ปกิณณกธรรม ตอนที่ 53
ตอนที่ ๕๓
สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่
มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังต้องการ เป็นทุกข์ไหม ต้องการ ขวนขวาย ไม่สบายใจ อยากได้ ทุรนทุราย
ผู้ฟัง ในขณะที่โลภะเกิด ในขณะนั้น เรามีความต้องการ ถ้าเราไม่เห็นความต้องการ เรารู้สึกว่ามีความอยากได้ เมื่อได้มา ก็ยินดีพอใจไปในตรงนั้น
ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่เข้าใจแต่ทุกขเวทนา หรือ โทมนัสเวทนา ซึ่งเป็นลักษณะซึ่งไม่มีใครชอบ แต่ไม่ทราบเลยว่า นอกจากนั้นอะไรเป็นทุกข์ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะฉะนั้นตราบใดที่เขายังมีความติดข้องอยู่ เขาจะพ้นทุกข์ไม่ได้ แต่เขาจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อ เขาไม่ได้สิ่งที่เขาต้องการ เช่นทุกคนอยากจะมีความสุข อยากจะมีความสบาย อยากจะมีรูป เสียง กลิ่น รส ตามที่ปรารถนา แต่เมื่อไม่ได้ก็เป็นทุกข์ แต่เขาไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว ขณะที่เป็นทุกข์จริงๆ คือเมื่อไหร่ อย่างไร เพราะฉะนั้น เขาก็ไม่มีวันที่จะหมดทุกข์ ไม่ทราบมีใครรู้ทุกข์หรือยัง เพราะว่าจริงๆ แล้ว ถ้ามีผู้ถามพระภิกษุในครั้งนั้นว่า ท่านบวชในพุทธศาสนา ในธรรมวินัยนี้ เพื่ออะไร พระภิกษุท่านจะตอบผู้นั้นว่า เพื่อรู้ทุกข์ เพื่อเห็นทุกข์ แสดงว่าไม่ใช่สิ่งที่จะเห็นหรือจะรู้ได้ง่ายๆ แม้ว่ากำลังมีทุกข์อยู่ ก็ไม่เห็น เพราะว่าจะต้องเห็นด้วยปัญญา
ผู้ฟัง จริง การเห็นทุกข์ เห็นได้ยากอย่างยิ่ง เพราะว่า รู้สึกว่ามันเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่กับเราจนแนบแน่น เราจะไม่เห็นได้เลย จะมองเห็นว่าเป็นตัวเรา ความต้องการก็เรา เมื่อไม่ต้องการขึ้นมาก็โกรธ ก็เป็นไปตามสภาพอันนั้น โดยที่เรียกว่า นี่คือการขาดปัญญาใช่ไหม
ท่านอาจารย์ คือไม่รู้เหตุของทุกข์ว่าอะไรทำให้เกิดทุกข์ แต่อยากได้ สิ่งที่จะทำให้เกิดทุกข์ ไม่รู้จักทุกข์ แต่อยากได้สิ่งที่จะทำให้เกิดทุกข์
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดว่า เพราะไม่รู้จักทุกข์ จึงอยากได้เพราะความไม่รู้ แล้วทำอย่างไรถึงจะให้รู้ว่าทุกข์นั้น คือสภาพอย่างไร
ท่านอาจารย์ ถ้าถามว่าทำอย่างไรจะให้รู้ รู้คือปัญญา เงินซื้อไม่ได้ ทำก็ไม่ได้ มีทางเดียวคือฟังพระธรรมให้เข้าใจ นี่คือความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ซึ่งเป็นปัญญา เพราะว่าโดยมาก ยอมทุกอย่าง นอกจากเรียน ให้ทำอะไรก็ทำ แต่ว่าไม่เรียน ดูเหมือนกับเป็นสิ่งซึ่งทำไมไม่เรียนก็ไม่ทราบ กลัวอะไร หรือว่าเบื่อ หรือว่าอะไร ในเมื่อการเรียนหมายความถึง การได้ยินได้ฟัง การไตร่ตรอง การพิจารณาจนกระทั่งเป็นความเห็นที่ถูกต้อง แล้วก็ยากแสนยากที่จะมีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อมีพระธรรมแล้ว ก็ยังไม่อยากได้ยินได้ฟังอีก ก็หมดหนทาง ก็ยังต้องเป็นทุกข์ต่อไป
