แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 201
สุ. ธรรมมีทุกขั้น แม้ในพระไตรปิฎก ธรรมที่พึงแสดงกับคฤหัสถ์ อุบาสก อุบาสิกา หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อกัน นั่นเป็นธรรมซึ่งผู้ใดรับประพฤติปฏิบัติแล้วเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ธรรมมีตั้งแต่ขั้นต้นจนกระทั่งถึงขั้นสูงที่สุด ถ้าสิ่งนั้นเป็นเหตุผลถูกต้องตามความเป็นจริง ก็เป็นประโยชน์ เป็นการให้ธรรมทานตามระดับขั้นของธรรมนั้นๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นธรรมทานระดับขั้นต้น หรือขั้นสูงสุด แต่เมื่อเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานแล้ว สติเกิดขึ้นระลึกรู้นามธรรมและรูปธรรมที่เกิดปรากฏเป็นปกติตามเหตุปัจจัยตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน เป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงไม่คลาดเคลื่อนไปจากชีวิตปกติ
ข้อความต่อไปในพระสูตรนี้มีว่า
ในลำดับนั้นแหละ เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ทานยังประโยชน์ให้สำเร็จได้แล แม้เมื่อของมีอยู่น้อย การให้ทานได้เป็นการดี ทานที่ให้แม้ด้วยศรัทธาก็ให้ประโยชน์สำเร็จได้ ทานที่ให้แก่บุคคลผู้มีธรรมอันได้แล้วยิ่งเป็นการดี
อนึ่ง ทานที่บุคคลเลือกให้ยิ่งเป็นการดี อนึ่ง ความสำรวมแม้ในสัตว์ทั้งหลายยิ่งเป็นการดี บุคคลใดประพฤติเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายอยู่ ไม่ทำบาปเพราะกลัวความติเตียนแห่งผู้อื่น บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลซึ่งเป็นผู้กลัวบาป แต่ไม่สรรเสริญบุคคลผู้กล้าในการทำบาปนั้น สัตบุรุษทั้งหลายย่อมไม่ทำบาปเพราะความกลัวบาปอย่างแท้จริง
กุศลเพิ่มขึ้นเป็นขั้นๆ ซึ่งต้องเห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย จึงจะเป็นผู้ที่รังเกียจ กลัวบาปอย่างแท้จริง
ข้อความต่อไปมีว่า
ในลำดับนั้นแหละ เทวดาอื่นอีก ได้กล่าวคำนี้กับพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค คำของใครหนอแลเป็นสุภาษิต
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
คำของพวกท่านทั้งหมดเป็นสุภาษิตโดยปริยาย แต่ว่าพวกท่านจงฟังซึ่งคำของเราบ้าง
ก็ทานอันบัณฑิตสรรเสริญแล้วโดยส่วนมากโดยแท้ ก็แต่ธรรมบท (คือ นิพพาน) แลประเสริฐกว่าทาน เพราะว่าสัตบุรุษทั้งหลายผู้มีปัญญาในกาลก่อนก็ดี ในกาลก่อนกว่าก็ดี บรรลุซึ่งนิพพานแล้วแท้จริง
จะเห็นได้ว่า พระธรรมสมบูรณ์ตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสุดท้าย เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงจบพระสูตรนี้ลงด้วยพระนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมบทที่ประเสริฐกว่าทาน ไม่พ้นไปจากการกล่าวถึงพระนิพพาน
ถ. ชีวิตประจำวันของฆราวาสเป็นเรื่องลำบากจริงๆ จะตัดสินอย่างไรถูก คือ เรื่องปลวกขึ้นบ้านมากมาย เราจะทำอย่างไรกับปลวกพวกนี้ ถ้าปล่อยให้ชีวิตของปลวกนี้คงอยู่ ก็เป็นการให้ทานชีวิตเหมือนกัน แต่บ้านเราจะพัง จะทำอย่างไรดี
