ปกิณณกธรรม ตอนที่ 14


ตอนที่ ๑๔


ผู้ฟัง เราควรจะทำตัวอย่างไร ในการปฏิบัติอย่างไร ถึงจะมาถึงจุดของการที่จะมีสติ ถึงจิต สภาพจิต

ท่านอาจารย์ ยอมรับว่า เป็นเรื่องของปัญญาหรือเปล่า ถ้าไม่มีปัญญาแล้วเรื่องทั้งหมดก็เป็นอันว่า ไม่มีทางตั้งต้นใช่ไหม

ผู้ฟัง แสดงว่า พื้นฐานต้องมาจากปัญญาก่อน

ท่านอาจารย์ ต้องมีปัญญา ความรู้ และโดยมากบางคนก็มาถาม ทำยังไงถึงจะไม่โกรธ ว่าทำยังไงถึงจะเป็นอย่างนั้น จะทำยังไง คือเป็นเรื่องแต่จะทำทั้งหมด คล้ายๆ กับมาขอวิธีทำ แต่ถ้าบอกวิธี เขาจะบอกทันทีว่า เขาทำไม่ได้ เพราะอะไร จะบอกว่าขอให้ศึกษาพระธรรม เท่านี้ คอยไม่ได้ ทนไม่ได้ จะเอาเดี๋ยวนี้ จะเอาวิธี แต่วิธีจริงๆ คือต้องศึกษาพระธรรม ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้มีปัญญาเกิดขึ้น ถ้าบอกวิธีแล้วทำไมไม่ทำ คือวิธีก็คือ ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น แต่เขาไม่ต้องการวิธีอย่างนี้ คือคนเรายุคนี้ สมัยนี้จะปฏิเสธการศึกษา ต้องการอย่างเดียวคือทำ แต่ถ้าเป็นอย่างนั้น คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่มีประโยชน์เลยใน ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดงหลังจากการตรัสรู้ เพราะว่า ไม่ได้ให้คนอื่นทำแต่ว่า ทรงแสดงพระธรรมให้เกิดความเข้าใจ คนในสมัยโน้นเมื่อฟังพระธรรมแล้วชื่นชมในพระภาษิต ซึ่งเขาไม่มีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟัง ถ้าบุคคลที่พูดนั้นไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็พูดเรื่องของธรรมดา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลภ โกรธ หลง แต่พูดเรื่องจริง เรื่องสิ่งที่มีจริง ให้เขาเข้าใจในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ในเรื่องของการที่จะต้องมีความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นเพิ่มขึ้น แต่ถ้ามีใครบอกให้ทำ รู้สึกจะชอบ และคิดว่า จะทำได้ แต่ความจริง ไม่มีทาง เพราะเหตุว่า ตราบใดที่ยังเป็นเราจะต้องมี ความทุกข์ซึ่งเกิดเพราะการยึดถือในความเป็นเรา แต่ถ้ารู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเกิดตามเหตุ ตามปัจจัย ไม่อยากจะป่วยไข้ แต่ก็มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดป่วยไข้ขึ้นก็เป็นของธรรมดา ทำไมคนอื่นป่วยได้เราจะป่วยไม่ได้ ในเมื่อเราก็มีร่างกาย มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย เหมือนกัน แต่เมื่อถึงคราวหรือถึงเวลาของใครจะเป็นอย่างไรตามเหตุ ก็ต้องเป็นอย่างนั้น เท่านั้นเอง ทุกคนมีสุข มีทุกข์ สลับกันไป เขาทุกข์ได้ เราก็ทุกข์ได้ เขาสุขได้ เราก็สุขได้ เพียงแต่เหตุปัจจัยที่จะเกิดทุกข์สำหรับเรายังไม่มี สำหรับเขายังไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดสุข แต่เขาก็ต้องมี คนเราจะมีสิ่งที่ไม่เกิดดับไม่ได้ ไม่มีอะไรที่เที่ยงที่ยั่งยืน มีใครบ้างที่เกิดมาแล้วไม่ตาย และมีใครบ้างที่รู้ว่า กำลังตายอยู่ทุกขณะ เพราะฉะนั้นความตายก็เป็นของธรรมดามากยิ่งขึ้น ถ้าเรารู้ถึงการเกิดดับของจิตแต่ละขณะ เพราะเหตุว่า ชีวิตเราที่เรารู้ว่า แม้อายุยืนยาวมาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ และจะต่อไปอีกกี่ปี แท้ที่จริงแล้วที่เรียกว่า เรายังมีชีวิตอยู่ก็เมื่อจิตเกิดขึ้นเท่านั้นเอง ถ้าจิตดับแล้วไม่เกิดอีกนั่นคือตาย เพราะฉะนั้นที่เรามีชีวิตอยู่โดยที่มีจิตเกิด และดับ และเกิดขึ้นอีก และดับเพราะว่า ยังไม่ถึงคราวที่จะจากโลกนี้ ก็มีปัจจัยที่จิตเมื่อวานนี้ก็ดับไปหมดแต่จิตวันนี้ก็มี จิตวันนี้ดับจิตพรุ่งนี้ก็ยังมีอีก เพราะเหตุว่า มีเหตุปัจจัยที่จะให้จิตเกิดดับ ถ้าเรารู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้ว กำลังเกิดตายอยู่ทุกขณะ เพราะฉะนั้นความตายโดยสมมติที่เราเรียกว่า สมมติมรณะ ก็เป็นเพียงแต่การสิ้นชีวิตจากโลกนี้ จากความเป็นบุคคลนี้ สู่ความเป็นบุคคลใหม่ ในโลกใหม่ตามกรรมเท่านั้นเอง มันไม่มีทางที่จะออกไปจากสังสารวัฎฏ์ได้ เพียงแต่เปลี่ยนไปแต่ละภพ แต่ละชาติ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไปแต่ละวันตามกรรม ซึ่งเกิดจากการเห็นบ้าง การได้ยินบ้าง การคิดบ้าง เท่านั้นเอง เหมือนกับสภาพธรรมที่ต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา คือต้องเห็น จะอยากเห็นหรือไม่เห็น เวลานี้ก็เห็นแล้ว ห้ามไม่ให้เห็นก็ไม่ได้ จะอยากได้ยินหรือไม่อยากได้ยิน ก็ได้ยินแล้ว เพราะฉะนั้นก็คือสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิด และก็ดับไป แต่ความไม่รู้ก็ทำให้ยึดถือว่า เป็นเราเห็น เราได้ยิน แล้วก็ยังจำเรื่องราวจากสิ่งที่เห็น จากสิ่งที่ได้ยิน เป็นทุกข์เป็นร้อน เดือดร้อนเป็นวันๆ เดือนๆ ก็ได้ ด้วยความไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วก็ไม่มีอะไรเลย เหมือนกำมือที่ว่างเปล่า กำไว้แน่น แต่ว่าพอเปิดออกมาก็ไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้นจิตขณะหนึ่งซึ่งดับไปก็หมดไป แล้วก็มีขณะต่อไปที่เกิดขึ้น และดับไป แล้วก็หมดไปแต่ละขณะ

