แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 246


สำหรับผู้ที่เกิดในนรก อกุศลวิบากจิต ไม่ว่าจะเป็นในมนุษย์ภูมิ หรือในอบายภูมิ ก็มีจำนวนเพียง ๗ ดวงเท่านั้น

อกุศลจิตทั้งหมดมี ๑๒ ดวง คือ โลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง ไม่ว่าจะเป็นในภูมิไหน เกิดกับใคร ก็จะไม่พ้นไปจากโลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ ตามควรแก่บุคคลนั้นๆ ในภพภูมินั้นๆ

แต่ว่าผลของอกุศลกรรมไม่ว่าจะเป็นการฆ่าสัตว์ การถือเอาสิ่งของที่บุคคลอื่นไม่ให้ และทุจริตกรรมอื่นๆ ก็ตาม จะแรง จะกล้า จะมาก จะน้อย จะหนัก จะเบาอย่างไร จิตที่เป็นอกุศลวิบากมีเพียง ๗ ดวง ได้แก่ จักขุวิญญาณอกุศลวิบาก เห็นสิ่งที่ไม่ดี ๑ ดวง โสตวิญญาณอกุศลวิบาก ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ๑ ดวง ฆานวิญญาณอกุศลวิบาก ได้กลิ่นที่ไม่ดี ๑ ดวง ชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก ลิ้มรสที่ไม่ดี ๑ ดวง กายวิญญาณอกุศลวิบาก รู้โผฏฐัพพะ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวที่ไม่ดี ๑ ดวง และสัมปฏิจฉันนจิตอกุศลวิบาก รับรู้อารมณ์เหล่านี้ต่อจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะที่เป็นอกุศลวิบากอีก ๑ ดวง เป็น ๖ ดวง เมื่อสัมปฏิฉันนอกุศลวิบากดับไปแล้ว กรรมเป็นปัจจัยให้สันตีรณอกุศลวิบาก พิจารณาลักษณะของอารมณ์นั้นต่ออีก ๑ ขณะ อีก ๑ ดวง รวมเป็นอกุศลวิบากจิต ๗ ดวง

ในอกุศลวิบากจิต ๗ ดวง เกิดกับอุเบกขาเวทนา ๖ ดวง เกิดกับทุกขเวทนาเพียงดวงเดียวเท่านั้น คือ กายวิญญาณ

ขณะที่เห็นสิ่งที่ไม่ดี เวทนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตเห็น เป็นอุเบกขาเช่นเดียวกับทางหู ทางจมูก ทางลิ้น เวทนาที่เกิดร่วมกับโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ เป็นอุเบกขา รวมถึงสัมปฏิจฉันนะและสันตีรณะที่เป็นอกุศลวิบาก เวทนาที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นอุเบกขา แต่ทางกายไม่เป็นอุเบกขา เวทนาที่เกิดร่วมกับกายวิญญาณที่รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เป็นทุกขเวทนา ถ้าเป็นในนรกก็สาหัส เจ็บแสบแรงกล้าทีเดียว

เวลาที่ท่านผู้ฟังรู้สึกเจ็บ เป็นความรู้สึก แต่อารมณ์ที่กระทำให้เกิดทุกขเวทนา จะพ้นไปจากร้อน จะพ้นไปจากแข็ง จะพ้นไปจากเย็นที่จะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ได้ไหมไม่ได้ สภาพของอารมณ์ คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ที่ทำให้เกิดทุกขเวทนาทางกายขึ้น

เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่เกิดในนรก ในอรรถกถาแสดงว่า

ในอเวจี อุเบกขาเวทนาไม่ปรากฏ

ทั้งๆ ที่อกุศลวิบากมี ๗ ดวง และอุเบกขาเวทนาเกิดกับอกุศลวิบาก ๖ ดวง นอกจากกายวิญญาณเท่านั้นที่เวทนาเป็นทุกขเวทนา แต่แม้กระนั้นอุเบกขาเวทนาไม่ปรากฏในอเวจี

อุปมาเหมือนกับน้ำผึ้ง ๖ หยาด ที่ลาดลงที่ปลายลิ้น แล้วเอาหยาดเหล็กแดงเพียงหยาด ๑ หยดลงไป หยาดเหล็กแดงเท่านั้นจะปรากฏ เพราะการเผาไหม้อย่างร้อนแรง ส่วนหยาดน้ำผึ้งนอกนี้เป็นอันไม่พูดถึง ไม่ปรากฏ ฉันใด ความทุกข์เท่านั้นปรากฏ เพราะเผาไหม้อย่างมีกำลัง ส่วนนอกนี้ คือ จิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๖ ดวงนั้น เป็นอัพโพหาริก คือ ไม่พอที่จะกล่าวได้

