แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 270


ข้อความต่อไป มีว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสชาดก ๕๐๐ ก็ชื่อว่า ทรงแสดงอดีตของพระองค์เอง และของผู้อื่น ตรัสมหาธนิยสูตร มหาสุทัสสนสูตร มหาโควินทสูตร มฆเทวสูตร ชื่อว่า ทรงแสดงอดีตของพระองค์ และของผู้อื่น สมจริงตามพระพุทธพจน์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร จุนทะ ญาณอันตามระลึกถึงชาติก่อนของตถาคต ปรารภถึงอดีตกาลมีอยู่ ตถาคตหวังจะรู้ชาติก่อนเท่าใด ก็ระลึกถึงชาติก่อนได้เท่านั้น

ดูกร จุนทะ ญาณอันตามระลึกถึงชาติข้างหน้าของตถาคต ปรารภถึงอนาคตกาลมีอยู่

ดูกร จุนทะ ญาณอันเกิดที่ควงไม้โพธิของตถาคต ปรารภถึงปัจจุบันกาล เกิดขึ้นว่า ชาตินี้มีในที่สุด บัดนี้มิได้มีภพต่อไป

อินทรียปโรปริยัตติญาณ (ญาณเครื่องกำหนดรู้ ความยิ่ง ความหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหมด) เป็นกำลังของตถาคต , อาสยานุสยญาณ (ญาณกำหนดรู้ฉันทะ และกิเลสอันนอนเนื่องตามของสัตว์ทั้งหลาย) เป็นกำลังของตถาคต , ยมกปาฏิหาริยญาณ (ญาณเป็นเครื่องนำกลับ ซึ่งเป็นปฏิปักข์ธรรมอันเป็นคู่) เป็นกำลังของตถาคต , มหากรุณาสมาปัตติญาณ (ญาณในมหากรุณาสมาบัติ) เป็นกำลังของตถาคต , สัพพัญญุตญาณ เป็นกำลังของตถาคต , อนาวรณญาณ (ญาณเนื่องด้วยอาวัชชนะ ไม่มีอะไรกั้น) เป็นกำลังของตถาคต , อนาวรณญาณ (อันไม่ข้อง ไม่มีอะไรขัดในกาละทั้งปวง) เป็นกำลังของตถาคต

พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดง ทรงประกาศ แม้อดีต แม้อนาคต แม้ปัจจุบัน ของพระองค์ และของผู้อื่น ด้วยประการอย่างนี้

เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอดีต

คนอื่นเป็นอย่างนี้ได้ไหม ไม่ได้เลย และได้มีกรรมที่ได้กระทำแล้วแต่ไม่ทราบว่าหลังจากจุติจิตแล้ว กรรมไหนในชาตินี้ หรือว่าในชาติก่อนๆ จะถึงความแก่กล้าที่จะให้ผล คือ ทำให้ปฏิสนธิในภพใด ภูมิใด แต่ถ้าเป็นพระอริยเจ้าจะไม่เกิดในกำเนิดอบายภูมิเลย

สำหรับบุคคลที่เป็นผู้ที่กำลังเจริญสติปัฏฐาน แต่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ท่านผู้ฟังคิดว่ามีโอกาสที่จะเกิดในอบายภูมิเป็นสัตว์ดิรัจฉานได้ไหม

ขอยกตัวอย่างบุคคลท่านหนึ่งในพระไตรปิฎกที่แสดงให้เห็นว่า ท่านต้องเป็นผู้ที่สะสมอบรมบารมีที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่เมื่อยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระ อริยเจ้าก็เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เมื่อจุติจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนั้นแล้ว จึงได้ตรัสรู้อริยสัจธรรมเป็นพระอริยสาวก

ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ กัณฐกวิมาน มีข้อความว่า

ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ ได้ถามเทพบุตรองค์หนึ่งว่า เทพบุตรนั้นมีรัศมีรุ่งเรือง และมีวิมานที่น่ารื่นรมย์ใจ เพราะผลของทาน หรือผลของศีล หรือผลของอัญชลีกรรม (คือ ความอ่อนน้อม การแสดงความนอบน้อม)

เทพบุตรนั้น อันพระมหาโมคคัลลานเถระถามแล้ว มีความปลาบปลื้มใจ จึงพยากรณ์ปัญหาแห่งผลกรรมที่ถูกถามนั้นว่า

