ปกิณณกธรรม ตอนที่ 26
ตอนที่ ๒๖
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ
พ.ศ.๒๕๓๖
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในพุทธศาสนา แยกละเอียดมาก ย่อยเหตุการณ์ทั้งเหตุการณ์ออกไปเป็นชั่วจิตทีละขณะเดียว ลองคิดดูว่า จิตทีละขณะหนึ่งเร็วกว่าเสี้ยววินาทีสักแค่ไหน ที่เราแบ่งจากชั่วโมงเป็นนาที เป็นวินาที เราแบ่งได้ แล้วเรายังสามารถแบ่งละเอียดไปถึงเสี้ยววินาที แต่จิตก็เกิดดับเร็วยิ่งกว่านั้น มากกว่านั้น เพราะฉะนั้นจากตาที่เห็น เราจะจำทันทีว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร อยู่ในความทรงจำของเรา เหมือนเห็นน้ำไหล เห็นเก้าอี้ เห็นคน แต่ความจริงขณะนั้นให้ทราบว่าเห็นไม่ใช่คิด เป็นสิ่งที่จะต้องแยกออกว่าเห็นนั้นกำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา สั้นมาก เร็วมาก หลังจากนั้นแล้ว จะจำลักษณะสีสันต่างๆ ที่เห็น แล้วก็คิดทันทีว่าเป็นคนนั้น คนนี้ เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังเห็นเป็นเก้าอี้ ขณะนั้นคือ คิดถึง รูปร่าง สัณฐาน ของสิ่งที่ปรากฏทางตา นี่กำลังจะแยกชีวิตในวันหนึ่งๆ ซึ่งเป็นเราออก ให้เห็นว่า รวดเร็วมาก และจิตแต่ละขณะก็เกิดขึ้นทำกิจการงานแต่ละอย่าง
ผู้ฟัง ยาก
ท่านอาจารย์ ยาก เรื่องพุทธศาสนาเป็นเรื่องยาก ใครอย่าคิดว่าเป็นเรื่องง่าย ต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ แล้วก็ต้องทราบด้วยว่า คนที่จะอดทนที่จะฟังให้เข้าใจจนกระทั่งเป็นปัญญาของตนเองนั้นไม่มีมาก จำนวนน้อยทีเดียว คนที่ประเทศอินเดียสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานก็มีเป็นจำนวนมาก แต่คนที่ฟังพระธรรม มีจำนวนเท่าไหร่ แม้ว่าจะมากมายกว่าสมัยนี้ เพราะเหตุว่า เมื่อได้ฟังแล้วก็สามารถที่จะรู้แจ้งเป็นพระโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงขึ้นไปถึงขั้นพระอรหันต์ มีมากกว่าในครั้งนี้มากมายนัก แต่ถ้าเทียบจำนวนของคนทั้งหมด ก็ยังเป็นส่วนที่ไม่มาก เพราะฉะนั้นยิ่งในยุคนี้ สมัยนี้ ถ้าใครไม่เคยสะสมบุญเก่า ที่จะเห็นประโยชน์ของปัญญา เห็นประโยชน์ว่า เราเกิดมาแล้วเราไม่เคยรู้จักตัวเอง ไม่เคยรู้จักโลก มีความยึดถือทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นเรา เป็นของเรา ทั้งๆ ที่ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็หมดไปทุกขณะ ได้ยินขณะนี้เป็นเราได้ยินก็หมดไปแล้วชั่วขณะหนึ่ง กำลังคิดนึกว่าเป็นเราคิด ลักษณะที่คิดนั้นก็หมดไปอีกแล้ว เพราะฉะนั้นตั้งแต่เกิดจนตาย ทุกอย่างกำลังเกิดดับหมดไป โดยไม่มีการรู้สึกตัวเลย มีแต่สัญญาความทรงจำว่าเป็นคนเป็นสัตว์ ปิดบังสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ ทำให้เราไม่สามารถจะประจักษ์อนัตตา คือสภาพธรรมที่เป็นธรรม แต่ไม่ใช่ของใครเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปตลอดเวลา
ผู้ฟัง ธรรม สรุปแล้วก็มี อย่าง ๒ อย่าง เป็นของจริง ก็เป็นปรมัตถธรรมซึ่งเป็นของมีจริง และ บัญญัติธรรมนี้เป็นของไม่มีจริง ใช่ไหม อย่างธรรมที่เกิดจาก ความจำ คิดนึก
ท่านอาจารย์ เป็นความคิดนึก หลังจากเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว เมื่อคืนนี้ใครฝันบ้าง ไม่ได้ตั้งใจเลยที่จะฝันใช่ไหม แต่พอนอนหลับบางคนก็ฝันทุกคืน อย่างดิฉันฝันทุกคืน ไม่มีคืนไหนเลยที่ไม่ฝัน ให้ทราบว่าในขณะที่ฝันเป็นจิตที่คิดนึก เพราะเหตุว่าไม่ได้เห็นจริงๆ ไม่ได้ยินจริงๆ แต่จำสิ่งที่เห็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะอาจจะไปฝันเรื่องไหนก็ได้ทั้งนั้น เพราะเหตุว่าเราไม่รู้ว่าเราจำอะไรไว้มากมายแค่ไหน เพราะฉะนั้นเวลาที่แม้เราไม่ต้องการจะคิดอย่างนั้น แต่ความทรงจำทั้งหมดที่ปรุงแต่ง ก็ทำให้จิตคิดเป็นเรื่องราวของความฝันขึ้น เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ในขณะที่ฝัน และในขณะที่ตื่น ไม่เหมือนกันเลย เพราะว่าตอนตื่น เห็นจริงๆ แต่คืนนี้ ถ้าใครไปฝันต่อกำลังอยู่ในห้องนี้ ก็ไม่ใช่เห็น แต่เป็นแต่เพียงความทรงจำที่จำไว้จากสิ่งที่เคยเห็น แล้วก็นึกขึ้นมา นึกถึงเพื่อนคนไหนก็ได้เวลานี้ นึกถึงชื่อเพื่อนก็ได้ แต่ให้ทราบว่าเป็นเพียงนึก เป็นเพียงคำ ไม่ใช่ว่ามีเพื่อนฝูงจริงที่กำลังเห็น นี้แสดงให้เห็นว่าจิตของเรา มีการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาคือกำลังเห็น รู้สิ่งที่ปรากฏทางหูคือกำลังได้ยิน รู้กลิ่นสิ่งที่ปรากฏทางจมูก รู้รสคือสิ่งที่ปรากฏทางลิ้น รู้เย็นร้อน อ่อนแข็งที่ปรากฏทางกาย แล้วก็มีการคิดนึกทางใจถึงสิ่งต่างๆ ที่เห็นทางตา หู ลิ้น กาย
ผู้ฟัง อยากจะขอเรียนถามอาจารย์ ที่อ่านมา มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ไม่ค่อยเข้าใจเรื่อง ภวังคจิต อตีตภวังค์ ไม่ทราบว่าเกิดระยะไหน ตอนไหน
ท่านอาจารย์ อันนี้สำหรับคนที่อ่านหนังสือเรื่องปรมัตถธรรมสังเขปแล้ว จะรู้ว่ามีจิตปรมัตถ์ คือสภาพรู้ ธาตูรู้ในขณะนี้ ซึ่งทุกคนมี ที่ทุกคนบอกว่า มีจิต มีใจ หมายความถึง ไม่ได้มีแต่รูปร่างกาย นี่เป็นสิ่งที่ต่างกันระหว่างคนกับสิ่งของ โต๊ะ เก้าอี้พวกนี้ เป็นแต่เพียงรูป ไม่มีจิตไม่มีเจตสิก เพราะฉะนั้นก็ไม่มีปฏิสนธิ ไม่มีภวังค์ เวลาที่เราใช้คำว่า คนเกิด ให้ทราบว่า ถ้าจิตไม่เกิด จะไม่มีคน ต้นไม้เกิดมาไม่มีจิต เพราะว่าต้นไม้ไม่ได้เกิดจากกรรม แต่ต้นไม้เกิดจากอุตุ ความเย็น ความร้อน ต้องรดน้ำหรือว่าต้องมีปุ๋ยใส่ หรือว่าต้องมีอากาศที่เหมาะสม ก็ทำให้พืชหรือว่ารูปเกิดขึ้นได้ เพราะว่ารูปนี้เกิดจากอุตุ ความเย็นความร้อนได้ที่เราปลูก เพราะฉะนั้นที่เรากล่าวว่า คนเกิด สัตว์เกิด นกเกิด ไก่เกิด อะไรก็ตามแต่ หมายความว่าต้องมีจิตเกิด เพราะฉะนั้นจิตขณะแรกที่เกิดชื่อว่า ปฏิสนธิจิต ต้องรู้ด้วยว่าทำไมเราเรียกจิตนี้ ขณะแรกว่า ปฏิสนธิจิต เพราะเหตุว่า ทำกิจสืบต่อจากชาติก่อน ทันทีที่ชาติก่อน จุติจิตดับ หมายความว่าคนนั้นตายจากชาติก่อน ปฏิสนธิจิตของชาตินี้เกิดสืบต่อทันที ใครทราบก่อนว่า หลังจากตายแล้วเกิดทันที ไม่มีระหว่างคั่นเลย เหมือนกับขณะนี้ทุกๆ ขณะนี้ จิตเห็นบ้าง จิตได้ยินบ้าง จิตคิดนึกบ้าง เกิดดับสืบต่อกันไม่มีระหว่างคั่นเลย เพราะฉะนั้นจากจุติจิตของชาติก่อน เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตคือจิตขณะแรกของชาตินี้เกิดขึ้น ขณะเดียวแล้วดับ จิตขณะต่อไปก็เกิดอีก เพราะเหตุว่าจิตจะต้องเกิดดับสืบต่อกัน เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตดับไป จิตขณะต่อไป ทำภวังคกิจ ภวังคกิจนี้หมายความว่าทำกิจดำรงภพชาติ เพราะเหตุว่าคำนี้มาจากภาษาบาลีว่า ภว หรือ ภพ ว กับ พ นี้ใช้แทนกันได้ และก็ อัง-คะ หรือ องค์ หมายความถึง จิตขณะนี้ทำกิจดำรงภพชาติสืบต่อ และภวังคจิตก็ดับ แล้วก็เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อเรื่อยๆ จนกว่าจะมีอารมณ์กระทบทางตาหรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในขณะที่เรากำลังเห็น ให้ทราบว่า ก่อนเห็นเป็นภวังคจิต แล้วมีตาก็มีสิ่งที่กระทบตาแล้วกระทบภวังคจิต ภวังคจิตที่มีรูปกระทบปสาทแล้วกระทบนั้นชื่อว่า อตีตภวังค์ ภาษาไทยเราใช้ตัว ด แทนตัว ต เพราะฉะนั้นก็เป็นอดีต หมายความว่าภวังค์ที่เป็นอตีตภวังค์ มีอารมณ์เดิมเหมือนกับภวังค์ ซึ่งเกิดก่อนนั่นเอง ยังไม่เปลี่ยน ยังไม่เห็น ภวังคจิตเห็นไม่ได้ ได้ยินไม่ได้ ตราบใดที่ชื่อว่าภวังคจิตหรือทำภวังคกิจ ก็จะดำรงภพชาติ แต่ให้รู้ว่ามีอารมณ์กระทบ เพื่อเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า รูปที่กระทบมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น นับหลังจากอตีตภวังค์ไป ๑๗ ขณะ รูปนั้นต้องดับ ที่เราคิดว่าเป็นรูปของเรา เกิดมา ไม่ดับเลย ไม่ถูก รูปของเราเกิดดับเร็วมาก เพียงแค่จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะเท่านั้น
ผู้ฟัง ภวังคจิตนี้มี ๓ ขณะหรือ อย่างที่อ่านเจอมี ภวังคจรณะ ภวังคุปปัจเฉทะ
ท่านอาจารย์ หมายความว่าก่อนจะเห็น ก่อนจะได้ยิน จิตกำลังเป็นภวังค์ และเมื่ออารมณ์กระทบก็กระทบอตีตภวังค์ แล้วอตีตภวังค์ก็ดับ เมื่ออตีตภวังค์ดับ ภวังค์ต่อไปชื่อว่า ภวังคจรณะ เพราะไหวตามอารมณ์ที่กระทบ แต่ยังไม่มีการรู้อารมณ์ใหม่ ชื่อว่าภวังค์แล้วจะต้องมีอารมณ์เหมือนเดิม เหมือนปฏิสนธิจิต เมื่อ ภวังคจรณะดับไป ทำให้ภวังคจิตเกิดต่ออีกหนึ่งขณะ เป็นภวังค์ดวงสุดท้ายคือ ภวังคุปปัจเฉทะ หลังจากนั้นแล้ว จิตเริ่มมีอารมณ์ใหม่
ผู้ฟัง คือ ๓ ตัวนี้อยู่ในอารมณ์เดียวกัน
ท่านอาจารย์ เป็นภวังค์ ยังเป็นภวังค์อยู่ ขณะนี้เป็นอย่างนี้ จิตกำลังเป็นภวังค์ และมีการเห็น การได้ยิน แต่ละวาระไป ต้องศึกษาจริงๆ แล้วจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น และก็ต้องเป็นการศึกษาตามลำดับด้วย แต่คนที่เคยฟังมาแล้วถ้ามีปัญหาก็ถาม จะได้เข้าใจขึ้นได้
ผู้ฟัง คือคำถามที่จะกราบเรียนถามท่านอาจารย์ คิดว่าเป็นเรื่องของทุกคนต้องมีอยู่แน่ ก็คือเกี่ยวกับกิเลส ที่บอกว่ามีกิเลส ๑๐ อันนี้ถูกต้องไหม
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง อกุศลจิต มี ๓ ประเภท คือมีโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต แต่ว่าอกุศลเจตสิก มี ๑๔ ชนิด เพราะฉะนั้นอกุศลเจตสิก ๑๔ ชนิด จะไปเกิดกับจิตอื่นไม่ได้เลย ต้องเกิดกับอกุศลจิตเท่านั้น เพราะฉะนั้นก็มาแยกดูว่า ในอกุศลเจตสิก ๑๔ เจตสิกไหนจะเกิดกับอกุศลจิตประเภทไหน เราแยกเป็นพวกก่อน และเราถึงจะมาจัดอีกอย่างหนึ่งว่า ในอกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท ท่านจำแนกออกตามหน้าที่การงานของเขา เป็นประเภทๆ ไป เป็น ๙ ประเภทก็ได้ ๑๐ ประเภทก็ได้ แล้วแต่ว่าจะทรงจำแนกไว้ กว้างขวางมาก เพราะฉะนั้นเราก็ดูว่าสำหรับจิตที่เป็นโลภมูลจิต จะมีอกุศลเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วยบ้าง อกุศลเจตสิกที่ต้องเกิดกับอกุศลจิตทุกประเภทก็คือ โมหะ ได้แก่ โมหเจตสิก ๑ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ ทั้ง ๔ นี้เป็นกิเลส นับไปเลยว่า ๔ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ เพราะเหตุว่าถ้าขณะใดที่อกุศลจิตเกิด จะปราศจากเจตสิก ๔ ดวงนี้ไม่ได้เลย เป็นอกุศลสาธารณะ เพราะฉะนั้นทุกคนจำได้ว่าเป็น โมจตุกะ ที่ใช้คำว่า โม คือว่าเอา โมหะ เป็นหัวหน้า แต่ก็สำหรับกลุ่มนี้มี ๔ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า โมจตุกะ ได้แก่ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ เพราะฉะนั้นขณะนี้ถ้าจิตของใครเป็นอกุศล เราจะไม่รู้เลยว่า ขณะนั้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว และเป็นอกุศลเจตสิก ซึ่ง ๔ ดวงนี้ต้องเกิดขึ้นด้วยแน่นอน ทีนี้ก็จำได้ โม แล้วก็ จตุกะ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ นี้เป็นกิเลส ๔ และก็ต้องมีโลภเจตสิกเกิดกับโลภมูลจิต มิฉะนั้นอกุศลประเภทนั้นจะไม่เป็นโลภะ จะไม่ใช่สภาพที่ติดข้อง เพราะฉะนั้นก็ต้องมีโลภเจตสิกเกิดอีก ๑ รวมเป็น ๕ ถ้าเราจะพูดถึงกิเลส ๑๐ ก็ได้ ๕ แล้ว และสำหรับโลภมูลจิต ก็จะมี ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) เจตสิกเกิดร่วมด้วย ความเห็นผิดจะไม่เกิดกับอกุศลประเภทอื่นเลย เพราะว่าขณะใดที่เรามีความเห็นผิด ขณะแสดงว่าเราติด เราต้องการ เราพอใจในความเห็นนั้น จึงได้ยึดมั่นในความเห็นนั้น เพราะฉะนั้นทิฏฐิเจตสิกนี้จะเกิดกับอกุศลจิตประเภทเดียวคือ โลภมูลจิต เพราะฉะนั้นก็เป็นกิเลส กี่ประเภทแล้ว เมื่อกี้นี้ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ เป็น โมจตุกะ๔ โลภะอีกหนึ่งเป็น ๕ ทิฏฐิอีกหนึ่งเป็น ๖ แล้วก็มานะเจตสิกสภาพที่สำคัญตน ก็จะไม่เกิดกับจิตอื่นเลยที่เป็นอกุศล นอกจากโลภมูลจิตเท่านั้น นี่เป็นการแสดงสภาพจิตใจของเราอย่างละเอียดว่า แต่ละขณะที่เกิดขึ้นมา แม้ว่าจะสั้น เป็นอกุศล แต่ก็มีเจตสิกแต่ละชนิดซึ่งทำกิจหน้าที่ต่างๆ กัน เช่น มานะเจตสิก จะเกิดกับโลภมูลจิต ขณะใดที่มีความสำคัญตน ขณะนั้นต้องมีความติดข้องในตน เพราะฉะนั้นจึงมีความสำคัญในตน เพราะฉะนั้น มานะเจตสิก เกิดกับ โลภมูลจิต เป็นเท่าไหร่แล้ว สำหรับกิเลส ๗ แล้วใช่ไหม โมจตุกะ ๔ โลภะ ๑ ทิฏฐิ ๑ มานะ ๑ ๗ แล้ว เหลืออีก ๓ ก็ไปถึงอกุศลจิตอีกประเภทหนึ่งคือ โทสมูลจิต จิตที่ชื่อว่าโทสมูลจิต เพราะมี โทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้น โทสะเป็นกิเลสชนิดหนึ่งเป็น ๘ และสำหรับเจตสิกซึ่งเกิดกับ โมหมูลจิต ที่เป็นกิเลสได้แก่วิจิกิจฉาอีก ๑ ตั้งต้นด้วยโมจตุกะ ๔ และ โลภะ ๑ เป็น ๕ ทิฏฐิ ๑ เป็น ๖ มานะ ๑ เป็น ๗ โทสะ ๑ เป็น ๘ และ วิจิกิจฉา ๑ เป็น ๙ เหลืออีก ๑ เดียวคือ ถีนะเจตสิก ๑๐ เป็นกิเลส ๑๐ วันนี้ใครยังไม่คล่องก็นับบ่อยๆ จะได้คล่องจะได้ทราบว่าอกุศลจิตเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวมาแล้วถึง ๑๐ อยากจะขอรายละเอียดของแต่ละคำ ความหมายของแต่ละคำ ดิฉันจะลองพูดดู โลภะ ก็คือความอยาก อยากในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าอยากจะได้แต่ของที่ดีเสมอ แม้แต่ของที่ไม่อยากนี่ ก็ถือว่าเป็นโลภะไหม
ท่านอาจารย์ คือว่าต้องทราบว่า โลภะ เป็นสภาพที่ติดข้อง ไม่สละ ใช้คำนี้จะชัดเจน เป็นสภาพที่ติดข้อง ไม่สละ
ผู้ฟัง อย่างนั้นก็หมายความทั้ง ๒ อย่างได้เหมือนกันที่พูด
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ไม่ติด ติด เป็นสภาพที่ติดข้อง โลภะต้องเป็นสภาพที่ติดข้อง
ผู้ฟัง ติดคือทั้งติดทั้ง ๒ อย่างอยากว่าไม่อยากได้ด้วย
ท่านอาจารย์ ไม่อยากไม่ติด ต้องติดข้อง ไม่สละ
ผู้ฟัง ติดที่จะไม่อยากได้
