แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 251
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายละมลทินนี้เสียแล้ว จงเป็นผู้ไม่มีมลทินเถิด บุคคลผู้ไม่มีหิริ กล้าเพียงดังกา มักขจัด มักแล่นไป ผู้คะนอง เป็นผู้เศร้าหมอง เป็นอยู่ง่าย ส่วนบุคคลผู้มีหิริ มีปกติแสวงหาความสะอาดเป็นนิจ ไม่หดหู่ ไม่คะนอง มีอาชีวะหมดจด เห็นอยู่ เป็นอยู่ยาก
นรชนใด ย่อมล้างผลาญสัตว์มีชีวิต ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ในโลก คบหาภริยาคนอื่น กล่าวคำเท็จ และประกอบการดื่มสุราเมรัยเนืองๆ นรชนนี้ย่อมขุดทรัพย์อันเป็นต้นทุนของตนในโลกนี้แล
ดูกร บุรุษผู้เจริญ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า บาปธรรมทั้งหลายอันบุคคลไม่สำรวมแล้ว ความโลภและสภาวะมิใช่ธรรม อย่าพึงย่ำยีท่านเพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน
ชนย่อมให้ตามศรัทธา ตามความเลื่อมใสโดยแท้ บุคคลใดย่อมเป็นผู้เก้อเขินในเพราะน้ำและข้าวของชนเหล่าอื่นนั้น บุคคลนั้นย่อมไม่บรรลุสมาธิ ในกลางวัน หรือกลางคืน ส่วนผู้ใดตัดความเป็นผู้เก้อเขินนี้ได้ขาด ถอนขึ้นให้รากขาดแล้ว ผู้นั้นแล ย่อมบรรลุสมาธิ ในกลางวันหรือกลางคืน
ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี ผู้จับเสมอด้วยโทสะไม่มี ข่ายเสมอด้วยโมหะไม่มี แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี โทษของผู้อื่นเห็นได้ง่าย ส่วนโทษของตนเห็นได้ยาก เพราะว่าบุคคลนั้นย่อมโปรยโทษของคนอื่น ดุจบุคคลโปรยแกลบ แต่ปกปิดโทษของตนไว้เหมือนพรานนกปกปิดอัตตภาพด้วยกิ่งไม้ ฉะนั้น
อาสวะทั้งหลาย ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้ตามเพ่งโทษผู้อื่น มีความสำคัญในการ
ยกโทษเป็นนิจ บุคคลนั้นเป็นผู้ไกลจากความสิ้นอาสวะ สมณะภายนอกไม่มี ดังรอยเท้าไม่มีในอากาศ ฉะนั้น
หมู่สัตว์ยินดีแล้วในธรรมเครื่องยังสัตว์ให้เนิ่นช้า พระตถาคตทั้งหลายไม่มีธรรมเครื่องยังสัตว์ให้เนิ่นช้า สมณะภายนอกไม่มี ดังรอยเท้าไม่มีในอากาศ ฉะนั้น
สังขารทั้งหลายอันเที่ยงไม่มี กิเลสชาติเครื่องยังสัตว์ให้หวั่นไหวไม่มีแก่พระพุทธเจ้า
จบมลวรรค ที่ ๑๘
ท่านผู้ฟังพิจารณาข้อความตอนใดได้บ้าง เช่น ข้อความตอนที่ว่า สมณะภายนอกไม่มี ดังรอยเท้าไม่มีในอากาศ ถ้าข้อปฏิบัตินั้นไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่การเจริญมรรคมีองค์ ๘ จะทำให้เป็นพระอริยเจ้าได้ไหม ไม่ได้ ถ้าท่านเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ท่านเริ่มรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ จะเห็นว่า ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมแล้ว จะไม่หมดความสงสัยว่าสภาพนั้นเป็นอะไร และไม่รู้จริงๆ ว่าที่กำลังเห็นนี้เป็นนามธรรมอย่างไร เป็นรูปธรรมอย่างไร ที่กำลังได้ยินเป็นนามธรรมอย่างไร เป็นรูปธรรมอย่างไร
นามธรรมและรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ในวันหนึ่งๆ เป็นแต่เพียงธรรมลักษณะต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น ซึ่งท่านจะไม่ทราบเลย ถ้าท่านเป็นผู้ที่ไม่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า สมณะภายนอกไม่มี ดังรอยเท้าไม่มีในอากาศ
อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปเจตนสูตร มีข้อความว่า
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพระราชาพระองค์หนึ่งพระนามว่า ปเจตนะ ครั้งนั้นพระเจ้าปเจตนะ ได้รับสั่งกะนายช่างรถว่า ดูกร นายช่างรถผู้สหาย แต่นี้ไปอีก ๖ เดือน ฉันจะทำสงคราม ท่านสามารถจะทำล้อคู่ใหม่ของฉันได้ไหม นายช่างรถได้ทูลรับรองแด่พระเจ้าปเจตนะว่า ขอเดชะ ข้าพระองค์สามารถจะทำถวายได้ ครั้งนั้นแล นายช่างรถได้ทำล้อสำเร็จข้างหนึ่งโดย ๖ เดือน หย่อน ๖ ราตรี
ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเจตนะตรัสเรียกนายช่างรถมาถามว่า ดูกร นายช่างรถผู้สหาย แต่นี้ไปอีก ๖ วันฉันจะทำสงคราม ล้อคู่ใหม่สำเร็จแล้วหรือ นายช่างรถกราบทูลว่า ขอเดชะ โดย ๖ เดือน หย่อนอยู่อีก ๖ ราตรี นี้แล ล้อได้เสร็จไปแล้วข้างหนึ่ง พระเจ้าปเจตนะตรัสถามว่า ดูกร นายช่างรถผู้สหาย ๖ วันนี้ท่านสามารถจะทำล้อข้างที่ ๒ ของฉันให้เสร็จได้หรือ นายช่างรถได้กราบทูลรับรองต่อพระเจ้าปเจตนะว่า ขอเดชะ ข้าพระองค์สามารถจะทำให้เสร็จได้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล นายช่างรถทำล้อข้างที่ ๒ เสร็จ โดย ๖ วัน แล้วนำเอาล้อคู่ใหม่เข้าไปเฝ้าพระเจ้าปเจตนะถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลว่า ขอเดชะ ล้อคู่ใหม่ของพระองค์นี้สำเร็จแล้ว พระเจ้าปเจตนะรับสั่งถามว่า ดูกร นายช่างรถผู้สหาย ล้อของท่านข้างที่เสร็จโดย ๖ เดือน หย่อน ๖ ราตรี กับอีกข้าง ๑ เสร็จโดย ๖ วันนี้ เหตุอะไรเป็นเครื่องทำให้แตกต่างกัน ฉันจะเห็นความแตกต่างกันของมันได้อย่างไร นายช่างรถกราบทูลว่า ขอเดชะ ความแตกต่างของมันมีอยู่ ขอพระองค์จงทอดพระเนตรความแตกต่างกันของมัน
ตามเหตุตามปัจจัยหรือเปล่า แม้แต่ล้อรถ ๒ ข้างซึ่งใช้เวลาไม่เหมือนกัน เมื่อเหตุปัจจัยต่างกัน ผลก็ต้องต่างกันด้วย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล นายช่างรถยังล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ วันให้หมุนไป ล้อนั้น เมื่อนายช่างรถหมุนไป ก็หมุนไปได้เท่าที่นายช่างรถหมุนไป แล้วหมุนเวียน ล้มลงบนพื้นดิน นายช่างรถได้ยังล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ เดือน หย่อน ๖ ราตรีให้หมุนไป ล้อนั้น เมื่อนายช่างรถหมุนไป ก็หมุนไปได้เท่าที่นายช่างรถหมุนไป แล้วตั้งอยู่ เหมือนอยู่ในเพลา ฉะนั้น
นี่คือ ความต่างกันของล้อรถที่ใช้เวลาต่างกัน
พระเจ้าปเจตนะได้ตรัสถามว่า ดูกร นายช่างรถผู้สหาย อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ วันนี้ เมื่อถูกท่านหมุนไปแล้ว จึงหมุนไปเพียงเท่าที่ท่านหมุนไปได้ แล้วหมุนเวียน ล้มลงบนพื้นดิน ก็อะไรหนอ เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ เดือน หย่อน ๖ ราตรีนี้ เมื่อท่านหมุนไป จึงหมุนไปเท่าที่ท่านหมุนไปได้ แล้วได้ตั้งอยู่ เหมือนกับอยู่ในเพลา ฉะนั้น นายช่างรถกราบทูลว่า ขอเดชะ กงก็ดี กำก็ดี ดุมก็ดีของล้อข้างที่เสร็จแล้วโดย ๖ วันนี้ มันคดโค้ง มีโทษ มีรสฝาด เพราะกงก็ดี กำก็ดี ดุมก็ดี คดโค้ง มีโทษ มีรสฝาด ฉะนั้น เมื่อข้าพระองค์หมุนไป จึงหมุนไปเท่าที่ข้าพระองค์หมุนไป แล้วหมุนเวียน ล้มลงบนพื้นดิน
ขอเดชะ ส่วนกงก็ดี กำก็ดี ดุมก็ดีของล้อข้างที่เสร็จแล้วโดย ๖ เดือน หย่อน อยู่ ๖ ราตรีนี้ ไม่คดโค้ง หมดโทษ ไม่มีรสฝาด เพราะกงก็ดี กำก็ดี ดุมก็ดี ไม่คดโค้ง หมดโทษ ไม่มีรสฝาด ฉะนั้น เมื่อข้าพระองค์หมุนไป จึงหมุนไปได้เท่าที่ข้าพระองค์หมุนไป แล้วได้ตั้งอยู่ เหมือนกับอยู่ในเพลา ฉะนั้น
พระผู้มีพระภาค ตรัสต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ท่านทั้งหลาย จะพึงคิดอย่างนี้ว่า สมัยนั้น คนอื่นได้เป็นนายช่างรถ แต่ข้อนี้ไม่ควรเห็นดังนั้น สมัยนั้น เราได้เป็นนายช่างรถ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย คราวนั้นเราเป็นคนฉลาดในความคดโค้งแห่งไม้ ในโทษแห่งไม้ ในรสฝาดแห่งไม้ แต่บัดนี้ เราเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉลาดในความคดโค้งแห่งกาย ในโทษแห่งกาย ในรสฝาดแห่งกาย ฉลาดในความคดโกงแห่งวาจา ในโทษแห่งวาจา ในรสฝาดแห่งวาจา ฉลาดในความคดโกงแห่งใจ ในโทษแห่งใจ ในรสฝาดแห่งใจ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง ไม่ละความคดโกงแห่งกาย โทษแห่งกาย รสฝาดแห่งกาย ไม่ละความคดโกงแห่งวาจา โทษแห่งวาจา รสฝาดแห่งวาจา ไม่ละความคดโกงแห่งใจ โทษแห่งใจ รสฝาดแห่งใจ เขาได้พลัดตกไปจากธรรมวินัยนี้ เหมือนกับล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ วัน ฉะนั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง ละความคดโกงแห่งกาย โทษแห่งกาย รสฝาดแห่งกาย ละความคดโกงแห่งวาจา โทษแห่งวาจา รสฝาดแห่งวาจา ละความคดโกงแห่งใจ โทษแห่งใจ รสฝาดแห่งใจได้ เขาดำรงมั่นอยู่ในธรรมวินัยนี้ เหมือนกับล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ เดือน หย่อนอยู่ ๖ ราตรี ฉะนั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักละความคดโกงแห่งกาย โทษแห่งกาย รสฝาดแห่งกาย จักละความคดโกงแห่งวาจา โทษแห่งวาจา รสฝาดแห่งวาจา จักละความคดโกงแห่งใจ โทษแห่งใจ รสฝาดแห่งใจ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล
ในการปฏิบัติธรรม ในการเป็นพุทธบริษัท เพื่อจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อธรรมทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ แต่ถ้าท่านผู้ใดยังไม่ตรง ยังเห็นแก่บุคคลบ้างสำนักบ้าง สถานที่บ้าง ข้อปฏิบัติที่คลาดเคลื่อนบ้าง ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง ไม่ละความคดโกงแห่งกาย โทษแห่งกาย รสฝาดแห่งกาย ไม่ละความคดโกงแห่งวาจา โทษแห่งวาจา รสฝาดแห่งวาจา ไม่ละความคดโกงแห่งใจ โทษแห่งใจ รสฝาดแห่งใจ เขาได้พลัดตกไปจากธรรมวินัยนี้ เหมือนกับล้อข้างที่เสร็จโดย ๖ วัน ฉะนั้น
