แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 205
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาด้วยอนุโมทนียกถาดังต่อไปนี้
ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ใดย่อมให้เครื่องนุ่งห่ม ที่นอน ข้าว น้ำ และปัจจัยมีประการต่างๆ ด้วยความพอใจในท่านผู้ประพฤติตรง สิ่งของที่ให้ไปแล้วนั้น ย่อมเป็นของที่บริจาคแล้ว สละแล้ว ไม่คิดเอาคืน ผู้นั้นเป็นสัปบุรุษ ทราบชัดว่า พระอรหันต์เปรียบด้วยนาบุญ บริจาคสิ่งที่บริจาคได้ยากแล้ว ชื่อว่า ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ดังนี้
ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคครั้นทรงอนุโมทนาด้วยอนุโมทนียกถากะอุคคคฤหบดี ชาวเมืองเวสาลีแล้ว จึงเสด็จลุกจากอาสนะหลีกไป ต่อมาไม่นานอุคคคฤหบดีชาวเมืองเวสาลีก็ได้ทำกาละ (คือ สิ้นชีวิตลง) และเมื่อทำกาละแล้ว เข้าถึงหมู่เทพชื่อ มโนมยะหมู่หนึ่ง
ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น อุคคเทพบุตรมีวรรณงาม เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างไสว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามว่า
ดูกร อุคคะ ตามที่ท่านประสงค์สำเร็จแล้วหรือ
อุคคเทพบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตามที่ข้าพระองค์ประสงค์สำเร็จแล้วพระเจ้าข้า
ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับอุคคเทพบุตรด้วยพระคาถา ความว่า
ผู้ให้ของที่พอใจ ย่อมได้ของที่พอใจ ผู้ให้ของที่เลิศ ย่อมได้ของที่เลิศ ผู้ให้ของที่ดี ย่อมได้ของที่ดี และผู้ให้ของที่ประเสริฐ ย่อมเข้าถึงสถานที่ประเสริฐ นรชนใดให้ของที่เลิศ ให้ของที่ดี และให้ของที่ประเสริฐ นรชนนั้นจะบังเกิด ณ ที่ใดๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ ดังนี้
บางท่านอาจจะคิดว่า ทรงแสดงสูตรนี้จะทำให้เกิดความติดในผลของการให้ แต่อย่าลืมว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์แสดงธรรมเพื่อเกื้อกูลบุคคลให้ขัดเกลายิ่งขึ้น สามารถที่จะสละได้แม้สิ่งที่พอใจ นี่เป็นประโยชน์ของการที่จะฟังธรรม และรับส่วนที่เป็นประโยชน์ของธรรมด้วยความเข้าใจพระพุทธประสงค์ว่า การที่ทรงแสดงสภาพธรรมตามควรแก่เหตุเป็นสภาพธรรมที่จริง ถ้าให้สิ่งที่พอใจ ผลคือได้สิ่งที่พอใจ เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ก็ทรงแสดงอย่างนี้ แต่ไม่ใช่ให้ติด ให้รู้ว่าการสละสิ่งที่พอใจได้ เป็นสิ่งที่ควรจะกระทำ เพราะว่าเป็นการขัดเกลามัจฉริยะ ความติด ความหวงแหน ความที่ยังยินดีติดข้องในสิ่งที่น่าพอใจนั้นอยู่ ซึ่งสภาพธรรมใดเป็นเหตุ สภาพธรรมใดเป็นผล ก็ทรงแสดงตามสภาพความจริงของธรรมนั้นๆ แต่ว่าผู้ฟังต้องถือประโยชน์ คือ สามารถสละแม้สิ่งที่ประณีตที่น่าพอใจได้ ทำให้เพิ่มพูนกุศลของการสละยิ่งขึ้น เป็นการขัดเกลายิ่งขึ้น
สำหรับเรื่องของการถวายสิ่งที่ไม่สมควร มีข้อความในพระไตรปิฎกซึ่งจะเกื้อกูลให้ท่านผู้ฟังที่จะถวายสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยศรัทธาได้ทราบว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควรอย่างไร และท่านก็จะได้ถวายสิ่งที่เป็นกัปปิยะ คือ สิ่งที่สมควร
ขุททกนิกาย อปทาน โอปวุยหเถราปทาน ที่ ๕
ท่านพระโอปวุยหเถระ เมื่อบรรลุอรหันต์แล้ว ได้กล่าวถึงอดีตชาติของท่าน ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า
