ปกิณณกธรรม ตอนที่ 25
ตอนที่ ๒๕
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ
พ.ศ.๒๕๓๖
ท่านอาจารย์ ถ้าเราจะไปสนใจเรื่องอื่น เราไม่มีทางที่จะมีความรู้เพิ่มขึ้น เพราะเรามัวแต่ เรื่องนี้ เรื่องนั้น เรื่องโน้น ไม่มีวันจบ แต่เรื่องที่มีอยู่แล้วในพระไตรปิฏกที่เป็นคำสอน ที่จะทำให้ปัญญาของเราเกิดรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วเราไม่สนใจเรื่องนี้ และเราไปยกเรื่องอื่นขึ้นมาเรื่อยๆ ก็ไม่มีวันจบ เรื่องที่ควรจะเป็นสาระประโยชน์ก็ไม่ได้
ผู้ฟัง ต่อไปนี้ ถ้ามีการสนทนาในนอกประเด็น นอกปัญหา ก็คงจะต้องรีบตัดบทไปก่อน
ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่คนนั้นว่า เขาต้องการอะไร ถ้าเขาต้องการจิตนิ่ง จิตนิ่งเป็นอย่างไรที่ต้องการ ทำไมถึงต้องการจิตนิ่ง ต้องมีเหตุผล เรื่องของปัญญา และเป็นเรื่องของเหตุผลทั้งหมด ตอบได้ อธิบายได้
ผู้ฟัง เขาอาจจะใช้คำพูดผิดหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่เป็นไร ก็ให้เข้าใจถูกต้องว่า จิตนิ่งของเขาที่เขาต้องการ คือจิตประเภทไหน อย่างไร ทำไมถึงต้องการจิตนิ่ง นิ่งแล้วเป็นอย่างไร มีประโยชน์อย่างไร
ผู้ฟัง หมายความว่า ดูตัวเองเท่านั้นเอง
ท่านอาจารย์ ถ้าสมมติว่า มีคนหนึ่งตระหนี่มาก แล้วเขาเกิดกุศลจิต บริจาคเงินช่วยเหลือเด็กยากจน ขาดอาหาร เราพลอยยินดีที่คนนี้มีกุศลจิต ซึ่งเขาแต่ก่อนไม่เคยมีเลย ขณะนั้น เรายินดีในกุศล จิตของเราเป็นกุศล
ธรรมหมายความถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง เพราะฉะนั้นอะไรบ้างที่เป็นธรรม ลองคิด กว้างแสนกว้าง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง และให้ตอบทีละอย่าง ถ้ากว้างๆ ตอบได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง แต่พอให้ยกตัวอย่างว่าอะไรบ้าง ลองยกตัวอย่างจะได้เข้าใจว่า ที่ฟังเข้าใจอย่างไร
ผู้ฟัง น้ำเป็นของเหลว
ท่านอาจารย์ เห็นไหม จะตอบไปในทางแนวที่ศึกษาตามโรงเรียนว่า น้ำเป็นของเหลว ของเหลวอันนี้รู้ได้ทางไหน
ผู้ฟัง ทางตา
ท่านอาจารย์ ทางตา เหลวอย่างไร
ผู้ฟัง เห็น
ท่านอาจารย์ เห็นทางตาไม่เหลว ทางตาเห็น นี่แสดงให้เห็นว่า กว่าจะเข้าใจธรรมว่า ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ เราคิดเองหมด แต่ว่าถ้าเราศึกษาแล้วจะรู้ว่าตรงกันข้ามกับที่เราเคยคิดเคยเข้าใจ ดูจริงๆ เวลานี้ทุกคนกำลังเห็น แน่นอน การเห็นเป็นธรรมหรือเปล่า เป็น เพราะเป็นของจริง แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นด้วย สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นของจริงหรือเปล่า จริง เป็นธรรมหรือเปล่า ธรรมคือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาให้เห็นในขณะนี้ มีจริงๆ ไม่ใช่เราต้องไปนึก ไม่ต้องนึก ลืมตาขึ้นมาก็เห็น เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นทางตา เป็นธรรมหรือเปล่า เป็นธรรม ต้องตรง