แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 236


สำหรับผู้ที่ได้เจริญสมถภาวนา จนกระทั่งจิตถึงขั้นอัปปนาสมาธิเป็นรูปฌานกุศล และเวลาที่ก่อนจะจุติกุศลนั้นไม่เสื่อม ก็เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิด้วยรูปาวจรวิบากจิตในรูปพรหมภูมิ แต่ว่ารูปพรหมนั้นมีถึง ๑๖ ภูมิ ถึงแม้ว่ารูปาวจรฌาน หรือว่า รูปฌานกุศลนั้นมีเพียง ๕ ดวง

สำหรับอกุศล มีปฏิสนธิจิตเพียงดวงเดียวในอบายภูมิ ๔

สำหรับกามาวจรกุศล มีปฏิสนธิได้ถึง ๙ ดวง ในมนุษย์ ๑ และในสวรรค์ ๖ ถ้าเป็นกุศลขั้นอ่อนก็ทำให้ปฏิสนธิในมนุษย์ แต่ว่าเป็นผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด และในสวรรค์ชั้นต้น คือ จาตุมหาราชิกา ถ้าไม่ใช่ผลของกุศลขั้นอ่อน ก็ทำให้ปฏิสนธิเป็นผู้ที่ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด และถ้าเป็นผลที่ประกอบด้วยปัญญาที่ได้อบรมมา ปฏิสนธิจิตนั้นก็ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งสามารถที่จะอบรมเจริญให้เพิ่มพูนปัญญาและกุศลมากยิ่งขึ้นได้

สำหรับรูปาวจรกุศล ทำให้รูปาวจรวิบากปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิ ซึ่งสามารถทำให้ปฏิสนธิได้ถึง ๑๖ ภูมิ

สำหรับผลของอรูปาวจรกุศล คือ อรูปฌาน ผู้ที่เจริญสมถภาวนาจนกระทั่งจิตเป็นอัปปนาสมาธิถึงขั้นอรูปฌาน เวลาที่ปฏิสนธิ ไม่มีรูปเกิดร่วมด้วยเลย มีแต่เฉพาะนามธรรมเท่านั้นที่เกิดตามสมควรแก่ภูมินั้นๆ

และขอให้ทราบว่า จิตที่ทำกิจปฏิสนธิทั้งหมดนั้นเป็นวิบากจิต

กิจที่ ๒ คือ ภวังคกิจ เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมทำให้วิบากจิตทำกิจสืบต่อดำรงภพชาติเป็นภวังคจิต ในขณะนั้นไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการรู้รส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ไม่มีการนึกคิดใดๆ ทั้งสิ้น แต่ว่าขณะนั้นมีจิต ไม่ใช่คนตาย เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นจิตทำภวังคกิจ สืบต่อภพชาติไว้ นี่คือ กิจที่ ๒

สำหรับกิจที่ ๓ คือ อาวัชชนกิจ ก่อนที่ท่านจะมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หรือว่าการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ทางใจ จิตจะต้องไม่เป็นภวังค์ ถ้าอารมณ์นั้นเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่กระทบ จริงๆ เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง

ถ้าเป็นสีก็กระทบจักขุปสาท ถ้าเป็นเสียงก็กระทบกับโสตปสาท เป็นกลิ่นก็กระทบกับฆานปสาท เป็นรสก็กระทบกับชิวหาปสาท เป็นโผฏฐัพพะ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ก็กระทบกายปสาท

เมื่อมีการกระทบจริงๆ อย่างนี้เป็นปัจจัย อาวัชชนจิต คือ จิตที่รำพึงถึงลักษณะ รู้ลักษณะของอารมณ์ที่กระทบทางทวารทั้ง ๕ ก็เกิดขึ้น

จิตดวงนี้เป็นกิริยาจิต ไม่ใช่เป็นวิบากจิต ทำกิจรำพึง คือ รู้ลักษณะของอารมณ์ที่กระทบปสาททั้ง ๕ เพราะฉะนั้น จิตดวงนี้ชื่อว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต

ทุกครั้งที่รูปกระทบตา ให้ทราบว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนการเห็น

ทุกครั้งที่เสียงกระทบหู ให้ทราบว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนการได้ยิน

ทุกครั้งที่กลิ่นกระทบจมูก ให้ทราบว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนการรู้กลิ่น

ทุกครั้งที่รับประทานอาหาร รสกระทบลิ้น ให้ทราบว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนจิตที่รู้รส เกิดก่อนชิวหาวิญญาณ

