แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 224
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร กาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่โกรธ เมื่อเกิดขึ้นภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือสิ่งไม่เป็นประโยชน์
พวกกาลามชนกราบทูลว่า
เพื่อประโยชน์พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร กาลามชนทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่โกรธ ไม่ถูกความโกรธครอบงำ มีจิตไม่ถูกความโกรธกลุ้มรุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่โกรธย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น
ชาวกาลามชนกราบทูลว่า
จริงอย่างนั้นพระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร กาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่หลงเมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์
ชาวกาลามชนกราบทูลว่า
เพื่อประโยชน์พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร กาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไม่หลง ไม่ถูกความหลงครอบงำ มีจิตไม่ถูกความหลงกลุ้มรุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จ สิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่หลงย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น
พวกกาลามชนกราบทูลว่า
จริงอย่างนั้นพระเจ้าข้า
ความไม่หลงนี้เป็นสติ ขณะใดที่มีความไม่หลง สามารถที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ แต่ขณะใดที่หลงลืมสติ ก็เป็นเพราะโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร กาลามชนทั้งหลายท่าน ทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล หรืออกุศล
พวกกาลามชนกราบทูลว่า
เป็นกุศลพระเจ้าข้า
การไม่หลงลืมสติเป็นกุศล ควรเจริญมากๆ หรือควรจะบอกว่า ขณะนั้นเจริญไม่ได้ ขณะนี้เจริญไม่ได้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
มีโทษ หรือไม่มีโทษ
พวกกาลามชนกราบทูลว่า
ไม่มีโทษพระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ท่านผู้รู้ติเตียน หรือว่าท่านผู้รู้สรรเสริญ
พวกกาลามชนกราบทูลว่า
ท่านผู้รู้สรรเสริญพระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขหรือหาไม่
พวกกาลามชนกราบทูลว่า
ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ในข้อนี้ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความเห็นเช่นนี้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร กาลามชนทั้งหลาย เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า ดูกร กาลามชนทั้งหลาย มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบๆ กันมา อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่าได้ยินว่าอย่างนี้ อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ยึดถือโดยนึกเดาเอาเอง อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้ยึดถือโดยตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกับทิฏฐิของตนอย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา
เมื่อใดท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่าธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ เพราะอาศัยธรรมที่เราได้กล่าวไว้แล้วนั้น เราจึงได้กล่าวไว้ดังนี้
ดูกร กาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้นปราศจากความโลภ ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้ว อย่างนี้มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง
ถ้าผู้ใดสมาทานการไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐานจะเป็นไปได้ไหมที่จะไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ที่ทรงแสดงให้เห็นคุณของความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง และสมาทานให้บริบูรณ์ เพียงพยัญชนะที่ว่า สมาทานให้บริบูรณ์ ถ้าสมาทานไม่เป็น ทำไม่ถูก เจริญไม่ได้ จะบริบูรณ์ได้ไหม ก็ไม่ได้
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร กาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้นปราศจากความโลภ ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้ว อย่างนี้มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง มีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
มีใจประกอบด้วยกรุณา มีใจประกอบด้วยมุทิตา มีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกันตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
ดูกร กาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ย่อมได้ความอุ่นใจ ๔ ประการในปัจจุบันว่า
ก็ถ้าปรโลกมีจริง ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วมีจริง เหตุนี้เป็นเครื่องให้เราเมื่อแตกกายตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ ความอุ่นใจข้อที่ ๑ นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว
ก็ถ้าปรโลกไม่มี ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วไม่มี เราไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ เป็นสุข บริหารตนอยู่ในปัจจุบันนี้ ดังนี้ ความอุ่นใจข้อที่ ๒ นี้พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว
ก็ถ้าเมื่อบุคคลทำอยู่ ชื่อว่าทำบาป เราไม่ได้ทำความชั่วให้แก่ใครๆ ไหนเลยทุกข์จะมาถูกต้องเราผู้ไม่ได้ทำบาปกรรมเล่า ดังนี้ ความอุ่นใจข้อที่ ๓ นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว
ก็ถ้าเมื่อบุคคลทำอยู่ ไม่ชื่อว่าทำบาป เราก็ได้พิจารณาเห็นตนว่า เป็นคนบริสุทธิ์แล้วทั้ง ๒ ส่วน ดังนี้ ความอุ่นใจข้อที่ ๔ นี้ พระอริยสาวกนั้นได้แล้ว
ดูกร กาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ย่อมได้ความอุ่นใจ ๔ ประการนี้แลในปัจจุบัน
พวกกาลามชนกราบทูลว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้เป็นอย่างนั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ท่านย่อมได้ความอุ่นใจ ๔ ประการในปัจจุบัน
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ขอพระองค์โปรดทรงจำพวกข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป
ถ. เรื่องกาลามสูตรนี้ ผมเองก็เรียนมามาก แต่ไม่ได้ดูในพระไตรปิฎกเลย การที่จะเรียกชื่อพระสูตรนั้น ผมมีความเห็นว่า บางทีเราเรียกชื่อตามตัวสำคัญๆ ในเรื่อง แต่ความจริงไม่ได้ดูบาลี ที่อาจารย์พูดอย่างนี้ก็เป็นข้อที่น่าคิด
สุ. ขอบคุณท่านผู้ฟังที่กรุณาให้ความคิดเห็นว่า มีชื่อหลายชื่อที่คลาดเคลื่อนจากชื่อของพระสูตรจริงๆ และการที่จะเรียกชื่อพระสูตรต่างๆ นั้น ก็แล้วแต่เหตุผลหรือเหตุการณ์ แต่ถ้าตรวจสอบกับพระบาลี ถ้าท่านผู้ฟังต้องการที่จะสอบทานให้ตรงกับพระบาลี ไม่คลาดเคลื่อน ซึ่งหลายท่านสนใจข้อความใน เกสปุตตสูตร ท่านได้ยินว่ากาลามสูตร ท่านไปหาเท่าไรก็หาไม่พบ ดูสารบัญก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ชื่อที่ในพระไตรปิฎก คือ อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๒ เกสปุตตสูตรที่ ๕
ข้อความตอนท้ายในวรรคนี้ ฉบับภาษาไทยมีว่า รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑.ติตถสูตร ๒.ภยสูตร ๓.เวนาคสูตร ๔.สรภสูตร ๕.เกสปุตตสูตร ๖.สาฬหสูตร ๗. กถาวัตถุสูตร ๘. ติตถิยสูตร ๙. มูลสูตร ๑๐. อุโบสถสูตร
พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีซึ่งรวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ ข้อความตรงกัน คือ บาลีเองก็ใช้ว่า เกสปุตตสูตร