เราได้ถวายม้าอาชาไนยแด่พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ครั้นมอบถวายในพระพุทธเจ้าแล้ว ได้กลับไปเรือนของตน พระอัครสาวกของพระศาสดามีนามว่า เทวิละ ผู้เป็นทายาทแห่งธรรมะอันประเสริฐ ได้มาสู่สำนักของเรากล่าวว่า
พระผู้มีพระภาคทรงประกอบด้วยบริขาร ๘ ทั้งปวง ม้าอาชาไนยไม่ควร พระองค์ผู้มีจักษุทรงทราบความดำริของท่าน จึงทรงรับไว้ เราจึงตีราคาม้าสินธพซึ่งมีกำลังวิ่งเร็วดังลม เป็นพาหนะเร็ว แล้วได้ถวายของที่ควรแด่พระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ เราเข้าถึงกำเนิดใดๆ คือ ความเป็นเทวดาหรือมนุษย์ ม้าอาชาไนยอันมีกำลังซึ่งวิ่งเร็วดังลมเป็นที่ยินดี ย่อมเกิดแก่เรา เราดำริว่า ชนเหล่าใดได้อุปสมบท ชนเหล่านั้นได้ดีแล้วหนอ เราพึงเข้าไปเฝ้าบ่อยๆ ถ้าพระพุทธเจ้ามีในโลก
และชาติต่อๆ ไป ท่านก็เป็นพระราชา เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ได้รับผลของกุศลที่ท่านได้บำเพ็ญแล้วมากมาย จนกระทั่งถึงภพสุดท้ายได้พระอรหันต์
ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าท่านไม่มนสิการโดยถูกต้อง ท่านก็อาจจะถวายสิ่งที่ไม่เป็นกัปปิยะ ไม่สมควร เช่น ถวายม้าอาชาไนย เป็นต้น
ในครั้งพระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ท่านวิสาขามิคารมารดาได้ให้สาวใช้ถือห่อเครื่องประดับที่มีค่ามากเวลาที่ไปวิหาร และสาวใช้นั้นก็ลืมห่อเครื่องประดับไว้ที่ พระวิหาร วิสาขามิคารมารดาก็สั่งสาวใช้ว่า ให้ไปนำเครื่องประดับนั้นกลับมา แต่ถ้าท่านพระอานนท์เถระจับต้องเครื่องประดับนั้นแล้วก็จะไม่รับคืน เครื่องประดับนั้นมีราคามาก ซึ่งเมื่อท่านพระอานนท์เห็นก็ได้กราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทรงทราบ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสให้ท่านพระอานนท์เก็บไว้ในที่สุดข้างหนึ่ง เมื่อวิสาขามิคารมารดาไม่รับเครื่องประดับนั้นคืน เพราะท่านพระอานนท์ได้จับต้องแล้ว ก็ถือว่าเป็นการสละ เป็นการถวายแก่สงฆ์ แต่ว่าเพราะเครื่องประดับนั้นเป็นของที่ไม่เป็นกัปปิยะ เพราะฉะนั้น วิสาขามิคารมารดาก็ให้ช่างทองมาตีราคาเครื่องประดับเพื่อที่จะขาย และเอาเงินนั้นซื้อหาสิ่งที่เป็นกัปปิยะที่ควรถวายแก่สงฆ์ ซึ่งราคาของเครื่องประดับนั้นก็มากจนกระทั่งคนอื่นไม่สามารถที่จะซื้อได้ วิสาขามิคารมารดาก็ต้องซื้อเสียเอง
ในเรื่องของการถวายสิ่งที่ควรและไม่ควร ปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งที่ได้รับจดหมายจากท่านผู้ฟังพร้อมทั้งหนังสือบางเล่มด้วย ได้พูดถึงเรื่องการฉันอาหารเนื้อว่าเป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่สมควร ซึ่งมูลเหตุมาจากครั้งที่ท่านสีหเสนาบดี ผู้เป็นสาวกของนิครนถ์นาฏบุตรได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคฟังธรรม ซึ่งเมื่อท่านเห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว หยั่งลงสู่ธรรมแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา บรรลุความเป็นพระอริยบุคคลแล้ว ท่านสีหเสนาบดีก็ได้กราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคพร้อมกับภิกษุสงฆ์รับภัตตาหารที่บ้านของท่านในวันรุ่งขึ้น ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ทรงรับอาราธนาโดยดุษณียภาพ
