุคคลอื่น แต่การที่จะละกิเลสได้ดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉทมีหนทางเดียว คือ การที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จึงจะละความยินดีความพอใจใดๆ ได้ บางท่านไม่ทราบว่า ท่านมีความยินดีความพอใจอยู่ที่ใดอยู่ขั้นใด อย่างท่านที่มีชีวิตสงบแลท่านมีความยินดีพอใจ สมุทยสัจก็อยู่ที่ความสงบนั้นแล้ว ท่านจึงไม่เจริญปัญญาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้ละคลาย แล้วก็ดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท

ถ้าตราบใดที่อนุสัยกิเลสยังไม่ดับ กิเลสก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ นี่เป็นเรื่องที่ทุกท่านควรที่จะได้พิจารณาว่า หนทางที่จะทำให้ดับกิเลสได้แท้จริงนั้นด้วยการเจริญสติ ไม่ใช่เพียงขั้นสงบ หรือว่าเพียงมีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ไม่เดือดร้อนกับคำวิพากษ์วิจารณ์ของบุคคลอื่น แล้วก็จะกลายเป็นพระอรหันต์ไปทีละเล็กทีละน้อยโดยที่ไม่ได้เจริญสติ นั้นไม่ได้

. ทาน แปลว่า การให้ มีพยัญชนะหลายอย่าง ทานก็ดี จาคะก็ดี หรือบริจาคก็ดี เหล่านี้นั้นมีความหมายเหมือนกันหรือต่างกันประการใด นี่เป็นข้อหนึ่ง และเท่าที่ศึกษามา การให้ ท่านบอกว่าผู้ให้ต้องบริสุทธิ์ วัตถุที่ให้ต้องบริสุทธิ์ และผู้รับต้องบริสุทธิ์ จิตมีเจตนาที่จะให้นั้น ทั้งก่อนให้ ทั้งกำลังให้ หรือว่าภายหลังให้แล้ว ก็จะต้องเป็นไปโดยลำดับที่ดีที่งามทั้งนั้น ทานนั้นจึงจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก นี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ขออาจารย์ช่วยอธิบายด้วย

สุ. ขอเชิญท่านผู้รู้ภาษาบาลีช่วยกรุณาชี้แจงความหมายของศัพท์ที่ได้กล่าวถึงแล้วด้วย

คามิกะ. คำว่า ทาน กับ บริจาค นั้น ท่านถามว่าต่างกันอย่างไร มีในพุทธพจน์ด้วย

คำว่า ทาน คือ ทานะ ถามว่า ความหมายเหมือนกับบริจาคไหม เรานำของไปถวายพระเรียกว่า ถวายทานบ้าง บริจาคบ้าง โดยเนื้อความก็น่าจะเหมือนๆ กัน แต่โดยพยัญชนะต่างกัน ยกตัวอย่างว่า

“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ” ทานํ ก็คือ ทาน การให้ธรรมชนะการให้ทั้งปวง ตามความเข้าใจของผม คำว่า ให้ทาน อาจจะเป็นวัตถุ เราให้สิ่งโน้นสิ่งนี้อาจจะเรียกว่าทานได้ แต่คำ บริจาค นั้นมีในพุทธพจน์ว่า มตฺตา สุขปริจาคา ปสฺเส เจ วิปุลํ สุขํ จ เชมตฺตา สุขํ ธีโร สมฺปสฺสํ วิปุลํ สุขํ

หมายความว่า เพราะบริจาค เพราะเสียสละ บริจาคะ น่าจะแปลว่าเสียสละ เพราะเสียสละสิ่งเล็กๆ น้อยๆ พึงเห็นสุขอันไพบูลย์ วิปุลํ คือไพบูลย์ นักปราชญ์พึงสละสุขพอประมาณเสียเพื่อจะได้สุขอันไพบูลย์ ศัพท์บาลีเป็นอย่างนี้ และยังมีบารมี ๑๐ ทัศ มีแต่ทานบารมี จาคบารมีไม่มี แต่ในอริยทรัพย์ ๗ มี สททาธนํ สีลธนํ หิริธนํ โอตฺตปฺปธนํ........

