ปกิณณกธรรม ตอนที่ 57


ตอนที่ ๕๗

สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔


ผู้ฟัง ฟังท่านอาจารย์พูดถึงเกี่ยวกับโลกธรรม ๘ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สุข ทุกข์ นินทา สรรเสริญ ถ้าเรารับให้เป็น เราควรรับอย่างไร

ท่านอาจารย์ ก็เป็นทุกข์ ถ้าฝ่ายดี ท่านแสดงไว้ว่าเหมือนขวานฟ้า สิ่งที่มาจากฟ้าสวรรค์เราก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี ใช่ไหม แต่ว่าทำร้ายเรา เพราะเหตุว่าที่จริงแล้ว ใครจะชมสักเท่าไหร่ เราเองเป็นคนรู้ว่า เราเป็นจริงอย่างที่เขาชมหรือเปล่า มากหรือน้อย หรือว่าไม่ตรง ไม่ใช่ว่าพอเขาชมก็ดีใจทั้งๆ ที่ไม่เป็นอย่างนั้น ถ้ารู้ว่าสิ่งที่เราพอใจว่าเป็นลาภ คือ ได้สิ่งที่น่าพอใจ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ชั่วคราวสั้นมาก สั้นมากเพราะความจริงสิ่งนั้นไม่ใช่ของใคร เพียงเกิดแล้วดับ แล้วกระทบ กับตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ปรากฏให้เห็น แต่เพราะความไม่รู้ ทุกคนก็ติดในสิ่งนั้นอย่างมาก และก็ไม่อยากจะมีทุกข์ แต่ต้องการเหตุของทุกข์อยู่ตลอด ก็เป็นอย่างนี้คือไม่ตรงกัน ถ้ามีปัญญาเราก็รู้ว่าชั่วคราวเล็กน้อย เมื่อไม่มีเรา การศึกษาธรรมทำให้ลดความเป็นเรา เล็กลงเล็กลงจนไม่เหลือ อย่างที่บอกว่าตามความเป็นจริง เราคิดว่ามีเราทั้งตัว ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แต่รูปเกิดดับเร็วมากจนหมดไม่เหลือ เหลือเฉพาะรูปใดที่เกิด และสติระลึกแล้วปรากฏชั่วขณะสั้นๆ แล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นมีอะไรเหลือตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แม้สิ่งที่เราเคยเป็นตัวเราก็ยังไม่มี แต่ว่ามีธาตุ หรือ ธรรม ซึ่งเกิดตามเหตุตามปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้ แต่ความไม่รู้ก็หลงยึดถือธาตุนั้นๆ ที่ปรากฏว่าเป็นเราหรือว่าเป็นของเรา เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้ความจริง ก็จะละคลายทุกข์เพราะเกิดจากกิเลส ความไม่รู้ ตามกำลังของปัญญา

ผู้ฟัง คำว่า “อนัตตา” เราฟังแล้วทุกอย่างก็เป็นธรรม แต่การเข้าใจอนัตตานี้ หมายถึงต้องเป็นวิปัสสนาญาณใช่หรือไม่

ท่านอาจารย์ เข้าใจตั้งแต่ขั้นฟัง ปัญญาต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นฟัง แล้วมีความเห็นถูกความเข้าใจถูก ที่ค่อยๆ เจริญขึ้นเป็นสังขารขันธ์ ถ้าขณะนี้ไม่มีความเข้าใจแล้ว เวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณจะเป็นอนัตตามาจากไหน ก็ต้องอบรมเจริญไป คำว่าอนัตตา ไม่ใช่หมายความถึงสิ่งที่ไม่มี สิ่งที่มีเป็น “อนัตตา” คือ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา เป็นธาตุหรือเป็นธรรม อย่างเช่น ไฟ ก็เป็นธาตุไฟ อยู่ตรงนั้นก็คือธาตุไฟ อยู่ตรงนี้คือธาตุไฟ อยู่ตรงไหนคือธาตุไฟ เพราะฉะนั้นธาตุไฟที่ตัว คือ ธาตุไฟเท่านั้นเอง แต่อยู่ตรงนี้ก็เลยเข้าใจว่าเป็นเรา เป็นของเราด้วย แต่ความจริงไม่ใช่ ทั้งหมดเป็นธาตุ

