ปกิณณกธรรม ตอนที่ 34


ตอนที่ ๓๔

สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ

พ.ศ. ๒๕๓๖


ท่านอาจารย์ โอชะ คือ อาหารที่เรารับประทาน มีรสชาติไหม มีอ่อนมีแข็งไหม นั่นคือธาตุดิน แล้วก็มีธาตุไฟธาตุน้ำธาตุลมรวมอยู่ด้วย อาหารที่รับประทานเข้าไปมีประโยชน์หรือเปล่า ส่วนที่เป็นประโยชน์ที่จะทำให้เกิดรูปต่อไป เป็นอาหาร เป็นโอชะ ภาษาไทยเอามาใช้ว่าอร่อย แต่อร่อยนี้คือรสที่เราชอบ แต่ไม่ใช่โอชะ รสคือรส แต่ในอาหารจะมีธาตุดินน้ำไฟลมจะมีส่วนที่เป็นส่วนที่มีประโยชน์ที่จะทำให้เกิดรูปต่อไป อันนั้นคือโอชะ พระธรรมนั้นทำให้เราเข้าใจทุกอย่างถูกต้อง ต้องศึกษา ไม่มีใครเลยที่จะมีสติปัญญารู้อะไรไปหมดโดยไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่มีทาง เข้าใจอะไรก็เข้าใจผิดทั้งนั้นถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม

ผู้ฟัง ต้นไม้ทุกๆ ต้นนี้ใหญ่ขึ้นก็มีโอชารูปไหม

ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ (ต้นไม้เจริญเติบโตขึ้น) เพราะอุตุความเย็นความร้อน นี้ต้องแยกกัน คือ สมุฏฐานทั้ง ๔ นี้ไม่เหมือนกันเลย ในร่างกายของเรามีรูปซึ่งเกิดจากกรรม มีรูปซึ่งเกิดจากจิต มีรูปซึ่งเกิดจากอุตุความเย็นความร้อน มีรูปซึ่งเกิดจากอาหาร แต่นอกร่างกายแล้วทั้งหมดมีแต่เพียงรูปที่เกิดจากอุตุเท่านั้น ไม่มีรูปที่เกิดจากกรรม ไม่มีรูปที่เกิดจากจิต ไม่มีรูปที่เกิดจากอาหาร ไม่มีการบริโภคอาหารเลย เพราะฉะนั้นต้นไม้ใบหญ้าเจริญเติบโตด้วยอุตุ ปุ๋ยต่างๆ นี้คืออุตุทั้งนั้น ความเย็นความร้อน และส่วนผสมของธาตุดินน้ำไฟลม ทุกอย่างในอะไรก็ตามซึ่งอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว เป็นมหาภูตรูป ต้องมีอีก ๔ รูปรวมกันอยู่ด้วย คือต้องมีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชะ

ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นที่กล่าวว่า รูปที่มีใจครองกับรูปที่ไม่มีใจครอง อย่างต้นไม้เรียกว่าเป็นรูปที่ไม่มีใจครองได้ไหม

ท่านอาจารย์ เก้าอี้ โต๊ะ ไม่มีใจครองทั้งนั้น

ผู้ฟัง ในรูป ๒๘ รูป มีลักขณรูป…

ท่านอาจารย์ อันนั้นหมายความถึงต้องเกิดดับ รูปทั้งหมดต้องเกิดดับ ทุกรูปที่เกิดต้องดับ อันนี้ลืมไม่ได้เลย ทุกอย่างที่เกิดแล้วต้องดับอย่างเร็วด้วยไม่รอช้าเลย ไม่อย่างนั้นจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างเก่า ทุกอย่างเสื่อม เพราะการเกิดดับอย่างเร็วมาก

ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ไม้นี้ก็เป็นอาหาร ดิฉันเคยสงสัยว่า รูปที่ไม่มีใจครองก็เป็นอาหาร สงสัยว่ามันจะเป็นอาหารอย่างไร พอท่านอาจารย์บอกว่า ปลวกกินไม้ ไม่เข้าใจว่า ตัวของมันเองก็ต้องเป็นอาหาร

