แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 215
มหาปุริสลักษณะที่ได้ทรงแสดงไว้ เป็นผลของกุศลกรรมบถของการบำเพ็ญทานพร้อมด้วยวัตถุอันเป็นบริวาร
ผลของการสงเคราะห์ประชาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ คือ การให้ ๑ การกล่าวคำเป็นที่รัก ๑ การประพฤติเป็นประโยชน์ ๑ ความเป็นผู้มีตนเสมอ ๑
เป็นผลของการเป็นผู้กล่าววาจาประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรม แนะนำประชาชนเป็นอันมาก
เป็นผลของการเป็นผู้นำประโยชน์และความสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย
เป็นผู้บูชาธรรมเป็นปกติ
เป็นผู้ตั้งใจสอนศิลปะ วิชา จรณะ คือ ข้อที่ควรประพฤติหรือกรรม ด้วยมนสิการว่า ทำไฉนชนทั้งหลายนี้พึงรู้เร็ว พึงสำเร็จเร็ว ไม่พึงลำบากตน
เป็นผลของการเป็นผู้เข้าหาสมณะหรือพราหมณ์ และซักถามธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล
เป็นผลของการเป็นผู้เข้าหาบรรพชิต สอบถาม ตั้งใจฟังด้วยดี มุ่งความเจริญ ไตร่ตรองคำพูด
เป็นผลของการเป็นผู้ไม่มีความโกรธ ไม่มีความแค้นใจ ไม่ปองร้าย ไม่จองผลาญ ไม่ทำความโกรธ ความเคือง และความเสียใจให้ปรากฏ
เป็นผลของการเป็นผู้ให้เครื่องลาดมีเนื้อละเอียดอ่อน และให้ผ้าสำหรับนุ่งห่ม คือ ผ้าโขมพัสตร์มีเนื้อละเอียด ผ้าฝ้ายมีเนื้อละเอียด ผ้าไหมมีเนื้อละเอียด ผ้ากัมพลมีเนื้อละเอียด
เป็นผลของการเป็นผู้นำพวกญาติมิตรสหายผู้มีใจดี ที่สูญหาย พลัดพรากไปนานให้กลับพบกัน ครั้นทำเขาให้พร้อมเพรียงกันแล้วก็ชื่นชม
เป็นผลของการเป็นผู้เมื่อตรวจดูมหาชนที่ควรสงเคราะห์ ย่อมรู้จักชนที่เสมอกัน หยั่งทราบว่า บุคคลนี้ควรกับสักการะนี้ บุคคลนี้ควรกับสักการะนี้ ดังนี้ แล้วทำกิจเป็นประโยชน์อันพิเศษในบุคคลนั้นๆ
เป็นผลของการเป็นผู้หวังประโยชน์ หวังความเกื้อกูล หวังความผาสุก หวังความเกษมจากโยคะแก่ชนเป็นอันมาก ด้วยมนสิการว่า ทำไฉนชนเหล่านี้พึงเจริญด้วยศรัทธา ศีล สุตตะ พุทธิ จาคะ ทมะ ปัญญา ทรัพย์ ข้าวเปลือก นา สวน ญาติมิตร พวกพ้อง เป็นต้น
เป็นผลของการเป็นหัวหน้าของพหุชนในธรรมทั้งหลายฝ่ายกุศล
เป็นผลของการละการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลักฐานควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก
เป็นผลของการละคำส่อเสียด ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน
เป็นผลของการเว้นจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ
เป็นผลของการเป็นผู้ละคำเพ้อเจ้อ คำที่ไม่เป็นประโยชน์ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง
เป็นผลของการละมิจฉาอาชีวะ เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม ด้วยเครื่องตวงวัด ด้วยการรับสินบน ด้วยการหลอกลวง และการตลบตะแลง
เป็นผลของการเว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก
นี่เป็นผลที่ทำให้ทรงได้มหาปุริสลักษณะ ซึ่งแม้แต่การเข้าไปหาสมณะ หรือพราหมณ์ หรือบรรพชิต ซักถาม หรือสอบถาม หรือตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อมุ่งความเจริญ ไตร่ตรองคำพูด และก็มีความเข้าใจจากการซักถามนั้นว่า ธรรมใดเป็นกุศล ธรรมใดเป็นอกุศล ก็เป็นเหตุที่ให้ได้มหาปุริสลักษณะ
เพราะฉะนั้น ไม่จำกัดแต่เฉพาะเรื่องของศีล ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้นใด ก็ทำให้ได้รับผลที่น่าพอใจ ทั้งในโภคสมบัติ รูปสมบัติด้วย เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาและตรวจสอบกับชีวิตจริงๆ ของท่าน เมื่อดูผลในปัจจุบันก็พอที่จะทราบถึงเหตุในอดีตได้ว่า แต่ละอย่างที่เกิดขึ้นปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั้น ขณะใดเป็นผลของกุศล ขณะใดเป็นผลของอกุศล แล้วแต่ว่าประเภทใดจะมาก ถ้าเป็นผู้ที่อบรมบำเพ็ญกุศลมามาก ก็ได้รับผลของกุศลมาก แต่ถ้าเป็นผู้ที่ได้สร้างอกุศลกรรมไว้มาก ก็ย่อมได้รับผลของอกุศลกรรมมาก
มีหลายท่านที่สนใจผลของทานในปัจจุบันว่า พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงไว้อย่างไรบ้าง ซึ่งจะขอกล่าวถึงข้อความโดยตรงในพระไตรปิฎก เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้ทราบถึงการสนทนาระหว่างพระผู้มีพระภาคกับท่านสีหเสนาบดี ผู้ใคร่ที่จะได้ทราบถึงผลของทานในปัจจุบัน
