แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 254
ถ. ผมได้ฟังการบรรยาย ณ สถานที่แห่งหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ท่านบอกว่า ผู้ที่ไม่สามารถไปสู่สำนักปฏิบัติได้ ก็เพราะว่ากิเลสดึงเอาไว้ ผมก็เรียนถามว่า ผู้ที่สามารถไปสู่ที่สำนักปฏิบัติได้กิเลสไปไหน ท่านก็บอกว่า ก็ไปด้วย ผมก็ถามว่า เมื่อไปด้วยเช่นนั้น แล้วจะต่างกันอย่างไร ท่านก็อธิบายว่า อยู่ที่บ้าน มีเครื่องรกรุงรังมาก มีลูก มีเมีย มีเครื่องใช้ไม้สอย สารพัดที่จะเป็นปัจจัยให้ไม่สามารถไปสู่สำนักปฏิบัติได้ ผมก็เรียนถามท่านว่า ไปสู่สำนักปฏิบัติแล้ว ผมไม่สามารถจะคิดได้ทีเดียวหรือว่า ลูกผม เมียผม บ้านช่องของผมนี้เป็นอย่างไร อะไรต่างๆ นี้ คนนั้นไปโรงเรียนหรือยัง ปิดหน้าต่างหรือยัง อะไรต่างๆ ธัมมารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมายก่ายกองอย่างนี้ ผมคิดไม่ได้หรือ หรือว่าตัดออกหมด ท่านก็บอกว่าได้
ผมก็เรียนถามท่านต่อไปว่า ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า สติ เป็นที่ปรารถนาในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ หมายความว่าอะไร ท่านก็อธิบายถึงสติเป็นขั้นต่างๆ ของท่านต่างๆ อย่างนั้น อย่างนี้เรื่อยไป แล้วท่านก็สรุปว่า แม้ผู้ที่อยู่ที่บ้าน เมื่อสามารถเจริญสติได้ ท่านก็ขออนุโมทนาด้วย เป็นอันจบกันแค่นี้
เป็นการแสดงว่า การไปสู่สำนักปฏิบัติไม่ใช่ของจำเป็นอะไรเลย อยู่ที่ไหนก็สามารถเจริญสติได้ ผมก็มาเรียนให้ท่านผู้ฟังทราบ นี่เป็นข้อความที่ผมได้รับฟังจากท่านผู้บรรยายสติปัฏฐาน ณ สำนักแห่งหนึ่ง
สุ. พระพุทธพจน์มีว่า สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง และในกาลทุกเมื่อ
เพราะฉะนั้น ก็ควรเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง
ถ้ารับรองว่า สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง จริง และก็ควรเจริญในกาลทุกเมื่อ จริง รับรองพระพุทธพจน์ แต่เวลาปฏิบัติ ไม่ปฏิบัติอย่างนี้ ตรงต่อธรรมไหม ก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่ตรงต่อธรรม เพียงแต่เป็นผู้ที่รับรองธรรม แต่ไม่ปฏิบัติตามธรรม เพราะเหตุว่ายังไม่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว ชื่อสำนักปฏิบัติไม่จำเป็นเลย เพราะว่าที่ใดๆ ก็เป็นที่ๆ สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ แม้ในที่นี้
ทำไมจะต้องมีชื่อเฉพาะว่า สำนักปฏิบัติ ถ้าเป็นอย่างนั้น หมายความว่า นอกจากสำนักปฏิบัติที่มีชื่ออย่างนั้นแล้ว จะไม่มีการปฏิบัติธรรมเลย ก็ไม่ตรงกับ พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ว่า สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง และควรเจริญในกาลทุกเมื่อ
สำหรับเรื่องของภพภูมิต่างๆ ไม่ใช่มีแต่เฉพาะมนุษย์ หรือสัตว์ดิรัจฉาน ที่เห็นกันอยู่เป็นปกติ เมื่อเหตุที่จะให้ปฏิสนธิ หรือเกิดในภูมิอื่นมี เป็นปัจจัย ให้ผลเมื่อไร ก็ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดต่อจากจุติจิตในชาตินี้ แล้วแต่ว่าท่านจะปฏิสนธิในภูมิไหน ตามควรแก่เหตุ
