ปกิณณกธรรม ตอนที่ 58


ตอนที่ ๕๘

สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔


ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้ว่า ทาน ศีล เป็นเรื่องของการสะสม และถ้าผู้นั้นมีจิตที่สงบมีเมตตาหรือมีกรุณา แม้ว่าจะเกิดกับจิตยังไม่ล่วงออกไปที่จะเป็นการกระทำทางหนึ่งทางใด แต่ขณะนั้นก็เป็นความสงบของจิต แต่ไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจสภาพธรรม มิฉะนั้นทุกคนก็ไม่ต้องอาศัยพระธรรมที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมเพียงมีทานมากๆ มีศีลมากๆ มีความสงบมากๆ ก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมแต่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการฟังธรรม เริ่มจากการฟังธรรม แล้วจึงจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องได้ว่า ปัญญานั้นรู้อะไร ปัญญาระดับสมถะ ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน แต่ปัญญาระดับสมถะประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่สามารถจะรู้ลักษณะของจิตที่เป็นอกุศล จะเป็นอกุศลประเภทกามฉันทะ พยาปาทะ หรือว่านิวรณ์อื่นๆ สติสัมปชัญญะสามารถรู้ แต่เป็นเรา แต่เขาสามารถที่จะรู้ว่า ขณะใด กุศลสามารถจะเกิดได้ เมื่อระลึกถึงสิ่งที่ทำให้กุศลจิตเกิดบ่อยๆ มั่นคงขึ้น เมื่อกุศลจิตมั่นคงขึ้นความสงบก็มากขึ้น เพราะฉะนั้นสมาธิไม่ใช่ความสงบ สมาธิเป็นเอกัคคตาเจตสิก ไม่ใช่ปัสสัทธิเจตสิก เพราะฉะนั้นในโพธิปักขิยธรรม พอถึงโพชฌงค์ จะมีทั้งที่เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ และปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ซึ่งทั้ง ๒ อย่างไม่ใช่อย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้น ก็จะต้องมีความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้น ต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ

ผู้ฟัง ถ้าหากว่าเราเจริญวิปัสสนา จำเป็นไหมที่จะต้องมีกัมมัสสกตาญาณเป็นพื้นฐานอยู่ก่อน

ท่านอาจารย์ การอบรมเจริญปัญญาต้องมีความรู้ความเข้าใจธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม แล้วก็รู้ว่าถ้าสติไม่เกิดไม่ระลึกไม่มีการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ เพราะฉะนั้น ขั้นต้นก็ต้องเข้าใจขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่มีสติว่าต่างกัน ไม่ใช่ไปรู้อย่างอื่น อย่างอื่นก็คือต้องรู้ว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมแต่ละอย่าง คือเป็นนามธรรม และรูปธรรมแต่ละชนิด

ผู้ฟัง จำเป็นไหมที่จะต้องมีกัมมัสสกตาญาณเป็นพื้นฐานอยู่ก่อน เพราะว่าถ้าหากว่าไม่มีกัมมัสสกตาญาณ หลายๆ คนก็จะคิดว่า เราไม่รู้จะเจริญไปทำไมในเมื่ออาจจะเข้าใจว่า เมื่อตัวเองตายแล้วชาติที่สองที่สามไม่มี ถ้าหากยังไม่บรรลุหรือยังไม่หมดกิเลส

ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ คือว่าส่วนใหญ่ จะมีความเป็นตัวตน กรรมก็คือเราที่ได้รับผลของกรรม ถ้ารู้อย่างนี้ สติปัฏฐานก็ไม่เกิด เพราะว่าเป็นเราที่มีกรรม และเป็นเราที่ได้รับผลของกรรม แต่สติปัฏฐานจะเกิดต่อเมื่อมีความเข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม ซึ่งเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม และไม่เคยรู้มาก่อน จึงเป็นเรา กรรมก็ไม่รู้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ผลของกรรมก็ไม่รู้ว่าเป็นนามธรรม และรูปธรรม