ท่านสีหเสนาบดีใช้มหาดเล็กให้ไปหาซื้อเนื้อสดที่เขาขาย เมื่อได้มาแล้วก็ได้สั่งให้เขาจัดเตรียมภัตตาหารอย่างประณีตถวายพระผู้มีพระภาค
พวกนิครนถ์เสียใจที่ท่านสีหเสนาบดีมีความเลื่อมใสพระผู้มีพระภาค พวก นิครนถ์พากันกล่าวหาว่า ท่านสีหเสนาบดีล้มสัตว์เลี้ยงตัวอ้วนๆ ทำอาหารถวาย พระผู้มีพระภาค และพระผู้มีพระภาคทรงทราบอยู่ ก็ยังเสวยเนื้อนั้นที่เขาทำเฉพาะเจาะจงตน
ด้วยเหตุอันเป็นเค้ามูลนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงพระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อที่ทำเฉพาะ
ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค มีว่า
พระพุทธบัญญัติ ห้ามฉันเนื้อที่ทำเฉพาะ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรู้อยู่ ไม่พึงฉันเนื้อที่เขาทำจำเพาะ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตปลา เนื้อ ที่บริสุทธิ์โดยส่วน ๓ คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ
มูลเหตุของการที่จะทรงพระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อที่ทำเฉพาะ ก็เพราะเหตุว่า พวกนิครนถ์กล่าวหาว่า พระผู้มีพระภาคทรงทราบอยู่ก็ยังเสวยเนื้อนั้นที่เขาทำเฉพาะเจาะจงตน แต่ว่าตามความจริงแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาต ปลา เนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วน ๓ คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ
หมายความว่าถวายได้ไหม ได้
สำหรับในเรื่องเนื้อนี้ บางท่านอาจจะได้ยินคำกล่าวแย้งว่า พระพุทธศาสนา นั้นคล้ายๆ กับว่า ปากว่า ตาขยิบ เป็นคำกล่าวหาของผู้ที่ไม่เข้าใจคำสอนโดยละเอียด เพราะเหตุว่าพระพุทธศาสนานั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงให้เห็นว่า ควรเว้นการเบียดเบียน ไม่ควรฆ่า ไม่ควรทำร้าย ไม่ควรเบียดเบียนสัตว์อื่นและบุคคลอื่น แต่ทำไมพุทธบริษัทจึงบริโภคเนื้อสัตว์ ทำไมพระภิกษุจึงยังฉันภัตตาหารประเภทเนื้อ เป็นสิ่งที่ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ ขอให้ท่านผู้ฟังคิดถึงสภาพความจริงของโลก มีทั้งบุคคลที่บริโภคเนื้อสัตว์ มีทั้งบุคคลที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ พวกมังสวิรัติพวกหนึ่ง และ พวกที่ยังคงบริโภคเนื้อสัตว์ แม้ในประเทศที่นับถือพุทธศาสนาก็มี
ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ห้ามใครไม่ให้ฆ่าอะไร ห้ามได้ไหม เพราะเหตุว่าสะสมมาที่จะทำอย่างไร ก็จะต้องประพฤติเป็นไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าบุคคลที่บริโภคเนื้อสัตว์มีอยู่ จะถือว่าอาหารประเภทเนื้อที่ถวายแก่พระภิกษุเป็นการฆ่าจำเพาะเจาะจงพระภิกษุได้ไหม ในเมื่อบุคคลนั้นก็เป็นผู้ที่ปกติบริโภคเนื้อสัตว์ แต่ถ้าบุคคลใดเป็นมังสวิรัติ แม้จะนิมนต์พระภิกษุ จะไม่มีอาหารประเภทเนื้อสัตว์เลย เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้ที่เลี้ยงง่าย เมื่อมีศรัทธาที่จะถวายสิ่งใด ก็รับสิ่งนั้น สำหรับเรื่องนี้ ไม่ใช่มีปัญหาเกิดขึ้นเฉพาะในสมัยนี้ แม้ในครั้งพุทธกาล ก็มีผู้ที่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้อยู่
