แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 250


สุ. ส่วนข้อความที่ท่านว่า โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าอาจารย์ผู้บรรยายธรรมทั้งหลายควรจะสนับสนุนส่งเสริมกัน

ถ้าเป็นการส่งเสริมสนับสนุนความเข้าใจถูกในธรรมแล้ว ผู้บรรยายจะต้องพยายามยกเหตุผลตามพระธรรมวินัยให้ผู้ฟังที่ยังเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนนั้น ได้พิจารณาเทียบเคียงจนกระทั่งมีความเห็นถูก ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมให้ตรงตามความเป็นจริง นี่คือการเกื้อกูลส่งเสริมซึ่งกันและกัน ให้พุทธบริษัทได้เข้าใจถูกต้องในธรรมวินัย

อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ข้อ ๗๙ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมแห่งโภคมีประมาณน้อย ความเสื่อมแห่ง ปัญญาชั่วร้ายที่สุดกว่าความเสื่อมทั้งหลาย

ข้อ ๘๑ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมยศมีประมาณน้อย ความเสื่อมปัญญาชั่วร้ายที่สุดกว่าความเสื่อมทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น การส่งเสริมสนับสนุนพุทธบริษัท ก็ควรที่จะเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้เข้าใจชัดเจนถูกต้องในการประพฤติปฏิบัติ ให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมตามความเป็นจริงด้วย

อีกข้อหนึ่งที่ท่านกล่าวว่า ผมได้ฟังอาจารย์บรรยายธรรมทางวิทยุ และถามท่านผู้ฟังว่ารูปนั่งในรูป ๒๘ มีไหม ซึ่งเนื่องมาจากสำนักหนึ่งสอนผู้ปฏิบัติธรรมให้พิจารณารูปนั่ง แล้วอาจารย์ก็ตอบเองว่า รูปนั่งในรูป ๒๘ นั้นไม่มี

ใครจะตอบ สำคัญ หรือไม่สำคัญ สำคัญที่คำตอบใช่ไหมว่า คำตอบนั้นถูกหรือผิด มีเหตุผล หรือไม่มีเหตุผล และคำตอบที่ดิฉันตอบว่า ไม่มี กับคำตอบที่ท่านผู้เขียนเขียนมาว่า รูปนั่งเป็นแต่เพียงสำนวนเท่านั้น ตรงไหม ที่ท่านจะหมายความว่า ไม่มีในรูปปรมัตถ์

เพราะฉะนั้น การที่ดิฉันได้กล่าวถึงมหาสติปัฏฐานสูตร พร้อมทั้งข้อความในพระไตรปิฎก ก็เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังพิจารณาเหตุผล เพื่อรู้สภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ตามปกติว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง อย่างนี้จะชื่อว่าเป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวได้ไหม เพราะว่าท่านผู้เขียนจดหมายฉบับนี้กล่าวว่า ขอให้อาจารย์บรรยายธรรมในพระไตรปิฎกแท้ๆ อย่าแทรกความเห็นส่วนตัวเลย

ถ้าดิฉันบอกว่า ให้รู้รูปนั่งเป็นท่าทางซึ่งไม่มีในพระไตรปิฎก นั่นเป็นความเห็นส่วนตัวหรือเปล่า ซึ่งดิฉันก็ไม่ได้ให้ท่านผู้ฟังรู้อย่างนั้นเลย แต่ให้รู้สภาพนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้ ซึ่งท่านพิสูจน์ได้ ตรวจสอบได้ แม้ในพระไตรปิฎก และแม้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ อย่างนี้ชื่อว่าเป็นความเห็นส่วนตัวหรือเปล่า

การที่ดิฉันให้ท่านผู้ฟังเป็นผู้พิจารณาธรรมที่ได้ยินที่ได้ฟัง และเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ไม่ว่าจะกำลังนั่ง กำลังนอน กำลังยืน กำลังเดิน กำลังพูด กำลังนิ่ง กำลังคิด กำลังประกอบกิจการงานต่างๆ ท่านตรวจสอบได้ว่า ตรงกับพระไตรปิฎกไหม หรือว่านี่เป็นความเห็นส่วนตัว