ท่านอาจารย์ เราต้องเข้าใจหลักว่า ต้องมีธาตุดินน้ำไฟลม ๔ เป็นมหาภูตรูปแล้วยังไม่พอ เมื่อมีมหาภูตรูปแล้วต้องมีอีก ๔ รูป เกิดร่วมด้วยทุกครั้งไป รวม ๘ รูปแยกกันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจะหมดความสงสัย ไม่ว่าไม้นี่ก็ต้องมีอาหาร ทุกอย่างที่มีธาตุดินน้ำไฟลมต้องมีโอชะ

ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า อุปาทายรูป

ท่านอาจารย์ ได้แก่รูปใดก็ตามที่ไม่ใช่มหาภูตรูป รูปอื่นทั้งหมดเป็น อุปาทายรูป หมายความถึงรูปที่อาศัยเกิดจากมหาภูตรูป รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป เป็นมหาภูตรูป ๔ เป็นใหญ่เป็นประธาน เพราะฉะนั้นรูปที่เหลือเป็นอุปาทายรูปทั้งหมด คือไม่ใช่มหาภูตรูปนั่นเอง ทีนี้เวลารับประทานอาหารเราก็รู้ได้เลยว่าเรารับประทานทั้งธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ทั้งสีทั้งกลิ่นทั้งรสทั้งโอชะ แต่เฉพาะโอชะเท่านั้นที่ทำให้ร่างกายทรงอยู่ ดำรงอยู่ได้ หรือเจริญเติบโตขึ้น

ผู้ฟัง เรื่องอาโปธาตุ ที่อาจารย์บอกว่าน้ำในแก้วไม่ใช่อาโป หมายความว่ามีส่วนผสมทุกธาตุอยู่ในน้ำ

ท่านอาจารย์ เราเรียกว่า น้ำ แล้วเราก็แปล อาโป ว่า ธาตุน้ำ แต่ไม่ใช่หมายความว่าน้ำในแก้ว ธาตุน้ำคือธาตุซึ่งเกาะกุมรูปอื่นซึ่งเกิดรวมกัน เวลาหลับตาแล้วเอามือสัมผัสน้ำ จะรู้ไหมว่าเป็นน้ำ จำได้ไหม อาจจะมีลักษณะที่เหลวที่เบาก็ทำให้ทรงจำได้ว่าเป็นน้ำ แต่จริงๆ แล้วกำลังกระทบสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน อย่างน้ำร้อนนี้จับดูก็ร้อนกระทบดูก็ร้อน ลักษณะของธาตุน้ำหายไปไหน มีแต่ลักษณะของธาตุไฟที่ปรากฏ แสดงให้เห็นว่าไม่แยกจากกัน แล้วแต่ว่าอันไหนจะเป็นใหญ่พอที่จะให้เราสามารถเทียบเคียงรู้ลักษณะนั้นได้ เช่นที่เราเรียกว่า น้ำ ก็คือธาตุดินน้ำไฟลมซึ่งเหลว และก็ไหลได้ และกระทบสัมผัสเราก็เรียกลักษณะอาการนั้นว่าน้ำ แต่ต้องมีอ่อนหรือแข็งเวลาที่กระทบสัมผัส

ผู้ฟัง น้ำเลือด น้ำหนอง …

ท่านอาจารย์ เหมือนกันหมดทุกชนิด จะน้ำอะไรก็เหมือนกันทั้งนั้น คือต้องไม่ขาดธาตุดินน้ำไฟลม แล้วแต่ว่าส่วนผสมของอะไรมากกว่า

