ปกิณณกธรรม ตอนที่ 9
ตอนที่ ๙
ท่านอาจารย์ แต่ก็ไม่ควรจะกังวล หรือคำนึงถึง เพราะว่าเรื่องกรรม เป็นเรื่องที่เราไม่รู้ เป็นอจินไตยอย่างที่กล่าวถึง เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าไม่ได้ฆ่ามารดา ไม่ได้ฆ่าบิดาก็จริง แต่กรรมอื่นก็ทำให้ตกนรกได้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าต้องเฉพาะอนันตริยกรรมเท่านั้น แต่ให้ทราบว่าถ้าเป็นอนันตริยกรรมแล้วต้องตกนรกโดยที่ไม่มีกรรมอื่นมาคั่น นี่เป็นความต่างกันคืออนันตริยกรรมให้ผลแน่นอน แต่ถ้าไม่ใช่อนันตริยกรรมแล้วก็แล้วแต่ว่ากรรมไหนจะให้ผล ยังไงก็ต้องเกิดแน่ เพราะฉะนั้นก็ทำกุศลมากๆ เพราะไม่รู้ว่าในอดีตชาตินั้นเคยสะสมอกุศลมามากเท่าไหร่แล้ว เพราะฉะนั้นก็น่าจะมีคำเตือนใจว่า กุศลทำเท่าไหร่ก็ไม่พอ
ผู้ฟัง ขอเรียนถามว่า ปัญญาเกิดจากสมาธิ ที่เรียก ปัญญาสมาธิ มีไหม ศีลสมาธิปัญญา นี่เป็นคำถาม
ท่านอาจารย์ ข้อที่ ๑ ที่ว่าปัญญาเกิดจากสมาธิ สมาธิมี ๒ อย่าง มิจฉาสมาธิ และ สัมมาสมาธิ เพราะฉะนั้นปัญญาไม่ได้เกิดจากมิจฉาสมาธิแน่นอน และในขณะนี้ก็มีสมาธิเกิดกับจิตทุกขณะ แต่ว่ายังไม่ปรากฏลักษณะที่ตั้งมั่นคง ที่จะปรากฏว่าเป็นลักษณะของสมาธิ มีจิตตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดนานๆ ลักษณะของสมาธิก็ปรากฏ แต่ให้ทราบว่าขณะใดก็ตามที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ขณะนั้นเป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมด เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าปัญญาเกิดสมาธิ แต่ให้ทราบว่า ขณะใดก็ตามที่มีสมาธิแต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา แล้วเป็นมิจฉาสมาธิ
ผู้ฟัง แล้วก็มีคำถามที่ต่อท้ายใช้เขียนว่า ศีลสมาธิปัญญา
ท่านอาจารย์ คนที่มีศีล แต่ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ก็มีใช่ไหม คนที่มีสมาธิ แต่ไม่มีปัญญา ก็มีใช่ไหม แต่ผู้ใดที่มีปัญญา ผู้นั้นมีทั้งศีลสมาธิด้วย
ผู้ฟัง ขอรบกวนเรียนถามท่านอาจารย์ช่วยแนะวิธีประยุกต์หลักธรรมเข้ามาใช้กับชีวิตการทำงานประจำวันให้มีความสุขความสงบราบรื่นด้วย
ท่านอาจารย์ ต้องการวิธี เหมือนยา เอาไปรับประทาน แต่ให้ทราบว่า ถ้ายังมีกิเลสอยู่ ที่จะมีความสุขราบรื่นทั้งนอกบ้านในบ้านเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และกิเลสทั้งหมด จะลดน้อยลงก็ต่อเมื่อมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้วไม่มีทางเลย ซึ่งใครจะหายา หาวิธี หาอะไรก็ตามแต่ ที่คิดว่าตนเองจะเป็นสุข เพราะฉะนั้นแทนที่จะคิดว่าจะเอาธรรมข้อไหนหรืออะไรก็ตาม