ข้อความใน อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต สีหสูตร มีว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครเวสาลี ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์อาจทรงบัญญัติผลแห่งทานที่ประจักษ์ในปัจจุบันได้หรือไม่
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สีหะ ถ้าอย่างนั้น จักย้อนถามท่านในปัญหาข้อนี้ก่อน ท่านพึงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้นตามชอบใจท่าน
ดูกร สีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ในเมืองเวสาลีนี้ มีบุรุษอยู่ ๒ คน คนหนึ่งไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี คนหนึ่งมีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน
ดูกร สีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อจะอนุเคราะห์พึงอนุเคราะห์คนไหนก่อน จะเป็นคนไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน
ท่านสีหเสนาบดีกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่ออนุเคราะห์ จักอนุเคราะห์คนนั้นก่อนอย่างไรได้ ส่วนคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่ออนุเคราะห์ พึงอนุเคราะห์คนนั้นก่อนเทียว
เป็นผลของการให้อยู่ในตัวว่า เมื่อเป็นผู้ที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่ออนุเคราะห์ พึงอนุเคราะห์คนนั้นก่อน เป็นผลของการให้
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร สีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อเข้าไป พึงเข้าไปหาใครก่อน จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน
ท่านสีหเสนาบดีกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อเข้าไปหา จักเข้าไปหาคนนั้นก่อนอย่างไรได้ ส่วนคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อเข้าไปหา พึงเข้าไปหาคนนั้นก่อนเทียว
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร สีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อรับ พึงรับของใครก่อน จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน
ซึ่งท่านสีหเสนาบดีก็ได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อรับ จักรับของคนนั้นก่อนอย่างไรได้ ส่วนคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อรับ พึงรับของคนนั้นก่อนเทียว
เป็นผลของการเป็นผู้มีศรัทธา และการเป็นทานบดี การเป็นผู้ที่ยินดีให้ความสนับสนุนในธรรม
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร สีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อแสดงธรรม พึงแสดงแก่คนไหนก่อน จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน
ท่านสีหเสนาบดีกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อแสดงธรรม จักแสดงแก่คนนั้นก่อนอย่างไรได้ ส่วนคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่อแสดงธรรม พึงแสดงแก่คนนั้นก่อนเทียว
ท่านผู้ฟังคงจะมีญาติมิตรสหายที่ต้องการฟังธรรม สังเกตดูจากอัธยาศัยของผู้ที่จะรับฟัง หรือผู้ที่ท่านต้องการจะแสดงธรรมด้วยว่า เป็นผู้ที่มีอัธยาศัยอย่างไร ถ้าบุคคลนั้นไม่มีศรัทธา และพูดเสียดสี จะแสดงธรรม มีประโยชน์แก่เขาไหม หรือว่าจะเสียเวลาเปล่า กับอีกคนหนึ่งเป็นผู้ที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน ท่านย่อมแสดงธรรมกับผู้ที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุนก่อน และถ้ามีโอกาส เป็นกาลที่สมควร ท่านก็แสดงธรรมกับบุคคลอื่นที่ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ที่ตระหนี่ถี่เหนียว หรือพูดเสียดสี เมื่อเขาได้ฟังธรรม ก็อาจจะได้รับประโยชน์บ้าง ไม่มากก็น้อย
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน กิตติศัพท์อันงามของคนไหนพึงขจรไป จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน
ท่านสีหเสนาบดีกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี กิตติศัพท์อันงามของคนนั้นจักขจรไปได้อย่างไร ส่วนคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน กิตติศัพท์อันงามของคนนั้นเทียวพึงขจรไป