ข้าพเจ้าเป็นพระยาม้าชื่อ กัณฐกะ เป็นสหชาติของพระโอรสของพระเจ้า สุทโธทนะ ผู้เป็นใหญ่กว่าเจ้าศากยะทั้งหลายในกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อพระราชโอรสนั้นเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ในมัชฌิมยามเพื่อความตรัสรู้ เอาฝ่าพระหัตถ์อันอ่อน เล็บแดงงามสุกใส ตบอกข้าพเจ้าเบาๆ แล้วตรัสกับข้าพระเจ้าว่า

จงพาฉันไปเถิดสหาย ฉันได้บรรลุพระโพธิญาณอันอุดมแล้ว จักยังโลกให้ข้ามพ้นจากห้วงน้ำใหญ่ คือ สังสาระ

เมื่อข้าพเจ้าได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้ว ได้มีความร่าเริงยินดี เบิกบาน บันเทิงใจเป็นอันมาก ข้าพเจ้าได้รับคำของท่านโดยความเคารพ ครั้นข้าพเจ้ารู้ว่า พระมหาบุรุษ ผู้เป็นพระโอรสแห่งศากยราชผู้เรืองยศประทับนั่งบนหลังของข้าพเจ้าแล้ว มีจิตเบิกบาน บันเทิงใจ นำพระมหาบุรุษออกไปจากพระนครไปจนถึงแว่นแคว้นของกษัตริย์เหล่าอื่น เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว พระมหาบุรุษมิได้มีความอาลัย ละทิ้งข้าพเจ้ากับฉันนะอำมาตย์ไว้ ทรงหลีกไป ข้าพเจ้าได้เลียพระบาททั้งสองของพระองค์ ซึ่งมีเล็บอันแดงด้วยลิ้น ร้องไห้ แลดูพระลูกเจ้าผู้มีความเพียรอันยิ่งใหญ่ เสด็จไปอยู่

ข้าพเจ้าป่วยอย่างหนัก เพราะมิได้เห็นพระมหาบุรุษศากโยรส ผู้มีศิริพระองค์นั้น ข้าพเจ้าได้ตายลงอย่างรวดเร็ว ด้วยอานุภาพแห่งปีติและโสมนัสนั้น ข้าพเจ้าจึงได้มาอยู่ยังวิมานนี้ อันประกอบด้วยกามคุณอันเป็นทิพย์ ดุจท้าวสักกะเทวราชผู้เป็นใหญ่ในเทพบุรี ฉะนั้น

ความยินดีและความร่าเริง ได้เกิดมีแก่ข้าพเจ้า เพราะได้ฟังเสียงว่า เพื่อพระโพธิญาณก่อนกว่าสิ่งอื่นๆ ฉันจะบรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะ เพราะกุศลกรรมนั้น นั่นแล

ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ถ้าพระคุณเจ้าพึงไปในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ศาสดาไซร้ ขอพระคุณเจ้าจงทูลถึงการถวายบังคมด้วยเศียรเกล้ากับพระองค์ ตามคำของข้าพเจ้า แม้ข้าพเจ้าก็จักไปเฝ้าพระชินเจ้า ผู้หาบุรุษอื่นเปรียบมิได้ การได้เห็นพระโลกนาถเจ้าเช่นนั้น หาได้ยาก

พระสังคีติกาจารย์ได้รจนาคาถาไว้ ๒ คาถาความว่า

ก็กัณฐกเทพบุตรนั้น เป็นผู้กตัญญูกตเวที ได้เข้าเฝ้าพระศาสดา ฟังพระดำรัสของพระศาสดาผู้มีพระจักษุแล้ว ได้บรรลุธรรมจักษุ กล่าวคือ โสตาปัตติผล ได้ชำระทิฏฐิและวิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสของตนให้บริสุทธิ์ ถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระศาสดา แล้วอันตรธานไปในที่นั้นนั่นเอง

ในชาติที่เป็นม้ากัณฐกะ จะเจริญสติปัฏฐานอบรมวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นได้ไหม ไม่ได้ ก็ต้องเคยเจริญอบรมมาก่อน แต่เมื่อยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็มีกรรมที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดในกำเนิดดิรัจฉานเป็นม้ากัณฐกะ เมื่อจุติจากชาตินั้นแล้วด้วยความปีติโสมนัสในพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับตน ก็ทำให้เกิดเป็นเทพบุตร และเมื่อได้มาเฝ้าฟังธรรม เป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานหรือเปล่าที่จะบรรลุอริยสัจธรรม ต้องเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานแม้ในกำเนิดของเทพ เมื่อเป็นกัณฐกเทวบุตรนั้นก็ต้องเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เมื่อได้ฟังพระธรรมจึงจะสามารถรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

