แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 256
ส่วนประชาชนอีกพวกหนึ่ง คือ
ส่วนพวกที่มีศรัทธา เลื่อมใส เป็นผู้ฉลาด มีปัญญา ย่อมเพ่งโทษ ติเตียน โพทนาว่า ไฉนพระเทวทัตจึงได้พยายามเพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายจักรเล่า
ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินพวกนั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย (เป็นผู้ที่ไม่ปรารถนาลาภ สักการระ) ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทนาว่า ไฉนพระเทวทัตจึงได้พยายามเพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายจักร แล้วกราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาค
นี่เป็นเหตุการณ์ในครั้งโน้น จะเป็นได้บ้างไหมในครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่ตรงกับเรื่องของท่านพระเทวทัต แต่ในเรื่องความคิดความเห็นที่ไม่ตรงกับธรรมวินัย และเกิดความเลื่อมใสในธรรมที่ไม่ตรงตามธรรมวินัย พวกที่เห็นว่าการไม่ไปป่า เป็นผู้ที่มักมาก มีไหมที่เข้าใจว่าอย่างนั้น และก็ชื่นชมสรรเสริญเยินยอการปฏิบัติขัดเกลาของท่านพระเทวทัตว่า ขัดเกลายิ่งกว่าพระผู้มีพระภาค อย่างนี้จะชื่อว่าเป็นสาวกไหม
เพราะฉะนั้น แม้เหตุการณ์จะต่างกัน แต่อาจจะมีความคล้ายคลึง มีความโน้มเอียงซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณาใคร่ครวญตรวจสอบได้ว่า ท่านมีความโน้มเอียงไปในทางความเห็นผิดอย่างท่านพระเทวทัตบ้างหรือไม่ ซึ่งข้อความในพระวินัยปิฎก มีข้อความโดยละเอียด แต่ขอยกข้อความเพียงบางประการเท่านั้น
เมื่อท่านพระเทวทัตทำลายสงฆ์แล้ว ก็ได้พาภิกษุวัชชีบุตร ชาวเมืองเวสาลี ประมาณ ๕๐๐ รูป ซึ่งเป็นพระบวชใหม่ และเป็นผู้ที่รู้พระธรรมวินัยน้อย หลีกไปทางคยาสีสะประเทศ คือ แยกจากหมู่สงฆ์ของพระผู้มีพระภาค
ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร โมคคัลลานะ พวกเธอจักมีความการุญในภิกษุใหม่เหล่านั้น มิใช่หรือ พวกเธอจงรีบไป ภิกษุเหล่านั้นกำลังจะถึงความย่อยยับ
ซึ่งพวกนั้นตามท่านพระเทวทัตไปด้วยความประพฤติที่คิดว่า ขัดเกลา มักน้อย สันโดษ คือ การอยู่ป่า และก็ตามที่ท่านพระเทวทัตได้กราบทูลขอพระผู้มีพระภาค แต่พระผู้มีพระภาคกลับตรัสกับท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า
พวกเธอจงรีบไป ภิกษุเหล่านั้น กำลังจะถึงความย่อยยับ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ทูลรับสนองพระพุทธพจน์แล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ แล้วเดินทางไปยังคยาสีสะประเทศ
สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง ยืนร้องไห้อยู่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค จึงพระผู้มีพระภาค ตรัสถามภิกษุนั้นว่า
ดูกร ภิกษุ เธอร้องไห้ทำไม
ภิกษุนั้นกราบทูลว่า
พระพุทธเจ้าข้า พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เป็นอัครสาวกของพระผู้มีพระภาค ไปยังสำนักของพระเทวทัต คงจะชอบใจธรรมของพระเทวทัต