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ชีวกสูตร มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัมพวัน ของหมอชีวกโกมารภัจจ์ เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นแล หมอชีวกโกมารภัจจ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำนี้มาว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ยังเสวยเนื้อสัตว์ที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำดังนี้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจงพระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ยังเสวยเนื้อที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำดังนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่า กล่าวตรงกับที่พระผู้มีพระภาคตรัส ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำอันไม่เป็นจริง ชื่อว่า ยืนยันธรรมอันสมควรแก่ธรรมการกล่าวและการกล่าวตามที่ชอบธรรม จะไม่ถึงข้อติเตียนละหรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ชีวก ชนเหล่าใดกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมฆ่าสัตว์เจาะจง พระสมณโคดม พระสมณโคดมทรงทราบข้อนั้นอยู่ ก็ยังเสวยเนื้อสัตว์ที่เขาทำเฉพาะตน อาศัยตนทำดังนี้ ชนเหล่านั้นจะชื่อว่า กล่าวตรงกับที่เรากล่าวหามิได้ ชื่อว่า กล่าวตู่เราด้วยถ้อยคำอันไม่เป็นจริง
ดูกร ชีวก เรากล่าวเนื้อว่า ไม่ควรเป็นของบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ เนื้อที่ตนเห็น เนื้อที่ตนได้ยิน เนื้อที่ตนรังเกียจ ดูกร ชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล
ดูกร ชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ เนื้อที่ตนไม่ได้เห็น เนื้อที่ตนไม่ได้ยิน เนื้อที่ตนไม่ได้รังเกียจ ดูกร ชีวก เรากล่าวเนื้อว่า เป็นของควรบริโภคด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล
ดูกร ชีวก ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยบ้านหรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ เธอมีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี เข้าไปหาเธอ แล้วนิมนต์ด้วยภัตเพื่อให้ฉันในวันรุ่งขึ้น ดูกร ชีวก เมื่อภิกษุหวังอยู่ก็รับนิมนต์ พอล่วงราตรีนั้นไป เวลาเช้า ภิกษุนั้นนุ่งแล้ว ถือบาตร และจีวร เข้าไปยังนิเวศน์ของคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดี แล้วนั่งลงบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ คฤหบดีหรือบุตรของคฤหบดีนั้น อังคาสเธอด้วยบิณฑบาตอันประณีต ความดำริว่า ดีหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้ อังคาสเราอยู่ด้วยบิณฑบาตอันประณีตดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เธอ
แม้ความดำริว่า โอหนอ คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้นี้ พึงอังคาสเราด้วยบิณฑบาตอันประณีตเช่นนี้แม้ต่อไป ดังนี้ ก็ไม่มีแก่เธอ เธอไม่กำหนัด ไม่สยบ ไม่รีบกลืนบิณฑบาตนั้น มีปกติเห็นโทษ มีปัญญาเครื่องถอนออก บริโภคอยู่
ดูกร ชีวก ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ว่าในสมัยนั้น ภิกษุนั้นย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น หรือเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้างหรือ
หมอชีวกโกมารภัจจ์กราบทูลตอบว่า
ไม่เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ชีวก สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า ฉันอาหารไม่มีโทษ มิใช่หรือ