ผู้ฟัง สาวกของพระองค์หลายๆ องค์ หลายรูปหรือแม้แต่พระองค์เอง ก่อนที่จะตรัสรู้ พระองค์ก็เป็นผู้ที่มีกัมมัสสกตาญาณอย่างบริบูรณ์ หมายความว่าพระองค์สามารถระลึกชาติได้ แล้วก็ทบทวนชีวิตของพระองค์โดยตลอด

ท่านอาจารย์ แต่ขณะนั้น ในยามที่ ๒ ก็ไม่รู้สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมที่เป็นวิปัสสนาญาณ

ผู้ฟัง แต่ก็เป็นพื้นฐานก่อนไหม

ท่านอาจารย์ สำหรับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีบุคคลใดเลิศกว่าพระองค์ เพราะฉะนั้นสมบูรณ์พร้อมทั้งวิชชา และจรณะ ฌานทั้งหมด อิทธิปาฏิหาริย์ทั้งหมด ไม่มีใครจะเทียบเท่าได้เพราะพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญสี่อสงไขยแสนกัปป์ ไม่นับตอนที่ตั้งพระทัยไว้หรือเปล่งวาจา แต่เมื่อได้รับพุทธพยากรณ์จากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งคือพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าทีปังกรณ์ พยากรณ์สุเมธดาบสว่าจะเป็นพระสมณโคดม พระองค์นี้ หลังจากนั้นสี่อสงไขยแสนกัปป์ ทรงบำเพ็ญพระบารมี เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้ว่าการบำเพ็ญพระบารมีของพระองค์ทำให้พระองค์สูงสุด เหนือเทพ เหนือพรหมทั้งหมด แม้แต่การตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระชาตินั้น ก็ไม่ได้ฟังจากใคร แต่การที่ทรงบำเพ็ญบารมีพร้อมเมื่อไรก็ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อนั้น

ผู้ฟัง อย่างคนที่ยังไม่มีความรู้เรื่องกัมมัสสกตาปัญญาเพียงพอ คนที่มีกัมมัสสกตาปัญญาก็แสดงว่ายังไม่เชื่อในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่ เราได้พูดถึง ความเข้าใจเรื่องกรรมว่ามีหลายระดับ ความเข้าใจว่ากรรมมีผลของกรรมมี พูดแค่นี้ คนที่มีเหตุผลก็รู้ว่าเหตุมีผลก็ต้องมี เขาก็มีความเข้าใจหรือความเชื่อระดับหนึ่งซึ่งเป็นตัวเขา แต่เขาไม่รู้ว่าแท้จริงตัวเขาไม่มี ถ้าไม่รู้อย่างนี้สติเขาจะระลึกอะไรเพราะคิดว่ามีตัวเขาอยู่ แต่คนที่เชื่ออย่างนี้เพียงเชื่อ และก็ยังไม่รู้จริงๆ ว่า เห็นเดี๋ยวนี้ เป็นผลของกรรม เพราะว่าสติไม่ระลึกเลย เพราะฉะนั้นถ้าเขามีความเข้าใจในปรมัตถธรรม และสติระลึก เขาสามารถจะรู้กรรมว่า ทุกอย่างที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายนั้น ไม่มีใครสามารถดลบันดาลได้เลย นอกจากเป็นเรื่องของเหตุปัจจัยคือกรรม ทำให้วิบากเหล่านี้เกิดขึ้น เขาจะมีความรู้สภาพธรรมที่เป็นกรรม และวิบาก ไม่ใช่เพียงเรื่องราว และจำไว้ว่ากรรมมี และเขามีกรรม และมีผลของกรรม

ผู้ฟัง ขอย้อนกลับไปตรงที่เมื่อสักครู่ คุยถึงเรื่อง ศีล สมาธิ รู้สึกว่ายังมีหลายท่านที่คิดว่า อย่างที่ผู้ถามได้อธิบายว่าเป็นส่วนที่จะทำให้เกิดปัญญา ส่วนนี้ที่อาจารย์อธิบายคือตามความเป็นจริงแล้ว ตรงนี้คืออย่างไร ยังไม่ค่อยเข้าใจ คือศีล และสมาธิ ไม่ใช่เป็นส่วนที่จะทำให้เกิดปัญญาได้ แต่เคยอ่านในหนังสือหลายเล่มใช้คำว่า เป็นบาทบ้าง เป็นพื้นบ้าง ซึ่งในขณะนั้น เราก็จะเชื่อว่าจริง เพราะถ้าเราไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ เราคงไม่มีปัญญา แต่เมื่อได้เจริญสติจริงๆ แล้วจะรู้ว่า มันต่างกัน คือในขณะที่เรากำลังทำบุญหรือใส่บาตร ในขณะนั้น “ตัวตน”ทำบุญเต็มที่ ยิ่งใส่บาตรหรือว่าทำทานสติจะไม่เกิดได้เลยเพราะว่าในขณะนั้น เรามีความรู้สึกว่าเป็นเรา ตรงที่ว่าศีล และสมาธิไม่อาจที่จะทำให้เจริญสติทำให้เกิดปัญญา คือตรงนี้เป็นส่วนที่รู้สึกว่าจะเข้าใจไม่ได้

ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาว่าการที่จะไปเกิดเป็นพรหมบุคคลในพรหมโลก ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาถึงระดับขั้นอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิตแล้ว แต่ว่าจะเป็นรูปฌานหรืออรูปฌานคนเหล่านั้นเห็นผิดได้ไหม มีไหม หรือเขาเห็นถูกกันหมด เขารู้เรื่องสติปัฏฐานกันหมด หรือว่าเขาไม่รู้แต่ว่าเขาสามารถที่จะอบรมความสงบถึงระดับที่จะให้ผลทำให้เกิดในพรหมโลกได้ นี่คือความต่างกันของสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา ถ้าได้ยินข้อความหนึ่งข้อความใด หรือผ่านข้อความหนึ่งข้อความใดในพระไตรปิฎก ก็ควรจะสอบทาน และพิจารณาว่าที่กล่าวว่าสมาธิเป็นบาทก็ตาม เป็นสัมมาสมาธิ หรือว่าเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิขั้นระดับสมถภาวนาหรือสัมมาสมาธิที่เกิดพร้อมกับสติปัฏฐาน เพราะแม้ในขณะนี้เองก็มีสติ แล้วก็มีสมาธิ ขณะนี้เป็นสังขารขันธ์ที่จะค่อยๆ ปรุง บอกแล้วว่าไม่มีเรา แต่สมาธิขณะนี้พร้อมสติที่ได้ฟัง แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้นนี้ ก็จะเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สัมมาสติเกิด เมื่อถึงกาลที่สัมมาสติเกิด เพราะต้องไม่ลืมว่า แม้สัมมาสติก็เป็นอนัตตา ต้องไม่ทิ้งคำว่า ทุกอย่างธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา ไม่มีเราที่เป็นตัวตนที่จงใจที่จะสร้างที่จะทำ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่มีทางที่จะเข้าใจถูกต้องว่าเป็นธรรม ก็ยังคงเป็นเราตลอดไป แต่ถ้ามีความเข้าใจมั่นคงตั้งแต่ต้น ก็จะรู้ได้ว่า ขณะนี้เองเข้าใจความหมายของสังขารขันธ์ เพราะว่าเราจะไปหาสังขารขันธ์ที่ไหน ถ้าไม่ใช่ขณะนี้ สติขณะนี้ ปัญญาขั้นฟังขณะนี้ ก็เป็นสังขารที่ปรุงแต่งจนกว่าจะถึงเวลาที่สัมมาสติเกิด เวลาที่สัมมาสติเกิด คนที่ไม่รู้ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร สำหรับคนที่เพียงฟังแล้วก็คิดว่าสัมมาสติเกิดได้ ถ้าย้อนกลับไปถึงคำว่า “สังขารขันธ์” แต่ละขณะที่เป็นการฟัง และการเข้าใจธรรม จะเป็นปัจจัยให้สัมมาสติซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ เกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็จะต้องรู้ว่า หมายความถึงอะไรที่เป็นบาท ถ้าสมาธิขณะนี้ก็จะเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่ง และเวลาที่สติปัฏฐานเกิด สติไม่ใช่สมาธิ เพราะฉะนั้นเวลาที่สติเกิดมีสมาธิคือเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดกับอกุศลจิตกับเอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดกุศลจิตต่างกันหรือเหมือนกัน