สุ. วิธีที่ดีที่สุด คือ ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น เป็นของที่แน่นอนที่สุด วิธีที่ดีที่สุดก็ยังคงต้องเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ว่าจะปฏิบัติตามได้หรือไม่ได้ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่พระธรรมที่ทรงแสดงจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ จะปรับตามใจชอบ อนุโลมตามสถานการณ์ สภาพการณ์ ก็ไม่สามารถจะทำได้ แก้ไขพระธรรมวินัยใหม่ ก็แก้ไขไม่ได้
ที่ถูก คือ การไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น แต่ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่าจะประพฤติปฏิบัติตามได้มากน้อยเท่าไร
ถ. (ไม่ได้ยิน)
สุ. แทนกันไม่ได้ แต่ละคนมีมนสิการ แล้วแต่ปัจจัยที่ได้สะสมมา เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ ถ้ายังไม่เป็นพระอริยเจ้า ดูมีข้อแก้ตัวมากมายหลายประการเหลือเกินที่จำเป็นจะต้องทำ ซึ่งก็เป็นไปตามวิสัยระดับของจิตใจ
ถ. ผู้ที่อาศัยในบ้านนั้น เป็นผู้ที่ประกอบด้วยกุศลจิตมาก มีการทำบุญกันเป็นปกติ ไหว้พระสวดมนต์กันเป็นปกติ อย่างนี้จะเป็นปัจจัยให้บรรดาปลวกไม่มาขึ้นบ้าน จะเป็นไปได้ไหม
สุ. จะอาศัยผลบุญทางอ้อมที่จะช่วยไม่ให้ต้องทำอกุศลกรรม เต็มไปด้วยความหวังที่จะให้เกื้อกูลกับกุศลวิบาก เลือกไม่ได้เลย แต่ข้อสำคัญอยู่ที่จิตซึ่งเป็นเหตุ ไม่ใช่ที่เป็นผลของกรรม ที่จะเลือกตามใจชอบว่า ขออย่าให้ปลวกขึ้น นั่นเป็นเรื่องของวิบาก ซึ่งแล้วแต่ว่าจะมีกรรมอะไรในอดีตทำให้ได้รับผลที่พอใจหรือไม่น่าพอใจ
เจริญกุศลต่อไป ไม่ว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้นปรากฏเป็นไปก็แล้วแต่เหตุ กระทำดีที่สุดที่จะทำได้ ท่านจะได้อะไรมาในชีวิต ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้ได้สิ่งนั้นมา จะได้ไหม หรือการที่ท่านจะเสียอะไรไปก็เหมือนกัน แต่โดยมากทุกคนมีแต่ความคิดเรื่องจะได้ คิดเรื่องจะเสียบ้างหรือเปล่า ไม่ต้องการจะเสียเลย แต่ก็ยังต้องเสีย ซึ่งก็ต้องมีทั้งได้และมีทั้งเสีย เพราะว่าในชีวิตของแต่ละคนนั้น ไม่ใช่มีแต่เฉพาะกุศลกรรมเท่านั้น อกุศลกรรมก็มี
เพราะฉะนั้น การที่บุคคลใดเกิดกุศลศรัทธาที่จะสละวัตถุเพื่อประ โยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ไม่ใช่เป็นเหตุที่จะให้หมดไป แต่ว่าเป็นจิตที่ดี ที่จะทำให้กุศลวิบากจิตเกิดขึ้นได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะตามควรแก่เหตุ ซึ่งแต่ละคนก็บังคับจิตของตนเองไม่ได้ว่าจะให้มาก หรือว่าจะให้น้อย
จะเห็นได้ว่า ปัจจัยที่จะทำให้เกิดนามรูปในชีวิตทั้งหมดเป็นเรื่องที่ละเอียด และซับซ้อนมาก ยากที่จะรู้ถึงเหตุในอดีตได้ว่า ที่ได้รับมาแล้วและที่เสียไปนั้นเป็นเพราะผลของกรรมอะไร แต่พอที่จะทราบว่า ขณะใดที่ได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ดี ก็เป็นผลของกุศลในอดีต และขณะใดที่ต้องสูญเสียรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทรัพย์สมบัติไป ก็เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้ทำไว้ในอดีต การได้รับทรัพย์สมบัติมากหรือน้อยในชีวิตของแต่ละคนนั้น ย่อมขึ้นกับเหตุที่ได้กระทำไว้