แต่ถ้าบอกว่า ให้หลงลืมสติ อย่าเจริญสติปัฏฐานให้มากนัก จะเป็นโทษเป็นภัย ท่านก็น่าจะคิดว่า นั่นเป็นความเห็นส่วนตัวไหม ตรงกับพระไตรปิฎกไหม แต่สิ่งที่ไม่มีในพระไตรปิฎก เช่น รูปนั่งเป็นท่าทาง ท่านกลับไม่สงสัยเลยว่า มีอยู่ในพระไตรปิฎกหรือไม่

นี่เป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังควรที่จะได้พิจารณาด้วย เพราะเหตุว่าท่านมีความเห็นว่า อาจารย์ผู้บรรยายธรรมทั้งหลายควรจะสนับสนุนส่งเสริมกัน ซึ่งก็ควรส่งเสริมให้มีความเห็นถูก ไม่ใช่ส่งเสริมให้มีความเห็นผิด

มัชฌิมนิกาย มัชฌิทปัณณาสก์ ฑัมมเจติยสูตร มีว่า

เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงแสดงความเคารพนอบน้อมอย่างยิ่งในพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสถามพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า

ดูกร มหาบพิตร มหาบพิตรทรงเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงทรงกระทำการเคารพนอบน้อมเป็นอย่างยิ่งเห็นปานนี้ในสรีระนี้ และทรงแสดงอาการฉันมิตร

พระเจ้าปเสนทิโกศล กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันมีความเลื่อมใสในธรรม ในพระผู้มีพระภาค ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้เองโดยชอบ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคปฏิบัติดีแล้ว

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส หม่อมฉันเห็นสมณพราหมณ์พวกหนึ่งประพฤติพรหมจรรย์ กำหนดที่สุด ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง สมัยต่อมาสมณพราหมณ์เหล่านั้น อาบน้ำ ดำเกล้า ลูบไล้อย่างดี แต่งผมและหนวด บำเรอตนให้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมไปด้วยเบญจกามคุณ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่หม่อมฉันได้เห็นภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ประพฤติพรหมจรรย์ บริสุทธิ์บริบูรณ์ มีชีวิตเป็นที่สุดจนตลอดชีวิต อนึ่ง หม่อมฉันมิได้เห็นพรหมจรรย์อื่นอันบริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างนี้ นอกจากธรรมวินัยนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้อนี้ก็เป็นความเลื่อมใสในธรรม ในพระผู้มีพระภาคของหม่อมฉันว่า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้เองโดยชอบ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคปฏิบัติดีแล้ว

เห็นความต่างกันของข้อปฏิบัติ การประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง กับการประพฤติปฏิบัติของสมณพราหมณ์เหล่าอื่นไหม สมณพราหมณ์เหล่าอื่น การปฏิบัติมีกำหนดที่สุด ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง แล้วออก มีการอาบน้ำ ดำเกล้า มีการอิ่มเอิบพรั่งพร้อมด้วยเบญจกามคุณ แต่พระภิกษุทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้ที่ประพฤติพรหมจรรย์ บริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอดชีวิต สม่ำเสมอ เป็นความบริสุทธิ์ตามพระธรรม ตามพระวินัย ตลอดชีวิต ไม่มีเข้า ไม่มีออก ไม่มีกำหนดว่าจะต้องเป็น ๑๐ ปี หรือ ๒๐ ปี หรือ ๓๐ ปี หรือ ๔๐ ปี แต่เป็นผู้ที่มีปกติประพฤติพรหมจรรย์ บริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอดชีวิต

ถ้าท่านศึกษาพระวินัย จะเห็นได้ว่า พระภิกษุท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานในเพศของบรรพชิตตามพระวินัย ไม่ใช่มีกำหนดว่า เข้า ๑๐ วัน ๑๕ วัน ๑ เดือน ๗ เดือน ๗ ปี แล้วก็ออกมา แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานตามเพศของท่านถ้าเป็นคฤหัสถ์ อุบาสก อุบาสิกา ก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานตลอดไป

เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังจะศึกษา จะเทียบเคียงพระธรรมวินัยที่ทรงแสดงไว้ พระพุทธวจนะทั้งหมดจะเกื้อกูลท่านผู้ฟังให้ท่านเข้าใจถูกในการประพฤติปฏิบัติ ไม่ให้มีความเข้าใจผิด หรือว่าเข้าใจคลาดเคลื่อนไป

ขอยกข้อความบางประการในพระไตรปิฎก ซึ่งคิดว่าจะเกื้อกูลแก่ท่านผู้ฟังบางท่านที่อาจจะยังเข้าใจคลาดเคลื่อน เข้าใจผิด หรือว่ายังเข้าใจไม่ชัดเจนในธรรม และในข้อปฏิบัติด้วย ซึ่งก็เป็นชีวิตของบุคคล และเหตุการณ์ในครั้งนั้น

ขุททกนิกาย อุทาน อุปาติสูตร มีข้อความว่า

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับนั่งในที่แจ้ง ในความมืดตื้อในราตรี เมื่อประทีปน้ำมันลุกโพลงอยู่ ก็สมัยนั้นแล ตัวแมลงเป็นอันมากตกลงรอบๆ ที่ประทีปน้ำมันเหล่านั้น ย่อมถึงความทุกข์ ความพินาศ ความย่อยยับ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ทรงเห็นตัวแมลงเป็นอันมากเหล่านั้น ตกลง รอบๆ ที่ประทีปน้ำมันเหล่านั้น ถึงความทุกข์ ความพินาศ ความย่อยยับ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

สมณพราหมณ์พวกหนึ่งย่อมแล่นเลยไป ไม่ถึงธรรมอันเป็นสาระ ย่อมพอกพูนเครื่องผูกใหม่ๆ ตั้งมั่นอยู่ในสิ่งที่ตนเห็นแล้วฟังแล้วอย่างนี้ เหมือนฝูงแมลงตกลงสู่ประทีปน้ำมัน ฉะนั้น

เป็นเหตุการณ์ปกติในชีวิตธรรมดา ซึ่งผู้ที่พิจารณาธรรมย่อมเห็นธรรม และทุกอย่างเป็นธรรมทั้งนั้น แม้แต่เวลาที่แมลงตกลงที่ประทีปน้ำมัน และได้รับความทุกข์ความทรมาน ความเจ็บสาหัส ผู้ที่เห็นธรรมก็พิจารณา ตรึกเป็นลักษณะของธรรมได้ คือ พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า สมณพราหมณ์พวกหนึ่งย่อมแล่นเลยไป ไม่ถึงธรรมอันเป็นสาระ ย่อมพอกพูนเครื่องผูกใหม่ๆ ตั้งมั่นอยู่ในสิ่งที่ตนเห็นแล้ว ฟังแล้วอย่างนี้ เหมือนฝูงแมลงตกลงสู่ประทีปน้ำมัน ฉะนั้น