ผู้ฟัง ทุกๆ คนอยากจะพ้นทุกข์ โดยที่ยังไม่เข้าใจในสภาพของทุกข์ แต่ให้เรียนก็ไม่เอา
ท่านอาจารย์ แต่ให้เรียน ให้ศึกษาธรรมไม่เอา
ผู้ฟัง อาจารย์พูดจุดนี้ออกมา ซึ่งส่วนมากแล้วจะเป็นลักษณะเช่นนั้น เพราะอะไร เพราะการสะสม หรือว่าเพราะการที่เรายังไม่เจอในสภาพที่แท้จริง หรือว่า บุญหรือกรรม ของเรา มันมีส่วนด้วยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ เพราะไม่เห็นคุณค่าของพระธรรม
ผู้ฟัง เพราะไม่เข้าใจหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่เห็นคุณค่า ถ้ารู้ว่ามีค่า มีใครบ้างที่ไม่ต้องการ สิ่งที่ทุกคนต้องการ คือสิ่งที่มีค่าสำหรับคนนั้น ทุกคนอยากจะได้สิ่งที่มีค่า อะไรที่มีค่าที่ทำให้จิตใจเบิกบาน ไม่เศร้าหมอง แต่สิ่งที่มีค่า มีประโยชน์จริงๆ เหนือสิ่งอื่นใด ก็คือ พระธรรม
ผู้ฟัง ท่านที่บวชเข้ามา ได้สละแล้ว ก็เหมือนกับว่าจะต้องเห็นประโยชน์ของการสละทางโลกแล้ว
ท่านอาจารย์ ในครั้งพุทธกาล ได้ฟังพระธรรมก่อน เห็นคุณค่าก่อน แล้วก็ออกบวชเป็นบรรพชิต
ผู้ฟัง อันนี้จะเป็นเป็นส่วนที่ค่อยๆ ผิดไป
ท่านอาจารย์ ไม่ว่าคฤหัสถ์ หรือบรรพชิต ไม่ต้องกล่าวเฉพาะพระภิกษุ ผู้ที่เห็นค่าของพระธรรมเท่านั้นที่จะศึกษา
ผู้ฟัง การจะเห็นค่า รู้สึกพูดเหมือนง่าย
ท่านอาจารย์ ไม่รู้ จะเห็นได้อย่างไร ถ้าจะรู้ได้ก็คือต้องศึกษา เพราะฉะนั้นเหตุผลก็มีอยู่ แต่ไม่ยอมจับต้นชนปลายให้ตรง
ผู้ฟัง เหมือนกับว่า ไม่มีผู้ที่จะมาจับต้นชนปลายได้ คือทุกท่านอยากจะรู้แต่ว่า
ท่านอาจารย์ แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะรู้ เราอยากรู้ แต่เราไม่ไปโรงเรียน แล้วไม่เรียนหนังสือ ก ไก่ ก็ไม่มอง ฮ นกฮุก ก็ไม่สนใจ แล้วจะไปอ่านได้อย่างไร
พระ. อาจจะเป็นเพราะกลัวความทุกข์ของการเรียน
ท่านอาจารย์ การเรียน ไม่ได้ให้ความทุกข์เลย
พระ. อาจจะเป็นความฝังใจของการถูกบังคับไปเรียนตั้งแต่เด็กๆ เมื่อบังคับไปเรียนแล้ว ต้องมีการสอบ แล้วกลัวการสอบ
ท่านอาจารย์ การศึกษาพระธรรม ไม่ได้มีการบังคับเลย และก็ไม่ต้องสอบด้วย เรียนเพื่อเข้าใจเท่านั้น ฟังเพื่อเข้าใจ เพื่อมีความเห็นถูก เป็นอิสระเสรีมาก ไม่มีการบังคับให้เข้าใจ เพราะว่าบังคับไม่ได้
ผู้ฟัง สิ่งที่มีค่า แต่เราไม่รู้ค่า เป็นเพราะว่าการที่จะไปแสวงหาตรงจุดนี้
ท่านอาจารย์ ไม่ศึกษา ก็ไม่รู้ค่าแน่นอน
ผู้ฟัง อาจารย์จะให้จะให้ศึกษาจากสิ่งใดได้
ท่านอาจารย์ พระไตรปิฎก ซึ่งตรงกับสภาพธรรมที่มีจริงๆ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องสิ่งที่ไม่มีจริง ทุกอย่างที่ตรัสรู้ และทรงแสดง เป็นเรื่องสภาพธรรมที่มีจริงๆ ทั้งหมด เป็นความจริง ทั้งในอดีตปัจจุบัน อนาคต ไม่ว่าจะโลกนี้ โลกไหน
ผู้ฟัง ถ้าหาผู้ชี้แนะให้ไม่ถูกต้อง จากการอ่านในพระไตรปิฏก ก็คิดว่าจะเป็นการเข้าข้างตนเอง ตีความไปด้วยของตนเอง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราก็มาสนทนากัน ใครไปอ่านที่ไหนมายังไง ก็มาสนทนากัน ให้เข้าใจ