แล้วก็ต้องไม่มีมีข้อที่จะไปบิดเบือน หรือสงสัย หรือถ้ามีอะไรก็ถามกันเลยว่าทำไมถึงว่าจริง ทำไมถึงว่าเป็นธรรม แต่ถ้าเราใช้หลักที่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม เห็นในขณะนี้เป็นธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้เป็นธรรม แล้วถ้าพรุ่งนี้มีคนถามว่า เห็นเป็นธรรมหรือเปล่า จะตอบว่าอย่างไร สำหรับพรุ่งนี้ไม่ใช่ที่นี่ ถ้าบังเอิญไปเจอเพื่อนๆ และก็มีเพื่อนถามว่า เห็นเป็นธรรมหรือเปล่า จะตอบว่าอย่างไร จะตอบว่าเป็นหรือว่าไม่เป็น เป็น กี่วันๆ ก็ต้องตอบว่าเป็น ไม่ใช่ตอบว่าเป็นเฉพาะที่นี่ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรมหรือเปล่า นี่คือความไม่แน่นอน เมื่อกี้นี้เราบอกแล้วว่า ธรรม หมายความถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง และสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ก็มีจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็ย้อนถามกลับไปว่า แล้วสิ่งที่กำลังปรากฏทางตานี้เป็นธรรมหรือเปล่า เมื่อกี้พูดถึงเรื่องธรรม หมายความถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ เห็นในขณะนี้ก็มีจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็ถามให้แน่ใจว่า เห็น เป็นธรรมหรือเปล่า เป็น และขณะที่เห็น ก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นด้วยทางตาในขณะนี้เป็นของจริง ไม่ได้นึกคิดขึ้นมา ไม่ได้สร้าง แต่พอเห็นก็ต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาให้เห็น เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็นทางตา เป็นธรรมหรือเปล่า เป็น ปฏิเสธได้อย่างไร ในเมื่อทีแรกบอกแล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีจริงๆ ธรรมหมายความถึงสิ่งที่มีจริง แล้วสิ่งนั้นมีสภาพลักษณะของตนๆ ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง อย่างลักษณะที่แข็ง ใครจะไปเปลี่ยนสภาพที่แข็ง ให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ ให้เป็นเผ็ดก็ไม่ได้ เวลาที่เผ็ดกระทบลิ้นปรากฏ จะไปเปลี่ยนเผ็ดให้เป็นหวานก็ไม่ได้ นี่คือธรรม เพราะฉะนั้น ไม่มีใครทำอะไรได้ นี่ต้องเข้าใจ ส่วนใหญ่คนที่คิดว่าจะทำ ผิด แต่ธรรมมีจริงสามารถอบรม เจริญปัญญา ให้รู้จริง ให้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริงได้ แต่ไม่ใช่ให้เราไปทำไม่มีกิเลส หรือไปทำไม่โลภ ไปทำไม่โกรธ ไม่ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจผิดถ้าคิดว่าจะทำ
ผู้ฟัง คือเรารู้มันผิด แล้วเราละตรงนี้ได้
