แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 217
ใน ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ทานสูตร มีข้อความว่า
จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้ผลแห่งการจำแนกทานเหมือนอย่างเรารู้ไซร้ สัตว์ทั้งหลายยังไม่ให้แล้ว ก็จะไม่พึงบริโภค อนึ่ง ความตระหนี่อันเป็นมลทินจะไม่พึงครอบงำจิตของสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่านั้นไม่พึงแบ่งคำข้าว คำหลัง จากคำข้าวนั้นแล้ว ก็จะไม่พึงบริโภค ถ้าปฏิคาหกของสัตว์เหล่านั้นพึงมี
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แต่เพราะสัตว์ทั้งหลายไม่รู้ผลแห่งการจำแนกทานเหมือนอย่างเรารู้ ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายไม่ให้แล้วจึงบริโภค อนึ่ง ความตระหนี่อันเป็นมลทินจึงยังครอบงำจิตของสัตว์เหล่านั้น
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ถ้าว่าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้ผลแห่งการจำแนกทานเหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาค ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ตรัสแล้ว โดยวิธีที่ผลนั้นเป็นผลใหญ่ไซร้ สัตว์ทั้งหลายพึงกำจัดความตระหนี่อันเป็นมลทินเสียแล้ว มีใจผ่องใส พึงให้ทานที่ให้แล้วมีผลมากในพระอริยบุคคลทั้งหลายตามกาลอันควร
อนึ่ง ทายกเป็นอันมาก ครั้นให้ทักษิณาทาน คือ ข้าวในพระทักขิเนยยบุคคลทั้งหลายแล้ว จุติจากความเป็นมนุษย์นี้แล้วย่อมไปสู่สวรรค์ และทายกเหล่านั้นผู้ใคร่กาม ไม่มีความตระหนี่ ไปสู่สวรรค์แล้วบันเทิงอยู่ในสวรรค์นั้น เสวยอยู่ซึ่งผลแห่งการจำแนกทาน
เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วฉะนี้แล
มีท่านผู้ใดที่รู้แน่ชัดจริงๆ บ้างไหมว่า ทานให้ผลอย่างไร หรือว่าที่ท่านกำลังได้รับอยู่นี้เป็นผลของทาน เพราะข้อความในพระสูตรนี้มีว่า
ถ้าว่าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้ผลแห่งการจำแนกทานเหมือนอย่างเรา (คือ พระผู้มีพระภาค) รู้ไซร้ สัตว์ทั้งหลายยังไม่ให้แล้ว ก็จะไม่พึงบริโภค
ท่านผู้ฟังทราบจริงๆ หรือไม่ว่า โภคสมบัติ ทรัพย์สมบัติ ความสะดวกความสบายทั้งหลายที่ท่านได้รับในปัจจุบันชาตินี้เป็นผลของอดีตกุศล หรือทานที่ได้บำเพ็ญแล้ว
และ พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
ถ้าว่าสัตว์ทั้งหลายพึงรู้ผลแห่งการจำแนกทานเหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาค ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ตรัสแล้ว โดยวิธีที่ผลนั้นเป็นผลใหญ่ไซร้ สัตว์ทั้งหลายพึงกำจัดความตระหนี่อันเป็นมลทินเสียแล้ว มีใจผ่องใส พึงให้ทานที่ให้แล้วมีผลมากในพระอริยบุคคลทั้งหลายตามกาลอันควร
ทรงแสดงให้เห็นถึงการเจริญกุศลเท่าที่สามารถจะมีปัจจัยทำให้เกิดและเจริญได้ แต่สภาพธรรมทั้งหลายก็เป็นอนัตตา ถึงแม้ว่าจะทรงแสดงเรื่องของกุศลทุกขั้น แต่ปัจจัยของอกุศลจิตมีมากเหลือเกิน ทำให้อกุศลจิตเกิดมาก ความตระหนี่ก็ยังมี และอกุศลอื่นๆ ก็ยังมีเชื้อ มีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น การฟังธรรมจึงช่วยให้เกิดปัจจัยที่จะเจริญกุศลทุกขั้น