ทุกครั้งที่มีการรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ให้ทราบว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อนจิตที่รู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหวที่กระทบสัมผัสกาย

การเจริญสติปัฏฐานไม่ได้หมายความว่า ให้ทุกท่านพยายามรู้สภาพธรรมที่ไม่ปรากฏ แต่ว่าสภาพธรรมใดที่มีลักษณะปรากฏ ผู้เจริญปัญญา ผู้เจริญสติระลึกรู้ในลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม

ที่ใช้คำว่า ระลึกรู้ หมายความว่า ขณะนั้นไม่หลงลืม เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการเห็น มีสีที่เป็นรูปปรากฏทางตา มีสภาพธรรมที่กำลังรู้สี คือ เห็น เป็นนามธรรม สติ คือ การระลึกได้ ไม่หลงลืมไป รู้ว่า ขณะที่เห็นนี้เป็นสภาพรู้ลักษณะหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าให้ท่านไปรู้ปัญจทวาราวัชชนจิต แต่ว่าโดยการศึกษาของปริยัติธรรม พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียดเพื่อให้เข้าใจว่า วิถีจิตที่จะเกิดรู้อารมณ์แต่ละขณะแต่ละครั้งนั้น ต้องเป็นไปตามลำดับ ตามสภาพของความเป็นอนัตตาซึ่งเกิดสืบต่อกัน และทำกิจสืบต่อกันแต่ละขณะ แต่การที่ท่านจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ก็รู้เท่าที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ แต่โดยการฟัง ฟังเพื่อให้จิตน้อมไปที่จะไม่ยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

สำหรับจิตที่ทำอาวัชชนกิจ มี ๒ ดวง เป็นกิริยาจิตทั้ง ๒ ดวง

ดวงหนึ่งคือ ปัญจทวาราวัชชนจิต รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

อีกดวงหนึ่ง คือ มโนทวาราวัชชนจิต จิตดวงนี้รำพึงถึงอารมณ์ต่างๆ เวลาที่คิดนึก ไม่เห็น ไม่ได้ยิน คิดนึกได้ ไม่ใช่มีตัวตนที่ตั้งใจจะคิด แต่ว่าขณะที่ความคิดเรื่องหนึ่งเรื่องใดจะเกิดปรากฏขึ้น ก็เพราะมโนทวาราวัชชนจิต คือ จิตที่ทำอาวัชชนกิจ รำพึงถึงอารมณ์ต่างๆ มีการระลึกจดจำถึงสิ่งที่เกิดขึ้น หรือว่าน้อมระลึกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า จิตดวงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเสียงกระทบกับโสตปสาท ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะกลิ่นกระทบกับฆานปสาท เพราะเหตุว่าถ้ากลิ่นกระทบกับฆานปสาทแล้ว เป็นปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน ไม่ใช่มโนทวาราวัชชนจิต

เวลาที่ท่านผู้ฟังมีความรู้สึกว่า มีความสามารถจะทำดีก็ได้ จะทำชั่วก็ได้ เป็นตัวท่านจริงๆ ที่ท่านเลือก แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่มีสักขณะเดียวซึ่งเป็นตัวตน แม้ขณะนั้นก็คือ มโนทวาราวัชชนจิตที่ทำกิจมนสิการ รำพึง ระลึกไปในเรื่องในอารมณ์อย่างนั้น แต่เพราะความไม่รู้ ก็เลยเป็นตัวท่านที่ท่านคิดว่า ท่านเลือกทำดีก็ได้ ท่านเลือกทำชั่วก็ได้ เป็นตัวท่านซึ่งเป็นผู้เลือก แต่ความจริงแล้ว จิตทุกดวงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา

ขอทบทวน

กิจที่ ๑ คือ ปฏิสนธิกิจ

กิจที่ ๒ คือ ภวังคกิจ

กิจที่ ๓ ก่อนเห็น ก่อนได้ยิน ก่อนได้กลิ่น ก่อนรู้รส ก่อนรู้โผฏฐัพพะ มีอาวัชชนกิจ ซึ่งจิตดวงที่รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบปสาททั้ง ๕ ชื่อว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต

เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว

จิตเห็น ทำทัสสนกิจ เป็นกิจที่ ๔

จิตได้ยิน ทำสวนกิจ เป็นกิจที่ ๕

จิตรู้กลิ่น ได้กลิ่น ทำฆายนกิจ เป็นกิจที่ ๖

จิตที่รู้รสที่ปรากฏทางลิ้น ทำสายนกิจ เป็นกิจที่ ๗

จิตที่รู้สิ่งที่กระทบทางกาย ทำผุสสนกิจ เป็นกิจที่ ๘ คือ กระทำกิจรู้อารมณ์ที่กระทบทางกาย ไม่ว่าจะเป็นเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว

เปลี่ยนหน้าที่กันไม่ได้ จะให้จักขุวิญญาณรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็งไม่ได้ เพราะเหตุว่าจักขุวิญญาณเกิดเพราะรูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาท ทำให้เกิดการรู้สีที่จักขุปสาทแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น จะให้จักขุวิญญาณมารู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ซึ่งกระทบสัมผัสกายปสาทไม่ได้ นี่เป็นเรื่องของกิจของจิต ซึ่งทุกท่านที่เกิดมาแล้วก็มีจิตแต่ละประเภททำกิจเหล่านี้ แต่เมื่อไม่ทราบสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

สำหรับกิจทั้ง ๕ ทางตา คือ ทัสสนกิจ ทางหู คือ สวนกิจ ทางจมูก คือ ฆายนกิจ ทางลิ้น คือ สายนกิจ ทางกาย คือ ผุสสนกิจ เมื่อดับไปแล้ว จิตดวงต่อไปที่เกิดขึ้นรับอารมณ์นั้นต่อ คือ สัมปฏิจฉันนจิต จิตที่ทำกิจนี้เป็นวิบากจิต ห้ามได้ไหมว่า ไม่ให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิด ไม่ได้เลย นี่เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันตามเหตุปัจจัย เมื่อกรรมทำให้เห็นดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ทำให้ได้ยินเสียงดีบ้าง ไม่ดีบ้าง มีจมูกทำให้ได้กลิ่นดีบ้าง ไม่ดีบ้าง มีลิ้นทำให้รู้รสดีบ้าง ไม่ดีบ้าง มีกายทำให้รับกระทบโผฏฐัพพะดีบ้าง ไม่ดีบ้างแล้ว กรรมยังทำให้สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นรับอารมณ์นั้นต่อ ซึ่งจิตที่ทำสัมปฏิจฉันนกิจนี้มี ๒ ดวง ถ้าเป็นอารมณ์ที่ดี ก็เป็นกุศลวิบากสัมปฏิจฉันนะ ถ้าเป็นอารมณ์ที่ไม่ดี ก็เป็นอกุศลวิบากสัมปฏิจฉันนะ เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว กรรมยังทำให้สันตีรณจิตเกิดต่อ พิจารณาอารมณ์ต่อจากสัมปฏิจฉันนะ

นี่คือวิถีจิต ซึ่งเวลาที่มีการเห็น การได้ยินแต่ละครั้ง เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ทำให้วิบากจิตเหล่านี้เกิดขึ้น

สัมปฏิจฉันนจิต ทำสัมปฏิจฉันนกิจ เป็นกิจที่ ๙

สันตีรณจิต ทำสันตีรณกิจ เป็นกิจที่ ๑๐

เหลืออีก ๔ กิจ เมื่อสันตีรณจิตดับไปแล้ว จิตที่มนสิการอารมณ์ที่ปรากฏ ถ้าเป็นอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ทำโวฏฐัพพนกิจ มนสิการเพื่อกุศลจิตจะเกิด หรืออกุศลจิตจะเกิด เวลาที่มีการเห็นแล้ว สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ที่จะยับยั้งไม่ให้เกิดโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิตนั้นไม่ได้เมื่อมีปัจจัย

ถ้าเป็นปัจจัยของโลภมูลจิตที่จะเกิดยินดีพอใจในสี ในเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น โลภมูลจิตก็เกิด ถ้ามีปัจจัยที่จะให้โทสมูลจิตเกิดในสี ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะนั้น โทสมูลจิตก็เกิดตามเหตุตามปัจจัย หรือแม้ไม่เป็นโลภมูลจิต ไม่เป็นโทสมูลจิต ผู้ที่ไม่รู้สภาพความจริงของสี ของเสียง ของกลิ่น ของรส ของโผฏฐัพพะ ก็เป็นโมหมูลจิต เป็นอกุศลจิต เป็นกระแสของอกุศล สำหรับผู้ที่สะสมมาที่จะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ โวฏฐัพพนจิตเป็นจิตที่มนสิการ และอกุศลจิตก็เกิด

แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญาสะสมกุศลมามาก ถึงแม้เห็นสิ่งที่ไม่ดีหรือสิ่งที่ดี ได้ลิ้มรสที่ดีหรือรสที่ไม่ดี ได้สัมผัสโผฏฐัพพะที่ดีหรือที่ไม่ดีก็ตาม การที่อบรมเจริญกุศลเจริญปัญญามา ทำให้จิตมนสิการเพื่อกุศลจิตจะเกิดต่อไป

กิจนี้ทางปัญจทวารชื่อว่า โวฏฐัพพนกิจ เป็นกิจที่ ๑๑

เพราะฉะนั้น การที่ผู้หนึ่งผู้ใดเห็นสิ่งเดียวกับผู้อื่น แต่จิตของ ๒ บุคคลนี้ต่างกัน คือ บุคคลหนึ่งเป็นกุศล อีกบุคคลหนึ่งเป็นอกุศล ไม่ใช่เพราะตัวตนที่ไปบังคับ ไปคิด ไปพิจารณา แต่เป็นเพราะจิตที่เกิดขึ้นทำกิจโวฏฐัพพนะ มนสิการด้วยความแยบคายหรือไม่แยบคาย และก็ดับไป

สำหรับจิตที่ทำกิจนี้มีดวงเดียว คือ มโนทวาราวัชชนจิตนั่นเอง แต่เมื่อกระทำกิจมนสิการอารมณ์ต่อจากสันตีรณจิตนั้น ทำโวฏฐัพพนกิจ เป็นกิริยาจิต ไม่ใช่วิบากจิต เพราะฉะนั้น การที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะเกิดอกุศลจิต ไม่ใช่เป็นวิบาก อย่าโทษว่าเป็นผลของกรรม เป็นวิบาก เพราะเหตุว่ามโนทวาราวัชชนจิตที่ทำโวฏฐัพพนกิจนี้ เป็นกิริยาจิต ไม่ใช่เป็นวิบากจิต

ที่ว่าเป็นกิริยาจิต เพราะไม่ใช่ผลของกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม

การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสนั้น ท่านหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วแต่ว่าท่านจะเกิดภพไหน ภูมิไหน ที่ใด วันใด กระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ดี วันใด ขณะใด กระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ไม่ดี นั่นเป็นผลของกรรม แต่การที่จะมนสิการเป็นกุศลหรืออกุศลนั้นไม่ใช่ผลของกรรม ถ้าท่านเป็นผู้ที่สะสมสติปัญญา สะสมกุศลมามาก มโนทวาราวัชชนจิตก็กระทำโวฏฐัพพนกิจ มนสิการให้เป็นกุศลได้ แต่ถ้าท่านสะสมอกุศลไว้มาก ที่เกิดอกุศลจิตนั้นก็เพราะมโนทวาราวัชชนจิตทำโวฏฐัพพนกิจ มนสิการอารมณ์ที่ปรากฏ และจิตของบุคคลนั้นก็เป็นอกุศล นี่คือกิจที่ ๑๑

เมื่อจิตที่ทำโวฏฐัพพนกิจดับไปแล้ว จิตต่อไปกระทำชวนกิจ คือ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แล่นไปในอารมณ์ เพราะเหตุว่าเห็นแล้ว รับไว้แล้ว พิจารณาแล้ว มนสิการแล้ว เพราะฉะนั้น ต่อจากนั้น เป็นการแล่นไปในอารมณ์ด้วยความพอใจเป็น โลภมูลจิต ๘ ดวง หรือว่าโทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง หรือว่าเป็นมหากุศลจิต ๘ ดวง กระทำชวนกิจ เป็นกิจที่ ๑๒

