แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 194
สุ . ประการที่ ๑ ปุถุชนเจริญวิปัสสนา ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นของไม่เที่ยง ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นของเที่ยง ๑
พิจารณาระลึกถึงสภาพความเป็นจริงของธรรมทั้งหลายซึ่งไม่เที่ยง เสียงเมื่อสักครู่นี้หมดแล้ว ได้ยินเมื่อสักครู่นี้หมดแล้ว เย็นเมื่อสักครู่นี้หมดแล้ว ที่รู้ว่าเย็นเมื่อสักครู่นี้ก็หมดแล้ว รวดเร็วเหลือเกิน
เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ไปแสวงหาสัจธรรมที่อื่น แต่สติระลึกรู้ลักษณะของสัจธรรมที่เกิดปรากฏแล้วเพราะเหตุปัจจัย และไม่เที่ยงด้วย เพราะฉะนั้น ปุถุชนเจริญวิปัสสนาย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นของไม่เที่ยง ๑ เป็น ผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นของเที่ยง ๑
ประการที่ ๒ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นทุกข์ ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นสุข ๑
ที่ว่าเป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง สภาพที่ไม่เที่ยงจะเป็นสุขได้ไหม หมดไปแล้ว หมดไปจริงๆ จะสุขได้อย่างไรกับสิ่งที่ปรากฏเพียงชั่วขณะนิดเดียว และหมดไปเลย
เพราะฉะนั้น ที่ว่าเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะไม่เที่ยง เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นสุข เพราะสุขนั้นก็แปรปรวน เปลี่ยนไป หมดไป
ประการที่ ๓ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นอนัตตา ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นอัตตา ๑
ถ้าไม่มีลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ ปรากฏ จะถ่ายถอนความคิดที่ว่าเป็นอัตตาไม่ได้เลย แต่ที่จะประจักษ์ว่าเป็นอนัตตา เพราะมีลักษณะปรากฏแล้วก็หมดไป เสียงเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป ลักษณะนั้นไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้าสติไม่ระลึกรู้จริงๆ ไม่สามารถที่จะถ่ายถอนสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน ประชุม ควบคุมรวมกัน เป็นกลุ่มเป็นก้อนได้
ประการที่ ๔ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความสิ้นไป ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นก้อน ๑
อะไรๆ ที่ยังประชุม ควบคุม รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน จะไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ไหม เพราะฉะนั้น ถ้าตราบใดที่ยังประชุมรวมกันเป็นก้อน จะไม่ปรากฏความสิ้นไป เพราะฉะนั้น ในประการที่ ๔ นี้ จึงเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความสิ้นไป ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นก้อน ๑
ประการที่ ๕ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเสื่อมไป ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความประมวลมา ๑
สิ่งที่เสื่อมไปแล้ว ก็หมดไปแล้ว อย่าประมวล มาเชื่อม มาโยง มาต่อ มารวมกันเอาไว้อีก หรือว่าสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็ปรากฏแต่ละทาง แต่ละลักษณะ อย่าประมวลนำมาเชื่อม มาโยง มาต่อกันให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน
สำหรับประการที่ ๖ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความแปรปรวน ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความยั่งยืน ๑
ตั้งแต่เมื่อสักครู่นี้จนถึงเดี๋ยวนี้ ไม่เคยระลึกถึงความแปรปรวนของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏเลย
ประการที่ ๗ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยเป็นสภาพหานิมิตมิได้ ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยสภาพมีนิมิต ๑
นิมิต ในที่นี้หมายถึง นิมิตที่ว่าเที่ยง ว่าเป็นสุข ว่าเป็นอัตตา
ประการที่ ๘ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยเป็นสภาพไม่มีที่ตั้ง ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยสภาพมีที่ตั้ง ๑
นามที่กำลังเห็น เกิดแล้วดับไปเลย อาศัยเหตุปัจจัยใดเกิดขึ้นก็ดับไป เมื่อหมดปัจจัยนั้น ก็ได้ยิน เมื่อหมดเหตุปัจจัยแล้ว ได้ยินก็ดับ ไม่ใช่ว่า ไปมีที่ตั้งที่เก็บไว้ เดี๋ยวจะมาใหม่ หรือว่าเดี๋ยวจะเกิดขึ้นอีก ที่เกิดอีกก็เป็นนามใหม่ เป็นรูปใหม่ที่มีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ว่ามีที่เก็บ ไม่ใช่มีที่ตั้งที่ถาวร ทุกขณะนี้เสื่อมไป สิ้นไป แปรปรวนไปอย่างรวดเร็วมาก แต่เพราะเหตุว่าไม่รู้สภาพธรรมที่เป็นสัจธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง จึงไม่สามารถที่จะละคลายการที่เคยยึดถือชีวิตปกติประจำวันว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้
ประการที่ ๙ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยเป็นสภาพสูญ ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความยึดมั่น ๑
อาการ ๙ ย่อลงแล้วคือ มนสิการถึงความไม่เที่ยง มนสิการถึงความเป็นทุกข์ มนสิการถึงความเป็นอนัตตา แต่ทรงบัญญัติพยัญชนะหลายประการ เป็นต้นว่า ความเสื่อม เวลาที่ยังไม่ประจักษ์ความไม่เที่ยง ก็ประจักษ์ความเสื่อมก่อนก็ได้
ใจความสำคัญ คือ ให้มีโยนิโสมนสิการ ซึ่งถ้าแปลตามพยัญชนะ คือ กระทำไว้ในใจด้วยอุบายที่แยบคาย แต่ในที่นี้หมายความว่า พิจารณาตามคลองของสภาพธรรมนั้นๆ เมื่อสภาพธรรมนั้นๆ ไม่เที่ยง ท่านก็ระลึกถึงความไม่เที่ยงของธรรมนั้น เมื่อธรรมนั้นเป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง ท่านก็ให้มีสติระลึกรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ และทุกสิ่งที่ปรากฏที่สติระลึกรู้ ไม่เที่ยงทั้งนั้น ลักษณะที่ไม่เที่ยงนั้นเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ที่จะต้องมนสิการตามคลองหรือตามสภาพของธรรมนั้นๆ นั่นเอง ต้องมีลักษณะจริงๆ ที่กำลังปรากฏ มีแข็ง มีอ่อน มีเย็น มีร้อน มีเสียง มีได้ยิน มีเห็น มีสี มีกลิ่น มีรส ไม่ใช่ตัวตนเลย เพราะว่าลักษณะนั้นกำลังปรากฏทางนั้นทางเดียว
ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกล่าวว่า การที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ เป็นเพียงอินทรียสังวรเท่านั้น
กำลังเห็น สติเกิดขึ้นรู้ลักษณะของนาม ลักษณะของรูป เวลาที่ได้ยิน สติก็ระลึกลักษณะของนาม หรือว่าลักษณะของรูป ไม่ใช่เพียงขั้นอินทรียสังวร เพราะเหตุว่าปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมพร้อมกับสติ ถ้าท่านผู้นั้นเข้าใจว่า การระลึกอย่างนี้เป็นแต่เพียงขั้นของอินทรียสังวรแล้ว ปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงจะรู้เมื่อไร ถ้าสติไม่ระลึกรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ศึกษาเทียบเคียงธรรม ไม่ตรวจสอบ ไม่เจริญสติปัฏฐาน ไม่พิจารณาเหตุผล ก็ไม่ตรงตามอรรถ ไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่ถ้าท่านไม่ยึดมั่นในความเห็น และท่านตรวจสอบกับพระธรรมวินัยด้วย ก็จะทำให้ท่านสามารถที่จะทิ้งความเห็นผิดได้
อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต หานิสูตร มีข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสเตือนพุทธบริษัทว่า
ธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่อุบาสก คือ อุบาสกใดขาดการเยี่ยมเยือนภิกษุผู้อบรมตน ๑ ละเลยการฟังธรรม ๑ ไม่ศึกษาในอธิศีล ๑ มีความไม่เลื่อมใสเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปในภิกษุทั้งหลาย ๑ ตั้งจิตติเตียนปรารถนาฟังสัทธรรม ๑ แสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนานี้ ๑ แล้วกระทำสักการะก่อนในเขตบุญภายนอกศาสนานี้ ๑ อุบาสกนั้นส้องเสพธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม อันเราแสดงแล้ว ๗ ประการนี้แล ย่อมเสื่อมจากสัทธรรม
อุบาสกใดไม่ขาดการเยี่ยมเยียนภิกษุผู้อบรมตน ๑ ไม่ละเลยการฟังอริยธรรม ๑ ศึกษาอยู่ในอธิศีล ๑ มีความเลื่อมใสเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปในภิกษุทั้งหลาย ๑ ไม่ตั้งจิตติเตียนปรารถนาฟังสัทธรรม ๑ ไม่แสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนานี้ ๑ แล้วกระทำสักการะก่อนในเขตบุญในศาสนานี้ ๑ อุบาสกนั้นส้องเสพธรรมอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม อันเราแสดงดีแล้ว ๗ ประการนี้แล ย่อมไม่เลื่อมจากสัทธรรม
สำหรับ ธรรม ๗ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่อุบาสก คือ
ประการที่ ๑ อุบาสกใดขาดการเยี่ยมเยียนภิกษุผู้อบรมตน
ความหมายทั่วๆ ไปของคำว่า ภิกษุ ใน สัมโมหวิโนทนี สติปัฏฐานวิภังค์ มีข้อความว่า
คำว่า อิธ ภิกฺขุ นี้
พระผู้มีพระภาคประทับนั่งในเทวโลก ตรัสสติปัฏฐานวิภังค์นี้ ทรงแสดง พระอภิธรรมที่ดาวดึงส์เทวโลก แม้ภิกษุรูปเดียวผู้นั่งในสำนักของพระผู้มีพระภาคใน เทวโลกนั้นไม่มี ( สวรรค์ไม่มีพระภิกษุ แต่พระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสว่า อิธ ภิกฺขุ ) เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุที่ภิกษุทั้งหลายย่อมเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ เหล่านี้อยู่ สติปัฏฐานเหล่านั้นจึงเป็นโคจรแห่งภิกษุ คือ เป็นภิกฺขุโคจร
ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกว่า อิธ ภิกฺขุ ดังนี้
เป็นของธรรมดาสำหรับผู้ที่เป็นพระภิกษุที่ท่านบรรพชาอุปสมบท ละอาคารบ้านเรือน ก็เพื่อเจริญข้อประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งก็ย่อมจะต้องเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔
ถามว่า ก็พวกภิกษุเท่านั้นหรือเจริญสติปัฏฐานเหล่านี้ คนอื่นมีภิกษุณี เป็นต้น เจริญไม่ได้หรือ
แก้ว่า ถึงคนเหล่าอื่นมีภิกษุณี เป็นต้น ก็เจริญได้ แต่ว่าพวกภิกษุเป็นบริษัทที่เลิศ คือ เป็นอัคปาริสา พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า อิธ ภิกฺขุ ดังนี้ เพราะการที่ภิกษุเป็นบริษัทชั้นเลิศด้วยประการฉะนี้
อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้น เพราะทรงแสดงความเป็นภิกษุด้วยข้อปฏิบัติ จริงอยู่ผู้ใดดำเนินตามข้อปฏิบัตินี้ ผู้นั้นก็ชื่อว่าภิกษุ ด้วยว่าผู้ปฏิบัติดำเนิน จะเป็นเทพหรือมนุษย์ก็ตามที ถึงการนับว่าเป็นภิกษุทั้งนั้น
เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า แม้ถ้าว่าบุคคลใด ผู้ประดับตกแต่งแล้ว ผู้สงบ ผู้ฝึกแล้ว ผู้เที่ยงแท้ ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้วางท่อนไม้ในสัตว์ทั้งปวง พึงประพฤติสม่ำเสมอไซร้ ผู้นั้นเป็นพราหมณ์ ผู้นั้นเป็นสมณะ ผู้นั้นเป็นภิกษุ
เพราะฉะนั้น ข้อความใน หานิสูตร ที่ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรม ๗ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่อุบาสก คือ อุบาสกใดขาดการเยี่ยมเยียนภิกษุผู้อบรมตน ย่อมหมายความถึงผู้ที่เจริญมรรคมีองค์ ๘
สำหรับประการที่ ๒ คือ อุบาสกนั้นละเลยการฟังธรรม
ประการที่ ๓ ไม่ศึกษาในอธิศีล