พระ ถ้าว่าตามสติปัฏฐาน ๔ เราควรที่จะตั้งอยู่ในบรรพใด

ท่านอาจารย์ สติเป็นโสภณเจตสิก เกิดกับโสภณจิตทั้งหมด แต่เวลาที่เป็นสติปัฏฐานหมายความถึงสติที่ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง เพราะทางที่จะรู้อารมณ์ หรือ อารมณ์จะปรากฏได้ไม่เกิน ๖ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด สติปัฏฐานระลึกได้ เพราะว่าก่อนนั้นที่สติปัฏฐานไม่เกิด ไม่รู้ความจริงแล้วก็เป็นเรา แต่ความจริงเป็นสภาพธรรม เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ว่าเป็นธรรมได้ก็เมื่อสติเกิดระลึกเพื่อที่จะเข้าใจให้ถูกต้อง ในลักษณะของธรรมนั้นว่าเป็นรูปธรรมหรือเป็นนามธรรม

พระ ตามที่เราได้ศึกษาตามคัมภีร์ จะพบว่าหลักการ หรือ การใส่ใจในสติปัฏฐาน จะมีข้อแตกต่างกัน อย่างเช่น อานาปานสติ หรือว่า อิริยาปถบรรพ ก็จะมีความแตกต่างกับจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ว่าตามธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็มีความหลากหลายมาก มีความสงสัยว่าที่ฟังบรรยายมา เราควรที่จะไปค้นคว้าต่อจากบรรพใด

ท่านอาจารย์ พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมดเป็นเรื่องของปรมัตถ์ หลากหลายโดยนัยต่างๆ แต่พอพูดถึงหมวดของสติปัฏฐาน หมายความถึง เมื่อสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้น พร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิ และมรรคมีองค์อื่น ซึ่งปกติจะมี ๕ องค์ ข้อความที่มีในสติปัฏฐานทั้งหมดต้องเป็นปรมัตถธรรม แต่ก่อนนั้นไม่รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นก็เป็นเรานั่ง เรานอน เรายืน เราเดิน หรือไม่ก็เป็นเราหายใจ หรือส่วนของกายที่เน่าเปื่อยเป็นซากศพก็ยังคิดว่าเป็นร่างกาย เพราะฉะนั้นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมดก็คือ บรรพซึ่งระลึกรู้ธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย จึงเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ที่จริงก็เป็นธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมด

ผู้ฟัง แล้วความแตกต่างของกายานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา และธัมมานุปัสสนา เมื่อเราประมวลลงในธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว ทำไมจะต้องแสดง กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา อีก

ท่านอาจารย์ ตามการยึดถือ เพราะว่าขณะใดที่ยึดถือรูปที่กายว่าเป็นเรา จริงหรือเปล่า ก่อนที่สติจะเกิดยึดถือรูปที่กายเป็นเรา เพราะฉะนั้นขณะที่มีความยึดถือรูปที่กาย แล้วสติระลึกที่กาย ที่ยึดถือก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

พระ หากว่าเราใส่ใจเฉพาะ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะถือว่าเราจะเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานด้วยหรือไม่