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ความติดข้องคือไม่สละ เราดู ทางตา เราพอใจที่จะเห็น เพราะฉะนั้นให้ทราบไว้เลยว่า มีความติดข้องในการเห็น และในสิ่งที่ปรากฏ ทั้งๆ ที่สิ่งที่ปรากฏ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เขาเองเป็นรูปธรรม ไม่มีความต้องการที่จะให้เราติดเลย แต่เราช่างพอใจในสีสรรที่ปรากฏทางตา ขอให้อะไรปรากฏ จะต้องมีสภาพที่ติดข้องในสิ่งนั้น เพราะว่ามีโมหะ สภาพที่ไม่รู้ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งใดเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดแล้วดับอย่างรวดเร็ว แต่เพราะไม่รู้ นี่เป็นเหตุที่ว่าเรามีอวิชชา แต่ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมแล้วไม่มีทางที่จะรู้เลยว่าความไม่รู้อยู่ที่ไหน และมีมากสักแค่ไหน คล้ายๆ กับว่าเรามีปัญญามาก ใครพูดอะไรเราก็รู้ไปหมด เข้าใจไปหมด แต่ความจริงไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงแล้ว ถ้าไม่รู้ว่าขณะที่กำลังเห็น แล้วปัญญาไม่เกิดต้องเป็นโมหะ แล้วต้องเป็นความติดข้อง เพราะฉะนั้น ความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา เร็วมาก ยังไม่ทันต้องเป็นนึกเป็นเรื่องเป็นราว เป็นคนนั้นเป็นวัตถุ สิ่งนั้น สิ่งนี้ เพียงแต่มีการเห็น และสิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ดับ ความติดข้องก็เกิดแล้ว เพราะฉะนั้นนี่คือความติดข้องทางตา ความติดข้องทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อย่างเรื่องราวต่างๆ ที่เราคิดในวันหนึ่งๆ โดยมากเรามีธุรกิจเยอะ นักธุรกิจคิดเรื่อย แต่ว่าไม่รู้ว่าจิตที่คิด คือจิตที่ติดข้องในเรื่องที่คิด เราจึงได้คิดเรื่องนั้น ถ้าขณะนั้นไม่ใช่โทสะ แต่ถ้าเป็นโทสะเราจะคิดแบบขุ่นเคือง โกรธคนนั้น ไม่ชอบคนนี้ ไม่พอใจในลาภในคำสรรเสริญต่างๆ ที่เขาได้ ที่คนอื่นชื่นชมเขาหรืออะไร นั่นก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมของจิต ซึ่งหงุดหงิด หรือว่าไม่พอใจ ขุ่นเคืองใจ ไม่ใช่ลักษณะของโลภะ เพราะฉะนั้นก็ต้องให้ทราบว่าลักษณะของโลภะ เป็นสภาพที่ติดข้อง แล้วก็ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้เรื่องราวที่คิดนึก เวลาที่ดูโทรทัศน์ สนุกมากเลย คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรเลย เป็นแต่ชื่อซึ่งเขาแต่ง แล้วก็ทำให้เราคิดไป แต่นั้นแสดงเห็นว่ามีความติดข้องในเรื่องราวที่กำลังคิดอยู่ และชีวิตจริงๆ ก็คืออย่างนี้ เพราะฉะนั้น โลภะนี้มากเหลือเกิน แต่ต้องเป็นสภาพที่ติดข้องเท่านั้นจึงจะเป็นโลภะ ถ้าขณะใดที่ไม่พอใจ ไม่ชอบ ขณะนั้นไม่ใช่โลภะ เป็นโทสะ เพราะฉะนั้นอย่าปนกัน ที่เจอว่าแม้แต่อยากไม่ต้องการ ก็อย่าไปคิดมาก เอาเพียงลักษณะใดซึ่งเป็นสภาพที่ติดข้อง ขณะนั้นเป็นลักษณะของโลภะ
