ปกิณณกธรรม ตอนที่ 64


ตอนที่ ๖๔

สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔


ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ อย่างนามธรรม ก็จิตเจตสิกที่เรารู้สึกว่าละเอียดมาก แต่รูปธรรมอย่างเช่นสภาพรู้ทางตากับสี แล้วก็กลิ่น รส สิ่งที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๕ รู้สึกเหมือนจะเห็นความแตกต่างกันมากกว่าทางนามธรรม

ท่านอาจารย์ แต่อย่าลืมว่าทั้งนามธรรม ทั้งรูปธรรม เกิดดับเร็วมาก เวลานี้รู้ลักษณะของรูปารมณ์ หรือว่าคิดถึงรูปารมณ์ ทั้งๆ ที่รูปารมณ์กำลังปรากฏ เห็นไหม ที่เราบอกว่าง่ายเพราะเป็นรูป แต่ความจริงรูปก็ไม่ใช่ง่าย และในบรรดารูปทั้งหมดที่แสดงเรื่องของรูปารมณ์ก่อน เพราะเหตุว่าเป็นรูปเดียวที่ปรากฏให้เห็น ใน ๒๘ รูป แข็งไม่ปรากฏให้เห็น เสียงไม่ปรากฏให้เห็น กลิ่นไม่ปรากฏให้เห็น มีรูปเดียวเท่านั้นที่ปรากฏให้เห็น แล้วง่ายไหมทั้งๆ ที่ปรากฏให้เห็น ที่จะรู้ว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งปรากฏทางตาเท่านั้น ถ้าเป็นเท่านั้นจริงๆ โดยการประจักษ์แจ้ง จะคลายความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่ประจักษ์แจ้งจริงๆ คลายไม่ได้ และประจักษ์แจ้งจริงๆ ที่จะคลายวิปัสสนาญาณไหน ต้องเป็นไปตามลำดับที่ละเอียดจริงๆ ผู้นั้นจะมีความตรง ใช่ไหม ว่าการคลายจะเริ่มเมื่อไร มีความรู้ระดับไหนถึงจะคลายได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เป็นการที่ใครก็ตาม พยายามที่จะมองให้เป็นสี ไม่ให้รู้ว่าเป็นอะไรเลย อย่างที่พยายามกันนักกันหนา บางคนที่ไม่เข้าใจ เมื่อไหร่จะไม่เห็นเป็นหน้าต่าง เมื่อไหร่จะไม่เห็นเป็นคนนั้นคนนี้ คนนั้นจะไม่มีทางที่จะรู้ ถ้าทำ หรือพยายามจะทำ เพราะเป็นเรื่องของปัญญา มีใครทำปัญญาได้ ไม่มีใครทำปัญญาได้เลย ปัญญาต้องเป็นสิ่งที่อบรมจนกว่าจะค่อยๆ เกิดขึ้น และเกิดขึ้นตามลำดับด้วย ไม่ใช่ว่าจะข้ามขั้น ปัญญาขั้นฟัง ขั้นพิจารณาโดยถูกต้อง เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องก็จะทำให้สามารถตรงแนว หรือตรงหลักความจริงของสภาพธรรม ไม่คลาดเคลื่อน ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้มีการระลึกได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นปกติที่เห็น ก็คือเห็นอย่างนี้ไม่ต้องทำ ทำไม่ได้ที่จะไม่เป็นหน้าต่าง ไม่ให้เป็นประตู เห็นแต่ค่อยๆ เข้าใจ เริ่มเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เพียงปรากฏทางตา ตอนแรกๆ ก็คงจะคิด ไม่มีใครที่ไม่คิดหรอก เพราะว่าเรื่องคิดนี่ ไม่ใช่เรื่องห้าม แต่เป็นเรื่องต้องเข้าใจให้ถูกว่า คิดมีจริง และเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ก็ต้องกว่าจะชินกับคิดว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เหมือนกับกว่าจะชินว่าขณะที่เห็น ก็เป็นสิ่งที่เพียงปรากฏทางตา ก็ต้องมีการที่จะเข้าใจ โดยการที่แรกๆ อาจจะคิด แต่ตอนหลังความเข้าใจนี้จะเกิดโดยไม่ต้องคิด แล้วก็จะค่อยๆ คลาย แล้วก็รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาก็อย่างนี้เอง ความพอใจของเราจากสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา โลภะ ความติดข้องเราก็ไม่มี จะมีในสิ่งที่ไม่ปรากฏได้อย่างไร แต่เมื่อสิ่งนี้ปรากฏอย่างนี้ ความติดข้องที่เร็วมาก ละเอียดมากอีกขั้นหนึ่ง ก็สามารถที่จะเกิดเป็นอาสวะ ไหลไปตามตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ว่าจะเป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นการที่เข้าใจธรรมจริงๆ ว่าเป็นเรื่องการอบรมปัญญาที่จะเข้าใจถูก แม้แต่ขั้นต้นคือคิดซึ่งห้ามไม่ได้ จะคิดนานเท่าไหร่ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีปัจจัยจะคิด จนกว่าชินแล้วก็สามารถจะค่อยๆ รู้ขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง จนกว่าจะเป็นวิปัสสนาญาณต่างๆ จนกว่าแม้ขณะนี้ก็สามารถที่จะรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ และมีการคิดนึกว่าสิ่งนี้เป็นอะไร เหมือนกับเราเห็นดอกกุหลาบในกระจก เราจะละความเห็นว่าเป็นดอกกุหลาบในกระจกได้เมื่อไหร่ ทั้งๆ ที่ดอกกุหลาบจริงๆ ไม่ได้อยู่ในกระจก แต่ความจำของเราเห็นดอกกุหลาบในกระจกแล้วก็ นี้ก็ดอกกุหลาบ ทั้งๆ ที่ไม่มีเลย เพราะฉะนั้น เวลานี้ก็มีสิ่งที่ปรากฏตา ซึ่งไม่มีคน ไม่มีสัตว์ และวัตถุที่แข็งก็เป็นอีกรูปหนึ่งต่างหาก จะปรากฏเมื่อกระทบสัมผัสเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่เราจะเข้าใจความจริงไม่ว่าจะกุหลาบในกระจก หรือคนขณะนี้ทั้งหมด ที่จะคลายความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ต่อเมื่อปัญญารู้ความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ต้องเป็นผู้ที่ยิงไกล และยิงไว ข้อความทั้งหมดนี้จะมีในพระไตรปิฎก แต่ขึ้นอยู่กับว่า เราสามารถที่จะเข้าใจความหมาย และการอบรมแค่ไหน อย่างไร อย่างโลภะของเรา เราเห็นอย่างหยาบๆ ใช่ไหม ใกล้หรือไกลที่เราเห็นได้ โลภะที่เรามีเป็นประจำที่เราพอจะรู้ได้ว่าเราติดข้องในสิ่งนั้นสิ่งนี้ หยาบพอที่จะให้เรารู้ว่าเราติดข้อง สิ่งนั้นใกล้หรือไกล โลภะที่เราติดข้องแม้ในธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมซึ่งปรากฏเป็นเพียงธาตุ ถ้าใครบอกว่าไม่มีโลภะติดข้อง เป็นแล้วพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น เราจะรู้ไหมถึงความละเอียดของโลภะ ซึ่งไม่มีอะไรเลย เป็นวิปัสสนาญาณ และก็เป็นเพียงรูปธรรม จะเป็นร้อน จะเป็นแข็ง จะเป็นอะไรก็ตามแต่ แต่มีความติดข้องว่าเป็นเรา เพราะความเป็นเรา แต่ละคนก็ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าใช่ไหม ศีรษะจรดเท้าลักษณะของรูปหนึ่งรูปใดไม่ได้ปรากฏ แต่เวลาที่ปรากฏ ไม่ใช่ศีรษะจรดเท้า เฉพาะส่วนหนึ่งที่แข็ง แต่ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณในลักษณะที่แข็ง ที่ไม่ได้เป็นก้อนใหญ่โตเลย แต่ว่ามีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ แต่ว่าความเป็นเรา จะยังคงเหลืออยู่หรือเปล่า หรือว่าความร้อน หรือความอ่อนก็ตามแต่ ธรรมดาๆ อย่างนี้ ถึงแม้ว่ารู้แล้วผ่านมาที่จะเข้าใจถูกต้อง แต่เวลาที่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ โลภะมีไหม หมดหรือยัง ผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ และโลภะนั้นไกลหรือใกล้ เห็นไหม ไกลหรือใกล้ อย่างนั้นต้องไกล ถ้าละเอียดกว่านั้นต้องไกล แต่ถ้าสามารถที่จะรู้ได้ธรรมดาในชีวิตประจำวันคือใกล้ คือสามารถที่จะเห็นตัวใหญ่ๆ ตัวโตๆ ได้ แต่ตัวไกลที่ละเอียดที่ต้องอาศัยปัญญาที่ละเอียดขึ้นจริงถึงจะละได้ ก็เป็นสิ่งที่ไกล เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ต้องเป็นนักรบที่ยิงไกล และยิงไว ไวคือสามารถที่จะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป เพราะเหตุว่า ขณะนี้สืบต่อกันโดยที่ว่า ถ้าสติไม่เกิดคั่น ไม่ระลึก ไม่รู้ ไม่สามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับ ขณะนั้นก็ยังไม่ใช่ผู้ที่ยิงไว ก็เป็นเรื่องของการอบรม แต่ต้องเป็นผู้ที่มั่นคง คือเราจะมีความเข้าใจเรื่องศีล เป็นอุปนิสัยที่ทำให้เราวิรัติเป็นปกติ หรือว่าสำหรับคนซึ่งเขาอาจจะไม่สะสมมาที่จะวิรัติ แต่พอฟังธรรมเขาก็เปลี่ยนนิสัยได้ อย่างมีคนหนึ่ง เขาก็ชอบมากเลยที่ว่ารายการแนวทางเจริญวิปัสสนา ไม่ได้ห้ามให้เขาดื่มเหล้า เพราะเขาดื่มเสมอ เราก็จะไปห้ามใครได้ ธรรมเป็นอนัตตา อย่าลืมว่าพระธรรม การรู้ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาพระผู้มีพระภาคไม่ได้ห้ามใครเลย แต่ทรงแสดงธรรมโดยเหตุ โดยผล โดยตรง โดยละเอียด ให้ผู้นั้นพิจารณาด้วยตัวของเขาเอง จนกระทั่งเป็นปัจจัยที่จะทำให้เขามีการละเว้นเกิดขึ้นเมื่อไรก็เมื่อนั้น แต่ไม่ใช่ว่าพอฟังวันนี้ คุณอย่าดื่ม แล้วคุณอย่าดื่ม แล้วคุณอย่าดื่ม ๓ เดือน ๘ เดือน วันไหนเขาจะดื่มอีก เขาก็ดื่มได้ ในเมื่อเขามีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า ไม่ปีนี้ก็ปีหน้า แต่ถ้าเขาฟังธรรมเหตุผลโดยละเอียด และอบรมเจริญปัญญาไปใช่ไหม ปัญญาทำหน้าที่ของปัญญา ไม่มีเรา ศรัทธา หิริโอตัปปะ พวกนี้เป็นสังขารขันธ์ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ทรงแสดงเหตุผล แต่ถ้าเราอ่านไม่ละเอียดโดยการไตร่ตรองให้รอบคอบ เราคิดว่าพระพุทธเจ้าห้ามฆ่า ห้ามขโมย ห้ามอะไรต่างๆ แต่ความจริงทรงแสดง และคนที่มีเจตนาที่ใช้คำว่าสมาทาน หมายความว่า ถือเอาสิ่งนั้นเป็นข้อปฏิบัติ เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องจะใช้คำนี้ ใช่ไหม แต่เมื่อเราเห็นว่า ทุกคนรักชีวิต แล้วเราไปทำให้เขาเจ็บ ทำให้เขาตาย ต่อไปนี้เราจะไม่ฆ่า เราเพียงแค่นึกในใจ และก็ภาษาบาลี ก็คือถือเอาเป็นข้อปฏิบัติที่จะไม่ทำล่วงศีลต่างๆ ก็เป็นเรื่องปกติของชีวิต ซึ่งจะต้องนำด้วยปัญญา อวิชชาความไม่รู้ ก็นำมาซึ่งอกุศลทั้งปวง นั่นคือหน้าที่ของอวิชชา แต่หน้าที่ของปัญญาคือนำมาซึ่งกุศลทั้งปวง เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเราเป็นตัวที่จะบีบ จะพยายามเค้นให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ว่าปัญญาเท่านั้นที่จะทำหน้าที่ของเขา เพราะว่าถ้ามีปัญญาแล้วก็นำมาซึ่งกุศลทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นทาน เป็นศีล เป็นความสงบ หรือว่าเป็นปัญญา เป็นเรื่องซึ่งทุกคนอาจจะรู้สึกว่ายากใช่ไหม ยากหรือง่าย

ผู้ฟัง ยาก

ท่านอาจารย์ ยาก คือการสรรเสริญพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าง่ายแล้วไม่ต้องมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย

ผู้ฟัง ได้ฟังท่านอาจารย์พูดว่า ถ้าสัจจญาณไม่มี กิจญาณก็มีไม่ได้ และอยากจะถามว่า สัจจญาณในที่นี้ ได้ความหมายคือสัจจญาณอะไร

ท่านอาจารย์ อริยสัจจ์มี ๔ แต่ว่ามี ๓ รอบ เป็นอาการ ๑๒ ของอริยสัจจ์ ๓ รอบ ก็คือสัจจญาณ ๑ กิจจญาณ ๑ กตญาณ ๑ ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เข้าใจหรือยัง

ผู้ฟัง เข้าใจชื่อ

ท่านอาจารย์ เข้าใจชื่อ สัจจญาณในอริยสัจจ์ ๔ กิจญาณในอริยสัจจ์ ๔ กตญาณในอริยสัจจ์ ๔ รวมเป็น ๑๒ ซึ่งถ้าเราคิดถึงอริยสัจจ์ ๔ เท่านั้น แล้วไม่รู้เรื่องสัจจญาณ กิจญาณ กตญาณ เราหลงทาง คือการที่จะหลงทางไม่ยาก ถ้าศึกษาไม่ละเอียด และก็ประมาทไม่รอบคอบ เราจะหลงทางง่ายที่สุด เพราะว่าทุกคนคิดว่าอริยสัจจ์ ๔ ไม่ยาก ทำอะไรก็ได้เดี๋ยวก็รู้ นี่คือไม่รู้เรื่องของอาการ ๑๒ คือขั้นแรกต้องมีสัจจญาณ มีความเข้าใจในสัจจะ ๔ อย่างมั่นคงว่า ขณะนี้ทุกขสัจจ์คือเดี๋ยวนี้ที่เห็น เดี๋ยวนี้ที่ได้ยิน ทุกขณะเกิดขึ้น และดับไป เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะรู้อริยสัจจ์ที่ ๑ คือสามารถที่จะรู้ความเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ ไม่ใช่รู้อื่นเลย ขณะนี้อะไรที่ไม่ปรากฏรู้ได้ไหม อะไรที่ผ่านไปแล้วหมดไปแล้วรู้ได้ไหม

ผู้ฟัง ไม่ได้

ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏเพราะเกิดแล้วก็ดับทันทีเร็วมาก แต่ปัญญาก็ยังสามารถที่จะรู้ ถ้ามีความเข้าใจถูกที่จะอบรมโดยสติปัฏฐาน ไม่มีหนทางอื่นมีหนทางเดียว เพราะฉะนั้น เราบังคับให้สติปัฏฐานเกิดไม่ได้ นี่คือความเข้าใจถูกในความเป็นอนัตตา เราทิ้งส่วนหนึ่งส่วนใดในพระไตรปิฎกไม่ได้เลย ต้องประกอบกัน ขณะนี้ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดขึ้น ไม่เกิดผ่านไปหมดแล้ว แต่การฟัง แล้วมีความเข้าใจที่มั่นคงเพิ่มขึ้น จะทำให้สติปัฏฐานเกิดเมื่อไหร่ ใครบอกได้ รู้อารมณ์อะไรใครบอกได้ ก็บอกไม่ได้เลย แสดงความเป็นอนัตตาตั้งแต่ต้นจนตลอด เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้ว่าขณะนี้สติปัฏฐานไม่เกิด แต่เราเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน และเรารู้ว่าสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมเป็นสัมปชัญญะอย่างไรแค่ไหน เราก็จะไม่ไปทำสมาธิ เพราะว่า ๒ อย่างนี้ใกล้กันมาก เพราะว่าเกิดร่วมกัน ต้องสามารถที่จะรู้สติสัมปชัญญะ คือปกติอย่างไร แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อย แต่มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ แล้วเราก็จะรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่เป็นสติสัมปชัญญะ อันนี้ก็จะเป็นสัจจญาณ และเวลาที่สติปัฏฐานเกิดเมื่อไหร่ นั่นคือกิจญาณ และเวลาที่รู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมเป็นวิปัสสนาญาณจนกระทั่งถึงที่สุด คือเป็นพระอริยบุคคล นั่นก็คือกตญาณ

ผู้ฟัง การคิดถูก ต้องเป็นสัจจญาณใช่ไหมที่มั่นคง สติปัฏฐานเป็นทางเดียว ทั้งสัจจญาณด้วยไม่ใช่ชื่อ

ท่านอาจารย์ ไม่ใช่จำชื่อ และก็บอกว่าอันนี้เป็นอริยสัจจ์

ผู้ฟัง แต่เราได้ยินเสมอตรงที่กับลักษณะ เช่นกับลักษณะอย่างไรโดยฟัง

ท่านอาจารย์ เข้าใจว่ามีลักษณะอย่างนั้น และเวลาที่สติปัฏฐานระลึก คือลักษณะตรงกับที่ได้เรียน

ผู้ฟัง ขณะที่ฟังเสียงท่านอาจารย์ เราก็มีเสียงน้ำพุอยู่ด้วย ความคิดที่ท่านอาจารย์บอกเราก็ไม่สามารถจะห้ามไม่ให้คิด อยากถามท่านอาจารย์ว่า ขณะคิดกับระลึกตรงลักษณะ พอจะสังเกตความแตกต่างกันได้บ้างไหม

ท่านอาจารย์ การที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมต้องทีละเล็ก ทีละน้อย ถ้าไม่มีขณะเริ่มเลย ขณะต่อไปก็มีไม่ได้ แต่ขณะที่เริ่ม จะเล็กน้อยมาก เพราะเหตุว่าเกิดแล้วก็ดับไปเร็ว แต่ว่าเวลาที่มีความมั่นคงเพราะเหตุว่าได้อบรมนานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเสียงน้ำพุ ก็ต้องเป็นขณะที่นามธรรมรู้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงนี้ก็ต้องมีนามธรรมรู้ ผู้นั้นจึงจะเข้าใจลักษณะของนามธรรมว่ามีตลอดเวลา เพราะว่าสามารถรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่แม้เป็นเสียงน้ำพุนิดหนึ่ง หรือว่าเสียงที่กำลังพูดได้ยินอีกนิดหนึ่ง หรือว่าเสียงอีกนิดหนึ่ง คือทั้งหมดนี้จะเป็นโลกของปรมัตถธรรม เวลาที่สามารถที่จะเข้าใจว่า ทุกอย่างมี เมื่อจิตกำลังรู้สิ่งนั้นสิ่งนั้นจึงปรากฏได้ เพราะฉะนั้น นี่เป็นหนทางที่จะทำให้น้อมไปพิจารณาลักษณะของจิต เพราะเหตุว่า จิตเป็นเพียงสภาพรู้หรือธาตุรู้ ไม่ใช่ลักษณะของรูปหรือเสียง แต่น้ำพุปรากฏได้ เพราะขณะนั้นธาตุรู้กำลังรู้ ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า เมื่อไหร่ที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธาตุ และรูปธาตุที่เป็นวิปัสสนาญาณ เมื่อนั้นก็จะต้องอบรม การที่จะชินต่อลักษณะของนามที่กำลังมีรูป หรือมีนามเป็นอารมณ์ต่อไปอีกในวันหนึ่งๆ ที่จะให้มีความเข้าใจที่ทั่วไปในทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นนามธรรม และเป็นรูปธรรม มิฉะนั้น เพียงแค่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม แต่ไม่มีการพิจารณาหรือไม่มีการระลึกต่อไป ในลักษณะของนามธรรมอื่น รูปธรรมอื่น ที่ระลึกต่อไปอีก ต่อไปอีก จนกระทั่งเป็นโลกของปรมัตถธรรม เมื่อนั้นก็แสดงว่าความเจริญของวิปัสสนาหรือความรู้ถูก ความเห็นถูก ตามลำดับของปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณก็เกิด แต่ไม่ใช่นามรูปปริจเฉทญาณ ก็เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีนามรูปปริจเฉทญาณ ความที่จะระลึกลักษณะของนามในขณะอื่นๆ ก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่จะระลึกลักษณะของนามในขณะอื่นๆ ได้ เพราะมีนามรูปปริจเฉทญาณแล้ว แต่ว่าในขั้นต้นเมื่อนามรูปปริจเฉทญาณยังไม่เกิด ก็เป็นการศึกษาที่ใช้คำว่าศึกษา คือมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏสั้นมาก และสติก็ดับด้วย และจะเกิดต่อไปหรือว่าห่างกันเท่าไหร่ หรือไม่ห่างกันเท่าไหร่ ก็เกิดอีก ก็แล้วแต่ปัจจัยทั้งหมด ก็แสดงได้เห็นว่า ผู้นั้นต้องมีความอดทน ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง อดทนที่จะไม่มีความเป็นตัวตนที่จะไปพยายามทำ เพราะว่า กั้นทันที ถ้าไม่อย่างนั้นพระผู้มีพระภาคก็จะไม่ตรัสว่า เราพบนายช่างเรือน ซึ่งสร้างจริงๆ สร้างทุกอย่าง สร้างภพ สร้างชาติ สร้างตลอด โดยการนำไปสู่ความต้องการอื่นๆ เรื่อยๆ ไม่ใช่การที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