หมอชีวกโกมารภัจจ์ ก็กราบทูลว่า
อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า
หมอชีวกโกมารภัจจ์ได้กราบทูลต่อไปว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า พรหมมีปกติอยู่ด้วยเมตตา คำนั้นเป็นแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมา คำนี้พระผู้มีพระภาคเป็นองค์พยานปรากฏแล้ว ด้วยว่าพระผู้มีพระภาคทรงมีปกติอยู่ด้วยเมตตา
คำกราบทูลของหมอชีวกที่กราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมาว่า พรหมมี ปกติอยู่ด้วยเมตตา คำนั้นเป็นแต่ข้าพระพุทธเจ้าได้สดับมา คำนี้พระผู้มีพระภาคเป็นองค์พยานปรากฏแล้ว ด้วยว่าพระผู้มีพระภาคทรงมีปกติอยู่ด้วยเมตตา
ข้อความนี้ถูกไหม ถูก แต่ว่าพยัญชนะอาจจะทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ดูกร ชีวก บุคคลพึงมีความพยาบาท เพราะราคะ โทสะ โมหะใด ราคะ โทสะ โมหะนั้น ตถาคตละแล้ว มีมูลอันขาดแล้ว เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา
ดูกร ชีวก ถ้าแลท่านกล่าวหมายเอาการละราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นนี้ เรา อนุญาตการกล่าวเช่นนั้นแก่ท่าน
เพราะเหตุว่าพรหม มีพรหมโดยอุบัติด้วย ผู้ที่เจริญสมถภาวนา เจริญพรหมวิหารธรรม ๔ เมื่อจุติและฌานไม่เสื่อม ผู้นั้นก็ไปเกิดในรูปพรหมภูมิ เป็นพรหมบุคคล เพราะฉะนั้น ที่หมอชีวกได้ยินได้ฟังมาแล้วกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพยาน ก็จะต้องใช้คำให้ถูกต้องด้วยว่า ไม่ใช่หมายความถึงพรหมโดยอุบัติในพรหมโลก แต่ว่าเป็นพรหมผู้ประเสริฐที่ว่า ราคะ โทสะ โมหะนั้นตถาคตละแล้ว มีมูลอันขาดแล้ว เป็นดุจตาลยอดด้วน ถึงความไม่มี มีอันไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา
แม้แต่จะใช้คำว่า พรหม พระผู้มีพระภาคก็ต้องให้หมอชีวกหมายให้ถูกต้องว่าหมายการละราคะ โทสะ โมหะ ไม่ใช่หมายการที่เป็นรูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ
หมอชีวกกราบทูลต่อไปว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้ากล่าว หมายเอาการละราคะ โทสะ และโมหะ เป็นต้นนี้
ต่อจากนั้นในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงภิกษุผู้เจริญกรุณา มุทิตา และอุเบกขา โดยนัยเดียวกัน และเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถาม หมอชีวกโกมารภัจจ์ก็กราบทูลตอบโดยนัยเดียวกัน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคต หรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก
เป็นพระธรรมที่ตรงตามสภาพธรรม ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าผู้นั้นจะมีศรัทธา ฆ่าสัตว์เจาะจงพระผู้มีพระภาคก็ดี หรือสาวกของพระผู้มีพระภาคก็ดี แต่สภาพธรรมที่เป็นอกุศล ก็ต้องเป็นอกุศล เป็นอกุศลกรรมที่ให้ผลเป็นทุกข์ ก็ต้องเป็นอกุศลกรรมที่ให้ผลเป็นทุกข์ แม้ว่าผู้นั้นจะฆ่าสัตว์เพื่อเจาะจงพระผู้มีพระภาค หรือสาวกของพระผู้มีพระภาคก็ตาม พระผู้มีพระภาคก็ยังแสดงธรรมว่า ดูกร ชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคต หรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก
ไม่มีข้อยกเว้นเลย ไม่ว่าจะเจาะจงพระผู้มีพระภาคเอง การฆ่าสัตว์นั้นก็ย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก