แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 221


ข้อความต่อไปท่านเขียนมาว่า

“เนื่องจากที่ผมได้รู้ ได้ยิน ได้ฟังว่า ทุกหนทุกแห่งที่สอนการปฏิบัติ โดยให้กำหนดอาการของอิริยาบถ ๔ ทุกแห่งแม้ในรายการวิทยุที่สอนวิปัสสนาตั้งหลายอาจารย์ก็สอนกันแบบนี้ เว้นรายการของอาจารย์เท่านั้น ผมก็เลยตื้อ บ้องตันเต็มที จึงอยากระบายความเข้าใจของผมที่ได้จากอาจารย์ผู้สอนการปฏิบัติให้อาจารย์และท่านผู้ฟังทั้งหลายได้ฟังไว้ เพื่อประดับความโง่หรือความฉลาด ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะไม่ได้ตรวจสอบเทียบเคียงกับพระธรรมวินัย คือ เมื่อท่านอาจารย์สอนให้กำหนดดูอาการของรูปยืน เดิน นั่ง นอนนั้น ท่านก็อ้างที่ไปที่มาเหมือนกัน ไม่ได้สอนให้ทำส่งๆ ไปเลย เช่น การกำหนดดูอาการของรูปเดิน เป็นต้น ท่านบอกว่า เพียงรูปเดินนี้ก็มีรูปตั้งหลายๆ รูปมาประชุมกันขึ้นเป็นรูปเท้าที่เห็นด้วยตาอยู่ขณะนี้ คือ กัมมชรูปส่วนหนึ่งที่อาจเคลื่อนไหวไปได้ด้วยอำนาจของวาโยธาตุอันเกิดจากจิต และสอนให้รู้อีกว่า การเคลื่อนไหวกาย เช่น การเดินที่เคลื่อนไหวได้ด้วยอำนาจแห่งวาโยธาตุอันเกิดจากจิตนั้น

ในสติปัฏฐาน อรรถกถาแสดงไว้ว่า วาโยธาตุอันเกิดจากจิตนั้นซาบซ่านไปทั่วร่างกาย ทำให้เคลื่อนไหวไป เรียกว่า เดิน ไม่ใช่เราเดิน เขาเดิน แต่รูปนามเป็นผู้เดิน ในอาการเดินด้วยอำนาจของจิตตชวาโยธาตุ ที่เรียกว่าให้ดูอาการของรูปเดินนั้น หมายความว่า ให้กำหนดดูวาโยธาตุที่ทำให้เท้าเคร่งตึงไหว เป็นรูปก้าวออกไปนั้น ให้ดูด้วยใจ ไม่ใช่ดูด้วยตา ดุจดังเมื่อเด็กเล่นว่าว อยากจะรู้ว่ามีลมมาหรือยัง เขาก็ดูใบไม้ที่ไหวไปมา ถ้าเห็นใบไม้ไหวไปมา เขาก็รู้ว่ามีลม แต่ความจริงเขาไม่ได้ตั้งใจดูใบไม้โดยเฉพาะ แต่เขาอาศัยดูใบไม้เพื่อดูลมเท่านั้น โดยทำนองเดียวกัน เราก็อาศัยกำหนดดูอาการของรูปเดิน ก็เพื่อดูวาโยธาตุอันเป็นรูปๆ หนึ่งของมหาภูตรูป ที่ทำให้เท้าเคลื่อนไหวไปด้วยอำนาจของจิต และทำนองเดียวกันนี้ การอาศัยกำหนดดูรูปยืน เดิน นั่ง นอน ก็เพื่อดูวาโยธาตุเช่นกัน ก็ควรต้องเป็นรูปใน ๒๘ รูปด้วย เพราะแต่ละรูปก็มีมหาภูตรูปอยู่ทุกรูป “