พยายามหาวิธีเร่งรัด ข้ามไปเสีย ไม่รู้นามรูปที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้ จะไปรู้อื่นที่ไม่มีสภาวธรรม ไม่มีสภาพธรรม ไม่มีลักษณะปรมัตถธรรมให้รู้ และก็เข้าใจว่ารู้แล้ว เข้าใจว่าได้บรรลุวิปัสสนาญาณต่างๆ แล้ว เข้าใจว่ารู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้วภายในเวลา ๖ เดือน หรือภายในกำหนดเวลา แต่กล่าวว่า ขณะนี้สติไม่สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริงได้ เหมือนล้อรถที่ทำเสร็จภายใน ๖ วัน แล้วก็ล้ม เพราะเหตุว่าไม่ได้ละโทษ คือ ความไม่ตรงทางกาย ทางวาจา ทางใจ
เพราะฉะนั้น พระธรรมวินัยที่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดครบถ้วน ทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ก็เพื่อเกื้อกูลพุทธบริษัทให้ศึกษา เป็นผู้ตรงต่อธรรมวินัยจริงๆ และการประพฤติปฏิบัติก็ต้องตรงต่อธรรมวินัยด้วย ซึ่งผู้ที่จะเป็นพระอริยเจ้าได้นั้น ต้องเป็นอุชุปฏิปันโน ถ้าคดโค้ง หรือว่าคดโกง ไม่ตรงต่อธรรม ทั้งในความเข้าใจ ทั้งในการประพฤติปฏิบัติ ก็ไม่สามารถที่จะเป็นอริยสาวกได้
ถ. วิปัสสนาญาณ หรือวิปัสสนาปัญญานี้ จะเกิดได้ทางมโนทวารทางเดียว หรือว่าสามารถจะเกิดทางปัญจทวารก็ได้
สุ. ถ้าวิปัสสนาญาณ ความรู้ชัด ความสมบูรณ์ของปัญญาจริงๆ จะรู้ทาง มโนทวาร ขณะนี้กำลังเห็นรูปารมณ์ที่กระทบจักขุปสาทรูป มีอายุ ๑๗ ขณะของจิตจึงจะดับ เพราะฉะนั้น เวลาที่รูปารมณ์กระทบอตีตภวังค์ ๑ ขณะ ภวังคจลนะ ๑ ขณะ ภวังคุปัจเฉท ๑ ขณะ ๓ ขณะที่เป็นภวังค์
ภวังคจิตทั้งหมด ไม่ใช่วิถีจิต จิตอื่นที่ไม่ใช่ภวังคจิต เป็นวิถีจิต
ภวังคจิตรู้อารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต ซึ่งมีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จะจุติในชาติก่อน ไม่ใช่การรู้อารมณ์ คือ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะในปัจจุบันชาติ ที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะฉะนั้น ภวังคจิตทั้งหมดไม่ใช่วิถีจิต จิตอื่นนอกจากนั้นทั้งหมดชื่อว่า วิถีจิต ซึ่งแล้วแต่ว่าวิถีจิตจะรู้อารมณ์โดยอาศัยปสาท หรือทางมโนทวาร
เพราะฉะนั้น เวลาที่รูปารมณ์กระทบกับอตีตภวังค์ ๑ ขณะ ภวังคจลนะขณะที่ ๒ ภวังคุปัจเฉทขณะที่ ๓ ยังไม่ใช่วิถีจิต จิตเหล่านั้นยังไม่มีรูปารมณ์เป็นอารมณ์ เมื่อภวังคุปัจเฉทดับไปแล้ว ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิต เพราะรู้อารมณ์ที่กระทบที่ จักขุทวาร และก็ดับไป เป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นสีที่ยังไม่ดับ จักขุวิญญาณเป็นวิถีจิตเพราะกำลังรู้อารมณ์ คือ สีที่กำลังปรากฏที่ยังไม่ดับ เมื่อ จักขุวิญญาณดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนเกิดขึ้นรับรู้รูปารมณ์คือสีนั้นต่อ โดยที่ยังไม่รู้ความหมายว่าเป็นอะไร นี่เป็นการรู้ปรมัตถอารมณ์ทางปัญจทวารวิถี ซึ่งถ้าเป็นทางตา จิตที่มีปรมัตถอารมณ์ คือ รูปารมณ์ที่ยังไม่ดับ เป็นจักขุทวารวิถีทั้งหมด