ผู้ฟัง ต่างกัน

ท่านอาจารย์ ต่างกัน เอกัคคตาเจตสิกกับสติซึ่งเกิดขั้นทานต่างกับเอกัคคตาเจตสิกกับสติซึ่งเกิดขั้นศีลหรือเปล่า

ผู้ฟัง ต่างกัน

ท่านอาจารย์ เอกัคคตาเจตสิกกับสติซึ่งเกิดในขณะที่จิตสงบหรือสมถภาวนา ต่างกับขณะที่กำลังเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้หรือเปล่า ก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นเวลาที่สัมมาสติเกิดพร้อมกับเอกัคคตาเจตสิก ลองคิดดู คำว่าสัมมาสมาธิ ได้แก่เอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดกับกุศลจิต ยังมีระดับที่ต่างกัน เวลาที่เป็นทานเป็นศีล แม้ว่าเป็นกุศลเป็นสัมมาสมาธิ แต่ว่าขณะนั้นไม่ได้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม หรือแม้แต่ในขณะที่กำลังฟัง สติกับเอกัคคตาเจตสิกก็ไม่ใช่ระดับสติปัฏฐาน เพราะเหตุกำลังฟังเรื่องราวของสภาพธรรม ไม่ใช่ขณะที่กำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ให้ทราบว่าขณะนี้เป็นธรรมจริงๆ กำลังปรากฏจริงๆ สติระลึกได้จริงๆ พร้อมปัญญาจริงๆ และก็พร้อมสมาธิจริงๆ ซึ่งขณะนั้นก็ต่างระดับอีก เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจความหมายที่ถูกต้อง เมื่อปัญญาอบรมเจริญขึ้นลักษณะของปัทสัทธิ ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกก็จะต้องเป็นบาทที่จะให้ปัญญา สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่สมาธิอื่น ไม่ใช่สมถภาวนา เพราะว่าคนที่อบรมเจริญสมถภาวนาเกิดในพรหมโลกมากมาย แต่ยังมีมิจฉาทิฎฐิ มีสักกายทิฎฐิ มีทิฎฐานุสัยอยู่ เพราะเหตุว่าไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะเข้าใจ ไม่ได้ฟังพระธรรม พรหมในพรหมโลก ก็มีทั้งพรหมที่เป็นพระอริยะ และพรหมที่เป็นปุถุชน พรหมที่เป็นพระอริยะท่านก็สามารถที่จะเข้าใจธรรมได้ถูกต้อง แต่พรหมที่ไม่เป็นพระอริยะก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจธรรมได้

ผู้ฟัง พูดถึงสมาธิหลายท่านรวมทั้งตัวเองด้วยก็รู้สึกว่าเข้าใจในสมาธิแล้ว ตอนแรกคิดว่าเข้าใจถูก แต่ที่จริงแล้วในขณะที่เรานั่งสมาธิ ตรงนั้นที่จริงแล้วเป็นการติดเป็นโลภะอย่างหนึ่ง ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ ถ้าขณะใดไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นต้องเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะว่าภาวนาไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนาต้องประกอบด้วยปัญญา ต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ จึงเจริญได้

ผู้ฟัง แต่ในขณะที่เราไม่ทราบในด้านการเจริญสติ

ท่านอาจารย์ ขณะนั้นต้องเป็นมิจฉาสมาธิ

ผู้ฟัง โดยที่ตัวเองก็ไม่ทราบ แต่เมื่อกลับไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่งก็จะเห็นได้ว่าในขณะนั้นไม่ถูกต้อง เพราะมีความต้องการนั่งไปก็ต้องการอย่างนั้นอย่างนี้

ท่านอาจารย์ โลภะนี้เห็นยาก อริยสัจจ์ที่ ๒ เห็นยากเพราะลึกซึ้งแม้กำลังมี เพียงแค่เอื้อมมือไปก็ไม่รู้แล้วว่าโลภะ เป็นสมุทัย