ผู้ฟัง มีผู้สงสัยว่า มนุษย์เรานี้เกิดมาเพื่ออะไร

ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า ยังมีกิเลสคือความไม่รู้ ยังไม่ได้หมดกิเลส เพราะฉะนั้นก็มีการกระทำที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ซึ่งเป็นกรรมที่เป็นเหตุ เพราะฉะนั้นเรามีคำว่า สังสารวัฎฏ์ คือ กิเลสวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดกัมมวัฏฏ์ กัมมวัฏฏ์เป็นปัจจัยให้เกิดวิปากวัฏฏ์ วิปากหรือวิบากในภาษาไทยไม่ได้หมายความถึงลำบาก แต่หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นผลของกรรม ถ้าใช้คำว่า วิบากแล้วหมายความถึงผลของกรรม อย่างจิตที่กำลังเห็นในขณะนี้เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม จิตที่ได้ยินก็เป็นผลของกรรม

ผู้ฟัง อยากจะเรียนถามว่า การทำทานของพระพุทธเจ้ามีอะไรบ้าง และทำแล้วได้อะไรบ้าง ที่ท่านเคยทำ

ท่านอาจารย์ ของพระพุทธเจ้าเลยหรือ ผู้ที่ไม่มีกิเลสเลย ลองคิดดู ไม่มีความตระหนี่เลย ความตระหนี่ที่เราคิดว่า เราตระหนี่สมบัติ แท้ที่จริงแล้วเราไม่ได้ตระหนี่เพียงสมบัติ เราตระหนี่แม้แต่คำสรรเสริญ คำชม เราตระหนี่แม้แต่ตระกูลคือ เพื่อนฝูง ญาติ มิตรสหาย เราไม่ต้องการให้คนอื่นมาเป็นที่รัก หรืออะไรอย่างนั้น เพราะฉะนั้นตระหนี่มีถึง ๕ อย่าง ตระหนี่ที่อยู่อาศัย ตระหนี่ลาภ ตระหนี่คำสรรเสริญ ตระหนี่ตระกูล ตระหนี่ธรรม บางคนไม่อยากให้คนอื่นรู้ธรรมละเอียด เพราะว่า เดี๋ยวจะมีชื่อเสียง เดี๋ยวจะเก่ง เดี๋ยวจะดัง หรืออะไรอย่างนั้น แต่ผู้ที่ไม่มีกิเลสเลย เป็นฝ่ายที่ให้ตลอด ถ้ามีอาหารที่มีผู้นำมาถวายมากแล้วก็เหลือ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสให้ให้ นอกจากจะเป็นคนเข็ญใจ คนยากไร้ แม้แต่คนที่มีความเห็นอื่นก็ให้ได้ คือทานทุกชนิดไม่ใช่จำกัดแต่เฉพาะกับคน แม้แต่กับสัตว์เดรัจฉาน การที่เรามีจิตใจเมตตาต้องการให้คนอื่นมีความสุข สิ่งใดซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่คนอื่นแล้วให้ โดยไม่ใช่หวังว่า ถ้าอย่างนั้นแล้วเราจะได้อะไร แต่ถ้าเป็นการให้จริงๆ โดยที่การให้นั้นต้องไม่หวังสิ่งใดตอบแทนทั้งสิ้น ทั้งสิ้นแม้แต่คำชมว่า เป็นผู้ที่ใจบุญ แม้แต่ชื่อเสียงหรือว่า แม้แต่การหวังผลตอบแทน หรือแม้แต่ให้คนที่เราให้ ตอบแทนเราด้วยประการหนึ่งประการใด เพราะว่าการให้ถ้ายังเป็นไปด้วยกิเลส ผู้ให้จะถือว่าเป็นผู้ให้ เพราะฉะนั้นก็คิดว่า ผู้รับ จะต้องมีการกระทำตอบอย่างหนึ่งอย่างใด อาจจะหวังเพียงการเคารพ หรืออาจจะหวังการช่วยเหลือ หรืออาจจะหวังแม้แต่ความรักความผูกพัน นี้ชื่อว่า ให้โดยผูกพัน คือ หวังที่จะได้รับสิ่งที่ตอบแทน