ก่อนที่ท่านจะมาสู่ภูมินี้ ทราบไหมว่า โลกนี้จะเป็นอย่างนี้ โลกนี้จะมีอะไรบ้าง ไม่เคยรู้ล่วงหน้าเลยสักนิดเดียว ก็เกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ เพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา วันนี้เป็นอย่างนี้ พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร ทราบไหม ไม่สามารถที่จะรู้ข้างหน้าได้เลย พรุ่งนี้อาจจะเป็นโลกนี้อีก เห็นสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้อีก หรือว่าอาจจะเป็นสวรรค์ชั้นต่างๆ หรือว่าอาจจะเป็นนรกขุมต่างๆ ก็ได้ ไม่มีการทราบล่วงหน้าเลย แล้วแต่เหตุแล้วแต่ปัจจัยทั้งสิ้น
แม้ท่านพระเทวทัต ที่ท่านเกิด ท่านไม่ทราบก่อนว่า ท่านจะเกิดในโลกนี้ และตลอดชีวิตของท่านที่ดำเนินไปด้วยความริษยา ด้วยการกระทำอนันตริยกรรม ท่านก็ไม่เคยรู้ล่วงหน้าเลยว่า ท่านจะเป็นผู้ที่กระทำกรรมอย่างนั้น หรือจะต้องประสพพบเห็นกับเหตุการณ์ที่จะทำให้การสะสมที่มีอยู่ในใจของท่านเกิดความริษยา หรือการกระทำที่เป็นอกุศลกรรมถึงเพียงนั้นได้ และเมื่อจุติแล้ว ท่านก็ไม่ทราบอีกเหมือนกัน แต่ท่านก็ได้ไปแล้วสู่อเวจีนรก ฉันใด ทุกท่านที่เกิดมาในโลกนี้ ก่อนจะเกิดก็ไม่ทราบว่าจะพบอะไรบ้าง จะกระทำกรรมอะไรบ้าง และกรรมที่ได้กระทำแล้วนี้ จะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในวันใด ในที่ใด หลังจากจุติจากโลกนี้แล้ว ท่านก็ไม่ทราบ
เพราะฉะนั้น เรื่องของการที่จะมีชีวิตดำเนินไป เป็นเรื่องที่ควรจะได้ทราบเหตุและผล และสะสมความรู้ที่เกี่ยวกับสภาพของชีวิตให้ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อละความไม่รู้ที่ทำให้ทำกรรมต่างๆ ที่เป็นอกุศล เป็นเหตุให้ได้รับทุกข์ทรมานอย่างสาหัสทีเดียว
เรื่องทุกเรื่องในพระไตรปิฏก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบุคคลที่กระทำอกุศลกรรม ก็เป็นอนุสติเตือนให้ท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่ไม่ประมาท ตราบใดที่ท่านยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท โลภะยังมี โทสะยังมี โมหะยังมี อิสสายังมี อกุศลธรรมอื่นยังมี วันหนึ่งจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ท่านกระทำกรรมที่เป็นอกุศลกรรม ที่จะทำให้ไปสู่นรกขุมต่างๆ และได้รับความทุกข์ทรมาน
ขอกล่าวถึงเรื่องของพระเทวทัตในพระไตรปิฎก เพื่อท่านผู้ฟังจะได้เป็นผู้ที่ไม่ประมาท มีข้อธรรมหลายข้อในเรื่องของท่านพระเทวทัตที่ท่านควรจะพิจารณาไตร่ตรอง เพื่อการเจริญสติปัฏฐานของท่านจะได้ไม่คลาดเคลื่อนไม่ผิดไป
เรื่องของท่านพระเทวทัต เป็นเรื่องของผู้ที่ยังไม่ใช่พระอริยเจ้า เพราะฉะนั้น ก็มีทั้งโลภะ โทสะ โมหะ มีความต้องการในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ท่านพระเทวทัตเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยชาติ ด้วยตระกูล ด้วยยศ ด้วยทรัพย์ แต่ยังไม่พอสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลส เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่มีทรัพย์ มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ แต่ยังไม่หมดกิเลส ยังไม่ได้ขัดเกลา ละอกุศลให้เบาบาง ก็เป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้ว่า กิเลสนั้นอาจจะมีกำลังกล้า ทำให้ท่านสามารถปฏิบัติธรรมคลาดเคลื่อนผิดไปในทางอกุศลกรรมหนักๆ ได้