ท่านอาจารย์ ไม่มีทาง เพราะว่าเราทำอะไรไม่ได้ แต่ปัญญาทำกิจของปัญญา โลภะทำกิจของโลภะ โทสะทำกิจของโทสะ สภาพธรรมแต่ละชนิดมีกิจการงานเฉพาะของเขา แลกเปลี่ยนกันไม่ได้ อย่างโลภะความติดข้อง จะไปทำกิจของสติก็ไม่ได้ การระลึกถูกต้องไม่ได้ ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด ซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นลักษณะของปัญญา เป็นสภาพที่รู้จริง ตามความเป็นจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าไม่ใช่ปัญญา เป็นอวิชชา เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้ แม้ว่ากำลังเผชิญหน้ากับธรรม ก็ไม่สามารถจะรู้ความจริงของธรรมได้ เพราะฉะนั้นอวิชชาทำอะไรไม่ได้เลย ความเป็นตัวตน ความเห็นผิดว่าเป็นเรา จะเป็นกิเลสอะไรก็ไม่ได้ ต้องเป็นปัญญา ที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น อบรมขึ้น จนกว่าสมบูรณ์ สามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมได้ แต่เราทำอะไรไม่ได้เพราะไม่มีเรา มีแต่อวิชชา การไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นจึงต้องอบรมเจริญปัญญาด้วยการฟัง ด้วยการพิจารณา เริ่มเข้าใจขึ้น ขณะที่เข้าใจ เป็นการเริ่มต้นของปัญญา ที่จะค่อยๆ เจริญขึ้น เพราะปัญญารู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะนี้ทางตามีเห็น มีสิ่งที่ปรากฏ มีเสียง มีได้ยิน มีคิดนึก มีสุข มีทุกข์ มีโลภ มีโกรธ มีหลง เหล่านี้เป็นสภาพธรรม ซึ่งปัญญาสามารถที่จะค่อยๆ เริ่มเข้าใจขึ้นได้ แต่ไม่มีเราซึ่งจะทำ ถ้าใครคิดว่าจะทำ อันนั้นไม่ถูก เพราะเหตุว่าเป็นตัวตน แต่ตัวตนไม่มีเลย มีแต่สภาพธรรมแต่ละอย่าง นี่เป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ ไป ค่อยๆ ฟัง ตลอดชีวิต แล้วก็ชาติหนึ่งก็ยังไม่พอ เพราะว่าจะจบสิ้นต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์ ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็ต้องมีการศึกษา มีการปฏิบัติ มีการฟัง มีการเข้าใจธรรมไปเรื่อยๆ เพิ่มขึ้นๆ มีใครที่สงสัยเรื่องธรรมหรือเปล่า คำว่า ธรรม คำเดียว สิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้ ยกตัวอย่างอีก ต้องไปตามลำดับ เสียงเป็นธรรมหรือเปล่า เป็น ได้ยินก็เป็น เพราะฉะนั้น น้ำไหล เป็นสิ่งที่เราเห็นทางตาเป็นไปได้ไหม น้ำไหลไม่ใช่สิ่งที่จะรู้ได้ทางตา หูได้ยินเสียง ได้ยินเสียง หลังจากได้ยินแล้ว คิด อันนี้สำคัญที่สุดที่จะต้องรู้ว่า เราอยู่ในโลกของความคิดตลอดเวลา ทันทีที่เห็น สิ่งที่ปรากฏทางตา เราคิดถึงคน โดยที่มีรูปร่างสัณฐาน ให้เราจำได้ว่าเป็นคนนั้น คนนี้ พอเห็นปุ๊บจำได้เลย เพราะว่ามีสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่ง คือสัญญาเจตสิกเป็นสภาพที่จำ สภาพธรรมอันนี้เขาจะเกิดกับจิตทุกขณะ ไม่ว่าจิตเกิดขึ้นขณะไหน จะต้องมีเจตสิก คือสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วเขาจะจำรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ จำลักษณะสูงต่ำของเสียง จะจำกลิ่น จำรส แล้วก็จะเป็นการคิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่จำได้ นี่แสดงให้เห็นว่าจิต เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเร็วมาก แล้วเราก็ไม่รู้เรื่องจิตเลย แต่เราพูดเรื่องทางสายกลาง