แต่ถ้าเป็นการให้จริงๆ ต้องไม่มีการหวังทั้งสิ้น ต้องใช้คำว่า ทั้งสิ้น และต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้นั้นจริงๆ ถึงแม้ว่า เป็นอาหารที่เรารับประทานแล้ว คือปกติการให้จะมีหลายอย่าง การให้ที่เป็นทาสทาน เป็นสหายทาน ที่เป็นทานบดี การให้ที่เป็นทาสทานก็คือว่า เรายังเป็นทาสของกิเลสตัณหา เราจะให้ได้เฉพาะสิ่งซึ่งเราไม่ต้องการแล้ว อย่างเสื้อผ้าถ้าเรายังชอบอยู่เราก็ไม่ให้ เราก็ให้ตัวที่เราไม่ได้ใช้แล้ว หรืออะไรอย่างนี้ หรืออาหารที่เราบริโภคแล้ว เราบริโภคสิ่งที่อร่อย สิ่งที่ไม่ค่อยอร่อยก็ให้คนอื่น หรือว่า ถ้ามีผลไม้ ผลไม้ดีๆ เราก็เก็บเอาไว้ แต่ส่วนที่จะให้คนอื่นอย่างคนในบ้าน เราก็อาจจะเลือกลูกเล็กๆ หรือว่า อาจจะมีรสชาติเปรี้ยวนิดหนึ่งอะไรอย่างนี้ เราก็ให้ไปนี้ แสดงว่า เรายังเป็นทาสทาน ยังเป็นทาสของกิเลสตัณหาอยู่ ถ้าเป็นสหายทานก็คือว่า ให้เสมอกัน สิ่งที่เรามี เราใช้อย่างไร เราก็ให้คนอื่นอย่างนั้น เราสามารถที่จะสละให้ได้เหมือนการให้กับมิตรสหายซึ่งเสมอกัน อันนั้นก็เป็นสหายทาน ถ้าเป็นทานบดีหมายความว่า เราเป็นใหญ่ในการให้ เราสามารถสละให้ได้เพื่อประโยชน์ของคนนั้นจริงๆ แม้ว่า ตัวเราอาจจะต้องลำบากบ้าง หรืออะไรบ้างก็ตาม แต่ถ้าเห็นว่า มันเป็นประโยชน์กับเขามากกว่าเรา เราก็ให้ได้ อย่างนั้นคือเป็นทานบดี เพราะฉะนั้นแม้แต่การให้แต่ละครั้ง เราก็สามารถจะพิจารณาจิตใจของเราได้ว่า ใจของเราบริสุทธิ์แค่ไหน สะอาด และผ่องใสแค่ไหนในการให้ นี่พูดถึงเรื่องจิตของผู้ให้ แต่จริงๆ แล้วเราไม่ต้องคิดถึงจิตของเรา การให้ควรจะคิดถึงผู้รับ ถ้าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับผู้รับ ก็ให้ เพราะฉะนั้นพิจารณาจากจิตใจของเราได้ว่า ถ้าเป็นเรื่องของการให้แล้ว ก็คำนึงถึงประโยชน์ของผู้รับ ถ้าสิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์กับผู้รับ ก็ให้ เพราะว่า แม้แต่เศษกระดาษของเราซึ่งอาจจะไม่มีความหมาย เด็กตามโรงเรียนซึ่งไม่มีกระดาษพอที่จะใช้ เขาก็ไปใช้ประโยชน์ได้ หรือว่า คนที่เข็นรถแล้วเที่ยวเก็บกระป๋องหรือว่า กระดาษแข็งแล้วก็เอาไปขาย เราก็เอาไปกองๆ ไว้หน้าบ้าน ของที่เราใช้แล้ว ไม่มีประโยชน์ก็ให้ไป ทุกอย่างมีประโยชน์ คิดถึงคนรับดีกว่า นี้เป็นเรื่องของการให้ และที่ถาม ถามต่อว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าหรือ ให้ได้ทุกอย่างไม่ต้องห่วง เราให้ได้แค่นี้แล้วพระองค์จะให้ได้แค่ไหน คิดดูก็แล้วกัน ทั้งธรรมทาน และวัตถุทาน และของทุกอย่างซึ่งจะเป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ควรกับผู้ใดก็ให้แก่ผู้นั้น

ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่า เราแกงสักหม้อหนึ่งมื้อเย็น ถ้าเกิดตักไปทานบนโต๊ะสักถ้วยหนึ่งแล้ว แล้ววันนั้นเราไม่ตักอีก รุ่งขึ้นเช้าเราเอาหม้อนั้นมาอุ่น เราสามารถจะใส่บาตรได้ไหม

ท่านอาจารย์ เรื่องของทานก็ยังมี ทานที่ประณีตกับทานที่ไม่ประณีตด้วย และการให้โดยเคารพกับการให้โดยไม่เคารพ เพราะฉะนั้นมีความละเอียดมาก แต่ว่าก็เป็นสภาพจิตใจ คือว่าบางคนก็มีความเคารพนอบน้อมมาก จะทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับพระภิกษุ และทำอย่างประณีตจริงๆ ประณีตมากกว่าที่เราบริโภคเอง แล้วก็จัดเตรียมอย่างที่ว่า คือแบ่งเอาไว้ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งที่จะถวายแก่พระ สำหรับบางคนก็อาจจะเป็นคนที่อะไรก็ได้ หรือว่า เมื่อมีกุศลจิตก็ทำไป ก็ยังดีกว่าไม่ทำ ใช่ไหม เพราะว่า การให้โดยเคารพโดยประณีตมี ให้โดยไม่เคารพหรือไม่ประณีตเท่ากับที่ควรจะเป็นก็มี อย่างบางคนให้ขอทานก็อาจจะโยนหรือทิ้ง หรือให้โดยแบบที่ว่า ให้อย่างไม่ได้แสดงว่าให้ด้วยน้ำใจ ถ้าให้ด้วยน้ำใจเราจะคิดว่า เขาคงจะสบายใจถ้าได้รับด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส หรือด้วยไมตรีจิต ถึงแม้จะไม่พูด แต่กิริยาอาการที่แสดงออกก็มีความเป็นมิตร คือความเป็นเพื่อน เราจะรู้ได้เลยว่า มีคุณค่ามหาศาล ถ้าเราคิดถึงคำว่า เมตตา ซึ่งภาษาไทยใช้คำว่า มิตตะ หรือ มิตร คือความหวังประโยชน์แก่คนอื่น หวังดีเกื้อกูลต่อคนอื่น คนที่เรานับว่าเป็นเพื่อนคือ คนที่เขาหวังดีต่อเรา คิดถึงที่จะเกื้อกูลเรา ซึ่งเป็นสิ่งซึ่งมีคุณค่ามากทีเดียว แม้แต่พระผู้มีพระภาคก็ทรงเป็นกัลยาณมิตรของพุทธบริษัท หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่ได้หวังร้ายเลยต่อใครทั้งสิ้น ใช่ไหม เพราะฉะนั้นถ้าเราเป็นผู้ที่มีไมตรีจิตหรือมีความเป็นมิตร ซึ่งกว้างใหญ่ ไม่ใช่แต่เฉพาะในคนสองคน ในพวกของเรา หรืออะไรอย่างนี้ แต่ที่ว่า เจริญเมตตาไม่ใช่ไปให้ท่องกัน ยิ่งมากเท่าไหร่ยิ่งดี ไม่ใช่ แต่หมายความว่า ยิ่งพบบุคคล และความเป็นมิตรของเราเกิดอย่างจริงใจมากเท่าไหร่ นั่นคือการเจริญเมตตาจริงๆ คือความเป็นมิตรที่แท้จริง แม้แต่กับคนขอทาน เราก็สามารถที่จะมีความเป็นเพื่อนได้ คือไม่รังเกียจ ไม่ดูหมิ่น หรือว่า ไม่เกิดความมานะสำคัญตนว่า เราเป็นผู้ให้ ขณะนั้นจิตของเราก็ผ่องใส เพราะฉะนั้นการให้ก็จะต้องมีโดยสภาพของจิตซึ่งประณีต หรือว่าขัดเกลา หรือว่าละเอียดขึ้น แม้แต่การที่จะให้กับพระภิกษุก็เช่นเดียวกัน บางคนก็ทำอย่างประณีต คือแบ่งไว้ จัดอย่างเรียบร้อย บางคนก็อะไรก็ได้ก็ทำไป การให้ก็คือการให้ แต่เมื่อการให้เกิดนั้นก็แล้วแต่สภาพของจิตใจว่า จะเป็นจิตใจประเภทไหนที่ให้ด้วย เพราะฉะนั้นกุศลจิตจึงมีอย่างประณีต และอย่างปานกลาง และอย่างอ่อน