ทั้งทางตาเห็นสิ่งที่ไม่ดี หูได้ยินเสียงไม่ดี จมูกได้กลิ่นไม่ดี ลิ้นลิ้มรสไม่ดี แต่เวทนาที่เกิดกับจิตเหล่านั้นเป็นอุเบกขา แต่แม้กระนั้นก็ไม่ปรากฏ เพราะทุกขเวทนาที่เกิดกับกายวิญญาณในอเวจีนั้นมีกำลังเจ็บแสบแรงกล้าสาหัส จนกระทั่งอุเบกขาเวทนาไม่ปรากฏเลย

เคยมีทุกขเวทนาทางกายกันบ้างไหมในโลกมนุษย์ มาก แต่ยังไม่เท่าในนรก เทียบกันไม่ได้เลย เวลาที่ทุกขเวทนาปรากฏ อย่างอื่นที่เป็นอุเบกขาไม่ปรากฏเลย เพราะว่าทุกขเวทนาทางกายนั้นมีกำลัง เพราะฉะนั้น ในอเวจีจะไม่ปรากฏอุเบกขาเวทนาเลย มีแต่ทุกขเวทนาที่ปรากฏ

สำหรับเรื่องของผล คือ การเกิดในนรก ในอบายภูมิ ไม่มีท่านผู้ใดต้องการแน่ ถ้าไม่ต้องการผลจริงๆ มีทางเดียวเท่านั้น คือ ต้องละเว้นเหตุที่จะให้เกิดในอบายภูมิ ซึ่งในเรื่องนี้พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีใน เวรภยสูตรที่ ๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ความว่า

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี ผู้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า

ดูกร คฤหบดี ภัยเวร ๕ ประการของอริยสาวกสงบระงับแล้ว อริยสาวกประกอบแล้วด้วยโสตาปัตติยังคะ ๔ ประการ และญายธรรมอันประเสริฐ อริยสาวกนั้นเห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา อริยสาวกนั้นหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรก กำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ปิตติวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า

ภัยเวร ๕ ประการ เป็นไฉน

ดูกร คฤหบดี บุคคลผู้มีปกติฆ่าสัตว์ ย่อมประสบภัยเวรอันใดที่เป็นไปในปัจจุบันก็มี ที่เป็นไปในสัมปรายภพก็มี ได้เสวยทุกขโทมนัสที่เป็นไปทางใจก็มี ก็เพราะการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย

เมื่ออริยสาวกเว้นจากการฆ่าสัตว์แล้ว ภัยเวรอันนั้นเป็นอันสงบระงับไปด้วยประการฉะนี้

นี่เป็นเหตุที่จะให้ไปสู่นรก ไม่ต้องการผล แต่เว้นเหตุหรือยัง ถ้าไม่ถึงคุณธรรมของความเป็นพระอริยเจ้า ยังไม่ได้ดับเหตุที่จะให้เกิดในอบายภูมิ ยังมีเจตนาฆ่า ยังมีวธกเจตนา แต่ผู้ที่เป็นพระอริยสาวกแล้ว ไม่มีเจตนาอย่างนั้น เพราะว่าเว้นจากการฆ่าสัตว์

สำหรับทุจริตกรรมอื่น คือ บุคคลผู้ลักทรัพย์ พยัญชนะใช้คำนี้ แต่คงหมายถึงการถือเอาวัตถุที่ผู้อื่นไม่ให้ทุกประการ

บุคคลผู้ประพฤติผิดในกาม บุคคลผู้พูดเท็จ บุคคลผู้ดื่มน้ำเมา คือ สุรา เมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ย่อมประสบภัยเวรอันใด ที่เป็นไปในปัจจุบันก็มี ที่เป็นไปในสัมปรายภพก็มี ได้เสวยทุกขโทมนัสที่เป็นไปทางใจก็มี ก็เพราะดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเป็นปัจจัย

เมื่ออริยสาวกงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ภัยเวรอันนั้นเป็นอันสงบระงับไปด้วยประการฉะนี้

ภัยเวร ๕ ประการเหล่านี้ สงบระงับแล้ว

ทั้งหมดคือเหตุ ถ้าเว้นได้ก็จะทำให้ไม่เกิดในอบายภูมิเลย แต่ต้องเว้นได้จริงๆ ไม่อยากถูกฆ่า แต่ฆ่าคนอื่นบ้างหรือเปล่า ฆ่าสัตว์อื่นบ้างหรือเปล่า ไม่อยากให้บุคคลอื่นพูดเท็จกับตน แต่ท่านพูดเท็จกับคนอื่นบ้างหรือเปล่า

ข้อความต่อไปมีว่า

อริยสาวกประกอบด้วยโสตาปัตติยังคะ ๔ ประการ เป็นไฉน

ดูกร คฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้วไม่ขาด เป็นไปเพื่อสมาธิ