ท่านอาจารย์ สภาพของรูปที่รู้ได้ทางกาย ไม่ว่าจะเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ตาม ก็คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ถูกต้องหรือไม่ สภาพของรูปใดๆ ก็ตาม เรายังไม่พูดถึงชื่อว่าเป็นอนุปัสสนาบรรพใด แต่จะพูดถึงสภาพธรรมที่จะรู้ได้ทางกาย ไม่ว่าจะใช้คำว่ากายานุปัสสนา จะใช้คำว่าขันธ์ รูปขันธ์ ในธัมมานุปัสสนาก็ตาม จะใช้คำว่าอายตนะ คือ เย็นร้อนอ่อนแข็งก็เป็นโผฏฐัพพะ เราจะไม่พูดถึงชื่อ แต่จะพูดถึงสภาพธรรมว่า ขณะใดที่มีการระลึกที่กาย ที่กายปสาทซึ่งเป็นทาง ๑ใน ๖ ทาง ขณะนั้นสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏ คือเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เพราะฉะนั้นถ้าระลึกที่กาย ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเรา ลักษณะที่ปรากฏกระทบกายปสาท ก็คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานโดยนัยที่ เมื่อยึดถือที่กาย ระลึกที่กาย สภาพธรรมที่กายก็ปรากฏ แต่สิ่งอื่นที่ไม่ใช่กาย แต่ก็มีลักษณะที่ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ขณะนั้นก็ไม่ต่างจากรูปที่กายเลย คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวนั่นเอง แต่เป็นธัมมานุปัสนาสติปัฏฐาน เมื่อระลึกลักษณะสภาพธรรมตรงอื่นที่ไม่ใช่ตรงกาย

พระ การเจริญวิปัสสนา ระลึกรู้อารมณ์ที่เป็น อดีต อนาคต หรือปัจจุบัน

ท่านอาจารย์ อดีต ถ้าดูในพระไตรปิฏก คือ สิ่งที่ล่วงภังคขณะไปแล้วเป็นอดีต เพราะฉะนั้นไม่ปรากฏ

พระ จะปรากฏอีกได้หรือไม่

ท่านอาจารย์ ปรากฏต่อสัมมสนญาณ เพราะว่ามีการเกิดดับสืบต่อกัน จึงรู้ว่าขณะที่ล่วงไปนั้นเป็นอดีต และขณะใหม่ที่กำลังปรากฏเป็นปัจจุบัน และที่จะเกิดสืบต่อจากขณะนี้คืออนาคต

ผู้ฟัง ปรากฏ

ท่านอาจารย์ ปรากฏต่อสัมมสนญาณ แต่ไม่ใช่เมื่อไม่มีแล้วเราพยายามไปรู้ แต่การเกิดดับที่สืบต่อกันนี้ เมื่อปัญญาสามารถที่จะประจักษ์ได้ ก็สามารถที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังเป็นปัจจุบัน แล้วดับจึงเป็นอดีต สภาพธรรมที่ปรากฏเป็นปัจจุบัน สภาพธรรมที่จะเกิดต่อจากขณะนี้ก็สามารถประจักษ์ทั้ง ๓ กาล แต่ว่าต้องเป็นวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่ว่าสิ่งนี้ไม่มี ล่วงไปแล้วหมดไปแล้ว แล้วก็ไประลึกเพื่อที่จะเข้าใจให้ถูกต้อง นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เพราะการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว สามารถประจักษ์แจ้งได้ด้วยวิปัสสนาญาณ เพราะฉะนั้นเมื่อถึงมีวิปัสสนาญาณระดับที่จะประจักษ์การเกิดดับสืบต่อของสภาพธรรมก็ประจักษ์สภาพที่มีจริงๆ ซึ่งเกิดแล้วดับ และเกิดแล้วดับ และเกิดแล้วดับ จึงสามารถที่จะรู้ในลักษณะที่ว่า อดีตคือขณะที่ล่วงไป ปัจจุบันคือที่กำลังปรากฏ และอนาคตคือสืบต่อจากขณะนี้

ผู้ฟัง ในพระสูตรบางสูตร เช่นในสังยุตตนิกาย นิทานวรรค พูดถึงว่ารูปที่เธอเห็นอยู่นี้ อาจจะตั้งอยู่ได้ ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ไปถึง ๑๐๐ ปี

ท่านอาจารย์ โดยนัยของพระสูตรไม่ได้แสดงโดยนัยของพระอภิธรรม

ผู้ฟัง ส่วนจิตนั้นเกิดขึ้นติดต่อกันรวดเร็ว อาจจะให้พิจารณารูปว่า แม้เมื่อก่อนนี้ หญิงคนนี้ก็อายุ ๑๖ ปี