ท่านผู้ฟังอาจคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ว่าธรรมทั้งหลายค่อยๆ คลาดเคลื่อนไปได้ทีละเล็กทีละน้อยโดยชื่อบ้าง โดยความเข้าใจบ้าง ในที่สุดท่านก็จะไม่ทราบว่าตามที่มีในพระบาลีจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร
ข้อความตอนหนึ่งใน ปปัญจสูทนี มีว่า
บุคคลย่อมเกิดในนรก เพราะไม่ศึกษา ไม่สอบสวน เมื่อไม่สอบถาม ย่อมไม่รู้ว่าสิ่งนี้ควรทำ นี้ไม่ควรทำ เมื่อไม่รู้ ย่อมไม่ทำสิ่งที่ควรทำ ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ ก็ย่อมตกนรกเพราะเหตุนั้น ส่วนผู้ศึกษา สอบถาม ย่อมบังเกิดในสวรรค์
ท่านที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล มีปัจจัยที่จะให้เกิดในอบายภูมิ เพราะฉะนั้น การที่จะพ้นจากอบายภูมิ จะต้องเป็นบุคคลที่ศึกษา สอบถาม จึงสามารถที่จะพ้นได้
ขอกล่าวถึงข้อความใน สัทธัมมปกาสินี อรรถกถาปฏิสัมภิทามรรค
สัทธัมมปกาสินี หมายความถึง อรรถกถาที่ประกาศพระสัทธรรม เป็นอรรถกถาของ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา ในข้อธรรมเรื่องธัมมัฏฐิติญาณนิทเทส
ข้อความใน สัทธัมมปกาสินี อรรถกถา มีว่า
คำว่า ย่อมรู้ ชานาติ คือ ย่อมรู้ ย่อมเห็น ด้วยญาณที่ปรารภภาวนาตามทำนองแห่งสุตตะ เพราะฉะนั้น ย่อมเห็นสิ่งที่รู้แล้วนั่นเองด้วยญาณ เช่นเดียวกับเห็นสิ่งที่เห็นด้วยจักษุ และเช่นเดียวกับที่ได้สัมผัสผลมะขามป้อมที่อยู่บนพื้นฝ่ามือ
เป็นเรื่องของความรู้ชัด ซึ่งเป็นปัญญา
คำว่า ย่อมรู้ ชานาติ คือ ย่อมรู้ ย่อมเห็น ด้วยญาณที่ปรารภภาวนา ตามทำนองแห่งสุตตะ
สุตตะ คือ การฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสภาพปรมัตถธรรมตามที่พระองค์ทรงตรัสรู้ บางท่านกล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานตรงกับปรมัตถธรรมที่ได้ศึกษา ซึ่งท่านก็ควรจะทราบว่าต้องตรง ไม่ตรงไม่ได้ เพราะเหตุว่าปรมัตถธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงนั้น เพราะทรงตรัสรู้สภาพธรรมด้วยสติและญาณตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เมื่อเจริญสติปัฏฐาน จึงตรงกับปรมัตถธรรมทุกประการ
และที่ว่า การเห็นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สีที่ปรากฏทางตาไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล การได้ยินไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เสียงที่ปรากฏไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป นี่ตามที่ทุกท่านได้ยินได้ฟังตามทำนองแห่งสุตตะ คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น การที่ปัญญาจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้น ไม่ใช่รู้อย่างอื่น แต่ย่อมเห็นสิ่งที่รู้แล้วนั่นเองด้วยญาณ
คำว่า ย่อมเห็นสิ่งที่รู้แล้วนั่นเองด้วยญาณ หมายความถึงญาณแต่ละขั้นทีเดียว อย่างนามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญาที่รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและ รูปธรรม ก็เพราะเห็นสิ่งที่รู้แล้วนั่นเอง
ทุกวันๆ ท่านเห็นสี ท่านรู้สี ท่านได้ยินเสียง ท่านรู้เสียง ท่านรู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ รู้เรื่องราว คิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ นี่เป็นสิ่งที่ทุกท่านรู้ แต่ว่าการที่จะเป็นญาณนั้น คือ ย่อมเห็นสิ่งที่รู้แล้วนั่นเองด้วยญาณ ไม่ใช่เห็นอย่างอื่น ไม่ใช่รู้อย่างอื่น
เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐาน จึงเป็นการรู้สภาพธรรมตามปกติที่ท่านรู้แล้วนั่นเองทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่จะสมบูรณ์เป็นวิปัสสนาญาณได้ ก็ด้วยการที่ย่อมเห็นสิ่งที่รู้แล้วนั่นเองด้วยญาณ เช่นเดียวกับเห็นสิ่งที่เห็นด้วยจักษุ และเช่นเดียวกับที่ได้สัมผัสผลมะขามป้อมที่อยู่บนพื้นฝ่ามือ
ขณะนี้ท่านนึกถึงสิ่งที่อยู่ที่บ้าน ไม่ใช่เห็นด้วยจักษุ แต่ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เป็นความจริง เห็นสิ่งที่เห็นด้วยจักษุ เพราะฉะนั้น ญาณที่ประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ ย่อมรู้สิ่งที่รู้แล้วนั่นเองด้วยญาณ เช่นเดียวกับเห็นสิ่งที่เห็นด้วยจักษุ และเช่นเดียวกับได้สัมผัสผลมะขามป้อมที่อยู่บนพื้นฝ่ามือ
ท่านใช้พยัญชนะว่า ได้สัมผัส เวลานี้มะขามป้อมอาจจะอยู่ที่อื่น ยังไม่ได้มาอยู่บนฝ่ามือ เพราะฉะนั้น ท่านจะทราบว่ามะขามป้อมนั้นมีสัมผัสประการใด ก็ไม่เหมือนกับขณะที่ผลมะขามป้อมนั้นกำลังสัมผัสอยู่บนพื้นฝ่ามือ เพราะฉะนั้น ความรู้ชัดของญาณ คือ รู้สภาวธรรมนามและรูปตามความเป็นจริง ตามปกติ อย่างถูกต้องนั่นเอง ไม่ใช่ว่ารู้คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง
ข้อความต่อไปมีว่า
บทว่า อญฺญาติ คือ รู้ทั่ว เมื่อทำอาเสวนะโดยคลองแห่งสิ่งที่ได้เห็นแล้วนั่นเอง ชื่อว่า ย่อมรู้ด้วยญาณ
ไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆ ก็จะเกิดญาณขึ้นได้ บางท่านฟังแต่เรื่องของวิปัสสนาญาณ แต่ไม่ได้ฟังเรื่องของเหตุว่าเจริญอย่างไรจึงจะเป็นผลให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น ที่ท่านชอบฟัง ก็เพื่อจะเปรียบเทียบกับความรู้ของท่านว่า ขณะนี้เป็นวิปัสสนาญาณหรือยัง โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงเหตุว่า ท่านเจริญเหตุที่จะให้ปัญญารู้ชัด รู้ทั่ว แล้วหรือยัง
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ จนกว่าเมื่อทำอาเสวนะโดยคลองแห่งสิ่งที่ได้เห็นแล้วนั่นเอง ชื่อว่า ย่อมรู้ด้วยญาณ ระลึกบ่อยๆ รู้ในสภาพที่เป็นนามธรรม รูปธรรม จนกระทั่งรู้ชัด จึงชื่อว่าวิปัสสนาญาณได้ เมื่อเหตุสมควรแก่ผล
บทต่อไปว่า
บทว่า ปฏิวิชฺฌติ ย่อมแทงตลอด เมื่อให้สิ่งที่เห็นแล้วถึงความบริบูรณ์ด้วย ภาวนา ชื่อว่า ย่อมแทงตลอดด้วยญาณ
เมื่อรู้แล้ว ยังจะต้องละ และที่จะละได้ ก็เพราะเหตุว่าแทงตลอดในสภาพนั้นๆ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น การที่จะชื่อว่าปฏิวิชฺฌติ ย่อมแทงตลอดนั้น เมื่อให้สิ่งที่เห็นแล้วถึงความบริบูรณ์ด้วยภาวนา การอบรมเจริญสติปัญญาจะต้องสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ เป็นขั้นๆ จนกระทั่งถึงขั้นที่แทงตลอดด้วยญาณ
ข้อความต่อไปมีว่า
สลกฺขณํ อีกอย่างหนึ่ง ย่อมรู้ด้วยสามารถลักษณะ ย่อมเห็นด้วยสามารถกิจย่อมรู้ทั่วด้วยสามารถอาการปรากฏ และแทงตลอดด้วยสามารถเหตุใกล้ให้เกิด
เป็นสภาพปรมัตถธรรมที่ผู้รู้รู้ตามความเป็นจริง เพราะย่อมรู้ด้วยสามารถ ลักษณะ ย่อมเห็นด้วยสามารถกิจ ย่อมรู้ทั่วด้วยสามารถอาการปรากฏ และแทงตลอดด้วยสามารถเหตุใกล้ให้เกิด ถ้าไม่มีลักษณะปรากฏให้รู้ จะชื่อว่ารู้สภาวธรรม รู้สภาพธรรมนั้นไม่ได้ รู้ได้อย่างไรถ้าสภาวธรรมนั้นๆ ไม่ปรากฏลักษณะให้รู้ รู้ไม่ได้
ที่ชื่อว่า รู้สภาวธรรม รู้สภาพลักษณะของธรรม ก็เพราะลักษณะของสภาวธรรมนั้นปรากฏ ขณะนี้กำลังเห็น มีจริง เป็นของจริง คือ สภาวธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะปรากฏให้รู้ได้ เป็นสภาพรู้ทางตา คือ กำลังเห็นในขณะนี้ เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง
ขณะที่กำลังได้ยิน ก็มีสภาวะ สภาพที่รู้เสียง ที่เสียงปรากฏเพราะรู้เสียงเพราะฉะนั้น สภาวธรรมที่เป็นนามธรรม คือ สภาพที่กำลังรู้เสียง และเสียงก็เป็นสภาวธรรมที่ปรากฏทางหู
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานรู้สภาวลักษณะ ย่อมรู้ได้ด้วยสามารถลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะว่าสภาพธรรมนั้นๆ มีลักษณะที่ปรากฏให้รู้ได้