กิตติศัพท์ คือ คุณความดี ผู้ที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี ย่อมไม่มีคุณความดีที่จะขจรไป อาจจะมีผู้กล่าวขวัญถึง แต่ในความไม่มีศรัทธา ในความตระหนี่ถี่เหนียว ในการพูดเสียดสี ซึ่งไม่ใช่กิตติศัพท์ ไม่ใช่คุณความดี
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร สีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คนไหนที่จะพึงเข้าไปสู่บริษัท ใดๆ ก็ตาม เช่น กษัตริย์บริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท พึงเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขิน เข้าไป จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน
ท่านสีหเสนาบดีกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี จักเข้าไปสู่บริษัทใดๆ ก็ตาม เช่น กษัตริย์บริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท จักเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขิน เข้าไปอย่างไรได้ ส่วนคนที่มีศรัทธา เป็น ทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน เขาผู้นั้นพึงเข้าไปสู่บริษัทใดๆ ก็ตาม เช่น กษัตริย์บริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท พึงเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขิน เข้าไป
มีหลายท่านที่เจริญสติปัฏฐานแล้วกล่าวว่า ทำให้ท่านเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ว่าท่านจะอยู่ในสถานที่ใดก็ตาม เพราะขณะนั้นสติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ต้องคิดเรื่องอื่นที่จะต้องเก้อเขินว่า บุคคลนั้นบุคคลนี้จะคิดอย่างไรในท่าน เพราะเหตุว่าขณะนั้นสติกำลังระลึกรู้สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดปรากฏขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่สำหรับผู้ที่แม้เป็นทานบดี เป็นผู้ให้ เมื่อท่านเป็นผู้ให้ ท่านเป็นผู้อนุเคราะห์ ท่านเป็นผู้เอื้อเฟื้อ ท่านเป็นผู้ที่มีศรัทธา ท่านไม่ใช่ผู้พูดเสียดสี เพราะฉะนั้น ไม่ว่าท่านจะเข้าไปสู่บริษัทใดก็ตาม ท่านย่อมเป็นผู้ที่ไม่เก้อเขิน เข้าไป
นี่เป็นผลของการให้ ที่เป็นผลในปัจจุบัน
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร สีหะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คนไหนเมื่อตายไปจะพึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ จะเป็นคนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี หรือคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน
ซึ่งท่านสีหเสนาบดีกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ถี่เหนียว พูดเสียดสี เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์อย่างไรได้ ส่วนคนที่มีศรัทธา เป็นทานบดี ยินดีให้ความสนับสนุน เมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในผลแห่งทาน ๖ ประการ ที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน อันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ข้าพระองค์มิได้ดำเนินไปด้วยความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์เองก็รู้ผลแห่งทานเหล่านี้ ข้าพระองค์เป็นทายก เป็นทานบดี พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่ออนุเคราะห์ ย่อมอนุเคราะห์ข้าพระองค์ก่อน เมื่อเข้าไปหา ย่อมเข้าไปหาข้าพระองค์ก่อน เมื่อรับ ย่อมรับของข้าพระองค์ก่อน เมื่อแสดงธรรม ย่อมแสดงแก่ข้าพระองค์ก่อน กิตติศัพท์อันงามของข้าพระองค์ขจรไปแล้วว่า สีหเสนาบดีเป็นทายก เป็นการกบุคคล เป็นผู้อุปัฏฐากพระสงฆ์ ข้าพระองค์ผู้เป็นทายก เป็นทานบดี เข้าไปสู่บริษัทใดๆ ก็ตาม เช่น กษัตริย์บริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขิน เข้าไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในผลแห่งทาน ๖ ประการที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน อันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ข้าพระองค์มิได้ดำเนินไปด้วยความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์เองก็รู้ผลแห่งทานเหล่านี้ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสผลแห่งทานใดกะ ข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ดูกร สีหะ ทายก ทานบดี เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าพระองค์ยังไม่รู้ผลแห่งทานนั้น และในผลแห่งทานข้อนี้ ข้าพระองค์ขอดำเนินไปด้วยความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อย่างนั้น สีหะ อย่างนั้น สีหะ ดูกร สีหะ ทายก ทานบดี เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
นี่เป็นคำสนทนาระหว่างพระผู้มีพระภาคกับมหาอำมาตย์ของพระนครเวสาลี คือ ท่านสีหเสนาบดี ที่ท่านกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในผลแห่งทาน ๖ ประการที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน อันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ข้าพระองค์มิได้ดำเนินไปด้วยความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์เองก็รู้ผลแห่งทานเหล่านี้
ท่านได้ประจักษ์ผลแห่งทานที่เป็นปัจจุบันด้วยตัวของท่านเอง เพราะเหตุว่าท่านสีหเสนาบดีกราบทูลว่า ข้าพระองค์เป็นทายก เป็นทานบดี พระอรหันต์ทั้งหลายเมื่ออนุเคราะห์ ย่อมอนุเคราะห์ข้าพระองค์ก่อน
การที่พระอรหันต์ทั้งหลายอนุเคราะห์ท่านสีหเสนาบดีก่อน เป็นเพราะตำแหน่งเสนาบดีของพระนครเวสาลี หรือเป็นเพราะท่านเป็นทายก เป็นทานบดี ถึงจะเป็นผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่ หรือว่าเป็นผู้ที่มียศ มีตระกูลสูง แต่ถ้าเป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส ไม่ใช่ทานบดี ไม่ใช่ทายก จะมีสมณะ หรือพราหมณ์ หรือพระอรหันต์ทั้งหลายไปอนุเคราะห์ไหม ในเมื่อทราบว่าไม่สนใจที่จะให้อนุเคราะห์ ซึ่งการที่จะอนุเคราะห์ผู้ใด ก็เป็นเพราะว่าเห็นศรัทธาของผู้นั้น จึงสมควรที่จะได้รับความอนุเคราะห์ และศรัทธาของผู้นั้นที่เห็นได้ ก็โดยที่ผู้นั้นเป็นทายก เป็นทานบดีด้วย เป็นผู้ให้ เป็นผู้อุปัฏฐาก เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นความศรัทธาจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ควรแก่การอนุเคราะห์
และในผลของทานทั้ง ๖ ประการที่เป็นผลในปัจจุบัน ท่านสีหเสนาบดีก็ได้ประจักษ์ด้วยตัวของท่านเองว่า พระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่ออนุเคราะห์ ย่อมอนุเคราะห์ท่านก่อน เมื่อเข้าไปหา ย่อมเข้าไปหาท่านก่อน เมื่อรับ ย่อมรับของท่านก่อน เมื่อแสดงธรรม ย่อมแสดงแก่ท่านก่อน และกิตติศัพท์อันงามของท่านก็ขจรไปแล้วว่า สีหเสนาบดีเป็นทายก เป็นการกบุคคล เป็นผู้อุปัฏฐากพระสงฆ์ และท่านเองผู้เป็นทายก เป็นทานบดี เมื่อเข้าไปสู่บริษัทใดๆ ก็ตาม เช่น กษัตริย์บริษัท พราหมณ์บริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่เก้อเขิน เข้าไป
ส่วนประการสุดท้าย ก็จะได้ทราบถึงความจริงใจของท่านสีหเสนาบดีที่ท่านกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในผลแห่งทาน ๖ ประการที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบัน อันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ข้าพระองค์มิได้ดำเนินไปด้วยความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาค แม้ข้าพระองค์เองก็รู้ผลแห่งทานเหล่านี้ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสผลแห่งทานใดกะ ข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ดูกร สีหะ ทายก ทานบดี เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าพระองค์ยังไม่รู้ผลแห่งทานนั้น และในผลแห่งทานข้อนี้ ข้าพระองค์ขอดำเนินไปด้วยความเชื่อต่อพระผู้มีพระภาค
ประจักษ์หรือยังว่า ทานนี้จะให้เกิดในสวรรค์ ในเมื่อยังไม่ได้ไป กำลังอยู่ที่นี่ ในมนุษย์ และมีการกระทำทานกุศลอยู่ แต่ก็ได้ประจักษ์ผลของทานกุศลในปัจจุบันชาติทั้ง ๖ ประการ แต่ว่าประการที่ ๗ คือ เมื่อสิ้นชีวิตจากโลกนี้แล้ว ทานกุศลนั้นก็สามารถที่จะให้ผล ทำให้ปฏิสนธิในโลกสวรรค์ได้ แต่ยังไม่ประจักษ์ เมื่อใดไปแล้ว ก็คงจะทราบว่า เป็นเพราะผลของกุศลกรรม