ผู้ฟัง คือสรุปแล้วคือเป็นความประณีตของการให้

ท่านอาจารย์ แล้วเราเข้าใจ เราจะประณีตขึ้นถึงใจของเรา และข้อสำคัญที่สุดคือ ไม่หวังผล นี้สำคัญมาก เพราะว่า ถ้าเราหวังผล เหมือนกับมือขวาเราให้ไป มือซ้ายเราแบรับ กลับคืนหรืออะไรอย่างนี้ ใช่ไหม มันก็ไม่เหมือนการให้จริงๆ ให้แบบนี้ไม่เรียกว่าให้ ให้ก็คือให้ เพราะฉะนั้นขอพูดเรื่องสังฆทานสักนิดหนึ่งเพราะว่า โดยมากคนชอบใช้คำว่า สังฆทานโดยไม่เข้าใจสังฆทานเลย สังฆ หมายความถึง สงฆ์ หมู่คณะไม่ใช่ภิกษุเจาะจง คือเราต้องทราบว่า ตามพระวินัยหรือว่า เราอาจจะไม่ค่อยได้ศึกษาเรื่องพระภิกษุ แต่ให้ทราบว่า เราใช้คำไม่ถูก ถ้าเราพูดถึงพระแต่ละรูปเป็นภิกษุ ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะ หรือใครก็ตามเป็นภิกษุ ต่อเมื่อใดเป็นหมู่คณะ ในขณะที่กระทำกิจของสงฆ์ตามพระวินัยจึงเป็นสงฆ์ สงฆ์คือ ผู้ที่ได้รับมอบหมายโดยวินัยว่า ให้พระภิกษุรูปใดทำกิจของสงฆ์ และในขณะที่กำลังทำกิจของสงฆ์เท่านั้นที่เป็นสงฆ์ เช่น ในขณะที่บวช เวลาที่จะบวชต้องมีพระที่ทำพิธีกระทำกิจบวชให้ ต้องประกอบด้วยพระภิกษุจำนวนเท่าไหร่ และพระภิกษุเหล่านั้นต้องได้รับอนุมัติจากพระส่วนรวมให้กระทำกิจนั้น จึงเป็นสงฆ์ในขณะที่ทำกิจนั้น พอเสร็จสังฆกรรมคือกิจนั้นแล้ว เป็นภิกษุแต่ละรูป ต้องเข้าใจคำว่า สงฆ์หรือภิกษุ ภิกษุคือ เดี่ยวๆ แต่ละบุคคล สงฆ์คือ คณะที่กระทำกิจตามพระวินัยว่า พระวินัยบัญญัติไว้ว่า กิจนี้ต้องประกอบด้วยภิกษุกี่รูป รวมเป็นสงฆ์ที่คณะจะทำกิจนั้นได้ และเมื่อจบกิจหน้าที่นั้นแล้วเป็นภิกษุแต่ละรูป เพราะฉะนั้นการที่เราจะเคารพนับถือภิกษุ อย่างบางคนก็นับถือภิกษุรูปนั้น บางคนก็นับถือภิกษุรูปนี้ ให้ทราบว่า นั้นเป็นการนับถือภิกษุ ไม่ใช่การนับถือสงฆ์ เพราะเหตุว่า เป็นการนับถือภิกษุแต่ละรูป มีคนถามดิฉันเพราะอยากจะรู้จริงๆ เลยว่า พระภิกษุรูปไหนที่ดิฉันเคารพมาก ดิฉันก็ตอบบอกว่า ดิฉันนับถือพระภิกษุที่ไม่มีเจตนาที่จะลบหลู่ หรือกระทำผิดพระวินัย ใครก็ได้ รูปไหนก็ได้ ซึ่งท่านไม่มีเจตนาที่จะทำผิดพระวินัย เพราะว่า บางทีท่านอาจจะพลาดพลั้งโดยความไม่รู้ แต่ต้องไม่มีความจงใจ ที่จะลบหลู่ข้อบัญญัติที่พระผู้มีพระภาคทรงวางไว้สำหรับเป็นข้อปฏิบัติของพระภิกษุ เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องมีความจำกัดว่า เรานับถือภิกษุรูปนี้หรือภิกษุรูปนั้น แต่เวลาเรานับถือในพระภิกษุซึ่งไม่มีเจตนาที่จะลบหลู่หรือว่า ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย เพราะเหตุว่า ธรรมเป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องตรง กุศลคือกุศล ดีคือดี อกุศลคืออกุศล ชั่วคือชั่ว ไม่ว่า จะเป็นจิตของเราหรือจิตของใครต้องเหมือนกัน โทสะของเรากับโทสะของคนอื่นต้องเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าโทสะของเราไม่เป็นไร แต่ของเขาน่าเกลียดมาก