เราพูดเรื่องอะไรตั้งหลายอย่าง ซึ่งไม่ตรงกับที่ทรงแสดงไว้ว่า ต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดกว่านั้น นี่เป็นสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่า ต้องศึกษา ต้องฟังมากๆ และต้องรู้ว่าการศึกษาพระธรรม หรือพุทธศาสนานั้นก็คือ การศึกษาเพื่อให้รู้ ให้เข้าใจ พระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าไม่เหมือนคนอื่น ต้องลึกซึ้งต้องตรง ต้องถูก ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอริยสัจจธรรมได้ เพราะเหตุว่าธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เป็นธาตุแต่ละชนิด ซึ่งเป็นสัจจะ เป็นความจริง และเป็นอริยะ คือประเสริฐ สำหรับผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญา จนสามารถรู้แจ้งความจริงของสภาพธรรม บุคคลนั้นก็เป็นอริยบุคคล เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจนถึงระดับขั้นที่ประเสริฐ คือ รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ แต่ต้องเริ่มจากการฟัง
ผู้ฟัง ถ้าเราฟังธรรมแล้วจะได้อะไร
ท่านอาจารย์ น่าคิด เพราะว่าเรามาที่นี่แล้ว ก็มานั่งกัน บางทีก็ไม่ใช่ประเดี๋ยวเดียว ก็คงนั่งกันไปอีกพอสมควร แล้วจะได้อะไร ได้ฟังสิ่งซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟัง เพื่อที่จะได้พิจารณาว่า ถูกไหม และสิ่งที่ได้ฟัง จะเป็นประโยชน์ไหม เพราะเหตุว่าเป็นชีวิตของเราจริงๆ ซึ่งเราไม่เคยรู้เลย ทำให้เรารู้จักตัวเอง และรู้จักว่าที่เราเคยยึดถือว่าเป็นเรามาตั้งแต่เกิด แล้วก็จะหมดสิ้นไปตอนตาย หายไปไหน เราที่เคยยึดถือมาตลอด ตั้งแต่เกิดจนตายหายไปไหน เมื่อตายแล้ว แต่ตามความเป็นจริงแล้ว จะสอนเราให้เข้าใจเหตุผลตั้งแต่ขณะเกิด แล้วก็ทุกๆ ขณะในชีวิต จนกระทั่งถึงขณะที่จากโลกนี้ไป และยังติดตามไปถึงชาติต่อไปด้วย ถ้าเรามีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นการฟังทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฟังธรรม หรือว่าจะฟังวิชาหนึ่งวิชาใดก็ตาม เพื่อได้ยินได้ฟังสิ่งซึ่งเราไม่เคยฟัง ถ้าเราเคยฟังมาแล้ว ก็รู้แล้ว ก็ไม่ต้องฟังอีกก็รู้แล้ว แต่เพราะเหตุว่า ยังมีอีกมากนักที่เรายังไม่เคยฟัง เพราะฉะนั้น ก็ฟังเพื่อให้รู้ว่า สิ่งที่เราไม่เคยเข้าใจ ไม่เคยรู้มานั้นมีอะไรบ้าง แล้วพิจารณาว่าจริงหรือเปล่า แล้วก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์แมื่อรู้แล้ว เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของชีวิตเรา ซึ่งเราเอง ไม่รักใครเสมอตน มีความสุขก็เป็นสุขเหลือเกิน มีความทุกข์แม้เล็กน้อยก็ดูมันใหญ่โตเหลือเกิน นี่ก็คือว่ามีสุข มีทุกข์ในชีวิตประจำวัน ก็แสวงหาเพื่อที่จะแก้ไขทุกข์ให้กลับเป็นสุข เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ เราก็หวังแต่สุข โดยที่ไม่รู้ว่า แม้ความสุขนั้นก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น