มีผู้ที่เข้าใจผิดถึงอย่างนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ยังไม่เข้าใจชัดเจนในพระธรรมวินัย ยังไม่เข้าใจถึงการประพฤติปฏิบัติของผู้ที่ได้ซาบซึ้งในเหตุผล ในข้อประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง และก็ได้รับผลที่ถูกต้องจากการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น เพียงกิริยาอาการภายนอก ผู้ที่ไม่เข้าใจก็คิดไปได้ต่างๆ นานา แม้แต่การที่ท่านพระสารีบุตรกับท่านพระมหา โมคคัลลานะไปตามท่านพระเทวทัต พระภิกษุรูปนั้นก็ร้องไห้เสียใจคิดว่า เป็นเพราะท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะคงจะชอบใจในธรรมของท่านพระ เทวทัต
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ ข้อที่สารีบุตร โมคคัลลานะ จะพึงชอบใจธรรมของเทวทัต นั่นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส แต่เธอทั้งสองไปเพื่อซ้อมความเข้าใจกับภิกษุ
ข้อความต่อไปมีว่า
เมื่อพระเทวทัตกำลังแสดงธรรมกับบริษัทหมู่ใหญ่นั้น เห็นพระสารีบุตรและ พระมหาโมคคัลลานะมาแต่ไกลก็ดีใจ คิดว่า พระอัครสาวกทั้ง ๒ ชอบใจธรรมของตน
คิดผิดได้สารพัดอย่าง เห็นท่านพระสารีบุตรกับท่านพระมหาโมคคัลลานะไป ก็ดีใจตามอัธยาศัยที่เคยสะสมมาเป็นผู้หนักในบริษัท ในลาภสักการะ เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นท่านพระสารีบุตรกับท่านพระมหาโมคคัลลานะไป จิตก็น้อมไปด้วยความยินดีในบริษัทในหมู่คณะว่า ท่านพระสารีบุตรกับท่านพระมหาโมคคัลลานะคงจะมาเป็นบริษัทของตน
ท่านพระเทวทัตถึงกับนิมนต์ท่านพระสารีบุตรด้วยอาสนะกึ่งหนึ่งว่า มาเถิด ท่านสารีบุตร นิมนต์นั่งบนอาสนะนี้
ให้นั่งที่เดียวกัน คนละครึ่งทีเดียว ด้วยความดีใจจริงๆ ว่า จะได้มาช่วยตนบริหารภิกษุที่ได้พาแยกไปจากคณะสงฆ์นั้น
ท่านพระสารีบุตรห้ามว่า อย่าเลยท่าน แล้วถืออาสนะแห่งหนึ่ง นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แม้ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ถืออาสนะแห่งหนึ่ง นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
เมื่อท่านพระเทวทัตแสดงธรรมเมื่อยแล้ว ก็เชื้อเชิญท่านพระสารีบุตรว่า ท่านสารีบุตร ภิกษุสงฆ์ปราศจากถีนมิทธะแล้ว ธรรมีกถาของภิกษุทั้งหลายจงแจ่มแจ้งกับท่าน เราเมื่อยหลัง จักเอน
เหมือนพระผู้มีพระภาคทุกประการ เวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแล้ว ก็ได้ให้โอกาสแก่ท่านพระสารีบุตร พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างไร พระเทวทัตก็กล่าวอย่างนั้นเหมือนกัน
ท่านพระสารีบุตรรับคำพระเทวทัตแล้ว ลำดับนั้น พระเทวทัตปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น แล้วจำวัดโดยข้างเบื้องขวา เธอเหน็ดเหนื่อย หมดสติสัมปชัญญะ ครู่เดียวเท่านั้น ก็หลับไป
พระผู้มีพระภาคทรงพร้อมด้วยพระสติสัมปชัญญะ แต่ว่าท่านพระเทวทัตเหน็ดเหนื่อย หมดสติสัมปชัญญะ หลับไป
ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรกล่าวสอน พร่ำสอนภิกษุทั้งหลายด้วยธรรมีกถา ซึ่งก็เป็นอนุสาสนีที่เจือด้วยอาเทศนาปาฏิหาริย์
ครั้งนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ พร่ำสอนภิกษุทั้งหลายด้วยธรรมีกถา ซึ่งก็
เป็นอนุสาสนีที่เจือด้วยอิทธิปาฏิหาริย์