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต วณิชชสูตร มีข้อความว่า
ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ทำการค้าขายขาดทุน
อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้บุคคลในโลกนี้ทำการค้าขายไม่ได้กำไรตามที่ประสงค์
อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ทำการค้าขายได้กำไรตามประสงค์
อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ทำการค้าขายได้กำไรยิ่งกว่าที่ประสงค์
ถ้าถามนักเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์ก็จะต้องว่า เพราะเหตุนั้น เพราะประการนี้ ต่างๆ นานา แต่นั่นเป็นการสันนิษฐานเหตุการณ์ที่ปรากฏ ที่พอจะคิด หรือเทียบเคียงได้ตามวิสัยของผู้ที่ไม่สามารถจะหยั่งรู้ถึงเหตุในอดีตซึ่งเป็นปัจจัยทำให้แม้ว่าบุคคลมีความสามารถเท่ากัน มีทุน มีทรัพย์ในการค้าขายเท่ากัน มีทุกอย่างเสมอกัน แต่แม้กระนั้นผลที่ปรากฏก็ต่างกัน ทั้งนี้เป็นเพราะเหตุที่ไกลกว่านั้น คือ เป็นความวิจิตรของจิตที่ได้สะสมมาในอดีต
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้ว ย่อมปวารณาว่า ขอท่านจงบอกปัจจัยที่ท่านประสงค์ เขากลับไม่ถวายปัจจัยที่เขาปวารณา ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้น มาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ เขาทำการค้าขายอย่างใดๆ เขาย่อมขาดทุน
สภาพของจิต ตั้งใจไว้ ปวารณาไว้ว่า จะถวายแต่กลับไม่ถวายตามที่ปวารณา เพราะฉะนั้น ทำการค้าขายอย่างใดๆ ย่อมขาดทุน คงจะมีหลายท่านซึ่งเห็นว่า อาชีพพ่อค้าก็ดูเหมือนว่าจะมีแต่ทางได้กำไร ลงทุนไปเท่าไร ก็ขายให้มากขึ้น ก็คงจะได้กำไร แต่ทำไมจริงๆ ไม่เป็นอย่างนั้น
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้ว ย่อมปวารณาว่า ขอท่านจงบอกปัจจัยที่ท่านประสงค์ แต่เขาถวายปัจจัยที่ปวารณาไว้ไม่เป็นไปตามประสงค์ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้น มาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ เขาทำการค้าขายอย่างใดๆ เขาย่อมไม่ได้กำไรตามที่ประสงค์
ปวารณาว่า จงบอกปัจจัยที่ท่านประสงค์ แต่เวลาถวายๆ ปัจจัยที่ปวารณาไว้ไม่เป็นไปตามประสงค์ เพราะฉะนั้น เมื่อทำการค้าขายอย่างใดๆ ย่อมไม่ได้กำไรตามที่ประสงค์
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้ว ย่อมปวารณาว่า ขอท่านจงบอกปัจจัยที่ต้องประสงค์ เขาถวายปัจจัยที่ปวารณาไว้ตามที่ประสงค์ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้น มาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ เขาทำการค้าขายอย่างใดๆ เขาย่อมได้กำไรตามที่ประสงค์
เมื่อปวารณาอย่างไรก็ถวายอย่างนั้นก็ย่อมได้ตามที่ประสงค์