ผู้ฟัง เท่าที่ท่านอาจารย์กล่าวมา ได้กล่าวคลุมมาถึง ทั้งโลภะ โทสะ และโมหะ มานะ และ ทิฏฐิ รู้สึกจะใกล้เคียงกันมาก แต่คิดว่าความหมายจะต่างกันแน่
ท่านอาจารย์ ทิฏฐิ เป็นความเห็นผิด
ผู้ฟัง เห็นผิด จะคล้ายกับ โมหะ หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่ โมหะไม่รู้ โมหะเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร ไม่มีแม้แต่ความเห็น ไม่รู้อย่างเดียว ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏได้
ผู้ฟัง แล้วทิฏฐิล่ะ
ท่านอาจารย์ ทิฏฐิ เป็นความเห็น ถ้าเราถามคนที่นั่งข้างๆ เราว่า คิดอย่างไร เรื่องนั้น เรื่องนี้ เขาจะมีความเห็น
ผู้ฟัง ความคิดเห็น
ท่านอาจารย์ ความเห็นว่า นิพพานเหมือนกับสวรรค์อย่างนี้ นั้นก็เป็นความเห็นอย่างหนึ่ง นั่นคือความเห็น เพราะฉะนั้นแยกจากโมหะ
ผู้ฟัง มานะ นี้ก็คือทะนงตนหรือว่าอะไร
ท่านอาจารย์ ทะนงตน สำคัญตน เราสำคัญมาก มีความเป็นเราเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการที่มีความรู้สึกว่า เป็นเรา จะมี ๓ อย่างคือ ด้วยทิฏฐิ หรือว่า ด้วยตัณหา หรือว่าด้วยมานะ ถ้าด้วยทิฏฐิคือด้วยความเห็นผิดว่า มีตัวตนจริง มีเราจริงๆ ใครจะบอกว่า ไม่มีเรา เป็นไปไม่ได้เลย ก็กำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้ และเห็นอย่างนี้ แล้วคิดอย่างนี้ ก็จะต้องเป็นตัวเราอย่างนี้ นี่คือด้วยความเห็นผิดว่ามีตัวตน ถ้าด้วยโลภะ ก็ของเราทั้งนั้นที่ดี ผมของเรา ตาของเรา ปัญญาของเรา ทุกอย่างที่เป็นของเรา มีความเป็นเรา ด้วยโลภะ แล้วถ้าด้วยมานะ ก็มีความสำคัญตน ด้วยความสำคัญในตัวตนนั้นเป็นลักษณะของมานะ
ผู้ฟัง วิจิกิจฉา อย่างที่ฟังทั่วไปก็พูดบอกว่าสงสัยว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือเปล่า หรือว่าเป็นการสงสัยที่ทั่วๆ ไป ที่ปุถุชนก็สงสัยในเรื่องอื่นๆ มันจะต่างกัน
ท่านอาจารย์ สงสัยในสภาพธรรม
ผู้ฟัง สงสัยในสภาพธรรม ก็ครอบคลุมไปหมด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสงสัยก็เป็นธรรมหมด
ท่านอาจารย์ แล้วแต่ ถ้าเราสงสัยว่า นี้ภาษาอังกฤษเรียกว่าอะไร นี่คือความสงสัยในคำ หรือในภาษาเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องธรรม
ผู้ฟัง ถ้าเป็น ถีนมิทธะ ก็เบื่อหน่ายขี้เกียจอย่างนี้ไหม
ท่านอาจารย์ ถีนมิทธะ นี่เป็นสภาพหดหู่ จิตใจที่ท้อแท้หดหู่
ผู้ฟัง อหิริกะ
ท่านอาจารย์ ความไม่ละอายต่ออกุศล
ผู้ฟัง ความหมายก็คงต่างกับ อโนตตัปปะ แน่แต่ว่าจะแยกกันยังไง
ท่านอาจารย์ อโนตตัปปะ นี่ความไม่เกรงกลัว
ผู้ฟัง ไม่เกรงกลัว กับ อหิริ นี่ไม่ละอาย
ท่านอาจารย์ ไม่ละอาย ถ้าของร้อนเราไม่กล้าจับเพราะกลัวร้อน แต่ของไม่สะอาด ของเปื้อนๆ เราก็ไม่อยากจะจับเหมือนกัน แต่ว่าความรู้สึกคนละอย่าง