ถ้าท่านผู้ฟังฟังธรรมโดยไม่พิจารณาเทียบเคียงว่า ธรรมที่ได้ยินได้ฟังเป็นเพียง สำนวน แต่ว่าการที่จะเข้าใจถึงสภาพธรรมจริงๆ ต้องเป็นอย่างไร ถ้าท่านผู้ฟังไม่พิจารณาให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ท่านก็ติด แล้วก็พอกพูนในความเห็นผิดใหม่ๆ เป็นการเพิ่มกิเลสใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เหมือนฝูงแมลงตกลงสู่ประทีปน้ำมัน ฉะนั้น ผลคืออะไร คือ ไม่พ้นจากความทุกข์ ไม่พ้นจากวัฏฏะ ยังมีข้อความอีกมากทีเดียวในพระไตรปิฎก ซึ่งถ้าฟังและพิจารณาโดยละเอียด จะเห็นความต่างกันของข้อปฏิบัติ ซึ่งเป็นการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ไม่ใช่ว่ามีตัวตนไปบังคับ พยายามทำให้สติเกิดติดต่อกัน โดยไม่ให้รู้นามธรรม และรูปธรรมตามความเป็นจริง

มีท่านผู้ฟังที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ โกรธไหม

เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้โกรธ ความโกรธก็เกิด ความโกรธนั้นรุนแรงได้ไหม ได้ เมื่อมีปัจจัยที่จะให้เกิดความโกรธอย่างรุนแรง ความโกรธอย่างรุนแรงก็เกิด สติระลึกรู้ได้ไหมว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรม เป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหวที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม

ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มลวรรคที่ ๑๘ ข้อ ๒๘ มีข้อความว่า

บัดนี้ ท่านเป็นดุจใบไม้เหลือง อนึ่ง แม้บุรุษของพญายม ก็ปรากฏแก่ท่านแล้ว ท่านตั้งอยู่ในปากแห่งความเสื่อม

ปากแห่งความเสื่อมคืออะไร กำลังอยู่ที่ปากแห่งความเสื่อมกันหรือเปล่า พยัญชนะนี้เกื้อกูลได้แม้ในการเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ความเสื่อมมีปรากฏอยู่ทุกขณะ แต่มองไม่เห็น แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ท่านเห็น ว่าขณะใดที่หลงลืมสติเป็นหนทางที่จะทำให้ไปสู่ความเสื่อม ไปสู่ความเกิด ความตายของสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น ที่จะพ้นจากปากแห่งความเสื่อมได้ ต้องเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ

ข้อความต่อไปมีว่า

อนึ่ง เสบียงเดินทางของท่านก็ยังไม่มี

ถ้ามีท่านผู้หนึ่งผู้ใดเตือนอย่างนี้จะโกรธไหม คอยจะโกรธไหม พูดอย่างนั้นไม่ถูก พูดอย่างนี้ไม่ถูก แต่ถ้าชี้ให้เห็นจริงๆ ว่า เรื่องของการเป็นผู้ไม่ประมาทนั้นคืออย่างไร การประพฤติปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากความเห็นผิด พ้นจากการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นตัวตนนั้นคืออย่างไร และการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานนั้นคืออย่างไร ก็ไม่ควรที่จะโกรธ ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะทักท้วงให้ท่านเป็นผู้ที่ไม่ประมาท ให้ท่านเป็นผู้ที่พิจารณาข้อปฏิบัติให้ถูกต้อง เป็นผู้ที่จะสะสมเสบียงต่อไป

ข้อความต่อไปมีว่า

อนึ่ง เสบียงเดินทางของท่านก็ยังไม่มี ท่านจงทำที่พึ่งแก่ตน จงรีบพยายาม จงเป็นบัณฑิต

เป็นได้ง่ายไหมบัณฑิต ถ้าเข้าใจข้อปฏิบัติผิด และกำลังปฏิบัติผิดอยู่ เป็นบัณฑิตไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นบัณฑิต ไม่ใช่ว่าจะเป็นได้ง่ายๆ แต่ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่เข้าใจถูก ปฏิบัติถูก ข้อความต่อไปมีว่า

ท่านเป็นผู้มีมลทินอันขจัดแล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน จักถึงอริยภูมิ อันเป็นทิพย์ บัดนี้ ท่านเป็นผู้มีวัยอันชรานำเข้าไปแล้ว เตรียมจะไปยังสำนักของพญายม อนึ่ง ที่พักในระหว่างของท่านก็ยังไม่มี และเสบียงเดินทางของท่านก็ยังไม่มี ท่านจงทำที่พึ่งแก่ตน จงรีบพยายาม จงเป็นบัณฑิต