เหลืออีกเพียง ๒ กิจ

ถ้าเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เห็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย กระทบจริงๆ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นมีอายุมากกว่าจิต เพราะฉะนั้น เมื่อรูปนั้นกระทบกับจักขุปสาทก็ดี หรือว่าเป็นเสียงที่กระทบโสตปสาท เป็นกลิ่นที่กระทบกับฆานปสาท เป็นรสที่กระทบชิวหาปสาท เป็นโผฏฐัพพะที่กระทบกายปสาท จิตเกิดขึ้นเป็นอตีตภวังค์ถูกกระทบแล้วก็ดับไป เป็นภวังคจลนะแล้วก็ดับไป เป็นภวังคุปัจเฉทะแล้วก็ดับไป เป็นปัญจทวาราวัชชนะแล้วก็ดับไป เป็นจิตเห็น หรือ ได้ยินก็ตามแต่แล้วก็ดับไป เป็นสัมปฏิจฉันนะรับไว้แล้วก็ดับไป เป็นสันตีรณะ พิจารณาแล้วก็ดับไป เป็นโวฏฐัพพนะ มนสิการแล้วก็ดับไป เป็นโลภมูลจิต ๗ ครั้ง ๗ ขณะ หรือเป็นโทสมูลจิต ๗ ขณะ หรือเป็นโมหมูลจิต ๗ ขณะ หรือเป็น มหากุศล ๗ ขณะแล้วก็ดับไป

รูปยังไม่ดับ ยังเหลืออีก ๒ ขณะของจิต

สำหรับผู้ที่เกิดในกามภูมิเป็นกามบุคคล เมื่อรูปยังไม่ดับ กรรมทำให้จิตซึ่งเป็นวิบากเกิดรู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับนั้นต่อไปอีก ๒ ขณะ จิตที่ทำกิจนั้นชื่อว่า ตทาลัมพนะ คือ เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น ซึ่งเป็นอารมณ์เดียวกับชวนจิต นี่คือเรื่องของกรรมที่จะทำให้จิตดวงใดเกิดขึ้นในขณะไหน กระทำกิจอะไร กิจนี้เป็นกิจที่ ๑๓ เฉพาะเวลาที่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เป็นกามอารมณ์ปรากฏ กิจนี้คือ ตทาลัมพนกิจ เป็นกิจที่ ๑๓

กิจสุดท้าย คือ กิจที่ ๑๔ จุติกิจ เมื่อมีปฏิสนธิแล้ว ที่จะไม่มีจุตินั้น ไม่มี เพียงแต่ว่าจะเป็นเมื่อไร ขณะไหนเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ระหว่างที่ปฏิสนธิแล้วยังไม่จุติ ก็มีจิตเกิดขึ้น ทำกิจเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ตามกระแส ตามวิถีของจิต

ที่กล่าวถึงเรื่องกิจของจิต ก็เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้ทราบโดยย่อๆ ว่า จิตดวงใดทำให้เกิดอิริยาบถ จิตดวงใดอุดหนุนอุปถัมภ์อิริยาบถ จิตดวงใดทำให้เกิดวิญญัติ หรือว่าจิตดวงใดไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูปเลย

บางท่านเข้าใจว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นให้รู้เฉพาะจิตตชรูปเท่านั้น แต่ไม่มีกล่าวไว้ในที่ใดว่าให้รู้เฉพาะจิตตชรูป เพราะเหตุว่ากำลังนั่งในขณะนี้ รูปที่เกิดเพราะกรรมก็มี ที่เกิดเพราะจิตก็มี ที่เกิดเพราะอุตุความเย็นความร้อนก็มี ที่เกิดเพราะอาหารก็มี ตลอดทั่วทั้งกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้ามีรูปที่เกิดเพราะสมุฏฐาน ๔ ใครสามารถจะแยกออกมาได้ ในส่วนของกลาป คือ กลุ่มของรูปที่เกิดเพราะกรรม กลุ่มของรูปที่เกิดเพราะจิต กลุ่มของรูปที่เกิดเพราะอุตุ กลุ่มของรูปที่เกิดเพราะอาหาร

ถ้าจะยิ้ม ไม่มีรูปที่เกิดเพราะกรรมจะยิ้มได้ไหม ไม่มีกาย อะไรยิ้ม จะแยกรูปที่เกิดเพราะจิตออกเพียงรูปเดียวได้อย่างไร ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะพูด จะนิ่ง จะคิด จะเคลื่อนไหว จะเหยียด จะคู้ ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถแยกจิตตชรูปมารู้ เพราะเหตุว่ารูปทั่วทั้งกายเกิดเพราะกรรม เกิดเพราะจิต เกิดเพราะอุตุ เกิดเพราะอาหาร ขณะที่กำลังเดิน ไม่มีรูปที่เกิดเพราะกรรม เดินได้ไหม ไม่ได้ ไม่มีรูปที่เกิดเพราะอาหาร หรือเพราะอุตุ ก็เดินไม่ได้


หมายเลข  6021
ปรับปรุง  24 มิ.ย. 2566