แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 240


ความต่างกันแห่งผัสสะย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างกันแห่งธาตุ ความต่างกันแห่งเวทนาย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างกันแห่งผัสสะ ดังนี้

ถ้าเป็นผู้ที่ไม่เจริญสติปัฏฐาน จะทราบเรื่องนี้ไหม เพราะว่าเป็นเรื่องของธาตุ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทำไมว่าเป็นธาตุ เพราะเหตุว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

กำลังเห็นเป็นธาตุรู้ อาศัยจักขุปสาทกระทบกับรูปารมณ์ ทางหูก็เป็นธาตุรู้ เป็นธาตุที่รู้เสียง เกิดขึ้นเพราะสัททธาตุ คือ เสียง เป็นธาตุชนิดหนึ่ง กระทบกับธาตุ คือ โสตปสาท เป็นปัจจัยให้เกิดธาตุที่รู้เสียงขึ้น เป็นธาตุแต่ละอย่างซึ่งต่างกัน ไม่เหมือนกัน ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐานจะรู้ความต่างกันของธาตุเหล่านี้ไหม ก็ไม่รู้ ก็เห็นว่าเป็นตัวตน เป็นคน เป็นสัตว์ ที่เห็น ที่ได้ยิน ไม่รู้ว่าสภาพที่แท้จริงของธรรมนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นธาตุทั้งหมด เป็นธาตุแต่ละชนิด

ผู้ที่ไม่เจริญสติปัฏฐาน ไม่สามารถรู้เรื่องของผัสสะที่ต่างกันเพราะความต่างกันแห่งธาตุ และความต่างกันแห่งเวทนาย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างกันแห่งผัสสะ เพราะเหตุว่าเวทนาเป็นความรู้สึก และในวันหนึ่งๆ ก็มีเวทนาหลายอย่าง ไม่ใช่มีแต่เฉพาะดีใจอย่างเดียว เสียใจก็มี หรือว่าความรู้สึกที่เป็นอุเบกขา อทุกขมสุขก็มี

เมื่อหาลิททกานิคฤหบดีได้ถามท่านพระมหากัจจายนะอย่างนี้ว่า พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ความต่างกันแห่งผัสสะย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างกันแห่งธาตุ ความต่างกันแห่งเวทนาย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างกันแห่งผัสสะ อย่างไรหนอแล

ไม่ใช่รู้เพียงเพราะคนอื่นบอก ไม่ใช่เพียงแต่ถามและไม่ปฏิบัติ เพราะเหตุว่าถึงบุคคลอื่นจะบอกอย่างไร ผู้ถามก็ไม่สามารถที่จะรู้สภาพนั้นๆ ตามความเป็นจริงได้ ถ้าผู้นั้นไม่ประพฤติปฏิบัติด้วยตนเอง สำหรับข้อปฏิบัติที่จะทำให้รู้ความต่างกันแห่งผัสสะเพราะอาศัยความต่างกันแห่งธาตุ และความต่างกันแห่งเวทนาย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างกันแห่งผัสสะนั้น ท่านผู้ฟังจะได้ทราบว่า ท่านพระมหากัจจายนะจะกล่าวตอบว่าอย่างไร เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของการที่จะปฏิบัติให้รู้สภาพธรรมนั้นจริงๆ ท่านพระมหากัจจายนะจะให้หาลิททกานิคฤหบดีไปไหนหรือเปล่า หรือว่าจะให้หาลิททกานิคฤหบดีทำอย่างไร

ในครั้งโน้นพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงข้อประพฤติปฏิบัติ และสาวกก็ ประพฤติปฏิบัติตามจนกระทั่งรู้แจ้งสภาพธรรมนั้นๆ จะไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะมีความกรุณายิ่งกว่าพระผู้มีพระภาค และไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะมีปัญญายิ่งกว่าพระผู้มีพระภาค

เพราะฉะนั้น ถ้าข้อประพฤติปฏิบัติอื่นง่าย สะดวก มีวิธีลัดจริงๆ ในครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคก็ต้องทรงแสดงวิธีที่จะไม่ให้พุทธบริษัทต้องลำบากที่จะปฏิบัติ เพราะเหตุว่าการละกิเลสนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องที่จะต้องเป็นปัญญาที่รู้จริงๆ

กิเลสของแต่ละคนมีมากน้อยแค่ไหน ถ้าท่านไม่เจริญสติ ท่านจะไม่ทราบเลย

โลภมูลจิตมีลักษณะมากมายหลายประการ ทั้งล่อ ทั้งหลอกสารพัดอย่าง ถ้าท่านสนทนากับผู้ที่สนใจในการปฏิบัติธรรมจะพบว่า กว่าท่านจะได้เข้าใจถึงข้อปฏิบัติที่เป็นปกติ ตรงตามสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยนั้น ท่านต้องหลงไปตามโลภะมากมายนัก บางท่านไปแอบทำ ไปหลอก ไปล่ออยู่ตัวคนเดียว บางท่านก็บอกว่า จะลองทำแบบนี้ และก็ลองดู แต่ท่านไม่ทราบว่า ในขณะที่ลองก็เป็นความต้องการแล้ว เป็นโลภมูลจิตแล้ว หาวิธีที่จะเร่งรัดแล้ว

กิเลสนั้นเหนียวแน่น หนาแน่น และก็มีมากเหลือเกิน แต่ว่าท่านจะหาวิธีที่จะไปเร่งรัดให้กิเลสหมดโดยที่ปัญญาไม่เกิดขึ้น ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้น ไม่สามารถทำให้ท่านละกิเลสได้เลย และท่านก็พยายามที่จะไปคิดหาว่า วิธีนั้นคงจะดี วิธีนี้คงจะเร็ว เพราะฉะนั้น ท่านพยายามที่จะใช้วิธีอื่น แทนที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามปกติ ตามความเป็นจริง จนกว่าปัญญาจะรู้ชัด และก็ละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้จริงๆ

ถ้าท่านเทียบเคียงเสมอๆ ไม่ว่าท่านจะได้ยินข้อประพฤติปฏิบัติอย่างไรก็ตาม เทียบเคียงดูว่า ถ้าเป็นความจริง พระผู้มีพระภาคต้องทรงแสดงไว้ก่อนบุคคลอื่นแน่นอน ด้วยพระมหากรุณาคุณ ด้วยพระปัญญาคุณ ถ้ามีวิธีลัด มีวิธีง่าย มีวิธีเร็วหรือแม้พระสาวกในครั้งอดีต ท่านก็จะต้องมีความกรุณา มีวิธีลัด มีวิธีเร่ง มีวิธีเร็วอย่างไร ท่านจะต้องแสดงต่อพุทธบริษัทในครั้งนั้น เพราะเหตุว่าในสมัยนั้นท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยปัญญา และได้รู้แจ้งสภาพธรรมจนถึงขั้นความเป็น พระอริยเจ้า

ขอให้ท่านผู้ฟังพิจารณาว่า ท่านพระมหากัจจายนะจะกล่าวตอบหาลิททกานิคฤหบดีอย่างไรถึงข้อปฏิบัติที่จะทำให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ท่านพระมหากัจจยนะตอบว่า

ดูกร คฤหบดี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า รูปอย่างนี้น่าพอใจ สุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยจักษุวิญญาณและผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา

รู้หรือไม่รู้ ตามปกติ ตามความเป็นจริง ไม่ได้บอกให้ทำอย่างอื่นเลย แต่ว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูป ซึ่งทุกท่านกำลังเห็น เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ย่อมรู้ชัดว่ารูปอย่างนี้น่าพอใจ ปะปนกันหรือเปล่า รูปกับนาม กำลังระลึกรู้รูป ก็รู้ในสภาพที่เป็นรูปธรรม สุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุวิญญาณและผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา สุขเวทนาเกิดขึ้นเป็นนามธรรม ก็รู้ว่าสุขเวทนาเกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุวิญญาณและผัสสะ อันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนาตามความเป็นจริง

เมื่อเห็นแล้วเกิดสุขเวทนา รู้ตามความเป็นจริงว่า สุขเวทนาเป็นนามธรรม อาศัยการเห็นจึงได้เกิดขึ้น ห้ามไม่ให้เห็น ไม่ให้ดู ไม่ให้สุขเกิดหรือเปล่า ไม่ใช่ แต่เป็นการรู้สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง

ข้อความต่อไปมีว่า

อนึ่ง ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุอย่างนั้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า รูปอย่างนี้ไม่น่าพอใจ ทุกขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยจักขุวิญญาณและผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา

ตามปกติ ตามความเป็นจริงหรือเปล่า กำลังเห็นที่ไหน เมื่อไร อย่างไรก็ตามย่อมเป็นที่ตั้งของสุขเวทนาบ้าง เป็นที่ตั้งของทุกขเวทนาบ้าง แต่ไม่ได้ระลึกรู้ เพราะฉะนั้น จะรู้ได้อย่างไรถึงความต่างกันของผัสสะ ความต่างกันของเวทนาที่เกิดเพราะผัสสะ และที่ผัสสะต่างกันนั้น ก็เพราะความต่างกันของธาตุต่างๆ

ข้อความต่อไปมีว่า

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุอย่างนั้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า รูปอย่างนี้เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา อทุกขมสุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยจักขุวิญญาณและผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา

เป็นปกติไหม เห็นแล้วชอบ เห็นแล้วไม่ชอบ เห็นแล้วเฉยๆ ไม่มีเรื่องของสถานที่ ไม่มีเรื่องของพิธี หรือว่าวิธีการต่างๆ ที่จะไม่ใช่สติระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏ ตามปกติ ตามความเป็นจริง ตามเหตุปัจจัยเลย

ข้อความต่อไป ท่านพระมหากัจจายนะกล่าวว่า

ดูกร คฤหบดี อีกประการหนึ่ง ภิกษุฟังเสียงด้วยหูแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า เสียงอย่างนี้น่าพอใจ สุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยโสตวิญญาณและผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งเวทนา

อนึ่ง ภิกษุได้ฟังเสียงด้วยหูอย่างนั้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า เสียงอย่างนี้ไม่น่าพอใจ ทุกขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยโสตวิญญาณและผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา

อีกประการหนึ่ง ภิกษุได้ฟังเสียงด้วยหูอย่างนั้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า เสียงอย่างนี้เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา อทุกขมสุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยโสตวิญญาณและผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา

สูดกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ...

ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ...

ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ...

รู้แจ้งธัมมารมณ์ด้วยใจแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ธัมมารมณ์อย่างนี้น่าพอใจ สุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยมโนวิญญาณและผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา

อนึ่ง ภิกษุรู้ชัดธัมมารมณ์ด้วยใจอย่างนี้แล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ธัมมารมณ์อย่างนี้ไม่น่าพอใจ ทุกขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยมโนวิญญาณและผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา

อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมรู้แจ้งธัมมารมณ์ด้วยใจอย่างนี้แล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ธัมมารมณ์อย่างนี้เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา อทุกขมสุขเวทนาย่อมบังเกิดขึ้น เพราะอาศัยมโนวิญญาณและผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา

ดูกร คฤหบดี ความต่างกันแห่งผัสสะย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างกันแห่งธาตุ ความต่างกันแห่งเวทนาย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างกันแห่งผัสสะ ด้วยประการอย่างนี้แล

ท่านพระมหากัจจายนะกล่าวตอบหาลิททกานิคฤหบดีถึงสภาพธรรมที่ต่างกันตามเหตุปัจจัยตามปกติ ตามความเป็นจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ในขณะนี้มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ มีนาม มีรูป กำลังเกิดเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานจะเจริญเป็นปกติประจำวันได้ไหม และควรที่จะเจริญไหม ถ้าผิดจากนี้จะทำให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ไหม ต้องทำอะไรให้ผิดปกติสักอย่างหนึ่งหรือเปล่า

เพียงแต่ว่า ฟังให้เข้าใจเท่านั้น เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ฟังจริงๆ พิจารณาจริงๆ ให้เข้าใจจริงๆ และการปฏิบัติของท่านจะไม่ผิด จะไม่คลาดเคลื่อน

การระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตรงสภาพธรรมแต่ละชนิดซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะเหตุปัจจัย ท่านก็สามารถที่จะรู้ชัด และละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ

ถ. ขอโทษท่านผู้ฟังทุกๆ ท่าน ที่ผมจะพูดนี้อาจไม่ตรงกับที่อาจารย์ อธิบาย แต่ว่าในฐานะที่เราเป็นนักศึกษา หรือว่าเป็นนักปฏิบัติ ก็ต้องการความตรง ความถูกต้อง จะเป็นอาจารย์หรือใครก็ตาม ถ้าสอนเราผิด เราผิดไปด้วย ใครจะรับประกันเรื่องตกนรกให้แก่เรา ก็ตัวของเราเอง เราเป็นคนเลือก

เวลานี้จะว่ามี ๒ ค่ายก็ได้ คือ ค่ายหนึ่งต้องเข้าห้องปฏิบัติวิปัสสนา อีกค่ายหนึ่งอยู่ที่ไหนก็ทำได้ ในมหาสติปัฏฐานสูตร ผมไม่ใช่อวดความรู้ แต่จะแยกให้ท่านฟัง โปรดพิจารณาดู

เช่น คำว่า กาเย กายานุปัสสี วิหะระติ

กาเย แปลว่า ในกาย

กายานุปัสสี แยกเป็น กายะ + อนุ + ปัสสี แปลได้เป็น ๒ นัย แปลว่า เห็นเนืองๆ หรือว่า เห็นตาม

คำว่าเห็นเนืองๆ นั้น ลองพิจารณาดู การพิจารณากายในกายนั้น ท่านว่า เห็นเนืองๆ และโดยปกติ

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราในฐานะที่จะปฏิบัติเพื่อตัวของเรา ใครจะช่วยใครไม่ได้ทั้งนั้น เราต้องเห็นเองจึงจะเป็น อุชุปะฏิปันโน ปฏิบัติตรงต่อคำสอน เราต้องมาพิจารณาของเราเอง

ทีนี้กล่าวถึงเข้าห้องปฏิบัติ อย่างสุโขทัย เราไปดูสถานที่ของวัด ไม่มีหรอกห้องปฏิบัติวิปัสสนา มีแต่กุฏิหลังใหญ่ๆ มีโบสถ์ มีวิหาร มาถึงอยุธยา ผมก็อยู่อยุธยามาตั้งแต่เด็กๆ ก็ไม่ปรากฏว่ามีห้องปฏิบัติอะไร ครั้นมาถึงรัตนโกสินทร์ มีอย่างวัดอนงค์ที่ผมบวชอยู่ เป็นห้องเล็กๆ เรียกว่ากุฏิวิปัสสนา พวกเรียนวิปัสสนาอยู่ห้องเล็กๆ แสดงว่าอยู่คนเดียว แต่ผมเห็นว่า เมื่อพิจารณาดูกาเย กายานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว ท่านว่าให้พิจารณาเนืองๆ ตามปกติ เข้าในหลักกรรม ๔ อย่าง กัมมสัทธา วิปากสัทธา กัมมัสสกตาสัทธา ตถาคตโพธิสัทธา เราต้องยึดหลักนี้

การเข้าห้องปฏิบัติ ใครจะเข้าห้องปฏิบัติต้องยื่นใบสมัคร ห้องไม่ว่างก็คอยไป และปฏิบัติไม่เกิน ๑ เดือนต้องออก คนอื่นจะได้มา ในปี ๑ เราอาจจะได้ทำแค่เดือนเดียว อีก ๑๑ เดือนทำอย่างไร

อย่างที่อาจารย์ว่า กิเลสเกิดทุกวัน จริงครับ ถ้าหากบุญไม่มา บาปก็เข้า ที่จะเฉยๆ ก็ยากนักหนา บางทีเรานั่งเฉยๆ คิดร้อยแปดพันประการ เพราะฉะนั้น การเจริญวิปัสสนา ผมฟังอาจารย์สุจินต์มา ๒ ปีกว่าๆ ไม่เคยได้ฟังมาก่อน แต่ว่าเมื่อฟังแล้วเห็นว่าละเอียดกว่าคนอื่น คนอื่นบางทีให้พิจารณานามรูป ให้พิจารณากันอย่างไร ก็ไม่รู้

อย่างใน ภัทเทกรัตตสูตร ว่าอย่างนี้ ปัจจุปปันนัง ฯลฯ ท่านให้พิจารณานามรูปในปัจจุบันเฉพาะหน้า ปัสสติ ต้องพิจารณาอย่างปกติ ปกติหมายความว่า ถ้าเราไปเข้าห้องกัมมัฏฐานแล้ว ปกติหรือเปล่า เราอยู่บ้านเป็นปกติหรือเปล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ในฐานะที่ผมเป็นคนมีครอบครัว มีลูกมีเมีย ไปเข้าเป็นเดือนๆ ทางบ้านใครจะดูแลลูก ใครจะดูแลเมีย เราทิ้งลูกเมียเป็นเดือนๆ เขาจะว้าเหว่แค่ไหน เราเองก็ว้าเหว่เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น วิธีของอาจารย์สุจินต์ผมเลื่อมใส เพราะทำที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้นั่งในรถก็ได้ อยู่บ้านก็ได้ นอนกับลูกกับเมียก็จริญสติได้ ไม่เห็นมีอะไร และที่ว่าไม่มีทางลัด ก็เป็นความจริง ขอให้ท่านพิจารณาคำสอนของพระพุทธเจ้า คัมภีโร ลึกซึ้ง ไม่ใช่ว่าเดินทางลัดกันง่ายๆ หรือว่ามีวิธีที่ง่ายๆ ถ้าง่ายก็ไปนิพพานกันเป็นแถว ไม่ใช่ของง่าย ของดีจริง วิเศษจริง ต้องยาก เพราะฉะนั้น เราต้องเพียรพยายาม อย่างที่พระพุทธจ้าท่านตรัสว่า สุโข ปุญญัสสะ อุจจะโย การสั่งสมบุญเป็นสุข สั่งสมทีละน้อย เหมือนหยาดน้ำฝนที่ตกลงมาทีละหยาดๆ เดี๋ยวก็เต็มเอง


หมายเลข  6032
ปรับปรุง  25 มิ.ย. 2566