ท่านผู้ฟังถามว่า เวลาที่เกิดความทุกขเวทนา สติเกิดได้ไหม ถ้าไม่เคยเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติเลย สติก็เกิดไม่ได้ แต่ทำไมบางท่านสามารถที่จะแทงตลอดบรรลุอริยสัจธรรมเวลาที่ได้รับทุกขเวทนาอย่างแรงกล้าได้ ก็เพราะเหตุว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้รับทุกขเวทนาแรงกล้า สติที่ได้อบรมสะสมอย่างดีแล้ว จึงสามารถที่จะเกิดระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้ ไม่มีอะไรเป็นเครื่องกั้นเลย แต่ถ้าความสมบูรณ์ของปัญญายังไม่ถึงขั้นที่จะเป็นพระอริยเจ้า ก็ไม่แน่ว่าภพต่อไปจะเป็นอะไร

แต่ควรที่จะได้ทราบถึงความวิจิตรของจิตว่า ถึงแม้ว่าจะมีการสะสมทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรมที่เป็นเหตุให้ปฏิสนธิในกามสุคติภูมิบ้าง หรือในอบายภูมิบ้างก็ตาม แม้ขณะนี้ท่านอยู่ในกามสุคติภูมิ คือ ในมนุษย์ภูมิก็จริง แต่ตัวท่านจะเป็นผู้ที่ทราบได้ดีว่า แม้ว่าจะไม่ได้ปฏิสนธิในอบายภูมิในปัจจุบันชาตินี้ แต่เศษของอกุศลกรรมที่ได้สะสมไว้ ติดตามมาปรากฏในภพชาตินี้บ้างหรือเปล่า เพราะเหตุว่าการให้ผลที่กรรมจะเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากขึ้นนั้น เป็นเพราะกัมมปัจจัยหนึ่ง และ อุปนิสสยปัจจัยหนึ่ง

กัมมปัจจัย คือ กรรมที่ได้กระทำสำเร็จแล้วประกอบกับ อุปนิสสยปัจจัย การสะสมที่เป็นกำลังที่ทำให้กรรมนั้นให้ผล แม้ว่าจะให้ผลทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิแล้ว แต่เมื่อยังไม่หมดผลของกรรม ยังมีเศษ มีเชื้อ ก็เป็นอุปนิสสยปัจจัยที่จะทำให้ปรากฏผลเกิดขึ้นแม้ในกามสุคติภูมิ

ขอกล่าวถึงพระสูตรๆ หนึ่ง ซึ่งในครั้งโน้นมีผู้สงสัยว่า การที่พระผู้มีพระภาค ทรงพยากรณ์ว่า บุคคลใดเกิดในที่ใดนั้น เป็นเพราะพระองค์ทรงรู้แจ้งในอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย หรือว่าเป็นเพราะพระองค์ทรงรู้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น นี่เป็นความเคลือบแคลงสงสัยของพระภิกษุบางรูป

อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต อุทกสูตร มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงนิคมของชาวโกศล ชื่อ ทัณฑกัปปกะ

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแวะลงจากหนทาง ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้แล้ว ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นได้พากันเข้าไปสู่นิคมชื่อ ทัณฑกัปปกะ เพื่อแสวงหาที่พัก

ครั้งนั้นท่านพระอานนท์ พร้อมด้วยภิกษุหลายรูป ได้ไปที่แม่น้ำอจิรวดี เพื่อสรงน้ำ ครั้นสรงน้ำในแม่น้ำอจิรวดีเสร็จแล้ว ก็ขึ้นมานุ่งอันตรวาสกผืนเดียว ยืนผึ่งตัวอยู่ ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่ง (ใน มโนรถปูรนี ภาค ๓ อธิบายว่า ภิกษุรูปนั้นเป็นฝ่ายของท่านพระเทวทัต) ภิกษุรูปนั้นได้เข้าไปหาท่านพระอานนท์ แล้วถามว่า