ดวงตาเห็นธรรมเกิดขึ้น ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะ พา ภิกษุ ๕๐๐ รูป ไปทางพระเวฬุวัน เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เป็นการเกื้อกูล ที่ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะเกื้อกูลต่อสหายธรรมด้วยการติดตามไป และแสดงธรรม ซึ่งภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนั้นก็ได้ดวงตาเห็นธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล และท่านพระสารีบุตรกับท่านพระมหา โมคคัลลานะก็พาภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนั้นไปทางพระเวฬุวัน เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ครั้งนั้น พระโกกาลิกะ ซึ่งเป็นสหายสนิทของท่านพระเทวทัต ปลุกพระเทวทัตให้ลุกขึ้น ด้วยคำว่า ท่านเทวทัตลุกขึ้นเถิด พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พาภิกษุเหล่านั้นไปแล้ว เราบอกท่านแล้วมิใช่หรือว่า อย่าไว้วางใจพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เพราะเธอทั้ง ๒ มีความปรารถนาลามก ถืออำนาจความปรารถนาลามก ครั้งนั้น โลหิตร้อนได้พุ่งออกจากปากพระเทวทัตในที่นั้นเอง
เวลาที่ท่านพระสารีบุตรกับท่านพระมหาโมคคัลลานะไปถึง ท่านพระโกกาลิกะยังเฉลียวใจว่า ท่านพระสารีบุตรกับท่านพระมหาโมคคัลลานะ อาจจะมาแสดงธรรมชี้แจงแด่พระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนั้น แต่ท่านพระเทวทัตด้วยความดีใจที่เห็นท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะไป ถึงกับคิดว่า จะเป็นบริษัทของตน ทำให้ลืมคิดถึงเรื่องอื่นทั้งหมด
ความเห็นของผู้ที่ไม่ใช่บัณฑิตกับผู้ที่เป็นบัณฑิตนั้น ตรงกันข้ามกัน อย่างท่านพระโกกาลิกะเห็นว่า ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะมีความปรารถนาลามก ไม่ได้คิดถึงตัวเองเลยว่า ตัวท่านนั้นเป็นอย่างไร มีความต้องการอย่างไร มีความเห็นถูกผิดอย่างไร แต่กลับเห็นผู้ที่เป็นบัณฑิตอย่างท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า เป็นผู้ที่มีความปรารถนาลามก นี่เป็นความเห็นผิดอย่างยิ่ง
สำหรับท่านที่ต้องการความละเอียดในเรื่องนี้ ในพระวินัยปิฎก จุลวรรคมีข้อความโดยละเอียดมาก
ซึ่งเมื่อท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะ ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระสารีบุตรถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะไปสู่บริษัทของท่านพระเทวทัต ซึ่งท่าน พระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะ ก็ได้กราบทูลให้ทรงทราบโดยตลอด
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่ององค์แห่งทูต เพราะพระองค์ให้ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นผู้ที่ไปแสดงธรรม ชี้แจงแก่ภิกษุ ๕๐๐ ที่ติดตามท่านพระเทวทัตไป เพราะฉะนั้น ก็ได้ทรงแสดงลักษณะแห่งองค์ของทูต คือ บุคคลผู้เป็นทูตควรจะมีลักษณะอย่างไร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ควรทำหน้าที่ทูต องค์ ๘ เป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๑. รับฟัง ๒. ให้ผู้อื่นฟัง ๓. กำหนด ๔. ทรงจำ ๕. เข้าใจความ ๖. ให้ผู้อื่นเข้าใจความ ๗. ฉลาดต่อประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ ๘. ไม่ก่อความทะเลาะ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล ควรทำหน้าที่ทูต