ในเรื่องของทาน ถึงแม้ว่าจะได้ทราบผล ได้ทราบอานิสงส์ แต่ว่าบางท่านทานก็ยังน้อย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงธรรมประการอื่นด้วย เพื่อเป็นการขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน
สำหรับการเจริญสติปัฏฐานนั้น เป็นปกติในชีวิตประจำวันที่สติจะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริง ถ้าชีวิตจริงๆ กำลังถวายทาน สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนในขณะที่ถวายทาน เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม ครั้นถวายทานเสร็จแล้วมีการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ในขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ชีวิตปกติของท่านเป็นอย่างไร ขณะให้ทาน ก็เจริญสติปัฏฐาน ขณะที่อุทิศส่วนกุศล ก็เจริญสติปัฏฐาน
สำหรับการอุทิศส่วนกุศล เป็นกุศลที่ควรเจริญ เพราะเหตุว่าขณะใดที่เป็นทานกุศล ขณะนั้นจิตไม่เป็นอกุศล และในวันหนึ่งๆ การให้ทานก็ไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับอกุศลจิต เพราะฉะนั้น เมื่อถวายทานแล้ว ก็ควรจะได้เจริญกุศลอื่น คือ อุทิศส่วนกุศลให้บุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว
ขณะใดที่จิตไม่เป็นกุศล ไม่เป็นวิบาก ไม่เป็นกิริยา ต้องเป็นอกุศลจิต และอกุศลจิตก็มีปัจจัยที่จะเกิดบ่อยมาก เพราะฉะนั้น ถ้าท่านได้ทราบเรื่องการเจริญกุศลขั้นต่างๆ ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้ท่านเจริญกุศลได้เพิ่มขึ้น คือ เมื่อถวายทานแล้ว ท่านก็ยังเจริญกุศล อุทิศส่วนกุศลนั้นให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือบางท่านก็อาจจะไม่ได้ให้ทาน ไม่มีเหตุที่จะทำให้ให้ทาน แต่ถ้าท่านปรารภถึงญาติ มิตรสหาย ผู้มีคุณที่ได้ล่วงลับไปแล้ว และท่านก็ทราบว่า ท่านสามารถที่จะอุทิศส่วนกุศลที่ท่านได้กระทำ เพื่อให้ท่านเหล่านั้นได้รับผล ก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้มีการถวายทาน
ตามปกติธรรมดาท่านอาจจะเป็นผู้ที่สั่งสมทานกุศลไม่มาก แต่ว่าเมื่อมีเหตุการณ์ มีเหตุ มีปัจจัยที่จะให้กระทำกุศลเพื่อที่จะอุทิศให้กับบุคคลอื่น ก็จะเป็นปัจจัยให้ท่านกระทำทานได้
ขุททกนิกาย เปตวัตถุ ปิฏฐธีตลิกเปตวัตถุ มีข้อความว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
บุคคลผู้ไม่ตระหนี่ ควรทำเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ปรารภถึงบุรพเปตชน เทวดาผู้สิงอยู่ในเรือน หรือท้าวมหาราชทั้ง ๔ ผู้รักษาโลก ผู้มียศ คือ ท้าวธตรัฐ ๑ ท้าววิรุฬหก ๑ ท้าววิรูปักษ์ ๑ ท้าวกุเวร ๑ ให้เป็นอารมณ์ แล้วพึงให้ทาน ท่านเหล่านั้นเป็นผู้อันบุคคลได้บูชาแล้ว และทายกก็ไม่ไร้ผล ความร้องไห้ ความเศร้าโศก หรือความร่ำไห้อย่างอื่น ไม่ควรทำเลย เพราะความร้องไห้เป็นต้นนั้น ย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ญาติทั้งหลายคงตั้งอยู่ตามธรรมดาของตนๆ อันทักษิณาทานนี้แล ที่ท่านเข้าไปตั้งไว้ดีแล้วในสงฆ์ ให้แล้ว ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ บุรพเปตชน โดยทันที สิ้นกาลนาน.