ดูกร อาวุโสอานนท์ พระผู้มีพระภาคทรงกำหนดรู้เหตุทั้งปวง ด้วยพระหฤทัยแล้วหรือหนอ จึงทรงพยากรณ์พระเทวทัตว่า พระเทวทัตจะต้องเกิดในอบาย ตกนรกตั้งอยู่ตลอดกัปป์ เยียวยาไม่ได้ หรือว่าพระผู้มีพระภาคทรงกำหนดรู้โดยปริยายบาง ประการเท่านั้น จึงได้ทรงพยากรณ์พระเทวทัต ดังนี้

แม้จะเป็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงพยากรณ์ว่าใครจะเกิดที่ไหน แต่สาวกบางรูปก็ยังสงสัยว่า ที่ทรงพยากรณ์อย่างนั้นจะถูกหรือจะผิด จะเป็นเพราะว่ารู้ทั้งหมด หรือว่ารู้แต่เพียงบางส่วนบางประการเท่านั้น แม้ว่าผู้ที่ตรัสพยากรณ์เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่สมัยนี้ถึงแม้ว่าผู้ที่กล่าวไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็อาจจะมีบางท่านเชื่อที่พยากรณ์ว่า ผู้ที่สิ้นชีวิตแล้วไปอยู่ในภูมิไหน ภพไหน หรือว่าในสวรรค์ชั้นไหนๆ

นี่เป็นสิ่งที่ต่างกันมากทีเดียว เพราะว่าผู้ที่ควรเชื่อ คือ ผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ควรที่จะเคลือบแคลงสงสัย ส่วนผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วพยากรณ์ นั่นควรจะสงสัยว่า ทำไมถึงสามารถที่จะพยากรณ์ได้ว่าผู้ที่สิ้นชีวิตไปนั้น ไปเกิดในภพใด ผู้ที่สามารถพยากรณ์ได้โดยไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีญาณอะไรที่จะรู้อินทรีย์ หรือว่าอัธยาศัยที่นอนเนื่องอยู่ในจิต หรือว่ากรรมของบุคคลนั้นอย่างละเอียด จึงสามารถที่จะพยากรณ์ได้

ข้อความต่อไปมีว่า

ท่านพระอานนท์ตอบว่า

ดูกร อาวุโส ก็ข้อนี้พระผู้มีพระภาคได้ทรงพยากรณ์อย่างนั้นแล

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกร อานนท์ ก็ภิกษุรูปนั้น จักเป็นภิกษุใหม่ บวชไม่นาน หรือว่าเป็นภิกษุเถระ แต่เป็นคนโง่เขลา ไม่ฉลาด เพราะว่าข้อที่เราพยากรณ์แล้ว โดยส่วนเดียว จักเป็นสองได้อย่างไร

ดูกร อานนท์ เราย่อมไม่พิจารณาเห็นบุคคลอื่นแม้คนหนึ่ง ที่เราได้กำหนดรู้เหตุทั้งปวงด้วยใจ แล้วพยากรณ์อย่างนี้ เหมือนพระเทวทัตเลย ก็เราได้เห็นธรรมขาวของพระเทวทัต แม้ประมาณเท่าน้ำที่สลัดออกจากปลายขนทรายเพียงใด เราก็ยังไม่พยากรณ์เทวทัตเพียงนั้นว่า พระเทวทัตจะต้องเกิดในอบาย ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัปป์ เยียวยาไม่ได้ แต่ว่าเมื่อใดเราไม่ได้เห็นธรรมขาวของพระเทวทัต แม้ประมาณเท่าน้ำที่สลัดออกจากปลายขนทราย เมื่อนั้นเราจึงได้พยากรณ์พระเทวทัตนั้นว่า พระเทวทัตจะต้องเกิดในอบาย ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัปป์ เยียวยาไม่ได้

ดูกร อานนท์ เปรียบเหมือนหลุมคูถเป็นที่ถ่ายอุจาระ ลึกชั่วบุรุษ เต็มด้วยคูถเสมอขอบปากหลุม บุรุษพึงตกลงไปในหลุมคูถนั้น จมมิดศีรษะ บุรุษบางคนผู้ใคร่ประโยชน์ ใคร่ความเกื้อกูล ปรารถนาความเกษมจากการตกหลุมคูถของบุรุษนั้น ใคร่จะยกเขาขึ้นจากหลุมคูถนั้น พึงมา เขาเดินรอบหลุมคูถนั้นอยู่ ก็ไม่พึงเห็นอวัยวะที่ไม่เปื้อนคูถซึ่งพอจะจับเขายกมาขึ้นได้ แม้ประมาณเท่าน้ำที่สลัดออกจากปลายขนทรายของบุรุษนั้น ฉันใด เราก็ไม่ได้เห็นธรรมขาวของพระเทวทัต แม้ประมาณเท่าน้ำที่สลัดออกจากปลายขนทราย ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อนั้น เราจึงได้พยากรณ์พระเทวทัตว่า พระเทวทัตจะต้องเกิดในอบาย ตกนรก ตั้งอยู่ตลอดกัปป์ เยียวยาไม่ได้