อริยสาวกประกอบด้วยโสตาปัตติยังคะ ๔ ประการเหล่านี้

อยากจะมีคุณธรรม คือ ความเป็นพระโสดาบันบุคคล ต้องเป็นผู้ที่เลื่อมใส ไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์

ถ้าท่านไม่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติจริงๆ จะเห็นคุณของสติไหม ไม่เห็น เมื่อไม่เห็นคุณของสติ จะเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระมหากรุณาเกื้อกูลแสดงเพื่อให้พุทธบริษัทเจริญสติเห็นคุณของสติได้ไหม ถ้าท่านไม่ใช่ผู้ที่มีปกติเจริญสติก็ไม่ได้ แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ท่านเห็นคุณของสติ คุณนี้ใครเป็นผู้ทรงแสดงไว้ ถ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อุบัติ ไม่ตรัสรู้ จะไม่ทรงแสดงหนทาง คือ การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานเลย

เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะทำให้ท่านมีความเลื่อมใส ไม่หวั่นไหวในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ จนกระทั่งประกอบด้วยคุณของพระโสดาบัน คือ โสตาปัตติยังคะได้

ข้อความต่อไปมีว่า

ก็ญายธรรมอันประเสริฐ อันอริยสาวกนั้นเห็นดีแล้ว

ก็ญายธรรมอันประเสริฐ อันอริยสาวกนั้นเห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วย ปัญญา เป็นไฉน

ดูกร คฤหบดี อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมกระทำไว้ในใจซึ่งปฏิจจสมุปปาทะ อย่างเดียว โดยอุบายอันแยบคายเป็นอย่างดีว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ย่อมเกิด ด้วยประการดังนี้

เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ย่อมดับ ด้วยประการดังนี้ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ เป็นต้น ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้

ก็เพราะอวิชชาดับด้วยการสำรอกโดยหาส่วนเหลือมิได้ สังขารจึงดับ เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้

ญายธรรมอันประเสริฐนี้ อริยสาวกนั้นเห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้ว ด้วยปัญญา

ดูกร คฤหบดี เมื่อใดภัยเวร ๕ ประการนี้ของอริยสาวกสงบระงับแล้ว อริยสาวกประกอบแล้วด้วยโสตาปัตติยังคะ ๔ ประการเหล่านี้ และญายธรรมอันประเสริฐนี้ อันอริยสาวกนั้นเห็นดีแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยปัญญา เมื่อนั้นอริยสาวกนั้นหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนด้วยตนเองได้ว่า เรามีนรก กำเนิดสัตว์ติรัจฉาน ปิตติวิสัย อบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า

ญายธรรม ในที่นี้หมายความถึงปฏิจจสมุปปาทะ

ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานที่จะไม่รู้ปฏิจจสมุปปาทะ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะแสดงว่า ไม่รู้ปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรม เมื่อไม่รู้ปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรม ที่จะละคลายไม่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ก็ไม่ได้ แต่การที่จะละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะรู้ปัจจัย

ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า มีท่านผู้ฟังอีกท่านหนึ่งไปสำนักปฏิบัติ แต่เวลาที่ท่านออกจากการปฏิบัติ ท่านก็กล่าวว่า การบรรยายให้เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานนี้จะทำให้ผู้บรรยายหรือผู้ที่ปฏิบัติตามตกนรก เพราะว่ากั้นการที่บุคคลนั้นจะทุ่มเทเวลาทำวิปัสสนาให้ติดต่อกันจนกระทั่งญาณเกิดได้ ท่านเห็นว่า การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ไม่สามารถทำให้เกิดวิปัสสนาญาณ

วิปัสสนาญาณคืออะไร จะเกิดได้อย่างไร และวิปัสสนาญาณนั้นรู้อะไร ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณแล้ว อยู่ที่ไหนก็รู้ได้ เจริญเหตุให้สมควรแก่ผล ขณะใดที่สติไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นก็เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

. ในขณะที่ระลึกรู้นามรูปตามความเป็นจริง ในขณะนั้นชื่อว่า วิปัสสนาญาณได้หรือไม่

สุ. ถ้าอย่างนั้นจะต่างอะไรกันกับขณะที่สติกำลังเริ่มเจริญ ขณะที่กำลังเริ่มเจริญ ก็รู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรม ถ้าขณะนั้นเป็นวิปัสสนาญาณก็ไม่ต้องทำอะไรกัน ก็เป็นวิปัสสนาญาณไปทุกขณะ ไม่ต้องใช้คำว่าวิปัสสนาญาณก็ได้โดยลักษณะนั้น

แต่วิปัสสนาญาณนั้น คือ ความรู้ชัด เป็นความรู้จริงๆ ในสภาพของสิ่งที่กำลังปรากฏ ตรงลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ

ปัญญา คือ ความรู้ชัด กำลังเห็น รู้ชัดคืออย่างไร เมื่อไม่ทราบจึงต้องเจริญสติเพื่อจะได้รู้ว่า ที่รู้ชัดนั้นรู้อะไร อย่าเพิ่งรู้ชัดอย่างนั้นโดยเร็ว

สำหรับท่านที่เข้าใจว่า เมื่อไปสู่สำนักปฏิบัติ ท่านจะพากเพียรติดต่อกันจนวิปัสสนาญาณเกิด ท่านไม่เห็นว่า การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานนั้น มีคุณมีประโยชน์สามารถจะทำให้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ ท่านเข้าใจว่า ท่านไปพากเพียรที่สำนักปฏิบัติจนกระทั่งวิปัสสนาญาณเกิดเป็นอุทยัพพยญาณ เป็นการประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามและรูป แต่ว่าตามปกติ ตามธรรมดาขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก กำลังเป็นสุข เป็นทุกข์ นั่ง นอน ยืน เดิน พูด นิ่ง คิด กระทำกิจการงานต่างๆ สติไม่ได้รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

สติของผู้ที่กล่าวว่า ท่านประจักษ์ความเกิดดับของนามและรูปแล้วนั้น ไม่สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดปรากฏและดับไปตามปกตินี้เลย อย่างนั้นหรือชื่อว่าท่านได้ถึงวิปัสสนาญาณ

ท่านเข้าใจว่า เวลาที่ไปพากเพียรอย่างนั้น ทุ่มเทอย่างนั้น ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามรูป แต่โดยปกติอย่างนี้ สติไม่เคยระลึกรู้ตรงลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด ของรูปธรรมแต่ละชนิด

อิสสาเกิดขึ้น เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เห็นเกิดขึ้น เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ขุ่นเคืองใจเกิดขึ้น เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ตามปกติในชีวิตจริงๆ เป็นนามธรรม และรูปธรรมแต่ละชนิด แต่ท่านกล่าวว่า ท่านไปพากเพียรและถึงอุทยัพพยญาณ แต่ท่านไม่สามารถระลึกรู้ตรงลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมตามปกติในชีวิตประจำวันได้ อย่างนั้นจะเชื่อได้ไหมว่าเป็นวิปัสสนาญาณ ถ้าเชื่ออย่างนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนั้นว่า ถึงอุทยัพพยญาณ โดยไม่สามารถระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง ชื่อว่ารู้ผิด หรือรู้ถูก

สติไม่สามารถที่จะระลึกตรงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ทางตาขณะนี้ ทางหูขณะนี้ จมูก ลิ้น กาย ใจในขณะนี้เลย แต่เข้าใจว่า สามารถประจักษ์ความเกิดดับของนามและรูป อย่างนั้นชื่อว่ารู้ผิด หรือรู้ถูก ทำไมไม่เฉลียวใจว่า ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณจริงๆ ย่อมสามารถที่จะรู้ชัด และแทงตลอดในนามธรรมและรูปธรรมทั้งปวงที่ปรากฏ สติระลึกตรงลักษณะนั้นได้ และปัญญาต้องเพิ่มอีกมากทีเดียวกว่าจะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป ด้วยปัญญาที่แทงตลอดในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏตามความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น ผู้นั้นหลอกตัวเองหรือเปล่าว่าได้วิปัสสนาญาณ เพราะไปพากเพียร ไปทุ่มเท โดยที่ปกติไม่สามารถระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ เป็นการหลอกตัวเองหรือเปล่าว่ารู้ ว่าถึงวิปัสสนาญาณ นอกจากจะเป็นการหลอกตัวเองแล้ว ยังขอให้คนอื่นรับรองว่าถึงแล้ว ทำไมต้องให้คนอื่นรับรองว่าเป็นอุทยัพพยญาณ ในเมื่อสติไม่ได้ระลึกรู้นามธรรมและรูปธรรมตามปกติจนปัญญาเพิ่มขึ้นและรู้ชัดจริงๆ แต่กลับเข้าใจว่าประจักษ์ความเกิดดับ

ซึ่งวิปัสสนาญาณจริงๆ เป็นปัญญาที่รู้แจ้งในสภาพธรรมที่ปรากฏตรงลักษณะตามปกติ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่หลอกว่า ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปแล้ว แต่ผู้นั้นเองกลับกล่าวว่า สติไม่สามารถที่จะเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติได้

นี่เป็นเหตุจำเป็นที่จะต้องเน้นเรื่องนี้ เพื่อการเจริญปัญญาของท่านผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เจริญวิปัสสนา จะได้ไม่เข้าใจสภาพธรรมคลาดเคลื่อนหรือผิดไป


หมายเลข  6079
ปรับปรุง  9 ก.ค. 2566