ท่านอาจารย์ นั้นคิด เป็นเรื่อง เป็นบัญญัติ

ผู้ฟัง เป็นสิ่งที่สนับสนุนเกี่ยวกับเรื่องอภิธรรม หรือไม่

ท่านอาจารย์ คือความคิด ต้องรู้ว่าไม่มีใครยับยั้งได้ ในพระพุทธศาสนาคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ไปแสดงให้มีการบังคับให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดหยุดไม่เกิด หรือว่าไม่มีการบังคับให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิด แต่แสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามเหตุตามปัจจัย ทุกคนคิด เกิดมาคนที่จะไม่คิดไม่มี เพราะฉะนั้นเมื่อคิดก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะที่กำลังคิด อะไรเป็นปรมัตถ์ เพื่อที่จะไม่มีเรา ถ้าเป็นเรื่องราวก็มีหญิงคนนี้ ก็ยังคงเป็นหญิงคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็เป็นสมมติบัญญัติ ซึ่งหญิงไม่มี แต่มีปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นขณะที่คิดก็ต้องรู้ด้วย ถ้าจะประจักษ์ความจริงก็คือ แม้เราก็ไม่มี หญิงก็ไม่มี สิ่งใดก็ไม่มี มีแต่ปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งปัญญาสามารถประจักษ์แจ้งแทงตลอดในสภาพที่เป็นปรมัตถธรรม แม้คิดจะคิดเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ขณะนั้นก็รู้ว่าเป็นสภาพคิด ไม่ใช่เราที่คิด

ผู้ฟัง พระสูตรกับพระอภิธรรม ต้องไม่ขัดกัน

ท่านอาจารย์ ไม่ขัดกันเลย แต่ว่าแสดงโดยนัยของสมมติสัจจะ ปรมัตถสัจจะ ปรมัตถสัจจะนี้ไม่มีหญิงคนหนึ่ง

ผู้ฟัง ถ้าว่าด้วยพระสูตรแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ควรจะนำมาใคร่ครวญ

ท่านอาจารย์ พระสูตรมีประโยชน์มาก แต่ว่าต้องเข้าใจพระอภิธรรม ถ้าไม่เข้าใจพระอภิธรรม ในพระสูตรหญิงคนหนึ่งก็เที่ยง แล้วก็เป็นบัญญัติ ก็ไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นเพราะคิด จึงมีหญิงคนหนึ่งในความคิด

ผู้ฟัง หากเราใส่ใจโดยความเป็นอภิธรรมอย่างเดียว วินัยก็ ...

ท่านอาจารย์ เป็นไปไม่ได้ พระไตรปิฏกทั้ง ๓ มีประโยชน์ แต่ประโยชน์ตรงไหนที่จะรู้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้พระวินัย ไม่ได้ตรัสรู้พระสูตร แต่ตรัสรู้พระอภิธรรม เมื่อตรัสรู้ธรรมที่เป็นพระอภิธรรมแล้วทรงแสดงพระสูตร เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป มีพระเจ้าพิมพิสารหรือไม่ มีพระนางมัลลิกาหรือไม่ มีอนาถบิณฑิกเศรษฐีหรือไม่ เพราะฉะนั้นคนที่จะเข้าใจธรรมจริงๆ ต้องศึกษาปรมัตธรรมหรืออภิธรรม จึงจะรู้ว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้เรื่องราว แต่ตรัสรู้สภาพธรรมที่มีจริงๆ ว่าเป็นอนัตตา สภาพธรรมใดเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยสภาพธรรมนั้นดับ นี่คือการที่ได้ประจักษ์จริงๆ แล้วทรงแสดงหนทางที่จะให้คนได้มีปัญญาของตัวเอง ค่อยๆ อบรมจนกระทั่งประจักษ์ได้จริงๆ ว่าอะไรเป็นสมมติสัจจะ อะไรเป็นปรมัตถสัจจะ อะไรเป็นสิ่งที่มีจริงที่มีลักษณะ ไตรลักษณะเกิดขึ้น และดับไป