ผู้ฟัง โลภะจะเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาได้ไหม

ท่านอาจารย์ ไม่อย่างนั้นก็มีโลภะมากๆ

ผู้ฟัง อย่างพระอริยบุคคล บางรูปทำความเพียรอย่างเด็ดเดี่ยว แสดงถึงว่าตัวท่านอยากจะพ้นทุกข์ เป็นลักษณะที่ตรงกับที่กำลังกล่าวหรือเปล่า

ท่านอาจารย์ โลภะเป็นสภาพที่ติดข้อง ฉันทะเป็นสภาพที่พอใจจะทำ โลภะเกิดกับกุศลจิตไม่ได้เลย แต่ฉันทะเกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับอกุศลจิตก็ได้

ผู้ฟัง ที่พระอริยเจ้าท่านทำความเพียรเป็นฉันทะ หรือเป็นโลภะ

ท่านอาจารย์ ต้องเป็นกุศล ท่านไม่ใช่เพียรอกุศล

ผู้ฟัง การที่เจริญสมาธิแล้ว จิตใจรู้สึกยังไงไม่ทราบ ยินดีเพลิดเพลิน รู้สึกติดข้องการกระทำอย่างนี้เป็นลักษณะของฉันทะหรือของโลภะ

ท่านอาจารย์ ขณะนั้นมีปัญญาหรือเปล่า

ผู้ฟัง ก็ในเมื่อการกระทำนั้นเป็นไปเพื่อไปเพื่ออริยมรรค

ท่านอาจารย์ ไม่เข้าใจว่าเป็นไปเพื่ออริยมรรค แต่เพื่อความพอใจที่จะเป็นอย่างนั้น ที่จะทำสมาธิ คนที่ทำสมาธิตั้งหลายคนเขาก็บอกเขาต้องการทำสมาธิ ไม่อยากให้จิตใจฟุ้งซ่าน อยากจะให้จิตจดจ่ออยู่ที่หนึ่งที่ใด และเข้าใจว่าขณะนั้นสงบ แต่ความจริงขณะใดที่เป็นโลภะ เป็นความติดข้อง แม้ต้องการที่จะจดจ้อง ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของมิจฉาสมาธิ เพราะไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย

ผู้ฟัง มีผู้ชายคนที่ได้นั่งสมาธิจนกระทั่งเข้าไปเห็นตับไตไส้พุงปอด ในขณะนั้นจะพิจารณาอะไรเป็นอสุภะ หรือให้เกิดความเบื่อหน่าย

ท่านอาจารย์ ถ้าถามคนอื่น เป็นปัญญาของใคร พระพุทธเจ้าทรงพระมหากรุณาแสดงธรรมเพื่อให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตัวเอง ประโยชน์สูงสุด ถ้ายังคงเป็นปัญญาของพระองค์ก็ไม่เกื้อกูลพุทธบริษัทเลย ถามแล้วก็ตอบไป คนนั้นก็ไม่เข้าใจ เพราะไม่ใช่การไตร่ตรองการพิจารณาของคนนั้นเอง ถ้ายังถามอยู่ แปลว่าไม่เข้าใจ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็เป็นอกุศลไม่ใช่กุศล แล้วจะไปทำอะไรที่ไม่เข้าใจ ทำแล้วก็ไม่เข้าใจ ทำแล้วก็ไม่เข้าใจแล้วยังทำแล้วก็ไม่เข้าใจ ก็ไม่มีประโยชน์

ผู้ฟัง พูดถึงสมาธิ ก็เป็นสิ่งที่ส่วนมากแล้วจะคิดว่าการที่ไปนั่งสมาธิแล้วสงบ แล้วยิ่งถ้าบางคนได้เกิดภาพ และเห็น

ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องคิดเองทั้งหมด คือไม่ฟังธรรม อยากจะทำอะไรทุกอย่าง นอกจากฟัง และศึกษาธรรมไม่ศึกษา ไม่เรียน แล้วเป็นปัญญาหรือเปล่า ถ้าไม่ฟังไม่ศึกษาไม่เรียน ก็ไม่มีทางที่ปัญญาจะเกิด แล้วทำไมถึงชอบอย่างอื่น แต่ไม่ชอบฟังธรรม ไม่ชอบศึกษาธรรม เพราะโลภะต้องการอะไร ก็พาไปอย่างนั้น โลภะเป็นทั้งศิษย์ เป็นทั้งอาจารย์ โดยไม่รู้ตัวเลย แต่ว่าเวลาที่จะให้ฟังธรรมเพื่อเกิดปัญญาไตร่ตรองของตัวเอง ประเสริฐสูงสุด เพราะว่าทรัพย์สมบัติอะไรก็เอาไปไม่ได้ ผู้เป็นที่รักทั้งหลายก็ตามไปไม่ได้ เกิดมาคนเดียว ทุกคนบอกอย่างนี้ ใช่ไหม มามือเปล่า แล้วก็เกิดมาคนเดียว กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เห็นกี่คน ก็เห็นคนเดียว กำลังได้ยินได้ยินกี่คนที่กำลังได้ยิน ก็ได้ยินคนเดียว เพราะฉะนั้นจริงๆ เราอยู่ในโลกคนเดียวด้วยความคิด ต้องไม่ลืมเลยว่า อยู่ในโลกด้วยความคิด เพราะฉะนั้นก็คิดเอาๆ โดยไม่ศึกษา พอได้ยินคำว่าสมาธิก็คิดว่านี่คือสมาธิ ก็ทำอย่างนี้ก็คือสมาธิ แต่ไม่รู้ว่าสมาธิมี ๒ อย่างคือมิจฉาสมาธิก็มี สัมมาสมาธิก็มี ถ้ารู้ ๒ อย่าง เริ่มจะสนใจมิจฉาสมาธิเป็นยังไง สัมมาสมาธิเป็นยังไง เพื่อที่จะได้ไม่ทำมิจฉาสมาธิ แต่ถ้าได้ยินว่า ๒ อย่างก็ยังจะทำต่อไป โดยไม่เรียน ไม่เข้าใจ ไม่ศึกษาให้เข้าใจก็จะไม่พ้นจากมิจฉาสมาธิ เพราะว่าถ้าไม่เข้าใจ ก็คือไม่รู้ ไม่ใช่ปัญญา ก็ต้องเป็นมิจฉา