คำว่า จักขุทวารวิถี หมายความถึงวิถีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์เพราะอาศัย จักขุทวาร มีปรมัตถอารมณ์ คือ รูปารมณ์ที่ยังไม่ดับไปเป็นอารมณ์ เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้สันตีรณจิตซึ่งเป็นวิถีจิตเกิดขึ้นรู้รูปารมณ์นั้น แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไรเหมือนกัน เพียงแต่พิจารณาตามลักษณะของอารมณ์นั้น และก็ดับไป
วิถีจิตทางปัญจทวารทั้งหมดมีปรมัตถอารมณ์ โดยที่ยังไม่รู้ว่าอารมณ์นั้นเป็นอะไร เมื่อสันตีรณจิตดับไป โวฏฐัพพนจิตเกิดขึ้น กำหนด มนสิการชวนะที่จะเกิดขึ้น ซึ่งก็แล้วแต่การสะสมของจิต ถ้าเป็นผู้ที่มีโยนิโสมนสิการ โวฏฐัพพนจิตที่เกิดขึ้นก็เป็นโยนิโสมนสิการแล้วก็ดับ เป็นปัจจัยให้ชวนจิตที่เกิดขึ้นเป็นกุศลจิต แต่ถ้าเป็นอโยนิโสมนสิการ ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลจิตเกิดขึ้น เป็นโลภมูลจิตก็ได้ โทสมูลจิตก็ได้ โมหมูลจิตก็ได้ ในขณะที่มีรูปารมณ์เป็นปรมัตถอารมณ์ โดยที่ยังไม่รู้ว่าสภาพนั้นเป็นอะไร
จิตทั้งหมดทางปัญจทวารวิถี มีปรมัตถ์อารมณ์แต่ละทางเป็นอารมณ์ ซึ่งอารมณ์นั้นยังไม่ดับ เพราะปรมัตถอารมณ์ที่เป็นรูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ฉะนั้นเมื่อชวนจิตเกิดดับสืบต่อกัน ๗ ครั้ง ก็ยังมีอารมณ์ที่ยังไม่ดับอีก ๒ ขณะจิต จึงเป็นปัจจัยให้ตทาลัมพนจิตเกิดขึ้น รับรู้อารมณ์เดียวกันกับชวนจิตนั้น
ตทาลัมพนจิตเป็นวิบากจิต เกิดขึ้นเพราะยังเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น กรรมที่กระทำที่เกี่ยวข้องกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น เป็นปัจจัยให้วิบากจิต คือ ตทาลัมพนจิต เกิดขึ้นรู้อารมณ์เดียวกับ ชวนจิต เมื่อตทาลัมพนจิตเกิดแล้วก็ดับไป ๒ ขณะ อารมณ์นั้นก็ดับ ซึ่งตลอดระยะเวลาเหล่านี้ จิตจะรู้อื่นที่นอกจากปรมัตถอารมณ์ไม่ได้
แต่นามรูปปริจเฉทญาณ คือ ปัญญาที่รู้ชัดในสภาพของนามธรรมและรูปธรรม เพราะการอบรมสติและปัญญา จนสามารถที่จะแยกลักษณะที่ต่างกันโดยเด็ดขาดของนามธรรมและรูปธรรม เช่น ทางตาในขณะนี้ ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะเพียงระลึก และรู้ว่าเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม และสิ่งที่กำลังปรากฎทางตาเป็นแต่เพียงรูปธรรม เป็นสิ่งที่ปรากฎทางตา ไม่ใช่สภาพรู้ ท่านเห็นเป็นอย่างนี้ แต่ขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้ ท่านแยกไม่ขาดว่า ลักษณะที่เป็นสภาพรู้อย่างไรจริงๆ ที่จะแยกออกจากกัน
หรือว่าทางหู สติก็ระลึกรู้ว่า ที่กำลังปรากฎทางหู ลักษณะนี้เมื่อทิ้งอย่างอื่นหมด มีแต่เสียงที่กำลังปรากฎ สติก็รู้ในลักษณะของเสียงนั้น และลักษณะของนามธรรมที่รู้เสียง ที่จะต้องระลึกแล้วก็รู้ว่า ที่กำลังรู้เสียงเป็นสภาพรู้เท่านั้น เป็นสภาพรู้เสียงที่กำลังปรากฎ ไม่ใช่นามธรรมอื่น ไม่ใช่คิดนึก แต่เป็นสภาพรู้ที่กำลังรู้เสียง