พระ ปัญหาคือ เรายังมองไม่เห็นค่าของการเข้ามาศึกษา มันไม่มีสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้น หรือคุณค่าซึ่งเกิดขึ้นโดยสังคม เราจะเห็นว่าถ้าเป็นของบางอย่าง เช่นเด็กสมัยนี้ ชอบไปดูคอนเสิร์ต เพราะเพื่อนมาบอกว่า ไปดู สนุกมาก มันมาก คอนเสิร์ตนี้สุดๆ เลย ปัญหาคือไม่เห็นมีใครบอกว่า ไปฟังธรรม เปิดวิทยุรายการนี้ อาจารย์สุจินต์กำลังพูดอยู่ ฟังแล้วฉันสว่าง ฉันมีปัญญา ฉันรู้ ฉันแก้ทุกข์ฉันได้ ยังไม่เคยได้ยินคนมาบอกกล่าวกันแบบนี้ หลวงพี่อาจจะโชคร้ายหน่อย ไม่ใกล้ชิดคนที่มาประกาศอย่างนี้ ในอดีต
ท่านอาจารย์ ถึงบอกก็ไม่เชื่อ ถ้าไม่ได้สะสมมา เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของการสะสมจริงๆ เพราะว่าทุกคนที่บ้าน เปิดวิทยุ คนฟังก็มี คนไม่ฟังก็มี แล้วแต่
ผู้ฟัง เมื่อพูดถึงเรื่องทุกข์กาย ทุกข์ใจ อาจารย์ได้กล่าวว่า แม้กระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกข์กายก็ยังหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นผลของกรรม แต่ว่าทางใจ การศึกษาธรรมนี้ ทางกายจะไม่ช่วยอะไรเลย เฉพาะทางกายก่อน
ท่านอาจารย์ ฟังธรรมเพื่อให้ไม่เจ็บไข้ หรือ เพื่ออะไร
ผู้ฟัง ให้มีสติ ระลึกรู้ว่า มันเป็นผลของกรรม ก็แค่นั้น
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีความเข้าใจแล้ว สติจะเกิดไหม
ผู้ฟัง ไม่เกิด
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องเป็นห่วงอะไร ถ้าตราบใดที่ยังไม่เข้าใจ ก็ฟังให้เข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้วปัญญาจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้นเรื่อยๆ ตามทางของความเห็นถูก จะไม่ไปสู่ความเห็นผิด
ผู้ฟัง ความเจ็บทางกายก็จะลดลง
ท่านอาจารย์ ฟังพระธรรมเพื่ออะไร
ผู้ฟัง เพื่อพ้นทุกข์ เพื่อรู้แจ้งสภาพธรรม
ท่านอาจารย์ เพื่อรู้แจ้งสภาพธรรม ก็จะรู้ว่า ไม่มีใครหลีกพ้นวิบากกรรมที่จะเป็นทางกายได้
พระ ถ้าเป็นกรรมที่เกิดขึ้นทางกาย เราไม่มีสิทธิ์ที่จะต่อรอง หรือว่าแก้ไข ปรับปรุง
ท่านอาจารย์ เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว กรรมก็สำเร็จแล้ว และก็พร้อมด้วยเหตุปัจจัยสมบูรณ์ สุกงอม ที่จะให้ผลนั้น ผลนั้นจึงเกิดได้
พระ แปลว่า ยังไงต้องใช้หนี้
ท่านอาจารย์ สิ่งที่เกิดแล้ว ต้องมีปัจจัยที่จะให้เกิด ไม่ใช่ตามความปราถนาของเรา หรือของใคร นี้คือสิ่งที่จะต้องพิจารณา ฟังธรรมแล้ว ก็จะให้เป็นอย่างนี้ จะให้เป็นอย่างนั้น ฟังธรรมแล้ว จะไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ฟังธรรมแล้วก็จะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งไม่ใช่เหตุผล ฟังธรรมเพื่อเข้าใจถูกต้อง ในธรรมคือสิ่งที่มีจริง
ผู้ฟัง ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นทางกาย เป็นผลของกรรม ถ้าเราพิจรณาแล้วว่า เป็นเพราะกรรมในอดีต และไม่รักษา ปล่อยให้หมดกรรม จะถือว่าเป็นความเห็นผิดหรือถูก
ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจถูกต้อง ไม่มีเรา นอกจาก จิต เจตสิก รูป
ผู้ฟัง จะมีการรักษาไหม
ท่านอาจารย์ ทุกขเวทนาที่เกิด รูป ไม่เจ็บไม่ปวด เพราะฉะนั้นขณะนั้น เป็นสภาพของจิต ที่รู้สิ่งที่ปรากฏที่กระทบกายที่ไม่เหมาะสม ไม่สบาย จึงทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ หนึ่งขณะจิตแล้วก็ยังมีจิตต่อๆ ไป ซึ่งคิดนึกถึงเรื่องโรคนั้นด้วย เพราะฉะนั้นไม่มีทางที่ใครจะไม่รักษาโรคเพราะคิดว่าเป็น จิต เจตสิก รูป เป็นผลของกรรม
ผู้ฟัง ถ้าเราขวนขวายในการรักษา จะถูกกล่าวหาว่า ไม่เชื่อในที่สอนว่าเป็นผลของกรรม ทำไมวุ่นวาย ไปหายามารักษา เพราะถูกต่อว่าอย่างนี้ จะทำอย่างไร
ท่านอาจารย์ วันหนึ่งๆ ไม่ได้มีแต่วิบากจิต จิตมี ๔ ชาติ จิตที่เกิดขึ้นตั้งแต่เกิดจนตาย จำแนกออกโดยชาติ (การเกิด) เป็น ๔ อย่าง หรือ ๔ ประเภท คือ จิตที่เป็นกุศลก็เป็นกุศล จะเป็นเหตุที่ดี จิตที่เป็นอกุศล ก็เป็นเหตุที่ไม่ดี ทั้งกุศล และอกุศลเป็นเหตุที่จะให้เกิดจิตที่เป็นผล ผลของกรรมก็คือจิตอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นโดยเป็นผลของกรรม เนื่องมาจากกรรมเป็นปัจจัย ทำให้จิตนั้นเป็นวิบากจิตที่เกิดขณะแรกของชาติหนึ่ง ต้องเป็นผลของกรรม เมื่อเกิดแล้วยังไม่ตาย ยังดำรงภพชาติอยู่ ก็เป็นผลของกรรม เมื่อดำรงภพชาติอยู่ ทำไมไม่ตาย เพื่อที่จะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นผลของกรรม นี้คือกุศลซึ่งเป็นเหตุ อกุศลซึ่งเป็นเหตุ และวิบากซึ่งเป็นผล แต่เวลาที่มีการเจ็บไข้ได้ป่วย มีการเห็น มีการได้ยิน ซึ่งเป็นผลของกรรมแล้ว ยังมีจิตซึ่งเป็นกุศล อกุศลเกิดอีก เพราะฉะนั้นเวลาที่เจ็บปวด ไม่ชอบความเจ็บปวดนั้น จิตเป็นอกุศล คิดที่จะรักษาพยาบาล ขณะนั้นก็เป็นโลภะ ความต้องการที่จะให้หายป่วย ซึ่งเป็นจิต ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นจะไปบังคับว่า ไม่ให้จิตนี้เกิดขึ้น ไม่ให้มีการต้องการที่จะรักษาความป่วยไข้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ผู้ฟัง หมายความว่าตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ การรักษาโรคที่เกิดทางกายนี้ ก็ต้องเกิดขึ้นเพราะโลภะใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าขณะใดไม่เป็นกุศล ไม่ใช่วิบาก ไม่เป็นกริยา ขณะนั้นก็ต้องเป็นอกุศล
พระ เป็นนิ่ว ปวดท้อง ดิ้นไปดิ้นมา เราขนขวายไปโรงพยาบาลแล้วก็มีการผ่าตัด ความต้องการที่จะรักษา ในขณะนั้น ก็ต้องเป็นโลภะตลอด
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
พระ ถ้าสมมติว่าเป็นพระอรหันต์
ท่านอาจารย์ เป็นกิริยาจิต
พระ แต่ก็มีการรักษาเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ แน่นอน