ความจริงพุทธศาสนิกซึ่งมีความหวังดีต่อสหายธรรมทุกท่าน ก็เป็นผู้ที่กระทำกิจนี้ หน้าที่นี้อยู่ เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบว่า ถ้าท่านต้องการให้ผู้อื่นมีความเข้าใจถูกในพระธรรม ท่านควรจะประกอบด้วยคุณธรรมอย่างไรบ้าง
ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงสรรเสริญท่านพระสารีบุตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ ควรทำหน้าที่ทูต องค์ ๘ เป็นไฉน คือ ๑. สารีบุตรเป็นผู้รับฟัง ๒. ให้ผู้อื่นฟัง ๓. กำหนด ๔. ทรงจำ ๕. เข้าใจความ ๖. ให้ผู้อื่นเข้าใจความ ๗. ฉลาดต่อประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ ๘. ไม่ก่อความทะเลาะ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล ควรทำหน้าที่ทูต
พระผู้มีพระภาคตรัสประพันธ์คาถาว่าดังนี้
ภิกษุใดเข้าไปสู่บริษัทที่พูดคำหยาบ ก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่ยังคำพูดให้เสีย ไม่ปกปิดข่าวสาร พูดจนหมดความสงสัย แล้วถูกถาม ก็ไม่โกรธ ภิกษุผู้เช่นนั้นแล ย่อมควรทำหน้าที่ทูต
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ท่านพระเทวทัตว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตมีจิตอันอสัทธรรม ๘ ประการ ครอบงำ ย่ำยีแล้ว จักเกิดในอบาย ตกนรกชั่วกัป ช่วยเหลือไม่ไหว
อสัทธรรม ๘ ประการเป็นไฉน คือ
ประการที่ ๑. เทวทัตมีจิตอันลาภครอบงำ ย่ำยีแล้ว จักเกิดในอบาย ตกนรกตั้งอยู่ตลอดกัป เยียวยาไม่ไหว
ประการที่ ๒. เทวทัตมีจิตอันความเสื่อมลาภครอบงำ ย่ำยีแล้ว
ประการที่ ๓. เทวทัตมีจิตอันยศครอบงำ ย่ำยีแล้ว
ประการที่ ๔. เทวทัตมีจิตอันความเสื่อมยศครอบงำ ย่ำยีแล้ว
ประการที่ ๕. เทวทัตมีจิตอันสักการระครอบงำ ย่ำยีแล้ว
ประการที่ ๖. เทวทัตมีจิตอันความเสื่อมสักการะครอบงำ ย่ำยีแล้ว
ประการที่ ๗. เทวทัตมีจิตอันความปรารถนาลามกครอบงำ ย่ำยีแล้ว
ประการที่ ๘. เทวทัตมีจิตอันความเป็นมิตรชั่วครอบงำ ย่ำยีแล้ว จักเกิดในอบาย ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัป เยียวยาไม่ไหว
ความมีมิตรชั่วสำคัญ เพราะว่าเมื่อมิตรมีความเห็นอย่างไร ท่านก็มีความเห็นคล้อยตามมิตรชั่วนั้น
ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรม พร่ำสอนภิกษุทั้งหลายว่า ไม่ควรที่จะให้ลาภ หรือความเสื่อมลาภ ยศ หรือความเสื่อมยศ สักการะ หรือความเสื่อมสักการะ ความปรารถนาลามก และความเป็นผู้มีมิตรลามกครอบงำ ย่ำยี เพราะจะทำให้เป็นผู้ที่มีจิตอันอสัทธรรมครอบงำ และจักเกิดในอบาย ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัป เยียวยาไม่ได้
ซึ่งข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตมีจิตอันอสัทธรรม ๓ ประการ ครอบงำ ย่ำยี จักเกิดในอบาย ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัป เยียวยาไม่ไหว อสัทธรรม ๓ ประการ เป็นไฉน คือ ๑. ความปรารถนาลามก ๒. ความมีมิตรชั่ว ๓. พอบรรลุคุณวิเศษเพียงขั้นต่ำ ก็เลิกเสียในระหว่าง
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เทวทัต มีจิตอันอสัทธรรม ๓ ประการนี้แล ครอบงำ ย่ำยี จักเกิดในอบาย ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัป เยียวยาไม่ไหว