ให้เข้าใจความจริงว่า ไม่มีตัวตนเลยตามความเป็นจริง ถ้าตราบใดที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ยึดถือหมดว่า เป็นเรา เป็นตัวตนของเรา แล้วก็เป็นของๆ เราด้วย ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้านี้ ผมเรา มือเรา เท้าเรา เล็บเรา ใจเรา ความคิดของเรา ทุกอย่างเป็นเรา แล้วก็เป็นของเราด้วย นี้แสดงให้เห็นว่า ความยึดมั่นในสิ่งซึ่งมี เหมือนกับการยึดมั่นในกำมือเปล่า ซึ่งตราบใดที่เรายังกำอยู่ด้วยความไม่รู้ เราจะคิดว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ในกำมือ แต่พอแบมือออก ก็ไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้นถ้าปัญญาเราสามารถจะเห็นตามความเป็นจริงว่า ชีวิตแต่ละขณะไม่เที่ยง เกิดแล้วดับไป เกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป สืบต่อ ตั้งแต่เกิด แต่ละขณะ สืบต่อไปจนกว่าจะถึงขณะสุดท้าย คือตาย แล้วก็ไม่มีอะไรเหลือ นอกจากสิ่งซึ่งเราพยายามแสวงหา และเข้าใจว่าเป็นของเรา และเป็นสุข เพราะฉะนั้น พระธรรมทำให้เราเกิดความเห็นที่ถูกต้อง ให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ทำไมเราจึงเกิดมา ไม่ได้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่ได้เป็นนกเป็นแมว แต่เกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นคน และบางภูมิก็เกิดเป็นเทวดา เป็นเทพ เป็นพรหม ก็แสดงให้เห็นว่าต้องมีเหตุ ทุกอย่างที่จะเป็นผล ต้องมาจากเหตุ แต่เพราะเหตุว่า เรายังไม่รู้เลย เราก็คิดไปเองตามความเข้าใจ คิดว่าสวรรค์ไม่มีบ้าง นรกไม่มีบ้าง พรหมไม่มีบ้าง เทพไม่มีบ้าง แต่ว่าพระธรรมทั้งหมดนี้ จะสอนให้เรารู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วหมดความสงสัย เพราะเหตุว่า ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม เราจะสงสัยเพราะเรายังมีความไม่รู้ นั้นจริงไหม เทวดาจริงไหม ด้วยความไม่รู้ทั้งหมด แต่พระธรรม จะทำให้เราเข้าใจแต่ละขณะถูกต้อง เพราะฉะนั้น นี้เป็นสิ่งซึ่งทำให้เราเกิดความรู้ความเข้าใจ ละความไม่รู้ความไม่เข้าใจ ละการยึดถือสิ่งที่เราเคยยึดถือมาผิดๆ ให้เป็นคนที่ตรงต่อเหตุผล เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับเราว่าเราต้องการจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงไหม ต้องการรู้จักตัวเองไหม เห็นว่า การรู้จักตนเองจะมีประโยชน์ไหม เพราะเหตุว่าถ้ารู้จักตนเอง รับรองได้ว่า เรารู้จักคนอื่นทะลุปุโปร่งทีเดียว เพราะว่าเหมือนกันหมดทุกคน นี่คือประโยชน์ของการฟังพระธรรม สละ ละความเห็นผิด ละความไม่รู้ ละทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ดี ทีละเล็กทีละน้อย ทีละเล็กทีละน้อย แต่ว่าไม่ใช่จะได้หมดทันที แต่ต้องเกิดปัญญา และปัญญาก็ทำกิจของปัญญา ใครยังคิดว่าไม่เข้าใจเรื่องธรรมบ้าง คำว่า ธรรม ความโกรธเป็นธรรมหรือเปล่า เป็น ความสุข เป็น กลิ่น