ผู้ฟัง ส่วนธาตุไฟที่มีอยู่ในกาย จะทำงานโดยย่อยอาหาร นอกจากนั้นแล้วจะเป็นอะไร

ท่านอาจารย์ ก็บำรุงร่างกายให้อบอุ่น ถ้ามากไปก็ป่วยไข้

ผู้ฟัง ธาตุลม ลมหายใจ และกิริยาที่เราเคลื่อนไหว เพราะว่ามีธาตุลมอยู่

ท่านอาจารย์ ไหวไปด้วยอาการของธาตุลม ที่เกิดจากกรรม หรือเกิดจากจิต หรือเกิดจากอุตุ หรือเกิดจากอาหาร มองดูแล้วก็คือธาตุ ไม่น่าจะเป็นของเราเลยใช่ไหม ถ้าเข้าใจจริงๆ ถ้าลึกลงไปจริงๆ ที่ปัญญาเราสามารถจะรู้ได้เห็นความจริงได้ นี่แสดงให้เห็นระดับของปัญญาที่ต่างกัน ระดับนี้ยุคนี้แสดงเรื่องรูป ๒๘ รูป ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็ยังเป็นตัวเราเป็นของเรา แต่ถ้าเป็นคนที่มีปัญญามากๆ จะรู้เลย สามารถที่จะแทงตลอดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เวลาที่กระทบสัมผัสสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพียงฟังสามารถที่จะประจักษ์ความจริงได้ ถึงการเกิดขึ้น และดับไปด้วย

ผู้ฟัง ถึงขั้นพระโสดาบันหรือไม่

ท่านอาจารย์ ก่อนขั้นพระโสดาบัน วิปัสสนาญาณต้องเกิด สติปัฏฐานต้องเกิด ปัญญาที่ค่อยๆ อบรมไป สติต้องระลึกรู้ทีละเล็กทีละน้อย การเป็นพระอริยบุคคลนั้นเป็นด้วยปัญญา ถ้าปัญญาไม่เกิดเป็นพระอริยบุคคลไม่ได้ แล้วก่อนปัญญาจะเกิดถึงความเป็นพระอริยะ ปัญญานั้นต้องมาจากการสะสมทีละเล็กทีละน้อย ไม่อย่างนั้นพระอริยะก็เต็มบ้านเต็มเมือง

ผู้ฟัง หมายความว่าต้องประจักษ์

ท่านอาจารย์ แต่ก่อนที่จะประจักษ์ ต้องมีหนทางที่จะทำให้ประจักษ์

ผู้ฟัง ถ้าคิดอย่างนึกคิด ศึกษารูป ๒๘ แล้วแยกไปก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรอยู่แล้ว

ท่านอาจารย์ เข้าใจว่าไม่มีอะไร แต่ไม่ใช่ประจักษ์ นี่คือความต่างกัน วิปัสสนาญาณแต่ละขั้นต้องมีก่อน ก่อนที่จะถึงความเป็นพระอริยบุคคล แสดงให้เห็นว่าความไม่รู้มากแค่ไหน เหนียวแน่นแค่ไหน เพียงวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ ไม่สามารถที่จะละความเป็นตัวตนได้ทั้งๆ ที่ประจักษ์ลักษณะที่เป็นนามธรรมรูปธรรม