ประการที่ ๔ มีความไม่เลื่อมใสเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปในภิกษุทั้งหลาย
ประการที่ ๕ ตั้งจิตติเตียนปรารถนาฟังสัทธรรม
ประการที่ ๖ แสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนานี้
ประการที่ ๗ กระทำสักการะก่อนในเขตบุญภายนอกศาสนานี้
ท่านที่ไม่ค่อยเห็นอันตราย ไม่เห็นโทษของการแสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนา หรือว่าการกระทำสักการะก่อนในเขตบุญภายนอกศาสนา เพราะเหตุว่าท่านยังไม่หยั่งถึงความสำคัญของเหตุปัจจัยที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้แล้วได้ทรงแสดงไว้ว่า เป็นสิ่งซึ่งมีความสำคัญ เพราะว่าเป็นการแสดงถึงความโน้มเอียงไปในการเห็นผิด
ถ้าท่านแสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนานี้ เพราะอะไรถึงได้แสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนานี้ ในเมื่อพระศาสนานี้ก็มี แต่ท่านก็ยังแสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนานี้ ทราบไหมว่าเพราะอะไร
ก็เพราะว่า ท่านยังไม่มีความเลื่อมใสศรัทธามั่นคงจริงๆ ในพระธรรม ในข้อประพฤติปฏิบัติที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านก็ย่อมโน้มเอียงที่จะแสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนานี้ นอกจากท่านจะแสวงหาเขตบุญอื่นภายนอกศาสนานี้แล้ว ยังกระทำสักการะก่อนในเขตบุญภายนอกศาสนานี้ การกระทำเป็นเครื่องพิสูจน์คำพูด ความรู้สึก หรือว่าความคิดเห็น ถ้าท่านยังมีการกระทำสักการะก่อนในเขตบุญภายนอกศาสนานี้ แสดงว่าท่านขาดความเลื่อมใส ความศรัทธา ความมั่นคงในข้อปฏิบัติของพระศาสนานี้นั่นเอง
ทุกอย่างเป็นเครื่องพิสูจน์ เป็นเครื่องแสดงออกของสภาพของจิตในขณะนั้นว่าจิตในขณะนั้นเป็นอย่างไรจึงกระทำอย่างนั้น จะเสื่อม หรือจะเจริญก็อยู่ที่แต่ละท่าน ถ้าท่านประกอบด้วยธรรมที่จะทำให้เจริญยิ่งขึ้น ๗ ประการ ท่านก็เจริญยิ่งขึ้น แต่ถ้าไม่ประกอบด้วยธรรม ๗ ประการนี้ ก็เสื่อม เพราะฉะนั้น สำคัญไหมสำหรับการส่งเสริมสัมมาทิฏฐิ เพราะถ้าไม่เลือก ก็จะเป็นการส่งเสริมมิจฉาทิฏฐิได้
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เรื่อง สีหเสนาบดี มีข้อความว่า
สีหเสนาบดีทรงดำริเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็โดยสมัยนั้นแล เจ้าลิจฉวีบรรดาที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จัก นั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้องพระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดยเอนกปริยาย และเวลานั้น สีหบดีสาวกของนิครนถ์นั่งอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย จึงคิดว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นจักเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัยเลย คงเป็นความจริง เจ้าลิจฉวีบรรดาที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จักเหล่านี้จึงได้นั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้องพระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดยเอนกปริยาย ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น แล้วจึงได้เข้าไปหานิครนถ์นาฎบุตรถึงสำนัก
ครั้นแล้วไหว้นิครนถ์นาฏบุตร นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง และได้แจ้งความประสงค์นี้แก่นิครนถ์นาฏบุตรว่า
ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าอยากจะไปเฝ้าพระสมณโคดม