ตามตัวอย่างที่ท่านผู้ฟังเขียนมาว่า ถ้าเห็นใบไม้ไหวไปมา เขาก็รู้ว่ามีลม นี่เป็นโดยนัยของสมถภาวนา ซึ่งท่านจะตรวจสอบได้ว่ามีข้อความนี้ในวิสุทธิมรรคสมาธินิเทศ และการที่จะรู้ลักษณะของธาตุลมหรือวาโยธาตุที่เป็นวาโยกสิณนั้น มีได้ ๒ ลักษณะ คือ ตามตัวอย่างที่แสดงว่า โดยดูอาการไหวของใบไม้ ถ้าใบไม้ไหวก็ทราบว่าขณะนั้นเป็นลักษณะของวาโยธาตุที่ทำให้ใบไม้นั้นไหว เพื่อให้จิตระลึกอยู่ที่ลมนั้นอย่างหนึ่ง และโดยการรู้ลักษณะของลมที่กายอีกอย่างหนึ่งที่เป็นจตุธาตุววัฏฐาน ซึ่งจตุธาตุววัฏฐานนั้นก็มี ๒ นัย โดยนัยของสมถภาวนาอย่างหนึ่ง และโดยนัยของวิปัสสนาภาวนาอีกอย่างหนึ่ง

แต่การเจริญสมถภาวนากับการเจริญวิปัสสนานั้นต่างกันมากที่จุดประสงค์ ถ้าเป็นการเจริญสมถภาวนา จุดประสงค์ คือ ต้องการที่จะให้จิตจดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใด เพื่อให้สงบจากการที่จะรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ส่วนการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดยิ่งนัก เพราะว่าจะต้องเป็นการระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏเป็นปกติทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกว่าจะรู้ทั่ว และแทงตลอดในสภาพธรรมนั้น

ถ้าท่านเข้าใจความต่างกันของการเจริญสมถภาวนา และการเจริญวิปัสสนาภาวนาแล้ว จะเข้าใจดีว่าการเจริญจตุธาตุววัฏฐานนี้ อย่างไรเป็นสมถภาวนา และอย่างไรเป็นวิปัสสนาภาวนา กล่าวคือ ถ้าท่านจดจ้องอยู่ที่ลักษณะของธาตุลม ขณะที่จดจ้องเช่นนั้น มีความต้องการที่จะรู้ลักษณะของธาตุลมที่จะให้จิตสงบ ก็ไม่ใช่การเจริญวิปัสสนาภาวนา

สำหรับการเจริญวิปัสสนา ความรู้ต้องยิ่งชัด ยิ่งละเอียด เพื่อที่จะละการยึดถือนามและรูป ซึ่งเมื่อปัญญาสมบูรณ์แล้ว ก็จะประจักษ์ว่า นามและรูปที่กำลังเป็นอารมณ์นั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เมื่อเกิดขึ้นแล้วดับไป ก็ไม่ยึดถือ ไม่เป็นห่วงอดีตนามหรือรูปที่ดับไปแล้ว และไม่กังวลถึงนามและรูปใดๆ ที่สติจะระลึกรู้ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะเหตุว่าปัญญารู้จริง รู้ทั่ว และก็ละ

แต่เวลาที่ท่านเจริญสมถภาวนา ไม่มีความรู้อย่างนี้ที่จะละ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าลักษณะของลม ธาตุลมกำลังปรากฏ ความจดจ้องที่จะให้จิตสงบ ไม่ใช่เป็นลักษณะของการละ เพราะฉะนั้น โดยนัยนั้น เป็นการเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่การเจริญวิปัสสนาภาวนา

การฟังธรรม แม้แต่ตัวอย่างก็ต้องไม่สับสน แม้จตุธาตุววัฏฐานจะเป็นกัมมัฏฐาน แต่เป็นกัมมัฏฐานของวิปัสสนาภาวนาก็ได้ เป็นกัมมัฏฐานของสมถภาวนาก็ได้ แล้วแต่ว่าผู้ใดกำลังรู้ลักษณะของธาตุลมนั้น จะเป็นโดยนัยของสมถภาวนา หรือโดยนัยของวิปัสสนาภาวนา

เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ถ้าท่านผู้ฟังไม่สำเหนียก ไม่สังเกต ท่านจะไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน และปัญญาของท่านก็ไม่ได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ดูเสมือนว่าสติเกิดมาก และปัญญารู้มาก แต่ไม่ใช่การรู้ลักษณะของนามและรูปตามปกติสมบูรณ์ด้วยสัมปชัญญะ การรู้สึกตัวธรรมดาในขณะนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ท่านเข้าใจว่าท่านทำวิปัสสนา แต่ว่าตามแบบของสมาธิ

ลักษณะของสัมมาสติที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ ผิดกับลักษณะของสติที่เป็นการเจริญสมถภาวนา ถ้าท่านไม่สังเกตความต่างกัน ท่านอาจจะคิดว่าท่านกำลังเจริญวิปัสสนา แต่ความจริงไม่ใช่การเจริญวิปัสสนา เพราะว่าขณะนั้นไม่ใช่การสมบูรณ์ด้วยสัมปชัญญะ

ขออ่านข้อความใน ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสติปัฏฐานสูตร อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกนั้นสมบูรณ์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ถ้าท่านผู้ฟังจะพิจารณาสังเกต จะอุปการะเกื้อกูลแก่การเจริญปัญญาของท่านอย่างมากทีเดียว เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงประมวลความสมบูรณ์ของความหมายของสติปัฏฐานไว้ เพื่อที่จะให้เข้าใจไม่คลาดเคลื่อน ดังข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง

คือ ไม่คลาดเคลื่อน นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ข้อความต่อไปมีว่า

เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

ถ้าท่านไม่รู้สภาพธรรมถูกต้อง ไม่มีหนทางเลยที่จะแจ้งซึ่งพระนิพพาน ที่จะรู้ชัดในสภาพของนิพพานนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าแม้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติตามความเป็นจริงก็ยังไม่รู้อย่างถูกต้อง เมื่อไม่รู้อย่างถูกต้อง จะทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานอย่างไรได้ เพราะฉะนั้น ข้อความต่อไปพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

หนทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

นี่เรื่องของสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย แต่ผู้ที่จะละได้ก็ด้วยความเพียร อาตาปี มีสัมปชัญญะ สัมปชาโน มีสติ

อาตาปี สัมปชาโน สติมา

โดยมากท่านผู้ฟังมักจะถามว่า สัมปชัญญะที่นี่หมายความว่าอะไร เพราะมีทั้งสติ มีทั้งสัมปชัญญะด้วย เพราะฉะนั้น สัมปชัญญะจะหมายความถึงสภาพธรรมปรมัตถธรรมอะไร

การเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญปัญญา ความเพียร ได้แก่ วิริยเจตสิก สติ ได้แก่ สติเจตสิก สัมปชัญญะ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก สัมปชัญญะ คือ การรู้สึกตัว อีกความหมายหนึ่ง คือ ปัญญา สองคำนี้อรรถเดียวกัน

สำหรับการเจริญสติปัฏฐาน ที่จะชี้ให้เห็นว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการรู้สึกตัวตามปกติ คือ ปัญญารู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่การไปทำสมาธิหรือไม่ใช่การเจริญสมถภาวนา ขณะนี้ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ รู้สึกตัวตามปกติ ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย เพราะว่าขณะนี้ก็มีกาย และมีสภาพธรรมที่ปรากฏที่กายเป็นปกติธรรมดาอย่างนี้ ปัญญาที่รู้พร้อมการรู้สึกตัวเป็นปกติชื่อว่าสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่การไปเจริญสมถภาวนา ไม่ใช่การไปจดจ้องที่จะดูธาตุลม แต่เป็นปัญญาที่รู้ธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งโดยมากท่านผู้ฟังจะปนเรื่องการเจริญสมถภาวนากับการเจริญวิปัสสนา ทุกท่านคิดถึงสถานที่กับความสงบ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

ขณะนี้กายมี มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ขณะใดที่ไม่หลงลืม คือ สติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏที่กายเป็นปกติ คือ สัมปชัญญะตามปกติ และปัญญาก็รู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ในลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏเป็นปกติ จึงชื่อว่าสัมปชัญญะ

ผิดกันไหมกับที่ท่านเคยไปทำวิปัสสนาแบบสมาธิ เพราะว่าขณะนั้นมีพยัญชนะหลายคำที่แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ที่ไม่สามารถประจักษ์ลักษณะของธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงได้

ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่า การเจริญสติปัฏฐานให้เอาจิตออกมารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏใช่ไหม นี่แสดงว่าต้องมีการปฏิบัติผิดมาแล้ว เอาจิตออกมารู้ หมายความว่า ที่เคยทำมานั้น จิตสงบอยู่ข้างใน ไม่รู้ลักษณะของนามรูปตามปกติ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตรงลักษณะที่กำลังปรากฏจริงๆ ไม่คลาดเคลื่อนไปที่อื่น แต่เพราะเหตุว่าเคยไปจดจ้องที่จะรู้รูปหนึ่งรูปใด นามหนึ่งนามใด เพราะฉะนั้น เวลาที่จะเปลี่ยน หรือเวลาที่จะสำเหนียก ให้รู้ว่าเป็นสติปัฏฐานไม่ใช่แบบสมาธิ ท่านก็ใช้คำถามว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นให้เอาจิตออกมารู้นามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ตามปกติอย่างนี้ใช่ไหม ไม่ได้รู้ด้วยสัมปชัญญะตามปกติในขณะนี้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเลย

การเจริญสติปัฏฐานนั้น ถ้าท่านใช้พยัญชนะผิด คลาดเคลื่อน ผู้ฟังที่มีความเห็นผิดที่สะสมมาเนิ่นนานพร้อมที่จะเห็นผิด ก็จะปฏิบัติผิด และยึดถือความคิดความเห็นที่ผิดว่า เป็นสิ่งที่ได้ประจักษ์แล้ว

เพราะฉะนั้น แม้การที่จะระลึกรู้ลักษณะของธาตุลมโดยนัยของสมถภาวนา ก็ต่างกับการเจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่จดจ้องที่จะให้รู้ แต่สติขณะใดระลึก ก็รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่โดยนัยที่ท่านผู้ฟังเขียนมาว่า “ ที่เรียกว่าให้ดูอาการของรูปเดินนั้น หมายความว่า ให้กำหนดดูวาโยธาตุที่ทำให้เท้าเคร่งตึงไหว เป็นรูปก้าวออกไปนั้น ให้ดูด้วยใจ ไม่ใช่ดูด้วยตา “ ก็เป็นสิ่งที่ท่านเจ้าของจดหมายยังปฏิบัติโดยการใช้คำว่าดู และก็ด้วยใจ และก็จดจ้อง ในขณะที่กำลังเดิน หรือกำลังยืน กำลังนั่ง กำลังนอน ที่จะให้รู้ลักษณะของวาโยธาตุ

ขณะนี้ทุกท่านกำลังนั่ง สภาพธรรมใดปรากฏ กำลังเห็น กำลังได้ยิน และที่กายบางทีเย็นหรือร้อน บางทีอ่อนหรือแข็ง บางทีตึงหรือไหวปรากฏ แต่ทางตาก็มีปรากฏ ทางหูก็มีปรากฏ ทางจมูก ทางลิ้นก็มีปรากฏ ทางใจก็มีปรากฏ ทำไมจะต้องไปดูสิ่งที่บางครั้งปรากฏ บางครั้งไม่ปรากฏ เช่น ลักษณะของธาตุลม เวลานี้วาโยธาตุ มีท่านผู้ใดรู้สึกตึงไหวตรงไหนบ้าง หรือว่ากำลังเห็น กำลังได้ยินเป็นปกติ โดยที่ไม่ต้องไปบังคับ สภาพธรรมก็เกิดปรากฏโดยความเป็นอนัตตาเอง

เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังควรพิจารณาโดยละเอียดว่า ยังมีสักกายทิฏฐิ ยังมีสีลัพพตปรามาสแทรกอยู่ในขณะใดบ้าง เพราะเหตุว่าผู้ที่จะเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระอริยบุคคลได้นั้น สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก จะต้องเกิดขึ้นรู้ว่า ขณะใดยังมีความเห็นผิด หรือยังลูบคลำข้อปฏิบัติที่ผิดอยู่ ถ้ารู้ว่าขณะนั้นมีความเห็นผิด มีตัวตนที่กำลังจดจ้องอยู่ ถ้าเกิดความรู้ขึ้น ท่านก็ละการที่จะจดจ้อง ซึ่งแม้ไม่จดจ้อง ได้ยินก็มี เห็นก็มี ทำไมจะต้องจดจ้อง และการที่จะระลึกรู้สภาพธรรมตรง ไม่คลาดเคลื่อนนั้น ก็คือ เป็นปกติขณะนี้เอง ไม่ต้องทำอะไรให้ผิดปกติ

ท่านที่สำเหนียก สังเกต จะรู้ว่า มีความรู้สึกว่ากำลังทำวิปัสสนา แม้อย่างนั้นสัมมาสติ สัมมาทิฏฐิ ก็จะต้องเกิดขึ้นระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นลักษณะของตัวตน

เรื่องของตัวตนนั้นละเอียดมาก เป็นเรื่องที่ทุกท่านมีมากอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะเอาไปเพิ่มเติมว่าท่านเป็นตัวตน ก็เป็นตัวตนอยู่แล้วอย่างมากทีเดียว

เพราะฉะนั้น จะต้องอาศัยการสังเกต การสำเหนียก การระลึกรู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงอย่างถูกต้อง จึงจะทำให้ท่านเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน และสามารถที่จะรู้สภาพธรรมถูกต้อง ซึ่งถ้าเป็นแบบสมาธิ ท่านคิดว่าสติเกิดมาก ปัญญาเกิดมาก แต่ปกติธรรมดาอย่างนี้ไม่เคยเกิด ไม่ทราบจะเกิดอย่างไร บางท่านบอกว่าเกิดไม่ได้ นั่นไม่ใช่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแน่นอน

แต่ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ท่านก็แยก รู้ว่า ท่านอาจจะเคยเจริญแบบสมาธิมา แต่ปัญญาไม่รู้นามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ พร้อมด้วยสัมปชัญญะเป็นปกติอย่างนี้ ก็จะทำให้ท่านละการที่จะไปเข้าใจว่า ขณะที่ไปจดจ้อง หรือว่าไปทำแบบสมาธินั้น สติเกิดมาก เพราะว่าปัญญาไม่ได้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริง

ท่านที่เคยเจริญสมาธิ มีนิมิตปรากฏไหม หรือท่านที่เคยทำวิปัสสนาแบบสมาธิมีนิมิตปรากฏไหม

นิมิต หมายความถึงสิ่งที่ไม่ใช่สภาพปรมัตถธรรมตามความเป็นจริง ผู้ที่ทำวิปัสสนาแบบนั้น นิมิตนั้นดูเสมือนว่าเป็นของจริง อาจจะได้ยินเสียงเหมือนนาฬิกาเดินตลอดวัน ซึ่งในความรู้สึกของผู้นั้นเหมือนกับเป็นปกติ แต่จะเป็นปกติไม่ได้ เพราะว่าไม่ใช่ความจริง ถ้าไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นนิมิต ก็เป็นการรู้สภาพธรรมที่ผิดปกติจะทิ้งไม่ได้ ก็ยังคงทำอย่างนั้นไปเรื่อยๆ

แต่ถ้าท่านทราบว่า ขณะนั้นไม่ใช่การรู้ที่ระลึกได้ เพราะสติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเป็นปกติจริงๆ ในชีวิตของท่าน แล้วแต่ว่าจะเป็นขณะใด เมื่อสะสมอบรมสติปัฏฐานอยู่เรื่อยๆ สติก็สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตามที่สะสมมา ที่จะเกิดขึ้นเป็นชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลตามความเป็นจริง ถ้าเป็นอย่างนั้น จึงจะสามารถรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรม และละคลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคลได้

ถ้าตราบใดยังเสมือนกับว่าเป็นสติ และมีนิมิต ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ธรรมถูกต้อง ก็ไม่สามารถที่จะละมิจฉาทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ ที่เคยยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้


หมายเลข  5958
ปรับปรุง  8 พ.ค. 2566