ผู้ฟัง วิปัสสนาญาณขั้นไหนที่ถือว่าขึ้นเป็นระดับพระอริยะแล้ว

ท่านอาจารย์ ขั้นอริยมรรค ขั้นโสตาปัตติมรรค หลังจากโคตรภู เราไม่จำเป็นต้องไปคิดถึงคนอื่นเลย แต่ว่าสภาพธรรมมีจริงทนต่อการพิสูจน์ ใครพิสูจน์ก็เรื่องของแต่ละคนที่จะพิสูจน์ พิสูจน์ด้วยอะไร พิสูจน์ด้วยการฟังเข้าใจแล้วไม่พอ สติระลึกที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ที่ไม่ใช่ตัวตน แล้วต้องสะสมเพิ่มขึ้นด้วยจนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏ ทุกคนต้องสอบสวนตัวเองมากๆ เลยว่า ศึกษาธรรมเพื่ออะไร ไม่อย่างนั้นไม่ตรงจุด ไม่ตรงหนทาง เหมือนกับมีทางซึ่งเราจะเดินแต่เราจะเลือกเดินทางไหนทั้งๆ ที่ไปทางนี้ก็เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาไปอีก เพราะฉะนั้นต้องมีความมั่นใจจริงๆ ว่า ศึกษาธรรมเพื่ออะไร ถ้าใครตอบถูกคนนั้นมีจุดประสงค์ที่ถูก เพราะฉะนั้นตอบก่อนว่าศึกษาธรรมเพื่ออะไร มีใครตอบไหม เพื่อเข้าใจถูกอย่างเดียว ไม่ใช่เพื่อต้องการเป็นพระโสดาบัน ต้องการอะไรเลย เพราะเหตุว่าเป็นพระโสดาบันไม่ได้ถ้าเข้าใจไม่ถูก แล้วก็เพื่อละกิเลสก็ละกิเลสไม่ได้อีกถ้าเข้าใจไม่ถูก การที่ใช้คำว่า ปัญญา ก็หมายถึงความรู้ความเข้าใจถูก รู้อะไรถูก รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ไม่เข้าใจผิด ไม่คิดเอาเอง แล้วความเข้าใจถูกจะละความเห็นผิดความเข้าใจผิดทั้งหมดได้ เพราะความเข้าใจถูกเกิดขึ้น ก่อนนั้นเราต้องทราบว่า เราเห็นผิด เราเข้าใจผิด เราไม่รู้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ การศึกษาธรรมจะมีประโยชน์

ผู้ฟัง ช่วงนี้เป็นสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ได้มีพุทธศาสนิกชนพากันไปรักษาศีล ปกติแล้วศีลที่เรามักจะพูดกัน และมีความเข้าใจก็คือว่า เป็นการไปรับศีล ๕ ศีล ๘ สิ่งที่ท่านอาจารย์เคยพูดไว้ก็มีศีลที่ค่อนข้างจะไม่ค่อยได้ยินบ่อยคือว่า อธิศีล และอินทรียสังวรศีล ทั้ง ๒ ศีลนี้จะมีความแตกต่างกับศีลที่เป็นศีล ๕ ศีล ๘ อย่างไร

ท่านอาจารย์ เวลานี้ถ้าใครชวนไปรับ อินทริยสังวรศีล ก็อย่าไปเลย เพราะว่ายังไม่มีความรู้อะไร ไปไม่ได้ ต้องเป็นเรื่องของการอบรมปัญญา

ผู้ฟัง ปกติแล้วเราก็มักจะพูดกันเรื่องของศีลที่เป็นศีล ๕ ศีล ๘ เมื่อมีการรับแล้วก็ไปประพฤติปฏิบัติในวันหนึ่งคืนหนึ่ง แต่ว่าศีลที่น่าจะมีความสำคัญ และเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะยาก ที่ท่านอาจารย์พูดคำว่า อธิศีล และ อินทรียสังวรศีล ศีลทั้ง ๒ จะเกิดขึ้นเมื่อไร

ท่านอาจารย์ เมื่อสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ผู้ฟัง เพราะขณะนั้นยังไม่มีการที่จะล่วงทางกาย ทางวาจา อะไรเลย

ท่านอาจารย์ เป็นศีลที่ละเอียดกว่า เพราะว่าการล่วงนี่ล่วงไป ใช่ไหม โดยที่ว่าไม่รู้สภาพของจิต แต่ว่า อินทรียสังวรศีล ไม่ว่าจิตขณะใดเกิดขึ้น เป็นอย่างไร สติก็ระลึกรู้ เพราะฉะนั้นก็ละเอียดกว่า จึงเป็นอธิศีล