ผู้ฟัง สมาธิ แค่ไหนจึงจะเรียกว่าสัมมาสมาธิ แค่ไหนจึงจะเรียกว่ามิจฉาสมาธิ

ท่านอาจารย์ ขณะใด เอกัคคตาเจตสิกเป็นสภาพที่มีอารมณ์เดียว ตั้งมั่นในอารมณ์เดียว

ผู้ฟัง เป็นสัมมาสมาธิ หรือมิจฉาสมาธิ

ท่านอาจารย์ ต้องทราบก่อนว่าสมาธิคือปรมัตถธรรมอะไร ปรมัตถธรรมที่เป็นสมาธิได้แก่ เจตสิก ๑ คือเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพของเจตสิกที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งเท่านั้น ขณะเห็นก็มีเอกัคคตาเจตสิกที่อารมณ์ที่ปรากฏ ขณะที่ได้ยินก็มีเอกัคคตาเจตสิกตั้งมั่นที่อารมณ์ที่เป็นเสียงที่กำลังปรากฏ เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ ไม่เว้นเลย เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก คำแปลก็จากข้างหลังมาข้างหน้า สาธารณะ-ทั่วไป สัพพจิตตะ-เกิดกับจิตทุกขณะ ทุกดวง เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วงเรื่องสมาธิ มีอยู่ แต่ว่าเวลาที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกหรือสมาธิจะไม่ปรากฏ เพราะว่าจิตที่เกิดก็สั้น สิ่งที่ปรากฏก็สั้น วาระหนึ่งๆ ก็สั้น เพราะฉะนั้น ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกจะไม่ปรากฏเป็นความตั้งมั่นถึงระดับขั้นที่เราเรียกว่า สมาธิ แต่ถ้ามีจิตจดจ่ออยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดนานๆ ลักษณะของสมาธิก็ปรากฏ เช่น กำลังตั้งใจจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เดินให้ดี ไม่ให้ล้ม ข้ามสะพานไม่ให้ตก ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของเอกัคคตาเจตสิก ขณะนั้นไม่ใช่กุศล ขณะใดที่เอกัคคตาเจตสิกไม่ได้เกิดกับกุศลจิต ขณะนั้นจะเป็นสัมมาไม่ได้ ก็ต้องเป็นอกุศลสมาธิ หรือมิจฉาสมาธิ แต่ขณะใดก็ตามที่เกิดกับกุศล ขณะนั้นก็เป็นกุศลสมาธิ หรือสัมมาสมาธิ เพราะฉะนั้น จึงมีลักษณะของสมาธิที่เกิดกับกุศลจิตแต่สั้น เช่นเดียวกับเวลาเกิดอกุศลจิตก็สั้น เวลาเห็นก็สั้น เวลาได้ยินก็สั้น ต่อเมื่อใดที่กุศลจิตเกิดบ่อยๆ เพราะรู้ว่าวันหนึ่งๆ ทานก็เกิดน้อย การวิรัติทุจริตก็เกิดน้อย จิตใจส่วนใหญ่จะตกไปเป็นอกุศล เวลาที่คิดนึกเรื่องอะไร อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งนี้ ทราบไหม กุศลจิตหรืออกุศลจิต เวลาใครพูดถึงเรื่องความไม่ดีของคนอื่น จิตที่กำลังคิดนึกตามนี้เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต เป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อประสบกับสิ่งใด จะคล้อยไปเป็นอกุศล เป็นส่วนใหญ่ ยากนักยากหนาที่ว่า เมื่อเห็นแล้วเป็นกุศล ได้ยินแล้วเป็นกุศล ได้กลิ่นแล้วเป็นกุศล แล้วแต่ว่าสะสมกุศลระดับใด ถ้าเป็นผู้ที่มากด้วยเมตตา เมื่อคิดว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลแล้ว ก็ยังมีจิตใจที่เป็นมิตร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โดยอุปนิสัย แต่ขณะนั้นก็ยังสั้นมาก เพราะฉะนั้นเดี๋ยวก็มีเสียงปรากฏ เดี๋ยวก็มีสีปรากฏ ลักษณะของสมาธิก็ไม่มั่นคง แม้ว่าเป็นกุศล ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีปัญญาในครั้งโน้นไม่ใช่ในครั้งนี้ ครั้งนี้เพียงได้ยินสมาธิก็อยากทำ แต่ผู้ที่มีปัญญาในครั้งนั้น เห็นโทษของอกุศลโดยเฉพาะโลภะว่าเราจะคล้อยไปตามสิ่งที่ปรากฏด้วยความติดข้อง โดยที่เราไม่รู้สึกตัวเลยว่า เราติดข้องในการเห็น ในสิ่งที่ปรากฏ ในการได้ยิน ในเสียงที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้นพยายามไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะรู้ว่า เมื่อเห็นแล้ว จิตจะเป็นอกุศล และท่านก็มีปัญญารู้ว่า สำคัญที่ “วิตก” การตรึก ว่า นึกถึงอะไรแล้วจิตจะเป็นกุศล ถ้านึกถึงเรื่องราวที่เป็นอกุศล อกุศลจิตก็เกิด ใช่ไหม แต่ถ้านึกถึงทาน นึกถึงศีล หรือว่านึกถึงสิ่งที่ทำให้จิตสงบจากอกุศลบ่อยๆ ลักษณะของกุศลจิตก็จะเกิดบ่อย ความสงบก็จะปรากฏ ลักษณะของสมาธิก็จะตั้งมั่นในอารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น ขณะนั้นก็เป็นสัมมาสมาธิ จนกระทั่งถึงระดับที่เป็นอุปจารสมาธิ ถึงอัปปนาสมาธิ จึงเป็นฌานจิต


หมายเลข  6244
ปรับปรุง  1 ต.ค. 2566


วีดีโอแนะนำ