อบรมเจริญปัญญาแล้วก็จะประพฤติปฏิบัติตามธรรมได้เพิ่มขึ้น เพราะว่าขณะนี้ถ้าถามคนทุกคนว่า โลภะความโลภดีไหม ไม่ดี ละเสีย ได้ไหม ก็รู้ว่าไม่ดีก็อย่ามีสิ ได้ไหม ไม่ได้เพราะอะไร เพราะไม่มีปัญญา ที่จะเห็นโทษของโลภะจริงๆ โทสะดีไหม ทุกคนบอกว่าไม่ดี เมื่อไม่ดีก็อย่าเกิดสิ ละเสีย แต่ตราบใดที่ยังไม่มีปัญญาก็ละโทสะไม่ได้
เพราะฉะนั้นอกุศลทั้งหมด เป็นสิ่งที่ไม่ดีทั้งนั้น แต่ว่าถ้าไม่มีปัญญาแล้วก็ไม่มีใครสามารถที่จะไปยับยั้งอกุศลเหล่านั้นไม่ให้เกิดได้ บางคนก็ชื่นชมกับวิธีของนักจิตวิทยา นักปรัชญาอะไรก็ตามแต่ ซึ่งพยายามที่จะใช้คำพูด หาหนทางที่จะพิจารณาเหตุการณ์ต่างๆ แล้วก็ประเล้าประโลมให้จิตใจสบายขึ้น แต่ไม่ใช่หนทางดับกิเลส ยังไงๆ ก็ตามเกิดโลภ เกิดโกรธ เกิดหลง มากหรือน้อยวันใดก็วันหนึ่ง
แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสามารถที่จะดับกิเลสได้ ไม่เกิดอีกเลย เพราะฉะนั้นทุกคนต้องการเพียง ไม่ให้มีโลภะเดี๋ยวเดียว ไม่ให้มีโทสะเดี๋ยวเดียว หรือว่าต้องการที่จะดับอกุศลทั้งหมด ถ้าจะดับอกุศลทั้งหมด ทางอื่นไม่มีเลย นอกจากอบรมเจริญปัญญา แล้วก็ไม่ใช่ปัญญาตามความคิดด้วย ต้องเป็นปัญญาซึ่งเกิดจากการศึกษาเข้าใจพระธรรมจริงๆ จึงจะเป็นปัญญาได้
ผู้ฟัง ขออนุญาตกราบเรียนถามต่อไป เนื่องจากกระผมได้เคยสนทนาธรรมกับบางท่าน ก็พูดถึงเรื่องปัญหาของคนหนุ่มสาวในปัจจุบันนี้ว่า น่าจะมีสิ่งที่ยึดเหนี่ยว หรือว่าบังคับจิตใจไม่ให้ฟุ้งซ่าน เพราะว่าผลของการที่คนหนุ่มคนสาวไปยึดถือสิ่งที่เป็นความสนุกเพลิดเพลิน เช่นสถานเริงรมย์ต่างๆ ก็นำมาซึ่งความเสียหาย และความเดือดร้อน เพราะฉะนั้นพูดถึงเรื่องการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นมิจฉาสมาธิหรือจะเป็นสัมมาสมาธิ เขาก็พูดบอกว่า ดีกว่าปล่อยให้คนหนุ่มคนสาว ไปใช้ชีวิตในทางที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง และครอบครัว เพราะฉะนั้นก็สนับสนุนให้มีการไปปฏิบัติด้วยการนั่งสมาธิตามวัดหรือสถานที่ต่างๆ ท่านอาจารย์มีความเห็นอย่างไรในเรื่องนี้
ท่านอาจารย์ ถ้าใช้คำว่า สมาธิ ไม่ผิด แล้วก็บอกให้รู้ด้วยว่า นี่ไม่ใช่สัมมาสมาธิ ก็ไม่ผิด คือให้ความจริง ให้ความถูกต้อง ไม่ใช่ว่า สิ่งที่ไม่ใช่สัมมาสมาธิก็บอกว่าสัมมาสมาธิ แต่บอกว่านี่คือสมาธิมีผลอย่างนี้ แต่ว่าไม่ใช่สัมมาสมาธิ ไม่ใช่หนทางปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง แต่ว่าความเห็นของผู้ใหญ่ท่านนั้น ก็ไม่หวังว่าจะให้มีปัญญารู้แจ้งอะไร เป็นแต่เพียงว่าดีกว่าปล่อยให้ไปใช้ชีวิตในทางที่จะเดือดร้อน