ผู้ฟัง คำจำกัดความของคำว่า ศีล นี้หมายความว่า เป็นความประพฤติทางกายทางวาจา ความจริงแล้วถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ เกือบไม่ต้องไปรับ หรือไปขออะไรกับใครเลย อยู่กับบ้าน ก็คิดว่า ถ้าเรามีความเข้าใจว่า ศีลคือความประพฤติทางกายทางวาจา แล้วเราก็เข้าใจว่า เราไม่เบียดเบียน เราไม่ฆ่าสัตว์ เราไม่พูดสิ่งที่ไม่เป็นความจริง (มุสา) คือสิ่งที่เราสามารถประพฤติปฏิบัติได้ ก็เป็นปกติอยู่กับบ้านก็ได้ ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ ก็เป็นนิจศีล นิจศีล คือ ปกติ

ผู้ฟัง ทำไมว่าส่วนใหญ่จึงชอบพากันไปรับ

ท่านอาจารย์ ก็คงจะแสดงว่าปกติไม่มี ถ้าปกติมีแล้วก็ไม่ต้องไปขอใครมาทำอะไร

ผู้ฟัง หรือว่าเพื่อเป็นการยืนยันกับตัวเองว่า เมื่อเราได้สัญญากับบุคคลใดบุคคลหนึ่งเช่นพระภิกษุแล้ว เราก็จะได้มีความระมัดระวัง อย่างนั้นจะเป็นเหตุผลได้ไหม

ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วอยู่ที่ใจของแต่ละคน ทำไมจะต้องไปยืนยันกับใครถ้าเรามีความตั้งใจที่มั่นคง

ผู้ฟัง มีคำถามพระวินัย พระป่วยมารักษาที่โรงพยาบาลให้การรักษาถูกตัว จะไม่ผิดศีลของโยมหรือ ก่อนถูกต้องตัวท่าน โยมควรจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะไม่ผิดศีล

ท่านอาจารย์ ที่จริงดิฉันต้องขอเรียนให้ทราบว่า ดิฉันมีความรู้ที่น้อยมากทีเดียวในเรื่องของพระวินัย แต่ถ้าจะพิจารณาจากพระวินัยปิฏกที่อ่านเองบ้าง แล้วก็ตามเหตุตามผล ก็จะทราบได้ว่า วินัยสำหรับพระภิกษุ ไม่ใช่สำหรับคฤหัสถ์ อันนี้ต้องแยก เพราะเหตุว่าวินัยนั้นสำหรับผู้ที่บวชแล้วก็อยู่ร่วมกัน เพราะฉะนั้น ถ้าการอยู่ร่วมกันนั้นต่างคนต่างทำตามใจชอบ ไม่เคารพซึ่งกัน และกัน ก็ไม่สามารถที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุกได้ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติพระวินัย ด้วยเหตุผล ๑๐ ประการ ก็คงจะมีในเทปรายการ คือว่า เพื่อขัดเกลากิเลสด้วย สำหรับพระภิกษุ ไม่ให้กิเลสกำเริบ พระวินัยของพระภิกษุ ท่านก็จะต้องรู้ว่า จุดประสงค์ของการบวช เพื่อการอบรมเจริญปัญญาเพื่อละคลายกิเลส ทั้งๆ ที่การเจริญปัญญาสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในเพศคฤหัสถ์ได้ แต่เมื่อท่านมีศรัทธาที่จะประพฤติธรรมในเพศของบรรพชิต ท่านก็จะต้องเป็นผู้ที่รู้วินัยด้วยว่า สำหรับชีวิตของพระภิกษุ ที่ต่างกับคฤหัสถ์ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือว่า เรื่องของพระภิกษุนั้นเป็นเรื่องละ ซึ่งเรื่องของคฤหัสถ์ที่ไม่เป็นพระภิกษุเพราะว่าติด เราติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในอาหารอร่อย ในเรื่องสนุก ในทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเป็นชีวิตของคฤหัสถ์ แต่ว่าผู้ที่สามารถที่จะบำเพ็ญชีวิตอย่างบรรพชิตได้ ต้องเป็นผู้ที่สละ คือ ละชีวิตของคฤหัสถ์จริงๆ เพราะฉะนั้นท่านจึงเป็นผู้ที่ไม่ครองเรือน และในขณะเดียวกันท่านต้องเป็นผู้ที่สำรวจตรวจจิตใจของท่านเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปัจจัย เช่นในการครองจีวร ในการบริโภคอาหาร ทุกสิ่งทุกประการแม้แต่คำพูด ท่านจะพูดคำที่ไม่น่าฟังอย่างชาวบ้านไม่ได้เลย อันนั้นเป็นทุพภาษิตเป็นคำที่ไม่เหมาะไม่ควร จะใช้คำไม่สุภาพไม่ได้ นั่นไม่ใช่บรรพชิต หลักของท่านมีอยู่ว่า ท่านบวชเป็นพระ เพื่อละทุกอย่าง ความติดทั้งหลาย เวลาที่จะมีการรักษาพยาบาลหรือว่าจะมีการเดินทางในรถประจำทางหรือที่หนึ่งที่ใดก็ตาม ซึ่งอาจจะต้องมีการกระทบกับผู้หญิง (ท่านใช้คำว่ามาตุคาม) ซึ่งเป็นอันตรายต่อเพศภิกษุ ถ้าท่านเกิดความยินดี แต่ถ้าท่านไม่เกิดความยินดี ถ้าไม่รู้สึกอะไร ขณะนั้นไม่อาบัติ