นิครนถ์นาฏบุตรมีความเห็นผิด และท่านสีหเสนาบดีก็เป็นสาวกของท่าน แต่ เพราะว่าเป็นผู้ที่สะสมเหตุปัจจัยในอดีตที่ต้องการจะรู้ความจริงอย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังเจ้าลิจฉวีทั้งหลายสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ก็มีความประสงค์ที่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ไม่ติดอยู่แต่ที่นิครนถ์นาฏบุตร แต่ก่อนที่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคนั้นได้ไปหานิครนถ์นาฏบุตร และได้กล่าวกับนิครนถ์นาฏบุตรว่า
ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าอยากจะไปเฝ้าพระสมณโคดม
นิครนถ์นาฏบุตรจะให้ไปไหม ทำไมจะต้องกลัวเกรงการที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถ้าพระองค์ตรัสผิด ทรงแสดงธรรมผิด บุคคลนั้นมีสิทธิ มีโอกาสที่จะพิจารณาธรรมนั้นได้เองว่า มีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผล
ข้อความต่อไป
อกิริยวาทกถา นิครนถ์นาฏบุตรพูดค้านว่า
ท่านสีหะ ก็ท่านเป็นคนกล่าวการทำ ไฉนจึงจักไปเฝ้าพระสมณโคดมผู้เป็นคนกล่าวการไม่ทำเล่า เพราะพระสมณโคดมเป็นผู้กล่าวการไม่ทำ ทรงแสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และทรงแนะนำสาวกตามแนวนั้น
นิครนถ์ไม่ได้พระฟังธรรมโดยตลอด ฟังเพียงบางส่วน แล้วก็ยกบางส่วนนั้นขึ้นมาตำหนิ
ข้อความต่อไปมีว่า
ขณะนั้นความตระเตรียมในอันที่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคของสีหเสนาบดีได้เลิกล้มไป แม้ครั้งที่ ๒ ก็เช่นเดียวกัน แม้ครั้งที่ ๓ เจ้าลิจฉวีบรรดาที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จัก ได้นั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้องพระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดยเอนกปริยาย ท่านสีหเสนาบดีก็ได้คิดเป็นครั้งที่ ๓ ว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น จักเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัยเลย คงเป็นความจริง เจ้าลิจฉวีบรรดาที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จักเหล่านี้ จึงได้มานั่งประชุมพร้อมกัน ณ ท้องพระโรง ต่างพากันตรัสสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดยเอนกปริยาย
ก็พวกนิครนถ์ เราจะบอก หรือไม่บอก จะทำอะไรแก่เรา ผิฉะนั้น เราจะไม่บอกพวกนิครนถ์ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเลยทีเดียว ถึงเวลาบ่าย สีหเสนาบดีออกจากพระนครเวสาลีพร้อมด้วยรถ ๕๐๐ คัน ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ไปด้วยยวดยานตลอดพื้นที่ที่ยวดยานจะผ่านไปได้ แล้วลงจากยวดยาน เดินเข้าไปถึงพระพุทธสำนัก ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ยับยั้งสีหเสนาบดีได้ไหม ไม่ได้ แต่อาจจะยับยั้งคนอื่นได้ คนอื่นที่ไม่ไปก็เพราะเหตุว่าไม่ได้สะสมเหตุปัจจัยมาพร้อมที่จะพิจารณาว่า การไปเฝ้า การไปฟังธรรมนั้น ไม่ได้เกิดความเสียหายอะไรเลย
เมื่อสีหเสนาบดีนั่งแล้ว ก็ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า
พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าได้ทราบมาว่า พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทำ ทรงแสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และทรงแนะนำสาวกตามแนวนั้น บุคคลจำพวกที่กล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมกล่าวการไม่ทำ ทรงแสดงธรรมเพื่อการไม่ทำ และทรงแนะนำสาวกตามแนวนั้น ดังนี้นั้น ได้กล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำอันไม่เป็นจริง กล่าวอ้างเหตุสมควรแก่เหตุ และถ้อยคำที่สมควรพูดบางอย่างที่มีเหตุผล จะไม่มาถึงฐานะที่วิญญูชนจะติเตียนบ้างหรือ เพราะข้าพระพุทธเจ้าไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเลย พระพุทธเจ้าข้า