วันนี้มีอะไรบ้างที่ไม่ใช่ธรรม ไม่มี ความคิดเป็นธรรมหรือเปล่า เป็น เราตั้งต้นด้วยคำว่า ธรรม คือสิ่งที่มีจริง และธรรมจะแตกกระจายออกไปว่า สิ่งที่มีจริงนั้นมีอะไรบ้าง ถ้าเราพูดถึงคำว่า โลก หรือ โลกะ หมายความถึงสภาพธรรมที่แตกดับ คือเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ทุกอย่างที่เกิด และดับเป็นโลกทั้งหมด เพราะฉะนั้น ที่เราพูดเมื่อกี้นี้ เสียงเป็นโลกไหม เพราะว่าเกิดขึ้น และดับไป เพราะฉะนั้นทุกอย่างถึงเป็นธรรมก็ตาม แต่ธรรมใดก็ตามซึ่งเกิด และดับ ธรรมนั้นเป็นโลก เพราะเป็นสภาพที่แตกดับ เพื่อที่เราจะได้แยกสภาพธรรมว่ามีสองอย่าง สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็หมดไป เป็นโลก กับสภาพธรรมที่ไม่เกิด ไม่ดับ เหนือโลก เหนือการเกิด และดับ คือโลกุตตระ เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงคำว่าโลกนั้น จะมีอีกคำหนึ่งที่คู่กันคือโลกุตตระ โลก กับ เหนือโลก โลก ได้แก่ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิด ธรรมทั้งหมดที่เกิดเป็นโลก ถ้าเกิดแล้วต้องดับ ส่วนธรรมที่ไม่เกิด ก็มีอย่างเดียวคือ นิพพาน เพราะฉะนั้น พระนิพพานเหนือโลก แต่ก็เป็นธรรม เพราะฉะนั้น จะมีการจำแนกแยกธรรมออกเป็น ๒ อย่าง คือธรรมที่เป็นโลก กับธรรมที่เป็นโลกุตตระ หรือธรรมที่เป็นสังขารธรรม-สังขตธรรม กับธรรมที่เป็นวิสังขารธรรม-อสังขตธรรม จะมีคำภาษาบาลีเข้ามาเกี่ยวข้อง ทีละเล็กทีละน้อย ไม่มาก ถ้าเราเข้าใจคำภาษาบาลีแล้วก็ง่าย คือเราไม่ต้องพูดคำยาวๆ คือสภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ได้ยินเกิดขึ้น เมื่อกี้นี้ไม่มี แล้วก็มี แล้วก็กลับไม่มีอีก นี่คือสภาพธรรมที่เป็นโลก เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ เป็นสังขารธรรม และเป็นสังขตธรรม แต่เป็นธรรมประเภทที่มีปัจจัยปรุงแต่ง เกิดแล้วก็ดับ ไม่เที่ยง จึงเป็นสังขตหรือสังขารธรรม ส่วนนิพพานนั้นก็เป็น วิสังขารไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ไม่มีการเกิดขึ้นเป็นอสังขตะ ก็แยกคำว่า ธรรม จำแนกออกไปว่ามีหลายประเภท แต่ว่าจำแนกเป็น โลกกับโลกุตตระ โลกียะกับโลกุตตระ ไม่ทราบมีคำถามอะไรอีกหรือเปล่า จะค่อยๆ เพิ่มคำว่าธรรมออกไป สัจจธรรม แล้วก็ปรมัตถธรรมธรรม ที่มีจริงๆ แล้วก็มีลักษณะเฉพาะของตน เพราะฉะนั้นเมื่อกี้นี้ถามว่า คิด เป็นธรรมหรือเปล่า เป็น เป็นปรมัตถธรรม เป็นธรรมที่มีจริงๆ เพราะทุกคนคิด เป็นจิตชนิดหนึ่ง โต๊ะ เก้าอี้ คิดใม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ลักษณะที่คิด เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นนามธรรม ส่วนเรื่องราวที่คิด ไม่มีจริง เป็นเพียงความจำสิ่งต่างๆ ที่กระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เท่านั้น เพราะฉะนั้นเรื่องราวต่างๆ เป็นการจำเสียง จำสิ่งที่ปรากฏ อย่างเวลาที่เรานึก ไม่นึกถึงคำก็ได้ นึกถึงรูปร่างก็ได้ จะนึกถึงประเทศหรือเมืองที่เราเพิ่งไปเที่ยว ไปพบไปเห็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นก็คือคิด เพราะว่า ขณะนั้นเราไม่ได้เห็นจริงๆ แต่เรานึกหรือคิดขึ้นมา จากความทรงจำ เพราะฉะนั้นจิตที่คิด มี แต่เรื่องที่กำลังคิดไม่มีจริงๆ หรือจะคิดถึงเสียง เราเคยได้ยินได้ฟังคำว่า อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ก็ตามแต่ เราคิดตามได้ ขณะนั้นไม่มีตัวจริงๆ เสียงจริงๆ แต่ว่ามีจิตที่คิดถึงเสียงที่เคยได้ยิน เพราะฉะนั้นต้องแยกออก ชีวิตประจำวันนี้ ต้องเริ่มจากอะไรเป็นของจริง และอะไรไม่จริง เพื่อที่จะได้รู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงเป็นปรมัตถธรรม แต่ส่วนที่ไม่มีจริงนั้น เป็นความทรงจำ เป็นบัญญัติเรื่องราวต่างๆ นี่ก็แตกจากธรรมมาเป็นปรมัตถธรรม แล้วก็เป็นบัญญัติ การฟังธรรมถึงต้องฟังแล้วก็พิจารณาไป ค่อยๆ เข้าใจขึ้น อย่าท้อถอย ต้องมีความอดทน อดทนที่จะฟังให้เข้าใจสิ่งซึ่งมีอยู่ และกำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นเรื่อง ไม่ใช่เป็นตัวพระธรรม ธรรมไม่ได้อยู่ในหนังสือ ขณะนี้ทางตาที่กำลังเห็นธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นธรรม ถ้าเราคิดเรื่องธรรมเช่น สภาพธรรมที่รู้เป็นจิต หรือว่า ธรรมมี ๒ อย่างคือ โลก โลกียะ กับ โลกุตตระ นั้นเป็นจิตที่คิด คิดแต่เรื่อง เป็นเรื่องราว ไม่ใช่ตัวโลกียะ หรือ โลกุตตระ กำลังเป็นอารมณ์ของจิตในขณะนั้น นิพพานมีจริง เราพูดคำนี้ นิพพานมีจริง จิตที่คิดคำว่า นิพ จิตที่คิดคำว่า พาน จิตที่คิดคำว่า มี จิตที่คิดคำว่า จริง โต๊ะ เก้าอี้ คิดไม่ได้ แต่คนคือสภาพที่เป็นจิต สามารถที่จะคิด ขณะที่คิดคำว่านิพ นิพอยู่ที่ไหน นิพไม่มี พานอยู่ที่ไหน พานก็ไม่มี แต่จิตคิดคำว่า นิพ ได้ จิตคิดคำว่า พาน ได้ เพราะฉะนั้น นิพพานเป็นแต่เพียงคำ เป็นเรื่องราว ไม่ใช่ลักษณะของนิพพานจริงๆ ซึ่งโลกุตตรจิตกำลังประจักษ์แจ้ง นิพพานเป็นปรมัตถธรรม แต่คำว่านิพพานไม่ใช่ปรมัตธรรม คำว่านิพพานเป็นแต่เพียงชื่อ หรือคำที่ใช้แทนสภาพธรรมนั้น ในเมื่อสภาพธรรมนั้นไม่ได้ปรากฏ
ผู้ฟัง ส่วนมากที่เราจะคิดได้ก็เป็นจากสัญญาใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แน่นอน ในขณะที่กำลังมี อย่างเสียง จริงขณะไหน ขณะที่กำลังได้ยิน พอเสียงหมดแล้ว ได้ยินหมดแล้ว เราจะบอกว่าจริงได้อย่างไรในเมื่อหมดแล้ว สภาพที่คิดมีจริงๆ แต่เรื่องราวที่คิดไม่จริง
ผู้ฟัง ขณะนั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังคิด จิตคิดมีจริง การคิดมีจริง แต่เรื่องราวที่คิดไม่มีจริง คิดถึงพัดลมก็ได้ คิดถึงพิมพ์ดีดก็ได้ คิดถึงแจกันก็ได้ คิดถึงดอกกุหลาบก็ได้ เป็นเพียงคิดถึง ไม่ใช่ปรากฏจริงๆ แต่สิ่งที่จริงคือขณะนั้นจิตกำลังคิด สิ่งที่ปรากฏทางตานี่มีจริง เราคิดถึงรูปร่าง เพราะฉะนั้นในพุทธศาสนา แยกละเอียดมาก ย่อยเหตุการณ์ทั้งเหตุการณ์ออกไป เป็นชั่วจิตที่ละขณะเดียว