ผู้ฟัง ๒๕๐๐ กว่าปีนี้ไม่นานเลย ถ้าเทียบกับอายุคน ก็ประมาณ ๓๐ ชั่วอายุคน ที่มีอายุประมาณ ๘๐ ปี ๓๐ ชั่วคนมันไม่ไกลนัก กับที่ว่าจะมีพรอรหันต์ะองค์ใหม่มาอีกไม่รู้เท่าไร มีความคิดอย่างนี้

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็เป็นขณะที่ประเสริฐ สำหรับคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และมีโอกาสได้ฟังพระธรรม เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ฟัง ต้องเป็นคนที่มีบุญที่ทำไว้ในชาติก่อนมากๆ ทีเดียว โดยเฉพาะในยุคนี้สมัยนี้ เพราะว่าบางคนจะแยกไม่ออกเลยว่านี่เป็นธรรม หรือไม่ใช่ธรรม แต่ว่าคนที่ศึกษาธรรมแล้วจะรู้ว่า คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นไปเพื่อการละ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการติด ต้องตั้งตนไว้ชอบจริงๆ แม้แต่การศึกษาก็เพื่อเข้าใจเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อต้องการอะไร ไม่ใช่อยากจะเป็นผู้รู้ หรือว่าเป็นผู้ที่มีปัญญาขั้นพระโสดาบัน หรือว่าอะไรๆ หรือต้องการคำยกย่อง ลาภยศ สรรเสริญ นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรม จุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมก็คือว่า เพื่อจะได้รู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่กราบไหว้ เพราะว่าโดยมาก คนจะบอกว่าเมืองไทยเรา มีพระพุทธรูปให้กราบไหว้ ถ้าไม่ศึกษาแล้วก็ต้องเป็นไปในลักษณะนั้น แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ ไม่มีประโยชน์เลยถ้ากราบไหว้โดยไม่รู้ว่า ทรงมีพระปัญญาอย่างไร ทรงมีพระมหากรุณาคุณอย่างไร

ผู้ฟัง เกี่ยวกับที่ว่า ผู้ที่จะใช้ทรัพย์ให้ถูกทาง ก็มีอยู่ด้วยกัน ๕ ข้อ คือ ทดแทนพระคุณบิดามารดา ทำบุญกับเทวดา เก็บไว้สำหรับรักษาตอนเจ็บไข้ ช่วยเหลือญาติ แล้วก็รับแขกผู้ที่มาที่บ้าน ทดแทนพระคุณบิดามารดาก็เข้าใจ แต่ว่าทำบุญกับเทวดานี้ ...

