แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 248


ลักษณะของอกุศลนั้นหยาบกระด้างมากน้อยเท่าไร คนอื่นไม่ทราบ มีกำลังแรงเท่าไร ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานทราบตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรม ตราบใดที่ยังมีโลภะอยู่ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ไปบิดเบือนโลภะที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้ว เพราะว่ามีปัจจัยจึงได้เกิดขึ้นในลักษณะอย่างนั้นๆ ซึ่งผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจะละด้วยการรู้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่ละ ถ้าขณะนั้นสติไม่เกิด ไม่พิจารณา ไม่ตรงต่อสภาพธรรมนั้นจริงๆ ก็ละการที่จะยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนไม่ได้

ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งปฏิบัติวิปัสสนาแบบต่างๆ มากมายเหลือเกิน เพราะว่าท่านต้องการจะทดลองทุกวิธี ในขณะที่กำลังทดลองแต่ละวิธีนั้น ก็ไม่ทราบว่าเป็นไปเพราะความต้องการ ไม่ทราบว่าเป็นไปเพราะตัณหา ไม่ทราบว่าผสมกับความเห็นผิด เพราะเหตุว่าตัณหากับมิจฉาทิฏฐิเกิดร่วมกัน ความต้องการอย่างมากมายที่จะได้ผลอย่างรวดเร็ว ทำให้ทดลองข้อปฏิบัติผิด แต่ขณะที่กำลังทดลองนั้น ไม่ทราบว่าเป็นไปด้วยความต้องการ และเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง ท่านผู้นั้นหลอกแม้แต่ตัวเอง เหมือนกับมีคนสองคนอยู่ในตัว หลอกล่อกันอย่างนั้นอย่างนี้ หรือว่าแอบดูตรงนี้เป็นอย่างไร ตรงนั้นเป็นอย่างไร เป็นเรื่องของบทละคร เป็นความคิดนึก แต่เพราะความเห็นผิดว่าเป็นตัวตนยังมีมากเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ก็กลายเป็นเพิ่มเป็นสองบุคคล บางครั้งตัวท่านเป็นอย่างนี้ และกิเลสก็มาอย่างนั้น บางทีกิเลสก็เป็นตัวท่านบ้าง และสภาพธรรมที่เป็นกุศลก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งบ้าง

แต่ถ้าระลึกจริงๆ สภาพจิตใจของท่านเองจะน่ารังเกียจ จะน่าละอาย จะเป็นอกุศลมากน้อยเท่าไร คนอื่นรู้ไม่ได้ แต่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นผู้ตรง ระลึกรู้ชัดในสภาพธรรมนั้นว่า เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จึงจะละการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้

บางคนได้รับคำชม คำสรรเสริญ ก็ปรารถนาแต่คำสรรเสริญ คำชมเชย หนักไหมด้วยความปรารถนา บางทีได้รับกระทบกับคำนินทา เดือดร้อนวุ่นวาย ถือเป็นจริงเป็นจัง เป็นตัวเป็นตน หนักอีกแล้ว ที่กำลังเดือดร้อนเป็นสภาพที่หนัก ไม่เบา แต่พอสติระลึกได้ รู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้นเบาแล้ว หมดแล้ว จะเดือดร้อนอะไร มีนามมีรูปใหม่ที่กำลังปรากฏ และสติระลึกรู้ แล้ว สภาพนั้นหมดแล้ว ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สติระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่เกื้อกูล เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ เป็นเรื่องที่ทำให้เบาจากอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เคร่งเครียด ไม่ใช่ทำแล้วไม่สบาย ไม่ใช่ทำแล้วเหนื่อย ไม่ใช่ทำแล้วหนัก แต่เป็นปกติ

ที่หนัก เพราะอกุศลธรรมมาก เพราะความเป็นตัวตน เพราะการยึดถือ แต่ขณะใดที่สติระลึกได้ในสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะนั้นเบาจากอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น ควรเจริญไหม ไม่ใช่ว่าพอเจริญไปก็บอกว่า เจริญสติมากไปเสียแล้ว ทำไมมีคำพูดอย่างนี้ได้ ในเมื่อสติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง เพราะว่าปกติหลงลืมสติกันมากมายเหลือเกิน ซึ่งที่ถูกแล้ว ไม่ว่าจะเห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้กลิ่นอะไร ลิ้มรสอะไร รู้โผฏฐัพพะอะไร รู้ธัมมารมณ์อะไร สติควรจะเกิดเพื่อระลึกรู้สภาพนั้นตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าสติมากไปเสียแล้ว เพราะว่าการเจริญผิดทำให้ผิดทั้งหมดแม้แต่ความเข้าใจ และทำให้เหนื่อย ทำให้หนัก ทำให้เกิดโทษ ซึ่งนั่นไม่ใช่การเจริญปัญญา เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสติกับปัญญาแล้ว จะไม่มีโทษประการใดเลยทั้งสิ้น