และเสียหาย เพราะฉะนั้นไม่ต้องกล่าวว่า จะเป็น กุศลหรือว่าเป็นอกุศล แต่ว่าอย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่ดีงาม จึงได้มีการชักชวนกันไปปฏิบัติธรรม อย่างเช่นเนื่องในวันสำคัญทางพุทธศาสนามักจะมีการเชิญชวน และก็มีภาพปรากฎมา ซึ่งถ้าจะพูดกันถึงประโยชน์ ในความเข้าใจของผมคิดว่า คงจะเป็นเรื่องละเอียดมากกว่าที่จะไปบอกว่าควรหรือไม่ควรไปปฏิบัติ
ท่านอาจารย์ ก็บอกตามความเป็นจริงว่า ไปทำสมาธิ และสมาธินี่ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะว่าการไปโรงเรียนก็มีหลายวิชา แต่ว่านี่ไม่ใช่ไปโรงเรียน นี่ไปทำสมาธิ
ผู้ฟัง ก็ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ใช่เป็นเรื่องเสียหายอะไรใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ให้เขาเข้าใจถูกว่า นี่คือสมาธิ และก็ไม่ใช่สัมมาสมาธิ ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญาแล้วก็ไม่ใช่สัมมาสมาธิแน่นอน มิจฉาสมาธิไม่ได้มีแต่เฉพาะประเทศไทยทุกประเทศมี บางประเทศก็ยังบอกว่านั่นเป็นหนทางที่จะรู้แจ้งนิพพาน อย่างที่เร็วๆ นี้ก็มีที่ติดป้ายประกาศแล้วคนก็ตื่นเต้นไป โดยที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้นไม่มีเครื่องวัด แต่ถ้าศึกษาพระธรรมแล้วสามารถที่จะชี้แจงได้ว่า เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะอะไร ไม่ไช่กล่าวเฉยๆ ว่า เป็นมิจฉาสมาธิ แต่ต้องมีเหตุผลด้วยว่าเป็นมิจฉาสมาธิเพราะอะไร
ผู้ฟัง ผู้สอนก็จะต้องประกาศว่า สมาธิที่สอน นำไปสู่ถึงที่สุดคือความหลุดพ้น หรือนิพพานอะไรก็แล้วแต่ หรือว่าผลที่ตามมาดียังไง ไม่เห็นมีที่ไหนบอกเลยว่าเป็นมิจฉาสมาธิ ตัวเด็กเองหรือผู้ที่เข้าไปศึกษาก็ไม่มีโอกาสได้ทราบ หรือว่าผู้ปกครองที่ส่งไป ก็ไม่ได้มีความรู้พอที่จะตัดสินได้ว่าเป็นสมาธิชนิดไหน มันลำบากตรงนี้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นผู้ฟังไตร่ตรองคำที่ได้ฟัง นี้สำคัญที่สุด คือผู้ฟังมีสิทธิ์ คนที่พูดอยากจะพูดอะไรก็ได้ แต่คนฟังรู้ว่าคำพูดนั้นถูกหรือผิด คำพูดนั้นจริงหรือเท็จ ไม่ใช่หมายความว่าเมื่อเป็นผู้พูดแล้ว เราจะต้องเชื่อ ในพระพุทธศาสนาไม่มีเลย ที่จะมีการบังคับให้เชื่อ หรือบอกว่าเชื่อเพราะเป็นครู เชื่อเพราะเป็นอาจารย์ ก็ไม่ได้ แม้แต่ว่าได้ยิน ได้ฟัง มาจากพระโอษฐ์พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังไม่ต้องเชื่อ จนกว่าจะไตร่ตรองว่า คำนั้นถูกต้องเป็นความจริง เพราะฉะนั้นผู้พูด พูดไปเถอะ จะพูดยังไงก็ได้ แต่ผู้ฟังตัดสินเอง ใช่ไหม เพราะว่าผู้ฟังมีวิจารณญาณ มีเหตุผลว่า คำพูดนี้ถูก หรือว่าคำพูดนี้ผิด ถ้าอยากจะเชื่อ ไม่ไตร่ตรองก็ช่วยไม่ได้ ใช่ไหม แต่ผู้ที่แสวงหาความจริงคือสัจจธรรม ผู้นั้นไม่ต้องการของหลอก ของลวง ของเท็จ ผู้ที่แสวงหาสัจจธรรมนี้ต้องการความจริง และรู้ว่าความจริงมันต้องมีเหตุผล แล้วก็ต้องเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ และโดยเฉพาะถ้าเป็นคำของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งหมดต้องเป็นเรื่องละ ถ้าเรื่องอะไรก็ตามเพื่อได้ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปทำแล้วจะได้อะไร นั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทราบได้เลย
ละทั้งหมดตั้งแต่ฟัง ละความไม่รู้ ละความเห็นผิดความเข้าใจผิด ละความไม่มีเหตุผล ให้เข้าใจในเหตุผล ให้เข้าใจความจริงของสภาพธรรมอย่างถูกต้อง นั่นจึงจะเป็นคำสอน แต่ถ้าไปแล้วจะได้ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่
เคยมีคนที่เขาไปหาบางท่านที่ท่านก็ไขว่คว้าหาสายสร้อยนาฬิกาอะไรมาให้สารพัดอย่าง ใช่ไหม ถ้าไปถามผู้นั้นบอกว่า เราไม่ได้ต้องการเลย ไม่ว่าจะเป็นแก้วแหวนเงินทอง ไม่ได้มีความต้องการในสิ่งนั้น ขอฟังธรรมที่จะทำให้ไม่ต้องการสิ่งเหล่านั้นได้จริงๆ ให้ดับโลภะหมดเป็นสมุจเฉท ท่านผู้นั้นจะสอนได้ไหม ในเมื่อท่านคว้าอะไรต่ออะไรมาให้ ก็แสดงว่าท่านเห็นว่าคนนั้นยังมีโลภะ มีความต้องการ
แต่คนที่ต้องการปัญญาจริงๆ ไม่ได้ต้องการอะไร แม้แต่นิพพาน ก็ไม่ต้องการ ต้องการความรู้ความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะเพิ่มขึ้น จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง เรื่องนิพพานไม่ต้องห่วง ต้องถึง ถ้าเป็นผู้ที่เดินทางที่ถูก แต่ถ้าเป็นผู้ที่ต้องการนิพพาน แต่ไปผิดไม่มีความรู้อะไรเลย แล้วก็เชื่อว่าได้นิพพาน ก็เหมือนกับคนตาบอดที่ได้ผ้าดำมา และคนอื่นก็บอกว่านี้ผ้าขาว คนนั้นก็ปลาบปลื้มใจคิดว่าตัวเองได้ผ้าขาวมาแล้ว แต่ความจริงก็คือผ้าดำ เพราะว่าตาเขาไม่สามารถที่จะเห็นได้ แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเหมือนรักษาคนตาบอดให้มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ตามความเป็นจริง ด้วยตัวของตัวเอง อย่าคิดว่าคนที่พูด คนอื่นจะเชื่อ คนฟังมีสิทธิ์ที่จะพิจารณาว่าถูกหรือผิด ไม่จำเป็นต้องเชื่อ สามารถที่จะแสดงความคิดเห็น หรือว่าการขัดแย้งก็ได้ ถ้าไม่เห็นด้วย ใช่ไหม แต่ผลก็คือว่าถ้าสิ่งใดผิด ต้องยอมรับว่าผิด ถ้าสิ่งใดถูกก็ยอมรับว่าถูก การสนทนาธรรมนั้นจึงจะมีประโยชน์ พระเถระท่านหนึ่ง ก่อนที่ท่านจะแสดงธรรมท่านกล่าวเลยว่า เมื่อฟังแล้ว ก็ขอให้มีเหตุผล หมายความว่า ถ้าไม่เห็นด้วยก็ให้บอก แล้วก็ถ้าพิจารณาแล้ว จึงสมควรที่จะเห็นด้วยหรือเห็นว่าถูก