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วปวารณาว่า ขอท่านจงบอกปัจจัยที่ต้องประสงค์ เขาถวายปัจจัยที่ปวารณาไว้ยิ่งกว่าที่ประสงค์ ถ้าเขาเคลื่อนจากอัตภาพนั้น มาสู่ความเป็นมนุษย์นี้ เขาทำการค้าขายอย่างใดๆ เขาย่อมได้กำไรยิ่งกว่าที่ประสงค์
ถ้าศึกษาประวัติของพระสาวกก็จะทราบว่า มีหลายท่านที่มีอาชีพเป็นพ่อค้า และในอดีตท่านก็เคยถวายปัจจัยยิ่งกว่าที่ได้ปวารณาไว้ หรือยิ่งกว่าที่พระภิกษุสงฆ์ท่านประสงค์ เช่น วิสาขามิคารมารดา เป็นต้น
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ทำการค้าขายขาดทุน นี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ทำการค้าขายไม่ได้กำไรตามที่ประสงค์ นี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ทำการค้าขายได้กำไรตามที่ประสงค์ นี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัย เครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำการค้าขายได้กำไรยิ่งกว่าที่ประสงค์
ท่านผู้ฟังคงจะไม่คิดเฉพาะอาชีพพ่อค้า อาชีพอื่นก็เหมือนกัน แม้จะไม่ได้ ประกอบอาชีพอะไร ก็มีการได้การเสีย ซึ่งก็ย่อมจะเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัยด้วย เพราะฉะนั้น ที่แต่ละคนจะนั่งคิด โศกเศร้า เป็นทุกข์ว่า ตัวเองทำดีเหลือเกิน ขยันมาก แต่ว่าไม่ก้าวหน้าในงานอาชีพ หรือสิ่งที่ได้รับไม่เหมาะสมกับความขยันความบากบั่น
ควรไหมที่จะนั่งเป็นทุกข์ เศร้าโศก คิดว่าเป็นเพราะคนอื่นไม่ยุติธรรม โลกไม่ยุติธรรม ซึ่งความจริงแล้ว เรื่องของกรรมยุติธรรมจริงๆ แต่ละคนที่เกิดมา ไม่ว่าจะเป็นอาชีพใด ไม่ว่าจะได้อะไร จะเสียอะไร เป็นเพราะผลของการกระทำของท่านเองทั้งหมด เพราะเหตุว่าธรรมนั้นยุติธรรม ไม่ได้รับสินบนจากใคร เรื่องของกรรมเป็นเรื่องของเหตุของผล ใครจะไปไหว้วอนกราบไหว้เปลี่ยนกรรมชนิดหนึ่งว่า อย่าให้ผลอย่างนั้น หรือให้ผลเร็วกว่านั้น หรือให้ผลช้ากว่านั้น ก็ไม่มีใครสามารถที่จะทำอย่างนั้นได้ เพราะว่าเป็นเรื่องของความยุติธรรมอย่างยิ่งของธรรม
มัจฉริยสูตร ที่ ๒ มีข้อความว่า
ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
การบูชาอันไพบูลย์ใหญ่โตนี้ ย่อมไม่เท่าถึงส่วนแห่งทานที่บุคคลให้ด้วยความประพฤติธรรม เพราะเหตุไร
เมื่อบุรุษแสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือบริจาคทรัพย์พันกหาปนะ การบูชาของบุรุษเหล่านั้น ย่อมไม่ถึงส่วนร้อยของบุคคลอย่างนั้น (คือ ไม่ถึงส่วนร้อยของบุคคลผู้ประพฤติธรรม)
ในลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะเทวดานั้นด้วยพระคาถาว่า
บุคคลเหล่าหนึ่งตั้งอยู่ในกรรม ปราศจากความสงบ (คือ ปราศจากธรรม) โบยเขา ฆ่าเขา ทำให้เขาเศร้าโศก แล้วให้ทาน ทานนั้นจัดว่า ทานมีหน้านองด้วยน้ำตา จัดว่าทานเป็นไปกับด้วยอาชญา จึงย่อมไม่ถึงส่วนแห่งทานที่ให้ด้วยความสงบ (คือด้วยการประพฤติธรรม)
เมื่อบุรุษแสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือบริจาคทรัพย์พันกหาปนะ การบูชาของภิกษุเหล่านั้น ย่อมไม่ถึงส่วนร้อยของบุคคลอย่างนั้น โดยนัยอย่างนี้