ถ้าว่าเธอทั้งหลาย จะพึงฟังตถาคต จำแนกญาณเครื่องกำหนดรู้อินทรีย์ของบุรุษไซร้

ท่านพระอานนท์ทูลว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้ เป็นกาลควร ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลควร ที่พระผู้มีพระภาคจะพึงทรงจำแนกญาณ เครื่องกำหนดรู้อินทรีย์ของบุรุษ ภิกษุทั้งหลายได้สดับจากพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้

ต้องเป็นผู้ที่รู้ถึงกรรม และอัธยาศัยของบุคคลอย่างละเอียด ถึงจะพยากรณ์ได้ ถ้าท่านผู้ฟังพิจารณาประวัติชีวิตของท่านพระเทวทัต พยากรณ์เองได้ไหมว่า เหมือนกับบุรุษที่ตกลงไปในหลุมคูถที่จมมิดศีรษะ พยายามที่จะฉุดขึ้นมา แต่ว่ามองหาส่วนที่จะจับขึ้นมา ส่วนที่ไม่เปื้อนอุจจาระนั้น ไม่มีเลย

นั่นเป็นชีวิตของบุคคลในครั้งอดีต แต่ว่าสมัยนี้ ชีวิตของแต่ละท่านนี้ ที่ท่าน สามารถที่จะพิจารณาได้ ท่านก็พอที่จะเห็นได้ว่า ชีวิตของแต่ละคนนั้นก็ต่างกันไป แต่ว่าไม่มีผู้ใดสามารถที่จะรู้ซึ้งถึงอัธยาศัย พร้อมทั้งกรรม และอินทรีย์ที่บุคคลนั้นได้สะสมมาอย่างละเอียด เรื่องของแต่ละคน แต่รู้ชัดอย่างที่พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งถึงอัธยาศัยของสัตว์โลกโดยละเอียดได้ไหม

ตัวของท่านเองแท้ๆ แต่ถ้าไม่ใช่ผู้ที่มีปกติเจริญสติ ก็ไม่ชื่อว่ารู้จักสภาพธรรมที่เกิดกับตนตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะรู้จักสภาพธรรมที่เกิดกับตนเองตามความเป็นจริง ก็เฉพาะในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้น แต่ผู้ที่จะรู้ละเอียดไปจนถึงอดีตอนันตชาติที่ท่านสะสมมานั้น ก็มีแต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า ถ้าว่าเธอทั้งหลาย จะพึงฟังตถาคตจำแนกญาณ เครื่องกำหนดรู้อินทรีย์ของบุรุษไซร้ ซึ่งท่านพระอานนท์ก็ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นกาลควร ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลควรที่พระผู้มีพระภาคจะพึงทรงจำแนกญาณ เครื่องกำหนดรู้อินทรีย์ของบุรุษ ภิกษุทั้งหลายได้สดับจากพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้

ข้อความต่อไปมีว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกร อานนท์ เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดีของบุคคลคนนี้มีอยู่ สมัยต่อมาเรากำหนดรู้ใจบุคคลนี้ด้วยใจ อย่างนี้ว่า กุศลธรรมของบุคคลนี้แลหายไป อกุศลธรรมปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า กุศลมูลที่บุคคลนั้นยังตัดไม่ขาดมีอยู่ เพราะกุศลมูลนั้น กุศลอย่างอื่นของเขาจักปรากฏ ด้วยประการฉะนี้ บุคคลนี้จักเป็นผู้ไม่เสื่อมต่อไปเป็นธรรมดา เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่ไม่หัก ไม่เน่า ไม่ถูกลม และแดดเผา เกิดในต้นฤดูหนาว เก็บไว้ได้ดีแล้ว อันบุคคลปลูก ณ ที่ดินอันพรวนดีแล้วในที่นาดี เธอพึงทราบไหมว่า เมล็ดพืชเหล่านี้ จักถึงความเจริญงอกงามเจริญไพบูลย์

ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า


หมายเลข  6191
ปรับปรุง  2 ก.ย. 2566