พระ แต่ด้วยกิริยาจิต หมายความว่า เป็นธรรมชาติของท่านที่หมด โลภะ โทสะ โมหะแล้ว อย่างเราไม่มีทางที่จะไปฝัน ที่จะไปทำกิจอย่างนั้นได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นปุถุชน กับ ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขั้น จะมีความต่างกันโดยปัญญาเท่านั้น แต่ชีวิตการเป็นอยู่ก็เหมือนกัน พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเสวยพระกระยาหาร ต้องปฏิบัติ อาบน้ำชำระร่างกาย ทำทุกอย่าง เวลาที่มีบาดแผล หมอชีวกก็รักษาทั้งๆ ที่ท่านเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ทรงอนุเคราะห์ ให้หมอชีวกรักษาพยาบาล เพื่อเป็นกุศลของหมอชีวกเอง เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าไม่มีความต่างกัน แต่ความต่างของจิตใจก็คือว่า ผู้ที่เป็นปุถุชน มีกุศลบ้าง มีอกุศลบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นอกุศล ทันทีที่เห็น เห็นแล้วรักหรือชัง ชอบหรือไม่ชอบ น้อยนัก ในวันหนึ่งๆ ซึ่งเมื่อเห็น แล้วเป็นกุศลที่จะสละ เป็นทาน หรือว่าที่จะเป็นประโยชน์กับบุคคลอื่นโดยประการใดๆ เพราะฉะนั้นเมื่อจิตของคนที่มากไปด้วยอกุศล ในชีวิตประจำวันจริงๆ เกิด แล้วกว่าจะเปลี่ยนจาก เห็น แล้วเป็นกุศล จะยากไหม และกว่าจะเปลี่ยนจาก เห็น แล้วเป็นกุศล เป็นกิริยาจิต ถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ตรงจริงๆ ที่จะรู้ว่าขณะที่เห็น เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และหลังจากเห็นแล้ว ก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง จะเป็นกุศลหรืออกุศล ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะก็รู้ลักษณะของนามธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้ แต่ต้องเป็นปัญญาตามลำดับขั้นจริงๆ ไม่ใช่ข้ามขั้น เราเรียนเรื่องกุศลจิต อกุศลจิต ขั้นปริยัติ เราสามารถที่จะตอบได้ว่า โลภมูลจิต มี ๘ ประเภท โทสมูลจิตมี ๒ โมหมูลจิตมี ๒ มีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย แต่เวลาที่สภาพธรรมที่เป็นอกุศลเกิด ไม่รู้ รู้แต่ชื่อ เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าเรารู้จริงๆ ในสภาพธรรม เราเพียงแต่รู้ชื่อเท่านั้น เพราะฉะนั้นกว่าเราจะรู้ว่า เรารู้เพียงชื่อ และจะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ตัวจริง แล้วจะคลายความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ที่ยึดถือสภาพนั้นๆ ว่าเป็นตัวตน กว่าจะเป็นวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น กว่าจะถึงความเป็นพระโสดาบัน ผู้นั้นก็ไม่หลอกตัวเอง เพราะว่าไม่ใช่พระสกทาคามี ไม่ใช่พระอนาคามี ไม่ใช่พระอรหันต์ ความเห็นผิดในวันหนึ่งๆ เกิดน้อยกว่าความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส เพราะฉะนั้นเราเป็นอย่างนี้มากี่ชาติ เพราะฉะนั้นพระโสดาบันดับความเห็นผิดเป็นสมุจเฉท แต่ยังมีเหตุปัจจัย ที่ยังยินดี ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเพราะรู้ตามการสะสมตามความเป็นจริงว่า สะสมอะไรมามาก