ถ้ายังไม่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า ไม่ทราบเลยว่ากรรมจะทำให้ท่านปฏิสนธิที่ไหน เพราะฉะนั้น ถ้าท่านพิจารณาธรรม จะเห็นว่า เป็นการเตือนให้ท่านเป็นผู้ที่ไม่ประมาท เป็นผู้ที่จงทำที่พึ่งแก่ตน จงรีบพยายาม จงเป็นบัณฑิต

ข้อความต่อไปมีว่า

ท่านเป็นผู้มีมลทินอันขจัดแล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน จักไม่เข้าถึงชาติและชราอีก นักปราชญ์ทำกุศลทีละน้อยๆ ในขณะๆ พึงขจัดมลทินของตนออกได้โดยลำดับ เหมือนช่างทองขจัดมลทินของทอง ฉะนั้น สนิมเกิดขึ้นแต่เหล็กเอง ครั้นเกิดขึ้นแต่เหล็กนั้นแล้ว ย่อมกัดเหล็กนั่นแหละ ฉันใด กรรมของตนย่อมนำบุคคลผู้มักประพฤติล่วงปัญญาชื่อโทนา ไปสู่ทุคติ ฉันนั้น

มนต์มีอันไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน เรือนมีการไม่หมั่นเป็นมลทิน ความเกียจคร้านเป็นมลทินของผิวพรรณ ความประมาทเป็นมลทินของผู้รักษา ความประพฤติชั่วเป็นมลทินหญิง ความตระหนี่เป็นมลทินของผู้ให้ ธรรมทั้งหลายที่ลามกเป็นมลทินแท้ ทั้งในโลกนี้ ทั้งในโลกหน้า

เราจะบอก มลทินกว่ามลทินนั้นคือ อวิชชา เป็นมลทินอย่างยิ่ง

เป็นการเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า พระธรรมวินัยทั้งหมดทีเดียวแม้แต่พยัญชนะที่ว่า นักปราชญ์ทำกุศลทีละน้อยๆ ในขณะๆ พึงขจัดมลทินของตนออกได้โดยลำดับ เหมือนช่างทองขจัดมลทินของทอง ฉะนั้น

การขัดการเกลานี้ ทีเดียวหมดได้ไหม ไม่ได้ ต้องค่อยๆ ขัด ค่อยๆ เกลา จริงๆ ถ้าไม่ใช่ด้วยสติกับปัญญาที่รู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีอะไรจะขัดอวิชชาออกได้เลย

เพราะฉะนั้น ข้อความมีว่า มนต์มีอันไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน แม้แต่มนต์ก็ยังต้องท่องทุกวัน ถ้าไม่ท่องก็เป็นมลทิน และ เราจะบอก มลทินกว่ามลทินนั้นคือ อวิชชา เป็นมลทินอย่างยิ่ง อกุศลทั้งหมด โลภะ โทสะ โมหะ เป็นมลทินทั้งนั้น แต่อยู่กับตัวเองจนไม่รู้สึกว่าเป็นมลทิน โลภะมีไหม ดีหรือไม่ดี เป็นมลทินหรือเปล่า มีมากหรือมีน้อย เป็นสนิมที่อยู่ในเหล็ก โทสะก็เหมือนกัน ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐานก็ไม่ทราบ มีโทสะก็ไม่รู้ในสภาพของโทสะนั้น เต็มไปด้วยความไม่รู้ในนามธรรมในรูปธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าตราบใดยังเต็มไปด้วยความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราจะบอก มลทินกว่ามลทินนั้นคือ อวิชชา เป็นมลทินอย่างยิ่ง

เพราะฉะนั้น จะไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้ไหม


หมายเลข  6093
ปรับปรุง  18 ก.ค. 2566