ขออ่านจดหมายของท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง จากสำนวน และการเขียนตัวสะกด ก็พอที่จะทราบได้ว่า เป็นท่านผู้สูงอายุ ท่านเขียนมามีข้อความว่า

กรุณาช่วยแก้ไขปัญหาที่ได้ขัดข้องและสงสัยอยู่นี้ให้แจ้งสักครั้งเถอะ ฉันได้กระทำความเพียรมา ๑๐ กว่าปีแล้ว ที่ทำนั้นก็ได้กำหนด ทานข้าวอยู่ก็ได้พิจารณาอาหารว่ามันเป็นของปฏิกูลอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ตั้งแต่เช้าถึงเย็น แล้วมันก็บูดก็เน่าเหม็นไปตามลักษณะของเขา แล้วก็น้อมมาหาสังขารของเรา ก็อยู่ไปชั่วขณะเหมือนกัน แล้วก็แตกดับไปในท่ามกลาง แล้วก็ทะลายไปในที่สุด (ซึ่งคงจะหมายความถึงสลายไป หรือว่า แล้วก็ทำลายไป) แล้วจิตก็แล่นเข้าดวงใจของเรา แล้วก็เบื่ออาหาร ไม่อยากจะทานข้าวเลย เช่นนี้ เป็นอย่างนี้อยู่ ๔ ครั้ง

ครั้งที่ ๑ เบื่ออาหาร ครั้งที่ ๒ ก็เห็นอาหารนั้นมันมีโทษร้ายกาจจนไม่อยากจะทานข้าว อยากจะทานถั่วและงา ไม่อยากอาหารเลย แล้วก็ครั้งที่ ๓ ก็พิจารณาเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เห็นคนที่เดินเป็นแถวๆ นั้น แล้วมันเป็นร่างกระดูก เป็นผีดิบที่เดินได้ แล้วน้อมเข้ามาสังขารของเรา ตนเอง แล้วมันก็แล่นเข้าดวงจิต แล้วมันก็เห็นมนุษย์ด้วยกัน มันให้เกลียด ไม่อยากเห็นเลย ไม่อยากจะอยู่ด้วยเลย อยากจะหนีไปอยู่ป่า แต่ผู้เดียว เห็นมันวุ่นวายไปหมด เช่นนี้

แล้วก็ครั้งที่ ๔ นั้น ฉันได้นั่งดูหนังสืออยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็พิจารณาตัวของตัวเองว่ามันเป็นของเน่าเหม็นทั้งตัวมากมาย แล้วจิตก็อยู่ดีไม่ไปไหนเลย อยู่ที่ร่างไม่ไปที่อื่นเลยแล้วมันก็แล่นขึ้นมาจากขา แล้วก็ขึ้นมาสะโพก แล้วมาที่ท้อง แล้วก็ขึ้นศีรษะ แล้วก็ (ไม่ทราบว่าจะเป็นทรุดหรือว่าหลุด) จากศีรษะขึ้นไปชั้นเบื้องบน แล้วก็ลืมตัวด้วยแล้วว่า ตัวของตัวขึ้นไปชั้นบนแล้ว ก็เห็นพื้นบนนั้นกว้างยาว แล้วก็มองไปจนสุดสายตา แล้วหันดูไปจนรอบตัวทั่วไปหมด ไม่มีอะไรเลย มีแต่ที่เตียนไปหมด ไม่มีอะไรเลย แล้วก็รำลึกนึกถึงคุณของพระธรรมนั้น เด่นถึงเพียงนี้ แล้วก็น้อมถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แล้วถึงได้รู้ตัวขึ้นว่า กูเป็นอะไรเช่นนี้ (ท่านเขียนมาว่าอย่างนั้น) แล้วสติก็รู้ชัดเจนขึ้นทุกๆ ครั้ง เท่าที่เกิดกับดวงจิตที่แล่นเช่นนี้ จะได้รับผลเช่นไรหรือไม่