ผู้ฟัง ถ้าเป็นอย่างนั้น พระสูตรหลายสูตร ท่านเรียงลำดับของการปฏิบัติไว้ เห็นว่าเรียงลำดับตั้งแต่บุคคลที่ได้ฟังธรรม แล้วเกิดศรัทธา แล้วก็เกิดหิริโอตตัปปะ เป็นผู้ที่ปฏิบัติตามศีล แล้วก็เมื่อปฏิบัติตามศีล และไม่เกิดความร้อนใจ ไปจนถึงสมาธิถึงญาณทัศนะอย่างนี้ อาจารย์มีความคิดเห็นเช่นไร

ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นชีวิตจริง ไม่มีใครกระโดดไปได้จากวันนี้ ซึ่งเป็นผู้ไม่มีศีลจะไปรู้แจ้งอริยสัจจธรรม คนที่มีปัญญา จะมีศีลหรือไม่ แต่คนที่มีศีลเท่านั้นจะมีปัญญาหรือไม่ เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงอยู่แล้วว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนาที่เป็นประโยชน์ของชีวิตสูงสุดนี่คือปัญญา เพราะว่าแค่ศีล ศาสนาใดก็มีได้ ความประพฤติตามโรงเรียนก็บอกอยู่แล้ว ประพฤติดีเป็นยังไง ละชั่ว ไม่ขโมย ไม่พูดปด ก็เป็นเรื่องของศีล แต่ว่าเขาเป็นผู้ที่รู้แจ้งสภาพธรรมตามคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเพียงศีล ถ้าสอนเพียงศีล ไม่ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้สอนเพียงสมาธิ ถ้าเพียงสมาธิก็ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ทรงสอนหนทางที่จะทำให้ผู้ฟังเกิดปัญญาความเข้าใจถูก ซึ่งเป็นจิรกาลภาวนา ความไม่รู้แสนนานในแสนโกฏิกัปป์ และในวันนี้ตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้มากมายมหาศาลแค่ไหน จากไม่รู้ และอกุศล และกว่าจะค่อยเข้าใจสิ่งที่มีจริงต้องอาศัยการฟังอย่างมาก ถ้าศึกษาประวัติของพระสาวกไม่น้อยเลย แสนกัปป์ก็มี แล้วทำไมเราจึงคิดว่าจะต้องทำอย่างนั้นต้องทำอย่างนี้ ชีวิตจริงๆ ถ้ามีปัญญาแล้วก็จะพร้อม ต้องมีศีลด้วย คนที่มีปัญญา สามารถจะเข้าใจสภาพธรรมในขณะที่วิรัติด้วยว่าขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่ฟังพระธรรม รู้ว่าพระธรรมจากการตรัสรู้นั้นคืออะไร และหนทางที่อบรมที่จะให้เกิดปัญญานั้นคืออย่างไร แต่ชีวิตจริงๆ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีกายวาจาเป็นไปในทางสุจริตด้วย เพราะเหตุว่านั่นเป็นกุศลจิต ไม่ส่งเสริมอกุศลประเภทไหนทั้งสิ้น

ผู้ฟัง ศีล ตามที่สอนกันทั่วไป ไม่ได้มุ่งถึงการขัดเกลา ในเรื่องของกิเลส หรือความเชื่อในส่วนที่เป็น กัมมัสสกตาปัญญา แต่สิ่งที่พระองค์ทรงมุ่งหมายในการที่จะเป็นพื้นฐานให้กับการบรรลุธรรม ต้องมีกัมมัสสกตาปัญญา พร้อมอยู่ด้วย