ถ้าท่านจะสังเกตดู ถ้าท่านเป็นผู้ที่ตรงต่อธรรมจริงๆ การปฏิบัติธรรมของท่านนั้นเพื่ออะไร เพื่อลาภ เพื่อบริษัทบริวาร หรือเพื่อเข้าใจสภาพธรรมให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้าท่านพิจารณาสภาพจิตของท่านเองให้ละเอียด ท่านย่อมได้รับประโยชน์ที่จะขัดเกลาอกุศลยิ่งขึ้น แต่ถ้าท่านไม่พิจารณาโดยละเอียด ท่านก็ต้องเป็นไปตามกำลังของอกุศลนั้นๆ
การที่ให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาความประพฤติ การปฏิบัติของท่านพระเทวทัต ก็เพื่อที่จะให้ท่านได้ระลึกถึงสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน หรือหลังการปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค จนถึงกาลสมัยนี้ ความคิด ความเห็น ความเชื่อของแต่ละบุคคลนั้น ก็ต่างกันไปตามการสะสมของเหตุปัจจัย ผู้ที่มีการสะสมที่จะน้อมไป คล้อยไปในทางการเห็นผิด แม้ในครั้งพุทธกาลก็เห็นผิด กล่าวผิดด้วย
ใน พระวินัยปิฎก จุลวรรค เรื่องพระเทวทัตทูลขอปกครองสงฆ์ ท่านเป็นพระภิกษุ มีพระผู้มีพระภาคเป็นศาสดา แต่เพราะความต้องการในลาภ ยศ สรรเสริญ ท่านก็ทูลขอพระผู้มีพระภาคในการปกครองสงฆ์
พระวินัยปิฎก จุลวรรค มีว่า
ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาค อันบริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมแล้ว ประทับนั่งแสดงธรรมแก่บริษัท พร้อมทั้งพระราชา ครั้งนั้น พระเทวทัตลุกจากอาสนะ ห่มผ้าเฉวียงบ่า นั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลีไปทางพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลว่า
พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคทรงพระชราแล้ว เป็นผู้เฒ่า แก่หง่อมแล้ว ล่วงกาลผ่านวัยไปแล้ว บัดนี้ ขอพระองค์จงทรงขวนขวายน้อย ประกอบทิฏฐธรรมสุขวิหารอยู่เถิด ขอจงมอบภิกษุสงฆ์แก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าจักปกครองพระภิกษุสงฆ์
ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เวลาที่มีการเคลื่อนไหว นั่ง นอน ยืน เดิน เหยียด คู้ สติระลึกได้ รู้ว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม และละสิ่งที่เป็นอกุศล เวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ก่อนที่จะไหวไปกระทำอกุศลกรรม สติระลึกได้ ก็รู้ในสภาพที่เป็นอกุศลธรรมนั้น จึงมีการวิรัติ มีการงดเว้น แต่ผู้ที่ไม่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ กระทำไปโดยตลอด ตั้งแต่นั่งกระโหย่งเท้า ถวายบังคม แล้วก็กราบทูลขอเพื่อการปกครองสงฆ์
พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า
อย่าเลย เทวทัต เธออย่าพอใจที่จะปกครองภิกษุสงฆ์เลย
แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ พระเทวทัตก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคทรงพระชราแล้ว เป็นผู้เฒ่าแก่หง่อมแล้ว ล่วงกาลผ่านวัยไปแล้ว บัดนี้ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงขวนขวายน้อย ประกอบทิฏฐธรรมสุขวิหารอยู่เถิด ขอจงมอบภิกษุสงฆ์แก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าจักปกครองภิกษุสงฆ์
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร เทวทัต แม้แต่สารีบุตรและโมคคัลลานะ เรายังไม่มอบภิกษุสงฆ์ให้ ไฉนจะพึงมอบให้เธอผู้เช่นซากศพ ผู้บริโภคปัจจัยเช่นก้อนเขฬะเล่า
ทีนั้น พระเทวทัตคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงรุกรานเรากลางบริษัท พร้อมด้วยพระราชา ด้วยวาทะว่า บริโภคปัจจัยดุจก้อนเขฬะ ทรงยกย่องแต่พระสารีบุตรและ พระโมคคัลลานะ ดังนี้ จึงโกรธ น้อยใจ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ แล้วกลับไป
นี่แหละ พระเทวทัตได้ผูกอาฆาตในพระผู้มีพระภาคเป็นครั้งแรก
ท่านผู้ฟังได้ฟังเหตุการณ์จริงๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น รู้สึกอย่างไรบ้าง มีข้อคิดอะไรบ้างไหมที่ได้ฟังอย่างนี้ สงสัยไหมว่าทำไมพระผู้มีพระภาคจึงตรัสด้วยพระดำรัสที่ว่า แม้แต่สารีบุตรและโมคคัลลานะ เรายังไม่มอบภิกษุสงฆ์ให้ ไฉนจะพึงมอบให้เธอผู้เช่นซากศพ ผู้บริโภคปัจจัยเช่นก้อนเขฬะเล่า
บางท่านคิดว่า ไม่ควรที่จะตรัสอย่างนี้ เพราะเหตุว่าทำให้ท่านพระเทวทัตเกิดความอายและผูกอาฆาตในพระผู้มีพระภาค เพราะพระองค์ตรัสในท่ามกลางบริษัทที่กำลังฟังธรรม แต่พระองค์ทรงกระทำทุกอย่างที่ไม่ผิด
ท่านผู้ฟังให้ความเห็นว่า แม้แต่พระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะซึ่งเป็นพระอัครสาวก พระผู้มีพระภาคก็ยังมิได้ทรงมอบการปกครองพระภิกษุสงฆ์ให้ เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้นั้น เลิศด้วยเหตุผลสมบูรณ์แล้ว เพราะฉะนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ที่ปกครองสงฆ์ พระธรรมที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผลนั้น ย่อมปกครองได้แทนพระองค์ เป็นศาสดาแทนพระองค์
แต่อย่าลืมว่า คนที่จะเห็นผิด คนที่จะคิดผิด ถึงจะตรัสอย่างนี้ หรือไม่ตรัสอย่างนี้ ผู้นั้นก็เห็นผิด และกระทำผิดได้ ตามเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา ถึงแม้พระผู้มีพระภาคจะไม่ตรัสอย่างนี้ อำนาจกิเลส อำนาจความปรารถนาในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ สุขนั้น ท่านพระเทวทัตหรือจะยอมที่จะไม่คิดที่จะปกครองสงฆ์ เพราะเหตุว่าเป็นการสะสมมาในจิตของท่านแล้ว ที่เป็นผู้ที่ต้องการในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ สุข
เพราะฉะนั้น การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะสะสมเหตุปัจจัย ความคิด ความโน้มเอียง ความเชื่อในเรื่องความคิดเห็น ในข้อปฏิบัติ ในความเข้าใจธรรมด้วยตนเองต่างๆ นานา ก็เป็นเรื่องที่ผู้นั้นได้สะสมเหตุปัจจัยมาแล้ว แม้ผู้อื่นจะกล่าวอย่างไร จะชี้แจงอย่างไร จะมีเหตุผลอย่างไร ก็แล้วแต่ว่าผู้นั้นจะสะสมเหตุปัจจัยที่จะรับฟัง ที่จะพิจารณา หรือถึงแม้ว่า พระผู้มีพระภาค พระศาสดาจะได้ทรงโอวาทด้วยถ้อยคำที่ควรจะระลึกได้แล้วว่า ท่านพระเทวทัตไม่ควรเลยที่จะปกครองพระภิกษุสงฆ์ เพราะแม้ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคัลลานะซึ่งเป็นพระอัครสาวก พระผู้มีพระภาคก็ยังมิได้ทรงมอบสงฆ์ให้ปกครอง เพราะฉะนั้น ท่านพระเทวทัตได้ฟังอย่างนี้ก็ควรจะล้มเลิกความคิดที่จะปกครองภิกษุสงฆ์เสีย แต่ท่านพระเทวทัตก็หาได้คิดอย่างนั้นไม่ แม้ว่าผู้ที่ตรัสจะเป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
แสดงให้เห็นถึงกำลังของปัจจัยที่ได้สะสมมา ที่จะทำให้คิดอย่างนั้น ประพฤติอย่างนั้น เป็นไปอย่างนั้น ซึ่งท่านผู้ฟังไม่ควรประมาทกิเลสที่มีอยู่ในจิตใจ ที่ยังไม่ได้ขัดเกลาให้เบาบาง ถ้าท่านไม่เป็นผู้ที่ขัดเกลาด้วยการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะไม่ทราบเลยว่า กิเลสนั้นมีมาก และมีกำลังมากมายสักแค่ไหน