การกระทำบุญกุศล และอุทิศให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นสิ่งที่ควรกระทำ ไม่ใช่การร้องไห้ เศร้าโศก คร่ำครวญ เพราะถึงแม้ว่าทุกท่านจะร่วมกันร้องไห้ เศร้าโศก คร่ำครวญ บุคคลที่สิ้นชีวิตไปแล้วก็ไม่สามารถกลับฟื้นคืนมาได้ เพราะฉะนั้น การร้องไห้เศร้าโศกก็ไม่มีประโยชน์ แต่ควรจะกระทำกิจที่เป็นประโยชน์ คือ การกระทำกุศล ถวายทาน และอุทิศส่วนกุศลให้
ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วที่เป็นญาติ ที่เป็นมิตรสหาย ที่เป็นผู้มีคุณ ย่อมมีอยู่ เป็นธรรมดาของโลก เมื่อมีการเกิดขึ้นก็ต้องมีการสิ้นชีวิตลง คงไม่มีท่านผู้ใดที่ไม่เคยมีญาติตาย มิตรสหายตาย หรือว่าผู้มีคุณตาย เป็นของธรรมดา และเมื่อเกิดขึ้น หรือว่าท่านได้ประสบกับการพลัดพรากจากท่านเหล่านั้น โดยที่ท่านเหล่านั้นสิ้นชีวิตไป โศกเศร้า ร้องไห้ เป็นของธรรมดาอีกเหมือนกัน แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรมแล้วก็ระลึกได้
สังสารวัฏฏ์ คือ การเกิดสืบต่อของขันธ์ ของธาตุ ของอายตนะ โดยไม่สิ้นสุด เมื่อมีการจุติแล้วปฏิสนธิทันที ทันทีที่จุติจิต คือ จิตดวงสุดท้ายของภพนี้ดับลงไป เหตุปัจจัย คือ กรรมที่ได้กระทำแล้วกรรมหนึ่งจะเป็นชนกกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อทันที เป็นสังสารวัฏฏ์
เพราะฉะนั้น ท่านคิดถึงความตายที่ทำให้ท่านเศร้าโศก เวลาที่มีใครเกิด ท่านดีใจไหม เวลามีญาติมิตรสหายผู้เป็นที่รัก วงศาคณาญาติ มีการเกิดขึ้น ท่านดีใจไหม ปกติธรรมดา ดีใจ เพราะฉะนั้น ทันทีที่จุติก็ปฏิสนธิ ทำไมจะคิดแต่ตอนที่ทำให้เศร้าโศกเสียใจ คือ ตอนจุติ ตอนตาย เพราะทันทีที่จุติก็ปฏิสนธิ เกิดแล้ว ควรดีใจไหม แต่เพราะเหตุว่าไม่ได้ระลึกถึงความจริงอย่างนี้ ท่านก็เศร้าโศก ร้องไห้ ในการพลัดพรากจากบุคคลซึ่งเป็นที่รัก ที่เคารพ ที่นับถือ ผู้มีคุณ แต่ว่าถ้าคิดจริงๆ แล้ว เมื่อตายแล้วก็เกิด ตายแล้วก็เกิด เป็นของธรรมดา ไม่หมดสิ้นสักที ควรที่จะถึงการจุติแล้วไม่มีปฏิสนธิเกิดอีกเลย นั่นจึงควรจะดีใจจริงๆ
ทุกอย่างเป็นธรรม ถ้าท่านพิจารณาละเอียดขึ้น ท่านจะไม่เกิดอกุศลจิตมาก เพราะเหตุว่าการร้องไห้ก็ดี การเศร้าโศกก็ดี เป็นอกุศลจิต กำลังเศร้าโศก กำลังร้องไห้ จิตใจไม่ผ่องใส อะไรทำให้จิตไม่ผ่องใส ก็เพราะยังมีกิเลสอยู่ จึงทำให้มีความโศกเศร้า มีการร้องไห้ มีความเสียดายเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทั้งหมดที่ได้ทรงแสดงไว้ ทรงแสดงไว้ตามความเป็นจริง เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณา และเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิต ไม่ใช่เกิดอกุศลจิต ทั้งๆ ที่ท่านทราบว่า การร้องไห้ การเศร้าโศก ไม่มีประโยชน์เลย เป็นอกุศลจิต แต่ยับยั้งได้ไหม ไม่ได้ มาถึงความจริงอีกข้อหนึ่ง คือ ความเป็นอนัตตาของธรรมทั้งหลายที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
การที่จะต้องพลัดพรากจากวงศาคณาญาติ มิตรสหายผู้เป็นที่รัก ผู้เป็นที่เคารพ หรือผู้มีคุณ ที่ทำให้เกิดความเศร้าโศกขึ้นนั้น ถ้าท่านฟังธรรมและพิจารณาธรรม จะละอกุศลจิตได้มาก ถ้าจะมีปัจจัยเกิดขึ้น ก็ไม่มากเท่ากับผู้ที่ไม่รู้สภาพธรรม ซึ่งการร้องไห้เศร้าโศกนั้น ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แก่ผู้ที่ล่วงลับไปเลย
ข้อความใน ขุททกนิกาย ปัญจกนิบาตชาดก อุรคชาดก มีว่า
พราหมณ์ผู้บิดาได้กล่าวถึงบุตรที่สิ้นชีวิตลง มีข้อความว่า
บุตรของข้าพเจ้า ละทิ้งร่างกายของตนไป ดุจงูละทิ้งคราบเก่าไป ฉะนั้น เมื่อร่างกายแห่งบุตรของข้าพเจ้าใช้อะไรไม่ได้ เมื่อบุตรของข้าพเจ้ากระทำกาละไปแล้วอย่างนี้ บุตรของข้าพเจ้าถูกเผาอยู่ ย่อมไม่รู้สึกถึงความร่ำไห้ของพวกญาติ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา คติของตนมีอย่างใด เขาก็ย่อมไปสู่คติของตนอย่างนั้น
แสดงให้เห็นว่า ทำกรรมแทนกันไม่ได้ ปรารถนาจะให้ผู้ที่สิ้นชีวิตไปสู่สุคติ แต่ก็ย่อมแล้วแต่คติ หรือกรรมของเขามีอย่างไร เขาก็ย่อมไปสู่คติของตนอย่างนั้น
นางพราหมณีผู้มารดากล่าวว่า
บุตรของดิฉันนี้ ดิฉันมิได้เชื้อเชิญให้เขามาจากปรโลก เขาก็มาเอง แม้เมื่อจะไปจากมนุษยโลกนี้ ดิฉันก็มิได้อนุญาตให้เขาไป เขามาอย่างใด เขาก็ไปอย่างนั้น การปริเทวนาถึงในการที่บุตรของดิฉันไปจากมนุษยโลกนั้น จะเกิดประโยชน์อะไร บุตรของดิฉันถูกเผาอยู่ ก็ไม่รู้สึกถึงความร่ำไห้ของพวกญาติ เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงไม่เศร้าโศกถึงเขา คติของตนมีอย่างใด เขาก็ไปสู่คติของตนอย่างนั้น
เชื้อเชิญใครให้มาเกิดหรือเปล่า อนุญาตให้ใครไปหรือเปล่า แต่ว่าทุกคนก็ต้องเป็นไปตามกรรม
น้องสาวได้กล่าวถึงพี่ชาย มีข้อความว่า
เมื่อพี่ชายตายแล้ว หากว่าดิฉันจะพึงร้องไห้ ดิฉันก็จะผ่ายผอม เมื่อดิฉันร้องไห้อยู่ จะมีผลอะไร ความไม่ยินดีจะพึงมีแก่ญาติ มิตร และสหายของดิฉันยิ่งขึ้น พี่ชายของดิฉันถูกเผาอยู่ ก็ไม่รู้สึกถึงความร่ำไห้ของพวกญาติ เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงไม่เศร้าโศกถึงพี่ชายนั้น คติของตนมีอย่างใด เขาก็ไปสู่คติของตนอย่างนั้น
บางท่านเศร้าโศกเหลือเกินเวลาที่ผู้ที่เป็นที่รัก หรือว่าญาติมิตรสหายของท่านสิ้นชีวิตลง ลืมคิดว่า ได้ประโยชน์อะไรกับการเศร้าโศกนั้น ผ่ายผอม รับประทานไม่ได้ นอนไม่หลับ นอกจากตัวท่านเองจะเป็นทุกข์ คนที่ใกล้ชิดก็พลอยเป็นทุกข์ไปกับท่านด้วย บางท่านก็สงสารเหลือเกินว่า คนนี้เศร้าโศกยิ่งนัก มีวิธีอะไรที่จะผ่อนเบาความเศร้าโศกของบุคคลนั้นได้ เศร้าโศกมากๆ ก็จะไม่สบาย หรือว่าจะต้องสิ้นชีวิตลงไปอีกคนหนึ่ง ทำให้คนอื่นเดือดร้อนไปอีกหลายคน
ภรรยาของผู้ที่สิ้นชีวิตกล่าวว่า
เด็กร้องไห้ขอพระจันทร์อันโคจรอยู่ในอากาศ ฉันใด การที่บุคคลมาเศร้าโศกถึงผู้ที่ละไปสู่ปรโลกแล้วนี้ ก็มีอุปไมยฉันนั้น สามีของดิฉันถูกเผาอยู่ ย่อมไม่รู้สึกถึงความร่ำไห้ของพวกญาติ เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงไม่เศร้าโศกถึงสามีนั้น คติของตนมีอย่างใด เขาก็ไปสู่คติของตนอย่างนั้น
ภรรยาก็ยังคิดได้อย่างนี้
คนใช้ของผู้ที่สิ้นชีวิตกล่าวว่า
หม้อน้ำที่แตกแล้ว เชื่อมให้สนิทอีกไม่ได้ ฉันใด การที่บุคคลมาเศร้าโศกถึงผู้ที่ละไปสู่ปรโลกแล้วนี้ ก็มีอุปไมยฉันนั้น นายของดิฉันถูกเผาอยู่ ย่อมไม่รู้สึกถึงความร่ำไห้ของพวกญาติ เพราะฉะนั้น ดิฉันจึงไม่เศร้าโศกถึงนายนั้น คติของตนมีอย่างใด นายของดิฉันก็ไปสู่คติของตนอย่างนั้น
เป็นการพิจารณาธรรมของผู้ที่ไม่เศร้าโศก แต่การที่จะโศกเศร้าก็เป็นสิ่งที่บังคับบัญชาไม่ได้ เวลาที่มีผู้ที่คุ้นเคยสนิทสนม วงศาคณาญาติ มิตรสหายสิ้นชีวิตลง ถ้าตราบใดท่านยังไม่ดับกิเลสจนถึงขั้นพระอนาคามีบุคคลแล้ว ถึงแม้ว่าจะรู้ พิจารณาธรรมที่ได้ฟัง แต่เวลาที่มีเหตุปัจจัยที่จะให้เศร้าโศก ความเศร้าโศกก็เกิดขึ้น เพราะเหตุว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ปุถุชนก็เป็นอย่างนี้ พระอริยบุคคลที่ไม่ใช่ พระอนาคามีบุคคล ไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ยังคงมีความเศร้าโศกอยู่ แต่ว่าปุถุชนก็เจริญสติปัฏฐานได้ แม้พระอริยะเวลาที่มีความเศร้าโศกเกิดขึ้น สติก็ระลึกรู้สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง
ขุททกนิกาย อุทาน วิสาขาสูตร มีข้อความว่า
ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา มิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑๐๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๙๐ เรื่อยไปจนกระทั่ง ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑ ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่มีความโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่มีอุปายาส
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ความโศกก็ดี ความร่ำไรก็ดี ความทุกข์ก็ดี มากมายหลายอย่างนี้มีอยู่ในโลก เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก เมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ความโศก ความร่ำไร และความทุกข์เหล่านี้ ย่อมไม่มี
เพราะเหตุนั้นแล ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ ผู้นั้นเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก เพราะเหตุนั้นผู้ปรารถนาความไม่โศก อันปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่พึงทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รักในโลกไหนๆ
อยากมีความทุกข์ไหม ไม่อยาก ต้องทำอย่างไร ก็ต้องไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ถ้าไม่มีสังขารที่เป็นที่รัก ไม่มีสัตว์เป็นที่รักเลย รู้สึกอย่างไร ว้าเหว่หรือว่าสบาย ยังต้องการสังขารซึ่งเป็นที่รัก สัตว์ซึ่งเป็นที่รัก แต่ไม่ต้องการทุกข์ ไม่ต้องการโศก
การที่จะต้องประสบกับความเสื่อมญาติ ซึ่งท่านผู้ฟังคงจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะญาติเป็นที่รัก มิตรสหายเป็นที่รัก ผู้มีคุณเป็นที่เคารพนับถือ เพราะฉะนั้น เมื่อจะต้องพลัดพรากจากไป ก็เป็นทุกข์ใหญ่ แต่ข้อความในพระไตรปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมญาติมีประมาณน้อย ความเสื่อมปัญญา ชั่วร้ายที่สุดกว่าความเสื่อมทั้งหลาย
เวลานี้ท่านผู้ฟังคิดว่า ความเสื่อมอะไรร้ายกว่ากัน ความเสื่อมญาติ หรือว่าความเสื่อมปัญญา ท่านคิดว่า ความเสื่อมญาติเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องร้ายแรง แต่ข้อความในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมญาติมีประมาณน้อย ความเสื่อมปัญญาชั่วร้ายที่สุดกว่าความเสื่อมทั้งหลาย
กลัวไหม เสื่อมปัญญา เห็นผิด เข้าใจผิด ปฏิบัติผิด รู้ผิด พ้นผิด เป็นเรื่องของการเสื่อมปัญญาทั้งนั้น แต่บางท่านไม่เห็นภัย ไม่เห็นโทษ ไม่เห็นอันตราย ถ้าเป็นความรู้ผิด ก็ทำให้ไม่สามารถละกิเลสได้อย่างแท้จริง เป็นความพ้นผิด เป็นการเสื่อมปัญญา
การเสื่อมญาติ ก็เป็นสำหรับภพนี้ ชาตินี้เท่านั้น แต่การเสื่อมปัญญา จะทำให้ท่านเกิดในที่อื่น ในอบายภูมิ ในทุคติ ซึ่งเป็นการตัดรอนไม่ให้ปัญญาเจริญที่จะสามารถรู้แจ้งสภาพธรรมได้ เพราะท่านมีความเสื่อมปัญญา มีความเห็นผิดไปเสียแล้วในสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ความเสื่อมปัญญาชั่วร้ายกว่าความเสื่อมทั้งหลาย