ท่านอาจารย์ ใช้คำว่าปัญญา อย่าลืม ความรู้ระดับไหน รู้อะไร ถ้าไปเรียนหนังสือจบมหาวิทยาลัยปริญญาเอกเป็นปัญญาเจตสิกหรือเปล่า ในเมื่อไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่ากัมมัสสกตาปัญญาด้วย คนที่เชื่อกรรม และผลของกรรม เชื่อเบื้องต้นคือเชื่อในเหตุ และผล แต่ยังไม่รู้ว่ากรรมคืออะไร ยังไม่รู้ผลของกรรมคืออะไร เพียงแต่กล่าวว่ากรรมมี และผลของกรรมมี ก็เชื่อตามเหตุตามผล แต่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ละเอียดมาก จนกระทั่งรู้ว่ากรรมได้แก่ เจตนาเจตสิก ความจงใจตั้งใจที่จะประทุษร้ายเบียดเบียนคนอื่น มีการกระทำที่สำเร็จไปแล้ว แม้ว่าจะผ่านพ้นไปนานแสนนาน แม้แต่พระองค์เองในพระชาติสุดท้ายก็ยังได้รับผลของกรรม เมื่อกรรมเป็นเจตนาซึ่งเป็นกรรมปัจจัย สืบต่ออยู่ในจิตทุกๆ ขณะ พร้อมที่ว่าเมื่อถึงกาลที่จะให้ผลคือวิบากจิต เป็นจิตที่เป็นผล เจตนาเจตสิกที่เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลดับไป ก็เป็นปัจจัยให้เจตนาเจตสิก และเจตสิกอื่น และจิตซึ่งเป็นวิบากเกิดขึ้น เป็นผลของกรรมเมื่อไหร่ ขณะแรกที่เกิดในโลกนี้ ห้ามไม่ได้เลย บอกไม่ได้เลย จงใจไม่ได้เลยว่าจะเกิดที่ไหน กับครอบครัวใด ขณะที่เป็นภวังค์ที่ทุกคนหลับสนิท ก็ห้ามไม่ได้ว่าไม่ให้หลับ แล้วถึงเวลาก็บอกไม่ได้ว่าอย่าตื่น เมื่อมีปัจจัยก็ต้องตื่น คือกรรมให้ผลทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นี่คือเหตุผลที่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น คนที่ไม่ได้ศึกษาธรรม ก็จะเพียงเชื่อกรรม และผลของกรรม ผู้ใหญ่บอกว่าทำบาปแล้วจะได้ผลร้าย บุญทำแล้วจะได้ผลดี ก็ไม่รู้ว่าผลดีเมื่อไหร่ ผลร้ายเมื่อไหร่ เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นสภาพธรรม ก็ไม่รู้คิดว่าเป็นเรา แต่เมื่อศึกษาตามลำดับขั้นของความเข้าใจ ก็เข้าใจเพียงลำดับขั้นนั้น คือเจตนาเป็นกรรม และผลของกรรมก็คือจิตที่เป็นวิบาก ทางตาหูจมูกลิ้นกาย กำลังเห็น เป็นธาตุรู้หรือสภาพรู้ นั้นเข้าใจถึงความเป็นอนัตตา ไม่มีใครบังคับบัญชา ไม่มีใครสร้างธาตุชนิดนี้ได้ แต่เป็นนามธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีปัจจัยก็เกิด ทำกิจนี้แล้วก็ดับไป และหลังจากนี้แล้วก็จะมีความชอบไม่ชอบในสิ่งที่เห็น ลักษณะของความชอบไม่ชอบ ไม่ใช่เห็น การเห็นยับยั้งไม่ได้ แล้วแต่กรรม ผู้นั้นก็จะมีความเข้าใจว่ากัมมัสสกตาปัญญา ก็คือขณะที่สติระลึก และลักษณะของสภาพที่เป็นวิบากที่เป็นผลของกรรม ก็ทำให้รู้ว่าขณะนั้น เป็นสภาพธรรมที่บังคับบัญชาไม่ได้ แต่เห็นแล้ว แล้วแต่การสะสมอีก อุปนิสสยปัจจัยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเห็นแล้ว ชอบสิ่งนี้ ไม่ชอบสิ่งนั้น บางคนก็ชอบสีขาว ไม่ชอบสีแดง บางคนก็ชอบสีฟ้า ไม่ชอบสีชมพู ก็แล้วแต่การสะสม แม้รสจะจืด จะหวาน จะมัน จะเค็ม ก็เป็นอุปนิสสยะ ซึ่งเมื่อสะสมบ่อยๆ จนกระทั่งมีกำลังก็คือว่าเป็นปัจจัยให้โลภะประเภทนั้นเกิด หรือว่าโทสะประเภทนั้นเกิด ด้วยสติสัมปชัญญะที่ระลึกสภาพธรรม คนนั้นจะมีความเข้าใจใน กัมมัสสกตาญาณ ตั้งแต่ต้นไปจนกระทั่งถึงญาณขั้นสูงๆ ก็จะไม่พ้นเลยที่จะเข้าใจเรื่องกัมมัสสกตาญาณ ไม่ใช่เพียงชื่อ ไม่ใช่เพียงเรื่อง ไม่ใช่เพียงคำ แต่ว่ามีสภาพธรรมจริงๆ ที่ปรากฏให้รู้ว่าเป็นปัญญาที่รู้กรรม เพราะว่าเป็นตัวธรรมจริงๆ ที่เป็นผลของกรรมที่ระลึก