สุ. นี่เป็นความสงสัยใช่ไหม เรื่องผล และต้องการด้วย คือ ต้องการผลเหลือเกิน เป็นเหตุให้กระทำผิดปกติไปถึงอย่างนี้ และยังไม่หมดความปรารถนา ยังคงสงสัยว่า จะได้รับผลเช่นไรหรือไม่

ข้อความต่อไป

ขอจงอธิบายให้ตลอดด้วย ฉันได้ถามตามอาจารย์ ท่านก็ไม่บอก เป็นแต่ท่านว่าเป็นอจินตาเท่านั้น ก็ยังไม่แจ้ง อจินตานั้นก็ยังไม่รู้ว่าเป็นเช่นไร ขอให้อธิบายด้วย

สุ. เป็นการทำวิปัสสนาโดยที่ไม่มีความรู้ ความเข้าใจในมรรคมีองค์ ๘ ในการเจริญปัญญา แม้แต่ในขั้นของการฟังว่า ปัญญาที่จะละกิเลสได้เพราะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกตินี้เอง เมื่อไม่มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง การปฏิบัติก็คลาดเคลื่อน ผิดไป

ข้อความต่อไปมีว่า

การกระทำนั้น ก็กำหนดทำวิปัสสนาตลอดมา ก็กำหนดพองหนอ ยุบหนอ แล้วก็ได้เห็นท้องชัดเจน แล้วก็เห็นตามลำดับ พองยุบนั้นเร็วบ้าง ช้าบ้าง ไปจนกระทั่งพองยุบนั้นหายไป ก็กำหนดรู้หนออยู่ครู่หนึ่ง ก็มีขึ้นมาอีก มาเห็นนิดเดียว พอรู้นิด แล้วก็หายไปอีก

สุ. ท่านก็จดจำไว้ได้แม่นยำว่าอะไรเกิดขึ้นกับท่าน แต่ไม่ใช่การรู้สภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง

ข้อความต่อไปมีว่า

ต่อไป ตอนสมาธิดีแล้ว เวทนาบังเกิดแรงมาก ปวดตามขาก็กำหนด มันก็เลื่อนหนีตะโพกแล้วขึ้นตามหลัง แล้วหนีขึ้นไปคอ แล้วก็ขึ้นถึงศีรษะ แล้วออกศีรษะ ร้อนบ้าง เย็นบ้าง อยู่หลายครั้งอย่างนี้ จะเป็นเช่นไร แล้วจะได้ผลหรือไม่ได้ ก็ให้อธิบายให้รู้แจ้งด้วย ฉันได้ทำมาจนเท่าทุกวันนี้ ก็ยังละเลย แต่การกระทำนั้นมันดับ หรือนั่งหลับกันแน่ ก็ยังสงสัยอยู่ ถ้าเดินจงกรม ๓๐ นาที มันก็ดับไปถึง ๓๐ นาทีเหมือนกัน ถ้าเดิน ๑ ชั่วโมง มันก็หลับไป ๑ ชั่วโมงเหมือนกัน อย่างนี้ก็จะเป็นเช่นไร ช่วยแก้ไขให้ฉันสักครั้งเถิด

สุ. ท่านผู้ฟังมีความเห็นอะไรบ้างไหมในเรื่องนี้ ขอให้ท่านผู้ฟังท่านนี้รับฟังพระธรรมต่อไปอีก พร้อมด้วยการพิจารณาไตร่ตรองในเหตุผล และทิ้งข้อปฏิบัติทั้งหมดที่ไม่ทำให้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง

ขอกล่าวถึงการสนทนากับท่านผู้ฟังบางท่าน ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งสงสัยว่า ทำไมเวลาที่พูดถึงการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จึงไม่ได้บอกว่า จะต้องไปสำนักหนึ่งสำนักใด เพราะท่านเข้าใจว่า สำนักปฏิบัติเป็นสถานที่ที่รื่นรมย์ พ้นจากเรื่องกังวล เรื่องบ้าน เรื่องครอบครัว เรื่องวงศาคณาญาติทั้งหมด เป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ท่านเข้าใจว่าอย่างนั้น เพราะท่านไม่เคยไปสู่สำนักหนึ่งสำนักใดเลย ท่านก็นึกภาพว่า สำนักปฏิบัติจะเป็นสถานที่ที่รื่นรมย์ ทุกท่านก็ดำเนินชีวิตเป็นปกติสะดวกสบายเหมาะแก่การที่จะเจริญสติปัฏฐาน ถ้าผู้นั้นไปสู่สำนักปฏิบัติจริงๆ และศึกษาข้อปฏิบัติของสำนักปฏิบัตินั้น ท่านจะรู้ทันทีว่า ท่านจะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานได้ หรือไม่ได้