ผู้ฟัง อยากจะเรียนถามอาจารย์ว่า การทำสมาธิหรือการนั่งปฏิบัติ คือฝึกสมาธิคือนั่งหลับตาคือนั่งเจริญภาวนา จะได้กุศลแรง ก่อนที่จะนั่งสมาธิหรือจะฝึกสมาธิ ก่อนจะนั่งภาวนา หรือพูดง่ายๆ ว่ากล่าวคำว่า พุทโธ พุทโธ หลับตาแล้วก็ควรที่จะต้องถือศีล คือจะต้องรักษาศีลมาก่อน ถือศีลห้า ปฏิบัติโดยเคร่ง ศีลห้า หรือศีลแปดก็ตาม เพราะฉะนั้น ศีลนี้ก็จะเป็นการดับกิเลสเบื้องต้นก่อนที่จะมาทำสมาธิ เพราะฉะนั้นโดยเหตุผลอันนี้ ก็น่าจะมีเหตุว่าการทำสมาธิน่าจะเป็นกุศล ขอเรียนถามอาจารย์
ท่านอาจารย์ ตอนแรกที่ได้ฟังได้ฟังว่าการทำสมาธินี้จะได้กุศลแรง ใช่ไหม เรื่องเอา ใช่ไหม เรื่องได้ ใช่ไหม ไม่ใช่เรื่องละเลย เพราะฉะนั้นกุศลเขาเป็นเรื่องละ เขาไม่ใช่เรื่องได้ นี่ก็ต่างกันแล้ว กุศลคือขณะใดที่ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ จึงเป็นกุศล แต่ขณะใดที่ต้องการ ขณะนั้นจะไม่ใช่กุศลเลย นี้เป็นเรื่องละเอียดที่ต้องแยก แม้แต่ในขั้นของการฟัง ลักษณะของโลภะความติดข้องต้องการไปหมดทุกอย่าง ต้องการแม้กุศล ถ้าถามใครๆ ดู จะบอกว่าอยากได้กุศล หรือจะพูดอีกแบบหนึ่งก็คือ อยากได้บุญ ทำไมเอาของไปถวายพระ ก็อยากได้บุญ อะไรๆ ก็อยากได้บุญ โดยที่ไม่ทราบ จนกระทั่งถามว่า ทำอย่างนี้เป็นบุญไหม คือไม่รู้จักบุญ แต่อยากได้บุญ และคิดว่าที่ทำไปนั้นเป็นบุญ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความละเอียดที่จะต้องสะสางตั้งแต่ขั้นต้น ให้เข้าใจจริงๆ ว่า บุญคือจิตที่ดีงาม จิตที่ดีงามก็คือขณะที่ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีอกุศลใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ ทุกอย่างหมด ขณะใดที่จิตใจสะอาดประกอบด้วยสภาพจิตที่ดี ขณะนั้นถึงจะเป็นกุศลหรือเป็นบุญ เพราะฉะนั้นถ้ามีการอยากได้ ขณะที่อยากได้ สภาพที่กำลังอยากได้ ไม่ใช่บุญ เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่าได้บุญ จะได้บุญแล้วก็ทำเพราะต้องการได้บุญ ขณะนั้นเป็นอกุศลแน่นอน จะเป็นบุญไปไม่ได้ และอีกอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า ทำสมาธิแล้วจะได้บุญ ถ้ายังไม่รู้ว่าบุญคือขณะไหน จะไม่รู้เลย ก็ยังคงเป็นโมหะ ในวิสุทธิมรรค มีการอบรมเจริญภาวนา แล้วก็มีอารมณ์ของสมถภาวนา ๔๐ อย่าง เริ่มต้นด้วย กสิณ คือการที่เอาดินมาทำเป็นวงกลม และก็เพ่งดูเพื่อที่จะให้จิตสงบ คนที่อ่านวิสุทธิมรรค ทำตามนั้น แต่ผลก็คือว่า ไม่มีปัญญา หรือไม่มีความเข้าใจ ไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ว่าจิตขณะที่สงบต่างกับขณะที่ไม่สงบอย่างไร ในขณะนี้ เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับสลับเร็วมาก จนยากที่จะรู้ได้ว่า จิตที่สงบนั้นต่างกับจิตที่ไม่สงบ ขั้นนี้ต้องมีก่อนในการทำสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ แต่ถ้าไม่มีการระลึกรู้สภาพของจิตเลย ไม่มีความต่างกันเลย มีแต่ความต้องการเหมือนเดิม เพียงแต่ย้ายสิ่งที่ถูกต้องการเท่านั้นเอง ก่อนจะทำสมาธิก็อาจจะต้องการอาหารอร่อย ต้องการเสียงเพราะๆ ต้องการฟังเพลง นั่นคือก่อนสมาธิ แต่พอทำสมาธิก็ไม่ต้องการรูป ไม่ต้องการเสียง ไม่ต้องการกลิ่น ไม่ต้องการรส แต่ต้องการใจสบายๆ ที่ไม่กังวล ไม่เดือดร้อน ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เหน็ดเหนื่อย ไม่คิดมาก ไม่ห่วงใย ก็เลยคิดว่าขณะนั้นเป็นกุศล แต่ความจริงขณะที่กำลังพอใจสิ่งใดก็ตาม ขณะนั้นเป็นอกุศล เป็นความติดข้อง เป็นลักษณะของโลภะ เพราะฉะนั้นจึงต้องศึกษาอย่างละเอียดในความต่างกันของอกุศลจิตกับกุศลจิต และอย่าเป็นผู้ที่เชื่อง่าย แต่ว่าเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ ซึ่งสัมปชัญญะที่นี่ ก็คือปัญญา ต้องมีปัญญาพร้อมสติที่จะรู้ลักษณะของจิตซึ่งกำลังเกิดดับเป็นอยู่ในขณะนี้ ทุกคนบอกว่า รู้จักใจของคนอื่น เหมือนกันรู้จักใจเขาจริงๆ เพียงแต่ว่าสังเกตดูจากอาการกิริยาภายนอก ใจของตัวเองก็ยังไม่รู้ แล้วจะไปรู้ใจของคนอื่น คิดดูสิ ว่าไกลไหม หรือว่าบางคนอาจจะชินต่อการเดา เป็นนักเดา นักวิพากษ์วิจารณ์ บอกได้เลยว่า จิตคนนี้เป็นอย่างงี้อย่างงั้น พูดอย่างนี้ใจเขาเป็นอย่างนี้อย่างนั้น แต่ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่เจริญสติระลึกรู้จิตของตนเองก่อน ไม่สามารถที่จะรู้ความละเอียดของจิตของคนอื่นได้ว่า กาย หรือวาจาที่กล่าวออกไปนั้นด้วยจิตประเภทใด แต่เพราะเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะรู้สภาพจิตของตนเอง สามารถที่จะรู้ได้ว่าการเคลื่อนไหวทำอย่างนี้เป็นเพราะอกุศลจิต หรือว่าการเคลื่อนไหวกระทำอีกอย่างหนึ่งเป็นเพราะกุศลจิต ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะ เพียงเรียนจากตำราว่า ถ้าฟังธรรมก็เป็นกุศล พระสวดมนต์ก็เป็นกุศล แต่ลองคิดจริงๆ ว่า เวลาสวดมนต์บางทีก็ง่วง บางทีก็สวดเร็วๆ ให้จบ บางทีเสียงอื่นก็ดังแทรกมา แล้วตกใจ ขณะที่ตกใจก็จะเป็นกุศลได้ยังไง ก็ไม่เป็น เพราะฉะนั้นในการกระทำแต่ละอย่างจะมีจิตหลายประเภทที่เกิดดับสลับกัน