ผู้ฟัง ฟังแล้ว ศีลก็ดี สมาธิก็ดี เป็นพื้นฐานที่จะทำให้เจริญปัญญา

ท่านอาจารย์ เป็นกุศล ควรเจริญทุกอย่าง แต่ว่าผู้ที่มีศีลแต่ไม่มีปัญญา ไม่สามารถที่จะมีปัญญาเพียงมีศีล หรือผู้ที่มีความสงบของจิตแต่ไม่รู้หนทาง ไม่เข้าใจปรมัตถธรรม เพียงสมาธิก็ไม่สามารถที่จะรู้สภาพธรรมได้

ผู้ฟัง อย่างไรก็ตาม พิจารณาดูแล้ว ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ก็มีปัญญาอยู่ในระดับหนึ่ง

ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ขณะที่วิรัติทุจริต คือ กุศล กุศลมี ๒ ชนิด กุศลที่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย กับ กุศลที่ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นการที่ผู้มีศีลก็ดี ผู้มีสมาธิก็ดี เป็นผู้ที่มีกุศลศีล มีกุศลศีลเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นพื้นฐานที่จะทำให้เกิดปัญญา

ท่านอาจารย์ เมื่อไหร่กุศลศีลจะเป็นพื้นฐานให้มีปัญญา นี่ต้องแยก ทุกชาติ ทุกภาษา ทุกอัธยาศัย คนเราเกิดมา อัธยาศัยต่างกันตามการสะสม บางคนมีทานุปนิสสัย เขาเคยให้ทานบ่อยๆ เพราะฉะนั้นเขาให้ทานง่ายสะดวก พอเห็นคนที่ยากไร้ พร้อมที่จะให้ได้ทันที เร็วด้วยไม่รีรอ บางคนก็เรื่องของศีล วิรัติทุจริตทางกาย และทางวาจาด้วย จะไม่พูดสิ่งที่ไม่จริง จะพูดสิ่งที่เป็นประโยชน์ จะไม่พูดเรื่องที่ไร้สาระ เพราะอัธยาศัยสะสมมา เพราะฉะนั้นเมื่อสะสมมาแล้วก็ทำให้มีอุปนิสสยะต่างๆ ตามอุปนิสสยปัจจัย แต่ถ้าเขาไม่สะสมปัญญามาเลย มีศีลถึงขั้นไหน มีความสงบถึงขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ ซึ่งเป็นอรูปฌานขั้นสูงสุด แต่ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม คนนั้นก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งสัจจธรรมได้ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ว่า ทาน ศีล เป็นเรื่องของการสะสม และถ้าผู้นั้น มีจิตที่สงบ เช่น มีเมตตา หรือมีกรุณา แม้ว่าจะเกิดกับจิตยังไม่ล่วงออกไปที่จะเป็นการกระทำทางหนึ่งทางใด แต่ขณะนั้นก็เป็นความสงบของจิต แต่ไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจสภาพธรรม มิเช่นนั้นทุกคนก็ไม่ต้องอาศัยพระธรรมที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรม


หมายเลข  6233
ปรับปรุง  29 ก.ย. 2566


วีดีโอแนะนำ