จาโค คือ จาคะ มีในทศพิธราชธรรม ทานํ สีลํ จาคํ คือ ธรรมสำหรับพระราชาประพฤติ มีให้ทาน มีศีล มีจาคะด้วย เพราะฉะนั้น จาคะ กับทาน โปรดพิจารณาดูทั้งตัวหนังสือและเนื้อความก็อาจจะผิดกัน

ทานผมเข้าใจว่า หมายถึงให้สิ่งที่เป็นวัตถุภายนอก ส่วนจาคะเสียสละภายใน ที่เรียกว่าละกิเลส แต่ว่าเมื่อทำทานก็ต้องมีการสละ ละกิเลสแน่ๆ แต่เขาเรียกจาคะกับทาน (ทานะ) ต่างกัน จะผิดถูกประการใดก็กรุณาด้วย ผมเรียนมา ๕๐ กว่าปีแล้ว

สุ. เรื่องทานเป็นกุศลขั้นต้น แต่ทาน การให้ของแต่ละท่านมีในลักษณะที่ ต่างๆ กันตามความวิจิตรของจิต ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริงถึงลักษณะของการให้ของแต่ละบุคคล และยังได้พูดถึงผลของการให้และอานิสงส์ของการให้ พร้อมทั้งรายละเอียดต่างๆ ด้วย

อย่างในคราวก่อนได้พูดถึงการให้แก่ท่านผู้มีศีล มีผลมาก การให้แก่ผู้ทุศีลไม่มีผลมาก ซึ่งท่านผู้ฟังก็ได้ทราบว่า ท่านผู้มีศีลนั้นหมายความถึงพระอรหันต์ และบางท่านซึ่งยังมีกิเลส มีความหวัง มีความผูกพันในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะมากเหลือเกิน ก็จะต้องการผล ใคร่ที่จะได้พบพระอรหันต์เพื่อจะได้ถวายทาน เพื่อให้เกิดผลมาก ก็เป็นเรื่องของจิตใจซึ่งวิจิตรมาก

เพราะฉะนั้น การที่จะให้จิตบริสุทธิ์ด้วยในขณะที่ให้ทานนั้น ควรจะเป็นใน ลักษณะใด ทำไมจึงกล่าวว่า การถวายทานแก่พระอรหันต์มีผลมาก เพราะเหตุว่าผู้รับก็เป็นผู้ที่มีจิตบริสุทธิ์ เมื่อถวายทานไปแล้ว ผู้รับจะไม่ทำความเดือดร้อนให้บุคคลใดเลย นี่เป็นทางฝ่ายปฏิคาหก คือ ผู้รับ แต่ทางฝ่ายผู้ให้ จิตของท่านที่จะทะนุบำรุงพระธรรมวินัย ส่งเสริมการประพฤติการปฏิบัติธรรมของผู้ที่จะขจัดกิเลสให้หมดสิ้น ท่านก็ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา รู้ว่าสิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร

ในครั้งกระโน้นมีผู้ที่นับถือคำสอนอื่นมาก เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้นก็ให้ทาน บำรุงปริพาชกเดียรถีย์ต่างๆ จิตใจของท่านเหล่านั้นจะรู้เรื่องของการละคลายกิเลส การชำระจิตให้หมดจดจากกิเลส หนทางที่จะละโลภะ โทสะ โมหะให้หมดสิ้นไป ท่านเหล่านั้นจะรู้ไหมในเมื่อไม่ได้ฟังธรรม ไม่มีความเลื่อมใสในพระธรรม มีความเลื่อมใสศรัทธาในคำสอนอื่น เพราะฉะนั้น ก็ไม่รู้หนทางที่จะทำให้จิตหมดจดจากกิเลสได้ การส่งเสริมท่านเหล่านั้น ก็ป็นการส่งเสริมกิเลสนั่นเอง

พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงว่า การถวายทานแก่ผู้มีศีลมีผลมาก และมีพระสูตรอื่นๆ อีก ซึ่งเป็นความละเอียดที่ท่านผู้ฟังจะต้องพิจารณาให้รอบคอบด้วย

ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทารุกัมมิกสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทสร้างด้วยอิฐ ใกล้นาทิกคาม ครั้งนั้น คฤหบดีชื่อ ทารุกัมมิกะ เป็นพ่อค้าฟืน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า

ดูกร คฤหบดี ทาน ในสกุลท่านยังให้อยู่หรือ

ทารุกัมมิกะคฤหบดีกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังให้อยู่ และทานนั้นแล ข้าพระองค์ให้ในภิกษุผู้เป็นอรหันต์ หรือผู้บรรลุอรหัตตมรรค ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร คฤหบดี ท่านผู้เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม อยู่ครองเรือน นอนเบียดเสียดบุตร บริโภคจันทน์แคว้นกาสี ทัดทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงินอยู่ พึงรู้ข้อนี้ได้ยากว่า ภิกษุเหล่านี้เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรค

ดูกร คฤหบดี ถ้าแม้ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว เห่อ ปากกล้า พูดพล่าม มีสติเลอะเลือน ไม่มีสัมปชัญญะ มีใจไม่ตั้งมั่น มีจิตพลุ่งพล่าน ไม่สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น

ถ้าแม้ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่เห่อ ไม่ปากกล้า ไม่พูดพล่าม มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีใจตั้งมั่น มีจิต มีอารมณ์เป็นหนึ่ง สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น

ถ้าแม้ภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้านเป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว เห่อ ปากกล้า พูดพล่าม มีสติเลอะเลือน ไม่มีสติสัมปชัญญะ มีใจไม่ตั้งมั่น มีจิตพลุ่งพล่าน ไม่สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น

ถ้าแม้ภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้าน เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัว ไม่เห่อ ไม่ปากกล้า ไม่พูดพล่าม มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีใจตั้งมั่น มีจิต มีอารมณ์เป็นหนึ่ง สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น

คือ ไม่จำกัดว่า จะต้องเป็นภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร หรือเป็นผู้ที่อยู่ใกล้บ้าน แล้วแต่ความประพฤติ การปฏิบัติ

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ถ้าแม้ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร หรือถ้าแม้ภิกษุผู้ถือรับนิมนต์เป็นวัตร หรือถ้าแม้ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร หรือถ้าแม้ภิกษุผู้ทรงคฤหบดีจีวร ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นผู้ฟุ้งซ่านหรือไม่ฟุ้งซ่าน จะได้รับคำติเตียน หรือคำสรรเสริญตามสมควรแก่เหตุ

ดูกร คฤหบดี เชิญท่านให้สังฆทานเถิด เมื่อท่านให้สังฆทานอยู่ จิตจักเลื่อมใส ท่านนั้นเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส เมื่อตายไปจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

คฤหบดี ชื่อ ทารุกัมมิกะ ทูลสนองว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ จักให้สังฆทานตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

การให้สังฆทานแสดงความบริสุทธิ์ของจิตของผู้ให้ที่ไม่ติดในบุคคล ไม่เลือกในบุคคล แต่เรื่องสังฆทานก็มีปัญหาสำหรับผู้ที่ผูกพันในผล ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในมนุษย์สมบัติ ในสวรรค์สมบัติ พอพูดถึงสังฆทาน รู้ว่ามีผลมาก จะได้รับคำถามว่า สังฆทานทำอย่างไร จะต้องซื้อชามอ่างใส่ข้าว มีกาละมัง มีถัง มีอะไรต่ออะไรบ้าง ถ้าขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไปจะไม่ใช่สังฆทาน นี่เพื่ออะไร ผูกพันในผล แต่ไม่เข้าใจความหมายจริงๆ ว่า ทาน การให้ จะมีผลมากหรือน้อยนั้น ต้องแล้วแต่เหตุ คือ ความบริสุทธิ์ของจิต


หมายเลข  5851
ปรับปรุง  4 ก.พ. 2566