ผู้ฟัง ขออนุญาตถามเพิ่มเติมในส่วนของกตญาณ ก็คือความสมบูรณ์พร้อมของปัญญาตั้งแต่วิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ จนถึงขั้นมรรค สำหรับโลกุตรมรรคแน่นอน ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณก็เป็นความสมบูรณ์พร้อม ก็เป็นกตญาณแต่ละขั้น แต่ละขั้น นั้นหมายความว่า วิปัสสนาญาณที่ ๑ ก็เป็นความสมบูรณ์พร้อมของกิจญาณ คือการที่สติปัฏฐานได้เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรม เนื่องจากมีสัจจญาณที่แก่รอบแล้ว ปัญญาก็สมบูรณ์ถึงขั้นเป็นวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ และหมายความว่า กว่าจะถึงวิปัสสนาอย่างที่ ๒ ก็ต้องมีการอบรมเจริญสติปัฎฐานซึ่งเป็นกิจญาณในระหว่างญาณที่ ๑ ถึงญาณที่ ๒ อีกใช่ไหม ไม่ใช่หมายความว่าวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๑ จะเกิดขึ้นบ่อยๆ บ่อยๆ เพื่อที่จะถึงวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๒ แต่ต้องเป็นการที่สติปัฎฐานเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรม มองไปจนวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๒ ที่ ๓ จะเกิดเป็นอย่างนี้ใช่ไหม