และจะดับได้ก็ต่อเมื่อ แม้ว่าเป็นนามธรรม รูปธรรม ไม่เห็นผิดว่าเป็นเรา ก็ยังจะต้องอบรมเจริญปัญญา ที่จะเห็นโทษของความติดข้อง ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ขณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ก็เห็นความหลากหลายของสภาพธรรมซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัย แต่ไม่ใช่ความเห็นผิด เพราะฉะนั้นกว่าจะอบรมเจริญปัญญาเป็นขั้นๆ ถึงความเป็นพระอรหันต์ ต้องตามความเป็นจริง ชีวิตก็เป็นปกติธรรมดา แต่ว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลง ก็คือกิเลสที่ดับด้วยมรรคจิต จะไม่เกิดอีกเลย
พระ กุศล อกุศล วิบาก กิริยา คำว่า กิริยา คือไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล ที่ได้ยินได้ฟังเป็นอย่างนั้น สภาพจิต เราจะรู้ได้หรือไม่ ทั้งที่เป็นปุถุชน
ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่ของกิริยาจิตเป็นจิตของพระอรหันต์ พระอรหันต์ จะมีจิต ๒ ชาติเท่านั้น คือวิบากจิต กับ กิริยาจิต พระอรหันต์ดับทั้งอกุศล และกุศล เพราะเหตุว่าเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก แต่เมื่อดับเหตุ ผลไม่มีก็คือปรินิพพาน หลังจากถึงจิตขณะสุดท้ายคือ จุติจิต ซึ่งเป็นการปรินิพพาน จะไม่มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดจิตเจตสิกอีกเลย เพราะฉะนั้นก็จะได้เห็นว่า ส่วนใหญ่ของกิริยาจิต เป็นของพระอรหันต์ ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ คือผู้ที่เป็นปุถุชน หรือว่าเป็น พระเสกขบุคคล คือเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี จะมีกิริยาจิตเพียง ๒ ประเภท หรือ ๒ ดวง ซึ่งเป็น อเหตุกกิริยา เพราะฉะนั้นไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะของ อเหตุกกิริยาได้
ผู้ฟัง การระลึกรู้สภาวะที่เกิดขึ้นอยู่ในชีวิตประจำวัน คือ ขณะจับไมค์ ก็รู้สึกว่าแข็ง จะระลึกอย่างนี้ทุกวัน พยายามเท่าที่จะทำได้ จะเป็นการเจริญแนวสติปัฎฐาน ๔ หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าอริยสัจจ์ ๔ ลึกซึ้ง ทั้งหมดทั้ง ๔ เพราะฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจ ความลึกซึ้งของมรรคสัจจ์ คือสติปัฎฐาน สิ่งที่กระทำอยู่ ก็ไม่ใช่สติปัฎฐาน เพราะดูง่าย เพียงแต่พยายามๆ ไปรู้ตรงนั้นก็เข้าใจว่าเป็นสติปัฎฐาน แต่ว่าอริยสัจจ์ ๔ นั้น ๒ อริยสัจจ์แรก ลึกซึ้งจึงเห็นยาก เพราะเหตุว่าทุกขสัจจ์ ก็คือสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ ซึ่งเกิดแล้วดับอย่างรวดเร็ว แต่ละอย่าง เราเพียงแต่เข้าใจว่า เสียงเกิดแล้วก็ดับ คิดนึกเกิดแล้วก็ดับ แต่ที่จะประจักษ์จริงๆ ในการเกิดดับ ลึกซึ้งมาก จึงเห็นยาก สำหรับโลภะก็ลึกซึ้ง เพราะว่าอยู่กับเรามานานแสนนาน ตลอดเวลา ขณะใดที่ไม่เป็นกุศล ขณะใดที่ไม่เป็นโทสะ ขณะที่ไม่เป็นโมหะ ก็เป็นโลภะ จนไม่รู้จัก ไม่เห็นเลย