ผู้ที่จะอบรมเจริญกุศลขั้นความสงบของจิตที่จะให้จิตตั้งมั่นคงเป็นสมาธิ ต้องมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ว่า ลักษณะของกุศลจิตต่างกับอกุศลจิต แล้วก็เจริญกุศลยิ่งขึ้น จิตสงบยิ่งขึ้น อย่างนั้นจึงจะเป็นกุศล แต่ถ้าไม่ใช่โดยลักษณะนี้ เพียงแต่จะทำสมาธิแล้วล่ะก็เป็นมิจฉาสมาธิแน่นอน ไม่ใช่สัมมาสมาธิ เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องศีลเรื่องอะไรเลย เพราะเหตุว่าเป็นไปด้วยความไม่รู้ทั้งหมด
และก็จริงๆ แล้ว ขณะนี้ ถ้าย้อนไปถึงสมัย ๒,๕๐๐ กว่าปี สมมติว่าเป็นที่พระวิหารแห่งหนึ่งแห่งใด คนที่ไปฟังพระธรรม ก็ยังมีโลภะ โทสะ โมหะ เหมือนกับคนยุคนี้สมัยนี้ แต่ว่าในขณะที่ฟัง มีการสะสมมาที่จะเข้าใจสิ่งที่พระผู้มีพระภาคตรัส และก็พิจารณารู้ความจริงในขณะนั้นได้ จิตในขณะนั้นสงบ ประกอบพร้อมทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ไม่จำเป็นต้องไปรักษาศีลมาก่อนซึ่งเมื่อไหร่จะได้ศีลครบก็ไม่ทราบ ไม่จำเป็นที่จะต้องไปทำอย่างอื่นมาก่อน แต่ในขณะนั้นเองเพราะมีความเข้าใจ ขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นมีสมาธิด้วย ไม่ต้องไปทำสมาธิอื่นต่างหาก เพราะฉะนั้นจะเอาสมาธิที่ไม่มีความเข้าใจ หรือว่าจะเข้าใจ เพราะเหตุว่าในขณะนั้นก็มีสมาธิด้วย โดยที่ว่าไม่ใช่เราต้องไปทำ แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกันอยู่เอง เพราะว่าถ้าไม่มีสมาธิ ไม่เข้าใจ ไม่พิจารณา ไม่ตั้งใจฟัง ปัญญาก็เกิดไม่ได้ แต่เวลาที่มีปัญญาก็หมายความว่า ขณะนั้นต้องมีความสงบของจิตใจแล้ว ขณะที่เข้าใจ ขณะนั้นสงบจากอกุศล
ผู้ฟัง คำถามต่อเนื่อง คือหนูคิดว่าการที่หนูทำทานให้กับคนที่เขาตาบอด อาจจะทำให้ชาติหน้าภพหน้าหนูมีสายตาที่เป็นปกติ ไม่ทราบว่าเป็นอกุศลจิตหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ต้องแยกกัน ต้องรู้ว่าที่เราให้เขา เราหวังอะไรหรือเปล่า เวลาให้ เราหวังอะไรหรือเปล่า
ผู้ฟัง มันก็ไม่เชิงหวัง เป็นแต่เพียงว่าเราคิดว่า เราอาจจะสายตาดีได้บ้าง
ท่านอาจารย์ คิดทีหลังให้ คิดก่อนให้ หรือว่าคิดกำลังให้
ผู้ฟัง คิดก่อนให้
ท่านอาจารย์ คิดก่อนให้ เป็นเหตุที่ให้ ใช่ไหม
ผู้ฟัง ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ ก็คิดก่อนไง เพราะฉะนั้นถามว่า คิดอย่างนี้ ก่อนให้ หรือว่ากำลังให้ หรือว่าหลังจากที่ให้แล้ว
ผู้ฟัง จะเป็นการคิดก่อนให้ แต่ไม่ได้หวังว่ามันจะเกิดจริงๆ เพียงแต่ว่าเป็นการคาดคะเน หรือว่าเหมือนกับเป็นสิ่งที่เราไม่อาจจะล่วงรู้ได้ แบบนั้น
ท่านอาจารย์ แล้วหวังบ้างไหม