แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 253


จิตที่เกิดขึ้นรู้สีที่ยังไม่ดับ จะรู้อื่นไม่ได้เลย และในขณะที่เสียงยังไม่ดับไป จิตที่เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ก็เกิดขึ้นรู้เสียงที่ยังไม่ดับไป รู้ได้เฉพาะเสียงที่ยังไม่ดับไป ไม่มีความรู้ในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม สามารถที่จะรู้เฉพาะแต่ปรมัตถ์อารมณ์ที่ไม่ดับเท่านั้น วิถีจิตรวดเร็วเหลือเกิน เพราะฉะนั้น เวลาที่ความรู้ชัด ที่เป็นสติที่มั่นคง เป็นปัญญาที่มั่นคงเกิดขึ้นทางมโนทวาร จึงสามารถรู้ในลักษณะที่เป็นสภาพรู้ ที่เป็นนามธรรม โดยไม่มีรูปธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องเลยสักรูปเดียว รูปธรรมสักลักษณะเดียวจะไม่ปรากฎในขณะที่วิปัสสนาญาณกำลังรู้ชัดในลักษณะที่เป็นนามธรรม

เมื่อสติมั่นคง ปัญญามั่นคง เป็นวิปัสสนาญาณ จะไม่รู้แต่เฉพาะนามธรรมเท่านั้น เวลาที่รูปธรรมปรากฏ จะปรากฏทางมโนทวารวิถี ซึ่งเป็นความชัดเจน เป็นปรมัตถ์อารมณ์ เพราะเหตุว่ารับรู้ปรมัตถ์อารมณ์นั้นต่อจากทางปัญจทวารวิถีนั่นเอง เพราะฉะนั้น เวลาที่ประจักษ์ในสภาพของรูปธรรมทีละลักษณะ ท่าทางไม่มีเลย อย่างอื่นไม่มีเลย แล้วแต่ว่ารูปนั้นจะเป็นรูปที่ปรากฎทางตา หรือทางหู หรือจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย มโนทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรับรู้รูปปรมัตถ์นั้นต่อจากทางปัญจทวารวิถีโดยรวดเร็ว ลักษณะของปัญจทวารวิถีไม่ปรากฎทางมโนทวารวิถี แต่ผู้ที่ศึกษา ปริยัติธรรมสามารถที่จะรู้ได้ เพราะได้ศึกษามาแล้วว่า ถ้าจักขุทวารไม่มี สีปรากฏทางมโนทวารวิถีไม่ได้ ถ้าโสตทวารไม่มี เสียงปรากฏทางมโนทวารวิถีไม่ได้ จิตรู้เสียงทางโสตทวารวิถีต้องดับไปก่อน ทางมโนทวารวิถีจึงจะเกิดรับรู้เสียงนั้นต่ออย่างรวดเร็วที่สุด เพราะฉะนั้น เป็นการสืบต่อที่เร็วมาก ความเร็วมากที่เป็นความรู้ชัดทางมโนทวารนี้ ทางปัญจทวารไม่ปรากฎ

. สมมติว่า ทางโสตทวารวิถีนี้เกิดขึ้น ๑๐๐ ครั้ง รู้ปรมัตถ์อารมณ์ คือเสียง ๑๐๐ ครั้ง ทางมโนทวารวิถีก็รู้ ๑๐๐ ครั้งเหมือนกัน ก็รู้เช่นเดียวกันอย่างนี้ ที่สงสัยคือ ปัญญาที่เกิดขึ้นทางโสตทวารวิถี ชวนจิตนั้นมีปัญญา ทางมโนทวารก็มีปัญญาเหมือนกัน แต่ปัญญาทางปัญจทวารไม่มีประโยชน์อะไรเลยหรือ ไม่เป็นญาณหรือ ที่จริงก็เป็นปัญญา จะว่าไม่เป็นก็ไม่ได้

อีกประการหนึ่ง สมมติว่า ทางโสตทวารวิถีนี้ แกไม่ได้รู้ตัวเองว่าแกรู้เสียงอยู่แต่ว่ามโนทวารวิถีนี้สามารถจะรู้ได้ว่า เดี๋ยวนี้รู้ทางโสตทวาร เดี๋ยวนี้รู้ทางจักขุทวาร เดี๋ยวนี้รู้ทางกายทวาร รู้ทางชิวหาทวาร เป็นอย่างนี้หรือเปล่าครับ

สุ. ความจริงถ้าเป็นความรู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ขอให้ท่านพิสูจน์เดี๋ยวนี้ ทันที

ถ้าหลับตา และมีเสียงปรากฎ ใครสามารถจะบอกได้ว่า เสียงที่กำลังปรากฎ เป็นโสตทวารวิถี หรือมโนทวารวิถี มีอะไรเป็นเครื่องที่จะแยกได้ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ความรู้ชัดที่เป็นมโนทวารวิถีจิตในขณะนั้น สามารถที่จะประจักษ์ในสภาพของการรู้ทางมโนทวาร ซึ่งทางปัญจทวารก็มี แต่ว่าปัญญายังไม่สามารถที่จะแยกได้โดยละเอียดถึงกับว่า ขณะนั้นเป็นปัญจทวารวิถีและมโนทวารวิถีสืบต่อทันที แต่แม้กระนั้น เสียงก็ปรากฎทางมโนทวารวิถี เพราะกำลังรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่แยกกันโดยเด็ดขาดทางมโนทวารวิถี ซึ่งความจริงทางโสตทวารวิถีก็เกิดแล้วดับแล้ว แต่เช่นเดียวกับขณะนี้ ใครแยกได้ว่า ที่เสียงกำลังปรากฎนี้ เป็นโสตทวารวิถี หรือว่าเป็นมโนทวารวิถี แยกไม่ได้ใช่ไหม

เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นความรู้ชัด เป็นสติที่มั่นคง เป็นปัญญาที่มั่นคงทาง มโนทวารวิถี แม้ในขณะนั้นมีโสตทวารวิถี แต่เสมือนกับว่าทางโสตทวารวิถีนั้นมิได้ปรากฎเลย เพราะว่าความรู้ชัดกำลังรู้ชัดในสภาพของมโนทวารที่สามารถรู้สีต่อจากจักขุทวารวิถี รู้เสียงต่อจากโสตทวารวิถี รู้กลิ่นต่อจากฆานทวารวิถี รู้รสต่อจากชิวหาทวารวิถี รู้โผฏฐัพพะต่อจากทางกายทวารวิถี

ขณะนี้เย็นปรากฎ ใครบอกได้ว่าเป็นทางกายทวารวิถี หรือมโนทวารวิถี แต่เมื่อเป็นความรู้ชัดแล้ว จึงได้ประจักษ์ว่าทางมโนทวารวิถีนั้น สามารถที่จะรู้สี สามารถที่จะรู้เสียง สามารถที่จะรู้กลิ่น สามารถที่จะรู้รส สามารถที่จะรู้โผฏฐัพพะ โดยทาง มโนทวารวิถี ซึ่งปรากฎความขาดตอนของรูปแต่ละรูป

สิ่งที่เคยคิดว่ามี ไม่มี โลกที่เคยเห็น ที่เคยยึดถือ ไม่มี มีแต่ลักษณะของธาตุรู้ ที่กำลังรู้ และมีลักษณะของรูปแต่ละรูปที่รู้สืบต่อปรากฎชัดทางมโนทวารวิถี ให้หมดความสงสัยในการที่จะประชุมควบคุมติดต่อกัน เป็นความเห็นผิดที่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

. ถึงตรงนี้ก็พอจะเข้าใจขึ้นบ้าง เช่น ทางจักขุทวารวิถีนี้ก็รู้เฉพาะสีเท่านั้นเอง ยังไม่สามารถจะรู้ได้ว่าเห็นเป็นอย่างไร ทางกายเป็นอย่างไร รสเป็นอย่างไร ไม่รู้ ทางกายทวารจะรู้เย็น รู้ร้อน อะไรก็สุดแล้วแต่ ทางจมูกก็รู้ไปอีกทางหนึ่ง คือ รู้แต่ละทางๆ ของตน แต่ว่าทั้งหมดนี้ก็มารวมลงที่มโนทวาร ซึ่งมโนทวารสามารถจะแยกได้ว่า สิ่งนี้ทางหู สิ่งนี้ทางกาย สิ่งนี้ทางลิ้น สิ่งนี้ทางจมูก ใช่ไหมครับ

สุ. อารมณ์ที่ปรากฎทางมโนทวารวิถี ลักษณะเดียวกับที่ปรากฎทาง จักขุทวารวิถี ทางโสตทวารวิถี ทางฆานทวารวิถี ทางชิวหาทวารวิถี ทางกายทวารวิถี ซึ่งแสดงให้รู้ว่า มโนทวารวิถีจิตสามารถที่จะรู้อารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์สืบต่อจากจักขุทวารวิถีได้ โสตทวารวิถีได้ ฆานทวารวิถีได้ ชิวหาทวารวิถีได้ กายทวารวิถีได้

สำหรับจักขุทวารวิถี รู้เฉพาะสีปรมัตถ์ที่ยังไม่ดับ ไม่สามารถที่จะรู้อื่น ความสมบูรณ์ของปัญญาจึงไม่ใช่รู้ชัดทางปัญจทวารวิถี แต่เป็นทางมโนทวารวิถี เพราะกำลังประจักษ์ในลักษณะของธาตุรู้ที่เป็นนามธรรมได้ ในลักษณะของรูปปรมัตถ์แต่ละรูปที่ปรากฎได้ และไม่ติดต่อสืบกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนเหมือนอย่างที่เคยประชุมปรากฎรวมๆ กัน หรือว่าติดกันอย่างที่ไม่ปรากฎว่า มโนทวารวิถีกำลังเกิดคั่น อย่างในขณะนี้ กำลังนั่งอยู่ ก็เห็นด้วย ได้ยินด้วย มโนทวารวิถีอยู่ที่ไหนกัน ไม่ทราบใช่ไหม

แต่ว่าที่จะรู้ชัดในสภาพของรูปธรรมที่แยกจากกันจริงๆ และก็ไม่ใช่ลักษณะของนามธรรมด้วย รูปธรรมก็เป็นรูปธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของตน ปรากฎตามสภาพของตน นามธรรมก็ไม่ใช่ลักษณะเดียวกับรูปธรรม เป็นแต่เพียงสภาพรู้ ธาตุรู้เท่านั้น ซึ่งในขณะนั้นจะต้องรู้ทางมโนทวารวิถี

การเจริญสติปัฏฐานนั้น เพื่อละ อย่าหวัง หรือว่าคอยเร่งรัดที่จะให้เป็นวิปัสสนาญาณเร็วๆ ถ้าท่านได้เจริญเหตุมาแล้วสมควรแก่ผล ผู้หนึ่งผู้ใดจะยับยั้งมิให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เลย เมื่อถึงกาลที่วิปัสสนาญาณจะเกิด วิปัสสนาญาณก็เกิด แต่ถ้าก่อนนั้น เหตุยังไม่สมควรแก่ผล จะไปหวังรอสักเท่าไร จะไปเร่งรัดสักเท่าไร จะไปเทียบเคียงสักเท่าไร ก็ไม่หมดความสงสัยในวิปัสสนาญาณนั้นได้ ว่า วิปัสสนาญาณที่เป็นความรู้ชัดแต่ละขั้นนั้น รู้ชัดอย่างไร และละความไม่รู้แต่ละขั้นอย่างไร

ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎก ในครั้งพุทธกาล พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาแสดงธรรมเท่าที่จะอุปการะเกื้อกูลแก่สัตว์โลกได้ แต่ก็มีบุคคลจำนวนมากเหมือนกัน ซึ่งพระธรรมไม่สามารถที่จะเกื้อกูลบุคคลเหล่านั้นได้

อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เกสีวรรค ที่ ๒ เกสีสูตร มีข้อความว่า

ครั้งนั้นแล สารถีผู้ฝึกม้า ชื่อ เกสี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสถามว่า

ดูกร เกสี ท่านอันใครๆ ก็รู้กันดีแล้วว่า เป็นสารถีผู้ฝึกม้า ก็ท่านฝึกหัดม้าที่ควรฝึกอย่างไร

สารถีผู้ฝึกม้า ชื่อ เกสี กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ฝึกหัดม้าที่ควรฝึกด้วยวิธีละม่อมบ้าง รุนแรงบ้าง ทั้งละม่อมทั้งรุนแรงบ้าง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร เกสี ถ้าม้าที่ควรฝึกของท่าน ไม่เข้าถึงการฝึกหัดด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง ท่านจะทำอย่างไรกะมัน

สารถีผู้ฝึกม้า ชื่อ เกสี กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าม้าที่ควรฝึกของข้าพระองค์ ไม่เข้าถึงการฝึกหัด ด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง ก็ฆ่ามันเสียเลย ข้อนั้นเพราะ เหตุไร เพราะคิดว่า โทษมิใช่คุณ อย่าได้มีแก่สกุลอาจารย์ของเราเลย

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคเป็นสารถี ฝึกบุรุษชั้นเยี่ยม ก็พระผู้มีพระภาคทรงฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่างไร

พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า

ดูกร เกสี เราแล ย่อมฝึกบุรุษที่ควรฝึกด้วยวิธีละม่อมบ้าง รุนแรงบ้าง ทั้ง ละม่อมทั้งรุนแรงบ้าง

ดูกร เกสี ในวิธีทั้ง ๓ นั้น การฝึกดังต่อไปนี้ เป็นวิธีละม่อม คือ กายสุจริต เป็นดังนี้ วิบากแห่งกายสุจริตเป็นดังนี้ วจีสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีสุจริตเป็นดังนี้ มโนสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนสุจริตเป็นดังนี้ เทวดาเป็นดังนี้ มนุษย์เป็นดังนี้

การฝึกแบบละม่อม คือ การแสดงให้เห็นธรรมฝ่ายกุศลที่ควรเจริญว่า ควรอบรม ควรเจริญอย่างไรเป็นกายสุจริต เป็นวจีสุจริต เป็นมโนสุจริต

ข้อความต่อไปมีว่า

การฝึกดังต่อไปนี้ เป็นวิธีรุนแรง คือ กายทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายทุจริตเป็นดังนี้ วจีทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีทุจริตเป็นดังนี้ มโนทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนทุจริตเป็นดังนี้ นรกเป็นดังนี้ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเป็นดังนี้ ปิตติวิสัยเป็นดังนี้

ต่อไปเป็นการฝึกที่ทั้งละม่อมทั้งรุนแรง

ข้อความต่อไปมีว่า

การฝึกดังต่อไปนี้ เป็นวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง คือ กายสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายสุจริตเป็นดังนี้ กายทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งกายทุจริตเป็นดังนี้ วจีสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีสุจริตเป็นดังนี้ วจีทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งวจีทุจริตเป็นดังนี้ มโนสุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่งมโนสุจริตเป็นดังนี้ มโนทุจริตเป็นดังนี้ วิบากแห่ง มโนทุจริตเป็นดังนี้ เทวดาเป็นดังนี้ มนุษย์เป็นดังนี้ นรกเป็นดังนี้ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเป็นดังนี้ ปิตติวิสัยเป็นดังนี้

สารถีผู้ฝึกม้า ชื่อ เกสี ก็ยังไม่หมดความสงสัย ได้กราบทูลถามต่อไปว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าบุรุษที่ควรฝึกของพระองค์ไม่เข้าถึงการฝึกด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง พระผู้มีพระภาคจะทำอย่างไรกะเขา

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร เกสี ถ้าบุรุษที่ควรฝึกของเราไม่เข้าถึงการฝึกด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง เราก็ฆ่าเขาเสียเลย

เกสีกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปาณาติบาต ไม่สมควรแก่พระผู้มีพระภาคเลย ก็เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฉนพระผู้มีพระภาคจึงตรัสอย่างนี้ว่า ฆ่าเขาเสีย

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

จริง เกสี ปาณาติบาตไม่สมควรแก่ตถาคต ก็แต่ว่าบุรุษที่ควรฝึกใด ย่อมไม่เข้าถึงการฝึกด้วยวิธีละม่อม ด้วยวิธีรุนแรง ด้วยวิธีทั้งละม่อมทั้งรุนแรง ตถาคตไม่สำคัญบุรุษที่ควรฝึกนั้นว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน แม้สพรหมจารีย์ผู้เป็นวิญญูชน ก็ย่อมไม่สำคัญว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน

ดูกร เกสี ข้อที่ตถาคตไม่สำคัญบุรุษที่ควรฝึกว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน แม้สพรหมจารีย์ผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลาย ก็ไม่สำคัญว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน นี่เป็นการฆ่าอย่างดี ในพระวินัยของพระอริยะ

เกสีกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อที่พระตถาคตไม่สำคัญบุรุษที่ควรฝึกว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอน แม้สพรหมจารีย์ผู้วิญญูชนก็ไม่สำคัญว่า ควรว่ากล่าว ควรสั่งสอนนั้น เป็นการฆ่าอย่างดี แน่นอน

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมโดยเอนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลง หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ฉะนั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ถ้าท่านผู้ฟังไม่อยากให้ยกพระธรรมโดยละเอียดขึ้นเทียบเคียงในการปฏิบัติ จะเหมือนกับการฆ่าเสียไหม ไม่ต้องกล่าวถึงกันอีกในเรื่องเหตุผล ในพระวินัยปิฎก ในพระสุตตันตปิฎก ในพระอภิธรรมปิฎก เพราะบางท่านกล่าวว่า การศึกษาปริยัตินั้นไม่ตรงกับการปฏิบัติ ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ผิด และถ้าท่านผู้ฟังอยากจะถูก ก็ต้องเทียบเคียงทั้งพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก แต่ถ้าไม่อยากจะให้ยกข้อความในทั้ง ๓ ปิฎกขึ้นมาเทียบเคียง ขึ้นมาให้พิจารณา ก็เหมือนกับการฆ่าเสีย ผู้นั้นก็ไม่เจริญงอกงามในพระธรรมวินัย ในการเจริญข้อประพฤติปฏิบัติที่จะให้รู้แจ้งสภาพธรรมได้ตามความเป็นจริง

ในครั้งพุทธกาล ที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ถ้าท่านผู้ฟังศึกษาใน พระ ธรรมวินัย จะเห็นได้ว่า สำหรับบางท่าน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพียงเล็กน้อย แต่ผู้ฟังสามารถพิจารณาได้ว่า พระธรรมที่ได้ทรงแสดงนั้น สมบูรณ์ทั้งเหตุและผล เป็นข้อที่ควรประพฤติปฏิบัติตาม เพียงพระธรรมเทศนาสั้นๆ แต่ในสมัยนี้ ถ้าท่านผู้ฟังยังไม่ได้ให้เหตุกับผลตรงกัน หรือว่า ไม่ใช่เป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรม พระธรรมวินัยก็ไม่สามารถที่จะเกื้อกูลได้

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะในครั้งนี้ ที่พุทธบริษัทมีความเห็นต่างกัน ประพฤติปฏิบัติต่างกัน แม้ในครั้งโน้น ถ้าบุคคลใดไม่สามารถที่จะเข้าใจในเหตุในผลที่พระองค์ทรงแสดง พระผู้มีพระภาคเองก็มิได้ตรัสตอบบุคคลที่มากราบทูลถามข้อธรรมต่างๆ ถ้าท่านผู้ฟังศึกษาในพระสูตร จะเห็นได้ว่า มีหลายครั้งที่บุคคลอื่น มีความเห็นอย่างอื่น มีความเข้าใจอย่างอื่นไปเฝ้ากราบทูลถาม แต่พระผู้มีพระภาคมิได้ตรัสตอบเลย ทรงนิ่ง เพราะว่าพระผู้มีพระภาคย่อมทรงรู้อัธยาศัยของสัตว์โลกโดยละเอียดว่า ผู้นั้นสมควรที่จะเกื้อกูลได้มากน้อยอย่างไร


หมายเลข  6105
ปรับปรุง  25 ก.ค. 2566