ซึ่งสำนักปฏิบัติบางแห่งเกือบจะดูเหมือนไม่มีข้อปฏิบัติที่จำกัด หรือว่าห้ามที่จะไม่ให้มีชีวิตเป็นปกติประจำวัน แต่แม้กระนั้นผู้ที่เคยมีปกติฟังธรรม ฟังวิทยุ ก็ไม่ฟังธรรม ไม่ฟังวิทยุ ดูเหมือนว่าสำนักนั้นเกือบจะเป็นปกติแล้ว แต่ว่าทุกท่านในที่นั้นไม่มีการฟังวิทยุ อยากฟังหรือเปล่า ต้องการฟังธรรมเพื่อจะได้พิจารณาธรรม เป็นปกติของท่านหรือเปล่า ซึ่งเวลาปกติธรรมดาท่านฟัง เพราะว่าการฟังธรรมย่อมเกื้อกูลแก่การพิจารณาธรรม แต่ทำไมท่านไม่ฟังเวลาไปอยู่ในสถานที่นั้น ทราบไหมว่าทำไมไม่ฟัง เพราะเห็นว่าเป็นสถานที่ที่สงบ ทุกคนสงบมาก ก็เลยไม่กล้าที่จะฟังอย่างนั้นหรือ ถ้าเป็นอย่างนั้น จะเป็นปกติไหม

ขอให้ทราบว่า ถ้าตราบใดที่ท่านยังไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจริงๆ ไม่ชื่อว่าเป็นการเจริญสติปัญญาเลย ซึ่งถ้าเป็นการเจริญสติปัญญาจริงๆ คือ การอบรมให้สติระลึกเป็นปกติ ตามปกติ และสามารถที่จะรู้ความเป็นปกติว่า เป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรมเท่านั้น

ท่านผู้ฟังอีกท่านหนึ่ง ท่านผู้นี้ท่านก็อยากจะละกิเลสให้หมดสิ้นโดยเร็วทีเดียว ท่านทำอย่างไร ท่านไปภาคเหนือ ไปทำสังฆทาน ท่านเล่าให้ฟังว่า จิตก็ไม่เป็นสังฆทาน นี่เป็นการเร่งรัดอัตตาอะไรหรือเปล่า จะให้จิตเป็นอย่างนั้น จะให้จิตเป็นอย่างนี้ การขัดเกลากิเลสไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งๆ ที่รู้ว่า เมื่อมีการถวายทาน ที่กุศลจิตจะเกิดและมีอานิสงส์มาก ก็ในขณะที่นอบน้อมระลึกถวายแด่พระอริยเจ้า เพราะจิตขณะนั้นจะผ่องใส และระลึกถึงผู้ที่เจริญหนทางข้อปฏิบัติที่ขัดเกลาชำระกิเลสจนดับได้หมดสิ้น ท่านผู้นั้นทราบหลัก ทราบเรื่องของสังฆทาน ก็พยายามจะทำสังฆทาน แต่ก็รู้ตัวว่าไม่ใช่สังฆทาน จะบังคับจิตใจกันได้อย่างไร อกุศลมากมาย จะให้หมดเร็วๆ อยากเพิ่มกุศลขึ้นมากๆ แต่ก็เป็นการดีที่ท่านผู้นั้นทราบจิตใจของท่านในขณะนั้นว่า ไม่ใช่สังฆทาน และก็ไม่ได้มีกุศลเกิดมากมาย เพราะว่ามีอกุศลเกิดมากในขณะนั้น เป็นของธรรมดา และท่านผู้นั้นบอกว่าเลยทำไม่ถูก หมายความว่าเจริญสติปัฏฐานไม่ถูก ทราบไหมว่าเพราะอะไร ก็เพราะตัวตนจะทำ ซึ่งทำไม่ได้ ถ้าจะทำ ไม่มีวันที่จะถูก เพราะว่าไม่ใช่อัตตา แม้แต่จะทำให้จิตเป็นสังฆทานยังทำไม่ได้เลย ขณะนั้นอกุศลจิตเกิดแล้ว ขณะนั้นสติจะต้องระลึกได้ว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ความสงสัยเกิดขึ้น สติก็ระลึกได้ว่า ลักษณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นความละเอียดที่จะต้องรู้จนทั่ว จนละเอียด จึงเป็นทางที่จะละได้