ท่านอาจารย์ หมายความว่า ทำอุทิศส่วนกุศลให้เทพเท่านั้นเอง จะไปทำบุญอะไรกับท่าน ท่านก็จะสบายกว่าเราเยอะแยะเลย เทพท่านเกิดเป็นเทพด้วยกุศล ผลของกุศลทำให้เกิดเป็นเทพ ท่านก็อนุโมทนาในความดีที่คนอื่นทำ เพราะท่านรู้ผลของกรรมที่เป็นกุศล ต้องพิจารณาแล้วก็ต้องรู้ด้วยว่า การเป็นเทวดานี่เป็นผลของบุญ ซึ่งท่านก็มีมากแล้ว เอาอะไรไปให้ท่านก็ไม่มีประโยชน์ทั้งนั้นเลย นอกจากคุณความดีที่เราทำ และอุทิศส่วนกุศลให้ท่านอนุโมทนา

ผู้ฟัง เกี่ยวกับเรื่องทดแทนพระคุณมารดา คือ ดิฉันเป็นคนที่รักคุณแม่มาก (ขออนุญาตเล่าเรื่องส่วนตัว) คุณแม่มีลูกเยอะ ความที่เรารักแม่มาก เราก็อยากให้แม่รักเรามากที่สุด

ท่านอาจารย์ อันนี้ไม่ถูก

ผู้ฟัง เวลาที่เจอคุณแม่ เวลาที่ท่านพูดแล้ว เราก็มักจะทำเป็นว่าไม่สนใจ คือต้องการเรียกร้องความสนใจ มาฟังท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์ก็บอกว่า เราทุกคนต้องทำตามหน้าที่ของเรา แม่ก็ต้องทำตามหน้าที่ของแม่ ลูกก็ต้องทำตามหน้าที่ของลูก หน้าที่ของลูกคืออะไร ก็คือตอบแทนพระคุณมารดาว่าท่านต้องการอะไร ท่านแก่เฒ่าทำอะไรไม่ได้ เราก็ต้องทำให้ คือทุกอย่างที่ท่านต้องการ เราจะต้องทำให้ท่านได้ เพราะถือว่าท่านเป็นพระอรหันต์ของเรา ถ้าไม่มีท่านให้กำเนิด เราก็คงจะไม่มีตัวตนอยู่ ก็เลยซาบซึ้งถึงที่ท่าน ท่านอาจารย์บอกว่า จะต้องทำหน้าที่ของเราให้ถูกต้อง ถ้าไม่ได้ฟัง ดิฉันก็คงจะไปตกนรกเลยก็ได้

ท่านอาจารย์ แต่คุณบงทราบหรือยังว่า อะไรทำให้เป็นทุกข์ ... เพราะหวัง หวังว่าจะให้ทำอย่างนี้ อย่างนั้น ใช่ไหม จะเห็นได้เลยว่า ทุกคนไม่ควรจะหวังเลย แม้แต่ความดีที่ทำ ดิฉันเองคุณพ่อมีลูกหลายคน ดิฉันก็รักคุณพ่อ เพราะว่าคุณแม่ท่านเสียตั้งแต่เล็ก ก็คงจะไม่มีโอกาสที่จะได้มีความรู้สึกเหมือนกับที่เคยอยู่พ่อมานาน แต่สำหรับดิฉันเองไม่เคยสนใจเลยว่า คุณพ่อจะรักมาก รักน้อย หรือรักยังไง เพราะว่าดิฉันเองทำทุกอย่างตามหน้าที่ของลูกด้วยความเคารพ แล้วไม่สนใจคือไม่หวังที่จะคิดแม้แต่เพียงว่าคุณพ่อรักหรือเปล่า ก็ไม่อยู่ในความคิดเลย ทำทุกอย่างด้วยความรักอะไรแล้วไม่หวังสิ่งใดเลย


หมายเลข  6131
ปรับปรุง  5 ส.ค. 2566


วีดีโอแนะนำ