ท่านอาจารย์ คือการศึกษาธรรมอย่าติดที่ชื่อ เพราะว่าส่วนติดนิดหน่อย จะมาบังได้ใช่ไหม แต่เราต้องคิดถึงเหตุผล เพราะว่าบางครั้ง เราต้องทราบว่า แสดงโดยอุกฤษฏ์สูงสุด อย่างเช่น จิตตวิสุทธิ จะไม่พูดถึงขณิกสมาธิเลย เป็นที่เข้าใจ อะไรที่เป็นที่เข้าใจต้องมาซ้ำอะไรอีกไหม แต่ว่าแสดงว่าได้แก่อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ ถ้าอย่างนั้นคนที่อ่านก็คิดว่า ขณิกสมาธิก็ไม่ได้ ไม่ใช่จิตตวิสุทธิ แต่ที่ทรงไว้แสดง ทรงแสดงรวมหรือหมายความถึงแม้อัปปนาสมาธิ เพราะฉะนั้น เราต้องประกอบกันด้วย แล้วก็จะต้องรู้ความหมายว่าตรงนี้ แสดงทำไมว่าต้องมีอุปจารสมาธิ กับอัปปนาสมาธิสำหรับผู้ที่ถึง ถ้าผู้ที่ไม่ถึงจะมีไหมอัปปนาสมาธิ การเจริญสติปัฏฐานก็เจริญไม่ได้เลย ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาอย่างนั้นตรงตามตัวหนังสือ จะเกิดความเข้าใจผิด เพราะว่าที่จริงที่กล่าวว่าไม่มี จะมีในที่อื่น ไม่ใช่ที่นี่เราต้องรู้ด้วย เราจะบอกว่าไม่มี ไม่มี ไม่ได้ เพราะเหตุว่าเขายังไม่อ่านถึงตรงที่มี หรือเขาอาจจะข้ามตรงที่มี แล้วเขาก็บอกว่าไม่มี แต่ความจริงต้องประกอบกันทั้งหมด พิจารณาตามเหตุผลคือ อัปปนาสมาธิไม่มีก็ได้ สำหรับผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม วิสุทธิทั้ง ๗ ต้องครบ เพราะฉะนั้น จะขาดจิตตวิสุทธิไม่ได้ แม้คนนั้นไม่มีอัปปนาสมาธิ ก็สามารถที่จะรู้แจ้งสัจจธรรมได้ โดยนัยเช่นเดียวกัน เวลาพูดถึงสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ ท่านกล่าวสูงสุดคือมรรคจิต ผลจิต แต่ถ้าไม่มีวิปัสสนาญาณถอยมาทีละขั้น จะมีการถึงได้ไหม และวิปัสสนาญาณก็เป็นอีกความหมาย เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สติปัฏฐานที่เพิ่งเริ่มเกิด แต่เป็นขณะที่สภาพธรรมปรากฏกับปัญญา ซึ่งประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้นด้วยความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ไปนั่งรอคอยว่าจะเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ เพราะตอนนี้รู้สึกชัดเจนดี นอนกลางคืนดึกๆ ก็ไม่มีอะไร รูป เรื่องอะไรก็หายไปหมดมีแต่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนิดเดียวอะไรอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องคิดทั้งหมด เป็นเรื่องหวังทั้งหมด เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา จะทิ้งความหมายของอรรถ การเป็นเรื่องละไม่ได้เลย เพราะว่าสิ่งที่จะกั้นตลอด ก็คือความต้องการ โลภะเป็นสมุทัย เป็นตลอดเลย แต่เมื่อโลภะจะไม่เป็นสมุทัยต่อเมื่อมีความเข้าใจ จะเป็นหรือไม่เป็นไม่สำคัญ ความรู้ของเราในสภาพที่ปรากฏแน่แค่ไหน นี่เป็นสิ่งที่ตรงที่สุด เป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง เป็นอุชุปฏิปันโน แล้วไม่หวัง แล้วไม่คอย แล้วไม่ประเมิน แล้วก็ไม่ไปเทียบเคียงว่านี่เป็น หรือไม่เป็น เพราะนั่นคือตัวเรา ไม่ใช่ปัญญาแท้ๆ ซึ่งกำลังมีสภาพธรรมนั้นปรากฏทางมโนทวารโดยที่ว่าเป็นอนัตตา ไม่ได้ตระเตรียม แต่ว่าจากการอบรมถึงวาระที่มีวิปัสสนาญาณจะเกิดก็เกิด เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ เราก็ต้องพิจารณาเพื่อทรงแสดงถึงขั้นอุกฤษฏ์ แต่ว่าถ้าไม่มีอย่างนี้ อย่างนี้ เบื้องต้นอย่างนั้นก็ถึงได้ ถ้าไม่มีสติปัฏฐาน วิปัสสนาญาณเกิดไม่ได้ ถ้าวิปัสสนาญาณในแต่ละขั้นไม่เกิด ก็จะถึงการคลาย หรือว่าการละ จนกระทั่งถึงโลกุตตระไม่ได้ นี่ขั้นต้น แต่ตอนหลังๆ จะต่อไปถึงปัญหาที่ว่า เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดแล้ว กิจต่อไปคืออะไร นี่กตญาณ มีสัจจญาณว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี้เกิดดับแน่นอน วิปัสสนาญาณที่เป็นนามรูปริเฉจญาณประจักษ์การเกิดดับหรือยัง ยัง เพราะฉะนั้น เขารู้ใช่ไหมว่าต้องเจริญสติปัฏฐานด้วย สติปัฏฐานต้องเกิดอีก คือจะไม่เป็นห่วงด้วยวิปัสสนาญาณที่เกิดแล้ว เพราะเหตุว่าถ้าห่วงปุ๊บติดอีกแล้ว


หมายเลข  6266
ปรับปรุง  16 ต.ค. 2566