ไม่ได้ โทสะคือ สภาพที่หยาบกระด้างประทุษร้าย เกิดกับใครคนนั้นเป็นอย่างนั้น เพราะเห็นว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล มีแต่สภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นทำกิจการงานอย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบจริงๆ ว่า ต้องเป็นผู้ที่ตรง แม้เป็นภิกษุยังมีกิเลส กุศลจิตของพระภิกษุก็เป็นกุศลจิต อกุศลจิตของพระภิกษุก็เป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้นจะมาบอกว่า นับถือบุคคลนั้นบุคคลนี้ได้อย่างไร เราต้องเป็นผู้ตรงที่ว่า นับถือกุศลแต่ไม่นับถืออกุศลไม่ว่าของใครทั้งสิ้น คนยากจนก็มีกุศลจิตได้ คนสูงส่งก็มีอกุศลจิตได้ แล้วเราจะไปเลือกหรือว่า เรานับถือบุคคลนี้ ไม่นับถือบุคคลนั้น ในเมื่อกำลังเป็นอกุศล ไม่ว่าใครก็ต้องเหมือนกันหมดที่จะต้องเป็นอกุศล ไม่ว่าเราหรือเขาด้วย เพราะว่าสภาพธรรมต้องเป็นจริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจิตใจของเรามีหลายประเภทซึ่งเราเป็นผู้ตรง เราก็ต้องรู้ เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าใจคำว่า ภิกษุกับสงฆ์ว่าต่างกันคือ สงฆ์ต้องเป็นคณะ หมู่ จำนวนภิกษุที่เฉพาะ ขณะที่กระทำกิจกรรมของที่ได้รับมอบหมาย ตามพระวินัย เช่น ขณะที่บวช หรือว่าขณะที่รับกฐิน เป็นต้น แต่หลังจากนั้นแล้ว จบพิธีนั้นแล้วเป็นภิกษุบุคคล การประพฤติจะเป็นอย่างไร กุศลต้องเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นสังฆทาน หมายความว่า เราไม่ได้เจาะจงถวายต่อพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใด คำว่า สงฆ์หมายความถึง เราระลึกถึงสงฆ์ที่เป็นพระอริยบุคคล เป็นอริยสงฆ์ ไม่ใช่สงฆ์ที่ทำกิจกรรมของสงฆ์เป็นคณะ ๔ รูป ๕ รูป อย่างนั้นไม่ใช่ แต่คำว่าสงฆ์นี้คือ หมายความถึงสังฆรัตนะ ซึ่งเมื่อกี้เราสวดมนต์ใช่ไหม พุทธัง สรณัง คัจฉามิ มีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ มีพระธรรมเป็นสรณะเป็นที่พึ่ง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ มีพระสงฆ์คือ พระอริยะบุคคล ไม่ใช่ภิกษุบุคคล หรือว่าสมมติสงฆ์ หรือสงฆ์ที่กำลังทำกิจของสงฆ์ ไม่ใช่ แต่สงฆ์ที่นี่หมายความถึงสังฆรัตนะคือ รัตนะทั้ง ๓ พระอริยะบุคคลเป็นที่พึ่งเพราะเหตุว่า อย่างพระพุทธเจ้าไม่ใช่ให้ไปขอ ขอเท่าไรก็ไม่จบความทุกข์ใช่ไหม แต่พึ่งในพระปัญญาคุณ ในพระบริสุทธิคุณ ในพระมหากรุณาคุณที่ทรงแสดงพระธรรมให้เราเกิดความรู้ ความเข้าใจ พึ่งพระธรรม มีพระธรรมเป็นสรณะ ถ้าไม่ศึกษา ไม่มีทางมีพระธรรมเป็นสรณะเลย เราก็ได้แต่กราบไหว้บูชาว่า ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ แต่ไม่รู้ว่าพระธรรมคืออย่างไร เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้มีพระธรรมเป็นสรณะจริงๆ เลย


หมายเลข  6029
ปรับปรุง  24 มิ.ย. 2566


วีดีโอแนะนำ