นิคมคาถา มีข้อความว่า
ใครๆ จงอย่าเกิดเป็นคนปรารถนาลากมกในโลก ท่านทั้งหลายจงรู้จักเทวทัตนั้น ตามเหตุแม้นี้ว่า
มีคติ เหมือนคติของคนปรารถนาลามก เทวทัตปรากฏว่าเป็นบัณฑิต รู้กันว่าเป็นผู้อบรมตนแล้ว เราก็ได้ทราบว่าเทวทัตตั้งอยู่ ดุจผู้รุ่งเรืองด้วยยศ เธอสั่งสมความประมาท เบียดเบียนตถาคตนั้น จึงตกนรกอเวจี มีประตูถึง ๔ ประตูอันน่ากลัว ก็ผู้ใดประทุษร้ายต่อผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้ไม่ทำบาปกรรม บาปย่อมถูกต้องเฉพาะผู้นั้น ผู้มีจิตประทุษร้าย ไม่เอื้อเฟื้อ
ผู้ใดตั้งใจประทุษร้ายมหาสมุทรด้วยยาพิษเป็นหม้อๆ ผู้นั้นไม่ควรปทุษร้ายด้วยยาพิษนั้น เพราะมหาสมุทรเป็นสิ่งที่น่ากลัว ฉันใด ผู้ใดเบียดเบียนตถาคต ผู้เสด็จไปดีแล้ว มีพระทัยสงบ ด้วยกล่าวติเตียน การกล่าวติเตียนในตถาคตนั้น ฟังไม่ขึ้น ฉันนั้นเหมือนกัน
ภิกษุผู้ดำเนินตามมรรคาของพระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้าพระองค์ใด พึงถึงความสิ้นทุกข์ บัณฑิตพึงกระทำพระพุทธเจ้า หรือสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้เช่นนั้น ให้เป็นมิตร และพึงคบหาท่าน
เป็นพระธรรมที่ทรงโอวาท เตือนพุทธบริษัทให้เห็นความสำคัญของมิตร และการคบมิตร
พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ท่านพระเทวทัตที่นอกจากในพระวินัยปิฎก จุลวรรคนี้แล้ว ใน ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เทวทัตสูตร ก็มีข้อความเช่นเดียวกัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อมรรคและผลที่ควรกระทำให้ยิ่งมีอยู่ พระเทวทัตถึงความพินาศเสียในระหว่าง เพราะการบรรลุคุณวิเศษมีประมาณเล็กน้อย
คือ ท่านเป็นผู้ที่ได้ฌานสามารถที่จะกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ได้ แต่ไม่ใช่ผู้ที่ เจริญสติปัฏฐานจนสามารถละกิเลสเป็นสมุจเฉทถึงความเป็นพระอริยเจ้า เพราะฉะนั้น เมื่อท่านได้บรรลุคุณวิเศษเพียงขั้นต้น คือ สามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ได้ แต่เพราะความที่เป็นผู้ต้องการลาภสักการะ ก็ทำให้ท่านเสื่อมจากคุณวิเศษนั้น และไม่ประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้ดับกิเลสได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉทด้วย เพราะฉะนั้น ขณะนี้ท่านพระเทวทัตยังคงอยู่ในอเวจีมหานรก
แต่ขณะนี้ ทุกท่านที่นี่ มีโอกาสที่จะเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งถ้าท่านสะสมเหตุปัจจัยไว้มากพอ ท่านก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้ เพราะเหตุว่าภูมินี้ไม่ใช่อเวจีมหานรก ไม่ใช่ภูมิที่จะหมดโอกาสของการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม
ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า เวลาใดหลงลืมสติ เวลานั้นเป็นตัวตน ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า ดูกร อานนท์ เธอระลึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง ท่านพระอานนท์ทูลตอบว่า ข้าพระองค์ระลึกถึงความตายวันละ ๑๐๐ ครั้ง ผมเข้าใจว่า ท่านพระอานนท์คงจะมีสติวันละ ๑๐๐ ครั้งเท่านั้น และระหว่างที่ท่านพระอานนท์หลงลืมสติขณะนั้น ยังเป็นตัวตนอยู่หรือเปล่า