แม้แต่คำถามว่า ทำยังไงสติถึงจะเกิด ลองคิดดูว่าเป็นปัญญาหรือว่าเป็นโลภะ เพราะไม่ใช่เรื่องทำ ทำไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจมั่นคงว่าเป็น อนัตตา ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ของใคร แม้แต่ปัญญาก็ไม่ใช่ของใคร สติก็ไม่ใช่ของใคร แล้วใครที่ไหนจะทำอะไร ในเมื่อเป็นจิต เป็นเจตสิก แต่ละประเภท เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ต้องเข้าใจจริงๆ จรดกระดูก หรือโดยตลอด โดยไม่ลืม ถ้าเข้าใจความหมายเบื้องต้นของอนัตตา ก็ทิ้งไม่ได้ ต้องรู้ว่าแม้สติ ก็เป็นอนัตตาด้วย
เพราะฉะนั้น ความละเอียด ความลึกซึ้งของ มรรคมีองค์ ๘ หรือปรกติมี ๕ องค์ ไม่ใช่เรื่องที่ไม่มีปัญญาเลย แล้วก็จะนั่ง แล้วก็จะทำ แล้วก็จะให้เป็นมรรค หรือว่าจะดู หรือจะสังเกต ก็ยังคงเป็นเราอยู่ แต่หนทางที่จะบรรลุ หรือ รู้แจ้ง อริยสัจจธรรม หนทางเดียว แล้วเป็นหนทางละโดยตลอด ตั้งแต่ขั้นฟัง แม้แต่ฟังขณะนี้ ก็ตั้งจิตไว้ชอบ ที่จะฟังเพื่อละความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ความไม่รู้ ความจริงของสภาพธรรม เพราะว่า พระธรรมที่ทรงแสดง ลึกซึ้งมาก เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีความเข้าใจจริงๆ ใน มรรคมีองค์ ๘ แล้วจะทำ นั่นคือไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ถ้ามีการเข้าใจสภาพธรรมเพิ่มขึ้น เราเรียนมาแล้ว เรื่องขันธ์ ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ มีเราตรงไหนที่จะพยายาม เพราะเหตุว่าแม้วิริยเจตสิกเกิดกับจิตเกือบทุกดวง เว้น อเหตุกจิต ๑๖ ดวงเท่านั้นที่ไม่เกิด เพียงแต่นั่ง แล้วก็คิด แค่คิดแล้วก็มีความพอใจ หรือไม่พอใจก็ตาม ก็มีวิริยะเกิดแล้ว เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม เพื่อให้ละความเป็นตัวตน แม้ในขั้นฟัง ให้ละความเป็นตัวตน ยิ่งในการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นอีกระดับหนึ่ง ก็ยิ่งละความเป็นตัวตนว่า ไม่ใช่เราที่จะดู ที่จะพยายาม แต่รู้เหตุปัจจัยคือ ในพระไตรปิฎก จะมีข้อความว่า มีสติ หรือ หลงลืมสติ ก็รู้ เพราะเหตุว่าที่จะเป็นสัมมาสติได้ สัมมาวายามะได้ สัมมาสังกัปปะได้ สัมมาสมาธิได้ ต้องมีสัมมาทิฏฐิ ต้องเกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิ
เพราะฉะนั้น ต้องมีปัญญาจริงๆ ขณะนั้น เวลาที่สติเกิด ต้องมีปัญญาที่รู้ว่าขณะนั้น สติระลึกไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราจะพยายามระลึก เพราะฉะนั้นกว่าจะดำเนินไปในหนทางนี้ พร้อมด้วยการละแต่ละขั้น อย่างละเอียดไปเรื่อยๆ จะต้องรู้ว่า สมุทยสัจจ์ เป็นสิ่งที่ควรละ หรือจะต้องละ มิฉะนั้นแล้ว ก็ไม่ถึง นิโรธสัจจะ เพราะฉะนั้นการศึกษา การเข้าใจการฟัง ต้องละเอียด และก็ต้องรู้ด้วยว่าขณะไหนเป็นโลภะ ไม่ใช่แล้ว ขณะไหนเป็นเรา ก็ไม่ใช่แล้ว แต่ต้องเป็นการฟัง จนกระทั่งเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม