แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 243
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เทวทูตสูตร มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหาร เชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเรือน ๒ หลัง มีประตูตรงกัน บุรุษผู้มีตาดี ยืนอยู่ระหว่างกลางเรือน ๒ หลังนั้น พึงเห็นมนุษย์กำลังเข้าเรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง กำลังเดินมาบ้าง กำลังเดินไปบ้าง ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล เราย่อมมองเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรมทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทราบชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมได้ว่า สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็นสัมมาทิฏฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ก็มี
สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็นสัมมาทิฏฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไปแล้ว บังเกิดในหมู่มนุษย์ก็มี
สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไปแล้วเข้าถึงปิตติวิสัยก็มี (คือ เปรต)
สัตว์ผู้กำลังเป็นมนุษย์อยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงกำเนิดสัตว์เดรัจฉานก็มี
สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไปแล้วเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกก็มี
ทรงแสดงถึงสัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ แล้วแต่ว่าจะเป็นกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต หรือว่าเป็นกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ที่จะเป็นปัจจัยให้อุบัติ ปฏิสนธิในที่ใด
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะจับสัตว์นั้นที่ส่วนต่างๆ ของแขนไปแสดงแก่พระยายมว่า ข้าแต่พระองค์ บุรุษนี้ไม่ปฏิบัติชอบในมารดา ไม่ปฏิบัติชอบในสมณะ ไม่ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล ขอพระองค์จงลงอาชญาแก่บุรุษนี้เถิด
ไม่ทราบใช่ไหมว่า อีกโลกหนึ่งจะเป็นจริงๆ อย่างนี้หรือเปล่า แต่ใครทรงแสดงไว้ นึกเดาเองก็อาจจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ แต่ความจริงเป็นอย่างไร และเพราะเหตุใด มีข้อความทั้งในพระไตรปิฎกและในอรรถกถาที่อธิบายถึงเหตุและผลของพระสูตรนี้ ซึ่งถ้าไม่กล่าวถึงพระสูตรนี้ ท่านผู้ฟังรุ่นหลังๆ เวลาพบพระสูตรนี้อาจจะเกิดความแคลงใจว่า เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ว่าเรื่องของโลกอีกโลกหนึ่งนั้น จะมีสภาพอย่างไร ผู้ที่อยู่ในโลกอื่นย่อมไม่สามารถที่จะรู้ได้
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระยายมจะปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๑ กะสัตว์นั้นว่า ดูกร พ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๑ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลยเจ้าข้า พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกร พ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเด็กแดงๆ ยังอ่อน นอนแบ เปื้อนมูตรคูถของตนอยู่ในหมู่มนุษย์หรือ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็นเจ้าข้า
ขอให้ทุกท่านคิดถึงตัวท่านเอง เคยเห็นอย่างนี้หรือเปล่า
ข้อความต่อไป
พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกร พ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแลก็มีความเกิดเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเกิดไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจเจ้าข้า มัวประมาทเสียเจ้าข้า พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกร พ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนี้ เหล่านายนิรยบาลจะลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจะเสวยวิบากของบาปกรรมนี้
หนีพ้นไหม ท่านที่ได้กระทำทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ เวลานี้หวั่นกลัว เกรงภัยของบ้านเมือง ท่านอาจจะหนีพ้นชั่วคราวระยะหนึ่ง แต่ว่ากรรมที่ได้กระทำไว้ก็จะต้องให้ผล แล้วแต่ว่าจะให้ผลมาก เผ็ดร้อน หนักเบาตามควรแก่กรรมนั้นๆ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับการรับผลของกรรมในมนุษย์ ยังเบากว่าการรับผลของกรรมเมื่อเวลาไปเกิดในนรกมากทีเดียว
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๑ กับสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๒ ว่า ดูกร พ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๒ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลยเจ้าข้า พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกร พ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชายมีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปีนับแต่เกิดมา ผู้แก่ ซี่โครงคด หลังงอ ถือไม้เท้า งกเงิ่นเดินไป กระสับกระส่าย ล่วงวัยหนุ่มสาว ฟันหัก ผมหงอก หนังย่น ศีรษะล้าน เหี่ยว ตัวตกกระ ในหมู่มนุษย์หรือ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็นเจ้าข้า พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกร พ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแลก็มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจเจ้าข้า มัวประมาทเสียเจ้าข้า
สิ่งที่จะทำให้ระลึกถึงความจริง เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีตลอดเวลาแต่ไม่สลด เป็นผู้ที่ประมาท
พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกร พ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจะลงโทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจะเสวยวิบากของบาปกรรมนี้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๒ กับสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๓ ว่า ดูกร พ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๓ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ
สองเทวทูตแล้ว ไม่เห็นเทวทูตที่ ๓ จะเห็นไหม ตามความเป็นจริงของผู้หลงลืมสติ ประมาท มัวเมาอยู่เสมอ ไม่มีการระลึกได้เลย
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลยเจ้าข้า พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกร พ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชายผู้ป่วย ทนทุกข์เป็นไข้หนัก นอนเปื้อนมูตรคูถของตน มีคนอื่นคอยพยุงลุก พยุงเดิน ในหมู่มนุษย์หรือ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็นเจ้าข้า พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกร พ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแลก็มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจสัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจเจ้าข้า มัวประมาทเสียเจ้าข้า
พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกร พ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษ โดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจะเสวยวิบากของบาปกรรมนี้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๓ กับสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูต ที่ ๔ ว่า ดูกร พ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๔ ปรากฏในหมู่มนุษย์บ้างหรือ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลยเจ้าข้า
พระยายมคงจะอ่อนใจ ถามถึงเทวทูตเท่าไรๆ ก็ไม่เห็นเลย
พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกร พ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นราชาทั้งหลายในหมู่มนุษย์ จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิดบ้างหรือ คือ โบยด้วยแซ่บ้าง โบยด้วยหวายบ้าง ตีด้วยตระบองสั้นบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง
ลงกรรมกรณ์วิธี หม้อเคี่ยวน้ำส้มบ้าง ลงกรรมกรณ์วิธี ขอดสังข์บ้าง ลงกรรมกรณ์วิธี ปากราหูบ้าง ลงกรรมกรณ์วิธี มาลัยไฟบ้าง ลงกรรมกรณ์วิธี ริ้วส่ายบ้าง ลงกรรมกรณ์วิธี นุ่งเปลือกไม้บ้าง ลงกรรมกรณ์วิธี ยืนกวางบ้าง ลงกรรมกรณ์วิธี เกี่ยวเหยื่อเบ็ดบ้าง ลงกรรมกรณ์วิธี เหรียญกษาปณ์บ้าง ลงกรรมกรณ์วิธี แปรงแสบบ้าง ลงกรรมกรณ์วิธี กางเวียนบ้าง ลงกรรมกรณ์วิธี ตั่งฟางบ้าง ลาดด้วยน้ำมันเดือดๆ บ้าง ให้สุนัขทึ้งบ้าง ให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็นๆ บ้าง ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็นเจ้าข้า พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกร พ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า จำเริญละ เป็นอันว่าสัตว์ที่ทำกรรมลามกไว้นั้นๆ ย่อมถูกลงกรรมกรณ์ต่างชนิดเห็นปานนี้ในปัจจุบัน จะป่วยกล่าวไปใยถึงชาติหน้า ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจเจ้าข้า มัวประมาทเสียเจ้าข้า
ถ้าเห็นใครถูกลงโทษ ก็เป็นคนอื่นไปหมดไม่ใช่เรา แต่จะเป็นเราหรือจะเป็น ท่านบ้างได้ไหมถ้ากิเลสยังมี ยังไม่ได้ดับหมด และถ้ากรรมทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจได้กระทำแล้ว คนอื่นที่กำลังถูกลงโทษ วันหนึ่งจะเป็นตัวท่านที่ถูกลงโทษได้ไหม แต่ผู้ที่ประมาทก็ไม่มีสติที่จะระลึกได้
พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกร พ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจะลงโทษ โดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั้นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจะเสวยวิบากของบาปกรรมนี้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๔ กับสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๕ ว่า ดูกร พ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๕ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลยเจ้าข้า พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกร พ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชายที่ตายแล้ววันหนึ่ง หรือ ๒ วัน หรือ ๓ วัน ขึ้นพอง เขียวช้ำ มีน้ำเหลืองเยิ้มในหมู่มนุษย์หรือ
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็นเจ้าข้า พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกร พ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแลก็มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจเจ้าข้า มัวประมาทเสียเจ้าข้า
สัตว์นั้นและตัวท่านเหมือนกัน หรือว่าไม่เหมือนกัน ข้อความซ้ำต่อไปจนกระทั่งถึงข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๕ กับสัตว์นั้นแล้ว ก็ทรงดุษณีอยู่
ถึงเทวทูตที่ ๕ แล้ว ยังระลึกไม่ได้ เป็นผู้ที่ประมาท ไม่ได้กระทำความดีทางกาย ทางวาจา ทางใจ
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะให้สัตว์นั้นกระทำเหตุ ซึ่งการจำ ๕ ประการ คือ ตรึงตะปูเหล็กแดงที่มือข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ ที่เท้าข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ และที่ทรวงอกตรงกลาง สัตว์นั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ในนรกนั้น และยังไม่ตาย ตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด
ข้อความต่อไปเป็นเรื่องการทรมานในนรกต่างๆ ที่ซ้ำกันกับข้อความที่เคยกล่าวแล้ว ซึ่งข้อความตอนท้ายมีว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระยายมได้มีความดำริอย่างนี้ว่า พ่อเจ้าประคุณเอ๋ย เป็นอันว่า เหล่าสัตว์ที่ทำกรรมลามกไว้ในโลก ย่อมถูกนายนิรยบาลลงกรรมกรณ์ต่างชนิดเห็นปานนี้ โอหนอ ขอเราพึงได้ความเป็นมนุษย์ ขอพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพึงเสด็จอุบัติในโลก ขอเราพึงได้นั่งใกล้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ขอพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นพึงทรงแสดงธรรมแก่เรา และขอเราพึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เรื่องนั้นเรามิได้ฟังต่อสมณะหรือพราหมณ์อื่นๆ แล้วจึงบอก ก็แลเราบอกเรื่องที่รู้เอง เห็นเอง ปรากฏเองทั้งนั้น
พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสไวยากรณภาษิต ดังนี้ ครั้นแล้วพระสุคตผู้ศาสดาก็ได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกดังนี้ว่า
นรชนเหล่าใดยังเป็นมานพอันเทวทูตตักเตือนแล้ว ประมาทอยู่ นรชนเหล่านั้น จะเข้าถึงหมู่สัตว์เลว เศร้าโศกสิ้นกาลนาน
ส่วนนรชนเหล่าใดเห็นสัตบุรุษผู้สงบระงับในโลกนี้ อันเทวทูตตักเตือนแล้ว ย่อมไม่ประมาทในธรรมของพระอริยะในกาลไหนๆ เห็นภัยในความยึดมั่นอันเป็นเหตุแห่งชาติและมรณะแล้ว ไม่ถือมั่น หลุดพ้นในธรรม เป็นที่สิ้นชาติและมรณะได้ นรชนเหล่านั้นเป็นผู้ถึงความเกษม มีสุข ดับสนิทในปัจจุบัน ล่วงเวรและภัยทั้งปวง และเข้าไปล่วงทุกข์ทั้งปวงได้
ควรสงสัยไหม ถ้าไปจริงๆ คงหมดความสงสัย
ปปัญจสูทนี อรรถกถา ซึ่งเป็นอรรถกถา เทวทูตสูตร มีใจความว่า ในที่บางแห่ง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเริ่มจากนรก แล้วจบลงด้วยเทวโลก และในบางสูตร บางแห่ง ทรงเริ่มจากเทวโลกแล้วจบลงด้วยนรก แล้วแต่ว่าจะทรงมุ่งแสดงเรื่องใดเป็นส่วนใหญ่ ถ้าทรงมุ่งที่จะแสดงเรื่องนรกเป็นส่วนละเอียด ก็ทรงแสดงเรื่องของ เทวโลกเป็นส่วนน้อย ถ้าทรงมุ่งที่จะทรงแสดงเรื่องของเทวโลกเป็นส่วนละเอียด ก็ทรงแสดงเรื่องของนรกไว้เป็นส่วนน้อย
สำหรับนรก เป็นอีกโลกหนึ่งซึ่งเป็นโลกที่เต็มไปด้วยการทนทุกข์ทรมาน เป็นผลของกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิในโลกนั้น แต่ท่านผู้ฟังพอจะนึกได้ไหมว่า แม้ในโลกนี้ก็ยังมีการต้องทนทุกข์ทรมานจากภัยอันตรายต่างๆ จากไฟ จากน้ำ จากการเบียดเบียนประทุษร้าย จากอันตรายอื่นๆ อีกมากมาย อุบัติเหตุ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นี่เป็นเศษของกรรมที่ติดตามมาให้ผลเมื่อปฏิสนธิเป็นมนุษย์ แต่ถ้าไม่ใช่เศษของกรรม เป็นกรรมหนักที่จะต้องให้ผล กรรมนั้นจะทำให้ปฏิสนธิในภูมิที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน
สำหรับนายนิรยบาลที่อยู่ในนรกซึ่งเป็นผู้ลงโทษ เป็นการณิกานั้น เป็นบุคคลที่มีความยินดีเมื่อเห็นบุคคลอื่นได้รับทุกข์ทรมาน เป็นเชื้อเป็นปัจจัยที่ทำให้แม้ผู้นั้นจะไม่ได้กระทำทุจริตกรรมเอง แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความยินดี พอใจในการที่บุคคลอื่นได้รับทุกข์ทรมาน ผู้นั้นจะเกิดเป็นนายนิรยบาลได้ เพราะมีความยินดีเป็นเชื้อที่จะเห็นผู้อื่นถูกทรมาน