สำหรับท่านพระเทวทัต ท่านผู้ฟังอาจจะสงสัยข้อความที่ว่า นี่แหละ พระเทวทัตได้ผูกความอาฆาตในพระผู้มีพระภาคเป็นครั้งแรก ซึ่งก่อนนั้นท่านก็ได้เคยไปแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้ปรากฏแก่เจ้าชายอชาตศัตรู ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้า พิมพิสาร ด้วยความต้องการในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ แต่ในครั้งนั้น เพียงแต่ต้องการลาภ ยศ สรรเสริญ เมื่อท่านเป็นผู้ที่สามารถกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ได้ ก็เกิดความต้องการที่จะให้บุคคลอื่นสรรเสริญในความสามารถของท่าน เพราะเหตุว่า แม้ท่านพระเทวทัตจะบรรพชาอุปสมบทพร้อมกับท่านพระอานนท์ ท่านพระอนุรุทธะ และพวกเจ้าชายศากยะ แต่ท่านพระอานนท์ท่านก็ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบัน ท่านพระอนุรุทธะท่านก็เป็นผู้ที่ได้บรรลุจักษุทิพย์ และเป็นพระอริยสาวก ส่วนท่าน พระเทวทัตนั้น เป็นผู้ที่สามารถทำอิทธิปาฏิหาริย์ได้ แต่ไม่ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า
ข้อความต่อไปในพระไตรปิฏกมีว่า
ปกาสนียกรรม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล สงฆ์จงลงปกาสนียกรรมในกรุงราชคฤห์แก่เทวทัตว่า ปกติของพระเทวทัต ก่อนเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำอย่างใดด้วยกาย วาจา ไม่พึงเห็นว่า พระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ เป็นอย่างนั้น พึงเห็นเฉพาะตัวพระเทวทัตเอง
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงทำอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้
ข้อความต่อไปก็เป็นกรรมวาจา ทำปกาสนิยกรรมตามพระวินัย คือ ภิกษุรูปใดจะเป็นผู้สมควรแก่การที่จะประกาศความประพฤติของท่านพระเทวทัต ซึ่งแต่ก่อนเป็นอย่างหนึ่ง แล้วบัดนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับท่านพระสารีบุตรว่า
ดูกร สารีบุตร ถ้ากระนั้นเธอจงประกาศเทวทัตในกรุงราชคฤห์
ท่านพระสารีบุตรทูลถามว่า
เมื่อก่อนข้าพระพุทธเจ้ากล่าวชมพระเทวทัตในกรุงราชคฤห์ว่า โพธิบุตรมีฤทธิ์มาก โพธิบุตรมีอานุภาพมาก ข้าพระพุทธเจ้าจะประกาศพระเทวทัตในกรุงราชคฤห์อย่างไรพระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร เธอกล่าวชมเทวทัตในกรุงราชคฤห์แล้วเท่าที่เป็นจริงว่า โพธิบุตรมีฤทธิ์มาก โพธิบุตรมีอานุภาพมาก
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า
อย่างนั้นพระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร เธอจงประกาศเทวทัตในกรุงราชคฤห์เท่าที่เป็นจริง เหมือน อย่างนั้นแล
ท่านพระสารีบุตรทูลรับสนองพระพุทธพจน์แล้ว ซึ่งเมื่อท่านพระสารีบุตรอันสงฆ์สมมติแล้ว เพื่อประกาศพระเทวทัตในกรุงราชคฤห์ ท่านก็ได้เข้าไปสู่กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุมากรูป แล้วได้ประกาศพระเทวทัตในกรุงราชคฤห์ว่า ปกติของพระเทวทัต ก่อนเป็นอย่างหนึ่ง เดี๋ยวนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง พระเทวทัตทำอย่างใดด้วยกาย วาจา ไม่พึงเห็นว่า พระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ เป็นอย่างนั้น พึงเห็นเฉพาะตัวพระเทวทัตเอง