. ผมสังเกตดูในขณะนี้หรือในปัจจุบันนี้ การอธิบายสติปัฏฐานก็ดี หรือวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ดี มีอยู่ ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมีอาจารย์หลายท่าน ท่านแสดงวิธีหรือว่าแนะแนวการเจริญสติปัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ว่า จะต้องจำกัดอารมณ์ จำกัดสถานที่ และจำกัดกาลเวลาด้วย จำกัดอารมณ์คืออย่างไร ท่านก็แสดงว่าอารมณ์อย่างนั้น รูปอย่างนั้น นามอย่างนี้ บางรูปบางนามไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ นี่เรียกว่าจำกัดอารมณ์ จำกัดสถานที่ หมายความถึงจะไปปฏิบัติที่ไหนไม่ได้ นอกจากจะไปสู่สำนักปฏิบัติเท่านั้น

จำกัดกาลเวลาคืออย่างไร ปฏิบัติตามปกติเช่นนี้ไม่ได้ จะต้องไปสู่สำนักปฏิบัติ หมกตัวอยู่ที่นั่น อาจจะเป็น ๗ วัน ๑๐ วัน หรือว่าสัปดาห์ ๑ อาทิตย์ ๑ ก็ตามใจ หรือเดือนหนึ่ง ๓ เดือน ก็สุดแล้วแต่ นั่นคือจำกัดเวลา นอกจากเวลานั้น ก็ปฏิบัติไม่ได้ นี่เป็นการแนะของท่านอาจารย์ทั้งหลายกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีหลายท่านด้วยกัน และ ที่สำคัญที่สุด คือ ท่านเน้นมากทีเดียวเรื่องรูปนอน รูปนั่ง รูปยืน รูปเดิน ท่านเน้นตรงนี้มาก เพราะเหตุว่าถ้ารู้ตรงนี้เรียบร้อยแล้ว อื่นๆ ไม่ต้องรู้ก็ได้ เป็นอันว่ารู้หมด ทั่วถึงหมด ท่านว่าของท่านอย่างนั้น

นี่เป็นข้อสังเกตของกระผม สำหรับท่านอาจารย์เหล่านั้น และมีผู้ที่อยากจะศึกษาว่า รูปนอน รูปนั่ง รูปเดิน รูปยืนนี้คืออย่างไร ท่านก็อธิบายว่า เป็นท่าทาง ท่านว่าอย่างนั้น นั่งนี่ก็เป็นท่าหนึ่ง นอนก็เป็นท่าหนึ่ง ยืนก็เป็นท่าหนึ่ง เดินก็เป็นท่าหนึ่ง ถ้าเอาท่าทางอย่างนี้ ขณะที่นั่งอยู่นี้ ท่านผู้ฟังทั้งหลายที่นั่งอยู่ ณ ที่นี้ ทุกคนท่าทางไม่เหมือนกันเลย บางคนก็นั่งเท้าแขน บางคนก็นั่งห้อยเท้า บางคนก็นั่งไขว้ขา บางคนก็นั่งท่าโน้นท่านี้ อะไรก็แล้วแต่ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานนั้นรู้อย่างไรในท่าต่างๆ เหล่านี้ ก็ซักถามกันต่อไปอีกว่า รูปมากมายก่ายกอง เดินก้าวหนึ่ง ก้าวเดียว ไม่ต้องมากหรอก เดินก้าวหนึ่ง คืบไปแต่ละเซ็นติเมตร รูปก็เปลี่ยนไปแล้วกว่าจะถึงหนึ่งก้าว สมมติว่า ๔๐ เซ็นติเมตร หรือ ๕๐ เซ็นติเมตรก็ตามแต่ รูปก็มากมายตั้ง ๔๐ รูป ๕๐ รูป และผู้ที่เจริญสตินั้นรู้หรือว่า รูปได้ดำเนินไปอย่างนี้ ท่านรู้หรือเปล่า อย่างนี้ก็ลำบาก แล้วจะรู้อย่างไร ท่าทางต่างๆ ไม่ใช่รูปปรมัตถ์ ท่านก็ว่า รูปปรมัตถ์นี่แหละ วิการรูปไง ท่านอ้างวิการรูป


หมายเลข  6085
ปรับปรุง  13 ก.ค. 2566