บุคคลอย่างนั้น คือ บุคคลผู้ให้ทานและเป็นผู้ประพฤติธรรม เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่เข้าใจเรื่องของทานก็อย่ากระทำทุจริตกรรม ไม่ใช่ว่าทานก็ให้ แต่ในขณะเดียวกันก็กระทำทุจริตกรรม โบยเขา ฆ่าเขา ทำให้เขาเศร้าโศก หรือว่าเบียดเบียนเขา การกระทำทุจริตนั้นย่อมเป็นการเบียดเบียนบุคคลอื่น สัตว์อื่นให้เดือดร้อน
สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ยัญญสูตร ที่ ๙ มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระ วิหารเชตวัน อารามแห่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตระเตรียมการบูชามหายัญ โคผู้ ๕๐๐ ตัว ลูกโคผู้ ๕๐๐ ตัว ลูกโคตัวเมีย ๕๐๐ ตัว แพะ ๕๐๐ ตัว และแกะ ๕๐๐ ตัว ถูกนำไปผูกไว้ที่หลักเพื่อบูชายัญ แม้ชนบางคนของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น เป็นทาส คนใช้ หรือกรรมกร ที่มีอยู่ แม้ชนเหล่านั้นถูกอาชญา ถูกภัยคุกคาม มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้พลาง กระทำบริกรรมไปพลาง
เบียดเบียนหรือเปล่าที่ทำให้บุคคลอื่นเศร้าโศก และจะมีการบูชามหายัญด้วยชีวิตของสัตว์
ข้อความต่อไปมีว่า
ครั้งนั้นแล พวกภิกษุหลายรูปครองผ้าเรียบร้อยแล้ว ในเวลาเช้าถือบาตร และจีวร เข้าไปสู่กรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาตในเวลาหลังภัตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วก็ได้กราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่องที่พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงตระเตรียมการบูชามหายัญ
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า
มหายัญที่มีการตระเตรียมมาก มีการฆ่าแพะ แกะ โค และสัตว์ชนิดต่างๆ คือ อัศวเมธ ปุริสเมธ สัมมาปาสะ วาชเปยยะ นิรัคคฬะ มหายัญเหล่านั้นเป็นยัญไม่มีผลมาก เพราะพระพุทธเจ้า เป็นต้น ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ดำเนินปฏิปทาอันชอบ ย่อมไม่เข้าใกล้ยัญนั้น ส่วนว่ายัญใดมีการตระเตรียมน้อย ไม่มีการฆ่าแพะ แกะ โค และสัตว์ชนิดต่างๆ ซึ่งบุคคลบูชาสืบตระกูลทุกเมื่อ พระพุทธเจ้า เป็นต้น ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ดำเนินปฏิปทาอันชอบ ย่อมเข้าใกล้ยัญนั้น ผู้มีปัญญาควรบูชายัญนั้น ยัญนั้นเป็นยัญมีผลมาก เมื่อบุคคลบูชายัญนั้นนั่นแหละ ย่อมมีแต่ความดี ไม่มีความชั่วช้าเลวทราม ยัญก็เป็นยัญอย่างไพบูลย์ และเทวดาย่อมเลื่อมใส
นี่เป็นความเห็นผิด ความเชื่อของบุคคลในครั้งนั้นที่คิดว่า การฆ่าสัตว์แล้วบูชา จะทำให้ได้รับผลดี จะได้รับผลที่ไพบูลย์
อีกสูตรหนึ่งก็เป็นการแสดงความเห็นผิดของบุคคลในครั้งนั้นเช่นเดียวกัน
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต อุทายสูตร มีข้อความว่า
ครั้งนั้นแล อุทายพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า แม้พระโคดมผู้เจริญก็กล่าวสรรเสริญยัญของพวกข้าพเจ้าหรือ